จับพลัดจับผลูมาอยู่ป่ายาง

ออกจากงานประจำในช่วงโควิด ระหกระเหินเดินทางออกจากกรุงเทพฯ กลับบ้านที่เชียงใหม่ ไปพักกายพักใจได้สามสี่เดือน จู่ๆ ตื่นเช้ามาในเรือนยาวบนเนินเขา ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ายางทางตอนใต้ของหาดใหญ่เสียนี่

ฉันนอนจมอยู่กับความคิด เสียงจิ้งหรีดและเสียงน้ำไหลอยู่บนห้องนอน บางครั้งก็อดคิดกลับไปไม่ได้ 

ฉันมาโผล่อยู่ตรงนี้ได้ยังไงนะ

ย้อนกลับไปสมัยอนุบาล ร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียนอยู่หลายคืน จนกระทั่งพ่อแม่ตัดสินใจเอาลูกออกมาทำโฮมสคูลเองจนถึง ป.4 ช่วงเวลาที่เรียนอยู่ที่บ้าน จำได้สนิทใจว่าฉันรักการเรียนรู้มาก กระตือรือร้นและสนใจอะไรไปหมดทุกอย่าง 

แต่พอเข้าโรงเรียน ไฟแห่งการเรียนรู้ก็ค่อยๆ หรี่ลงทีละน้อย จนถึงมหาลัย ฉันค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบการเรียนในระบบเอาเสียเลย และอยากจะหาเรื่องออกนอกกรอบอยู่เรื่อยๆ ความคิดที่จะทำงานเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกจึงติดอยู่ในใจมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง เห็นโพสต์รับสมัครคุณครูจากโรงเรียนทางเลือกเปิดใหม่ในหาดใหญ่แห่งหนึ่ง

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

ฉันนั่งว่างๆ ไม่มีอะไรทำที่บ้านอยู่แล้ว เลยลงมือเขียนอีเมลยาวยืดฉบับหนึ่ง สาธยายถึงประสบการณ์ งานอดิเรกต่างๆ นานา และความสนใจในการศึกษาทางเลือกของตัวเอง 2 เดือนหลังจากนั้น ฉันก็มาโผล่อยู่บนโรงเรียนเล็กๆ ในป่าใหญ่ กับคำนำหน้าใหม่ที่ทุกคนพร้อมใจกันตั้งให้ว่า ‘คุณครูพี่เฟิร์น’

จับพลัดจับผลูมาเป็นคุณครู

ก่อนมาเริ่มงานใหม่นี้ เพื่อนๆ หลายคนที่เคยทำงานกับเด็กๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เธอต้องได้เรียนรู้อะไรจากเด็กๆ มากมายแน่ๆ เลย” ฉันฟังหูไว้หู พยายามมีความคาดหวังให้น้อยที่สุด ก่อนวันแรกในการสอนจะเริ่มต้นขึ้น

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

เด็กๆ ปฐมวัยจะมีกิจวัตรประจำวันชัดเจน ช่วงเช้าจะเรียนรู้นอกห้องเรียนกับธรรมชาติรอบโรงเรียนนี่แหละ ทั้งการเล่นแบบอิสระและการเล่นที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรบางอย่าง คล้ายๆ กับ Forest Kindergarten ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุโรปนั่นเอง ส่วนตอนบ่าย เด็กๆ ที่ไม่นอนกลางวัน จะมีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตนเองอยากทำในมุมต่างๆ ทั้งศิลปะ ภาษา ตัวเลข ทำอาหาร หรือมุม Loose End ให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

ที่เล่ามานี่แค่คร่าวๆ เท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องการศึกษามีรายละเอียดที่ต้องเอาใจใส่เยอะมาก แนวทางการเรียนการสอนหลักของที่นี่ คือการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ผ่านการตั้งคำถามและการสืบค้น (Inquiry-based Learning) เราจะไม่ให้คำตอบกับเด็ก แต่สนับสนุนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวให้เป็น และหล่อเลี้ยงความพิศวงของวัยเด็กให้คงอยู่กับพวกเขาไปจนโต

หน้าที่หลักของครู จึงไม่ใช่การหาความรู้มาสอนเด็ก แต่เป็นการฝึกทักษะการ ‘สังเกต’ เด็กๆ โดยไม่มีการตัดสินใดๆ สังเกตทุกอย่างตามความเป็นจริงเท่านั้น อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มันไม่ง่ายเลยสักนิด เพราะมนุษย์ทั่วไป (อย่างฉัน) บ่อยครั้งจะตอบสนองกับสิ่งที่เห็นด้วยประสบการณ์เก่าของตนเองโดยอัตโนมัติ จึงต้องคอยดึงสติให้กับมีอยู่กับปัจจุบันตรงหน้านี้อยู่เสมอ

คุณครูที่นี่จึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ไม่ต่างจากเด็กๆ เลย

และหลายครั้ง การเรียนรู้ของฉัน ก็เกิดขึ้นจากการสังเกตเด็กๆ นั่นแหละ

มาเรียนรู้จากเด็กๆ

จะเรียกว่าเป็นการฝึกสติอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ที่เราต้องคอยเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ให้มองทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่มีการตัดสิน ไม่มีความลำเอียงใดๆ และเมื่อไหร่ที่การเรียนการสอนไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ สกิลล์ของการ ‘ด้นสด’ ก็ต้องถูกงัดออกมาใช้บ่อยๆ เพราะแนวทางของเราคือเอาความสนใจของเด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าพวกเขาไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เราเตรียมไว้ บางครั้งก็ต้องมาคิดกันหน้างาน ว่าพลิกสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร ให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

จะจัดการกับเด็กสองคนที่ทะเลาะกันตรงหน้าอย่างไรดี 

แล้วเราควรจะเข้าไปจัดการแทนเด็กๆ ไหม 

มีเรื่องอะไรบ้างรึเปล่า ที่ถึงเราไม่ยื่นมือเข้าไป เด็กๆ ก็จัดการกันเองได้ 

เมื่อสังเกตไปเรื่อยๆ จึงเริ่มเห็นวิธีการเลี้ยงดูของแต่ละบ้าน ซึ่งมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเด็ก ทั้งในเรื่องลักษณะนิสัย วิธีการจัดการปัญหา หรือแม้แต่ ‘การยอมรับ’ ที่ได้รับจากที่บ้านไม่เต็มที่ ทำให้พยายามเรียกร้องออกมาผ่านพฤติกรรมต่างๆ ให้คนรอบข้างมองเห็นและยอมรับพวกเขา 

พอได้เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้งเข้า หลายครั้งฉันนึกขอบคุณพ่อกับแม่ของตัวเองในใจ (และผ่านประโยคบอกเล่าทางโทรศัพท์) ด้วยความรู้สึกอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยได้เข้าใจมาก่อน จนได้มาเจอ และมาอยู่กับเด็กๆ เหล่านี้-ป๊ากับแม่เลี้ยงฉันได้ขนาดนี้ โคตรเก่งเลยว่ะ

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

นอกจากนั้น การได้อยู่กับ ‘ความใส’ ของเจ้าตัวเล็กทั้งหลาย ดึงเอาความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในใจฉันลึกๆ ออกมาอีกครั้ง ทั้งความทรงจำดีๆ หนังสือนิทานเล่มโปรดในวัยเด็ก ที่ฉันได้เอามาแบ่งปันให้พวกเขาฟัง หรือการได้กลับไประลึกถึงวัยเด็กของตัวเอง ที่ถูกพ่อแม่บังคับให้กินผักอีกครั้ง กว่าจะมาเป็นฉันผู้กินผักได้เยอะขนาดนี้ จนถึงวันนี้ก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ให้เด็กที่นี่ลองหัดกินผักดูบ้าง ซึ่งกับเด็กบางคน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย…

แต่พอได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน สมาธิที่ดีขึ้น หรือทัศนคติต่อการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตได้เป็นอย่างดี

ทั้งในตัวเด็กๆ และในตัวของครูเอง

เมื่อได้เห็นความกล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ (อย่างการเด็ดดอกไม้ป่ามากินเล่นกันอย่างสนุกสนาน) โดยปราศจากความกลัว หรือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะใสๆ ที่เกิดจากความสุขในขณะนั้น เมื่อพวกเขาได้เล่นน้ำฝนเป็นครั้งแรกในชีวิต ฉันจึงได้แต่คอยย้ำเตือนกับตัวเองว่า

‘อย่าลืมให้ความเป็นเด็กที่อยู่ในตัวเธอ ได้ออกมาใช้ชีวิตบ้างล่ะ’

มาเรียนรู้จากธรรมชาติ

บันทึกครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกในหุบเขา โอบล้อมด้วยป่ายางหาดใหญ่

ธรรมชาติรอบตัวเรา เต็มไปด้วยบทเรียนไม่รู้จบสำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตสัตว์หลากหลายชนิด แมงมุม แมงไหม คางคก ปลา กุ้งตัวจิ๋วในลำธาร หรือการเดินของมด เด็กๆ เฝ้าสังเกตกันนานอย่างไม่รู้เบื่อ 

แม้แต่มื้ออาหารแต่ละวันของพวกเรา ก็เป็นการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

เด็กเมืองหลายคนที่มาเรียนที่นี่ เคยชินกับการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด กินข้าวนอกบ้านอยู่บ่อยๆ แต่อาหารที่เราให้เด็กๆ กิน ไม่ใช่ของที่พวกเขาเคยชินเลย ทั้งผลไม้หลากหลายชนิด ขนมเค้กโฮมเมด ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้อย่างขนมปำจี ขนมโค หรือขนมดอกบัว บางอย่างคุณครูต่างพื้นที่อย่างฉันก็เพิ่งจะลองชิมเป็นครั้งแรกกับเด็กๆ นั่นแหละ

ชีวิต 1 ปีของครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกเล็กๆ ในหุบเขา เรียนรู้วิชานอกห้องเรียนไปพร้อมกันกับเด็กๆ

ส่วนอาหารกลางวัน ต้องมีผักใบเขียวทุกมื้อ พร้อมน้ำพริกกับ ‘ผักเหนาะ’ รสฝาดหลากหลายชนิด อาหารทะเลปลอดสารพิษ และไข่ไก่ออร์แกนิก มาแรกๆ ต้องปรับตัวกันอยู่บ้าง ผ่านมาไม่กี่เดือน ตอนนี้กินอาหารกันได้หลากหลาย ทั้งอาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารฝรั่ง แม้แต่อาหารอินเดีย วันไหนไปเดินป่า เจอเห็ดกินได้หรือหน่อไม้อ่อนๆ เด็กๆ ก็เก็บมาให้ป้าแม่ครัวลองทำอาหารให้กิน แถมบางมื้อยังได้ลงมือก่อไฟ ย่างปลา เจียวไข่ และหุงข้าวกินกันเองด้วย

ฉันกับเพื่อนครูอีกคนก็ไม่ต่างกัน พวกเราได้ธรรมชาติเป็นเพื่อนสนิทอีกคน แม้จะอยู่ไม่ไกลจากหาดใหญ่เท่าไหร่ แต่การเข้าเมืองแต่ละที ถ้าไม่มีรถก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กิจกรรมวันหยุดส่วนมากจึงเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ไปเดินเที่ยวตลาดนัดยามเช้าแถวบ้าน มีอาหารพื้นบ้านแปลกๆ ให้ลองชิมมากมาย พอกินอิ่มก็ไปเดินช้อปเสื้อผ้ามือสองกันต่อ แล้วเอามาอวดกัน ว่ากางเกงตัวนี้ 20 บาท เสื้อตัวนี้ 10 บาท เป็นความสุขเล็กๆ ราคาสบายกระเป๋าของชีวิตแถวนี้นี่เอง

ชีวิต 1 ปีของครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกเล็กๆ ในหุบเขา เรียนรู้วิชานอกห้องเรียนไปพร้อมกันกับเด็กๆ

แม้การได้ออกไปเที่ยวเล่นในเมืองจะช่วยเติมสีสันใช้ชีวิตได้บ้าง สุดท้ายแล้วความสงบของธรรมชาติบนเนินลูกกอ หรือ Chestnut Hill ก็เป็นที่ชาร์จพลังงานดีๆ ให้เราอยู่เสมอ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด ฟังเสียงนกร้อง น้ำไหล เดินลงบันได 77 ขั้นไปนอนเล่นบนหินก้อนใหญ่ ซึมซับเสียงลำธารรอบๆ ตัว มองดูสีของท้องฟ้ายามเย็นที่ไม่เคยซ้ำกันสักวัน ค่ำไหนโชคดีหน่อย ก็ได้นั่งจิบไวน์ลูกหม่อนโฮมเมดที่เพื่อนครูอีกคนเอามาฝาก เหม่อมองดูพระอาทิตย์ตกดิน เคล้าบทสนทนาของชีวิต ต่อด้วยการนอนดูดาวแสนสุกสกาวในคืนวันฟ้าใส

แต่ชีวิตในป่าก็ไม่ได้สุขสบายไปซะทุกวัน หลายเดือนที่ฝนตกยาวติดต่อกัน ของรักของหวงทั้งหลายที่ขนมาด้วยทยอยขึ้นรากันไปทีละชิ้น ฉันผ่านทั้งอารมณ์หงุดหงิด โมโห เสียใจ และพยายามจะต่อสู้กับธรรมชาติ (และความชื้น) จนสุดท้ายถึงได้ยอมรับว่า ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่กว่าเรามากนัก 

ฝืนไปข้างในเราก็เหนื่อยเปล่า สุดท้ายก็ต้องยอมรับ และปล่อยวางมันเสีย

ชีวิต 1 ปีของครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกเล็กๆ ในหุบเขา เรียนรู้วิชานอกห้องเรียนไปพร้อมกันกับเด็กๆ

มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

มองย้อนกลับไป ฉันเองก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน ว่าตัวเองมาเป็นครู หรือมาเป็นนักเรียนกันแน่

คงจะเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันนั่นแหละ

เป็นครู ที่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

เป็นครู ที่ไม่ได้มาป้อนความรู้ให้เด็กๆ

เป็นครู ที่มาแบ่งปันประสบการณ์

และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน

ชีวิต 1 ปีของครูอาสาที่ Wonder Valley โรงเรียนทางเลือกเล็กๆ ในหุบเขา เรียนรู้วิชานอกห้องเรียนไปพร้อมกันกับเด็กๆ

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์

กำลังเร่ร่อนไปเรื่อยๆ พร้อมกับเรียนรู้โลกและตัวเองผ่านภาษา วัฒนธรรม และผู้คนที่พบเจอ โดยมีอาหารเป็นเข็มทิศนำทางให้ได้ไปรู้จักกับสถานที่ใหม่ๆ และเป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนแปลกหน้าท้องถิ่นที่กลายมาเป็นเพื่อนกัน