ลงใต้ไปภูเก็ตหนนี้ผมอยากเชิญชวนให้ทุกท่านลองหันหลังให้กับน้ำทะเลใสๆ หาดทรายขาวๆ ที่มีอยู่มากมายบนเกาะที่ได้รับสมญานามว่า ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’ แห่งนี้ ลองตัดใจทิ้งหนังสือเล่มโปรดที่เตรียมมาอ่านใต้ต้นมะพร้าว หรือเปลี่ยนใจจากการนั่งจิบค็อกเทลเย็นๆ พร้อมกับ (แอบ) ชมสาวๆ ในชุดบิกินี่ แล้วไปทำอย่างอื่นแทน

อ๊ะ… อ๊ะ… อ๊ะ…. ลองดูครับลองดู ไม่ยากครับไม่ยาก โบกมือลาชายหาดแล้วเข้าเมืองไปพร้อมกับผมเลย 

โลเคชันที่อยากนำมาแชร์ในวันนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าภูเก็ตอันแสนจะมีเสน่ห์ อาคารโบราณอายุกว่าสิบกว่าร้อยปีที่ยังทรงคุณค่าด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียน กำลังอ้าแขนต้อนรับและพาผมกลับไปยังอดีตอันรุ่งเรืองของที่นี่ ขณะที่ผมกำลังทอดน่องท่องเมืองเก่าไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ บนถนนถลางและถนนพังงา ปะปนไปกับนักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ ฉับพลันทันใดผมก็มาสะดุดหยุดลงตรงหน้าอาคารเล็กๆ แต่มีป้ายจารึกชื่อยาวๆ ว่า หวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล (Woo Gallery & Boutique Hotel) ตัวอักษรภาษาจีนสีทอง 2 ตัวที่ตระหง่านบนผนังดูเข้มขลัง ประตูไม้สีดำเดินลายสีทองที่เปิดออกบานนั้น ไม่เพียงนำสายตาของผมทอดสู่ภายในอาคารที่ตกแต่งอย่างวิจิตร แต่ยังกระตุ้นให้ผมเร่งสืบเท้าเข้าไปภายในอาคารแห่งนี้ด้วย

ความน่าสนใจของหวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล นั้นไม่เพียงเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมแนวชิโน-ยูโรเปียนที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี แต่จากชื่อก็คงบอกได้แล้วว่าที่นี่เป็นทั้งโรงแรม (Boutique Hotel) และพิพิธภัณฑ์ (Gallery) ที่อยู่รวมกัน ผมเชื่อว่าคงไม่มีโรงแรมสักกี่แห่งบนโลกนี้ที่มีพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเอง อาคารแคบยาวราวๆ 106 เมตรของหวูนั้น เปรียบเสมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เชื่อมถนน 2 สายไว้ด้วยกัน โดยด้านที่เป็นโรงแรมมีทางเข้าออกสู่ถนนพังงา ส่วนด้านที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีทางเข้าออกสู่ถนนถลาง ที่ผมเพิ่งเดินผ่านเข้ามาเมื่อสักครู่ เพื่อเข้ามาพบกับเรื่องราวอันน่าประทับใจของลูกหลานผู้ตั้งใจอนุรักษ์บ้านของบรรพบุรุษแห่งนี้ไว้ให้เป็นพยานแห่งกาลเวลาอีกด้วย

‘หวู’ นามนี้มีที่มา

“หวูเป็นชื่อตระกูลของผม เป็นภาษาจีนแมนดาริน ความจริงถ้าอ่านออกเสียงให้เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนคำว่าหวูจะเท่ากับคำว่าหงอ” คุณเผด็จ วุฒิชาญ เล่าให้ผมฟังเมื่อผมเลียบๆ เคียงๆ เข้าไปถามท่านถึงที่มาของชื่อ

“ตระกูลหงอเป็นตระกูลใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเอ้เหมินหรือเอ้หมึง มณฑลฝูเจี้ยน ถ้าอธิบายให้ชัดขึ้นเอ้เหมินก็คือเซียะเหมิน ส่วนฝูเจี้ยนก็คือฮกเกี้ยน… คราวนี้คุ้นขึ้นแล้วนะครับ” คุณเผด็จช่วยทำให้คิ้วที่กำลังขมวดเป็นปมของผมคลายลงทันที

ช่วงปลายราชวงศ์ชิง รัชสมัยของพระนางซูสีไทเฮา ราว ค.ศ. 1900 ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าบนแผ่นดินจีน พี่น้องชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนมากเลือกเดินทางออกไปแสวงหาชีวิตใหม่ยังดินแดนใหม่ และเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่หลายคนเลือกมาฝากชีวิตไว้ รวมทั้งนายหงอเลียดฉ่าน ผู้ที่เป็นคุณปู่ของคุณเผด็จด้วย

“ปู่ผมมีสองชื่อ หงอเลียดฉ่านและหงอกิมฉ่าน ท่านเดินทางออกจากเซียะเหมินอ้อมลงใต้ไปทางแหลมมลายูโดยแวะที่สิงคโปร์ มะละกา และปีนัง ก่อนจะมาตั้งรกรากที่ภูเก็ต ในสมัยนั้นคนจีนฮกเกี้ยนมาที่ภูเก็ตแทบทั้งสิ้น นามสกุลวุฒิชาญที่ครอบครัวผมใช้ในปัจจุบันก็แปลงมาจากชื่อและแซ่ของปู่ จากหวูเลียดฉ่านแปลงเป็นวุฒิชาญ โดย คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้ตั้งให้” คุณเผด็จเล่าถึงคุณปู่และเกร็ดที่น่าสนใจของนามสกุล ซึ่งปรับเป็นภาษาไทยโดยฝีมือของนักเขียนที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีนามปากกาว่า ศรีบูรพา นั่นเอง

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

ทีนี้เราพอทราบที่มาของชื่อหวูแล้วนะครับ แล้วก่อนจะกลายมาเป็นทั้งโรงแรมและพิพิธภัณฑ์ล่ะ พื้นที่นี้เป็นอะไรมาก่อน

หวูในวันนั้น… สู่หวูในวันนี้

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

นายหงอเลียดฉานเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในศาสตร์ของนาฬิกา ไม่ว่าการเสาะหาและคัดเลือกนาฬิกาคุณภาพ ตลอดจนการรักษาและซ่อมแซม โดยมีวิชานี้ติดตัวมาตั้งแต่อาศัยอยู่ที่เซียะเหมิน ความที่เซียะเหมินเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของจีน จึงเป็นเมืองที่เจริญและรับเอากระแสวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากมาย

“เมื่อปู่มาตั้งรกรากที่ภูเก็ตก็ได้แต่งงานกับย่าของผมซึ่งเป็นคนแซ่ตัน ชื่อว่าตันสิ่วฮ่อง จากนั้นทั้งคู่ได้ร่วมกันสร้างธุรกิจด้วยกัน นั่นคือร้านหม่อเส้งแอนด์โก ซึ่งก็คือที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ ร้านหม่อเส้งแอนด์โก เป็นร้านจัดจำหน่ายนาฬิกาประเภทต่างๆ รวมทั้งซ่อมนาฬิกาให้ด้วย ผมคิดว่านั่นคือความหลงใหลของปู่ที่มีต่อสินค้าชนิดนี้ ร้านเรามีชื่อเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะครับ สะกดว่า MOH SENG & Co. เดี๋ยวไปดูป้ายของร้านได้ที่เก็บไว้อย่างดีในแกลเลอรี่ของเรา” 

ร้านหม่อเส้งแอนด์โกเปิดบริการโดยมีหน้าร้านอยู่บนฝั่งถนนถลาง ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยนั้นก็ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกัน มีหน้าบ้านอยู่บนฝั่งถนนพังงา พื้นที่เดิมจึงเป็นร้านและบ้านที่อยู่ร่วมกันและเชื่อมถนน 2 สายไว้ด้วยกัน คั่นพื้นที่โดยจุ๊ยก๊าว หรือลานระบายน้ำและลานโล่ง (Back Lane)

ร้านหม่อเส้งแอนด์โกไม่ได้จำหน่ายแค่นาฬิกาเท่านั้น แต่ยังจำหน่ายสินค้าอื่นๆ อีกหลายชนิด ทั้งเครื่องนอน เตียงนอน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในบ้านหลากชนิด ที่ล้วนเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หลายต่อหลายชิ้นมาไกลจากยุโรปเลยทีเดียว และทั้งหมดนำเข้าตรงจากปีนัง ซึ่งเป็นเมืองท่าที่กำลังรุ่งเรืองที่สุดของภูมิภาคในขณะนั้น 

“คนภูเก็ตมีกำลังซื้อ เพราะภูเก็ตเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญจากสินค้าอย่างแร่ดีบุก กิจการร้านหม่อเส้งก็เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ภูเก็ตยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อย่างที่เรียกว่าวัฒนธรรมบาบ๋าหรือวัฒนธรรมเปอรานากัน อย่างย่าผมก็เป็น ‘บาบ๋า’ รุ่นแรกของครอบครัววุฒิชาญเลยนะครับ”

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

โดยศัพท์แล้ว คำว่า ‘เปอรานากัน’ มีความหมายว่า ‘เกิดที่นี่’ เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวถิ่น ความที่ชาวจีนออกเดินทางไปอาศัยยังดินแดนต่างๆ ทั่วแหลมมลายู และได้ไปตั้งรกรากแต่งงานกับชาวถิ่นที่อาศัยในดินแดนนั้นๆ เมื่อสร้างครอบครัวและมีลูกหลานที่ ‘เกิดที่นี่’ แล้ว ลูกหลานเหล่านั้นจึงเติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมผสมผสานดังกล่าว ทำให้มีภาษา อาหารการกิน เสื้อผ้า จารีต ฯลฯ ที่แตกต่างไปจากของเดิม 

วัฒนธรรมเปอรานากันในดินแดนต่างๆ บนแหลมมลายูอาจคล้ายคลึงกันบ้าง แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป และยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมเปอรานากันในสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง หรือในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย อย่างตรัง พังงา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส รวมทั้งภูเก็ตด้วย

ส่วนคำว่า ‘บาบ๋านั้น บางวัฒนธรรมเปอรานากันอาจเรียกรวมทั้งชายและหญิงว่า บาบ๋า ในบางวัฒนธรรมอาจเรียกบาบ๋าเฉพาะชาย และกำหนดคำว่า ‘ยาหยา’ หรือ ‘ยอนยา’ หรือ ‘นอนยา’ สำหรับเพศหญิง

ร้านหม่อเส้งแอนด์โกดำเนินกิจการควบคู่มากับความรุ่งเรืองของดินแดนพหุวัฒนธรรมอย่างภูเก็ตจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในราว พ.ศ. 2482 จากนั้นก็เริ่มประสบปัญหา เพราะการสั่งสินค้ามาจากปีนังนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ จนต้องปิดกิจการลงไปในที่สุด พื้นที่ร้านแคบยาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เชื่อมถนนถลางและถนนพังงาแห่งนี้จึงกลายมาเป็นพื้นที่ให้เช่าทำกิจการค้าอื่นๆ แทน โดยผันมือมาสู่ความดูแลของทายาทรุ่นที่สองผู้เป็นลูกๆ ของนายหงอเลียดฉ่าน ซึ่งเป็นรุ่นคุณพ่อของคุณเผด็จ มีผู้เช่าเป็นชาวซิกข์ที่ดำเนินธุรกิจค้าผ้าอยู่ในพื้นที่

“เมื่อสงครามจบลง หลังจากคุณปู่เสีย พื้นที่ตรงนี้ก็กลายมาเป็นพื้นที่กงสี โดยเป็นที่ให้เช่าทำการพาณิชย์ รายได้จากค่าเช่าคือรายได้ที่รุ่นลูกๆ จะแบ่งปันกันอย่างทั่วถึงรวมทั้งคุณพ่อผมด้วย ต่อมาสภาพอาคารก็เริ่มเสื่อมลงไปเรื่อยๆ เพราะขาดการบำรุงรักษา คุณพ่อผม คุณอนันต์ วุฒิชาญ เป็นลูกคนที่สาม และเป็นลูกที่คุณปู่ส่งไปเรียนหนังสือที่ปีนังและเซียะเหมิน เมื่อจะกลับเมืองไทยก็ไปติดสงครามอยู่หลายปีเพราะเดินทางกลับมาภูเก็ตไม่ได้ เมื่อกลับมาแล้วก็ไปทำธุรกิจเหมืองแร่ที่ระนองอยู่หลายปี คุณพ่อจึงมีโอกาสอยู่บ้านหลังนี้น้อยมากๆ แต่คุณพ่อกลับผูกพันและรักบ้านหลังนี้มากที่สุด ก่อนที่ท่านจะเสีย ท่านบอกกับผมว่าช่วยดูแลร้านหม่อเส้งแอนด์โกต่อไปด้วย เพราะท่านถือว่าที่นี่คือบ้านอันแท้จริงของท่าน”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่คุณเผด็จตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้ โดยมีภรรยา คุณนวพร วุฒิชาญ เข้ามาร่วมคิดหาหนทางด้วยกัน และในวันนี้…ที่นี่ก็คือหวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล ที่ผมกำลังยืนอยู่

ยิ่งยากเหมือนยิ่งยุ

“คุณเผด็จกับคุณนวพรเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์มาหรือเปล่าครับ” ผมถามคู่สนทนาทั้งสองตรงหน้าพร้อมกับเหลือบตาดูอาคารสวยหลังนี้

“ผมจบนิติศาสตร์ครับ ต่อมาทำงานด้านโรงแรม ส่วนคุณนวพรจบนิเทศศาสตร์ก็ทำงานด้านโรงแรมเช่นกัน เรียกว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับด้านสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์เลย ฮ่า ฮ่า ฮ่า” คุณเผด็จตอบพร้อมรอยยิ้ม

จากการที่ทั้งสองมีความชอบเก็บสะสมของใช้เก่าๆ รวมทั้งศึกษาเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ซึ่งมีการเชื่อมโยงถึงยุคสมัยที่หลากหลายมาจากหนังสือหลายต่อหลายเล่ม รวมไปถึงความสนใจงานอนุรักษ์ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม พร้อมกับประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี ทั้งคู่เลยเริ่มเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้

“ตอนนั้นบ้านหลังนี้ทรุดโทรมมาก ตอนผมเด็กๆ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยได้อยู่ที่นี่เพราะต้องไปอยู่กับพ่อที่สวน แต่ผมก็จำได้ว่าเวลากลับมาก็สนุกมากๆ วิ่งเข้าวิ่งออกบ้านหลังนั้นหลังนี้ ทุกคนที่นี่ล้วนรู้จักและเป็นเพื่อนกันหมด ในตอนนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่าจะอนุรักษ์ร้านหม่อเส้งแอนด์โกอย่างไร และจะพัฒนาให้กลายมาเป็นอะไร” 

แต่การไม่รู้ไม่ใช่ทางตันเสมอไป เพราะสำหรับคุณเผด็จและคุณนวพรนั้น ยิ่งยากก็เหมือนยิ่งยุ

“ผมสอบถามหาความรู้จากทุกคน อ่านหนังสือไม่รู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม เรียกว่าปากมีไว้ถาม ตามีไว้อ่านและดู เมื่อมีเวลาผมก็จะเดินทางไปดูเรื่องการอนุรักษ์ในที่ต่างๆ โดยเฉพาะปีนังซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นมรดกโลก สิ่งแรกที่ต้องตัดสินใจคือเราจะเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นอะไร ในศาสตร์ของการอนุรักษ์หรือ Conservation นั้นมีหลายรูปแบบ อย่างเช่น Preservation คือการรักษาให้คงเดิมเป๊ะๆ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างการอนุรักษ์วัดและโบราณสถาน ส่วน Restoration และ Rehabilitation คือการฟื้นฟูสภาพให้กลับมามีความแข็งแรง มีชีวิต และนำกลับมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ 

“ผมตัดสินใจเลือกวิธีหลัง และเพื่อให้มีรายได้เข้ามาสำหรับรักษาอาคารนี้ต่อไป ผมจึงตัดสินใจว่าจะปรับปรุงให้กลายเป็นโรงแรมขนาดสิบสองห้องด้านหนึ่ง และเป็นพิพิธภัณฑ์อีกด้านหนึ่ง โดยฝั่งพิพิธภัณฑ์คือร้านหม่อเส้งเดิม ส่วนโรงแรมคือด้านที่เคยเป็นครัวและห้องอาหารของบ้าน” คุณเผด็จเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำโรงแรมมาเชื่อมกับพิพิธภัณฑ์เพื่อต่อลมหายใจให้อาคารหลังนี้

“ตอนแรกสถาปนิกมาดูพื้นที่และเสนอว่าพื้นที่แคบยาวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบนี้ควรทำโรงแรมอย่างเดียวเลย และจะได้ห้องพักถึงสามสิบห้อง แต่อาจต้องรื้ออาคารเดิมบางส่วนออกไป โดยเฉพาะส่วนที่เป็นร้านหม่อเส้งเดิม ผมบอกทันทีเลยว่าไม่ได้ หลังจากปรับแบบและถกกันไปมาหลายครั้ง ผมเลือกเก็บร้านหม่อเส้งไว้ทั้งหมด เพื่อทำส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนได้มาศึกษา โดยเราเก็บค่าเข้าชมคนละหนึ่งร้อยบาท ส่วนด้านหลังที่เคยเป็นห้องครัวและห้องอาหารของบ้านนั้น ยังพออนุโลมให้รื้อออกและสร้างอาคารส่วนที่เป็นโรงแรมเสริมลงไปได้ โดยมีโจทย์ว่าอาคารใหม่และเก่าจะต้องเข้ากันได้แบบไร้รอยต่อ เข้ามาแล้วรู้สึกว่าอยู่ในยุคเดียวกัน และผมก็พอใจที่โรงแรมเรามีเพียงสิบสองห้องเท่านั้น

“เมื่อกำหนดรูปแบบการอนุรักษ์และรู้ว่าปลายทางของพื้นที่นี้จะเป็นอะไร ต่อมาคือจะดำเนินการอย่างไรให้ได้ตามนั้น ซึ่งทั้งคุณเผด็จและคุณนวพรบอกว่าต้องศึกษาให้ลึกขึ้นไปอีก เรียกว่าลงรายละเอียดกันไปเลยว่าอิฐ กระเบื้อง กระถาง แผ่นไม้ หน้าต่าง ประตู เสา เครื่องเรือน ฯลฯ ที่มีอยู่นั้นสภาพเป็นอย่างไร มีอะไรพอที่จะนำมาไปซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ได้บ้าง

“มีอะไรที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ ต้องทำอย่างไร และต้องให้ใครมารับผิดชอบ ซึ่งทำให้ต้องรู้จักวัสดุ ที่มาที่ไป รวมทั้งกระบวนการผลิตเป็นรายชิ้นกันเลยทีเดียว และการศึกษาที่ละเอียดแยบยลเช่นนี้ก็ใช้เวลาต่อเนื่องมาอีก 5 ปี และใช้เวลาอีกกว่า 2 ปีในการลงมือซ่อม บำรุง สร้าง และปรับแต่งพื้นที่ทั้งหมด โดยคุณเผด็จเล่าเสริมว่า “ผมกับภรรยามาควบคุมและดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนเสร็จเลย… แทบทุกวัน”

ใจ รายละเอียด สัญชาตญาณ และโชค คือส่วนผสมที่ลงตัว 

“ผมว่างานอนุรักษ์ต้องเริ่มที่ใจ หมายถึงความตั้งใจที่จะซ่อม เพราะในเมื่อจะทำแล้ว ก็ไม่อยากทำให้ผิด และที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดวัสดุเป็นรายชิ้นก็เพราะว่าเมื่อเรารื้ออาคารทั้งหมดแล้ว จะอ้างอิงได้ลำบาก ดังนั้น วัสดุอะไร ทำมาจากอะไร เคยอยู่ตรงไหน เชื่อมต่อกันอย่างไร เราจำเป็นต้องรู้ให้หมดตั้งแต่ก่อนรื้อ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือสัญชาตญาณ เราเคยมาเยี่ยมคุณย่าที่นี่ มาเล่นที่นี่ ความทรงจำที่มีต่อพื้นที่ทั้งหมดต้องถูกนำมาใช้ด้วย และสุดท้ายคือโชค” คุณเผด็จเล่าถึงส่วนผสมอันเป็นสูตรสำเร็จในการลงมือครั้งนี้ 

“รบกวนคุณเผด็จกับคุณนวพรช่วยยกตัวอย่างให้ผมเข้าใจสักหน่อยได้ไหมครับว่าตามล่าวัสดุที่ใช้ในการปรับปรุงร้านหม่อเส้งอย่างไร” ผมชักอยากลงรายละเอียดบ้างแล้ว ยิ่งว่ากันเป็นรายชิ้นแบบนี้ยิ่งน่าสนใจ 

 “ได้ครับ จะลองยกมาสักสองสามตัวอย่างนะครับ เริ่มที่ไม้ก่อน บ้านในภูเก็ตในช่วง ค.ศ. 1900 สร้างขึ้นจากอานิสงส์ของการทำเหมืองที่ขยายตัวไปสู่ชายฝั่งทะเล กินพื้นที่เข้าไปในเขตป่าโกงกาง ดังนั้นการสร้างบ้านในสมัยนั้นจึงใช้ไม้ที่มาจากป่าโกงกาง ไม้สำคัญคือไม้ปูพื้นที่ใช้ไม้ตะบูนแดง ซึ่งเป็นไม้ที่เมื่อก่อนใช้ได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นพันธุ์ไม้สงวนไปแล้ว นั่นแปลว่าต้องใช้ไม้อื่นแทน ไม้ที่ใช้สร้างร้านหม่อเส้งเป็นไม้หน้ากว้างเก้านิ้ว หนาหนึ่งนิ้ว มีความแข็งแรงมากๆ จะหาไม้ชนิดไหนมาแทนโดยมีขนาดและความรู้สึกที่ใกล้เคียงเดิมจึงเป็นโจทย์ 

“ผมตามหาไม้ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้อยู่นาน และต่อมาผมก็พบว่ามีไม้สนที่มาจากป่าปลูกในอเมริกาและแคนาดาที่มีขนาดตามต้องการ เมื่อนำไปอบแห้งแล้วนำมาแทนไม้ตะบูนแดงได้ ความโชคดีก็คือผมได้มีโอกาสรู้จักกับเอเจนต์ที่นำเข้าไม้ชนิดนี้มาที่ภูเก็ตเพราะมีฝรั่งสั่งเข้ามาสร้างบ้าน ตอนนี้มีฝรั่งเข้ามาทำงานและอาศัยในภูเก็ตเยอะมากๆ อย่างหลังนี้ผมว่าเป็นโชค และทำให้ผมได้ไม้ที่มีคุณสมบัติทดแทนไม้ตะบูนแดงได้ในที่สุด” เป็นส่วนผสมที่ลงตัวจริงๆ

“ไม่ใช่เพียงไม้ตะบูนแดงนะครับ ยังมีไม้ตะเคียน ไม้หลุมพอ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีคุณภาพดีที่สุดในภาคใต้สำหรับใช้ทำโครงสร้าง ทำเสา ซึ่งผมก็ต้องศึกษาว่าคุณภาพแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ และตามหาไม้ได้ที่ไหน หรือหาไม้อะไรมาทดแทนได้เช่นกัน” ไม่ง่ายเลยนะครับ

อย่างกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคานั้นก็เป็นกระเบื้องราง (V Shape) ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่คาดกันว่ามาจากอิทธิพลของสเปนและโปรตุเกส เพราะเป็นกระเบื้องที่พบได้กับสิ่งก่อสร้างในแถบกลุ่มละตินอเมริกาซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของทั้งสองชาติมาก่อน

“อย่างกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคา ผมก็ไปสืบหาจนได้มาจากโรงงานที่เด่นจันทร์ จังหวัดจันทบุรี ความโชคดีคือผมไปทันวันสุดท้ายก่อนเขาจะปิดเตา เพื่อหยุดยาวช่วงตรุษจีน ผมเลยซื้อกระเบื้องมาได้ทั้งหมด หนึ่งหมื่นสองพันแผ่นตามต้องการพอดี ถ้าเขาปิดเตาไปแล้ว ผมอาจจะต้องรออีกนานสี่ถึงห้าเดือน อย่างหลังนี้ก็เรียกว่าโชคอีกเช่นกัน” โอย ลุ้น ลุ้น ลุ้น ลุ้น แทนเลยครับ 

กระเบื้องที่ใช้ประดับพื้นก็เป็นกระเบื้องที่ต้องศึกษาลวดลายว่าในยุคนั้นนิยมลวดลายแบบไหน ใช้วัสดุอย่างไร ซึ่งหลังจากพิจารณาคัดสรรอยู่นานก็ไปลงเอยที่กระเบื้อง อ.ป.ก. หรือกระเบื้องอิฐ ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง หรือกระเบื้องรูปนกยูงและดอกกุหลาบที่ประดับผนังริมประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ก็เป็นกระเบื้องแนว Victorian Tiles วาดมือที่คุณเผด็จไปเสาะหาได้หามาจาก Victor Lim ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตกระเบื้องเสมือนโบราณตามแบบวัฒนธรรมเปอรานากัน

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

ไม่ใช่เพียงวัสดุ แต่การประกอบวัสดุก็พยายามยึดของเดิมไว้ให้มากที่สุด เช่น การเข้าลิ้นแผ่นไม้ตามวิธีเดิมแทนการใช้ตะปูหรือวิธีอื่นๆ มีบางส่วนเหมือนกันที่ต้องดามเหล็กประกบไม้เดิมไว้บ้าง เพื่อช่วยให้รับน้ำหนักอาคารได้ดีขึ้น

“ช่างที่ผมใช้ทำงานล้วนเป็นช่างในพื้นที่ และช่างทั้งหมดก็ไม่มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์มาก่อนเลย ดังนั้น ผมต้องทำงานประกบกับพวกเขาและเราก็เรียนรู้ไปด้วยกัน สิ่งสำคัญคือได้สร้างบุคคลให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีความรู้มากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญต่อการอนุรักษ์อาคารเก่าๆ ในภูเก็ตต่อไป” สิ่งนี้วนกลับมาที่ ‘ใจ’ อีกครั้ง ผมได้ข้อสรุปข้อนี้ในใจของผม

ถ้ามาหวูต้องดูอะไร

หลังจากสนทนากันอยู่นานเพื่อรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของหวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล แล้ว ผมเลยขออนุญาตให้คุณเผด็จและคุณนวพรช่วยพาผมเดินชมสิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาถึงที่นี่

“ข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงในตู้นั้น ผมคิดว่าใครที่มาที่นี่ย่อมให้ความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่ผมอยากพาไปดูของที่อยู่นอกตู้กันบ้าง เพราะถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็อาจพลาดเกร็ดความรู้บางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย” คุณเผด็จบอกใบ้ให้ผมเล็กน้อยก่อนเริ่มนำชม

ดังนั้น เราจึงมาเริ่มต้นที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์กันก่อน เมื่อมาถึงตอนนี้ผมขอให้ทุกคนก้าวตามพวกเราออกไปยืนบนถนน แล้วมองกลับมาที่อาคารนี้แบบเต็มๆ ตา

“ผมว่าอย่างแรกเลยคือดูอาคารทั้งอาคารก่อนครับ สถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรปและจีน ถึงเรียกว่าชิโน-ยูโรเปียน ผมคิดว่าเราไม่ควรเรียกว่าชิโน-โปรตุกีสก็เพราะโปรตุเกสมีอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมทางด้านใต้ของมาเลเซียอย่างเมืองมะละกาเป็นหลัก แต่สถาปัตยกรรมแบบนี้มาจากปีนัง ซึ่งมีอังกฤษและยุโรปหลายต่อหลายชาติ และภูเก็ตก็ได้รับอิทธิพลมาจากปีนังแบบเต็มๆ 

“ต้องบอกว่าปีนังเป็นเมืองที่เกิดมาก่อนภูเก็ตและมีพัฒนาการในเชิงสถาปัตยกรรมแบ่งออกเป็นยุคสมัยที่ชัดเจน เช่นยุคที่เป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นดั้งเดิมแบบไทย มาเลเซีย พอชาวจีนเข้ามาก็กลายเป็นแนวจีน พอชาวยุโรปเข้ามาก็เป็นแบบยุโรป แต่ยังเป็นยุโรปแบบคนจีนสร้าง ต่อมาก็เป็นยุโรปแท้ที่คนยุโรปสร้างเอง คือที่ปีนังจะแบ่งออกเป็นยุคๆ ได้ชัดเจน แต่สำหรับภูเก็ตนั้นเกิดทีหลัง ดังนั้น คหบดีหรือพ่อค้าวาณิชที่เดินทางจากปีนังเพื่อมาอยู่ที่ภูเก็ตก็เลือกหยิบเลือกชี้เอาส่วนที่ตัวเองชอบมาประกอบกันใหม่ เรียกว่าช้อปปิ้งกันมาเป็นส่วนๆ ดังนั้น ในอาคารเดียวกันก็อาจมีลักษณะผสมผสานที่หลากหลายได้”

เมื่อมองอาคารของหวูแบบเต็มๆ ตาทั้งอาคารแล้ว ทีนี้ผมขอพาทุกคนตามคุณเผด็จมาอยู่หน้าประตูใต้ตัวอักษรจีนที่เขียนว่า ‘หม่อเส้ง’ นะครับ แล้วมองไปที่แผ่นกระเบื้องแผ่นสวยที่ประดับข้างประตูทั้งซ้ายและขวา โดยด้านบนเป็นรูปนกยูงและด้านล่างป็นรูปดอกไม้ครับ

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

“อันนี้คือกระเบื้องแบบ Victorian Tiles เขียนมือที่เราสั่งมาจาก Victor Lim ในสิงคโปร์อย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ ร้านหม่อเส้งเป็นเตี้ยมฉู่หรือห้องแถว และห้องแถวเช่นนี้ก็มักจะมีกระเบื้องเขียนลายที่สื่อความหมายดีๆ ประดับอย่างสวยงามที่ด้านหน้า ซึ่งนกยูงหมายถึงปราชญ์ ผู้รอบรู้ หรือปัญญา ส่วนดอกไม้หมายถึงความสุขนั่นเอง”

คราวนี้มองเลยกระเบื้องนกยูงและดอกไม้ผ่านประตูเข้าไปด้านในอาคารนะครับ… แต่อย่าเพิ่งเดินเข้าไปในอาคาร อย่าเพิ่งครับ อย่าเพิ่ง… สิ่งที่เราอยากให้มองตอนนี้เรียกว่า Perspective ครับ

จากหน้าประตู ห้องที่เราเห็นเป็นบริเวณของห้องรับแขกนะครับ ความจริงร้านหม่อเส้งแอนด์โกนั้นเป็นอาคารพาณิชย์ที่ใช้ขายสินค้ามาก่อน แต่เมื่อปรับปรุงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ คุณเผด็จและคุณนวพรเลือกปรับสภาพพื้นที่ให้กลายเป็นเป็นบ้านแทน ทั้งนี้เพราะ “ข้าวของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ล้วนเป็นของใช้ในบ้านทั้งนั้น หากยังเก็บความเป็นร้านไว้ก็จะดูไม่เข้ากับของ” คุณนวพรให้เหตุผล

และที่ผมบอกให้ยืนภายนอกแต่มองเข้าไปภายใน ก็เพราะจะเห็นสัดส่วนการใช้พื้นที่ที่สร้าง Perspective ที่ลงตัวตามแบบสมัยนั้น ซึ่งคุณเผด็จให้ข้อมูลผมมาว่า “ระยะห่างจากประตูไปจนสุดที่ตู้อันเป็นพื้นที่ห้องรับแขกนั้นคือเจ็ดจุดห้าเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ผมสืบหาอยู่นานมาก สถาปนิกในยุค 1900 ค่อนข้างกำหนดระยะและสัดส่วนอย่างละเอียด เป็นการคำนึงถึงการมองจากภายนอกสู่ภายใน โดยคำนวณแล้วว่าจะเป็นระยะที่สร้าง Perspective ที่ดีที่สุด ความที่อาคารเดิมไม่มีการกั้นห้อง จึงไม่รู้ว่าระยะห้องรับแขกนั้นควรสิ้นสุดตรงไหน จึงจะสร้างมุมมองที่สมบูรณ์แบบ ผมอ่านหนังสืออยู่หลายเล่มจนได้ตัวเลขเจ็ดจุดห้าเมตรนี้มาครับ” ผมล่ะทึ่งกับความใส่ใจของทั้งสองท่านมากๆ

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

ที่นี้เราจะก้าวเข้าสู่ห้องรับแขกกันแล้วนะครับ และตอนนนี้ทุกๆ ท่านก็กำลังยืนอยู่บนกระเบื้องสวยตามแบบวัฒนธรรมเปอรานากันในช่วง ค.ศ. 1900 และเมื่อมองตรงไปข้างหน้าจะพบตู้ใบใหญ่สีดำ เป็นตู้โบราณที่ยืนตระหง่านช่วยรับแขก ตู้ใบนี้เรียกกันว่า ‘ตู้ฝรั่ง’

“ตอนปรับปรุงพื้นที่ ผมเสาะหาตู้ใบนี้อยู่นานมาก ตู้โบราณที่จะมีขนาดใหญ่และรับกับขนาดความกว้างและยาวของห้องรับแขกห้องนี้ได้มักอยู่ในคฤหาสน์ของคหบดีที่เรียกว่า ‘อั้งม้อหลาว’ ไม่ได้อยู่ในห้องแถวหรือเตี้ยมฉู่โดยทั่วไป

“คำว่าอั้งม้อ คือพวกผมแดง เป็นภาษาจีนที่ใช้สำหรับเรียกฝรั่ง หลาว คือตึกหรือคฤหาสน์ แปลได้ว่า บ้านฝรั่ง ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่กว่าเตี้ยมฉู่ เฟอร์นิเจอร์ก็ใหญ่กว่า ผมไปเจอตู้นี้เข้าก็สะดุดตาว่าคือตู้ที่หาอยู่ และจะลงตัวที่สุดในพื้นที่ห้องรับแขกนี้” ถ้าไปที่นั่นแล้ว ผมขอแนะนำว่าให้ลองเดินถอยหน้าถอยหลังแล้วจะเห็น Perspective ที่ลงตัว อันเป็นส่วนผสมของความกว้าง ระยะของห้อง การจัดวางสิ่งของ ฯลฯ ทุกรายละเอียดจริงๆ ครับ

จากห้องรับแขก เราเดินทะลุมาถึงห้องต่อไปคือห้องไหว้หรือห้องพระ แน่นอนว่าอย่าลืมสักการะเทพเจ้าที่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ได้แก่ ฮกเต็กเจี่ยสิน เตียวฮู้เทียนซือ โป้เซงไต่เต่ กวนเส้งเต้กุน (หรือกวนอู) บู้จ๋ายสินเอี๋ย (หรือไฉ่ซิงเอี้ย) และแน่นอนว่าด้านบนสุดจะมีองค์กวนเซ่อิมโผ่สัดหรือพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์เป็นประธาน เมื่อสักการะแล้วก็ลองสังเกตวิธีการจัด ‘ตั๊ว’ หรือโต๊ะหมู่บูชาตามแบบวัฒนธรรมบาบ๋าด้วยนะครับ นอกจากนี้ ลองเดินชมภาพขาวดำที่ประดับอยู่บนผนัง รวมทั้งเครื่องกระเบื้องที่นำมาแสดงไว้ในตู้ ทั้งหมดล้วนสะท้อนอดีตของสถานที่นี้ได้เป็นอย่างดี

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

จากห้องพระ เราทะลุมายังพื้นที่นอกอาคาร เป็นเหมือนคอร์ตยาร์ดด้านหลังบ้านแล้วนะครับ ในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าทุกบ้านควรมีบริเวณที่เปิดโล่งเพื่อรับสายฝน สายลม และแสงแดด เพื่อเป็นพื้นที่สำรองน้ำ ให้อากาศถ่ายเท ระบายความอับชื้น และนำแสงสว่างให้สาดส่องได้โดยทั่วถึง และบริเวณลานเปิดโล่งนี้จะเรียกว่า ‘ฉิ่มแจ้’ 

คุณเผด็จเล่าว่าตามความเชื่อแล้วนั้น บริเวณฉิ่มแจ้เป็นส่วนสำคัญมากๆ ถือว่าเป็นส่วนท้องของมังกร แสงแดด สายลม และสายฝนยังเปรียบเหมือนเงินทองที่ไหลเข้าบ้านด้วย บริเวณฉิมแจ้จึงจะสร้างบ่อน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้บริโภค รวมทั้งกักโภคทรัพย์ตามความเชื่อด้วย

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

ที่หวูนั้นมีฉิ่มแจ้อยู่ 3 จุดตลอดความยาวราวๆ 106 เมตร และแน่นอนว่าเมื่อฉิ่มแจ้เป็นพื้นที่กลางแจ้ง สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างคือกันสาดที่โค้งออกมาจากหน้าต่างเพื่อกันแดดกันฝน กันสาดของที่นี่ส่วนมากเป็นกันสาดโค้งที่ทำจากไม้และสังกะสี และบางอันจะเป็นแบบพิเศษ นั่นคือกันสาดโค้งลายรถลาก ที่ทำเลียนแบบหลังคารถลาก (รถเจ๊ก) และเป็นแบบกันสาดที่หายากยิ่งในปัจจุบันเช่นกัน

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

นอกจากนั้น ยังมีช่องลมที่มีกระเบื้องเคลือบเขียวประดับบนผนังด้านหลังของตัวอาคาร กระเบื้องเหล่านี้มักเป็นรูปค้างคาวคาบเหรียญหรือไม่ก็ดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อเป็นเคล็ดให้ผู้อยู่อาศัยอุดมไปด้วยทรัพย์สิน เก็บเงินทองอยู่ ไม่สูญหายไปไหน

ที่ด้านหลังของบ้านมีบันไดอยู่ 2 อันที่เป็นบันไดปูนและบันไดไม้พาขึ้นไปสู่ชั้นสองของอาคาร แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน โดยบันไดไม้จะนำไปสู่ด้านบนที่เป็นส่วนของห้างหม่อเส้งแอนด์โก ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของผู้ชายที่ทำหน้าที่ขายของต้อนรับลูกค้าอยู่หน้าร้าน บันไดไม้จึงใหญ่และมีขั้นสูงกว่า เพราะต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงหยิบสินค้ามาบริการลูกค้า จึงต้องการความรวดเร็ว ในขณะที่บันไดปูนจะพาขึ้นไปบนลานเหนือห้องครัวอันเป็นพื้นที่ของผู้หญิง จึงมีขั้นบันไดที่เตี้ยกว่าและถี่กว่าเพราะผู้หญิงต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงนำผ้าไปตากบ้าง นำปลาไปตากบ้าง และพวกเธอก็ล้วนใส่ผ้านุ่ง ถ้าจะให้ก้าวขายาวๆ ก็คงไม่สะดวก “รายละเอียดความสูงของขั้นบันไดก็เป็นสิ่งที่ผมต้องศึกษาด้วยเช่นกัน และทำให้ถูกต้องตามสภาพการใช้สอยจริงแบบสมัยก่อน” คุณเผด็จเสริม

ทีนี้ผมขอพาทุกท่านไปบนชั้นสองกันบ้าง โดยไปยังห้องด้านหน้าสุดของอาคารที่มองลงมาเห็นถนนถลางที่ทอดตัวผ่านอยู่ด้านล่าง บนนั้นมีหน้าต่างไม้กรุกระจกแบบยุโรปที่นำแสงสว่างเข้าสู่อาคาร ลองสังเกตหน้าต่างดีๆ จะพบว่าหน้าต่างนั้นเป็นหน้าต่างเกล็ดกระดกที่ทำจากไม้ล้วนๆ เกล็ดหน้าต่างปรับขึ้น-ลงได้ เพื่อกำหนดปริมาณแสงและลมให้เข้าสู่ห้อง ซึ่งเป็นนวัตกรรมดั้งเดิมที่ซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้จริงในวันนี้

บนชั้นสองแบ่งเป็นห้องๆ และจัดแสดงเครื่องเรือนสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือเตียงพิมพ์ลายน้ำที่ใช้การพิมพ์ลายลงไปบนเนื้อโลหะแล้วนำมาประกอบเป็นเสาเตียงเลย นี่คือหนึ่งในสินค้ายุโรปที่ร้านหม่อเส้งแอนด์โกเคยสั่งมาจำหน่ายจากปีนัง นอกจากนี้ยังมีรถเข็นเด็ก เปลเด็ก ฯลฯ ที่ทำจากไม้ทั้งสิ้น และเป็นของที่หาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน

ในตู้กระจกที่เรียงรายอยู่รอบห้องล้วนมีของที่น่าสนใจจัดแสดงอยู่มากมาย ตั้งแต่นาฬิกาหลากชนิดที่ร้านนี้เคยจำหน่าย กระเป๋าถือ และงานฝีมือที่ทำจากการร้อยลูกปัด แจกันไหมฟ้าหลากรูปทรงและสีสัน เครื่องกระเบื้องนานาชนิดหลากลวดลาย กระดุมโลหะ ซึ่งของสะสมทั้งหมดนี้เป็นของที่สวยงามน่าชมยิ่ง

“ของที่นำมาแสดงเป็นทั้งของดั้งเดิมที่เคยอยู่ที่นี่ ของสะสมของครอบครัว และของอื่นๆ ที่ผมกับภรรยาพยายามไปสืบหาเพื่อนำมาใช้ตกแต่ง โดยเป็นของที่ผมเคยเห็นในบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ผมอยากรักษาไว้ทั้งตัวอาคารและสภาพความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษในตอนนั้นให้มากที่สุด” ซึ่งผมก็คิดว่าคุณเผด็จและคุณนวพรทำได้อย่างดียิ่ง เพราะผมได้เห็นทั้งอาคารและชีวิตของคนในสถานที่แห่งนี้

ก่อนจะจบการเดินชมส่วนพิพิธภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่ผมอยากชวนทุกท่านไปดู คือป้ายร้านหม่อเส้งแอนด์โกที่เป็นป้ายดั้งเดิมและนำมาแสดงอยู่ในนี้ด้วย พร้อมตัวอักษรจีนตัวใหญ่ที่เขียนว่า ‘หม่อเส้ง’ เช่นกัน เมื่อก่อนป้ายร้านมักเป็นการสลักหรือไม่ก็เขียนตัวอักษรลงบนแผ่นไม้ แต่ป้ายนี้พิเศษเพราะเป็นการสกัดตัวอักษรทีละตัวมาวางเรียงต่อกัน ผมไปหยุดยืนมองอยู่นาน พร้อมกับคิดว่าร้านห้างหม่อเส้งแอนด์โกยังไม่ได้ไปไหน แต่ยังมีชีวิตจิตใจในอีกมิติหนึ่งที่สมกับยุคสมัยแล้วจริงๆ 

โรงแรมกับพิพิธภัณฑ์อยู่ร่วมกันได้

หากเดินตามเส้นก๋วยเตี๋ยวผ่านฉิ่มแจ้และครัวก็จะมาสู่เขตโรงแรมนะครับ หวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล มีห้องพักเพียง 12 ห้อง เป็นห้อง Deluxe 5 ห้อง และห้อง Superior 7 ห้อง และด้านหน้าก็จะพาไปออกที่ถนนพังงา ระหว่างเดินจากส่วนพิพิธภัณฑ์มายังส่วนโรงแรม ผมไม่รู้สึกเลยว่าผมกำลังก้าวข้ามจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ตรงกันข้ามผมยังรู้สึกว่าผมยังอยู่ในกลิ่นอายของ ค.ศ. 1900 เช่นเดิม เรียกว่าเชื่อมกันได้สนิทจริงๆ

“ตอนทำโรงแรมก็อยากให้แขกเข้าใจกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเราชาวภูเก็ต อยากให้บรรยากาศของการมาพักที่นี่เปรียบเสมือนได้มาอยู่บ้านเพื่อน ไม่อยากให้เหมือนว่ามาอยู่โรงแรม และก็ดีใจว่าแขกทุกคนก็รู้สึกเช่นนั้น” คุณนวพร ภรรยาคุณเผด็จเล่าให้ผมฟัง

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

“การที่โรงแรมมาอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์เช่นนี้ทำให้เกิดผลอย่างไรบ้างครับ” ผมถาม

“คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่พิเศษ และความพิเศษแบบนี้ทำให้แขกซาบซึ้งไปกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของภูเก็ต เป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าฉาบฉวย ที่พี่ภูมิใจมากๆ คือแขกหลายต่อหลายคนบอกว่าอยากกลับไปรักษาบ้านเก่าของเขาไว้ ไปตามหาของใช้ที่เขาเคยเห็นเคยใช้มาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อมาเก็บสะสม แขกคนหนึ่งเป็นชาวจีนที่เกิดและเติบโตในอัมสเตอร์ดัม เมื่อเขาได้มาพักกับเราแล้วเขาก็รู้สึกว่าอยากกลับไปตามหารากเหง้าของตัวเองที่บ้านเกิดของบรรพบุรุษในจีน พี่รู้สึกว่าหวูได้สร้างนักอนุรักษ์มากขึ้น และพี่คิดว่านี่คือความภูมิใจที่ได้รับเมื่อเราตัดสินใจทำโรงแรมพร้อมพิพิธภัณฑ์” คุณนวพรกล่าว พร้อมกับอนุญาตให้ผมได้อ่านอีเมลฉบับนั้นที่แขกจากอัมเสดอร์ดัมส่งกลับมาให้

ต่อลมหายใจอาคารโบราณร้านหม่อเส้งแอนด์โกเป็นโรงแรมมิวเซียม Woo Gallery & Boutique Hotel

“การอนุรักษ์เป็นการเชื่อมเราสู่บรรพบุรุษ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรายังอยู่ใกล้กัน ไม่ได้ไปไหน มีชาวจีนแซ่หงอหรือแซ่หวูหลายคนที่มาพักที่นี่ และเขาก็ดีใจมากว่าเขาได้รู้สึกใกล้ชิดกับปู่ย่าตายายอีกครั้ง ผมกับภรรยาพยายามทำหวูให้เป็น โชว์เคสให้คนได้สนใจ ได้ศึกษา ผมยินดีทุกครั้งที่ได้เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ผมได้รับมาทั้งหมด และเมื่อหวูเดินมาถึงวันนี้ ผมก็ดีใจมากๆ ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา มาแวะเวียนเยี่ยมชม ทายาทหรือเจ้าของบ้านต่างๆ บนถนนถลาง ถนนพังงา และในเมืองภูเก็ตก็มาปรึกษาพูดคุยกับผมว่าจะไปดูแลบ้านตัวเองอย่างไร ผมดีใจมากๆ” คุณเผด็จเล่าด้วยความสุข

ส่วนผมเองนั้นก็มีแต่รอยยิ้มและความอิ่มใจที่ได้มาที่นี่ ได้มาสัมผัสสถานที่ที่สวยงาม ซึ่งพาผมกลับไปยังอดีตอันรุ่งเรืองของภูเก็ตเมื่อ ค.ศ. 1900 ที่สำคัญคือได้รับรู้เรื่องราวความทุ่มเทของลูกหลานที่จะเก็บบ้านของบรรพชนไว้ให้มีชีวิตต่อไป

ผมเดินออกจากหวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล และเดินเล่นอยู่ในเมืองภูเก็ตอีกนานเพื่อซึมซับอดีตของที่นี่ แรงบันดาลใจสำคัญที่ผมได้รับก็คือ ทุกๆ คนก็เป็นผู้ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งเดิมๆ ให้คงอยู่ต่อไปได้ด้วยความใส่ใจศึกษา ค้นคว้ารายละเอียด และวางแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้มรดกของบรรพชนยังยืนตระหง่านผ่านกาลเวลาสืบไป

ลงภูเก็ตครั้งหน้า อย่าลืมไปตามหาแรงบันดาลใจจากเพชรเม็ดงามกลางไข่มุกแห่งอันดามันเม็ดนี้กันนะครับ 

ขอขอบคุณ : คุณเผด็จและคุณนวพร วุฒิชาญ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของหวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล ติดตามชมรายละเอียดได้ในงานสถาปนิก’63 “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ​ฮอลล์ เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวึนที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ในส่วนนิทรรศการที่จัดร่วมกันระหว่าง The Cloud และสมาคมสถาปนิกสยามฯ

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู