เฮือนสีจมปูหลังใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าผม เป็นสีชมพูหวานงามตรึงใจไม่ประเจิดประเจ้อ ไม้ฉลุลายวิจิตรที่ประดับอยู่อย่างงดงามลงตัว ช่วยขับอาคารโบราณหลังนี้ให้ดูโดดเด่นสะดุดตา บุรุษและสตรีทั้ง 5 ท่านกำลังรอผมอยู่ กมลวรรณ วงศ์บุรี (รุ่งเรืองศรี), ดร.ณัชนพงศ์ วงศ์บุรี, สหยศ วงศ์บุรี, กัญชลิกา วงศ์บุรี และศรีพนา วงศ์บุรี คือทายาทผู้อาศัยและดูแลคุ้มวงศ์บุรีแห่งนี้สืบต่อจากบรรพบุรุษ 

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

วันนี้ทุกท่านพร้อมแล้วที่จะพาผมเดินสำรวจคุ้มวงศ์บุรีอย่างละเอียด ไม่เพียงแต่ซึมซับความงามเด่นด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นจริยวัตรของเจ้านายฝ่ายเหนือ รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาคุ้มวงศ์บุรีให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแพร่ด้วย

ปุ่มบันทึกเสียงบนโทรศัพท์มือเริ่มทำงาน ปากกาในมือเริ่มลื่นไหลไปตามคำสัมภาษณ์ ขณะที่เรากำลังออกเดินสำรวจคุ้มวงศ์บุรีไปทีละห้อง ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญก้าวตามผมกลับไปสู่อดีตเมื่อ 123 ปีก่อนพร้อมๆ กัน

เฮือนแห่งความฮัก

“แม่เจ้าบัวถาสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเพื่อให้เป็นเรือนหอของเจ้าสุนันตา” สหยศเอ่ย และนั่นคือข้อสันนิษฐานที่ว่าทำไมคุ้มหลังนี้ถึงสีชมพู “ท่านสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ใช้เวลาสร้างสามปีจึงแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เจ้าสุนันตาสมรสกับเจ้าพรหมพอดี” 

แม่เจ้าบัวถาเป็นชายาองค์แรกของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของแพร่ที่ครองเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2432 – 2445 ก่อนการปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2446 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งส่งผลให้แพร่ปรับสถานะจากเมืองประเทศราชที่มีเจ้าหลวงปกครองตนเองมาเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

แม่เจ้าบัวถาไม่มีบุตรธิดากับเจ้าหลวง ต่อมาได้ตัดสินใจแยกทางกัน และรับเอาเจ้าสุนันตา ธิดาของเจ้าบุรีรัตน์ผู้เป็นน้องชายมาเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมกับสร้างคุ้มวงศ์บุรี

คุ้มวงศ์บุรีสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนที่พัฒนาขึ้นในอังกฤษช่วง ค.ศ. 1837 – 1901 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนคือการตกแต่งอาคารอย่างอ่อนช้อยด้วยไม้ฉลุลายเลียนแบบพฤกษาพรรณตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดลายน้ำ ลายเถาวัลย์ ลายดอกไม้ ฯลฯ ประดับไปทั่วอาคาร

สถาปัตยกรรมวิกตอเรียนเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังรุ่งเรืองและมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้สถาปัตยกรรมแขนงนี้แผ่ขยายไปทั่วโลกด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายแห่งก็สร้างขึ้นตามแบบวิกตอเรียน ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีก็คือพระที่นั่งวิมานเมฆ คนไทยเป็นคนชอบความสวยงามอ่อนช้อย ช่างไทยเป็นผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งประดับประดาอาคารให้มีลูกเล่น สถาปัตยกรรมวิกตอเรียนจึงแพร่หลายทั่วไปในแดนสยาม เพียงแต่ว่าการผูกลายประดับอาคารนั้นอาจจะแปลกแยกแตกต่างกันไปบ้าง ตามความชำนาญของช่างในแต่ละท้องถิ่น 

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ในช่วง พ.ศ. 2440 แพร่เป็นเมืองที่อินเตอร์มากๆ มีชาวตะวันตกอาศัยอยู่กลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะชาวอังกฤษ การขยายตัวของอุตสาหกรรมป่าไม้ส่งผลให้รัชกาลที่ 5 ตัดสินพระทัยตั้งกรมป่าไม้ขึ้น โดยทรงนำคณะเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษจากอินเดียเข้ามารับราชการในกรมป่าไม้เป็นคณะแรก บริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษอย่างบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Corporation) ก็ตั้งอยู่นานแล้ว ก่อนที่จะตามมาด้วยบริษัทสัญชาติเดนมาร์กอย่างอีสต์เอเชียติก ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่งดงามจากยุโรปแขนงนี้ จึงเผยแผ่เข้ามาที่แพร่ด้วย ไม้สักของไทยเป็นไม้ที่แกะสลักฉลุลายได้ง่าย ช่างไม้ฝีมือเยี่ยมมีอยู่มากมาย เราจึงพบอาคารทรงวิกตอเรียนหลายหลังตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ แต่หลังแรกที่สร้างขึ้นคือคุ้มวงศ์บุรี

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

“ช่างชาวจีนกวางตุ้งเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างร่วมกับช่างท้องถิ่น เป็นการสร้างโดยไม่ใช้เสาเข็ม แต่ก่อรากฐานด้วยท่อนซุงวางเรียงอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ก่อนเทปูนทับอีกชั้นให้แข็งแรง การประกอบอาคารก็ไม่ใช้ตะปูเลยสักตัว ใช้เพียงการเข้าลิ่มแบบโบราณ และมีลายฉลุที่เป็นลายเถาวัลย์ ลายพรรณพืช ลายดอกไม้ ฯลฯ วางในกรอบทรงเรขาคณิตแบบต่างๆ เช่น ทรงสามเหลี่ยม ทรงครึ่งวงกลม ประดับทั่วไปทั้งคุ้ม แล้วลวดลายก็จะต่างกันไปด้วย” คุณศรีพนาเล่าเสริม 

เจ้าสุนันตาและเจ้าพรหมก็ไม่มีบุตรธิดา ท่านจึงไปรับหลานคือเจ้าไข่มุกต์ วงศ์บุรี และเจ้าทองด้วง วงศ์บุรี มาเลี้ยงดูเป็นบุตรธิดาบุญธรรมเพื่อเป็นทายาทสืบเชื้อสายคุ้มวงศ์บุรี ต่อมาท่านได้รับคุณประจวบ วงศ์บุรี มาเป็นบุตรบุญธรรมด้วยอีกคน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

“พ่อของผมคือเจ้าทองด้วง วงศ์บุรี เมื่อท่านแต่งงานกับคุณแม่ คือคุณวรรณี ลิ้มตระกูล แล้วก็อาศัยอยู่ที่คุ้มวงบุรีต่อมา ที่นี่จึงเป็นเรือนหอของท่านด้วย หากสังเกตดีๆ ตรงกลางจั่วหน้าคุ้มจะเป็นไม้ฉลุลายดอกโบตั๋น ความที่ช่างเป็นคนจีน ดอกโบตั๋นตามคติจีนนั้นแทนความซื่อสัตย์ ความมั่นคง รวมทั้งความรัก” คุณสหยศกล่าว

หน้ามุขและโถงรับแขก

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

คุ้มวงศ์บุรีเป็นอาคารไม้สักสองชั้น ยื่นหน้ามุข ในอดีตบันไดหน้ามุขมักจะปิดไว้เสมอ เพื่อสงวนไว้ให้เฉพาะแขกที่มาเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการเท่านั้น เมื่อขึ้นบันไดมาจะพบโถงงดงามด้วยไม้ฉลุลายที่ประดับอยู่ทั่วไป หน้าต่างบานกระทุ้งเปิดออกรับแสงสว่าง มีภาพเขียนของแม่เจ้าบัวถาประดับเด่นเป็นประธาน

ของใช้ประจำตระกูลที่จัดแสดงอยู่บริเวณนี้คือกำปั่นเหล็กที่เคยใช้เก็บเอกสารสำคัญทางราชการและของครอบครัว เป็นกำปั่นสลักตราอาร์มแผ่นดินพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งแสดงอยู่ใกล้กันคือผางลางซึ่งเป็นกระเดื่องสำหรับใช้กับช้าง 

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ผางลางทำจากทองเหลือง ภายในมีแกนไม้หุ้มหนังสัตว์แขวนไว้ เวลาช้างเคลื่อนไหว แกนจะตีกระทบโลหะจนเกิดเสียงกังวานก้อง ควาญจะนำผางลางใส่โครงไม้แล้วมัดไว้ที่ด้านหลังของกูบเฉพาะช้างเชือกแรกและเชือกสุดท้ายของขบวนเท่านั้น เสียงผางลางช่วยกำกับแนวขบวนช้างให้เดินตามกันโดยไม่หลงทิศ ทั้งยังเตือนผู้คนทั่วไปว่าขบวนช้างกำลังจะผ่านมา 

ในอดีตเคยมีพิธีสำคัญที่เกิดขึ้นหน้าคุ้ม นั่นคือพิธีเอาขวัญช้าง พิธีนี้จัดขึ้นประจำปีละครั้ง ควาญให้ช้างหยุดลากซุง เพื่อเร่งเดินทางกลับมายังคุ้มให้ตรงวันที่กำหนดไว้ตามฤกษ์ และให้ช้างทั้งหมดมายืนเรียงแถวหน้ากระดาน แม่เจ้าบัวถาจะยืนอยู่บนระเบียงหน้ามุขและกล่าวบทเอาขวัญช้าง เนื้อความเป็นการกล่าวขอบคุณช้างที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี พร้อมขอโทษหากทำการใดๆ ที่รุนแรงล่วงเกินช้างไป มีบันทึกว่า ช้างของคุ้มวงศ์บุรีมีถึง 69 เชือก ทั้งนี้เพราะแม่เจ้าบัวถาเป็นผู้สืบทอดกิจการป่าไม้ของครอบครัว

บริเวณใต้ภาพเขียนแม่เจ้าบัวถามีกูบตั้งอยู่ เป็นกูบที่เจ้านายเคยใช้นั่งบนหลังช้างมาก่อน บริเวณนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งศพสำหรับบำเพ็ญกุศลของสมาชิกหลายรุ่น ตั้งแต่ศพของแม่เจ้าบัวถา เจ้าสุนันตา และเจ้านายในรุ่นต่อๆ มา

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
ภาพงานศพแม่เจ้าบัวถา

“ตอนงานศพเจ้าไข่แก้วย่าของผม ก็จัดตามธรรมเนียมเจ้านายฝ่ายเหนือ ศพตั้งไว้ที่มุกหน้าบ้านชั้นบน ที่สนามมีมหรสพต่างๆ ทั้งลิเกและภาพยนตร์ ติดไฟพะเนียงเหมือนงานวัด ศพเจ้านายฝ่ายเหนือจะบรรจุไว้ในหีบ ไม่ใช่โกศ พอสวดพระอภิธรรมครบก็จะเชิญไปฌาปนกิจนอกเมือง อย่างศพแม่เจ้าบัวถาก็จะเชิญหีบขึ้นตั้งบนธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นใหม่ แล้วเชิญออกไปยังเมรุ พอเสร็จงานศพแล้วก็จะนำธรรมาสน์ไปถวายที่วัดพงษ์สุนันท์ ปัจจุบันนี้ยังรักษาไว้” คุณสหยศเล่า

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ห้องใต้หลังคาเหนือโถงรับแขกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของคุ้ม บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่มงคลสำหรับประกอบพิธีสงฆ์และประเพณีสำคัญต่างๆ รวมทั้งรับรองอาคันตุกะอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานที่เป็นชายจะต้องปีนบันไดขึ้นไปทำความสะอาดและสรงน้ำพระพุทธรูปบนนั้น พระพุทธรูปองค์สำคัญคือพระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งชาวเหนือเชื่อว่าจะช่วยป้องกันภัยให้บ้าน โดยเฉพาะอัคคีภัย 

สมัยที่เจ้าทองด้วงเป็นประมุขของคุ้ม ท่านพิจารณาว่าควรจะเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดลงมาประดิษฐานด้านล่าง เพื่อให้ลูกหลานที่เป็นหญิงได้มีโอกาสสรงน้ำพระบ้าง มีเรื่องเล่ากันว่า ในวันที่ท่านขึ้นไปเชิญพระเชียงแสนสิงห์หนึ่งลงมานั้น ท่านชวนบ่าวคนสนิทที่ชื่อว่านายเม็ดตามขึ้นไปด้วย ท่านชี้ให้นายเม็ดไปเชิญพระสำคัญที่ตั้งอยู่ตรงหน้า แต่นายเม็ดได้แต่ร้องว่า “พ่อเจ้าจะให้ยกพระองค์ไหน มองยังไงก็บ่เห็น” ไม่ว่าท่านจะชี้อย่างไร นายเม็ดก็มองไม่เห็นองค์พระอยู่ดี ในที่สุดเจ้าทองด้วงต้องเป็นผู้เชิญลงมาด้วยตนเอง

ห้องนอน ห้องคลอด ห้องเดียวกัน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

จากโถงรับแขก เราเดินต่อไปทางปีกซ้ายของคุ้ม อันเป็นห้องนอนของเจ้าสุนันตาและเจ้าพรหม ภายในห้องยังคงตกแต่งด้วยสีชมพูเฉดหวาน พรั่งพร้อมเครื่องเรือนร่วมสมัย สิ่งที่สะดุดตาผมมากที่สุดคือเปลที่ตั้งอยู่หน้าเตียงโบราณ

“ห้องนี้เป็นห้องที่สมาชิกวงศ์บุรีเกิด เมื่อก่อนลูกเจ้านายเกิดที่คุ้มทั้งนั้น ดิฉันกับน้องๆ ก็เกิดที่นี่ ยกเว้นน้องคนเล็ก หมอที่ทำคลอดไม่ใช่หมอตำแย แต่เป็นแพทย์สาธารณสุขวิชาชีพ รกของทุกคนจะนำไปฝังในบ้านด้วย” คุณกมลวรรณเล่า นอกจากเป็นห้องคลอดแล้วยังเป็นห้องสมโภชเดือนและขึ้นอู่ของลูกหลานอีกเช่นกัน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

หากศึกษาประวัติของเจ้าสุนันตาและเจ้าพรหมผู้เป็นเจ้าของห้องคู่แรก จะพบว่าท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เสาะหาที่ดินเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อบุกเบิกให้เป็นที่ดินเช่าทำนา ผู้เช่ามักจะชำระค่าเช่าในรูปแบบของการแบ่งปันข้าวเปลือกครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้ 

เมื่อก่อนด้านหลังคุ้มวงศ์บุรีจะมีตุ๊ข้าวหรือยุ้งฉางขนาดใหญ่อยู่ 2 ที่ เก็บข้าวเปลือกได้สูงสุดถึง 200 ตัน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหากวันใดเป็นวันข้าวเปลือก ผู้เช่าที่นาจะนำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนเทียมวัวคู่มุ่งหน้ามายังคุ้มวงศ์บุรี จำนวนเกวียนนั้นยาวต่อกันไปหลายกิโลเมตร ข้าวถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะท่านต้องนำมาเลี้ยงดูลูกหลานและบริวารที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หากผลผลิตของนาผืนไหนมีปริมาณน้อย ไม่พอบริโภค ก็มาขอปันจากคุ้มวงศ์บุรีได้ เป็นที่น่าเสียดายว่าตุ๊ข้าวไม่มีปรากฏให้เห็นแล้วในวันนี้

นอกจากนี้ เจ้าสุนันตายังเป็นผู้ขอสัมปทานเพื่อขยายขอบเขตการทำป่าไม้ด้วยมีช้างและแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเลี้ยงดูให้อิ่มท้อง การดำเนินกิจการป่าไม้ของท่านแผ่ขยายไปทั้งเมืองแพร่และน่าน ทั้งยังได้ร่วมทำธุรกิจกับบริษัทค้าไม้ของตระกูลล่ำซำอีกด้วย เอกสารสัญญาเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ยังมีจัดแสดงไว้ที่ห้องด้านล่าง

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ห้องผีครู

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

จากห้องนอน ทางเดินเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘เตียว’ พาเราไปยังห้องสำคัญอีกห้อง นั่นคือห้องผีครูซึ่งเป็นที่เก็บรักษาเสื้อ ผ้า ดาบ มีดลงยันต์ ฯลฯ อันเป็นเครื่องรางของขลังที่ผ่านพิธีปลุกเสกมาแต่ในอดีต ห้องผีครูเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับผู้หญิง วันที่ 16 เมษายนเป็น ‘วันปากปี๋’ อันเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ตามปฏิทินไทย ที่คุ้มวงศ์บุรีจะจัดให้มีพิธีไหว้ผีครูขึ้นทุกปี และยังปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน ใครที่จะเข้าไปในห้องนี้ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและอยู่ในอาการสำรวม

คุณสหยศได้เล่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติให้ฟังว่า “ตอนที่ผมอายุห้าขวบ คุณพ่อกำลังทำพิธีอยู่ ผมก็ใส่แต่เสื้อ ไม่ได้ใส่กางเกง แล้ววิ่งเข้าไปหาท่าน พ่อเห็นก็รีบห้าม บอกว่า บ่เข้ามาเตื่อ อย่าเข้ามา แต่ก็ไม่ทัน พ่อรีบพาผมออกจากห้องทันที ผมจำได้ว่าปวดปัสสาวะมาก แต่ปัสสาวะอย่างไรก็ไม่ออกไปทั้งวันจนผมร้องไห้ พ่อต้องรีบจัดพิธีขอขมา

“อีกเหตุการณ์คือผมเอามีดลงยันต์ไปลับ เพราะอยากขัดสนิมและลับมีดให้คม เชื่อไหมครับว่าตอนที่ช่างเริ่มเจียที่คมมีด จิ๊ด จิ๊ด ผมก็เริ่มรู้สึกเสียดและจุกในท้องตามไปด้วย ช่างเจียเมื่อไหร่ผมก็จะเจ็บท้องทันที เจ็บจนผมต้องบอกให้หยุด หลังจากนั้นผมต้องรีบนำน้ำส้มป่อยกับขมิ้นไปกราบขอขมา”

ทุกวันนี้ห้องผีครูเป็นบริเวณที่ห้ามถ่ายภาพ และเราก็ได้รับการขอร้องไม่ให้ถ่ายภาพเช่นกัน ส่วนภาพประกอบบทความที่เห็น เป็นภาพที่คุณสหยศถ่ายด้วยตนเอง โดยกราบขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อส่งมาให้เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

นอกจากวันไหว้ผีครูแล้ว ยังมีวันสำคัญอื่นๆ อันเป็นประเพณีของคุ้ม

“วันที่ 14 เมษายน เป็นวันขอสุมา ต้องไปขอขมากับธรณีประตู ขันสุมาคือกระทงใบตองบรรจุข้าวเหนียวแดงกับน้ำส้มป่อย ต้องนำไปวางให้ครบทุกประตู นอกจากนี้ก็มีการทำตุง ก่อพระเจดีย์ทราย โอย…สนุกมาก วันที่ 15 เมษายนเป็นวันพญาวัน เช้าไปทำบุญที่วัดแล้วกลับมาดำหัวผู้ใหญ่ ทุกวันนี้พี่น้องลูกหลานและญาติจะมารวมตัวกันถึงเจ็ดสิบแปดสิบคน เป็นภาพที่งดงามมาก 

“ผู้ใหญ่จะนั่งเรียงกัน ลูกหลานที่อาวุโสสุดก็จะเป็นตัวแทนกล่าวขอสุมา แล้วก็ยื่นพานน้ำส้มป่อยให้ผู้ใหญ่ ท่านก็จะรับพานสุมาแล้วนำน้ำส้มป่อยมาลูบศีรษะ ชาวบ้านในชุมชนก็จะมาขอดำหัว แห่กันมาเป็นขบวน ตีฆ้องตีกลองกันสนุกสนาน เราต้องเตรียมขนมเทียนและมะม่วงดองไว้คอยรับรอง แล้วพวกเราก็ต้องเดินเป็นขบวนจากคุ้มไปแวะดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ตามที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน” คุณกมลวรรณและคุณกัญชลิกาช่วยกันเล่าเสียงใส

อีกวันคือวันไหว้ผีปู่ผีย่าที่จะจัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจะตกราวๆ เดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อสักการะดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยจะตั้งเครื่องบวงสรวงเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างครบครัน และต้องประกอบพิธีกลางแจ้งเท่านั้น ประเพณีนี้ยังคงปฏิบัติสืบมาทุกปี โดยจะจัดอย่างเต็มรูปแบบทุกๆ 3 ปี

เติ๋น เพลินอ๊กเพลินใจ๋

จากห้องผีครู เดินตามเตียวไม่กี่ก้าวก็จะสู่ด้านหลังของคุ้มที่เรียกว่า ‘เติ๋น’ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างใต้ชายคา เชื่อมอาคารทั้งปีกซ้ายและขวา ในอดีตนั้นพื้นที่จากเติ๋นจะลดระดับลงไปหนึ่งขั้นเรียกว่า ‘ข่ม’ จากข่มจึงจะลดระดับลงอีกขั้นเป็น ‘ชานจากการปรับปรุงคุ้มวงศ์บุรีครั้งล่าสุด พื้นที่ของข่มและชานได้ปรับมาอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ปัจจุบันบนเติ๋นมีตั่งตั้งอยู่ บนตั่งมีหมอนรองและหมอนอิงวางไว้ แล้วก็มีสะโตก เครื่องกระเบื้อง เครื่องเงิน ขันทอง เพื่อจำลองให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับทานอาหารและสังสรรค์ของสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อนบริวารจะต้องนั่งลดหลั่นกันลงไปบนข่มและชานเท่านั้น จะขึ้นมาบนเติ๋นไม่ได้ ด้วยถือว่าเป็นการวางตนเสมอเจ้า

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ส่วนนี้ของอาคารมีบันไดทอดจากชานลงสู่พื้นดิน บันไดนี้เรียกว่าบันไดชาน และเป็นบันไดหลักที่เจ้านายใช้ขึ้นลงคุ้ม มีตุ่มที่ใส่น้ำตั้งอยู่เพื่อล้างเท้าให้สะอาด นอกจากนี้ที่หลังคุ้มยังมีอีกบันไดหนึ่งเรียกว่าบันไดหลัง หากลงบันไดนี้ไปก็จะเจอประตูเล็กๆ อยู่เยื้องกับวัดพงษ์สุนันท์ บันไดนี้จึงเป็นทางลัดที่เจ้านายใช้เวลาเดินไปวัด

เติ๋นเป็นพื้นที่สำราญของเจ้านาย มีบันทึกว่าเจ้าบัวถาใช้เติ๋นเป็นที่นั่งทำการฝีมือเย็บปักถักร้อย จัดทำบายศรีสำหรับบูชาพระและใช้ในงานบุญ เย็บหมากจีบพลู รวมทั้งเป็นที่ฝึกหัดการฟ้อนพื้นเมืองเพื่อเตรียมแสดงในงานบุญตามเทศกาลสำคัญ เติ๋นจึงเป็นแหล่งรวมความรู้ทางศิลปะวิทยาการท้องถิ่น ในอดีตจึงมีผู้นิยมนำลูกสาวมาขัดดอก เพื่อขายให้เป็นทาสรับใช้ ด้วยรู้ว่าแม่เจ้าบัวถาเป็นผู้โอบอ้อมอารี และลูกๆ จะได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
หนังสือสัญญาซื้อขายทาส ฉบับนี้ยินยอม ‘ขายตัวเอง’ เป็นทาส

มุมหนึ่งของเติ๋นมีตู้เก็บเอกสารสัญญาซื้อขายทาสอยู่หลายฉบับ พ่อแม่ที่ขัดสนมักจะนำลูกมาขายเป็นทาสรับใช้ และเป็นการขายขาดเพียงครั้งเดียว ทาสมีทั้งหญิงและชาย ราคาขึ้นอยู่กับเพศและอายุ ทารกที่ติดตัวพ่อแม่มาหรือที่เกิดในคุ้มจะถือว่าเป็นทาสในเรือนเบี้ย และจะคงสถานะทาสตลอดไป เอกสารซื้อขายทาสในสมัยแม่เจ้าบัวถามีทั้งสิ้น 49 ฉบับ เป็นจำนวนทาส 69 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 3,142.25 บาท แต่วิถีชีวิตของทาสในคุ้มวงศ์บุรีนั้นแตกต่างจากที่อื่นโดยสิ้นเชิง เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาสได้สำเร็จใน พ.ศ. 2448 แม่เจ้าบัวถาก็ได้สนองพระบรมราโชบาย โดยมอบทรัพย์สินและที่ดินให้ทาสไปตั้งตัว แต่ทาสจำนวนมากยังสมัครใจอยู่เป็นบริวารต่อไป หลายคนได้กลายมาเป็นมิตรสนิทของทายาทวงศ์บุรีรุ่นปัจจุบัน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

สิ่งที่นำมาจัดแสดงอีกอย่างคือตู้ไม้บรรจุภาชนะเครื่องเงินฝีมือละเอียด ทั้งหมดเป็นเครื่องเงินที่มีมาตั้งแต่สมัยแม่เจ้าบัวถาและเจ้าสุนันตา ในอดีตแม่เจ้าบัวถาได้อุปถัมภ์ช่างเงินประจำคุ้มไว้ 2 คน เป็นช่างเงินฝีมือดีจากชุมชนพระนอน ซึ่งเป็นชุมชนที่ชื่อเสียงเรื่องตีเครื่องเงินมาจนปัจจุบัน หากสังเกตดีๆ จะพบเครื่องเงินสลักลายวัว อันเป็นปีเกิดของแม่เจ้า

เติ๋นในสมัยของเจ้าทองด้วงก็ยังคงเป็นแหล่งสำราญของสมาชิกในครอบครัวอยู่ โดยเฉพาะมื้อเช้าวันเสาร์อาทิตย์

“พ่อไปเรียนที่อังกฤษประมาณหกปี ท่านเลยมีความเป็นตะวันตกอยู่ด้วย ท่านชอบทำกับข้าวฝรั่งให้ลูกทาน พวกไข่ดาว ไส้กรอก หมูแฮม ขนมปัง ใช้เครื่องครัวแบบฝรั่ง ทำอาหารไปจิบไวน์ไป ถ้าพ่อทำนี่ต้องทานนะ ไม่ทานจะโกรธเอา แล้วท่านชวนเด็กคนอื่นๆ มาร่วมทานด้วย มีมีดมีส้อมเป็นเรื่องเป็นราว เป็นการหัดมารยาทบนโต๊ะอาหาร” คุณกมลวรรณและคุณสหยศรวมกันเล่าอย่างสนุกสนาน

เติ๋นยังรักษาสถานะของการเป็นแหล่งความรู้เช่นเดิม ด้วยเจ้าทองด้วงเป็นผู้รักและสนับสนุนการอ่าน

“พ่อชอบให้ลูกอ่านหนังสือเยอะๆ แล้วจะซื้อหนังสือทุกประเภท อย่างชัยพฤกษ์การ์ตูน เบบี้ หนูจ๋า การ์ตูนโดนัลด์ ดั๊ก ตู้จะเต็มไปด้วยหนังสือ พ่อไม่เคยหวง ท่านชอบให้ชวนเด็กๆ มาอ่านหนังสือกันที่นี่” คุณกัญชลิกาเล่าเสริม

ห้องบรรพบุรุษและห้องพระ

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ปีกขวาของเติ๋นยังมีห้องเล็กๆ อีก 2 ห้องที่มีความน่าสนใจ ห้องแรกคือห้องบรรพบุรุษที่ปัจจุบันเก็บรวบรวมภาพของบรรพบุรุษคุ้มวงศ์บุรีไว้ทุกคน ลูกหลานจะขึ้นมากราบทันทีที่มาถึง แต่ในอดีตห้องนี้เป็นห้องสะโตก กับข้าวที่ปรุงเสร็จร้อนๆ จะลำเลียงจากครัวด้านหลังแล้วนำมาจัดลงสะโตกให้งดงาม ต้องมีการชิมอาหารทุกชนิดด้วยช้อนเงินอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยและได้รสชาติอร่อยลิ้นก่อนนำไปตั้งยังตั่ง กับข้าวที่เจ้าทานเสร็จแล้วยังเหลือ และยังติดใจในรสชาติจนอยากนำกลับมาทานอีกในมื้อต่อไป จะลำเลียงจากตั่งกลับมาเก็บไว้ที่ห้องสะโตกนี้

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ส่วนห้องพระ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง เป็นอีกห้องที่สมาชิกคุ้มวงศ์บุรีจะต้องขึ้นมากราบเมื่อมาถึง ห้องนี้เป็นห้องเดียวที่มีลูกกรงกั้น เพราะเคยเป็นห้องเก็บหีบเหล็ก 2 ใบที่ใช้เก็บของมีค่าและเอกสารสำคัญ 

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลามีเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น เจ้าสุนันตาจะให้บ่าวมายกหีบสำคัญทั้งคู่ เพื่อลำเลียงไปยังหลุมหลบภัยที่ขุดขึ้นในบริเวณคุ้ม สมาชิกทุกคนจะวิ่งตามไปหลบภัยด้วยกัน รอจนได้ยินเสียงสัญญาณปลอดภัยจึงยกหีบเหล็กกลับมารักษาไว้ตามเดิม เวลามีเสียงสัญญาณขึ้นครั้งใด บ่าวก็จะรู้หน้าที่และรีบเร่งมาปฏิบัติภารกิจสำคัญทันที

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ของสำคัญอีกอย่างที่นำมาจัดแสดงบนฝาผนังในห้องพระคือกล้องสูบน้ำทองเหลือง นำเข้าจากจีน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟในคุ้ม แต่แม่เจ้าบัวถาได้นำมาประยุกต์เพื่อนำไปใช้สรงน้ำพระธาตุด้วย ปกติเราจะสรงน้ำพระธาตุได้เพียงฐาน ไม่สามารถสรงที่ยอดได้ ประดิษฐกรรมนี้จึงช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดี

ห้องสีฟ้า

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย
คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

และแล้วเราก็เดินวนมายังห้องสำคัญปลายปีกขวาของอาคาร ห้องนี้เป็นห้องเดียวที่มิได้ตกแต่งด้วยสีชมพู ด้วยว่าเป็นห้องนอนของแม่เจ้าบัวถาผู้ถือกำเนิดในวันศุกร์ ท่านจึงเลือกใช้สีฟ้าแทน และเป็นห้องที่ท่านสิ้นบุญด้วย เครื่องเรือนที่ตกแต่งเป็นของร่วมสมัย สิ่งที่สะดุดตาผมคือตู้เหล็กสามกุญแจซึ่งต้องใช้กุญแจถึง 3 ดอกไขพร้อมๆ กันจึงจะเปิดออกได้ สันนิษฐานว่าเป็นตู้เก็บของสำคัญในสมัยเจ้าสุนันตาและเจ้าพรหม

บนเพดานห้องนี้เจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดพอดีตัวไว้เพื่อให้สามารถปีนขึ้นไปบูชา ทำความสะอาด และสรงน้ำพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่บนห้องใต้เพดาน สิ่งสำคัญที่สุดในห้องนี้ คือภาพถ่ายแม่เจ้าบัวถาจำนวน 2 ภาพ ซึ่งระบุไว้ว่าถ่ายใน พ.ศ. 2477 เมื่อท่านอายุ 96 ปี นับเป็นภาพ Portrait ยุคแรกๆ 

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ผมรีบยกมือขึ้นไหว้ทำความเคารพภาพของสตรีผู้มีรอยยิ้มอบอุ่น ผมคิดว่าแม่เจ้าบัวถาเป็นสตรีที่ล้ำมากในสมัยร้อยกว่าปีก่อน การที่ท่านสร้างคุ้มด้วยสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนเป็นที่แรกในแพร่ การใช้สีชมพูตกแต่งอาคารจนงดงาม รวมทั้งการดัดแปลงเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอย สะท้อนให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งทราบว่าท่านต้องพยายามสานต่อกิจการของสกุลวงศ์เพื่อเลี้ยงดูคนจำนวนมาก ทั้งยังเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อทุกชนชั้นวรรณะรวมถึงทาสก็ยิ่งศรัทธา

คุ้มวงศ์บุรีกำเนิดขึ้นด้วยท่าน สืบต่อมายังลูกหลาน แล้ววันข้างหน้าล่ะจะเป็นอย่างไร

คุ้มวงศ์บุรี เพื่อเมืองแพร่จะไม่เป็นแค่เมืองผ่าน

“ช่วง พ.ศ. 2540 ผมกับคุณแม่ได้ค้นพบเอกสารที่ไม่เคยพบมาก่อน มีสัญญาซื้อขายทาส สัญญาสัมปทานป่า ผมรีบรวบรวมมาเก็บรักษาไว้ทันที วันนั้นผมตั้งใจเลยว่าจะพัฒนาคุ้มวงศ์บุรีให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ผมเชื่อว่ามีคุณค่า” ดร.ณัชนพงศ์ กล่าว

คุ้มวงศ์บุรีได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ พ.ศ. 2536 เคยเป็นสถานที่ถ่ายภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง แต่การปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ต้องใช้พลังกายพลังใจขนาดไหน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

“วันหนึ่งที่อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ มาเที่ยวแพร่ ท่านก็ขอมาเยี่ยมชม ท่านเสนอว่าบ้านหลังนี้น่าจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แบบ Living Museum ในตอนนั้นเราก็ไม่มีความรู้เลยว่าต้องทำอย่างไร ท่านได้ให้ข้อคิดที่ง่ายที่สุดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เปิดให้คนมาชมห้องต่างๆ อย่างที่เป็นเลย เราฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องที่พอเป็นไปได้

“แรกๆ นั้น บางทีนักท่องเที่ยวมาช่วงกลางวัน เรากำลังทานข้าว นักท่องเที่ยวเดินขึ้นมาเห็นเจ้าบ้านเปิบข้าวอยู่ ต่างคนต่างสะดุ้ง อ้าว พิพิธภัณฑ์นี้มีคนด้วยเหรอ แต่ก็น่ารักดีนะ คือต่างคนต่างเกรงใจ” คุณสหยศเล่าด้วยความสนุก

ด้วยสภาพอาคารที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา เมื่อตัดสินใจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วการบูรณะจึงเกิดขึ้น เริ่มจากหลังคากระเบื้องว่าว การรื้อไม้ที่ผุออกและเสริมเข้าไปใหม่ รวมทั้งการทาสีอาคารตามสีดั้งเดิมจนคุ้มวงศ์บุรีกลับมาสวยงามอีกครั้ง ส่วนสมาชิกครอบครัวที่เคยอาศัยอยู่บนคุ้ม ก็ต้องย้ายลงไปยังเรือนหลังอื่นในบริเวณเดียวกัน

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

“การเป็น Living Museum ทำให้เรามีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เขาก็เป็นเหมือนแขกของเรา ทำให้บรรยากาศอบอุ่น เขาสามารถถามข้อมูลเชิงลึกได้จากแม่ จากผม จากพี่น้อง เราตอบเขาด้วยความเข้าใจและความรู้สึก เพราะข้อมูลอยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ และสิ่งนี้ก็สร้างความสุขให้เราด้วย คุณแม่นี่เช้ามาจะแต่งตัวสวยรอรับนักท่องเที่ยวเลย ท่านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของคุ้มวงศ์บุรี เสียดายที่ท่านไม่อยู่แล้วในวันนี้” 

ทุกวันนี้สมาชิกรุ่นลูกรุ่นหลานยังประจำการอยู่ที่คุ้ม พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับครอบครัวมานานนับสิบปี ทุกคนพร้อมที่จะนำชมด้วยจิตวิญญาณดั่งเดิม นอกจากการเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้ว คุ้มวงศ์บุรียังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก บริษัทท่องเที่ยวจากยุโรปนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสม่ำเสมอ ที่คุ้มยังเปิดร้านอาหารที่ว่ากันว่าเสิร์ฟข้าวซอยอร่อยที่สุดในจังหวัด นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานที่คู่รักหลายคู่ปรารถนา

“การอนุรักษ์อาคารโบราณเป็นสิ่งที่ยากและใช้งบประมาณสูง การซ่อมแซมวัสดุทุกชิ้นต้องทำอย่างพิถีพิถันและถูกต้องตามยุคสมัย ไม่สามารถใช้วัสดุอะไรก็ได้ เราเก็บค่าเข้าชมเพียงคนละสามสิบบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษา แต่รายได้จากส่วนนี้ทำให้เราพอมีงบประมาณในการดูแลรักษาคุ้มวงศ์บุรีต่อไปได้

“แม่เจ้าบัวถาท่านเจตนาสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเป็นเรือนหอ แล้วปัจจุบันคุ้มวงศ์บุรีก็กลับไปเป็นสถานที่แต่งงานของคู่รักอีกหลายร้อยคู่ตามที่ท่านริเริ่มไว้ สิ่งที่เราพยายามทำทั้งหมด ก็เพื่อรักษาคุ้มวงศ์บุรีไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของแพร่ต่อไป เราคิดว่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของเมืองแพร่ส่วนหนึ่งอยู่ในนี้” ครอบครัววงศ์บุรีร่วมกันสรุป

การที่เกิดมาเป็นลูกเจ้านายฝ่ายเหนือ อะไรคือสิ่งที่ยึดปฏิบัติมาโดยตลอด นี่คือคำถามสุดท้ายของผมต่อทายาทคุ้มวงศ์บุรี

“พ่อสอนเราเสมอว่าลูกเกิดมามีพร้อมทุกอย่างแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เพื่อนพ่อ คนถีบสามล้อก็เพื่อนพ่อเหมือนกัน ลูกต้องห้ามดูถูกคน ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ก็ให้ทำ” คุณกัญชลิกาสรุป

ทุกวันนี้ทายาทคุ้มวงศ์บุรีพยายามริเริ่มกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ‘กาดกองเก่า’ ตลาดวันเสาร์ที่รวบรวมสินค้าและอาหารพื้นเมืองหลากชนิดมาจัดจำหน่าย จนกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่คนอยากไปเที่ยวมากที่สุด และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้จังหวัดแพร่เปลี่ยนสถานะจาก ‘เมืองผ่าน’ ไปเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การอนุรักษ์ครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเขตรั้วคุ้มวงศ์บุรี แต่ยังแผ่ขยายออกไปยังชุมชนด้วย

คุ้มวงศ์บุรี เรือนหอไม้สีชมพูอายุ 123 ปีของลูกหลานเจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย

ปุ่มบันทึกเสียงบนโทรศัพท์มือถือหยุดลงเมื่อยามโพล้เพล้ สมุดจดหมดไปหลายหน้า ผมกราบขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่านด้วยความซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง คุ้มวงศ์บุรียังคงฉายประกายงามเด่นอย่างที่เป็นมาตลอด 123 ปี แต่เรื่องราวอันเป็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ของทายาทที่ผมได้รับฟังในวันนี้ ยิ่งทำให้คุ้มหลังนี้งดงามขึ้นเป็นทวีคูณ


ขอขอบพระคุณ

  • ทายาทคุ้มวงศ์บุรีผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ทุกท่าน 
    • คุณกมลวรรณ วงศ์บุรี รุ่งเรืองศรี
    • ด.ร. ณัชนพงศ์ วงศ์บุรี 
    • คุณสหยศ วงศ์บุรี 
    • คุณกัญชลิกา วงศ์บุรี 
    • คุณศรีพนา วงศ์บุรี
  • คุณนฤมล วงศ์วาร เครือญาติคุ้มวงศ์บุรี ผู้ประสานงานการสัมภาษณ์ นักวางแผนกลยุทธ์และสถาปนิกผู้ศึกษาและอนุรักษ์เรื่องชุมชน ประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองแพร่ 
  • คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้แนะนำเรื่องคุ้มวงศ์บุรี
  • ดร. ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้ตรวจสอบต้นฉบับ โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน

เอกสารอ้างอิง

  • รายงานวิจัย โครงการวิจัยข้อมูลชุมชนเครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) คุ้มวงศ์บุรี จังหวัดแพร่ เสนอต่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยนางสุนันท์ธนา แสนประเสริฐ
  • อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุกต์ วงศ์บุรี ประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ศุภกร ยอดเมือง

จบสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. เป็นช่างภาพอิสระตั้งแต่เรียนจนปัจจุบัน เคยช่วยกิจการที่บ้าน เป็นช่างภาพแมกกาซีน ตอนนี้ทำร้านกาแฟกับโรงแรมเล็กๆ ที่แพร่ชื่อ Hug Inn Phrae และกำลังสนุกกับการเป็นพ่อลูกสอง