7 กุมภาพันธ์ 2023
925

พีท-ประณิธาน พรประภา ชายผู้สะพายย่ามและปั่นจักรยานคันโตทั่ว Wonderfruit – นั่นคือภาพที่เราเห็น แท้จริงเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืน เขาชวนผู้ร่วมเทศกาลสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับจิต และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ 

Wonderfruit 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 18 ธันวาคม ปี 2022 ก็สื่อสารเรื่องราวที่ว่าได้อย่างสนุก ไม่ขัดเขิน ผ่านศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรม จนแทบกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สมกับเป็นเทศกาลที่ผู้คนแห่แหนกันมาจากทั่วโลก ปีที่ผ่านมาคนแน่นขนัด เพราะห่างหายจากการจัดไป 2 ปีด้วยสถานการณ์โควิด-19 

เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม
เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม

“เทศกาลของผมเป็นงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์มาเจอกัน ตอนแรกคิดว่าโควิด-19 จะจบแล้ว แต่จริง ๆ ก็เป็นผลดีนะ ต้องขอบคุณเวลาที่ทำให้ผมได้คิดหลาย ๆ อย่าง ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ผมเห็นมนุษย์ ทั้งจุดดีที่สุดและแย่ที่สุด ผมเห็นคนทั้งโลกพร้อมใจกันผ่านอุปสรรค มันเป็นเหตุการณ์ที่มีความลึกซึ้งนะ นั่นคือ Wisdom ที่ดีมาก เป็นบทเรียนและความคิดนี่น่าหยิบเอาไปใช้ประโยชน์

“โควิด-19 เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจของผมค่อนข้างมาก ช่วงนั้นผมเริ่มนั่งสมาธิเยอะขึ้น เริ่มศึกษาความสัมพันธ์ที่ผมมีกับจิต (Mind) ของผมเอง มันเป็นสิ่งที่ละเอียดนะ ทุกคนมีเหมือนกันหมด แต่น้อยคนจะเฝ้าสังเกตมันจริง ๆ ผมว่าสิ่งนี้คล้ายกับธรรมชาติ มันสะท้อนถึงกัน แล้วผมจะทำยังไงให้ความสัมพันธ์นี้สนุกเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมที่ Wonderfruit ทำมาตลอด

“ผมว่า Wonderfruit มีบทบาทเยอะในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เราเป็นเทศกาลที่ทำให้คนรู้สึกว่าทุกคนก็ทำได้ ซึ่งข้อนี้คนอื่นบอกผมมาอีกทีนะ” เขายิ้มน้อย ๆ ก่อนจะพูดต่อ “ผมเลยอยากให้คนค้นพบและสนุกกับความสัมพันธ์ระหว่างจิต โดยไม่ข้องเกี่ยวกับศาสนาหรือบาป-บุญ ก็เลยหยิบวัฒนธรรม ศิลปะ และดนตรี ที่เราเรียกว่า Culture Touchpoint มาเป็นตัวเล่าเรื่องในปีนี้”

เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม
เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม

ปีที่ผ่านมา ภายในงานมีสถาปัตยกรรมและศิลปะติดตั้ง (Installation Art) กระจายทั่วพื้นที่ ผู้จัดงานบอกว่า เขาชวนสถาปนิกและนักออกแบบมาทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับช่างท้องถิ่น มาสัมผัสวัสดุท้องถิ่น มาแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่เรามีกับจิตเราเองได้ด้วย

เขายกตัวอย่างการออกแบบป่าให้เราฟัง เป็นสิ่งที่ Wonderfruit กำลังทำอยู่ตอนนี้

“ปกติมนุษย์จะดึงทรัพยากรจากธรรมชาติมาใช้ แต่ครั้งนี้ผมทำบางสิ่งบางอย่างคืนกลับธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่วิเศษมากนะ ผมไม่ได้กำลังจะปลูกป่า แต่กำลังออกแบบป่าในแบบของผมเอง 

“ในงานเรามีโซนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับ SUGi เขาเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาใช้การปลูกป่าแบบมิยาวากิ (Miyawaki Method) หาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นมาปลูก และเลียนแบบระบบนิเวศของป่า โดย SUGi เลือกปลูกเลียนแบบป่าเขาเขียว ป่าดิบชื้นผืนสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ชลบุรี ซึ่งในพื้นที่ของ Wonderfruit ปลูกไปแล้วราว 20,000 ต้น ในพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร 

“ผมไปเจอบ้านสวนออนซอน คุยกันถูกคอเลยชวนมาออกแบบป่าร่วมกับ SUGi ด้วย เราออกแบบป่าในทรงที่เราต้องการ เผื่ออนาคตจะออกแบบวิธีให้คนคอนเนกต์กับป่าในแบบของเรา ในเทศกาลปีนี้ ผมมีพื้นที่ให้คนในงานมาปลูกป่าด้วย ปีหน้าพวกคุณกลับมามันก็โตเป็นเมตรแล้ว”

เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม

นอกจาก Ancestral Forest แล้ว เขายังออกแบบประสบการณ์แบบ Interactive ให้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ด้วยการหยิบศิลปะ ดนตรี การแสดง มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ให้คนเล่นและเติบโตไปพร้อมกับป่าผืนนี้ โดยเขาชวน MSCTY_Studio ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีสตูดิโออยู่ในประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น มาสร้างประสบการณ์เสียงด้วยการติดตั้ง Sound Pod กว่า 20 จุด ในพื้นที่ของ Ancestral Forest หนึ่งในนั้นเป็นเสียงจากป่ามิยาวากิ

พีทเชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเข้าหาธรรมชาติด้วยความรัก เมื่อนั้นคนจะอยากปกป้องมัน 

เบื้องหลังการเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติของ Wonderfruit เทศกาลที่รวมศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม
คุยกับ พีท พรประภา ถึงขวบปีที่ 7 ของ Wonderfruit เทศกาลที่คนทั่วโลกรอคอย กับความตั้งใจรวมคน จิต ธรรมชาติ เข้าด้วยกัน

ปีนี้ Wonderfruit เดินทางเข้าสู่ปีที่ 8 ความคิดของพวกเขาเติบโตขึ้นทุกขวบปี

“นั่นเป็นสิ่งที่ผมพูดกับทีมงานตลอดว่า ยิ่งเราให้ Wonderfruit มากเท่าไหร่ มันยิ่งให้เราคืนอย่างมหาศาล เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ให้เพื่อนฝูง ให้ความรู้ ให้ Wisdom ซึ่งผมพยายามเล่าให้ลูก ๆ ฟังด้วย

“ปีที่ผ่านมา (2022) คนเยอะมาก ใจหนึ่งดีใจ ใจหนึ่งก็กลัว” เขาหัวเราะให้กับความตื่นเต้นของตัวเอง “ตอนนี้คนทั่วโลกรู้จักงานนี้แล้ว เขาเลยอยากมาสัมผัส ผมโชคดีที่คนเขาเชื่อในความตั้งใจของเรา ผมทำงานนี้ด้วยความรักจริง ๆ และหวังว่างานนี้จะแบ่งปันบางอย่างให้กับทุกคนได้

“อนาคตอันใกล้ ผมกำลังจะทำแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้นมา เป็นเว็บไซต์ที่จะทำให้คนทั่วโลกคอนเนกต์กับเทศกาล Wonderfruit ได้ตลอด 365 วัน เพราะผมอยากให้นี่เป็นสิ่งที่คนจับต้องได้”

เขาจบบทสนทนาถึงความเป็นไปได้ใหม่ของเทศกาลที่คนทั่วโลกรอคอย ก่อนจะสะพายย่ามและจับจักรยานคันโปรดหายเข้าไปในฝูงชน ซึ่งเขาว่าเขาแค่ขี่ เพื่อให้รู้สึกและเป็นส่วนหนึ่งกับมัน

คุยกับ พีท พรประภา ถึงขวบปีที่ 7 ของ Wonderfruit เทศกาลที่คนทั่วโลกรอคอย กับความตั้งใจรวมคน จิต ธรรมชาติ เข้าด้วยกัน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล