กิ๊ฟเว่น-พิมพ์พิศา ทองหล่อ และ น็อต-วชิร ทองหล่อ สองคู่รักนักวิ่งเทรลที่ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่กับต้นไม้และผืนป่า ท่ามกลางธรรมชาติที่หล่อหลอมตัวตนของทั้งคู่ขึ้นมา บันดาลใจให้น็อตหยิบจับวัสดุอย่างไม้มาเล่าเรื่องราวผ่านแบรนด์ If I were a carpenter. ส่วนกิ๊ฟเว่นเลือกบอกเล่าเสน่ห์ในการวิ่งเทรลผ่าน Wood and Mountain

Wood and Mountain เสื้อผ้าบาติกสีธรรมชาติ จ.เชียงใหม่ แรงบันดาลใจจากป่าและการวิ่งเทรล

เชียงใหม่คือจุดหมายปลายทางที่ทั้งคู่เลือกหลังจากแต่งงานกันได้ไม่นาน ธรรมชาติ การผจญภัย และความเบื่อหน่ายเมืองกรุง ผลักดันให้ทั้งคู่มาเริ่มต้นชีวิตครอบครัวที่นี่ เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง น็อตตัดสินใจทำ Cabin เพื่อสร้างอาคารจากไม้เก่าที่เขาชื่นชอบไว้ที่อำเภอแม่ริม เป็นที่ทำงานและที่พักสำหรับแขก ขณะที่กิ๊ฟเว่นเริ่มหลงใหลมนตร์เสน่ห์ของงานคราฟต์และสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยผสมผสานสองสิ่งที่เธอรักเข้าด้วยกัน คือแฟชั่นและการวิ่งเทรล

“เราเป็นคนชอบของวินเทจ ชอบแต่งตัว ชอบไปเดินจตุจักร ไปหาพวกเสื้อวินเทจ เนื่องจากมันเป็นเสื้อเก่า บางตัวก็ขาด มีรูบ้าง แต่เราก็ชอบ เพราะมันไม่สมบูรณ์แบบ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเขา อีกอย่างของวินเทจมันต้องใช้เวลา มันไม่เร็ว มันต้องรอ เราชอบอะไรที่มีกระบวนการ อย่างงานคราฟต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น” กิ๊ฟเว่นเล่า

Wood and Mountain เสื้อผ้าบาติกสีธรรมชาติ จ.เชียงใหม่ แรงบันดาลใจจากป่าและการวิ่งเทรล

เมื่อถึงวันที่ได้ไปวิ่งเทรลในป่า หนึ่งในกิจวัตรที่ทำเป็นปกติคือการแวะถ่ายรูปดอกไม้ พื้นผิว และความงามต่างๆ ผืนป่าแต่ละพื้นที่ให้มานั้นแตกต่างกัน ใบไม้บางใบที่ถูกแมลงกัดแทะ หรือผิดแผกไปจากปกติด้วยเหตุบางอย่าง กลายเป็นความงามเฉพาะตัว ก่อเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้าของ Wood and Mountain

“ลายผ้าของเราส่วนมากได้มาจากการท่องเที่ยว การออกไปข้างนอก การวิ่งเทรล อย่างลาย Foster ได้มาจากการวิ่งขึ้นดอยสุเทพทางวัดผาลาด เป็นเปลือกของต้นไม้ เราเห็นว่ามันแปลกดี เราชอบ เราได้แรงบันดาลใจจากมัน บางอย่างเห็นแล้วเซอร์ไพรส์ มันว้าว คือเข้าป่าแล้วไม่ได้มีแค่สีน้ำตาลกับเขียว มันมีเขียวแบบเหลือบๆ ด้วยนะ 

“เราเลยออกแบบลายที่เป็นซิกเนเจอร์ของเรา แต่ด้วยเทคนิคบาติกทำมือ แต่ละตัวเลยไม่เหมือนกัน” กิ๊ฟเว่นอธิบายถึงลายเสื้อตัวที่เธอสวมใส่ ซึ่งเป็นเชิ้ตแขนสั้นและกางเกงขาสั้นสีเขียว บนลวดลายของผืนป่าดอยสุเทพ

Wood and Mountain เสื้อผ้าบาติกสีธรรมชาติ จ.เชียงใหม่ แรงบันดาลใจจากป่าและการวิ่งเทรล

Slow Life, Slow Fashion

หลังจากใช้เวลาในเชียงใหม่มาไม่นาน กิ๊ฟเว่นพบว่าตัวเองเริ่มหลงใหลงานคราฟต์มากขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งเป็นงานประเภทเสื้อผ้า ยิ่งตรงกับความชอบส่วนตัว หลายครั้งหลายคราที่เธอพบว่าตัวเองอยู่ในวงสนทนาของงานคราฟต์ และซึมซับเข้าสู่ตัวเองมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ความสงสัยใคร่รู้จึงเป็นนิสัยติดตัวเธอเสมอมา

“เราชอบงานที่มีกระบวนการ มีระยะเวลา มีคุณค่าในตัวของมัน เราชอบเสื้อผ้า แล้วก็อยากทำเสื้อผ้าแบบที่เราอยากใส่ เราเลยชอบถาม อยากรู้ว่าเขาย้อมผ้ายังไง ทำลวดลายยังไง เวลาเจองาน OTOP ก็ชอบไปถามเขาว่าทำที่ไหน หนูไปหาได้ไหม เราอยากรู้ไปหมดเลย เกี่ยวกับการย้อมผ้า การทำลายผ้าในแบบที่เราอยากใส่ คือเรายังไม่ได้คิดเรื่องทำแบรนด์ตั้งแต่ตอนแรกนะ ตั้งใจทำใส่เองก่อน ทำอะไรที่เราอยากใส่ อยากได้แบบนี้ อยากใส่แบบนี้”

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

ความตั้งใจในครั้งนั้นทำให้เธอตามหาช่างย้อมและเย็บผ้า ในที่สุดก็ได้เสื้อผ้าในแบบที่คิดไว้ หลังจากสวมใส่ก็ได้รับคำชื่นชมจากคนรอบตัว กลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้กิ๊ฟเว่นตัดสินใจสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยมุ่งเน้น Slow Fashion

“Fast Fashion มีคนทำเยอะมาก และเราเป็นคนที่ไม่อยากทำอะไรเหมือนใคร อีกอย่างเราแคร์ธรรมชาติค่อนข้างมาก ถ้าอะไรที่ช่วยลดขยะได้ เราทำอยู่แล้ว ไม่มีแบรนด์เราก็ทำอยู่แล้ว มันเริ่มจากเราเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกคิดขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่เราเป็นอยู่แล้ว 

“ตอนหลังก็มาย้อนคิดเหมือนกันนะ การทำแบรนด์ก็ยากเหมือนกันนะ ต้องคิดอะไรมากมาย แต่พอมาลองทำเอง พบว่าเราถนัดสร้างแบรนด์ที่สอดคล้องกับนิสัยของเรา เลยง่ายขึ้น”

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่
สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

แฟชั่นที่ช้าแต่ชัวร์ของ Wood and Mountain จึงเกิดจากการที่ช่างฝีมือค่อยๆ บรรจงสร้างสรรค์ชิ้นงานลงบนผืนผ้าสีขาว เกิดความงดงามที่มีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งแตกต่างจากระบบอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าอย่างสิ้นเชิง 

“มันต่างจากผ้าพิมพ์ แบบนั้นไม่ตื่นเต้น เรารู้อยู่แล้วว่าจะออกมาแบบไหน ลายจะมาเป๊ะๆ แต่พอเป็นงานทำมือแล้วหยิบมาดูทีละตัว มันรู้สึกดีนะ ตัวนี้เขียวเข้มจัง ตัวนี้สีอ่อนดีจัง มันมีลักษณะเฉพาะอยู่ในเสื้อผ้าทุกตัว”

ลวดลายจากผืนป่าและการเดินทาง

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

ผลิตภัณฑ์ของ Wood and Mountain มีทั้งเสื้อเชิ้ตแขนสั้นกับกางเกงขาสั้นเข้าชุด บางทีก็เป็นชุดนอนที่ใส่เดินเล่น ชมสวน เที่ยวน้ำตก เที่ยวทะเล หรือจะใส่ในชีวิตประจำวันก็ได้ เสื้อผ้าของเธอไม่จำกัดเพศ และเหมาะกับการผจญภัย ด้วยผ้าเนื้อดีที่กิ๊ฟเว่นคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้ ส่วนลวดลายก็เกิดจากแรงบันดาลใจจากการท่องไปในที่ต่างๆ

“ตอนนี้มีสองคอลเลกชัน คือ Night Up North ได้แรงบันดาลใจจากแม่ริม และ Gratitude Journal คือ Enjoy a little thing in life อย่างเช่น แค่ตื่นมา มีกาแฟร้อนๆ เราแฮปปี้แล้ว เพราะตอนที่ออกคอลเลกชันนี้ โควิด-19 หนักมาก เราเลยมองหาความสนุกเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา และเราจะรับเอาแรงบันดาลใจจากสถานที่ที่ไปมาใช้ในการทำงานด้วย 

“อย่างเราไปภูเขา ก็จะมีชื่อลายอินทนนท์ เราไปแล้วรู้สึกว่าอินทนนท์มันเขียวแบบนี้แหละ ส่วนลายที่ชื่อแม่ริม ก็เขียวแบบแม่ริม ในมุมมองของเรา เราอยากนำเสนอเชียงใหม่ออกไป เพราะรู้สึกว่าเชียงใหม่ให้พลังแก่เรา”

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

ส่วนเทคนิคการย้อมผ้าจะใช้การมัดย้อมและบาติกเป็นหลัก โดยใช้ Free Hand ร่วมด้วย เพื่อให้ได้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างจากการกั้นสีโดยปกติ ในการทำงานกับช่างฝีมือ กิ๊ฟเว่นจะเป็นคนออกแบบลายผ้าเองทั้งหมด ก่อนถ่ายทอดให้ช่างมากฝีมือในเชียงใหม่ สร้างสรรค์งานผ้าให้ออกมาตามแบบฉบับของ Wood and Mountain

“เราอยากทำให้ออกมาดี ใส่แล้วไม่เบื่อ ใส่ได้ในทุกที่ เลยเลือกผ้าที่ใส่สบาย ใช้ได้นาน และใช้ได้ทุกวัน”

ทางร่วมของนักออกแบบและช่างฝีมือท้องถิ่น

ด้วยความที่เป็นคนถนัดคิด ถนัดการออกแบบ กิ๊ฟเว่นจึงเลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดที่สุด ส่วนทางด้านการผลิต เธอเลือกใช้ช่างฝีมือในพื้นที่ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพที่สุด

“เราเริ่มจากถามตรงนั้น ตรงนี้ จากนั้นป้าๆ ก็ส่งต่อกันไป เขาก็จะแนะนำให้เราต่ออีก ตอนนี้มีทีมงานทั้งหมดห้าหกคน ตอนที่เราลงพื้นที่เพื่อไปให้คุณป้าทำลวดลายใหม่ๆ เราก็จะไปหาหัวหน้าของกลุ่ม เมื่อได้ลายที่พอใจ ทางหัวหน้ากลุ่มก็จะเอางานไปกระจายกันเอง เลยทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยเลย”

ในขณะเดียวกัน การทำ Slow Fashion ของเธอยังทำให้ปัญหาเรื่องงานเร่งหมดไป เมื่อเลือกที่จะผลิตอย่างช้าๆ ด้วยความความประณีต ผ้าแต่ละผืนของ Wood and Mountain จึงเต็มไปด้วยคุณภาพและคุณค่า

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่
สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

“แต่ละคอลเลกชันเราจะทำไม่เยอะ ทำเท่าที่ช่างทำไหว เป็น Small Production ทำในจำนวนที่เรามีความสุข ช่างก็แฮปปี้ ไม่ต้องไปเร่งเขามาก แล้วมันก็ก่อให้เกิดพลัง พลังในเสื้อผ้า และพลังในทุกๆ สิ่ง”

เมื่อกิ๊ฟเว่นเลือกสร้างสมดุลระหว่างการทำงานที่ไม่มากจนเกินไป และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ทำให้ทุกวันนี้ เจ้าของแบรนด์กลายเป็น Personal Trainer ช่วยคนออกกำลังกาย และยังคงหยิบรองเท้าวิ่งเข้าป่าอยู่เป็นประจำ

“เรายังคงออกเดินทางและรับเอาความรู้สึกดีๆ จากธรรมชาติ เพื่อมาใช้ในงานของเรา เมื่อสิ่งที่ตั้งใจทำลงไปนั้นมีผลตอบรับที่ดี มีคนซื้อ นั่นเท่ากับเราได้ช่วยชุมชนด้วยเช่นกัน มันทำให้เรากล้าที่จะคิดต่อยอดไปเรื่อยๆ”

เส้นทางบนผืนผ้าและอนาคตของ Wood and Mountain

หลังจากเข้าปีที่ 2 ของการทำแบรนด์ กิ๊ฟเว่นเรียนรู้สิ่งใหม่หลายอย่าง จากการอยากทำเสื้อผ้าใส่เองในวันนั้น กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและอยู่ในใจของลูกค้าในวันนี้ ทั้งยังเปิดประสบการณ์การขายให้กับกิ๊ฟเว่นด้วย

“เราไม่เคยขายของมาก่อนเลย พอได้มาขายจึงรู้ว่าคนเรานั้นมีความต้องการแตกต่างกันเยอะมาก เราใจเย็นลง ความอดทนมีเยอะมากขึ้น เวลาคุยกับเพื่อนๆ ก็คุยเรื่องงานคราฟต์กัน เพื่อนชอบถามว่าทำไมไปวิ่งเทรลบ่อยจัง 

“เราก็บอกว่า เราวิ่งแล้วได้งานกลับมานะ อีกอย่างเวลาไปวิ่งแล้วสดชื่น รู้สึกว่าคิดงานออก มันไม่ต้องเร่งรีบ เราจะมีเวลาแวะถ่ายรูปกับดอกไม้ กับต้นไม้ ใบไม้สวยๆ แล้วเราก็ได้พลังที่จะส่งต่อไปให้ทุกๆ คน” 

พลังที่เธอพูดถึงกลายเป็นลายผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากป่า ช่างฝีมือท้องถิ่นช่วยทำให้การออกแบบของเธอกลายเป็นรูปธรรม และท้ายที่สุด สิ่งที่กิ๊ฟเว่นและทีมงานช่วยกันสรรค์สร้างก็ไปอยู่บนเรือนร่างของผู้คนนับสิบ นับร้อย

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

“เราภูมิใจนะ บางครั้งลูกค้าถ่ายรูปมาให้ดู บางคนพยายามครีเอตท่าทางต่างๆ ทำให้เราภูมิใจที่เห็นงานของเราไปอยู่บนร่างกายของผู้คน เราแฮปปี้ที่เขาใส่เสื้อผ้าเรา บางคนใส่บ่อยๆ ใส่ซ้ำๆ เราว่ามันมีพลังผ่านลายผ้าที่เราออกแบบ ถึงวันนี้ เราถือว่าใหม่บนเส้นทางนี้ จากนี้ไปก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ตอนนี้ที่วางแผนไว้จะเป็นชุดเครื่องนอน หมอน ผ้าปูที่นอน และจะเอาไปใช้ที่ Cabin เพื่อเชื่อมกับงานที่คุณน็อตทำไว้ด้วย”

ก่อนจะจากกัน เราถามกิ๊ฟเว่นถึงมุมมองในอนาคตของวงการงานคราฟต์ไทยว่าควรจะไปยังไงต่อ และทางรอดที่ยั่งยืนในมุมมองของเธอเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบของเธอฟังดูเรียบง่ายแต่น่าสนใจ

“เราถือว่าเราเป็นน้องเล็กในวงการคราฟต์ คงตอบได้แค่มุมเล็กๆ ของเรา เราเชื่อว่าทุกคนมีพลังคราฟต์อยู่ในตัว ถ้าอยากทำสิ่งไหน ก็อยากให้ทดลองทำเลย แล้วจะมีผลลัพธ์บางอย่างออกมาอย่างแน่นอน ถ้าขับเคลื่อนในวงของเรา ทุกครั้งที่หมุนวงล้อเล็กๆ ของเรา วงการนี้ก็จะหมุนไปพร้อมกัน” เธอพูดด้วยแววตามุ่งมั่น

รองเท้าวิ่งยังคงถูกใช้งานเป็นปกติ รอยสึกจากวันเวลา ยิ่งย้ำเตือนถึงความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังในการวิ่งเทรลของกิ๊ฟเว่นและน็อต รวมถึงการชักชวนเพื่อนฝูงให้ออกเดินทางอยู่เสมอ บนเส้นทางที่มีมากกว่าต้นไม้และภูเขา เส้นทางที่มีสีสันมากกว่าเขียวและน้ำตาล เป็นเส้นทางที่ล้อไปกับชีวิตของทั้งคู่ ที่อยากชวนทุกคนเปิดประสบการณ์ไปด้วยกัน

“ถ้าโควิด-19 ซาลงบ้าง อยากชวนให้ไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไปดู ไปสังเกตธรรมชาติ ไปขึ้นเขา ไปลำบากบ้าง แล้วพอถึงยอดเขา คุณจะเห็นความงาม จะได้ประสบการณ์บางอย่างกลับมา เราบอกไม่ถูก ต้องไปสัมผัสเอง 

“เพราะสำหรับเรา การวิ่งเทรลคือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง” เธอจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม

สาวเมืองกรุงจับคู่งานคราฟต์กับการวิ่งเทรลสู่แบรนด์เสื้อผ้า Slow Fashion โดยช่างฝีมือในเชียงใหม่

หากอยากอ่านบทความนี้ให้ได้อรรถรสของผืนป่า ลองเปิดเพลงใน Spotify ของ Wood and Mountain ซึ่งมีเพลย์ลิสต์ชื่อ Cabin Time ประกอบการอ่าน กดฟังได้ที่นี่ www.woodandmountain.com/music

ติดตามเรื่องราวและสนับสนุน Wood and Mountain Studio ได้ที่

Shop_unformed 251/1 โครงการซีนสเปซ ชั้น 2 ซอยทองหล่อ 13 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 

ES Phuket 8 ถนนรัษฎา ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 

เว็บไซต์ : www.woodandmountain.com

Facebook : Wood and Mountain

Instagram : @woodandmountainstudio

Writer

Avatar

ศุภชัย กองประชุม

นักเย็บสมุดที่ใช้ชีวิตรายรอบไปด้วยสมุด หนังสือ ดนตรี กาแฟ สหาย และบทสนทนา ภายใต้อ้อมกอดของยอดดอยเชียงใหม่

Photographer

Avatar

มงคลชัย ไชยวงค์

ออกเดินทาง เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ ผ่านวิถีชาติพันธุ์ ผู้หลงรักความเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่น