นางเอกสาวหน้าหวาน นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี อยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 20 ตอนที่เธอแสดงละครเรื่องแรก ปอบผีฟ้า ใน พ.ศ. 2540 ประเทศไทยยังไม่มีรถไฟฟ้าด้วยซ้ำ 

ระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ นุ่น วรนุช ครองตำแหน่งนางเอกสาวขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ ทั้งในแง่ผลงานที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางตัวดีเยี่ยม ไม่มีข่าวเสียหายออกมาให้แฟนๆ ตื่นเต้นตกใจเลย แม้ระยะหลังที่นุ่นกลายเป็นนักแสดงอิสระ ผลงานของเธออาจจะไม่ถี่เหมือนช่วง 10 กว่าปีแรกก็ตาม แต่ก็ทดแทนด้วยผลงานการแสดงที่เน้นในทางลึกและมีน้ำหนักจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติของการทำงาน เมื่อทำงานมาพอสมควร ปริมาณก็อาจไม่จำเป็นเท่าคุณภาพที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นให้ได้

กับ พ.ศ.​ 2564 นี้ก็เช่นกัน เมื่อดูตารางการทำงานของ นุ่น วรนุช แล้ว ปรากฏว่าเธอรับเล่นละคร กระเช้าสีดา ของช่อง one31 เพียงเรื่องเดียว ซึ่งออกอากาศไปได้สักพัก ผลตอบรับดีเยี่ยม แต่แล้วก็ต้องหยุดถ่ายทำกลางคัน เหตุเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ละครต้องหยุดออนแอร์ชั่วคราว ต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย จึงกลับมาถ่ายทำกันต่อได้

ในช่วงเวลาที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราถือโอกาสนี้ต่อสายสนทนาออนไลน์ เพื่อถามไถ่พูดคุยจิปาถะถึงชีวิต การทำงาน ความฝัน และสิ่งต่างๆ ที่ นุ่น วรนุช เรียนรู้มาตลอดชีวิตการงาน 24 ปี จากบ่ายคล้อย ไหลไปสู่เย็นย่ำ แดดเคลื่อนผ่านหน้าต่างจากซีกหนึ่งไปตกด้านหลัง

เป็นบทสนทนาที่ยาวนาน แต่ก็นับว่าดีไม่น้อย

ทำไมปีนี้คุณถึงกลับมารับงานแสดงอีกครั้ง

คือ COVID-19 มันไม่ได้มาแค่รอบเดียวเนอะ ต้องนึกถึงช่วงว่างปีที่แล้วก่อน คือปีที่ผ่านมาหรือปีก่อนนู้น งานนุ่นก็เยอะอยู่นะคะ (หัวเราะ) แต่พอปีที่แล้ว งานต่างๆ ที่เราเคยดีลเอาไว้หรือคุยกันเอาไว้ มันก็ขยับไปเรื่อยๆ ส่งผลกระทบมาจนถึงตอนนี้ ถ้าในแง่การแสดง หนึ่งปีที่ผ่านมา ก็มีละครติดต่อเข้ามาหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ว่าอาจไม่เข้าเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้

เกณฑ์ที่ว่าเป็นยังไง

เกณฑ์ในการรับงานของนุ่นเป็นอย่างนี้ค่ะ สมมติละครครอบครัว มีสามี ภรรยา ตัวละครอยู่ในวัยเดียวกับนุ่นพอดีก็จะพิจารณา ถ้าบทเด็กกว่าเรา เล่นไปก็อาจจะไม่ได้เหมาะ อย่างใน กระเช้าสีดา นุ่นว่าบทน้ำพิงค์ที่นุ่นแสดงเป็นตัวละครที่ดูน่าสนุกดี เหมาะกับวัยเรา แล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูละครเวอร์ชันก่อนหน้า (พ.ศ. 2537) พี่ตั๊ก (มยุรา เศวตศิลา) กับ พี่หน่อย (บุษกร วงศ์พัวพันธ์) เคยแสดงเอาไว้ โดยพี่ตั๊กแสดงเป็นน้ำพิงค์เหมือนนุ่น เราก็มองว่าเป็นการพัฒนาการแสดงของเรา 

แล้วพอนุ่นอ่านเรื่องย่อของบทละครที่ พี่หญิง (วรรณวิภา สามงามแจ่ม) เป็นคนเขียน ซึ่งนุ่นเคยเล่นละครที่เขาเป็นคนเขียนบทมาก่อน ก็ไว้ใจ เห็นว่ามันปรับเป็นเรื่องราวในยุคนี้ พ.ศ. นี้ รู้สึกอยากเข้าไปอยู่ในโปรเจกต์นี้ เลยตัดสินใจรับเล่นเรื่องนี้ แล้วก็ได้มีโอกาสทำงานกับ พี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) มาบ้างแล้ว ก็เลยค่อนข้างเชื่อใจบริษัท Change 2561 ด้วยค่ะ

ดูเหมือนว่าพอเป็นนักแสดงอิสระแล้ว คุณนุ่นให้ความสำคัญกับการรับงานมากพอสมควร แตกต่างจากตอนที่มีสังกัดอย่างไรบ้าง

ในแง่ความรับผิดชอบในงานที่เราได้รับมอบหมาย นุ่นว่าไม่ได้ต่างกัน แต่อาจด้วยอายุการทำงานมากขึ้น เราก็จะได้เรียนรู้งานมากขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากวันแรกที่ทำงานจนถึงวันนี้ ทำให้เรารอบคอบมากขึ้น อย่างตอนเด็กๆ เราเป็นนักแสดงในสังกัด เราเล่นไปก็สนุกกับการทำงานนะ อินอยู่ในบทละคร ในตัวละครตัวนั้นตัวนี้ แต่นุ่นว่าประสบการณ์ที่เราสะสมมาจากวันนั้นก็ช่วยกรองสิ่งต่างๆ ในชีวิตเราตอนนี้ได้ค่อนข้างดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากอดีตทั้งความสำเร็จและล้มเหลว เพราะละครไม่ประสบความสำเร็จหรือแย่ไปซะทุกเรื่อง มันก็มีทั้งดีและไม่ดีค่ะ

แล้วจริงๆ ตอนที่เราหยุดเล่นละครนั้นไม่มีอะไรมาก คือตอนนั้นแต่งงาน (หัวเราะ) ก็ต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น วันเสาร์อาทิตย์นุ่นจะไม่รับงานถ้าไม่จำเป็น แล้วตอนนั้นก็ผันตัวมาเป็นนักแสดงอิสระด้วย ไม่รู้ว่าถ้ากลับมาแสดงอีกจะได้รับการตอบรับที่ดีหรือเปล่า แต่อาจจะโชคดีหน่อยที่เรากลับมาด้วยโปรเจกต์ที่ผลตอบรับค่อนข้างโอเค 

คือเราเริ่มเป็นนักแสดงอิสระด้วยละคร ทองเนื้อเก้า (พ.ศ. 2556) ของช่อง 3 HD นุ่นก็ถือว่าเสี่ยงนะ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่มีข่าวว่านุ่นจะเล่นแล้วว่าไม่เหมาะสม แต่นุ่นมีความคิดว่านุ่นเป็นนักแสดง มันเป็นงาน เราก็ต้องทำให้ได้ นุ่นไม่ได้กลัวที่จะต้องรับบทตัวร้าย เราแค่รู้สึกว่าควรจะเต็มที่กับมันเท่านั้นเอง

ขอย้อนกลับไปวันแรกๆ ที่คุณเข้ามาในวงการบันเทิง ตอนนั้นแค่อยากเป็นนางเอกหรืออยากเป็นนักแสดงอาชีพ

ไม่ได้อยากเป็นอะไรเลย ตอนนั้นสิบหกปีค่ะ เด็กมากๆ เลย (หัวเราะ) แล้วนุ่นเป็นเด็กนักเรียนนาฏศิลป์ด้วย ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนให้มาเป็นนักแสดง ก่อนหน้าที่จะมาเซ็นสัญญากับช่อง 7 HD มีโอกาสที่จะได้เล่นละครในหลายๆ โปรเจกต์ แต่ก็เลือกไม่เล่นเพราะเรียนหนังสือค่ะ และตอนที่มีโอกาสได้เซ็นสัญญาช่อง 7 HD คนที่พานุ่นเข้าไปคือ พี่แก้ว พรีเมียร์ (ศิริ เหลืองสวัสดิ์) พี่เขาเป็นผู้จัดการด้วย เขาพาไปเซ็นสัญญา ตอนนั้นคุณพ่อก็จะไม่ให้เซ็นด้วยนะคะ เพราะว่าอยากให้เรียน คุณแม่ก็อยากให้เรียนหนังสือ แต่ว่าเขาก็มาอ้อนคุณพ่อว่า “คนที่เขาอยากมีโอกาสตรงนี้อีกเยอะมาก แต่เรามีโอกาสแล้ว ทำไมจะไม่ทำ” เลยลองดูสักตั้ง ตอบตรงๆ ว่าตอนนั้นนุ่นก็ไม่รู้หรอกว่ารักหรือไม่รัก ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ได้มีเป้าหมายในขณะนั้นเยอะ

พอเข้าวงการแล้วได้ทำงานเป็นนักแสดงไปสักพัก รู้สึกว่าเราเป็นนักแสดง เริ่มรักหรือชอบหรือยัง

นุ่นเริ่มรู้สึกผูกพันกับตัวละครช่วงที่เล่นเรื่องที่สาม คือเรื่อง อีสา (อีสา-รวีช่วงโชติ, พ.ศ. 2541) คือเริ่มเข้าใจว่างานแสดงคืออะไร อย่างเรื่องแรก ปอปผีฟ้า (พ.ศ. 2540) เอาจริงๆ คือศูนย์เลยค่ะ ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะเราเป็นแค่คนคนหนึ่งที่ถูกจับมาเล่นละคร แต่โชคดีที่ละครดัง ย้ำว่าละครมันดัง ไม่ใช่นุ่นดัง แต่ก็อาจมีผลพวงที่ทำให้เป็นที่รู้จักแล้วก็มีโอกาสได้เล่นละครหลังข่าว เลยมีโอกาสได้สร้างชื่อเสียงบ้าง ก็ได้แต่ประสบการณ์แต่ก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เก็ตกับละครเลย มาเข้าใจก็เรื่อง อีสา นี่แหละ เป็นเรื่องที่สามที่เล่น

เรื่องนั้นได้เล่นกับ พี่ต้อม (รชนีกร พันธุ์มณี) นุ่นเล่นเป็นคุณหญิงโสภา พี่ต้อมเป็นอีสา แล้วก็มี พี่วุฒิ (อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร) นุ่นเข้าฉากกับเขาตลอดค่ะ เหมือนเราได้เรียนรู้จากทั้งพี่ต้อมทั้งพี่วุฒิ คือตอนนั้นจำได้เลย มีฉากที่พี่วุฒิต้องจับมือนุ่น แล้วเขาก็จับอย่างนี้ (ทำท่าจับมือแล้วใช้นิ้วโป้งลูบเบาๆ) นุ่นก็ถามว่าทำไมต้องจับอย่างนี้ หมายถึงอะไร คือเราไม่รู้เลย เขาก็บอกว่าเป็นวิธีการแสดงความรักของผู้ใหญ่ เขาอธิบาย มีคำตอบให้เรา 

หรือเวลาที่นุ่นเข้าฉากกับพี่ต้อม พี่ต้อมแสดงเป็นอีสา เราเป็นคุณหญิง ต้องอยู่ด้วยกัน ผูกพันและรักกัน ตอนที่เราเล่น นุ่นรู้สึกว่าได้ความรักจากพี่เขาจริงๆ ความรู้สึกมันเรียลมาก เราเริ่มเข้าใจว่า อ๋อ แบบนี้นี่เองที่เรียกว่าการแสดง ตอนนั้นเริ่มเข้าใจอาชีพนี้ เข้าใจการเป็นนักแสดง

ก่อนหน้านี้คุณมีความฝันว่าอยากทำอะไร

คือตอนนั้นเด็กมาก เรียน ม.5 เองนะ (หัวเราะ) ถามว่าอยากทำอะไร (นิ่งคิด) ก็คงอยากเป็นประชาสัมพันธ์มั้ง (หัวเราะ) อยากมีโรงเรียนสอนรำ สอนนาฏศิลป์ แต่เป็นความฝันที่ยังไม่ได้เป็นความจริงหรอก เหมือนแค่เป็นสิ่งที่เราต้องมีคำตอบเวลามีคนถามว่าอยากเป็นหรืออยากทำอะไร เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้ว…

อยากเป็นอะไรใช่ไหม

ใช่ๆ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้อยากเป็นครูสอนรำอยู่ในโรงเรียน แต่ก็ชอบนาฏศิลป์ แต่ไม่อยากเป็นตรงนั้น ไม่อยากทำงานบริษัท คือรู้แค่นี้ แต่วัยนั้นถูกถามเยอะ และต้องมีคำตอบให้เวลามีคนถาม ครูถาม เท่านั้นเอง พอเราเข้ามาวงการบันเทิงแล้วเซ็นสัญญากับเขาห้าปี เราก็ต้องทำงานตามที่เซ็นสัญญา มันคือหน้าที่แล้ว แต่หน้าที่นั้นพอทำไปทำมามันกลายเป็นความรัก เรารักที่จะอยากแสดงเป็นตัวละครตัวนี้ เราสนุกกับตัวละคร เราสนุกกับการอยู่กองถ่าย จนถึงช่วงหนึ่งที่นุ่นคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันไม่ค่อยรู้เรื่อง

ชีวิตวัยรุ่นหายไปเหรอ

หายค่ะ หายเลย

ส่งผลกับเรายังไง

คิดว่ามีผลนะคะ เพราะตอนมัธยมต้นจนถึง ม.4 ก่อนที่จะเล่นละคร นุ่นเป็นเด็กทั่วไปนะคะ นุ่นก็ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มีไปเที่ยวกลางคืนบ้าง เราได้เห็นพวกนั้นมาหมด ไม่ใช่ว่านุ่นไม่เคยเห็นอะไรเลย ไปนอนบ้านเพื่อน ไปร้านนั้นร้านนี้ในช่วงกลางคืน เราก็ผ่านมาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ชอบ โชคดีที่ไม่ชอบ (หัวเราะ) 

แต่พอมาเล่นละครแล้วไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนเท่าไหร่ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยนุ่นก็เลือกเรียนภาคค่ำที่สวนดุสิต เพราะนุ่นทำงานตอนกลางวันได้ สมัยก่อนมันละครสต็อกค่ะ เพราะฉะนั้น เช้าไปกองถ่าย ตอนเย็นไปเรียน เรียนเสร็จกลับมากองถ่ายต่อ แล้วก็ขับรถเอง ชีวิตจะเป็นแบบนี้ตลอด

ช่วงวัยรุ่นของคุณ มีแต่เรียนและงานใช่ไหม

ใช่ค่ะ ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลยค่ะ

ค้นพบว่าตัวเองเป็นคนชอบทำงานไหม

ค่ะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก่อนที่จะเล่นละคร นุ่นก็ทำงานอื่นด้วยนะ นุ่นได้ออกงานแสดงของโรงเรียนบ่อย ไปงานที่เขามาจ้าง เหมือนกรมศิลปากรเป็นผู้จัดแสดงอย่างนี้ค่ะ นุ่นก็มีโอกาสได้ไปรำหรือไปแสดงอยู่เหมือนกัน จำได้ว่าครั้งแรกเป็นระบำกรับที่โรงละครแห่งชาติ บนเวทีมีแค่หกคน มันผิดไม่ได้เลย พลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว คิดดูนะคะ บนเวทีมีแค่หกคน แล้วมีคนนั่งดูเต็มไปหมด อันนั้นตื่นเต้นจริงๆ ค่ะ จำได้จนถึงทุกวันนี้ นุ่นว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นุ่นไม่กลัวคน นุ่นจำได้ว่าวันแรกที่มีการบวงสรวงละครแล้วมีนักข่าวอยู่เยอะๆ นุ่นไม่กลัวนักข่าวเลย เห็นคนเยอะๆ ก็ไม่ได้รู้สึกใจเต้นตึกๆ การอยู่ในกองถ่ายก็สบาย ๆ ไม่กลัวผู้กำกับไม่กลัวใครเลย ตอนเด็กๆ นุ่นกลัวครูมากกว่า (หัวเราะ)

ชอบทางนาฏศิลป์มากน้อยแค่ไหน

คิดว่าชอบตั้งแต่เด็ก เด็กนี่คืออนุบาล โดยที่นุ่นเองก็จำไม่ได้นะคะ พ่อแม่เล่าให้ฟังจากรูปที่มีอยู่ คือพี่สาวเราอยู่อนุบาลสาม นุ่นอยู่อนุบาลสอง นุ่นได้ไปรำกับพี่อนุบาลสาม ก็แสดงว่าน่าจะชอบนะ แล้วตอนประถมมีกิจกรรมรำไทยตลอด ซึ่งการเลือกเรียนวิชานาฏศิลป์ในวิทยาลัยนาฏศิลป์นี่นุ่นก็เป็นคนเลือกเองนะคะ บอกพ่อว่าอยากเรียนที่นี่ ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันตอนนั้น

แต่พอมาเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ทางโรงเรียนเขาก็ไม่ได้ทิ้งวิชาการ แค่มีวิชาปฏิบัติมากหน่อย ในหนึ่งสัปดาห์ จันทร์ถึงศุกร์นุ่นเรียนรำทุกวัน ก็เป็นความเคยชิน ถ้าถามว่าเสียดายไหม คือตอนเด็กๆ น่ะ ทุกคนก็คงใฝ่ฝันอยากจะเอนทรานซ์ติดทั้งนั้น นุ่นก็เลือกศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับเดียวเลย แล้วตอนนั้นทางคณะศิลปกรรมเขาเลือกคะแนนปฏิบัติมาก่อน นุ่นติดปฏิบัติแล้วหนึ่งในสามสิบคน แต่ข้อเขียนนุ่นไม่ผ่าน (หัวเราะ) จำได้ว่าเพราะถ่ายละครเลยไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แล้วก็หลับในห้องสอบด้วย (หัวเราะ) เขาไม่ให้ออกก่อนเวลาที่กำหนดค่ะ เราก็นอนเลย จนเพื่อนมาแอบเรียกปลุกเรา ตอนนั้นก็เสียดายเล็กน้อยนะคะที่เอนทรานซ์ไม่ติด แต่ความเสียดายนั้นไม่ใช่คำตอบในชีวิต ถ้าถามนุ่นตอนนี้นะคะ ส่วนนาฏศิลป์ที่ติดตัวนุ่นตั้งแต่เด็ก ก็ถือว่าสร้างงาน สร้างอาชีพให้นุ่นนะ ไม่เสียดายอะไรเลยในตอนนี้

ช่วงปีแรกๆ ของการเป็นนักแสดง หากไปดูรายชื่อละครที่คุณแสดง สังเกตว่าคุณพยายามเล่นบทบาทที่แตกต่างกันออกไปอยู่เสมอ ทำไมไม่รับแต่บทนางเอก

นุ่นสนุกกับการทำงาน ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความท้าทายนะ แค่อยากเล่นอันนี้ เออ มันสนุก เอ๊ะ อยากเล่นอีกแบบหนึ่ง คือการที่เราได้เล่นเป็นใครไม่รู้ที่ไกลตัวเองมากๆ มันสนุกดี

บทนางเอกเรียบร้อยอ่อนหวาน ไม่สนุกสำหรับคุณเหรอ

สนุกทุกบทนะคะ ต่อให้เป็นนางเอกเรียบร้อยแค่ไหนก็ตาม การที่เราเป็นตัวละครตัวนี้ ครอบครัวเป็นแบบนี้ กับการไปเป็นตัวละครอีกแบบหนึ่ง ในอีกเรื่องหนึ่ง มันแตกต่างอยู่แล้ว แต่คนอาจจะคิดแค่ว่าภาพลักษณ์ของตัวละครอาจเหมือนๆ กัน อันนั้นก็เรียบร้อย อันนี้ก็เรียบร้อยอีกแล้ว นุ่นไม่ได้คิดแบบนั้นนะ แต่เราจะไปบอกใครไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะคล้ายคลึงกัน แต่ว่าบทละครนั้นมันอยู่กันต่างที่ ต่างเวลา ต่างอาชีพ ต่างความรู้สึก บางทีพูดไม่ได้ แต่ว่านุ่นก็ยังแฮปปี้ที่จะทำให้ดี แล้วการที่เราเล่นกับนักแสดงที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเปลี่ยนไปด้วยค่ะ

แต่ละบทมีรายละเอียดไม่เหมือนกันใช่ไหม

ใช่ค่ะ อย่างเช่นยกตัวอย่างง่ายๆ เลย บทที่ต้องเล่นกับพระเอกเด็กกว่า ก่อนหน้านี้นุ่นก็เล่นเรื่อง เกมรักเอาคืน (พ.ศ. 2562) มาแล้ว คนก็ชอบเหมือนกัน เป็นเมียหลวงเหมือนกัน พอใน กระเช้าสีดา ก็เรื่องเมียหลวง แล้วก็จะต้องไปพบรักกับเด็กเหมือนกัน แต่ทั้งสองเรื่องก็ต่างกรรม ต่างวาระ มันไม่เหมือนกันหรอก แต่คนก็จะบอกเอาอีกแล้ว เล่นบทนี้อีกแล้ว เหมือนเดิม เขาไม่รู้ว่ามีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาไม่จำเป็นต้องรู้ เราต่างหากที่ต้องแสดง สื่อสารความแตกต่างนั้นออกมาให้ได้

ชอบเล่นบทร้ายไหม

ชอบเล่นหมดเลย จริงๆ บทร้ายสำหรับนุ่นเหมือนเล่นแล้วสบายนะ สบายตัว (หัวเราะ)

ทำไมล่ะ

คือไม่ต้องเก็บอะไรไว้ข้างในไงคะ อยากพูดอะไรพูด ทำอะไรทำ โดยที่ไม่สนใจ อย่าง ทองเนื้อเก้า นุ่นเล่นเป็น ‘ลำยอง’ สนุกมากเลย มันไม่ได้ทำอะไรเหมือนเรื่องอื่น อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ โดยที่เขาเป็นคนมีอะไรอยู่ข้างใน แต่ไอ้ข้างในของเขาไม่ได้ซ่อนลึกจนอยู่ข้างในจริงๆ บทร้ายสำหรับนุ่นมันปลดปล่อยตัวเองได้ง่ายกว่าบทที่ต้องเก็บความรู้สึกเยอะๆ

เก็บเยอะๆ เครียดไหม

ไม่เครียดนะคะ ไม่ได้เครียดว่าต้องเล่นยังไง แต่เวลาเราเล่น ความรู้สึกข้างในจะหลากหลาย เป็นรถไฟเหาะขึ้นๆ ลงๆ มากกว่า เพราะข้างในมันเยอะ กดดันยังไงถึงทำให้เขาออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้พยายามนะคะ แค่พยายามเข้าใจตัวละครว่าเขาไปเจออะไรมา ชีวิตเขาเป็นยังไง แบกกราวนด์ตั้งแต่เด็กๆ เป็นยังไง ตรงนี้อาจจะไม่ได้เล่าออกมาในละคร แต่เราต้องรู้ตรงนี้เอาไว้ เหมือน นุ่น วรนุช ตอนเด็กๆ ทำอะไรมา เรียนอะไรมา ทำงานอะไรมาบ้าง ไปเจออะไรมาบ้าง ก็จะเป็นเราในทุกวันนี้ เหมือนกันค่ะ เราทำแบบนี้กับตัวละครทุกตัว เป็นวิธีคิดของนักแสดงที่จะต้องทำแบบนี้กันอยู่แล้ว

เวลารับบทที่เก็บความรู้สึกเยอะๆ พอเลิกกองกลับบ้าน เราแบกอารมณ์นั้นกลับบ้านด้วยไหม แยกชีวิตกับการงานออกจากกันไหม

เอาจริงๆ ค่อนข้างแยกได้ (หัวเราะ) ถ้าไม่นับ 5 4 3 2 1 นุ่นจะไม่แสดงอะไรเลยนะ นุ่นไม่ได้มานั่งทำอารมณ์ก่อนเข้าฉากเยอะๆ เพราะนุ่นทำแบบนั้นไม่เป็น นุ่นโตมากับการถ่ายไป ออกอากาศไป ทุกอย่างเร่งไปหมด อันนี้คือแล้วแต่ประสบการณ์แต่ละคนที่เจอมานะคะ นุ่นอาจจะโชคดีที่เป็นคนมีสมาธิเร็ว และอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา วิธีการทำงานที่ผ่านด้วยอย่างนี้ค่ะ พอคัตปุ๊บก็จบ

แต่อย่างที่พูดถึงตัวร้าย ร้ายก็มีหลายแบบ ไม่ใช่ว่าร้ายแล้วไม่คิดอะไรเลย ร้ายที่คิดก็มี มันก็จะมีหลายระดับค่ะ แต่เมื่อไหร่ที่เราไปรู้สึกกับตัวละครนั้น นุ่นจะรู้สึกได้เร็วมาก เหมือนตัวละครนั้นๆ เป็นเพื่อนเราค่ะ แล้วเรารู้จักเขาดี แทบจะเป็นตัวละครตัวนั้น

หรือจริงๆ คุณก็อาจจะมีความร้ายลึกอยู่ อาจจะมีอินเนอร์แบบนั้นอยู่

ไม่ใช่! (หัวเราะ) คือนุ่นหมายถึงว่าเรารู้จักเขา เวลาที่เขาไปโดนอะไรมาก็จะมีผลกระทบต่อจิตใจเรา อย่างเวลานุ่นดูละครที่ตัวเองเล่น โอ้โห ผู้หญิงคนนี้เศร้า เราก็เศร้าไปกับเขา เพราะเขาเป็นเพื่อนสนิทเราประมาณนี้มากกว่าค่ะ ส่วนเรื่องของความร้าย-ไม่ร้าย มันอยู่ที่บทละครที่ผู้เขียนจะเป็นคนเขียนให้ว่าเป็นแบบไหน แต่นุ่นก็เชื่อว่าคนเราไม่มีใครเป็นสีขาวไปทั้งหมด มีอารมณ์ดีอารมณ์ร้าย เป็นเรื่องปกติค่ะ

ในช่วงแรกของอาชีพ กราฟคุณสูงมาก เราได้เห็นคุณบ่อยๆ เป็นนางเอกในละครที่เรตติ้งดีทุกเรื่อง กลายเป็นนางเอกเบอร์หนึ่งของช่อง กลายเป็นนักแสดงขวัญใจมหาชน ไปไหนคนก็รู้จักทั้งประเทศ สิ่งนี้ทำให้คุณใช้ชีวิตยากลำบากหรือต้องปรับตัวอะไรไหม

สมัยก่อนตอนอยู่ช่อง 7 HD มีโอกาสได้เจอแฟนๆ น้อย น้อยกว่าในสมัยนี้ที่มีโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนเวลาไปโชว์ตัวที่ไหนมีการ์ดเยอะมาก แล้วเจอคนเยอะมาก บางคนมาร้องไห้บ้าง อยากขอของที่ระลึกบ้าง แต่นุ่นชินนะคะ เหมือนนุ่นเองก็เรียนรู้จากสิ่งที่เราเจอในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไปด้วย มันเลยไม่รู้สึกว่าชีวิตยากอะไรขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่ก็อยู่กับงาน ไม่ได้ทำอะไรเยอะแยะ แต่อย่างหนึ่งที่นุ่นได้เรียนรู้หลังจากที่เราได้ทำงานมาเยอะ คือความสำเร็จเป็นสิ่งที่มีคุณและมีโทษ

มีโทษอย่างไร

บางครั้งนุ่นว่าความสำเร็จคือการที่คนนิยมชมชอบ ชื่นชอบเรา แต่โทษของมันคือ ถ้าเราไปหลงระเริงกับตรงนั้น ก็ทำให้เราใช้ชีวิตยาก และเราจะมีข้อแม้ให้กับตัวเอง แต่นุ่นว่านุ่นยังโชคดีนะ การที่นุ่นไม่ได้วางว่าจำเป็นต้องเล่นเป็นนางเอก มันปลดล็อกไปเลย เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่า เฮ้ย เราต้องเป็นนางเอก เราจะต้องเด่น เราจะต้องดัง

แล้วสมัยก่อนเวลาละครหนึ่งเรื่องดังขึ้นมานี่ดังยาวนะคะ แต่เดี๋ยวนี้ละครประสบความสำเร็จมากๆ ในระยะที่สั้นกว่า ดังนั้น เราเอาความสำเร็จมาเป็นกำลังใจดีกว่า งานคือข้างหน้าคืออนาคต สิ่งที่เราต้องทำคือทำปัจจุบันให้ดี เพราะถ้าเกิดเรามัวแต่ไปยึดติด อันนั้นแหละคือการที่เราไม่ได้ปลดล็อกตัวเอง และคิดว่าเราดังอยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่พัฒนาตัวเองค่ะ

คุณเป็นนักแสดงที่ดูแลชื่อเสียงตัวเองดีมากคนหนึ่ง ไม่มีข่าวเชิงลบเลย คุณระวังตัวแค่ไหน มีกฎเกณฑ์ในการวางตัวยังไง

นุ่นเชื่อว่าใครๆ ก็รู้อยู่แล้วแหละว่าอะไรดีไม่ดี เหมือนที่นุ่นก็เคยไปเที่ยวตั้งแต่เด็ก ยังไม่มีบัตรประชาชนด้วยซ้ำ ก็รู้นะว่านี่คือไม่ดี แค่เข้าไปดู แต่โชคดีที่นุ่นไม่ได้ชอบ เป็นคนกินแอลกอฮอล์แล้วแพ้ มีจิบบ้างตามโอกาส แต่รู้ว่ากินเยอะๆ แล้วแพ้เลย เราต้องทำงาน ยังไงก็ป่วยไม่ได้ แล้วก็ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่สอนเรามาดี ทำให้เรานึกถึงเขาด้วย นึกถึงตัวเราด้วย ดังนั้น เวลาจะทำอะไรเราก็ต้องคิด และอาจจะอยู่ในกฎระเบียบตั้งแต่ตอนที่เราเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ นุ่นว่าคงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอมเรามาเป็นอย่างนี้ค่ะ

ทำให้เราไม่หลงระเริงกับชื่อเสียง หรือแม้แต่ทำสิ่งที่จะส่งผลร้ายต่ออาชีพเราอย่างนั้นใช่ไหม

ใช่ เพราะคนเรารู้อยู่แล้วอะไรดีไม่ดี ทำแบบนี้จะส่งผลอะไร แต่ไม่ได้เป็นคนคิดเยอะขนาดนั้นว่าจะต้องทำหรือไม่ทำนะคะ ก็แค่อันนี้เข้ามา เราเห็นแล้ววาง เห็นแล้ววาง ก็จบไป อะไรอย่างนี้ค่ะ

เคยรู้สึกว่าตัวเองอึดอัดกับการมีชื่อเสียงไหม

ก็ไม่ขนาดนั้น (หัวเราะ) คืออยากเที่ยว อยากไปเมืองนอก พี่สาวอยู่อเมริกามาสี่ห้าปี ไม่เคยไปหาเลย อยากไปแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ไป เสียดายแบบนั้นมากกว่า นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นุ่นชอบท่องเที่ยวมากในช่วงหลังนี้

เพราะว่าอัดอั้นมาตั้งแต่ช่วงแรกที่ไม่ค่อยได้เที่ยว

ค่ะ เมื่อก่อนเจอบ่อยมาก สมมติวางแผนว่าเดือนหน้าจะไปถ่ายแบบที่เมริกา ทำพาสปอร์ต ทำวีซ่า ทุกอย่างเรียบร้อยไปแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ให้ไป

ทำงานก่อน

ใช่ ผู้ใหญ่ให้ทำงาน เราก็จะอกหักจากเรื่องแบบนี้ เวลาจะได้ไปทำงานที่ใหม่ๆ ที่เราอยากไป ก็มักไม่มีโอกาสได้ไป

ตั้งใจจะไปเที่ยวแล้วต้องมาทำงาน และต้องทำให้ดีด้วย คุณจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร

อกหักค่ะ เฮ้อ คือเราก็รู้ว่าต้องทำงานแหละ แต่ขณะเดียวกันเพื่อนที่เป็นนักแสดงช่องอื่นเขาไปได้ เฮ้ย ทำไมเธอไปได้ เขาไม่ว่าเหรอ เรามีคำถามแบบนี้ไปคุยกัน ก็แล้วแต่การจัดสรร แต่พอดีจังหวะนั้นต้องถ่ายไป ออกอากาศไป ถ้าไม่ทันขึ้นมาก็จะเป็นผลเสีย แต่เราก็เข้าใจผู้ใหญ่นะคะ

เจอแบบนี้เข้าไปรู้สึกล้าไหม

ไม่ค่ะ พอไปถึงกองถ่ายก็สนุก อย่างที่บอก นุ่นชอบไปกองถ่าย

มีจุดเปลี่ยนหนึ่งที่น่าสนใจ คือคุณรับงานแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกที่ถือว่าพลิกบทบาทมากๆ เพราะเล่นเป็นหมอนวด ทำไมตัดสินใจรับงานแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้

เรื่อง เฉิ่ม (พ.ศ. 2548) เป็นหนังเรื่องแรกของนุ่นเลย เอาจริงๆ ก็ไม่ได้คิดเยอะเหมือนที่คนอื่นเข้าใจ (หัวเราะ) จริงๆ นะคะ คิดแค่ว่าถ้ามีโอกาส นักแสดงทุกคนก็อยากจะแสดงภาพยนตร์เนอะ เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแสดง แล้วก็จำได้ว่าตอนติดต่อมา เขาถามว่า “รังเกียจที่จะเล่นกับพี่หม่ำไหม” นุ่นก็ตอบ “ไม่ค่ะ” คือไม่แบบ “ไม่” จริง ๆ เลยนะ ไม่! ไม่! ไม่! 

ถ้าถามเรื่องความเหมาะสม บทหนังเราก็ต้องให้คนเขียนบทหรือผู้กำกับเขาเลือก เขาต้องเป็นคนที่รู้มากกว่าเราว่าอะไรเหมาะ ไม่เหมาะ แล้วบทในเรื่องนี้นุ่นเป็นหมอนวด คนอื่นคงรู้สึกว่า เฮ้ย จะมารับบทอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้แปลกขนาดนั้น คือก่อนหน้านั้นนุ่นเล่นละครเรื่อง แม่อายสะอื้น (พ.ศ. 2547) แล้วบทนุ่นเป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในอาบอบนวด พอต้องมาเล่น เฉิ่ม ทำไมเราจะเล่นไม่ได้ล่ะ 

ไม่ได้กลับจากขาวเป็นดำขนาดนั้นใช่ไหม

ใช่ ไม่ได้คิดเลยว่า อุ๊ย เราต้องมารับบทอย่างนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า หนังกับละครค่อนข้างแตกต่างกันมาก มันแยกกันไปเลย หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมถึงกล้า เราไม่ได้ติดกับบทนางเอกขนาดนั้น นุ่นอยากเล่นหนัง แล้วก็ได้เล่นกับพี่หม่ำด้วย ถือว่าเป็นเกียรติสำหรับนุ่นด้วยซ้ำ แล้วก็ได้บทนี้ แค่นั้นเลย ไม่ซับซ้อนเลยค่ะ

แต่ว่าก็เป็นความท้าทายมากๆ สำหรับตัวคุณหรือเปล่า

ถ้าถามนุ่น นุ่นว่ามันยากในการแสดง เพราะสมัยก่อนน่ะค่ะ ละครคือการถ่ายทำแบบมีกล้อง มี OB (Outside Broadcasting การตัดต่อ สวิตชิ่งนอกสถานที่ โดยมากมักอยู่ในรถตู้ ตัดต่อมุมกล้อง เลือกมุมกล้องในกองถ่ายตอนนั้นได้เลย-ผู้สัมภาษณ์) แล้วเขาก็ไปตัดเอาใช่ไหมคะ แต่หนังเนี่ย เล่นกล้องเดียว แล้วเราก็ไม่ชินกับการนับ ปกติละคร 5 4 3 2 แต่อันนี้เนี่ย “Camera ตื้ดๆ บลาๆๆ แอคชั่น!!” แค่คำเหล่านี้เราก็ไม่ชินแล้ว (หัวเราะ) มันค่อนข้างยาก แล้วก็เราต้องมาเรียนรู้วิธีของการถ่ายหนังด้วย 

เมื่อก่อนนี้ละครถ่ายทอดบนจอโทรทัศน์ที่เล็ก ไม่ได้ใหญ่เหมือนทุกวันนี้ เขาก็เลยบอกว่าเหตุผลที่ละครต้องแสดงโอเวอร์กว่าความเป็นจริง เพื่อให้คนดูจอเล็กๆ เขาสัมผัสได้ แต่หนังเนี่ย เราดูจอใหญ่ ต้องลดลงมา มันละเอียดหมดทุกอย่าง แต่เขาไม่ได้หมายความว่าให้เราเล่นน้อยนะ ข้างในเราต้องเยอะ เพราะต้องส่งออกมาทางสายตา แต่นุ่นว่านะ การถ่ายหนังในสมัยก่อนเหมือนกับการถ่ายละครในสมัยนี้แล้ว

แปลว่าศาสตร์ละครตอนนี้ใกล้เคียงกับศาสตร์ภาพยนตร์แบบนั้นเหรอ

นุ่นว่าใกล้เคียงค่ะ เพราะว่าอุปกรณ์ต่างๆ ในการถ่ายทำก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เปลี่ยนไปตามโลกเหมือนกันค่ะ นุ่นเคยเล่นละครที่การถ่ายทำแบบภาพยนตร์เหมือนกันนะ คือละครของ อาตั้ว (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) อาตั้วเป็นผู้กำกับ ชื่อเรื่อง สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย (พ.ศ. 2546) อาตั้วเขาถ่ายทีละฝั่งเลยค่ะ โอ้โห กว่าจะได้แต่ละซีนทำไมนานจัง แต่ก็ไม่เหมือนกับหนังทั้งหมด เพราะหนังนี่กล้องมันใหญ่อลังการ แล้วก็อยู่ข้างหน้าเรา ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป ต้องขอบคุณ พี่คงเดช (คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เฉิ่ม) เท่าที่จำได้นะคะ พี่คงเดชบอกว่าเคยมาดูตัวนุ่น นัดเจอกัน พี่คงเดชบอกว่า “เห็นหน้าเหนื่อย นุ่นเหนื่อยเหมือนตัวละครเลย” ช่วงนั้นเราอาจจะทำงานหนัก เขาเลยแซวค่ะ

ภาพยนตร์เรื่อง เฉิ่ม คุณหม่ำเองก็พลิกบทบาทเหมือนกัน เขาต้องไม่แสดงตลก ต้องเก็บความเศร้าไว้ตลอดทั้งเรื่อง เราเคยถามคุณหม่ำว่าฉากไหนยากที่สุด คุณหม่ำตอบว่าฉากที่ซื้อเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลด์มากินอยู่ตรงบันได คุณหม่ำบอกว่าเล่นเท่าไหร่ก็เล่นไม่ได้สักที คุณพอทราบไหมว่าสิ่งที่คุณหม่ำพยายามอธิบายคืออะไร

คือความธรรมดา ธรรมชาติของคนทั่วๆ ไป ในเรื่องนี้เขาไม่เคยกินแมคโดนัลด์ ตัวละครไม่เคยกินเบอร์เกอร์ คือเขาใช้ชีวิตมาแบบนี้ ไม่เคยได้มาเที่ยว ได้มาฟังเพลง เหมือนเราเป็นคนพาเขาออกมาอีกโลกหนึ่ง 

มีอยู่ฉากหนึ่ง ไม่ใช่ฉากกินเบอร์เกอร์นี้นะคะ เราถามเขาว่า “เนี่ยพี่ กินอะไรเหมือนกันทุกวันไม่เบื่อบ้างเหรอ” เขาก็จะตอบว่า “ถ้าของที่กินทุกวันมันดีอยู่แล้ว ชอบอยู่แล้ว แล้วเราจะเปลี่ยนทำไม” คือมีคนสองประเภทที่อยู่บนโลกใบนี้ คนหนึ่งก็มีความจำเจเหมือนเดิม แฮปปี้กับสิ่งที่ตัวเองมี แต่เขาไม่ยอมออกจาก Comfort Zone ของเขา กับคนแบบเรา เราเป็นคนพาเขาก้าวขาออกมาจาก Comfort Zone ของเขา ซึ่งบางทีการที่เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้ทำอะไรใหม่ๆก็สร้างสีสันในชีวิตได้ ดังนั้นเลยเหมือนเขาก็เพิ่งเคยกินในฉากเบอร์เกอร์ แล้วเราก็ถามเขาว่า “อร่อยไหมพี่”

แล้วมีฉากไหนที่คุณคิดว่าเล่นยากบ้างไหม

นุ่นจำได้ว่ายากหลายฉากนะ (หัวเราะ) อาจจะไม่เคยพูดถึงมาก่อน เพราะตอนนั้นเราเด็ก อาจจะไม่อยากพูด ตอนนี้โตแล้วเนอะ พูดได้ (หัวเราะ) เป็นฉากที่เราต้องรับแขกเยอะๆ แล้วเรานั่งอยู่ในห้องน้ำ แล้วมันแสบ เออ มันแสบน่ะ ก็อาชีพเราน่ะ อันนั้นยากสุดๆ ยากมากๆ เราต้องมาคิดว่าควรจะเป็นลักษณะยังไง แบบไหน นู่นนี่นั่นโน่น

บทหมอนวดใน เฉิ่ม ทำให้คุณเครียดไหม เพราะว่าค่อนข้างที่จะพลิกบทบาท

ไม่เครียดค่ะ (หัวเราะ) ก็ทำงานเหมือนที่เราทำทุกวัน เป็นการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่จำได้ว่าก็สนุกกับการอยู่กองถ่าย อยู่กับพี่คงเดช คือทำงานจนจะปิดเรื่องแล้วยังไม่รู้เลยว่าพี่คงเดชเคยเป็นนักร้อง (วงสี่เต่าเธอ) ไม่รู้จริงๆ แล้วเขาก็เป็นนักแต่งเพลง เพลงเขาเพราะๆ ดังๆ หลายเพลง แต่เราไม่รู้เลย ซึ่งเราได้วิชาจากพี่คงเดชและได้แนวคิด ก็เป็นประสบการณ์ที่นักแสดงคนหนึ่งมีโอกาสได้ทำ ทุกวันนี้ถ้ายังมีหนังดีๆ นุ่นก็อยากเล่นนะคะ

ตอนนั้นผลตอบรับจากแฟนๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ก็มีหลายทางนะคะ ต้องบอกก่อนว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ แต่เป็นความสำเร็จทางด้านการแสดง ซึ่งบางทีเราไม่ได้คิดขนาดนั้นจริงๆ แต่ก็เป็นกำไร เป็นโบนัสที่เราได้รับโดยไม่ได้คาดหวังกับมัน เอาเข้าจริงๆ บทนุ่นไม่ได้เยอะนะคะ จำได้ว่าเรื่องนี้ได้รับรางวัลในหลายสถาบัน มีชมรมวิจารณ์บันเทิงพูดถึงคนที่ได้รับรางวัลนี้ แล้วก็มีที่เขาพูดถึงว่า “เหมือนมากๆ เป็นอาชีพที่นุ่นทำแล้วเหมือนมากๆ” นุ่นบอกโอเคค่ะ ถือว่าเป็นคำชม (หัวเราะ)

ทำการบ้านยังไงให้เหมือนได้อย่างที่เขาชมขนาดนั้น

นุ่นมีโอกาสได้ไปเห็นชีวิตในด้านนั้นของคนที่ทำอาชีพนี้จริงๆ เขาก็พาไปอาบอบนวดนี่แหละ พาไปเรียนรู้ว่าที่อาบอบนวดมันมีอะไร ยังไง ทำไมเป็นแบบนั้น จริงๆ เขามีการป้องกันนะ เขามีหมอมาตรวจ ถ้าจำไม่ผิดนะคะ มันนานมากแล้ว อาทิตย์หนึ่งมีหมอมาตรวจสองครั้ง ต้องตรวจเพราะเป็นอาชีพเขา และหลายคนที่ทำงานตรงนั้นก็มีครอบครัวของตัวเอง ส่วนผู้ชายที่ชอบไปในที่แบบนี้ก็ไปหาความสบาย ความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ เขายังสอนท่านวดให้นุ่นเลย นวดเบาๆ ตรงหัว ตรงนู่นนี่นั่นอะไรอย่างนี้ เป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง 

ช่วงนั้นทั้งหนังและละครเลยที่นิยมไปถ่ายที่อาบอบนวด ทำให้เราเห็นเลยว่าคนในครอบครัวเนี่ย ต่อให้กลับบ้านตรงเวลา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะตรงกลับบ้านเลยหลังจากเลิกงานเสมอไป เพราะอันนี้เราเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ บ่ายๆ รถหรูๆ แพงๆ ขับมาแล้ว พอขับมานุ่นก็ มาแล้วๆ ใครๆๆ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) การทำงานก็ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างไปด้วย

แล้วหนังเรื่อง เฉิ่ม ทำให้เรามีโอกาสได้ไปร่วมงานเทศกาลหนังต่างประเทศด้วย นุ่นไปที่โดวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส พี่คงเดชแกได้ไปเยอะมาก แต่นุ่นไม่ได้มีโอกาสได้ไปขนาดนั้น วันที่นุ่นได้ไป จำได้ว่านักข่าวถามเรานานจริงๆ ถามถึงตัวละคร ถามถึงความลึกในการทำงาน สมัยก่อนไม่ค่อยได้เจอคำถามแบบนี้ในสื่อบันเทิงไทย แล้วคนที่ไปดูเทศกาลหนังเนี่ย เขาตั้งใจจะมาเสพงานศิลป์อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไปโรงหนังซื้อตั๋วดูแล้วจบ อันนี้คือเขาตั้งใจมาดู ตอนที่หนังฉายจบ ทุกคนเขาน่าจะรู้ว่าตำแหน่งของนักแสดง ผู้กำกับ ทีมงานเราอยู่ตรงไหน ทุกคนก็ลุกขึ้นยืนแล้วหันมาปรบมือให้

ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ดีมากค่ะ เราไม่เคยได้รับอะไรพวกนี้จากที่ไทย แล้วนี่คือทุกคนเขาชื่นชมกับงานพวกนี้จริงๆ กับบทบาทที่เราได้ทำ ถ้าเราทำดี ก็ทำให้เรารักงานมากขึ้นด้วย เป็นเหตุผลเล็กๆ นะ แต่ก็ทำให้เรารักงานมากขึ้นจริงๆ ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในงานที่เขามีงานเลี้ยง มีนักแสดงต่างชาติเยอะๆ เราก็ได้ไปเห็นอะไรใหม่ๆ ก็ดีค่ะ

หลังจากภาพยนตร์เรื่อง เฉิ่ม คุณก็ถูกพูดถึงมากขึ้น ได้รับการยอมรับในแง่การแสดงมากขึ้น คุณคิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอาชีพไหม

จริงๆ ไม่ได้คิดขนาดนั้นนะ ไม่ได้คิดว่าทำแบบนี้แล้วจะดี แล้วจะปลดล็อกตัวเองอะไรต่างๆ แต่พอมองย้อนกลับไปอาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในเรา แล้วขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว นุ่นว่าอาจจะเป็นแบบนั้น นุ่นก็แค่อยากจะทำงานให้มันออกมาดี แค่นั้นจริงๆ

ทำให้ผู้จ้าง ผู้กำกับคนอื่นๆ เริ่มคิดแล้วว่าให้คุณเล่นบทอะไรก็ได้แล้วนี่นา

ต้องบอกก่อนว่าตอนอยู่ช่อง 7 HD นุ่นอยู่มาสิบห้าปี นุ่นไม่ได้มีสิทธิ์เลือกงานอะไรหรอก เพราะฉะนั้น ให้อะไรมาก็ทำ ให้ดี และนุ่นอาจจะโชคดีที่นุ่นได้ไปอยู่ในโปรเจกต์ที่ดี ต้องขอบคุณ คุณแดง (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) ขอบคุณช่อง 7 HD ที่ทำให้นุ่นได้ไปเรียนรู้กับผู้กำกับหลายๆ คน หลายๆ ทีม แต่ก็ไม่ใช่ว่าเลือกอะไรไม่ได้เลยไปทั้งหมดนะคะ จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งเขาถามว่าอยากทำงานกับใคร เราตอบว่าเป่าจินจงค่ะ เราอยากร่วมงานกับ อาตู่ (นพพล โกมารชุน) ก็เลือกได้บ้างเหมือนกัน เลยได้ทำงานกับอาตู่ยาวหลายเรื่องค่ะ

นุ่นว่าช่องทางในการรับงานก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดผู้จ้างเราด้วย นุ่นไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำให้เราได้รับอะไรหลากหลายมากขึ้นไหม นุ่นต้องมองว่าจะมีใครมอบโอกาสอันนั้นให้นุ่นหรือเปล่า อย่าง ทองเนื้อเก้า นุ่นเป็นนักแสดงอิสระ เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับนุ่น พอมีข่าวว่านุ่นเล่น ก็ไม่มีใครวิจารณ์ในเชิงบวกเท่าไหร่นะ คือต้องมาพร้อมกับความรู้สึกว่าจะทำยังไงดี เราก็แอบรู้สึกกดดันนิดๆ

ว่าคุณจะเล่นบทนี้ได้ไหม

ใช่ๆ ตั้งแต่วันแรกที่มีข่าวเลย เหมือนเป็นบททดสอบชีวิตเราเนอะ แต่ว่าพอเราได้เจอ พี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ผู้กำกับ) พี่แดง (ธัญญา โสภณ ผู้จัด) เขาไม่สน ไม่แคร์ค่ะ เพราะว่าอยู่ที่การตีความของแต่ละยุคแต่ละสมัย เคยถามพี่อ๊อฟว่า คาแรกเตอร์นุ่นเหมาะกับลำยองไหม โดยที่ไม่เกี่ยวกับแอคติ้ง

เขาบอกว่านุ่นเหมาะนะ ลำยองเนี่ย คือเขาเกิดมาผิดพี่น้อง แล้วชื่อลำยองมาจากขาวผ่องเป็นยองใย มันเป็นคนขาวนะ เป็นคนสวย อยู่ในสลัมน่ะ แต่อยู่ในสลัมก็ยังแตกต่างจากคนอื่น เขาบอกว่าตามตัวละครด้วยผิวพรรณ ด้วยอะไรต่างๆ นุ่นตรงกับบทประพันธ์ที่สุดแล้ว อันนั้นอาจจะเป็นการให้กำลังใจ (หัวเราะ) แต่นุ่นก็ไม่ได้สอบถามต่อ การตีความของผู้จัด แต่ละยุค แต่ละสมัย มันก็คงแล้วแต่คน แต่ว่ายังเป็นเส้นเรื่องเดิมอยู่ แต่ว่าตอนนั้น โอ้โห พี่ยุ่น (ยิ่งยศ ปัญญา) คนเขียนบท และนักแสดงที่มาร่วมงานก็เก่งทุกคน ดีทุกคน เขารับส่งกันสนุก ยิ่งทำให้การทำงานสนุกมากขึ้นไปอีก

คนแพ้แอลกอฮอล์อย่างคุณ ทำอย่างไรครับ

นุ่นป็นคนชอบสังเกตคน คือคนรอบข้างนุ่นก็มีคนดื่มเยอะ ดื่มน้อย ดื่มหนักอะไรอย่างนี้ค่ะ เราก็สังเกต

แต่บทลำยองเมาหลายระดับเลยนะ

ใช่ค่ะ คือแต่ละซีนจะมีหลายเลเวล แต่ไม่ได้หมายความว่านุ่นไม่เคยดื่ม ดื่มกันแบบอ้วกแตก หรือแบบในเรื่องก็เคยมาแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่เคยเลย แค่ไม่ได้ชอบน่ะค่ะ แต่เราก็จะเอาตรงนั้นมาเป็นบรรทัดฐานของเราไม่ได้ เพราะเราต้องเอาแบบตัวละครที่เราได้รับบทมา เป็นแค่การเมา การเมาก็เหมือนกับการที่เราแพ้แรงโน้มถ่วงของโลก เหมือนคนป่วยที่แทบจะลุกไม่ขึ้น เราสังเกตจากเพื่อนเรา เวลาเมาเขาทำอะไร เขาเดินยังไง มันไม่เหมือนคนปกติค่ะ เราใช้วิธีสังเกตคนเวลาอยู่กับเพื่อนกลุ่มใหญ่ๆ ค่ะ สนุกนะ ไม่ได้เมาแต่ก็ได้มองคนอื่นเมา เป็นความรู้เหมือนกัน แล้ววันหนึ่งก็เอามาได้ใช้

ทองเนื้อเก้า เป็นละครเรื่องแรกที่คุณรับเมื่อเป็นนักแสดงอิสระจึงเป็นข่าวดัง เป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจพลิกบทบาทหรือเปล่า

นุ่นคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เรื่องนี้เป็นบทที่กว่าจะมาถึงเราสักครั้ง กี่ปีบทแบบนี้จะผ่านมา จริงๆ เป็นเรื่องที่คนอื่นเขาไม่เล่นกันค่ะ (หัวเราะ) มันถึงตกมาหานุ่น เท่าที่พอจะทราบมานะคะ เราก็แค่ลองดู คิดว่าไม่ได้มีอะไรแย่หรอก อย่างที่บอกว่าเป็นนักแสดงอิสระแล้ว เป็นฟรีแลนซ์แล้ว นุ่นไม่ได้คาดหวังกับการแสดงว่านุ่นต้องดังอยู่ตลอดเวลา แต่นุ่นจะทำผลงานชิ้นนี้ให้ดีที่สุดก็โชคดีที่ผลตอบรับออกมาค่อนข้างดีมากๆ ค่ะ

นักแสดงในสังกัดกับนักแสดงอิสระ มีอะไรที่แตกต่างกันบ้างไหม

ช่วงที่เป็นนักแสดงอิสระ งานเข้ามาเยอะมากเลย เยอะจนต้องเลือก แต่นักแสดงในสังกัดไม่มีโอกาสได้เลือกอยู่แล้ว อาทิตย์หนึ่งให้เล่นสามเรื่องก็ต้องเล่น มันเป็นอย่างนั้นเลย ไม่มีเวลาพัก ไม่รู้วันหยุดราชการ ไม่เคยรู้ว่าวันไหน ยังไงกัน แต่พอมาเป็นฟรีแลนซ์ คือนุ่นรู้นะ นุ่นก็พยายามทำให้ตัวเองพลาดน้อยที่สุด 

เอางี้ดีกว่า นุ่นตอบไม่ได้หรอกว่าเรื่องนี้ถ้าเล่นไปจะดีหรือไม่ดี โอกาสที่จะไม่ดัง โอกาสที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ซึ่งเราตอบไม่ได้ แต่จากประสบการณ์ที่เล่นละครมา อย่างแรกที่นุ่นจะรับเล่นคือ นุ่นต้องชอบบท อยากเล่น อ่านแล้วอยากเป็นตัวนั้น อยากรู้ว่าตัวนี้จะทำยังไงต่อ อย่าง ทองเนื้อเก้า นุ่นมีที่ปรึกษานะคะ รุ่นพี่เป็นผู้กำกับหลายคน เขาก็บอกว่าอย่าเล่นเลย มันเสี่ยง

เขาเตือนว่าอย่าเล่นนะ

ใช่ นุ่นเลือกเล่น ขอก็คำปรึกษาคนอื่น แต่เราเลือกเอาที่เราอยากเล่นดีกว่า เพราะสุดท้ายมันคือชีวิตเรา เราไม่รู้หรอกว่าผลออกมาจะเป็นยังไง แต่อย่างน้อยก็ตามที่เราอยากทำแล้ว ถ้าไม่ได้ทำ เราอาจจะเสียใจมากกว่านี้ก็ได้ที่พลาดโอกาสนี้ไป

เหมือนตอนเด็กๆ ที่จะเซ็นสัญญาเลยที่โอกาสมาแล้ว ทำไมเราจะไม่คว้าไว้

ใช่ค่ะ ใช่ๆ แต่ก็ต้องเป็นโอกาสที่เราชอบด้วยนะ โอกาสก็คือมาหลายแบบ

ช่วงที่เป็นนักแสดงอิสระเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คุณมีครอบครัว ซึ่งเราต้องรับผิดชอบทั้งตัวเองและครอบครัว สองสิ่งนี้เราโฟกัสกับอะไรมากกว่ากัน

การมีครอบครัวกับการทำงาน การบาลานซ์เนี่ยไม่ได้ยาก คือการมีครอบครัวไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่บ้านอย่างเดียว คือตัว คุณต๊อด (ปิติ ภิรมย์ภักดี) เองเขาก็เป็นพนักงานออฟฟิศ เขาทำงาน ไปทำงานเหมือนพนักงานทุกคน ตอนเช้าเขาไป ตอนเย็นเขาก็กลับ เพราะฉะนั้น เสาร์-อาทิตย์ เราก็ไม่ให้คิวงาน เพื่อเป็นเวลาที่อยู่ด้วยกัน จากที่เราเคยรับละครสองเรื่อง ก็ต้องเหลือเรื่องเดียว บวกกับมีธุรกิจอื่นด้วย ก็มีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย จริงๆ ก็ไม่ได้ยาก และไม่ได้คิดไกลเกินตัวเกินไป จะต้องทำอันนี้เป็นขั้นเป็นตอน เป็นนู่นนี่นั่นโน่น ไม่ได้ขนาดนั้น แค่เรารู้ว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปนะ เราย้ายบ้านมาอยู่ที่นี่ วันนี้ที่เขาต้องไปทำงานเราจะหาอะไรทำ นุ่นเป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้นะ ให้นุ่นอยู่บ้านเฉยๆ นุ่นก็ทำไม่ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)

เมื่อเราเป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์ เป็นรุ่นใหญ่ในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้การทำงานของเราแตกต่างจากเดิมไหม

สิ่งที่เห็นชัดเลยคือนักแสดงรุ่นน้องจะกลัว

ทำไมล่ะ

ไม่รู้ เขาก็คงเห็นว่าเราโตแล้ว เป็นนักแสดงรุ่นโตน่ะค่ะ เพราะฉะนั้น นุ่นว่าสิ่งที่สำคัญในการทำงานของนุ่น นอกจากตอนเด็กๆ ที่เราทำงานปกติ ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่พอมาตอนนี้ กลายเป็นนุ่นต้องเอนเตอร์เทนนักแสดงรุ่นน้อง เป็นงานที่ก็ไม่แพ้กับงานแสดงนะคะ

เพราะอะไร

คือเราต้องลดช่องว่างของกลุ่มนักแสดงให้ได้ ไม่ได้ลดวัยนะคะ แค่ลดแก็ปของความชิน ความสะดวก ไม่สะดวกที่จะคุยด้วยกัน ในการเล่นด้วยกันอย่างนี้ค่ะ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้จะมีผลในการเล่นละคร อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างชัดเจนมากๆ เลย

นักแสดงผู้หญิงรุ่นใหญ่หลายคนกล่าวว่า ถ้าเป็นละครไทยในสมัยก่อน พอคุณอายุ 30 ปีหรือ 35 ปีขึ้นไปแล้ว ยากที่จะมีโอกาสได้รับบทเท่าอายุจริง ส่วนใหญ่จะแก่กว่าวัย ต้องไปย้อมผมขาว ต้องพูดจาให้แก่กว่าวัย เพื่อรับบทแม่นางเอกทั้งที่ตัวเองอายุแค่ 40 คุณเคยได้รับการเสนอบทเกินวัยแบบนี้มาบ้างไหม

นุ่นขอเล่าย้อนไปตอนที่เล่น แม่อายสะอื้น ตอนนั้นนุ่นอายุประมาณยี่สิบสี่ปี แต่ในบทนุ่นมีลูกนะ แล้วก็ละครเรื่อง อีสา อย่างที่บอกว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจนุ่น นุ่นชอบ จำได้ว่าตอนนั้นอยากเล่นเป็นอีสา แต่ตอนนั้นเราเด็ก พอเวลาผ่านไป นุ่นมีโอกาสมารับบทอีสาอีกครั้ง (ใน “อีสา-รวีโชติช่วง”, พ.ศ. 2556) ซึ่งเป็นบทที่ใฝ่ฝันเลยตั้งแต่เด็กๆ เรื่องนั้นก็มีลูก แต่เรื่องนั้นเป็นพัฒนาการของตัวละครที่เริ่มตั้งแต่เด็ก จนลูกโต แต่ถ้ามาเปรียบเทียบในเรื่องที่มีลูกโตในทันทีเลย นุ่นต้องดูก่อนว่านุ่นเหมาะหรือเปล่า สมมติว่านุ่นต้องมีลูกตั้งแต่อายุสิบห้าปี ในบทนะคะ นุ่นมีลูกตั้งแต่อายุสิบห้าเป็นเด็กใจแตกมา นุ่นก็มีเหตุผลที่จะเล่นได้

แต่ก็มีหลายเรื่องที่ติอต่อมา ไม่ใช่ว่าไม่มีที่ติดต่อแบบนี้มานะคะ แล้วนุ่นก็คิดว่ายากกับนุ่น แล้วก็ยากกับตัวนักแสดงที่เข้าฉากด้วย เราคิดว่ายังไม่เหมาะ อาจจะอีกห้าปีก็ได้ที่นุ่นจึงจะเหมาะกับบทนี้ นุ่นไม่เสียดายที่ต้องปฏิเสธ ต่อให้เป็นโปรเจกต์ที่ดีก็ตาม หรือคิดว่าต้องดีแน่นอน แต่ถ้าไม่เหมาะสมกับตัวเรา ก็ไม่ได้ เล่นไปแล้วมันยาก ยากจริงๆ เราต้องแต่งแก่แค่ไหน เราต้องแอคติ้งแก่แค่ไหนถึงจะลูกโตขนาดนี้ ก็ไม่รับ เลือกที่จะไม่รับถ้าเรายังเลือกได้

เคยรับบทแก่ที่สุด ตอนอายุเท่าไหร่

จำไม่ได้ค่ะ มีแค่แบบแต่งแก่ๆ หกสิบ เจ็ดสิบปีอะไรอย่างนั้นค่ะ แต่ก็แค่นิดเดียว ที่แก่แบบตั้งแต่ต้นเลยยังไม่เคยรับ ยังไม่มีค่ะ

ในฐานะนักแสดงที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงยุคปัจจุบัน คือเป็นคนที่อยู่ 2 รุ่น คุณนุ่นมองว่าวงการละครไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

เคยคิดว่าวันหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้

จริงเหรอ

จริงค่ะ คิดว่าจะเปลี่ยน แต่นุ่นว่าตอนนี้ยังเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิดด้วยซ้ำ

ตอนนั้นคิดว่าจะเปลี่ยนไปแบบไหน

คือนุ่นเบื่อความจำเจของในกลุ่มที่เราเล่นด้วยกัน ไม่ได้เบื่อนักแสดงด้วยกันนะคะ เบื่อความจำเจที่เรื่องนี้ก็อยู่กับคนนี้เหมือนเดิม อะไรเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ๆ สำหรับเรา แล้วนุ่นเองก็ได้ติดตามฝั่งเกาหลีบ้าง เห็นความวาไรตี้ของเขา คือนักแสดงไม่ได้มีสังกัดเป็นช่อง แต่มีสังกัดเป็นค่าย เพราะฉะนั้น คู่นี้ คนนี้ จะไปเล่นที่ไหนก็ได้ ก็คิดว่าเมืองไทยจะเป็นแบบนี้แหละ แต่ไม่รู้อีกนานแค่ไหน แต่ปรากฏว่าตอนนี้เริ่มเป็นแบบนั้นแล้ว

เป็นค่าย ไม่ได้เป็นช่องอีกต่อไป

ถ้าเปรียบเทียบของไทยก็คือการเป็นนักแสดงฟรีแลนซ์ที่เป็นอิสระเลย นุ่นว่าก็ทำให้วงการหลากหลายดี ทำให้เราสนุกกับการทำงานใหม่ๆ สมมติเราเล่นช่องนี้ แต่โอกาสดังน้อยมากเลย เป็นช่องใหม่ แต่ก็มีสิ่งที่เรายอมแลกกันได้ อย่างเช่นนักแสดงที่มาร่วมงานกัน หรือบทที่เราไม่เคยรับ เราเล่นอาจจะไม่ได้ดังมาก อย่างตอนที่นุ่นเล่น พิษสวาท (พ.ศ. 2559) ตอนนั้นนุ่นมีสองเรื่อง และปฏิเสธ พิษสวาท ไปก่อน ตอนนั้นช่อง one31 เป็นช่องที่ค่อนข้างใหม่ ก็ยากนะถ้าเราจะไปรับอีกที่หนึ่ง แต่สุดท้ายนุ่นต้องไปขอโทษที่นุ่นไปปฏิเสธอีกที่หนึ่ง แล้วกลับมารับของช่อง one31 เพราะบทจริงๆ เพราะเนื้อเรื่อง อะไรต่างๆ มีหลากหลายเหตุผล เหมือนที่หลายคนชอบพูดกันว่าบทละครก็เลือกคนแสดง

ไม่ใช่คนแสดงเลือกบทละครอย่างเดียว

(หัวเราะ) มันคงถูกกำหนดเอาไว้แล้ว แบบว่าจังหวะไหนอะไรยังไงอย่างนี้ค่ะ

หมายความว่าวงการละครไทยก็เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 10 ปี รวมทั้งเทคนิคหรือวิธีการเล่นด้วยใช่ไหม

มันมาพร้อมกับเทคโนโลยีค่ะ อย่างการออกอากาศ ระบบต่างๆ ในการถ่ายทอดออกไป แต่มันก็ทำให้คุณภาพทุกอย่างมันดีขึ้นนะคะ

พอเทคโนโลยีเปลี่ยน ทุกอย่างดีขึ้น เทคนิคในการแสดงละครแบบสมัยก่อนคือโอเวอร์แอคติ้งก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว การแสดงละครก็เลยต้องลึกมากขึ้น พูดอย่างนี้ได้ไหม

นุ่นว่าต้องแยกเป็นสองประเด็น คือกล้องจับพลังงานของนักแสดงในตอนนี้ได้มากขึ้น สัญญาณดีขึ้น ดังนั้น ที่เราเล่นไปจับได้หมดเลย เพราะฉะนั้น เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องเล่นใหญ่ คือโอเวอร์เป็นคำแค่เปรียบเทียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเล่นโอเวอร์เหมือนในสมัยก่อนนะคะ พอมาบวกกับทีวีที่จอใหญ่ขึ้น แล้วคนไทยเองก็ได้รับวัฒนธรรมหรือเรียนรู้จากซีรีส์ในประเทศเพื่อนบ้านเราเยอะขึ้น เขาก็จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักแสดงว่าแบบนี้ดี แบบนี้มาก แบบนี้น้อย แบบไหนที่เขาชอบหรือไม่ชอบ

วิธีเดียวที่ทำให้อยู่ในทีวีแล้วพอดีได้ คือการเป็นตัวละครให้ดีที่สุด ตอบยากว่าพอดีคือแค่ไหน แต่ผู้กำกับก็จะเป็นคนคุมเราอีกทีหนึ่ง อันนี้น้อยไป อันนี้มากไป เพราะเขาเหมือนคนดูอยู่ ดูทุกตัวละคร เราดูตัวเราเอง ดูเพื่อนที่เข้าฉากกับเรา แล้วก็ส่งอารมณ์กันอย่างนี้ค่ะ

ในรอบ 10 ปีหลังมานี้ วงการละครไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของซีรีส์ต่างประเทศอย่างซีรีส์เกาหลี ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นคือซีรีส์อเมริกา ซีรีส์จากฝั่งตะวันตก แล้วซีรีส์เกาหลีทำให้วงการละครไทยดิ้นรน ต่อสู้มากๆ ในแง่ของการผลิตหรือแม้กระทั่งการเลือกเรื่องที่จะมาผลิต ชิงรักหักสวาทหรือตบกันอย่างไม่มีเหตุผลเหมือนสมัยก่อน ไม่ค่อยจะมีแล้ว ซึ่งคุณคิดว่าส่วนนี้เป็นการช่วยยกระดับวงการละครไทยได้บ้างหรือเปล่า

นุ่นว่าดีนะทำให้เราไม่หยุดนิ่ง นอกจากตัวเราที่จะพัฒนาไปแล้ว เราก็ได้การถ่ายทำที่ดีขึ้น อะไรดีขึ้น อย่างภาพหรือการตัดต่อ ทุกอย่างดีขึ้นไปหมดเลย แล้วนุ่นก็ยังโชคดีที่ยังอยู่ในยุคที่เขากำลังพัฒนาขึ้นไปอีก ส่วนตัวนุ่นเป็นคนที่ดูซีรีส์เกาหลีหมือนกัน ก็ชอบ 

คือเวลาดู นุ่นก็จะรู้สึกว่านุ่นก็อยากให้ตัวเองอยู่ในโปรเจกต์ที่ดี อยากไปอยู่ในแบบนี้บ้าง คือการฮีลตัวเองเหมือนกันนะ แล้วนุ่นก็ไปดูว่าที่เขาเล่นกันดี เพราะเขาเล่นกันดีจริงๆ เขารู้สึกกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงเด็กน้อยอะไร เขาดีหมดเลยอะไรอย่างนี้ค่ะ นุ่นดูแอคติ้งด้วย อย่างเกาหลีเองก็เป็นเอเชีย มีความผูกพันของครอบครัวเหมือนเราละครที่เขาดังๆ ก็เป็นละครครอบครัวซะส่วนใหญ่ จริงๆ พื้นฐานไม่ได้แตกต่างกัน แต่ว่าการเขียนบทแล้วก็เม็ดเงินที่เขาได้เอามาใช้ในการผลิตแตกต่างจากของเรา

คุณทำงานมาปีนี้เป็นปีที่เท่าไหร่แล้ว

ครบยี่สิบสี่ปีแล้วค่ะ เพราะนุ่นเข้าวงการ พ.ศ. 2540

ที่บอกว่าเวลาดูซีรีส์ต่างประเทศแล้วอยากมีส่วนร่วม แปลว่า 24 ปีที่ผ่านมา ไม่ทำให้คุณอิ่มตัวเลยใช่ไหม

ไม่ ไม่เลยค่ะ ใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่างที่บอก สิ่งที่คล้ายกันคือเราต้องเปลี่ยนทีมงานใหม่ การที่เรารับละครเรื่องหนึ่ง เราไปเจอทีมใหม่ เราก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ต้องไปทำความรู้จักกับผู้จัดคนนี้ ผู้กำกับคนนี้ นักแสดงร่วมคนนี้ อีกหลายๆ คน รวมถึงตัวละครที่เราจะต้องไปเจอในแต่ละเรื่องอีก มันใหม่เสมอเลยอย่างนี้ แล้วนุ่นก็เชื่อว่าความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วอายุที่มากขึ้น บทที่ได้รับก็ต่างกันไปมากขึ้น จะเอาไปเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ก็เปรียบเทียบได้ยากเพราะไม่เหมือนกัน ตัวละครที่ผ่านมาวัยวุฒิน้อยกว่าก็ต้องคิดแบบวัยวุฒิที่น้อยกว่า แต่พอเราโตขึ้น เราก็ได้รับบทที่วัยวุฒิมากขึ้น มันก็มีแบกกราวนด์อยู่ข้างหลังมากขึ้นอะไรอย่างนี้ค่ะ

อยู่วงการมา 24 ปี เบื่อบ้างไหม

(หัวเราะ) ไม่เบื่อเลย ชอบ ชอบค่ะ

แล้วคิดว่าจะทำงานไปจนถึงตอนไหน มองตัวเองในอนาคตไว้ในฐานะนักแสดงแบบไหน

คือตอนแต่งงานนุ่นก็คิดว่า โอ๊ย สามสี่ปีก็คงไม่มีแล้วมั้ง แต่ก็เลยมาสิบปีแล้วเนอะ นี่คือนุ่นแต่งงานครบสิบเอ็ดปีมาแล้วนะคะ ก็ยังมีพื้นที่ให้อยู่ นุ่นยังขอบคุณคนดูที่เขายังเปิดใจที่รับนักแสดงที่ยังอายุเท่านี้อยู่ ทำงานไปจนถึงเมื่อไหร่ นุ่นก็ตอบไม่ได้ในระยะยาว ไม่ได้จริงๆ เอาแค่ระยะสั้นๆ ในปีนี้ปีหน้ามีบทแบบนี้มา เรารับพิจารณา อย่างปีหน้านุ่นก็มีละครต่อจาก กระเช้าสีดา อีกสองเรื่อง คือนุ่นก็ตอบได้แค่นั้น ตอบไปมากกว่านี้ไม่ได้

แต่ไม่ได้คิดว่าจะหยุดแล้วใช่ไหม

ไม่ได้คิดแล้วค่ะ เปลี่ยนแล้ว อันนี้ก็จุดเปลี่ยนนิดหนึ่ง เพราะเห็นแล้วว่ายังมีโอกาสที่ยังจะได้ทำงานอยู่ค่ะ

ขอกลับมาถามที่ กระเช้าสีดา เรื่องนี้เป็นบทประพันธ์ที่เคยทำเป็นละครมาแล้ว แต่ถูกปรับเปลี่ยนพอสมควรเพื่อให้เข้ากับบทของเหตุการณ์ปัจจุบัน คิดว่าเทรนด์การทำละครเก่าให้ดูใหม่ขึ้นมาเป็นสิ่งที่สังคมในตอนนี้ต้องการหรือเปล่า

นุ่นไม่ได้ไปดูเวอร์ชันเก่าว่าเป็นยังไง แต่สมัยก่อนคงเป็นตัวละครที่คิดในแบบยุคนั้น สภาพสังคมแวดล้อมมันก็ทำให้คิดแบบนั้น แต่พอมาเป็นเวอร์ชันนี้ นุ่นคิดว่าคนเขียนบทก็คงเอาสภาพสังคมเป็นตัวตั้ง เอาอาชีพเป็นตัวตั้ง เอาอะไรต่างๆ สิ่งแวดล้อมรอบๆ เป็นตัวตั้ง เหมือนเรื่องใหม่ แต่จริงๆ ตัวตั้งยังเป็นเส้นเรื่องเดิมนะคะ แค่เขย่าใหม่

หมายถึงว่าเหตุผลของการกระทำต่างๆ ไม่ใหม่ใช่ไหม แค่บริบทใหม่

ใช่ๆ แล้วก็อาจจะถูกใจคนในยุคนี้

รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ด้วยไหม เพราะว่าบทของคุณใน กระเช้าสีดา ค่อนข้างจะมีปมเยอะแยะอยู่พอสมควร

น้ำพิงค์ใน กระเช้าสีดา เป็นผู้หญิงธรรมดา อาจจะมีฐานะมากกว่าผู้หญิงคนอื่น แต่เขาเป็นผู้หญิงที่อยากมีคนที่อยู่ด้วยแล้วแฮปปี้ ไม่มีใครที่อยากแต่งงานแล้วอยากหย่า เพราะคิดว่าถ้าหย่าก็ไม่ต้องแต่งดีกว่า เพราะฉะนั้น มันคือความรักที่คิดว่าสวยงามจริงๆ เขาก็มีชีวิตของเขา แต่ด้วยความที่ถูกหักหลัง ถูกทำร้ายจากสามีไม่ใช่คนเดียว ดันเป็นคนสองคนที่เขาไว้ใจ เลยเป็นแรงผลักดัน บางทีเราก็ต้องแอบคิดว่าถ้าเป็นเราล่ะ น้ำพิงค์จะเป็นยังไง ยุคนี้ก็ไม่น่าจะยอม ไม่ยอมแน่ๆ

หมายความว่าถ้าเป็นยุคก่อนจะยอมเหรอ

เมื่อก่อนอาจจะด้วยหน้าที่การงาน ผู้หญิงอาจจะด้อยกว่าผู้ชาย

กลัวถูกสังคมตราหน้า ถ้าจะต้องหย่าอย่างนี้เหรอ

ใช่ มีหลากหลายองค์ประกอบ ตอนนี้เรื่องหย่ากลายเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงเองตอนนี้อาจจะมองหาความสุขเพิ่มมากขึ้นด้วย ความโชคดีของคู่นี้คือไม่มีลูก เลยตัดความสัมพันธ์ได้ค่อนข้างง่าย แต่น้ำพิงค์ที่มีทุกอย่างและคอยซัพพอร์ตผู้ชายทุกอย่าง เขาตั้งใจจะสร้างครอบครัว ไม่ได้สนใจว่าผู้ชายคนนี้จะมีรายได้เท่าไหร่ ผู้ชายจนกว่า เขาไม่ได้แคร์ เขาพร้อมจะซัพพอร์ตแล้วเดินไปพร้อมกัน แต่วันที่เราจะเดินไปพร้อมกัน มันชะงัก โหมดรักตัวเองก็ต้องมาแล้ว 

อันนี้นุ่นว่าเป็นธรรมชาติของคนนะ ที่นุ่นก็ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติของตัวน้ำพิงค์ด้วย ทำไมวางแผนอะไร ยังไงเพราะตอนแรกนุ่นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าน้ำพิงค์จะไปได้ถึงไหน แต่มีอยู่ฉากหนึ่งที่เป็นฉากมโนนึกคิดของน้ำพิงค์ เป็นฉากที่อยากเอาน้ำร้อนราดลำนำ เป็นฉากที่คิดในหัว แต่เป็นฉากที่นุ่นเก็ตว่าน้ำพิงค์เป็นคนยังไง

เป็นคนยังไง

เป็นคนที่ทำแบบนั้นได้แต่ไม่ทำ เพราะว่าคนทุกคนมีความรู้สึก มีเวลาปรี๊ดขึ้นมาทั้งนั้น แต่ตัวละครนี้ทำอะไรแล้วเด็ดจริงๆ ใช้สมอง ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนจะต้องพยายามเข้ามาอยู่ในเกมเขา นุ่นว่าสนุกนะ

เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงใน พ.ศ. นี้หรือเปล่าว่าจะไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำอีกต่อไป

นุ่นเดาว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทำแบบนี้ แต่ก็มีหลากหลายเหตุผลที่ผู้หญิงจะทำได้หรือเปล่า อย่างเช่นบางครอบครัวมีลูก จะหย่าได้ยังไงล่ะ ต้องทำเพื่อลูก เขาก็ต้องอยู่กันไป ประคับประคองกันไป แต่อาจจะไม่ได้อยู่เพราะความรักทั้งหมดแล้ว เลยมีหลากหลายปัจจัย เวลานุ่นคิดถึงการกระทำต่างๆ ของตัวละครทุกเรื่องนะคะ ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็พยายามดูว่าชีวิตของคนเราเป็นยังไง ซ้ายขวาหน้าหลังรอบๆ ตัวเราอะไรอย่างนี้ค่ะ 

บางครอบครัวมีลูกแล้ว อายุสิบปี ยี่สิบปีก็เลิกกัน เพราะฉะนั้น มันมีความเป็นไปได้ สะท้อนให้เห็นว่าตัวน้ำพิงค์ไม่รู้ว่าจะไปทนอยู่ในสภาวะแบบนั้น ที่สามีตัวเองมีเมียน้อยแล้วอยู่ในบ้านเดียวกันอีกทำไม แต่สิ่งเดียวที่น้ำพิงค์ต้องรู้สึก คือผู้ชายคนนี้ไม่ได้รักเรามากพอกับเงินที่เราเสียให้เขาไป ที่เราคอยดูแลเขาไป เพราะฉะนั้น เขาต้องไม่มีสิทธิ์เลยในเงินของเรา เขาก็เด็ดเนอะ

มีข่าวว่าคุณกลับไปทำงานกับช่อง 7 HD อีกรอบหนึ่งใช่ไหม ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

พ.ศ.​2562 เคยเล่นละคร เพลิงเสน่หา แล้วนะคะ นั่นเป็นครั้งแรกที่นุ่นกลับไปหลังจากหมดสัญญาไปเจ็ดปี แล้ว พี่เจี๊ยบ (โสภิตนภา ชุ่มภาณี) เขาเป็นผู้จัด เลยบอกว่าอยากให้นุ่นเล่นละครช่อง 7 HD อีกครั้ง แล้วเขาก็หาเรื่อง เข็มซ่อนปลาย บทประพันธ์ของ คุณกฤษณา อโศกสิน มาให้เล่นปีหน้าค่ะ ก็ต้องขอบคุณช่อง 7 HD ด้วยที่ให้โอกาสนุ่นได้กลับไปรับงานอีก

ยังอยากกลับไปแสดงภาพยนตร์อีกไหม

อยากค่ะ

มีโปรเจกต์อะไรใหม่ ๆ เสนอมาไหม

มีติดต่อมาเรื่อยๆ นะคะ แต่ว่ายังไม่ได้รับเลยสักเรื่อง

คิดว่าในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับคุณนุ่นคืออะไรครับ

สำคัญทุกอย่างเลยค่ะ นุ่นไม่ได้แบ่งว่าอันไหนมากอันไหนน้อย เพราะว่าชีวิตของทุกคนต้องหาสมดุลของตัวเองให้ได้ความเข้าใจของคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่ใช่คนเดียวแล้ว สมมตินุ่นทำงานคนเดียวทุกวันจนไม่ได้สนใจครอบครัวเลยก็ไม่โอเค อย่างที่บอกว่าเสาร์-อาทิตย์ ก็อยู่บ้าน ช่วงนี้ก็จะอยู่ด้วยกันเยอะมาก เป็นช่วงเวลาที่เราได้แชร์อะไรกันเยอะขึ้น เลยไม่ได้รู้สึกว่าต้องแบ่งยังไง มากน้อยแค่ไหน 

เราก็มีบาลานซ์ของตัวเองก็สำคัญเหมือนกัน เพราะก่อนนุ่นจะแต่งงาน อาชีพนักแสดงมันคืออาชีพเรา มันคือชีวิตเราเกินครึ่งชีวิตแล้ว มันก็ยากที่เราจะเลิกจากวงการละครเลยเพราะครอบครัวนะคะ (หัวเราะ)

แล้วเรื่องการดูแลร่างกายล่ะ ยังเข้มงวดเหมือนเดิมไหม เพราะเราก็ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว

เข้มงวดน้อยกว่าเดิมค่ะ สมัยก่อนกินน้อย เพราะผู้ใหญ่ชอบว่าเราอ้วน ถ้าเป็นนักแสดงช่อง 7 HD จะรู้เลยว่าโดนดุว่าอ้วนค่ะ เดี๋ยวนี้กินเยอะ น้ำหนักขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อน ถ้าเปรียบเทียบแล้ว สี่ถึงห้ากิโลกรัมนะคะ แต่พอเราโตขึ้น อาจจะเหมาะกับการมีน้ำมีนวลมากขึ้น ไม่ได้ผอมจนเกินไป แต่ถ้าเปรียบเทียบกันไปดูละครเก่าๆ นุ่นผอมมาก แต่ก็ยังเป็นคนที่โชคดีที่แพ้อาหารมันๆ โชคดีไหมคะ (หัวเราะ)

โชคดีสิ แพ้แอลกอฮอล์ แพ้อาหารมันๆ

ถ้ากินมันมากๆ ร่างกายจะแอนตี้อัตโนมัติ ก็ต้องหยุดกินเลยทันที แต่ก็กินมากขึ้นแล้วนะคะ เบคอนอะไรอย่างนี้ค่ะ

แล้วการพักผ่อนล่ะ

ก็คือเทียบการบาลานซ์ชีวิต ตอนนี้ก็ให้คิวละครไม่เกินสี่ทุ่ม

สี่ทุ่มคือดึกสุด

ใช่ อันนี้คือมาตรฐานของการทำงานทุกๆ กอง นอกจากวันที่จำเป็นจริงๆ ที่จะลากยาวแล้วแต่วันไปอะไรอย่างนี้ค่ะ อย่างอื่นก็ไม่ค่อยมีอะไร

ขออนุญาตถามสถานการณ์ตอนนี้บ้าง ละครต้องหยุดถ่าย แล้วมีอะไรอื่นๆ ที่กระทบคุณบ้างไหม

ถ้าถามเรื่องของการซื้อของของผู้บริโภค เราก็ต้องซื้อของให้น้อยลง ซึ่งเราเข้าใจในสภาพแวดล้อมอะไรต่างๆ แล้วบริษัทเรามีผลกระทบไหม มีผลกระทบแน่นอน นอกจากบริษัทครีม WORRA ก็ยังมีเรื่องร้านอาหารที่ทำกับคุณต๊อด นุ่นก็จะมีร้าน R.HAAN ที่ได้มิชลินสองดาว เป็นร้านอาหารไทย มีปัญหาจากเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ต้องหยุดทำเพราะติดลบไปเรื่อยๆ ถามว่าเครียดไหม ก็เครียดสะสมแหละ เหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้แตกต่างกันอะไรอย่างนี้ค่ะ ไอ้เงินเก็บที่เราเก็บเอาไว้ก็ต้องเอามาบริหาร มันมีผลค่ะ

แล้วคิดถึงการทำงาน ออกกองอะไรอย่างนี้ไหมครับ เพราะชีวิตเราอยู่กับกองถ่าย

ไม่ได้เบื่อทั้งหมดนะคะ ก็ไปหาอะไรทำ อย่าง COVID-19 ปีที่แล้วนุ่นก็ไปสั่งหมวกที่เหมือนหมวกป้องกันเชื้อมาขาย จริงๆ นุ่นชอบเป็นแม่ค้านะ มีแบรนด์ WORRA Bangkok ทำเสื้อผ้า มีถุงเท้า มีรองเท้าผ้าใบ ทำเป็นซีซั่นสนุกๆ ช่วงนี้ก็ทำอุปกรณ์ป้องกันสำหรับคนเล่นสเก็ต อันนี้คือความสนุกของนุ่น

ดูเหมือนคุณทำอะไรด้วยความสนุกมาตลอด ตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปีแล้ว

เราชอบทำในสิ่งที่สนุก ทำแล้วรู้สึกดีจังเลย ได้ความรู้ใหม่ๆ ได้อะไรใหม่ๆ เสมอ

เคยคิดว่าเราจะต้องหยุดงานแสดงไหมครับ

อืม เคยคิดแหละว่าต้องมีวันหยุด ด้วยอายุที่มากขึ้นด้วย คือต้องมีวันหยุดแหละ แต่นุ่นก็ยังตอบไม่ได้ว่าวันนั้นคือวันไหน

ตอนนี้ความสุขของคุณคืออะไร

นุ่นมีความสุขกับครอบครัวนะคะ มีความสุขกับเพื่อน มีความสุขกับงาน เพราะนุ่นเชื่อว่าถ้าทำอะไรด้วยความสุขแล้ว ทุกๆ ด้านของเราก็จะมีความสุขด้วย ปัญหาก็มีนะ ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย แต่เราก็รู้อยู่ว่าปัญหามีเอาไว้ให้แก้ ก็ต้องค่อยๆ เป็นลำดับขั้นตอนไปอะไรอย่างนี้ค่ะ

คำถามท้ายๆ แล้ว คุณเองก็ผ่านอะไรมาเยอะ ทำอะไรต่างๆ มาเยอะ สิ่งที่มีความหมายกับคุณมากๆ หรือเอาไว้ใช้เตือนตัวเองเวลามีปัญหาคืออะไร

เอาจริงๆ เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นมาเยอะ มีคำคำหนึ่งของ พี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) ค่ะ พี่ดู๋เคยสอนว่าไม่รู้อะไรเลยไม่ได้นะ หนังสือพิมพ์ต้องอ่าน สมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียให้อ่าน เพราะฉะนั้น เวลาถ่ายละคร นุ่นก็จะไม่มีโอกาส ไม่ได้ดูข่าว ไม่รู้อะไรเลย แต่พอมาทำพิธีกร พี่ดู๋บอก ไม่ได้ ต้องรู้ ไม่งั้นจะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง จะเป็นนักแสดงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ในโลกปกติด้วย ก็เป็นสิ่งที่คิดมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ นุ่นก็เสพข่าวนะ ดูนั่นดูนี่ แต่เวลาเสพข่าวจะเห็นทั้งข้อดีและข้อผิดพลาดในสังคมค่อนข้างมาก เราก็มาเลือกดู เราไม่อยากใช้ชีวิตด้วยความผิดพลาด

เราก็ศึกษาจากคนอื่นเพราะไม่อยากผิดพลาดเองใช่ไหม

ใช่ๆๆ มันก็ไม่จำเป็น เราพยายามวางทุกอย่างของเราอย่างรอบคอบที่สุด อย่างที่บอกว่าบริษัทเองก็มีทีม มีครอบครัวที่ช่วยซัพพอร์ต ก็ช่วยกัน อาจจะมีเถียงกันบ้างข้างในบริษัท แต่ก็เป็นเรื่องปกติค่ะ

คำถามสุดท้ายแล้วครับ คุณนุ่นชอบตัวเองตอนนี้หรือตอนไหนมากว่ากัน

ตอนนี้ก็ชอบ ชอบที่ได้ทำอะไรที่อยากทำเยอะ แต่ตอนเด็กก็ชอบคนละแบบ ตอนเด็กไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็ทำแค่นั้นเลย โอ๊ย สนุก แต่ตอนนี้เราโตขึ้นเนอะ เราต้องใช้ความรอบคอบและมีสติมากขึ้น ทำให้นุ่นชอบ และได้ทำอะไรที่นุ่นไม่เคยทำตอนเด็กๆ

ภาพ : นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล