เคยสงสัยไหมว่า ถ้าพื้น ผนัง หรือหลังคา ในห้องที่เราใช้อาศัย ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มันเป็น หรือไม่ได้เป็นห้องสี่เหลี่ยมและประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบที่เราเข้าใจกัน ห้องแบบนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

วรปรัชญ์ ศุภเมธีวรกุล นักออกแบบภายใน ก็เป็นหนึ่งในคนที่สงสัยเช่นนั้น แต่ที่สำคัญคือ เขาได้คลี่คลายข้อสงสัยของเขาสู่งานออกแบบกึ่งศิลปะภาพ 3 มิติ ที่ได้พาให้เขาเปลี่ยนจากอาชีพอินทีเรียดีไซเนอร์ สู่การเป็นศิลปินภาพ 3 มิติหรือ 3D Artist เต็มตัว

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

ด้วยรู้สึกว่าข้อจำกัดของการทำงานอินทีเรียมีค่อนข้างเยอะ ทั้งความต้องการของลูกค้า งบประมาณ หรือเรื่องอื่นใดที่ทำงานดีไซน์ออกมาอย่างต้องการไม่ได้ ทำให้เขาอึดอัด และผลักให้เขาได้คิด ทดลองทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่ทำอยู่ โดยบรรดาผลงานที่เป็นจุดตั้งต้นของเขา ถูกแสดงในโซเชียมีเดียในนาม WORA_WORK

ระยะเวลาร่วม 3 ปีของการฝึกฝนฝีมือการออกแบบและการทำภาพ 3 มิติ ได้เปิดโลกการทำงานออกแบบในมิติใหม่ให้กับวรปรัชญ์อย่างกว้างไกล นอกจากการออกแบบภายในอย่างที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

‘ห้อง’ ทดลอง

ผลงาน WORA_WORK ชุดแรกของวรปรัชญ์ เผยแพร่ทางอินสตาแกรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เป็นภาพ 3 มิติผสมแอนิเมชัน ด้วยแนวคิดการสร้างโลกสมมติของงานออกแบบภายใน ผสมผสานกับดีไซน์ของเครื่องเล่นเกมที่นิยมในท้องตลาดอย่างเครื่อง Nintendo Switch เครื่อง Play Station และ Xbox

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

หากแต่ผลงานชุดนี้ก็ไม่ใช่ผลงานชุดแรกสุดในการทดลองแหวกขนบของเขาเสียทีเดียว ย้อนกลับไปเมื่อราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ขณะที่วรปรัชญ์ยังทำงานประจำในฐานะอินทีเรียดีไซเนอร์ เขาและเพื่อนอีก 3 คน (เกษศิริ นิติพิสานนท์, ศุภณัฐ เหม่งเวหา, ภทรกร เกตุสมบูรณ์) จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกันสร้างผลงานออกแบบห้องนอนในจินตนาการออกมาเป็นชุดภาพ 3 มิติกึ่งงานออกแบบภายในออกมาหลายต่อหลายชุด ในชื่อ what_the_bed

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

“มันเกิดจากที่เราไปทำงานออฟฟิศแล้วไม่ค่อยได้ดีไซน์อะไรแปลกใหม่ ก็เลยอยากระบายสิ่งที่อยากดีไซน์ออกมาในงานที่เราทำเอง เหมือนเวลาเราอยากพักผ่อนแล้วไปเล่นเกม เลยลองทำมันขึ้นมาดูว่าโอเคไหม” เจ้าของเพจเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น 

วรปรัชญ์เล่าต่อว่า เขาแบ่งเวลาที่เหลือหลังทำงานประจำในแต่ละวันซึ่งมีไม่มาก มาทำงานออกแบบที่ตัวเองชอบคล้ายเป็นงานอดิเรก โดยใช้โปรแกรมแจกฟรีแบบ Open Source อย่าง Blender เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานที่ต่อยอดความสนใจจากการทำงานออกแบบภายใน สู่การเรียนรู้การปั้นโมเดล 3 มิติในขั้นสูงขึ้นไป จนถึงการทำภาพเคลื่อนไหว ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ผสมกับแนวคิดในเชิงอินทีเรียดีไซน์

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

“เราเป็นคนชอบมองอะไรไปเรื่อยแล้วจินตนาการ ว่าถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้น มันจะเป็นยังไงต่อ ถ้าพูดถึงเก้าอี้ ก็จะรู้สึกว่าทำไมเก้าอี้มันเป็นต้องอย่างนี้ ทำไมมันไม่เป็นอย่างอื่น หรือจริงๆ ถ้ามันเป็นอีกแบบหนึ่งก็อาจจะโอเคหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราว่าการทำงานภาพสามมิติ ทำให้จินตนาการของเราเกิดออกมาเป็นภาพได้

“เราว่าแอนิเมชันมันเข้าถึงความรู้สึกของคนดูได้มากกว่า ใส่เสียง ใส่จังหวะของการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้สื่อสารงานดีไซน์ของเราออกมาได้มากกว่าการเป็นภาพนิ่ง หรือวิธีปกติที่อินทีเรียดีไซเนอร์ใช้ ” นักทดลองเล่าสิ่งที่เขาคิด ก่อนลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง โดยศึกษาเองจากยูทูบ

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

‘ห้อง’ แสดงงาน

ตั้งแต่บรรดายอดมนุษย์ Marvel ไปจนถึงเจ้าหญิง Disney เอกลักษณ์ตัวละครทั้งหลายเหล่านี้ วรปรัญช์นำมาผสมกับแนวคิดการออกแบบภายใน และสร้างสรรค์เป็นชุดผลงานภาพห้องนอนแบบ Isometric (ภาพ 3 มิติที่มีมุมเอียง 30 องศาเท่ากันทั้ง 2 ด้าน และขนาดความยาวของภาพทุกด้านจะมีขนาดเท่างานจริง) ในเพจ what_the_bed จนเมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจเปิดพื้นที่ของตัวเองในนาม WORA_WORK เพื่อเผยแพร่งานภาพ 3 มิติที่หลากหลายขึ้น และปรับเปลี่ยนตามแนวทางที่เขาชอบมากขึ้น

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

อย่างไรก็ตาม จุดร่วมของพื้นที่ทั้งสองนั้นอยู่ที่การออกแบบอินทีเรียดีไซน์ซึ่งดูสนุก อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ โดยหยิบเอาเรื่องราวในวัฒนธรรมป๊อปหรือเรื่องราวรอบตัว มาเล่าผ่านศิลปะกึ่งงานออกแบบภายใน และในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่จินตนาการให้กว้างออกไปจากการออกแบบภายในทั่วไป 

“เราว่าจริงๆ แล้วอินทีเรียเป็นอย่างอื่นที่มันดูง่ายขึ้นได้ และรู้สึกว่ามันเป็นงานเชิงกราฟิก หรือเป็นงานที่ทำให้คนเห็นไอเดียอะไรใหม่ๆ กับอินทีเรียมากขึ้น นอกจากอินทีเรียแบบโมเดิร์น แบบอินดัสเทรียล หรือชื่อเรียกสไตล์ต่างๆ”

งานตั้งแต่ what_the_bed จนถึง WORA_WORK ของวรปรัชญ์ จึงมีสีสัน มีชีวิตชีวา แบบที่คงไม่ได้เห็นบ่อยๆ ในโลกรอบตัว มากไปกว่านั้น คือองค์ประกอบของพื้น ผนัง หลังคา รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เขานำมาตีความใหม่ โดยจับมายืดขยาย เชื่อมต่อ ซ้อนชั้น หรือจัดวางในตำแหน่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริงหากเราอาศัยอยู่ มากกว่าการสร้างความประหลาดใจ พื้นที่ที่วรปรัชญ์ดีไซน์ขึ้นนั้นชวนให้ผู้ชมใคร่ครวญถึงสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา อาจมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซ่อนอยู่

“ปกติงานอินทีเรียจะออกแบบให้อยู่ได้จริง ใช้ได้จริง มีแปลน มีการเขียนแบบเกิดขึ้น ทุกอย่างมันจึงค่อนข้างตายตัว พื้นมีอยู่ไม่กี่แบบ หรือว่าดีไซน์ต่างๆ มีสไตล์ชัด ตามยุค ตามคนชอบ เราเลยออกแบบอะไรที่หลุดกรอบมากไปไม่ได้ เพจนี้เลยทำให้เราได้สำรวจทักษะกับการเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เช่น ต้องทำแอนิเมชันอย่างไรถึงจะสวย

“มันรู้สึกดีมาก เหมือนได้ตั้งเป้าหมายอันหนึ่ง เราบอกว่า เออ เดี๋ยวคราวนี้เราจะลองทำแอนิเมชันดู แล้วก็ไปพยายามหาตามยูทูบว่าต้องศึกษามันยังไง หรือใช้เครื่องมือยังไงบ้าง” เขาอธิบายก่อนเสริมว่า การได้เรียนรู้ ได้ทักษะอะไรใหม่ๆ เป็นอีกเป้าหมายในการทำเพจนี้

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

ออกนอก ‘ห้อง’

เมื่องานอดิเรกถูกทำอย่างต่อเนื่อง โซเชียลมีเดียของ WORA_WORK จึงนำมาซึ่งการทำงานภาพ 3 มิติที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ

วรปรัชญ์เล่าว่า ระหว่างที่สร้างสรรค์งานตามใจชอบลงเพจอยู่หลายเดือน เขาก็ตัดสินใจออกมาประกอบอาชีพอิสระเพื่อทำงานออกแบบภาพ 3 มิติอย่างจริงจังขึ้น และเมื่อเริ่มมีผู้เห็นผลงานมากขึ้น เขาก็เริ่มได้รับงานผลิตภาพ 3 มิติที่ส่วนใหญ่ผู้ว่าจ้างเป็นชาวต่างชาติ จนในปัจจุบันนี้กำลังสนุกกับการได้ทำสิ่งที่ชอบหลากหลายรูปแบบ ในฐานะศิลปินภาพ 3 มิติ

ทุกวันนี้งานสำคัญๆ ที่เขาได้รับส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเผยแพร่งานในโซเชียลมีเดีย ซึ่งในฐานะนักออกแบบภาพ 3 มิติ เขาเคยได้รับโจทย์ทั้งการปั้นโมเดลสินค้าสำหรับงานโฆษณา สร้างภาพ 3 มิติเพื่อส่งไปใช้ร่วมกับงานกราฟิกดีไซน์ ทำแอนิเมชันขนาดสั้น ทำภาพเคลื่อนไหวสำหรับนำไปใช้ร่วมกับงานคอนเสิร์ต รวมถึงงานที่ได้ใช้ทักษะนักออกแบบภายใน อย่างการออกแบบห้องในจินตนาการของศิลปินให้กับแฟนคลับผู้ชื่นชอบ

โดยงานสำคัญที่เขาเล่าว่าเพิ่งได้โอกาสเมื่อไม่นานมานี้ คือการร่วมงานกับทีมพัฒนาเกม Earthshine มีผลงานเกมแนวสร้างอาณาจักรที่เป็นที่รู้จักอย่าง Kingdoms Reborn ซึ่งวรปรัชญ์เล่าว่า เขาได้ใช้ทักษะด้านการออกแบบสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแตกต่างจากตอนทำอินทีเรียดีไซน์อย่างสิ้นเชิง

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

“เราต้องมาเริ่มศึกษาใหม่ว่าบ้านแต่ละยุคมันเป็นยังไง เพราะในตัวเกมมีตั้งแต่ยุคก่อบ้านด้วยฟาง ซึ่งเป็นงานที่อินทีเรียทั่วไปไม่เคยทำแน่ๆ รวมถึงลักษณะของสัดส่วนที่ไม่ต้องเป๊ะ แต่ต้องคิดถึงเรื่องการรับรู้ทางภาพมากขึ้น คนเห็นแล้วต้องรู้เลยว่า ตึกนี้มีฟังก์ชันอะไร เป็นยุคไหน”

สำหรับวรปรัชญ์ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับเขา เพราะนอกจากการดูแลพื้นที่ WORA_WORK และการทำงานภาพ 3 มิติที่ตอนนี้กลายเป็นงานหลัก เขาก็เพิ่งได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho : MEXT) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Industrial Design ที่มหาวิทยาลัยอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น

“เราอยากไปลองอะไรที่แปลกไป เพราะดีไซน์ในแต่ละสาขามีแนวความคิดแตกต่างกันในเชิงลึก เผลอๆ เราอาจนำเอามาต่อยอดในงานสามมิติได้ด้วย” เขาทิ้งท้าย

ไม่แน่ว่า ต่อจากนี้เราอาจได้เห็นงานออกแบบอุตสาหกรรมที่เจ๋งมากๆ จากเขาก็เป็นได้

WORA_WORK อินทีเรียดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบงานออกแบบภายในด้วยภาพ 3 มิติและแอนิเมชัน

ขอบคุณสถานที่ : Flo Furniture Sukhumvit 36

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ