The Cloud X ไทยประกันชีวิต

ใครจะไปเชื่อว่าจะมีค่ายมวยอยู่ที่หน้าบ้านบนพื้นที่เล็กๆ ในหมู่บ้านของอำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ที่แสนห่างไกล ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของสองสามีภรรยา มะลิ-แฟรนเชส วัฒนะยา และ ธนิต วัฒนะยา ที่แม้จะต่างชาติต่างภาษา แต่ทั้งคู่ก็หลงใหลในศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทย และได้พบรักกันโดยมีมวยไทยเป็นสื่อ เพราะพวกเขาต่างเชื่อในสิ่งเดียวกัน 

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

“การชกมวยไม่ใช่ชีวิต แต่มวยไทยเป็นทั้งชีวิต” 

การชกมวยโดยเฉพาะมวยไทย อาจเป็นกีฬาที่ใครหลายต่อหลายคนคิดว่าเป็นกีฬาที่อันตราย เพราะจะต้องเจ็บตัวอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นไม่ใช่ในความคิดของมะลิ เธอบอกกับเราว่า “มวยไทยไม่อันตรายหรอก ถ้าเราซ้อมเต็มที่ สิ่งที่อันตรายกว่าคือความจน ความจนอันตรายที่สุด” 

เพื่อมอบโอกาสและความฝันให้เด็กๆ ที่ลำบากและยากจนได้มีอนาคตที่ดีกว่าที่เป็น ค่ายมวยเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่อย่างค่ายมวย ว.วัฒนะ จึงถือกำเนิดขึ้น

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

01

คลุกวงใน

เริ่มต้นการสนทนาเราก็แอบประหลาดใจมากที่มะลิ วัฒนะยา พูดโต้ตอบกับเราเป็นภาษาไทยสำเนียงอีสานได้อย่างฉะฉานและชัดถ้อยชัดคำ ไม่รอช้า เราเลยให้เธอเริ่มต้นเล่าการเดินทางของเธอให้พวกเราฟัง 

มะลิ วัฒนะยา หรือชื่อเดิมแฟรนเชส เธอเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ประเทศแคนาดา เธอเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน เธอใช้ชีวิตอย่างธรรมดาที่สุด เพราะแม่เธอเองก็เป็นเพียงแม่บ้าน ส่วนพ่อก็เป็นคนดูแลหมู่บ้าน ไม่ได้มีเงินเดือนมากมายอะไร “แม่เขาก็อายุเยอะ ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ ก็โตกันหมดแล้ว แม่เองเขาก็เหนื่อยจากการทำงาน ถึงเวลาเขาก็ปล่อยเรา” ทำให้เธอต้องตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเธอเองตั้งแต่นั้นมา

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

นี่เองอาจเป็นช่วงเวลาสำคัญที่การเป็นนักมวยของเธอเริ่มปรากฏชัดขึ้น “จริงๆ เราไม่ได้เก่งกีฬาอะไรเลยสักอย่าง ร่างกายเราก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เรารู้แค่ว่าเราชอบการต่อสู้ แต่ว่าเราไม่ได้ชอบเล่นกีฬา มีแค่การต่อสู้เท่านั้นที่เราจริงจังกับมัน พอเราอายุสิบสี่ เราก็ไปสมัครชกมวยเอง เพราะตอนนั้นดูหนังเรื่อง Rocky แล้วเราชอบมาก เลยอยากไปเรียนต่อยมวยสากล แต่ในตอนนั้นแถวบ้านไม่มีค่ายมวยสากลเลย มีแต่ค่ายมวยไทยอยู่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเจ้าของค่ายเป็นฝรั่งที่เคยมาเรียนมวยที่ไทย เราก็เลยเริ่มต้นบนสังเวียนมวยไทยตั้งแต่นั้น”

พอชกไปชกมา อาจารย์ทรงกับอาจารย์สุชาติที่เปิดค่ายมวยอยู่ที่แคนาดาตอนนั้นก็เห็นแววมะลิ และบอกกับเธอว่าถ้าเธอไปที่ประเทศไทย เธอพัฒนาได้มากกว่านี้อีก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอซื้อตั๋วเที่ยวเดียวและเดินทางมายังประเทศไทยด้วยตัวคนเดียวตั้งแต่อายุ 19 ปี

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

ที่แรกที่เธอเดินทางมาถึงคือค่ายมวยแถวสุขุมวิท 93 หากตัดสลับภาพเป็นอีกฉากหนึ่ง หนทางอีกสายของสามีของเธออย่างบุ๋ม-ธนิต วัฒนะยา ก็กำลังดำเนินอยู่เป็นคู่ขนานเช่นกัน บุ๋มเป็นนักกีฬาที่ไม่ว่าจะหยิบจับหรือเล่นกีฬาอะไรก็เก่งไปหมดเสียทุกอย่าง ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากความเพียรพยายามทั้งสิ้น 

“สมัยเราเกิดและโตที่โคราช เราเคยชกมวยอยู่ไม่กี่ครั้งเอง แล้วก็ไม่ได้ชกเป็นจริงเป็นจังอะไร เพราะตอนนั้นไม่มีค่ายมวยเลย หลังปลดทหารเราก็ตามพี่ชายไปทำงานโรงงานที่กรุงเทพฯ บังเอิญว่าไปเจอคนในหมู่บ้านเป็นเทรนเนอร์อยู่ที่ค่ายมวยแถวสุขุมวิท 93 แกก็เลยชวนเราไปซ้อมเพื่อออกกำลังกาย เราไม่ได้ตั้งใจจะไปชกจริงจังอะไรหรอก เพราะตอนนั้นเราก็อายุเยอะแล้ว ไปๆ มาๆ มีอยู่วันหนึ่งเราถอดเสื้อเพื่อซ้อมเตะกระสอบ พี่ไก่เจ้าของค่ายแกมาเห็น เขาเห็นเราหน่วยก้านดี น่าจะเป็นนักมวยได้ เลยพาไปทำงานทำกระจกอะลูมิเนียม แล้วก็ช่วยเขาซ้อมมวยด้วยอีกทาง”

และแล้วเส้นทางของทั้งคู่ก็ได้มาพบและบรรจบกันที่นี่เอง “อาทิตย์แรกที่มะลิได้เจอพี่บุ๋มอยู่ที่ค่ายมวยก็ปิ๊งกันเลย ผ่านไปหกถึงเจ็ดเดือนเราก็แต่งงานกัน นับจนถึงตอนนี้ เราอยู่ด้วยกันมาสิบสี่ปีแล้ว” 

อาจเพราะการมาจากต่างถิ่นฐานบ้านเกิด ทำให้มะลิต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เธออาจไม่เคยเจอมาก่อน

“ตอนมะลิมาประเทศไทยครั้งแรก เหมือนเราจะทำอะไรผิดไปเสียหมด ยังไม่รู้ว่าห้ามเดินข้ามอาหารนะ มีครั้งหนึ่งเคยไปแตะหัวพี่เขา แต่เราไม่รู้นี่ว่าทำไม่ได้ ช่วงแรกๆ เราก็ทำผิดไปแบบนี้อยู่ แล้วแรกๆ มะลิก็เชื่ออาจารย์ดำมาก เพราะแกเป็นครูสอนมวยที่เก่งมาก แถมยังเป็นพ่อสื่อให้เรากับพี่บุ๋มตอนเจอกันที่ค่ายมวยสุขุมวิทด้วย ตอนนั้นเราตามแกไปทุกที่เลย แกบอกว่ากินข้าวต้องกินเผ็ดๆ เราก็กินเผ็ดตาม กินปลาร้าตามแกมาตั้งแต่นั้น” 

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

แต่การเติบโตมาจากต่างที่ต่างวัฒนธรรม ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคเลยสำหรับความรักของมะลิและบุ๋ม

“จากนั้นเราก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ เราพูดภาษาไทยได้ เราเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น แล้วเรากับพี่บุ๋มก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย อาจเป็นเพราะทั้งเราและพี่เขาโตมาด้วยกัน เราแต่งงานกันตอนมะลิอายุยี่สิบ จากนั้นเราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราต่างคนต่างเคยไปอยู่บ้านของกันและกัน ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เลยคิดว่าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำหรับชีวิตของเราทั้งคู่เลย เหมือนเราเรียนรู้กันและกันอยู่เสมอ”

และพวกเขามีความรักในสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือมวยไทย

02

ออกอาวุธ

“มีอยู่ไฟลต์หนึ่ง เรามีโอกาสได้ไปต่อยแชมป์มวยสากลตอนที่ยังอยู่ต่างประเทศ ทั้งที่เราไม่เคยซ้อมมวยสากลเลย ตอนนั้นกรรมการตัดสินว่าเราแพ้ แต่ทุกคนลงความเห็นว่าเราชนะหมด ไม่รู้ว่าเราชนะจริงหรือเปล่านะ เพราะตอนแรกทุกคนบอกว่ามะลิจะโดนน็อก แต่ว่าผลมันดันออกมาสูสี แต่เราก็ไม่ได้สนใจอะไร เรารู้แค่ว่าเราสนุก เราต่อยแบบมันๆ เลย สำหรับเราการชกมวยมันคือแบบนั้น” 

เธอลองเปรียบเทียบเส้นทางการชกมวยที่ต่างประเทศกับไทยให้เราฟัง เธอบอกเราว่าบรรยากาศต่างกันมาก 

“ตอนที่อยู่ต่างประเทศ ครูสอนเขาจะตื่นเต้นจริงจังมาก การชกแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ เขาจะตั้งความหวังกับมะลิเยอะ เราก็เลยกดดัน ตอนนั้นเราชกมวยในหมู่บ้าน พอจบยกหนึ่งก็อยากจะบอกเขาว่าเราไม่ไหวแล้ว แต่มันพูดไม่ออก 

“สำหรับครูสอนมวยที่ไทย เขาไม่ได้จริงจังมาก เหมือนเขาคิดว่าการชกมวยเป็นเรื่องธรรมดา แต่พูดถึงการชกมวย มันก็เป็นเรื่องเล็กนะ อย่างที่อีสานทุกคนก็ชก ขนาดแม่นักมวยคนหนึ่งมีลูกสามคนแล้ว แฟนเขาที่เป็นหัวหน้าค่ายบังคับให้ไปชก เขาไม่ได้ซ้อมอะไรเลย แต่เขาก็ชกได้ ที่อีสานเราไปชกมวยเหมือนเราไปทำบุญ เหมือนกินกาแฟ มันง่ายอย่างนั้นเลย”

และเพราะเธอผ่านการชกมากว่า 50 ไฟลต์ หลายคนอาจเคยเห็นหน้าค่าตาเธอจากการเป็นนักมวยบนสังเวียนอยู่บ้าง แต่เธอบอกปัดกับเราว่า การเป็นนักมวยไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดไว้ตั้งแต่แรก 

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

“จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าจะชกมวยเป็นอาชีพนะ เรารู้แค่ว่าถ้ามาชกมวยในประเทศไทย เราจะพอมีเงินใช้แค่นั้น เพราะสมัยเราชกมวยอยู่ที่ต่างประเทศ ก็ไม่ค่อยมีรายได้ แล้วก็หารายการชกยาก เราเลยวางแผนว่าจะลองสู้ชีวิตที่ประเทศไทยดูสักปีหนึ่ง ลองดูว่าเราจะไปได้ไกลขนาดไหน เหมือนเราชกมวยเพื่อสานฝันตัวเองมากกว่า เราอยากเป็นแชมป์ได้ถ้วยบ้างเท่านั้นเอง เพราะอย่างเวลาเราไปต่อยถ่ายทอดสดที่สนามหลวงสมัยก่อน เราได้เงินค่าตัวแค่พันห้า แค่ค่าแท็กซี่ไปกลับก็เจ็ดร้อยบาทแล้ว เลยรู้ว่าถ้าจะให้ยึดเป็นอาชีพเลยคงเป็นไปไม่ได้”

ตลอดหลายปีทั้งคู่ก็เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับแคนาดา แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็เลือกกลับมาอยู่ที่นี่ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะบุ๋มต้องกลับมาดูแลพ่อที่โคราช

“พอมาอยู่นี่ปีหนึ่ง มะลิก็กลับไปเรียนต่อที่แคนาดาให้จบ พอมะลิเรียนจบ พี่บุ๋มเขาก็เป็นห่วงพ่อ เราเลยตัดสินว่าจะกลับมาทำอะไรสักอย่างที่โคราช แรกๆ มะลิก็ช่วยพ่อแม่พี่บุ๋มเขาขายแตงโม ขายข้าวโพด ทำนาไปได้วันละไม่กี่ร้อยบาท พอเรามาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแถวนี้ เราก็เห็นอะไรๆ มากขึ้น”

คุณมะลิบอกกับเราทั้งน้ำตาว่า ครั้งแรกที่เห็นเด็กๆ ในหมู่บ้านก็รู้สึกสงสาร เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้เรียน และหลายคนต้องไปข้องเกี่ยวกับสุราและยาเสพติด 

“เหมือนเราเห็นคนทิ้งขยะเกลื่อนกลาด เรามีทางเลือกสองทาง เราจะเดินผ่านมันไหม ถ้าเราเดินผ่าน เราผิดเท่าคนทิ้งนะ หรือว่าเราจะเก็บ แล้วถ้าเราเก็บ เราก็ต้องทิ้งให้ถูกที่ ไม่ใช่เอาไปทิ้งมั่วๆ วันที่เราเดินผ่านแล้วเห็นเด็กติดเหล้าติดยา เรารับไม่ได้เลย เราก็ต้องช่วยแก้ปัญหา เราต้องทำอะไรสักอย่าง”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การมาอยู่ของเธอจึงเป็นจุดเริ่มต้นของค่ายมวยเพื่อเด็กๆ

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

03

เปิดสังเวียน

“พี่บุ๋มบอกมะลิว่า ตอนเขาเกิดมา เขาไม่มีอะไรเลย คล้ายกับเด็กในหมู่บ้านบางคน ที่เกิดมาเห็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีและลำบาก เขาเลยอยากเปิดค่ายมวยเพื่อช่วยเด็กๆ เพราะเวลาเราเดินผ่าน เราก็เห็นว่าเด็กๆ กินเหล้ากันแล้ว ไปซื้อเหล้าไปซื้อบุหรี่เองได้แล้ว 

“แล้วเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็อยู่กับปู่ย่าที่แก่มาก ดูแลเด็กน้อยไม่ไหว คนที่มีกำลังเขาก็ไม่อยู่ เพราะออกไปหางานทำที่อื่นกันหมด แล้วเด็กที่เกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่มีแบบอย่างที่ดีให้เขาเห็น เขาก็เลยไม่เห็นทางออกว่าจะทำอะไรได้” จากที่บุ๋มเคยบอกเล่า และสิ่งที่มะลิได้เห็นด้วยตัวเอง เลยทำให้พวกเขามีความคิดอยากเปิดค่ายมวยขึ้น

“ต่อมามะลิได้ไปสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่พุทไธสง แล้วตอนนั้นเองอาจารย์ดำที่สอนมวยเราที่กรุงเทพฯ แกก็กลับมาอยู่บ้านที่โคราช วันหนึ่งแกก็ให้มะลิกับพี่บุ๋มไปซ้อมมวยที่หน้าบ้าน เพราะคิดว่าเรายังชกมวยกันได้อยู่ ซ้อมกันในเต็นท์เฉยๆ เลยนะ ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย มีแต่เป้าให้เตะ ปรากฏว่าซ้อมไปซ้อมมา ก็มีเด็กๆ มากันเอง เพราะเขาได้ยินเสียงเราซ้อม 

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ
มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

“ตอนนั้นมะลิก็ถามพี่บุ๋มว่า ยังอยากทำค่ายมวยอยู่ไหม เพราะเด็กที่อยู่ที่นี่มีเยอะนะ พี่บุ๋มก็บอกว่า ทำ เราก็เลยหาเงินมาซื้อกระสอบทรายแขวนกับต้นไม้ให้เด็กๆ ได้ซ้อมกัน เด็กก็ไม่ไปไหนนะ อยู่ซ้อมกับเราทุกวัน แต่ว่าตอนนี้ค่ายเรามีเด็กที่มาจากในหมู่บ้านแค่คนเดียว ส่วนเด็กคนอื่นๆ เป็นเด็กแถวพุทไธสงที่เราไปรับไปส่งไปโรงเรียน ไปค่ายมวย และกลับบ้านทุกวัน เพราะคนในหมู่บ้านเขาไม่ค่อยสนใจที่เราทำ ไม่ค่อยสนับสนุน เหมือนเขาไม่เห็นด้วย”

ถึงแม้จะมีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำ มะลิก็ยังยืนยันจะทำค่ายมวยให้เกิดขึ้นจนได้ และไม่นานก็มีผู้สนับสนุนใจดีที่ทำให้เกิดเป็นค่ายมวยที่เป็นหลักเป็นฐานมากขึ้น

“แรกๆ เราซ้อมกันแบบไม่มีอะไรเลย อาจารย์ดำเขาแค่เอาไม้มาเสียบดินให้เด็กๆ เตะข้ามไป จากนั้นแกก็ถ่ายลงเฟซบุ๊ก แล้วดันมีคนดูเป็นล้าน พอมีคนเห็นเขาก็เลยอยากช่วย แล้วก็มีฝรั่งช่วยเปิด GoFundMe ให้ เพื่อให้คนช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือ เราถึงมีค่ายมวยให้เด็กๆ ได้ซ้อมกัน จนถึงตอนนี้ค่าใช้จ่ายส่วนมากของค่ายมีคนช่วยค่ะ ค่าเทอม ค่าขนม ค่ารักษาพยาบาล ตอนนี้มีผู้สนับสนุนทำให้เราพออยู่ได้” 

พอได้เวลาที่สังเวียนเริ่มเปิด เราก็ได้ยินเสียงกระสอบทรายดังปักๆ เสียงเด็กๆ เจี๊ยวจ๊าว และกลิ่นน้ำมันมวย บอกเป็นสัญญาณให้เรารู้ว่าที่นี่คือค่ายมวยที่เธอพูดถึง ค่ายมวยที่ไม่ได้สร้างเพื่อตัวเธอเอง แต่เพราะอยากช่วยเด็กๆ ด้วยใจจริง

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

04

เด็กไม้มวยไทย

ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ เบื้องลึกเบื้องหลังของพวกเขาคือความจริงอันหนักอึ้ง ที่พวกเขาต้องแบกรับเอาไว้ มะลิบอกเราว่า เด็กๆ ในค่ายมวยบางคนก็เป็นเด็กกำพร้า ต้องอยู่กับป้าไม่ก็ยาย บางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่นานหลายสิบปี ไม่ก็มีสภาพครอบครัวที่ลำบากมาก เป้าหมายหนึ่งของการสร้างค่ายมวยแห่งนี้ จึงไม่ใช่แค่เด็กๆ จะได้มีร่างกายที่แข็งแรง แต่ยังมีจิตใจที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย

“สมัยที่เราสร้างค่ายมวยแรกๆ เรามีเด็กในค่ายประมาณยี่สิบคนได้ ตอนนี้ก็ยังมีประมาณยี่สิบคน คือคนเก่ากับเด็กที่เข้ามาแล้วก็ออกไป ส่วนนักมวยที่อยู่ในค่ายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้มีแค่คนเดียว เพราะเด็กบางคนเขาก็ไม่ชอบชกมวยค่ะ”

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

บุ๋มบอกว่าเข้าใจ เพราะเด็กก็คือเด็ก “เด็กอะเนอะ บางคนเข้ามาแรกๆ เขาก็คงอยากลอง แต่เพราะกีฬามวยเป็นกีฬาที่ซ้อมหนัก บางทีซ้อมไปๆ พออยากชกก็ต้องซ้อมหนักขึ้น แล้วพอเข้ามาค่ายมวยของเราก็ต้องมีระเบียบวินัยด้วย เด็กที่ไม่มีระเบียบวินัยเขาก็อยู่ไม่ได้ เลยต้องออกไป ส่วนเด็กบางคนเขามาซ้อมเพราะแค่อยากออกกำลังกายเฉยๆ ก็มี แค่มีใจอยากมาซ้อมเราก็ให้มา” 

กิจวัตรที่พวกเขาต้องซ้อมกันเป็นประจำก่อนซ้อมทุกวันคือการวิ่ง 

“อันดับแรกเราจะให้วิ่งรอบหนึ่งไม่ให้หยุด แล้วแต่จะวิ่งช้าขนาดไหนก็ได้ มีเด็กคนหนึ่งอ้วนมาก เราเลยให้เขามาอยู่ที่นี่เพื่อลดน้ำหนัก เขาวิ่งไม่หยุดเลยวันละห้ากิโล แม้จะวิ่งกลางแดดร้อนๆ ถึงเขาจะวิ่งช้าแต่เขาไม่หยุด แค่นี้เราก็ภูมิใจนะ 

“ส่วนมากเราจะดูมวยอาชีพมากกว่า เพราะว่าเขามีรายการต้องขึ้นชก เด็กน้อยๆ เราก็จะให้วิ่ง เตะกระสอบ แล้วก็เล่นกล้ามท้อง มีดันพื้น พอทำของตัวเองเสร็จก็ต้องมาช่วยรุ่นพี่ ช่วยตักน้ำ ทำความสะอาดค่ายก่อนซ้อม เราให้เด็กทำหมด แต่พอซ้อมเสร็จ ถ้าเขาจะไปวิ่งเล่นเราก็ปล่อยไป ยิ่งถ้าจะมานอนกินอยู่ที่บ้านกับมะลิก็มีระเบียบมากขึ้นอีก เราต้องเก็บโทรศัพท์เด็กทุกคืน ก่อนจะได้คืนต้องทำการบ้าน เวลากินข้าวก็ต้องกินผัก อย่างเบียร์ลูกอาจารย์ดำ มาวันแรกเขาไม่เคยกินผัก พอมาที่นี่เขากินผักเป็นแล้ว เพราะเราอยากให้เด็กๆ ทานอาหารให้ครบ จะได้มีกำลังไปชก” 

เหตุผลที่พวกเขาต้องมีกฎระเบียบมากมายก็เพื่อตัวเด็กๆ เอง อีกส่วนหนึ่งก็เพราะต้องเห็นใจผู้สนับสนุนที่ช่วยบริจาคด้วย

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

“เรามีผู้สนับสนุนที่ต้องเห็นใจเขานำ เขาไม่ได้อยากสนับสนุนเด็กที่ขี้เกียจเรียนหรือข้องเกี่ยวกับยาเสพติด จะมาอยู่นี่เลยต้องมีกฎ มีระเบียบเยอะ เพราะว่าเราก็ต้องเห็นใจผู้สนับสนุนด้วย แต่เด็กบางคนเขาไม่เอาเลย พอเขาโดนเก็บโทรศัพท์ตอนกลางคืน เขาก็เลยไปเอง เราก็ปล่อยเด็กไปนะ เพราะเราเองไม่ได้มีรายได้จากการทำค่ายมวย เราทำงานเหนื่อย แต่ไม่เคยคิดจะเอาอะไรจากพวกเขา”

การเก็บเงินเองก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่มะลิมักจะสอนเด็กๆ อยู่เสมอด้วย

“สิ่งที่เราจะสอนนักมวยก็คือต้องเก็บเงินนะ เวลาจะซื้ออะไรก็ต้องซื้อของที่มีประโยชน์ อีกอย่างถ้านักมวยไม่มีอะไรเก็บเป็นของเขาเองเลย เขาก็ไม่มีกำลังใจชก อย่างเจ้าแปดที่มาอยู่กับเราตลอด เราให้เขาเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์ เพราะเขาไม่เคยไปเที่ยวกับเพื่อนเลย เขาต้องมีอะไรสักอย่างที่จะทำให้เขาภูมิใจในตัวเอง แล้วเขาก็เอาเงินซื้อเครื่องซักผ้าให้ป้าด้วย เพราะป้าเป็นคนดูแลเขา 

“และอีกอย่างหนึ่งคือต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ถ้าตัวเองไม่แข็งแรงแล้วจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เพราะอาจารย์ทรงเขาเคยสอนมะลิว่า เวลาทำงานมาได้ผลไม้มาห้าลูก ไม่ใช่ให้ครอบครัวไปหมด เราจะไม่เหลืออะไรกิน แล้วเราก็จะอดตาย เขาบอกว่าให้เราแบ่งให้ครอบครัวสักสองลูก กินเองสักสองลูก ที่เหลือก็เก็บไว้ 

“มีเด็กคนหนึ่งไปชกมวยได้เงินมา พอพ่อแม่เขารู้ พ่อแม่เขาก็อยากได้ค่าตัวทุกบาททุกสตางค์เลย แต่พ่อแม่ไม่ได้ส่งเขาไปโรงเรียน ไม่ได้ออกค่าอะไรให้เด็กเลย แล้วจะเอาเงินที่เขาหามาได้ไปหมดอีก มะลิเลยไม่ยอม พ่อเขาก็เลยเอาออกจากค่าย แต่ตอนพ่อเขามาพาออกไป เด็กร้องไห้ไม่อยากไป เด็กอยากอยู่กับมะลิ

“บางทีเราก็รู้สึกโมโหนะ เวลาเขาบอกว่ามะลิจะเอาอะไรจากเด็ก มันไม่ใช่เลย เวลาได้เงินมาจากการชกหรือมาจากสปอนเซอร์ มะลิก็จะทำบัญชีเอาไว้หมด เก็บเอาไว้ให้เขา มะลิไม่เคยทำเพื่อตัวเองเลย แล้วเราก็ออกเงินเองด้วยเวลาเด็กขาดเหลืออะไร แต่ไปบอกเขาก็ไม่ได้ ถึงจะอธิบายไปเขาก็คงไม่เข้าใจ” 

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

05

สานฝันผ่านสังเวียน

หลายคนบอกว่าเธอเอาชีวิตมาทิ้งเปล่าๆ แต่เธอส่ายหน้าและบอกว่าไม่เลย เพราะเธอเต็มใจและยินดีที่จะอยู่ตรงนี้เพื่อสนับสนุนเด็กๆ และแม้ช่วงวิกฤต COVID-19 จะส่งกระทบต่อค่ายมวยก็ตาม แต่เธอก็ยังคงประคับประคองให้ค่ายมวยยังคงอยู่ได้

“รายได้บางส่วนก็มีมะลิกับพี่บุ๋มช่วยกันหามาเพื่อจุนเจือค่ายมวย อย่างตอนนี้มะลิก็รับทำงานซับไตเติ้ลไปด้วยในช่วงที่ติดโควิด ส่วนพี่บุ๋มไปสอนมวยที่ต่างประเทศไม่ได้ เราก็จัดสอนมวยออนไลน์ แล้วมะลิเป็นผู้จัดการให้เขาไปด้วย ทำทุกอย่างเองคนเดียว ทั้งดูแลเรื่องเว็บไซต์ โปรโมตลงโซเชียลมีเดีย หรือเวลาสื่อมวลชนมาติดต่อ มะลิก็จะจัดการเองทั้งหมด 

“ส่วนค่ายอื่น เขาต้องปิดตัวลงแล้วส่งเด็กๆ กลับบ้าน ค่ายมวยที่โดนยุบก็มีเยอะอยู่ เพราะถ้าไม่ยุบก็อยู่ไม่ไหว แต่ค่ายมวยของเรายังพออยู่ได้ แล้วมะลิก็ให้เด็กอยู่กับเราที่นี่ เพราะที่บ้านเด็กบางคนก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีคนติดเหล้าติดยาให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง เราเลยให้เขาเข้าค่ายต่อเพราะว่ากลัวว่าเขาจะหลุด ถึงเราไม่มีสปอนเซอร์ก็ไม่เป็นไร เราก็จะให้กำลังใจเด็กทุกวัน ไม่ให้เขาท้อ”

หากถามต่อว่าทำไมทั้งคู่ถึงเปิดค่ายมวยมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เห็นคำตอบได้จากใบหน้าอันเปี่ยมสุขของบุ๋ม

“ตัวเราเองได้ส่งเสริมเขา ได้เห็นเด็กๆ ซ้อมมวยเราก็มีความสุข เพราะตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นกีฬามาก แต่มันหาโอกาสยากมากที่จะได้ซ้อม ได้ชกแบบมีอุปกรณ์อย่างจริงจัง เอาเข้าจริงลำพังตัวผมคนเดียว ถ้าจะให้สนับสนุนเด็กทุกคนที่นี่ ผมเองก็คงไม่มีปัญญาเหมือนกัน โชคดีที่มีคนสนับสนุน มีคนคอยช่วยเหลือ อีกอย่างผมมีความสุขมากเวลาได้อยู่กับเด็กๆ ถึงแม้ว่าเวลาอยู่กับคนเยอะๆ แล้วปัญหามันจะแยะก็ตาม แต่ถ้ามีปัญหาแล้วมันจะมีความสุข ผมก็โอเค”

และทางฝั่งของมะลิก็บอกเราว่า เธอมาทำตรงนี้ก็เพราะอยากเห็นเด็กๆ เรียนจบ และมีอนาคตที่ดี

“มะลิอยากเห็นเด็กจบอย่างน้อยก็มอหกค่ะ เราไม่ได้คิดว่าเด็กจะต้องเป็นแชมป์มวย หรือต้องรวยอะไรเลย หลังจากจบชั้นมอหกอาจจะไม่ชกมวยก็แล้วแต่ อย่างตอนนี้สิบหมื่น เขามีรายได้จากยูทูป เพราะเขาทำวิดีโอสอนใส่ฟันยาง คลิปเขามีคนดูตั้งสองล้านคนแล้ว เราอยากให้เขาได้ทำอะไรอย่างที่เขาอยากทำ หรือถ้าจะเอาเงินไปเปิดร้านชาไข่มุกหลังจากเรียนจบก็ได้ เพราะนักมวยบางคนเขาเห็นจากร้านตรงข้ามโรงเรียนว่ามีเด็กไปกินเยอะ รายได้ดี เขาก็อยากทำ เราก็ยินดีนะ เพราะเราแค่อยากให้เด็กๆ ได้มีชีวิตเป็นอิสระ เลี้ยงตัวเองต่อไปได้เท่านั้นเอง”

และเมื่อถามถึงชีวิตของเธอและครอบครัวในอนาคต เธอบอกว่า แผนการในตอนนี้ยังไม่แน่ไม่นอน แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาจะไม่ทิ้งเด็กๆ ไปเด็ดขาด

“ตอนนี้เด็กที่อยากมาอยู่กับเราก็มีมาเรื่อยๆ เราเองก็ต้องส่งเด็กให้เรียนจบมอหกไปเรื่อยๆ แบบนี้ก่อน ส่วนลูกสาว เราอาจจะให้ไปเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเด็กๆ ก็ยังอยู่นี่ เราจะทิ้งพวกเขาไปก็ไม่ได้หรอก

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

“อีกอย่างก็อยากให้นักมวยที่อีสานยืนได้ด้วยตัวเอง เราสองคนก็เลยคิดว่าอยากจะสร้างค่ายมวยใหม่ ย้ายที่มาอยู่แถวๆ พุทไธสง เราอยากสร้างบ้านให้นักมวยอยู่ เพราะตอนนี้เรามีเด็กที่ต้องดูแลเยอะพอสมควร อยากให้นักมวยเรียนหนังสือใกล้ๆ ด้วย 

“อีกทางหนึ่งถ้าเรามีที่พอ เราก็จะสร้างเป็นห้องเล็กๆ ให้ฝรั่งหรือคนที่สนใจมาอยู่เพื่อให้เขามาเรียนมวยได้ด้วย เราอยากให้คนมาที่ภาคอีสานบ้าง เพราะที่นี่เรามีผ้าไหมทอ มีวัดสวยๆ อาหารอร่อยๆ มากมาย ถือเป็นการช่วยดูแลเศรษฐกิจของหมู่บ้าน อยากให้มันครอบคลุมทุกอย่างและอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากนั้นเราก็จะนำเงินที่คนจ่ายค่าเรียน มาจ่ายเงินให้เทรนเนอร์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเราก็จะแบ่งให้เด็กๆ ไปโรงเรียน เราไม่ได้อยากทำเป็นธุรกิจนะ เอาแค่พอได้ค่าน้ำค่าไฟ ให้พวกเราอยู่กันได้ก็พอ

“ตอนนี้เราเลยเปิด GoFundMe กันอีกครั้งเพื่อระดมทุนสร้างบ้านและทำค่ายใหม่ให้เด็กๆ ให้ได้ เราคิดว่าถ้าได้เงินบริจาคสักประมาณสองล้านห้าแสนบาทก็น่าจะทำได้ เพราะตอนนี้ค่าที่มันก็มีราคา ส่วนบ้านเราก็ต้องสร้างหลังใหญ่ๆ ด้วย เพราะเราต้องอยู่กันหลายคนจริงๆ อีกอย่างเราอยากให้มันครบวงจร เลยคิดว่าจะปลูกสวน ปลูกผัก เลี้ยงไก่เอาไว้เก็บไข่ด้วย เราจะได้ลดค่าใช้จ่ายไปด้วยอีกทางหนึ่ง ดังนั้นความฝันของเราตอนนี้ ก็คือเราอยากทำตรงนี้ให้สำเร็จให้ได้ค่ะ” 

ไม่ว่าจะเป็นบนสังเวียนมวยหรือสังเวียนชีวิต มะลิ วัฒนะยา ก็ยังคงต้องต่อสู้อยู่ตลอด ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อสานต่อความหวังและความฝันให้กับเด็กๆ ได้เชื่อว่ายังมีอนาคตที่สดใสรอพวกเขาอยู่

มะลิ วัฒนะยา สาวแคนาดาผู้ฝึกให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่าด้วยมวยไทย, ค่ายมวย ว.วัฒนะ

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า