22 พฤษภาคม 2021
4 K

ตื่นเช้า นั่งรถไฟฟ้า เข้าประชุม กินข้าวกลางวันแบบรีบๆ พิมพ์งาน เข้าประชุม จู่ๆ ก็หมดวัน นี่คือวงจรที่พนักงานออฟฟิศคนหนึ่งต้องใช้ชีวิต 

ช่างเป็นโลกที่หมุนเร็วกว่าที่เคยรู้สึกเมื่อสมัยเด็กๆ บางโมเมนต์ก็อยากจะพักยาวๆ หลบเสียงรบกวนไปอยู่ที่ไกลๆ สักพัก และเหมือนฟ้าจะเป็นใจ ขณะไถเฟซบุ๊กอยู่บนรถไฟฟ้า ดันเจอโพสต์ของรุ่นพี่ที่คณะที่รู้จักกันเขียนว่า 

‘ช่วงนี้ภรรยาต้องการคนมาช่วยกันที่คาเฟ่ ดี มีนา (ดินแดน เพียง พอ สุข) เลยขอรบกวนถามเพื่อนผองอีกรอบ เผื่อใครที่ทำงานที่ไหนก็ได้ เป็น Freelance อยากหนีเมืองกรุง มาอยู่ไร่นาเดือนละ 15 วัน ทำงานคาเฟ่ มีที่พักให้ฟรีครับ รบกวนทักมาหน่อยนะคร้าบ’ – นั่นแหละ จุดเริ่มต้น เราทักไปถามรายละเอียด กดวันลา จองตั๋ว เก็บกระเป๋า 

และแล้ว ‘วันลาพักร้อนที่ไม่ธรรมดา’ ก็เริ่มต้นขึ้น

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

รู้จัก ‘ดินแดน เพียง พอ สุข’

เราเรียกคุณลุงแท็กซี่ให้ไปส่งที่ดินแดนเพียง พอ สุข ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนิด ๆ จากสนามบินเลย 

ยิ่งออกจากเมือง พวกบ้านและตึกก็เริ่มบางลง เห็นภูเขาและต้นไม้มากขึ้น จนกระทั่งถึงอำเภอภูเรือ คุณลุงก็เลี้ยวรถมาจอดที่ดินแดน เพียง พอ สุข เราจัดการยกกระเป๋าลงจากรถ ยกมือไหว้ขอบคุณลุงคนขับ ทันใดนั้น เหล่าสมาชิก 4 ขาก็วิ่งออกมาต้อนรับเป็นอันดับแรก จากนั้นคนอื่นๆ จึงทยอยออกมาทักทายด้วยรอยยิ้ม และให้เราไปเก็บของที่ห้อง

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

ดินแดน เพียง พอ สุข ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ที่พัก (ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ท) คาเฟ่ (คาเฟ่ ดี มีนา) ร้านอาหาร และศูนย์การเรียนรู้ ความประทับใจแรกระหว่างเรากับที่นี่คือ ‘จุดยืนของธุรกิจ’ ที่มีแม่และพี่หนูดีเป็นเจ้าของ ที่นี่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะที่ชัดเจน นำเศษอาหารจากผักผลไม้ไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้กับพืชผักสวนครัวและดอกไม้ เช่น กุหลาบ อัญชัน ฯลฯ แม้กระทั่งผลไม้อย่างลูกหม่อนก็เก็บจากสวนในบ้าน เพื่อนำมาทำเครื่องดื่มภายในร้าน เรารับรองได้เลยว่าคุณลูกค้าจะต้องสบายใจ เพราะผลผลิตมาจากหลังครัว ปลอดสารพิษแน่นอน

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

นอกจากการแยกขยะแล้ว ยังมีเรื่องง่ายๆ ที่มนุษย์อย่างเราอาจมองข้าม เช่น การให้ลูกค้าระบุแก้วสำหรับทานที่ร้าน หรือรับกลับบ้าน เพราะถ้าลูกค้าเลือกทานที่ร้าน ก็จะใช้แก้วธรรมดาที่ล้างแล้วนำกลับมาใช้ได้ นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่พวกเราเองไม่รู้ตัวว่ากำลังลดขยะไปถึง 3 ชิ้น ได้แก่ แก้วพลาสติก หลอด และฝา แต่ร้านก็ไม่ได้ใจร้ายสำหรับนักเดินทางขาจรนะ หากลูกค้าอยากรับกลับบ้าน เราก็เลือกใช้แก้วกระดาษย่อยสลายได้ หลอดฟางข้าว และฝาไบโอพลาสติก 

อีกหนึ่งความประทับใจคือความพิถีพิถันในการสื่อสารจุดยืนรวมถึงเรื่องอื่นๆ ให้กับลูกค้า อย่างการทำป้ายรณรงค์แยกขยะในทุกจุดของร้าน การเขียนขอบคุณลูกค้าที่ช่วยกันลดขยะบนถาดเสิร์ฟ การเขียนรณรงค์ Say no to plastic ผ่านแก้วกลับบ้านแบบน่ารักๆ (ลายแก้วไม่ซ้ำ วาดใหม่ทุกรอบ ขอคารวะ) แม้กระทั่งมีป้ายบอกลูกค้าว่า ‘อาหารโฮมเมดช้านิดหน่อยค่ะ แม่ครัวหกสิบกว่าแล้วนะคะ’ ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าอ่านแล้วอมยิ้ม และขอเอาใจช่วยแม่ครัวไปในตัว

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

กิจวัตรประจำคาเฟ่

หากจินตนาการว่าต้องทำงานในคาเฟ่ แวบแรกนึกออกอยู่ไม่กี่อย่าง รับออเดอร์ ทำกาแฟ จัดขนม เสิร์ฟ คิดเงิน ซึ่งความเป็นจริง งานพวกนี้เป็นแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของงานที่ต้องทำเท่านั้น เบื้องหลังกาแฟฮิปๆ สักแก้ว หรือขนมเค้กชิคๆ สักจานที่พวกเราอัปลงไอจีนั้น มีองค์ประกอบซ่อนอยู่มากมาย รวมไปถึงฉากหลังของแก้วกาแฟที่เราถือถ่ายรูปลงสตอรี่ก็เช่นกัน 

เราเริ่มงานตอน 7 โมงครึ่งก่อนร้านเปิดประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อจัดร้าน 

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย
บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

เริ่มจากเอาพลาสติกกันน้ำค้างที่คลุมโต๊ะไปเก็บ กวาดใบไม้ จัดโต๊ะ วางพร็อพตามมุมต่างๆ ซ่อมป้ายโต๊ะ (ป้ายโต๊ะที่นี่เป็นแบบเดินได้ เป็นต้นข้าวปักอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ คู่กับป้ายตัวอักษรไทยและคำศัพท์ท้องถิ่น) เก็บแก้ว จาน ช้อนส้อมให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมใช้ จัดถาดขนมสำหรับให้ลูกค้าเลือก เก็บดอกไม้ในสวนเพื่อเอามาจัดแต่งบนจาน เช่น กุหลาบ ใบบัวบก ใบแขยง หากจัดร้านเสร็จแล้วยังพอมีเวลา เราจะไปเอากระด้งหลังบ้านมาเก็บดอกอัญชัน เราก็เพิ่งรู้ว่าอัญชันขึ้นง่ายมาก และขึ้นทุกวัน ถ้ามีโอกาสเราก็ควรรีบเก็บ เพื่อเอาไปตากและเก็บไว้ทำเมนูอัญชัน อย่างอัญชันมะนาวหรือบลูลาเต้

บอกหัวหน้าว่าลาพักร้อน เก็บกระเป๋าไปทำงานคาเฟ่แลกข้าว ณ ดินแดน เพียง พอ สุข จ.เลย

อยู่กับแม่และพี่หนูดี เราจะค่อยๆ ซึมซับแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ภายในร้าน อย่างช่วงที่เราไปเป็นฤดูมัลเบอร์รี่ คนที่นี่เรียกว่า ‘บักหม่อน’ (ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน) พวกเราจะไปเก็บมาไว้ทำเมนูขนมหรือเครื่องดื่มในร้าน เช่น ดีมีนาชีสเค้ก x มัลเบอร์รี่ซอส หรือมัลเบอร์รี่สมูทตี้ ดับกระหายยามร้อน แค่ฟังก็ชื่นใจแล้ว

บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต

เปิดหน้าเมนู

“สวัสดีค่า ยินดีต้อนรับค่ะ!” มาถึงงานหลักอย่างการรับออเดอร์กันบ้าง การรับออเดอร์จริงๆ แล้วเป็นงานละเอียดมาก เราเองก็เงอะๆ งะๆ ตอนรับออเดอร์ครั้งแรก คำถามเบสิกอย่างเมนูแนะนำนั้นเป็นอะไรที่ต้องจำให้ขึ้นใจ ร้อนหรือเย็น ทานนี่หรือรับกลับบ้าน หวานปกติหรือหวานน้อย โต๊ะนี้มีลูกค้ากี่คน (เพื่อหยิบช้อนตามจำนวนให้ถูกต้อง) ทุกรายละเอียดเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจ และทำงานที่นี่เราไม่ได้รับแค่ออเดอร์กาแฟเท่านั้น ยังมีขนมและอาหารที่ต้องจำให้ได้เหมือนกัน

เมนูยอดฮิตที่เราอยากขายและลูกค้าอยากสั่งก็คือ ‘เมนูปิ่นโต’ เราเองยังคิดว่าเมนูนี่น่าสั่งเลย อันดับแรกลูกค้าต้องเลือกประเภทของปิ่นโต (ก ไก่ – ฉ ฉิ่ง) ซึ่งแตกต่างกันที่จำนวนกับข้าวที่ได้ ถัดไปเลือกกับข้าว มีเมนูพื้นบ้านยอดฮิตอย่างยำผักกูด ฟักแม้วผัดไข่ ต้มส้มไทเลย แกงเอาะ ส้มตำลาว ไข่เจียวดีมีนา เมนูเหล่านี้จะถูกสั่งเป็นประจำ สุดท้ายก็เลือกข้าว ซึ่งข้าวที่นี่ก็มีหลายสี เช่น เหลือง (ขมิ้น) เขียว (ใบเตย) หรือแดง (สังข์หยด) จะผสมหลากสีก็ได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้เสิร์ฟเป็นปิ่นโต มาเป็นเซตพร้อมกับน้ำสมุนไพรและฟักทองแกงบวด บอกแล้วว่าทั้งน่ากินและน่าถ่ายรูปในเวลาเดียวกัน

บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต

เมื่อถึงเวลาเตรียมเสิร์ฟ (นี่ยังไม่ได้เสิร์ฟเลยนะ) เรารับหน้าที่ช่วยจัดขนม ซึ่งขนมชนิดต่างๆ ก็ใช้จานเสิร์ฟไม่เหมือนกัน จานกระเบื้องบ้าง จานไม้บ้าง ถาดบ้าง ได้จานแล้วก็เช็ดและตัดใบตองให้พอดี อุ่นขนม จัดขนม แต่งขนม ตบท้ายด้วยการจัดดอกไม้ วางช้อนส้อม เพื่อนำส่งถึงโต๊ะลูกค้า เมื่อลูกค้าทานเสร็จก็คิดเงิน เราออกไปเก็บโต๊ะ เก็บป้าย เช็ดโต๊ะ แยกขยะ ล้างแก้วและจานขนม รอลูกค้ากลุ่มต่อไป วนไปเรื่อยๆ จน 6 โมงเย็น ก็เก็บของ ทิ้งขยะ ปิดร้าน รอเริ่มต้นใหม่ในวันต่อไป

ชีวิตธรรมดา

“ตกลงพี่มาที่นี่ได้พักมั้ยเนี่ย” ลูกหว้า รุ่นน้องมหาลัยที่มาอยู่ที่นี่เหมือนกันถามขึ้นมา

“ก็ได้พักนะ เพิ่งรู้ตัวว่าชีวิตมี Noise เยอะมากเลยว่ะ” อาจเป็นเพราะสถานที่ที่เป็นเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ด้วย แต่หลายครั้ง เราก็เป็นคนสร้าง Noise ขึ้นมาเอง สร้างจากเรื่องที่เรายังกังวลและปล่อยวางไม่ได้ หรือจากโซเชียลมีเดียที่เราต้องรับข้อมูลเยอะแยะมหาศาลต่อวัน ยิ่งเป็นข่าว COVID-19 หรือสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนแรง อ่านไปนานๆ ก็เครียดเหมือนกัน พอมาอยู่ที่นี่ ก็ใช่ว่าจะปิดตัวเองจากโลกภายนอกไปเลยนะ เรายังรับข่าวสารตามปกติ แต่แค่เป็นการ ‘เสพแต่พอดี’ เท่านั้นเอง

บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต

“ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เลิกงานคงไปโผล่สักห้าง” แต่ที่ภูเรือ มีศูนย์รวมความบันเทิงอยู่ที่ ‘ตลาดนัดคลองถม’ ตลาดนัดตอนเย็นทุกวันอังคารและวันพฤหัสฯ ถ้าอยากเจอใครในอำเภอก็คงเจอได้ที่นี่ ของที่นี่มีหลากหลายเท่าที่คนคนหนึ่งจะนึกออก ผักสด เนื้อสัตว์ ผลไม้ ขัน กะละมัง เสื้อผ้ามือสอง ยางมัดผม ชาไข่มุก ลูกชิ้นปิ้ง ไก่ทอด กับข้าว ฯลฯ

“เป็นไงบ้างลูก นอนพัดลมทุกวัน” แม่ถาม ใช่แล้ว อยู่ที่นี่เรานอนห้องพัดลม และค้นพบว่าดีมาก 

บางวันไม่ได้เปิดพัดลมด้วยซ้ำเพราะฝนตก อากาศเย็น ตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ยิ่งตอนเช้า เราต้องเดินจากห้องพักไปคาเฟ่ พอได้หายใจลึกๆ สูดไอเย็นๆ ทุกวัน ขอบอกว่าฟินมาก อากาศดีแบบไม่ต้องมีเครื่องฟอกอากาศเลย

ที่ระลึกจากดินแดน เพียง พอ สุข

“เซป แม่ทำกับข้าววางไว้บนโต๊ะนะ” 

กับข้าวของแม่อร่อยเสมอ อยู่ที่นี่เรากินข้าวเกือบ 2 จานแทบทุกมื้อ ยิ่งพอบอกแม่ว่าชอบกินผัก เมนูผักก็มาทุกวัน (ฮ่าๆ) พูดถึงแม่ จนตอนนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าแม่ชื่ออะไร เรียกแม่ตามพี่หนูดีและคนอื่นๆ แต่ ‘ชื่อ’ ก็ไม่ได้มีผลอะไรเลยกับความรู้สึกอิ่มใจ และความรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับจากที่นี่

บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต
บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต

ตลอด 2 สัปดาห์ ไม่ได้มีแค่ข้าวกับที่นอน แต่เต็มไปด้วยความรู้มากมายที่แม่คอยสอน นอกจากงานที่ร้าน แม่พาไปดูการสีข้าว สอนทำลูกหยี (ใส่เกลือกับพริกสลับกัน วนแบบนั้นทั้งคืนที่หน้ากระทะทองเหลือง) จริงๆ ถ้าอยู่นานกว่านี้ แม่คงพาไปทอผ้าและทำขนม แต่ด้วยเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เราได้เห็นวิธีคิดและความท้าทายของเจ้าของธุรกิจ เบื้องหลังการทำงานร้านอาหารและร้านกาแฟ มุมมองในฐานะผู้ให้บริการ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และการให้โอกาสจากคนเป็นหัวหน้าถึงลูกน้อง

เราเก็บของ กอดลาแม่ และถ่ายรูปที่ระลึกกับพี่ๆ ไม่นานคนขับแท็กซี่ก็ขับมารับตามเวลาที่นัดไว้ และแล้วเราก็กลับมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ พร้อมกับวงจรพนักงานออฟฟิศแบบเดิม ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราเริ่มหันมาใส่ใจจัดการสิ่งรบกวนหรือ Noise ในชีวิตใหม่อีกครั้ง ไม่ตัดออก แต่จัดวางให้พอดี ไม่วิ่งหนี แต่ทำความเข้าใจ

สุดท้ายนี้ หากใครไปเที่ยวจังหวัดเลย เราขอชวนไปเที่ยวภูเรือ ไหว้พระวัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง แล้วแวะนอนที่ ‘ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ท’ กินอาหารโฮมเมด กาแฟเย็นๆ และขนมอร่อยๆ ที่ ‘คาเฟ่ ดี มีนา’ หากเครื่องดื่มคิวยาวหรือพนักงานเสิร์ฟช้าไปบ้าง ก็ต้องขอโทษจากใจ พวกเราจะรีบทำให้สุดฝีมือ

“อิรัชชัยมาเสะ” ดินแดน เพียง พอ สุข ยินดีต้อนรับค่ะ 🙂

บันทึกลาพักร้อนของพนักงงานออฟฟิศเมืองกรุง ที่ทำงานแลกข้าวกับที่นอนที่คาเฟ่ดี มีนา จังหวัดเลย จนเข้าใจมุมมองธุรกิจและเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ภัทรพร จักรทอง

อดีตทำงานแท่น ตอนนี้ทำงาน Tech เป็นคนชอบเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ เลยทำโปรเจคกับเพื่อนข้างนอกที่ชื่อว่า Little Rocket