นอกจากวันขึ้นปีใหม่ วันเด็ก วันครูแล้ว ที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน เดือนมกราคมยังมีวันสำคัญอื่นๆ อีก หนึ่งในนั้นคือ ‘วันกองทัพไทย’ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคมของทุกปี โดยเหตุที่เลือกวันที่ 18 มกราคม เนื่องจากวันนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ถ้าพูดถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็จะนึกถึงเหตุการณ์นี้

ผมเลยอยากจะนำเสนอวัดที่มีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ใช่วัดที่สร้างเป็นอนุสรณ์เนื่องในศึกครั้งนั้นนะครับ แต่เป็นวัดที่พระอนุชาของพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน นั่นก็คือ ‘วัดวรเชษฐ์’

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ถือเป็นเอกสารฉบับที่เก่าที่สุดฉบับหนึ่งที่พูดถึงวัดวรเชษฐ์ โดยระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้สร้าง ‘วัดวรเชษฐารามมหาวิหาร’ โปรดให้สร้างพระพุทธรูป มหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กุฏิ กำแพงล้อมรอบ และทรงนิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีหรือพระสายวัดป่ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้

มาดูเอกสารอีกสัก 2 ฉบับนะครับ คำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างวัดไว้ที่สวนฉลองพระองค์พระเชษฐา เรียกว่า วัดวรเชษฐาราม ส่วนคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้ทำพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วทรงสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลถวายพระเชษฐาธิราช พระราชทานนามว่า วัดวรเชษฐ์

สังเกตนะครับ ไม่มีเอกสารฉบับไหนเลยที่ระบุว่า วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือเป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน ความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องสถานที่ถวายพระเพลิงนั้นน่าจะเกิดจากข้อสันนิษฐานของ คุณบรรจบ เทียมทัด ที่แสดงความคิดในบทความเรื่อง ‘วัดวรเชษฐาราม’ ว่า “เข้าใจว่าถวายพระเพลิงพระบรมศพที่วัดวรเชษฐารามแห่งนี้” ประกอบกับการที่พระราชพงศาวดารส่วนใหญ่มักระบุเหตุการณ์การสร้างวัดและการถวายพระเพลิงในเรียงลำดับกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย

อีกทั้งในคำให้การขุนหลวงหาวัดระบุว่า สถานที่ถวายพระเพลิงนั้นคือคือบริเวณวัดสบสวรรค์ หาใช่วัดวรเชษฐ์ไม่ ประกอบกับในพระราชพงศาวดารยังให้ข้อมูลอีกว่า มหาเจดีย์ ซึ่งน่าจะหมายถึงเจดีย์ประธานของวัดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มิใช่พระบรมอัฐิแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่ปรากฏเอกสารที่กล่าวว่า พระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกบรรจุไว้ ณ สถานที่แห่งใด

แต่ความน่าสนใจของวัดวรเชษฐ์ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีวัดชื่อ ‘วรเชษฐ์’ อยู่ถึง 2 วัดด้วยกัน วัดแรกชื่อ ‘วัดวรเชษฐาราม’ หรือวัดวรเชษฐ์ในเมือง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวังโบราณ ส่วนอีกวัดหนึ่งชื่อ ‘วัดวรเชตุเทพบำรุง’ หรือวัดวรเชษฐ์นอกเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเกาะเมือง แล้วแบบนี้ ‘วัดวรเชษฐาราม’ ที่ระบุในเอกสารโบราณคือวัดไหนกันแน่ มาดูกันว่าหลักฐานงานศิลปกรรมที่เหลืออยู่ในวัดทั้งสองแห่งนี้จะบอกอะไรเราได้บ้าง ไปลองดูกัน

วัดวรเชษฐ์

เรามาเริ่มกันที่วัดวรเชษฐารามกันก่อนเลยครับ วัดแห่งนี้มีเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด มีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้า โดยมีอุโบสถอยู่ขนานกัน ถัดไปอีกมีวิหารที่มีเจดีย์รายทรงเครื่องอยู่คู่หนึ่ง มีกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารทั้งหมดเอาไว้ โดยมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณ

วัดวรเชษฐ์

เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่มีลักษณะอ้วนป้อมบนฐานเตี้ย ที่แม้จะได้รับการปฏิสังขรณ์มาแล้วในอดีต ดูได้จากฐานด้านล่างที่ถูกก่ออิฐหุ้มฐานเอาไว้ แต่ปัจจุบันมีการเปิดให้เห็นฐานด้านในบางส่วนที่เคยถูกก่อหุ้ม แต่ก็ยังรักษารูปแบบที่เทียบได้กับเจดีย์ทรงระฆังรุ่นเก่า เช่น วัดมเหยงคณ์ (สร้างเมื่อ พ.ศ. 1981) หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์ (สร้างเมื่อ พ.ศ. 2035) รูปแบบนี้ยังถูกใช้กับเจดีย์ในศิลปะอยุธยาอีกหลายองค์จนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองโดยที่รูปร่างไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ก่อนที่เจดีย์จะมีรูปทรงที่ผอมเพรียวมากขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้น อายุของเจดีย์นี้จึงอาจต้องตีอายุกันกว้างๆไว้ก่อน คือพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

วัดวรเชษฐ์

ถัดมาคืออุโบสถของวัดซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับเจดีย์ แม้จะไม่เหลือหลังคาแล้วแต่ยังเหลือหลักฐานน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งหน้าบันมีการประดับด้วยเครื่องถ้วยหรือการเริ่มเจาะหน้าต่างซึ่งเป็นรูปแบบที่ฮิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย คือพุทธศตวรรษที่ 23 แต่ใบเสมาดันเก่ากว่ารูปทรงโบสถ์ซะนี่ เพราะหน้าตาเหมือนใบเสมาวัดพระศรีสรรเพชญ แต่หนาน้อยกว่าและเล็กกว่า ดังนั้น จึงน่าจะมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 22 แสดงว่าที่ตรงนี้เคยมีอุโบสถหลังเก่ามาก่อนหลังนี้ ต้องเคยมีอุโบสถหลังเก่ากว่านี้มาก่อนแต่อาจจะทรุดโทรม พังทลายไปก่อนแล้ว ก็เลยมีการสร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม เพื่อจะได้ไม่ต้องย้ายอุโบสถไปที่อื่น

วัดวรเชษฐ์ วัดวรเชษฐ์

ส่วนเจดีย์คู่ (ซึ่งไม่ได้อยู่หน้าซองถั่วหมั่นหลีหม่ง) แม้ส่วนบนจะหักหายไปเหลือแต่ฐาน แต่การที่เจดีย์ทั้งสององค์นี้ใช้ฐานสิงห์ ซึ่งเดินวนไปข้างหลังสักหน่อยถึงจะเห็นนะครับ ฐานสิงห์นี้ถือเป็นหนึ่งในฐานเอกลักษณ์ที่นิยมกันมากๆ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย อีกทั้งการที่เจดีย์ยังมีการย่อมุมไม้ 20 ย่อมุมไม้เป็นคำที่ใช้อธิบายการหยักมุม ย่อมุมไม้ 20 หมายความว่ามีทั้งหมด 20 มุม หรือก็คือด้านละ 5 มุมนั่นเอง การทำย่อมุมมากๆ นี้ก็เป็นเอกลักษณ์ของสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นกัน ดังนั้น อายุของเจดีย์คู่นี้จึงอยู่ที่พุทธศตวรรษที่ 23

วัดวรเชษฐ์ วัดวรเชษฐ์

เราจะเห็นว่าภาพรวมของวัดวรเชษฐารามนี้มีอายุสืบเนื่องยาวนานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เรื่อยมาถึง 23 คือราวๆ 200 ปีเลยทีเดียว แสดงว่าวัดนี้จะต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญบางอย่างจึงได้รับการทำนุบำรุงอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีหลักฐานบางอย่างที่ร่วมสมัยกับพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งเป็นปีที่สร้างวัดวรเชษฐ์ที่เราตามหา แต่จะใช่หรือไม่นั้นเราต้องไปดูอีกวัดหนึ่งก่อนครับ

วัดแห่งที่ 2 คือวัดวรเชตุเทพบำรุง วัดแห่งนี้มีปรางค์ขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน โดยมีวิหารอยู่ทางทิศใต้ร่วมกับเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ในขณะที่อุโบสถอยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน มีเจดีย์อีก 2 องค์คือ เจดีย์ทรงปราสาท และเจดีย์รายทรงระฆังขนาดเล็กอยู่ทางเหนือของปรางค์ประธาน โดยอาคารทั้งหมดถูกล้อมด้วยแนวกำแพงเป็นรูปคล้ายกากบาท

วัดวรเชษฐ์

ปรางค์ประธานของวัดนี้มีขนาดใหญ่มีบันไดทางขึ้น 4 ทาง โดย 3 ด้านเป็นมุขประดิษฐานพระพุทธรูปยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เป็นทางเข้าไปในเรือนธาตุ รูปทรงโดยรวมของปรางค์องค์นี้เริ่มกลายเป็นทรงกระบอกซึ่งจะส่งต่อไปยังปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ปรางค์ขนาดใหญ่องค์ท้ายของอยุธยา ดังนั้น ปรางค์องค์นี้ย่อมต้องสร้างก่อนปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้นโดยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2199) คือต้นพุทธศตวรรษที่ 22

วัดวรเชษฐ์

ทางด้านทิศตะวันตกหรืออาจจะเรียกว่าด้านหลังของปรางค์ประธานมีอุโบสถ ซึ่งมีใบเสมาหน้าตาละม้ายคล้ายกับใบเสมาของวัดวรเชษฐารามเลยครับผม แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์หันหลังชนกันซึ่งแทนพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ในภัททกัปป์นี้ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระสมณโคดม ซึ่งการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์หันหลังชนกันนี้ไม่เจอในศิลปะอยุธยา แต่เจอในศิลปะพม่าและศิลปะล้านนา เช่นวัดภูมินทร์ออฟน่านที่มีภาพกระซิบรักบันลือโลกที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นละครับ

วัดวรเชษฐ์ วัดวรเชษฐ์

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีเจดีย์น่าสนใจอยู่อีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทขนาดใหญ่ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทางทิศเหนือ บนองค์เจดีย์มีการเจาะช่องประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้านพร้อมกับประดับด้วยลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาซึ่งได้อิทธิพลจากศิลปะล้านนา เมื่อรวมกับรูปทรงของเจดีย์แล้วจะสามารถกำหนดอายุได้ว่าอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 22

หรือเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กที่แม้จะถูกก่ออิฐพอกส่วนฐานเอาไว้และมีขนาดที่เล็ก แต่เราก็ยังเห็นเค้าโครงแบบเดียวกับเจดีย์ประธานวัดวรเชษฐารามอยู่ ประกอบกับวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าในแนวเดียวกัน อาคารทั้งสองหลังนี้จึงอาจเป็นส่วนที่เก่าที่สุดของวัดที่สร้างมาแล้วตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 21 และได้รับการบูรณะในเวลาต่อมา

วัดวรเชษฐ์ วัดวรเชษฐ์

พอเราเห็นข้อมูลของวัดวรเชตุเทพบำรุงแล้วจะพบว่าแม้จะมีการสร้างมาราว 1 ศตวรรษก่อนหน้า แต่มีอาคารหลายหลัง ทั้งปรางค์ อุโบสถ เจดีย์บางองค์ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการสร้างวัดวรเชษฐ์อย่างมาก ทำให้ข้อมูลในตอนนี้โน้มเอียงไปทางวัดวรเชตุเทพบำรุงค่อนข้างมากเลยทีเดียว

แต่การจะตัดสินว่าวัดใดจะเป็น ‘วัดวรเชษฐ์’ ที่เราตามหานั้นจะต้องมาวัดกันที่คุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารของวัดวรเชษฐ์เสียก่อน ซึ่งคุณสมบัติมีทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบไปด้วย หนึ่ง พระพุทธรูป สอง เจดีย์ประธาน สาม เขตสังฆาวาส สี่ กำแพงแก้ว ห้า เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) และข้อสุดท้าย มีอายุอยู่ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถ

ถ้าดูตามคุณสมบัติทั้งหกข้อนี้ วัดวรเชษฐารามและวัดวรเชตุเทพบำรุงมีคุณสมบัติข้อที่ 1 – 4 ตรงกันทั้งหมด แม้จะไม่เหลือหลักฐานของสังฆาวาสก็ตาม เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของวัดในสมัยอยุธยาอยู่แล้ว พอมาถึงข้อ 5 แม้ว่าตามปกติ ถ้าเราพูดถึงวัดฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า เรามักจะนึกถึงวัดที่ตั้งอยู่นอกเมือง ซึ่งวัดวรเชตุเทพบำรุงตั้งอยู่นอกเกาะเมืองในขณะที่วัดวรเชษฐารามตั้งอยู่ภายในเกาะเมือง

อีกทั้งในเอกสารโบราณยังระบุถึงค่ายพม่าแห่งหนึ่งที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันตกว่า ค่ายวัดวรเชษฐ ทำให้ถ้าเราตีความแบบดื้อๆ เราก็จะตอบว่า วัดวรเชตุเทพบำรุงคือวัดวรเชษฐ์ที่เราตามหา ทว่าในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่มีการกล่าวถึงชื่อของวัดฝ่ายอรัญวาสีหลายวัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีวัดวรเชษฐารามอยู่ด้วย กลับปรากฏชื่อวัดที่อยู่ภายในกำแพงเมือง เช่น วัดธรรมิกราช ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังหลวง หรือวัดสวนหลวงค้างคาวที่ปัจจุบันอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา แสดงว่าวัดฝ่ายอรัญวาสีสมัยอยุธยามีทั้งวัดที่ตั้งอยู่ในเมืองและนอกเมือง

มาถึงข้อสุดท้าย ข้อ 6 นั้น วัดวรเชษฐารามเริ่มสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 และได้รับการปฏิสังขรณ์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ในขณะที่วัดวรเชตุเทพบำรุงเริ่มสร้างในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22 ถ้าเรามองในหลักเกณฑ์ข้อนี้ ทั้งสองวัดก็ยังอยู่ในเกณฑ์ทั้งคู่ เพียงแต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกสักนิด สมเด็จพระเอกาทศรถครองราชย์สมบัติในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2148 – 2153 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการปฏิสังขรณ์วัดวรชุตเทพบำรุงมากกว่าวัดวรเชษฐารามเล็กน้อย ทำให้แม้จะเพียงข้อเดียว แต่ก็ทำให้ความเป็นไปได้ที่วัดวรเชตุเทพบำรุงจะเป็น ‘วัดวรเชษฐ์’ ที่เรากำลังจะตามหาอยู่นั่นเอง

ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้เล่ามาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ขอสารภาพตามตรงว่าผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน จะให้ผมฟันธงไปเลยว่าวัดไหนคือวัดวรเชษฐ์นั้นผมคงไม่หาญกล้าขนาดนั้น คงต้องรอต่อไปจนกว่าจะมีข้อมูลใหม่ๆ ออกมาที่จะมาช่วยกันไขปริศนาของวัดวรเชษฐ์ให้กระจ่างต่อไป

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดวรเชษฐารามตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดโลกยสุธาและวัดวรโพธิ์ หากใครสนใจจะไปชมวัดนี้สามารถไปจอดรถบริเวณด้านหน้าวัดได้เลย หรือจะจอดที่วัดโลกยสุธาหรือวัดวรโพธิ์แล้วเดินชมทั้งสามวัดไปพร้อมๆ กันเลยก็ยังได้
  2. วัดวรเชตุเทพบำรุงตั้งอยู่นอกเกาะเมืองพอสมควร หากจะเดินทางมา แนะนำให้ข้ามสะพานบริเวณใกล้วัดกษัตราธิราชแล้วขับไปตามทาง ตัววัดจะอยู่ถึงก่อนสี่แยกวรเชษฐ์เล็กน้อยครับ
  3. การเดินทางไปยังอยุธยานั้นสามารถมาได้หลายทาง ทั้งขับรถส่วนตัว หรือจะนั่งรถสาธารณะ เช่น รถตู้ หรือรถไฟ แล้วหาเช่าจักรยาน จักรยานยนต์ รถสองแถว หรือแม้แต่เหมารถหน้ากบเที่ยว ก็แล้วแต่ท่านจะสะดวกเลยครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ