มีวัดลับวัดหนึ่งที่มีความพิเศษอยู่หลายประการ กล่าวคือ พระอุโบสถสร้างขึ้นบนตำแหน่งอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และถือว่าเป็นมงคลยิ่ง เป็นวัดที่ประดิษฐานองค์พระประธานในลักษณะที่ไม่เหมือนวัดไหนๆ จนอาจกล่าวได้ว่ามีวัดนี้เพียงวัดเดียวในโลก มีศิลป์สถาปัตย์ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ผสมผสานกันอย่างลงตัวและงดงามยิ่ง เป็นวัดที่ปราศจากภิกษุสงฆ์จำพรรษามากว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว และวัดนั้นมีนามว่า ‘วัดวงศมูลวิหาร’

หากเอ่ยนามวัดวงศมูลฯ ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ไปเยือนหรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อ เดิมทีวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็น ‘วัดในวัง’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็กลับกลายมาเป็น ‘วัดในกรม’ ไปเสีย วัดวงศมูลฯ จึงกลายเป็นวัดลับที่หลบเร้นอยู่ในพื้นที่สงวนอยู่เสมอ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราน่าจะไปทอดน่องท่องวัดนี้แบบเจาะลึกกันเสียที เพื่อจะได้เรียนรู้และร่วมภูมิใจไปกับมรดกสำคัญของชาติแห่งนี้

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1
พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

วัดในวัง

วัดวงศมูลฯ เดิมสะกดว่า ‘วัดวงษมูล’ ทั้งยังมีปรากฏในเอกสารโบราณที่เรียกนามวัดนี้ว่า ‘วัดทรงประมูล’ อีกด้วย เป็นวัดที่สร้างขึ้นบนพื้นที่อันเคยเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังเป็นสามัญชน ดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพในสมัยกรุงสมัยธนบุรี โดยเราเรียกขานพื้นที่นี้ว่าพระนิเวศน์เดิม

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์และย้ายไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวังเป็นการถาวรแล้ว รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระองค์สำคัญเสด็จมาประทับที่พระนิเวศน์เดิม ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และสมเด็จพระเจ้ายาลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์

 ต่อมาเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แล้ว ได้พระราชทานอุปาราชาภิเษกสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากพระนิเวศน์เดิมไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแทน

สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงทรงแบ่งพื้นที่พระนิเวศน์เดิมเพื่อพระราชทานพระราชโอรส หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประยงค์ กรมขุนธิเบศร์บวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2394 ในช่วงตันรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนธิเบศร์บวร ได้ทรงยกที่วังประมาณ 5 ไร่เพื่อสร้างวัดวงศมูลฯ โดยตำแหน่งพระอุโบสถนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตรงที่ตั้งของจวนหลวงเดิมที่รัชกาลที่ 1 เคยประทับมาก่อน ด้วยถือว่าเป็นตำแหน่งมงคลยิ่ง และในขณะนั้นไม่ปรากฏจวนหลวงเดิมให้เห็นอีกต่อไป เพราะรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อและชะลอไปปลูกเป็นหอพระไตรปิฎกที่วัดระฆังโฆษิตารามมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี

การก่อสร้างวัดวงศมูลฯ ดำเนินต่อมาอีก 6 ปี จน พ.ศ. 2400 พระราชวรวงศ์เธอ กรมขุนธิเบศร์บวรก็ประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ลง โดยการก่อสร้างยังคงค้างอยู่ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ทรงเป็นแม่กองทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ และพระราชทานนามวัดนี้ว่าวัดวงศมูลวิหาร

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

คำว่าวงศมูลนั้นหมายถึงต้นวงศ์ สันนิษฐานว่าเหตุที่พระราชทานนามเช่นนี้ก็ด้วยทรงตระหนักว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนธิเบศร์บวรตั้งพระทัยที่จะทรงสร้างวัดแห่งนี้เพื่อเป็นวัดประจำตระกูลและถวายเป็นพระกุศลแด่พระบิดา ซึ่งก็คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์นั่นเอง

วัดในกรม

เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วัดวงศมูลฯ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2418 และมีพระสงฆ์จำพรรษาเรื่อยมา โดยมีสถานะเป็นพระอารามหลวง ปรากฏหลักฐานการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินของรัชกาลที่ 5 ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2422 และยังคงได้รับพระราชทานกฐินหลวงและเทียนพรรษาเป็นประจำทุกปี

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

ในช่วง พ.ศ. 2420 – 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงรวบทหารเรือทุกสังกัดและจัดตั้งขึ้นเป็นกรมทหารเรือ ได้พระราชทานพื้นที่พระนิเวศน์เดิมให้สร้างเป็นที่ว่าการกรมทหารเรือ ต่อมาเมื่อภารกิจของกรมทหารเรือขยายตัวมากขึ้น ก็ได้พระราชทานพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อสร้างกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งหน่วยงานสำคัญอื่นๆ จึงทำให้วัดวงศมูลฯ กลายมาเป็นวัดในกรมไปแทน เพราะถูกโอบล้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพเรือทั้ง 3 ด้าน

เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีลายพระหัตถ์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยุบเลิกวัดวงศมูลฯ เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่อาจพัฒนาให้เจริญขึ้นได้อีกด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ ได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2459 ประทานเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ระบุใจความสำคัญว่า

“ฉันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอนพระสงฆ์จากวัดวงศมูลวิหารไปสมทบวัดอื่น ไม่ตั้งอีกต่อไป มอบวัดนั้นให้กระทรวงทหารเรือรักษา แต่ให้คงเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาอยู่อย่างเดิม เสนาสนะอันจะรื้อทิ้งไปปลูกวัดอื่นได้ จักย้ายไป ที่รื้อไม่ได้ กระทรวงทหารเรือจักอาศัยใช้สอยได้อยู่ ดังที่เคยเป็นมาแล้ว ส่วนพระอุโบสถจะอาศัยเป็นที่ไหว้พระสวดมนต์ แลทำพิธีในการพระศาสนาของพวกทหารเรือได้อยู่” 

ทั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏชื่อวัดวงศมูลวิหารในบัญชีกฐินพระราชทานอีก 

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

ตลอดเวลากว่าร้อยปี แม้วัดวงศมูลฯ จะปราศจากภิกษุสงฆ์จำพรรษา แต่ยังคงเป็นศาสนสถานสำคัญที่กองทัพเรือร่วมใจดูแล บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพสวยงาม และเป็นปูชนียสถานสำคัญที่กองทัพเรือใช้ประกอบพิธีเพื่อสร้างศรัทธา ขวัญและกำลังใจกับข้าราชการทหารเรือทุกนายรวมทั้งประชาชนในท้องถิ่น และพื้นที่พระนิเวศน์เดิมแทบทั้งหมดได้กลายมาเป็นที่ตั้งของกองเรือลำน้ำ กรมพลาธิการทหารเรือ และกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งหน้าที่ต่อและซ่อมเรือสำคัญๆ ของราชนาวีและของชาติ รวมทั้งเรือพระราชพิธีทั้งหมดด้วย

ที่นี่ที่เดียว

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1
พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

จุดเด่นที่ผมอยากเชิญชวนทุกท่านให้รีบไปชมกันก่อน คือการประดิษฐานองค์พระประธานที่แตกต่างจากวัดอื่นๆ จนผมกล้าฟันธงว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก

โดยปกติ พระอุโบสถจะวางอาคารด้านยาวตามแกนทิศตะวันออก-ตก ซึ่งพระประธานก็จะหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ในกรณีนี้คือการหันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของวัดริมน้ำ แต่สำหรับพระประธานที่วัดนี้ กลับหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ และหันข้างให้แม่น้ำเจ้าพระยาแทน

ตอนแรกนั้นพระประธานหันพระพักตร์ไปทิศตะวันออกตามปกติ แต่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นธิเบศร์บวร ทรงมีพระอาการประชวรบ่อยๆ ไม่ทรงหายขาดเสียที ทรงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นด้วยเหตุที่พระประธานหันพระพักตร์มายังตำหนักประทับ ซึ่งปลูกขวางอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นได้ จึงโปรดฯ ให้ย้ายพระประธานมาไว้ในตำแหน่งปัจจุบัน และดัดแปลงประตูทางเข้าพระอุโบสถให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

องค์พระประธานหน้าตักกว้าง 2.6 เมตร ประดิษฐานบนฐานชุกชีรูปแบบเรียบง่ายมีนามว่า ‘พระพุทธวงศมูลมิ่งมงคล’ ซึ่งเป็นนามประทานมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (ปัจจุบันโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) โดยเป็นพระพุทธรูปแบบปางมารวิชัย ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 มีลักษณะพิเศษคือพระพักตร์แบบ ‘หน้าหุ่น’ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ บนพระเศียรมีพระอุษณีษะ (มวยผม) และพระรัศมีรูปเปลวไฟ ผ้าทาบบ่าเป็นแถบใหญ่แบบพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 ส่วนจีวรเรียบไม่มีรอยย่น

ไทย จีน ฝรั่ง 

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

จากองค์พระประธาน คราวนี้เรามาค่อยๆ ไล่ชมงานศิลป์สถาปัตย์ที่ผสมผสานทั้งไทย จีน ฝรั่ง อันสะท้อนพระราชนิยมในช่วงต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทำให้วัดนี้มีความพิเศษไปพร้อมๆ กันนะครับ

เริ่มด้วยตัวพระอุโบสถที่อาจกล่าวได้ว่า พระอุโบสถวัดวงศมูลฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัชกาลที่ 4 โดยแท้จริง ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว 5 ห้อง ( 5 ช่วงเสา) มีระเบียงรอบ 4 ด้าน หลังคาทรงจั่วซ้อน 2 ชั้น 3 ตับ หน้าจั่ว ช่อฟ้า ใบระกา เป็นไม้ปิดทองประดับกระจก ส่วนหน้าบันไม้จำหลักเป็นลายกระจังใบเทศ 

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

เสาระเบียงรอบพระอุโบสถ เป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบ ไม่ปรากฏบัวหัวเสา บัวฐานเสา และคันทวยประดับแต่อย่างใด ส่วนพนักระเบียงกรุกระเบื้องปรุสีเขียวหลายแบบหลายลาย อันเป็นพระราชนิยมมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ยังมีศิลารูปสิงโตจีนรายรอบพระอุโบสถจำนวน 30 ตัว โดยศิลาเช่นนี้เรียกว่าอับเฉา ซึ่งใช้บรรจุถ่วงน้ำหนักใต้ท้องสำเภาที่นำสินค้าเข้าจากจีน ความที่สินค้าส่วนมากมีน้ำหนักเบา เช่น ผ้าแพร ผ้าไหม ไข่มุก แร่ทอง แร่เงิน จึงต้องถ่วงสำเภาด้วยศิลาไว้ไม่ให้โคลง บางครั้งจึงเรียกว่าอับเฉาสำเภา การตกแต่งวัดด้วยศิลาอับเฉาเช่นนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และเฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 3 

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

การตกแต่งบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถด้านนอกเป็นลายรดน้ำแบบลายก้านแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าสิงห์ ซุ้มประตูหน้าต่างภายนอกประดับลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่าซุ้มทรงอย่างเทศ (มาจากคำว่าอย่างต่างประเทศ) โดยซุ้มประตูและหน้าต่างทั่วไปผูกลายด้วยดอกไม้และใบไม้อย่างฝรั่ง ดูคล้ายกรอบรูปเขียนแบบยุโรป สิ่งพิเศษที่ควรสังเกต ก็คือซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศเหนือที่จะมีการใช้ลวดลายดอกพุดตาน (ดอกโบตั๋น) ซึ่งแตกต่างจากซุ้มอื่นๆ โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวหลังเมื่อต้องแปลงอาคารให้รับกับการย้ายองค์ประธานให้มาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1
พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

จุดสังเกตสำคัญอีกจุดคือตรงกึ่งกลางซุ้มเหนือช่องประตูที่ทำเป็นรูป ‘ครุฑยุดนาคหน้าเสี้ยว’ อันปรากฏลักษณะของตัวครุฑที่ยืนเอี้ยวตัวแบบไม่สมมาตร ซึ่งบางตำราสันนิษฐานว่าเป็นตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 2 พระบิดาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนธิเบศร์บวร ผู้โปรดฯ ให้สร้างพระอุโบสถนี้

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

เมื่อสำรวจศิลปกรรมรอบๆ พระอุโบสถแล้ว ผมขอชวนให้กลับเข้าไปด้านในอีกครั้ง เพราะยังมีสิ่งพิเศษที่ห้ามพลาด นั่นคือทางฝั่งขวาและซ้ายขององค์พระประธาน มีซุ้มหินอ่อนศิลปะแบบโกธิก (Gothic) ข้างละหนึ่งซุ้ม ซุ้มฝั่งขวาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ (ความสูง 152 ซม.) และซุ้มฝั่งซ้ายประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามพระแก่นจันทร์ (ความสูง 86 ซม.) โดยทั้งสององค์เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 สังเกตได้จากพระพุทธรูปครองจีวรแบบห่มคลุมและมีรอยยับย่นเสมือนจริง ทั้งรูปแบบขององค์พระและซุ้มหินอ่อนสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ศิลปะแบบผสมผสานระหว่างไทยและตะวันตกกำลังอยู่ในพระราชนิยม ซึ่งยังปรากฏให้เห็นจากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอีกหลายแห่ง เช่น อนุสาวรีย์หลายองค์ที่สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ เป็นต้น

พระอุโบสถวัดวงศมูลวิหารนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง ใน พ.ศ. 2545 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เพื่อธำรงรักษาสถานที่สำคัญแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กองทัพเรือยังใช้พระอุโบสถนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา บรรพชาอุปสมบทภิกษุ และพิธีกรรมบวงสรวงในโอกาสสำคัญๆ เสมอมา

หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆษิตาราม

การเดินทอดน่องท่องวัดวงศมูลฯ จะไม่เสร็จสมบูรณ์ หากเราไม่ได้แวะเวียนไปชมหอพระไตรปิฎกที่วัดระฆังโฆษิตาราม (เดิมชื่อว่าวัดบางหว้าใหญ่) เพราะจวนหลวงเดิมของรัชกาลที่ 1 ย้ายมาตั้งอยู่ที่นี่

พาเดินทอดน่องท่อง วัดวงศมูลวิหาร วัดที่สร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็น ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงเป็นสามัญชนและรับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระราชวรินทร์ ได้ย้ายนิวาสสถานมาอาศัยอยู่ที่จวนหลวงในเขตพระนิเวศน์เดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้พระราชวรินทร์เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีเมืองโคราช ในสงครามครั้งนั้น พระราชวรินทร์ได้ตั้งจิตอิษฐานว่าจะถวายจวนมาปลูกที่วัดบางหว้าใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชา จึงสั่งให้รื้อจวนหลวงจากพระนิเวศน์เดิมมาปลูกถวายที่วัดนี้ ในขณะนั้นจวนหลวงยังเป็นบ้านขุนนางที่สร้างอย่างง่ายๆ มีบันทึกว่า “เป็นหอนั่งและหอนอน หลังคามุงจาก ฝาสำหรวด กั้นด้วยกระแชง”

ต่อมาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ได้ทรงระลึกถึงจวนหลวงหลังนั้น มีพระราชประสงค์จะปฏิสังขรณ์ให้งดงามและถวายเป็นหอพระไตรปิฎก ขณะนั้นได้มีการขุดพบระฆังใบใหญ่ได้ในวัดบางหว้าใหญ่ มีเสียงร่ำลือว่าเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะเป็นอย่างยิ่ง เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระรูปสี่เหลี่ยมขึ้นตรงบริเวณที่พบระฆังนั้น ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ แล้วรื้อจวนหลวงชะลอมาปลูกลงในสระดังกล่าว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงเป็นแม่กองอำนวยการดำเนินงานทั้งหมด ในคราวนี้ได้ทรงบูรณะจวนเดิมให้ใหญ่โตงดงามขึ้น 

“เป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคามีกระเบื้องกระจังดุษรูปเทพประนม เรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแซงเป็นฝาไม้สัก ลูกฟักปกนภายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม”

กล่าวได้ว่าหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆษิตารามนั้น เป็นหอไตรเพียงหลังเดียวที่มีเอกลัษณ์พิเศษ โดยเป็นเรือนสามจั่วที่ดัดแปลงมาจากเรือนขุนนางเดิม สะท้อนให้เห็นวิธีการก่อสร้างและปลูกเรือนไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 อีกด้วย

เมื่อการปฏิสังขรณ์ได้แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 1 จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ในทิศทั้งแปด (จึงมีผู้เรียกหอพระไตรปิฎกแห่งนี้ว่าตำหนักจันทน์) เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระไตรปิฎก ได้ทรงขอระฆังเสียงไพเราะไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หล่อระฆังมาพระราชทานแทนไว้ 5 ลูก พระราชทานนามว่าวัดระฆังโฆสิตารามแทนวัดบางหว้าใหญ่ และเป็นนามที่ใช้สืบมาจนปัจจุบัน

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับการเจาะลึกวัดลับทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และศิลป์สถาปัตย์ เพื่อพาให้ผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับวัดวงศมูลวิหาร วัดเล็กๆ ที่พิเศษและสำคัญแห่งนี้ รวมทั้งพาเดินต่อไปอีกนิด เพื่อไปชมหอพระไตรปิฎกแห่งวัดระฆังโฆษิตารามที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกัน

อ่านจนจบบทความนี้แล้วอยากจะให้จัดกิจกรรม Walk with The Cloud พาไปทอดน่องท่องวัดวงศมูลฯ พร้อมกับวัดระฆังฯ บ้างไหมครับ

อ้าว…. ไหนขอเสียงหน่อยซิ

ขอขอบพระคุณ

พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือโทธานี แก้วเก้า เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ 

พลเรือตรีสกล สิริปทุมรัตน์ ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ

พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ

นาวาโทหญิง รศนา สมพงษ์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ฯ 

คุณวทัญญู เทพหัตถี

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือ 100 ปีกรมอู่ทหารเรือ (อรุณการพิมพ์ พ.ศ. 2533)

2. หนังสือ อู่เรือหลวง 123 ปี เรื่องดีๆ ที่ฝั่งธน (สำนักพิมพ์พยัญชนะ พ.ศ. 2556)

3. หนังสือ หอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆษิตาราม (บริษัทเชลล์ในประเทศไทย จัดพิมพ์ พ.ศ. 2525) 

4. www.silpathai.net/หอไตรวัดระฆัง

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย คุณวทัญญู เทพหัตถี

เอื้อเฟื้อพระรูปพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ และแผนที่เก่าฝั่งธนบุรีโดย ผ.ศ. ด.ร. พีรศรี โพวาทอง

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan