14 กุมภาพันธ์ 2020
3 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

คุณวิวัฒน์ ตามี่ คือผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์

คุณวิวัฒน์ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมด้านสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ทั้งการให้ความช่วยเหลือในประเด็นสุขภาวะ การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลุ่มคนเหล่านั้นควรจะได้ หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น

แน่นอน ทุกอย่างที่คุณวิวัฒน์ทำย่อมเจอกับความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงทั้งหลายก็ไม่สามารถหยุดความมุ่งมั่นของชายผู้นี้

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณวิวัฒน์สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่กลุ่มชนเผ่าและกลุ่มคนชายขอบมากมาย ทั้งความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิที่ได้กลับคืนมาในหลายมิติจนมาถึงโครงการล่าสุดอย่างล่ามชุมชน ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมล่ามเพื่อให้บริการกับชาวเผ่าและคนชายขอบตามโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย โครงการนี้ดำเนินการมากว่า 8 ปี และมีการดำเนินงานอบรมกว่า 3 รุ่นแล้ว

ล่ามชุมชนเป็นโครงการที่เป็นโมเดลต้นแบบที่หลายหน่วยงานนำไปต่อยอด เพื่อพัฒนาการบริการให้ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มคนชายขอบ ให้ได้รับบริการที่เท่าเทียมกับบุคคลผู้ถือสัญชาติไทย และเราทราบกันอยู่แล้วว่าปัญหาสุขภาวะของคนชายขอบเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะมันสะท้อนการจัดสรรสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ นี่คือสิ่งสำคัญที่คุณวิวัฒน์พยายามเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของกลุ่มคนพวกนั้น

เพราะพื้นฐานชีวิตที่สมบูรณ์ดีพร้อม ต้องเริ่มจากการได้รับบริการทางสุขภาพที่ดีเสียก่อน

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

01

เปลี่ยนสิ่งที่ต้องเผชิญ

คุณวิวัฒน์คือคนชนเผ่าที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคนชนเผ่าในหลายประเด็น ดังนั้น เขาจึงเห็นสภาวการณ์ต่างๆ ที่ชนกลุ่มน้อยถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด

“ผมเห็นกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดสิทธิอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีป่าไม้ ถูกอพยพเพราะโดนขับไล่ ถูกจับกุม ถูกยัดยาบ้า ถูกฆ่าตัดตอน ผมอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมาตลอด พอมาเรียนหนังสือ เราก็ตั้งใจว่าจะทำงานในเรื่องนี้เท่านั้น ไม่เคยทำอาชีพอื่นเลยนะ แล้วก็ได้เข้ามาทำงานเต็มตัวเมื่อตอน พ.ศ. 2541 ถึง 2542” คุณวิวัฒน์เกริ่นที่มาในการทำงานเพื่อเคลื่อนไหวสิทธิของกลุ่มคนชาติพันธุ์และชายขอบ

“แล้วคุณไม่กลัวเหรอ เพราะงานที่คุณทำมันเสี่ยงต่อชีวิตมากเลยนะ” ฉันสงสัย

“กลัว” คุณวิวัฒน์ตอบก่อนเราทั้งสองจะหัวเราะลั่นออกมา

“ตอนนั้นชาวบ้านพึ่งพาใครไม่ได้เลย แม้กระทั่งในแง่กฎหมาย พึ่งพาใครได้ยาก ผมก็เลยบอกว่า เราต้องรวมตัวพึ่งพาตัวเอง ซึ่งถ้าวันหนึ่งเรามุ่งมั่นตั้งใจทำ คนอื่นเขาจะมาช่วยเราเอง และนั่นคือที่มา แล้วเป็นเรื่องจริงด้วย ผมก็ทำทุกเรื่องตั้งแต่สมัยที่นโยบายปราบปรามยาเสพติดฆ่าตัดตอน ผมก็ทำ คนอื่นเขาไม่ทำเขากลัว แต่ไม่ใช่เราไม่กลัวตาย เราก็กลัวเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้มันก็ไม่ได้” คุณวิวัฒน์ตอบคำถามของฉัน

อย่างที่เราเห็นกันในพื้นที่สื่อ คนกลุ่มชาติพันธุ์และชายขอบต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมและการถูกกลั่นแกล้ง กดขี่ รังแกเป็นอย่างมาก สิ่งที่คุณวิวัฒน์หยิบจับเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้นมีหลายมิติ ทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านสัญชาติในแต่ละบุคคลทั้งกรณีป่าไม้ ที่ดิน หรือการไม่ได้รับความเป็นธรรมในสิทธิขั้นพื้นฐาน

การที่คุณวิวัฒน์ยืนหยัดมากว่า 20 ปีเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ คือความตั้งใจที่แน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณวิวัฒน์สวมตัวเองอยู่ในหลายบทบาททั้งประเด็นทางสังคม สิทธิ เสรีภาพ และสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มคนชาติพันธุ์ได้รับสิทธิน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนไทยด้วยกันเอง

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

02

สุขภาพคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

อย่างที่บอกไปข้างต้น สุขภาพที่ดีย่อมนำมาสู่ปัจจัยการได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กับกลุ่มชาติพันธุ์ กลับไม่ได้รับสวัสดิการในการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น

ย้อนกลับไปตั้งแต่พ.ศ. 2545 ที่ประเทศไทยได้รู้จักกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งมีเพียงบุคคลที่ถือสัญชาติไทยเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการรักษานี้ หากแต่ประชากรอีกหลายแสนคนที่พำนักในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย กลับไม่ได้รับสิทธินี้

“ใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพระบุเอาไว้ว่า คนที่จะได้สิทธิรักษาต้องเป็นคนที่ถือสัญชาติไทยเท่านั้น คนไม่มีสัญชาติไม่มีสิทธิ ซึ่งมันไม่ยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้มันยืดเยื้อกันมาเกือบสิบปีที่คนไร้สัญชาติกว่าแสนคนไม่มีสิทธิอะไรเลย และมันส่งผลกระทบทำให้โรคระบาดสิบโรคที่หายไปจากประเทศไทยอาจกลับมาระบาดได้อีกครั้ง รวมทั้งหนี้สินที่โรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกรับเอาไว้” คุณวิวัฒน์อธิบาย

เพื่อให้บุคคลไร้สัญชาติได้สิทธิเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยทุกประการ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับคนไร้สัญชาติ ซึ่งมีหลายกำลังที่ผลักดันให้กองทุนนี้เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มคนชนเผ่าและคนชายขอบไร้สัญชาติกว่า 208,000 คนได้สิทธิคืนกลับมา ทั้งความพยายามของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คุณวิวัฒน์มีบทบาทอยู่ในองค์กร รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น หรือความเคลื่อนไหวจากบุคลากรทางการแพทย์ คือ กลุ่มเครือข่ายหมอชายแดนที่เล็งเห็นความสำคัญของการให้สวัสดิการที่เท่าเทียมและทั่วถึง ทำให้ความพยายามที่ยืดเยื้อกว่าทศวรรษสำเร็จลงได้

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

แต่ความพยายามเหล่านี้ยังไม่บรรลุทั้งหมด เนื่องจากยังมีประชากรในบัญชีคงค้างกว่า 400,000 คน รวมถึงเด็กและเยาวชนอีกกว่า 70,000 คนที่ไม่มีสัญชาติที่ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ ซึ่งยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่จะทำให้การโอนถ่ายสิทธิดังกล่าวบรรลุอย่างครบถ้วน

แต่คุณวิวัฒน์บอกฉันว่า พันธกิจโอนย้ายสิทธินี้คงสำเร็จลงได้ในเร็ววัน

03

การบริการที่ (ไม่) เท่าเทียม

เมื่อได้สิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลคืนกลับมาให้คนชนเผ่า ปัญหาเหมือนจะจบอยู่แค่นั้น ยังมีปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข้เพื่อให้กลุ่มชนเผ่าและคนชายขอบได้รับบริการทางสุขภาพที่ดีที่สุด คือการทำความเข้าใจในสิทธิที่ชาวบ้านจะได้รับในการบริการสุขภาพ

“หลังจากที่นโยบายรองรับแล้ว ปรากฏว่าชาวบ้านไม่รู้ว่ามีนโยบายคืนสิทธิ ไม่รู้ว่าหลักประกันสุขภาพมีกี่แบบ กี่ชนิด ซึ่งมาจากการกระจายข้อมูลอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้ชาวบ้านลงทะเบียนใช้สิทธิน้อยมาก” คุณวิวัฒน์ขยายความ 

และเมื่อคนชนเผ่าเข้าไปรับบริการสุขภาพที่โรงพยาบาล พวกเขากลับพบอุปสรรคใหญ่ที่ยากเกินกว่าจะให้การรักษาสำเร็จลุล่วง

นั่นคือกำแพงด้านภาษา

โดยปกติ เมื่อเข้ารับบริการในโรงพยาบาลจะมี 3 จุดบริการสำคัญที่ต้องผ่านคือ หนึ่ง จุดคัดกรองคนไข้ สอง จุดบริการหรือการพบคุณหมอเพื่อซักถามอาการและตรวจวินิจัย และสุดท้ายคือ จุดจ่ายยา การรับบริการทั้ง 3 จุดมีความสำคัญต่อการรักษาและรับบริการอย่างมาก ดังนั้นกำแพงด้านภาษาที่คนชนเผ่ามีต่อบุคคลากรทางการแพทย์จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ถูกจุด ส่งผลต่อการรักษาที่ถูกต้อง แม่นยำ และต่อเนื่อง

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

“ถ้าจุดคัดกรองคุยกับคนไข้ไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่เข้าใจ ทำให้ข้อมูลของคนไข้ผิด นี่เป็นปัญหาอีกอันหนึ่ง ยิ่งผ่านคัดกรองเสร็จ สื่อสารกันไม่ได้ คุณหมอก็จะเดาๆ จนไปถึงตอนจ่ายยา จุดนี้ก็มีปัญหามาก เพราะจ่ายยาไปให้คนไข้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะกินยังไง บางทีจ่ายยาให้ผิด กินยาผิดเพราะอ่านหนังสือไม่ออกแล้วไม่มีใครคอยอธิบายให้ ผลของการกินยาผิดตามการสั่งจ่ายมันเสี่ยงต่อสุขภาพ” คุณวิวัฒน์ขยายความปัญหาให้ฉันฟัง

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

ปัญหาทั้งหมดทำให้คุณวิวัฒน์ในนามกลุ่มเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เพื่อเริ่มโครงการอบรมล่ามอาสา โดยเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับแพทย์ พยาบาล หน่วยงานสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม ซึ่งหลอมรวมกับกลุ่มนักกิจกรรมให้กลายเป็นหลักสูตรที่ต้อนรับบุคคลจิตอาสาที่มีความตั้งใจอยากร่วมงานล่ามเข้าอบรม โดยมีคุณสมบัติ คือต้องมีใจในการทำงานจิตอาสาเพราะไม่มีค่าตอบแทน มีเวลา สื่อสารได้ดีทั้งภาษาไทยและภาษาชนเผ่าของตน ซึ่งปัจจุบันโครงการล่ามชนเผ่าดำเนินการกับกลุ่มชนเผ่าทั้งหมด 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลีซู ลาหู่ กะเหรี่ยง และไทใหญ่

แต่การอบรมนั้นมีความเข้มข้นและซับซ้อนในการเรียนรู้ความรู้ทางการแพทย์ทั้งศัพท์แสงเชิงเทคนิคหรือองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ ซึ่งอาจทำให้ผู้สมัครต้องบอกลาโครงการไปก่อนเวลาที่เหมาะสมบ้าง แต่ยังมีสมาชิกในรุ่นที่หนึ่งยังทำงานอย่างแข็งขันอยู่ที่โรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

04

สื่อสารได้ รักษาได้ ชีวิตดีขึ้นได้

ปัจจุบันโครงการล่ามชุมชนดำเนินกิจกรรมมาถึงการฝึกอบรมล่ามรุ่นที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมมือโครงการ ซึ่งใช้งบกองทุนเสริมสุขภาพตำบลในการดำเนินงาน

จากการพัฒนาโครงการล่ามชุมชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้กลายเป็นโมเดลที่มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ นำไปต่อยอดและปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งการขยายผลจากล่ามบริการในโรงพยาบาล เป็นล่ามในกระบวนการยุติธรรมร่วมกับศาลเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีการเกิดคดีพิพาทและปกป้องสิทธิทางกฎหมาย

แต่การดำเนินงานใดๆ ย่อมมีอุปสรรค และนั่นไม่ใช่ข้อยกเว้นของโครงการล่ามชุมชน

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

“เราคิดอยู่ตลอดว่าเราจะพัฒนาโครงการอย่างไร เพราะต้องยอมรับก่อนว่า อาสาสมัครล่ามชุมชนไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เพราะเขาต้องไปประกอบอาชีพอื่นด้วย ทำให้บางคนก็อาจมีเวลาว่างให้เราน้อยลง เพราะแบบนี้เราเลยคิดว่าจะพัฒนาล่ามชุมชนให้อยู่บนโทรศัพท์มือถือ ถ้ามีจิตอาสาที่เข้าร่วมอบรมกับเราได้โดยตรง เราก็มีใบประกาศนียบัตรให้ ซึ่งสมัครออนไลน์ก็ได้ ถ้าหากโรงพยาบาลต้องการตัวล่าม ก็โทรติดต่อทั้งเสียงหรือวิดีโอคอลก็ได้ ซึ่งเรามีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันให้ล่ามอาสาทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งตอนนี้เรามีแผนที่จะร่วมมือกับเครือข่ายโทรศัพท์ เพราะถ้ายิ่งทำแบบนี้ เราอาจจะได้อาสาสมัครมากขึ้น” คุณวิวัฒน์เล่าถึงอุปสรรคและแนวทางการพัฒนาโครงการล่ามชุมชนในอนาคต

“แล้วโครงการล่ามชุมชนที่คุณดำเนินงานมาตลอด ทำให้คุณภาพชีวิตของคนชายขอบดีขึ้นอย่างไรบ้าง” ฉันถามคำถามสุดท้ายกับคุณวิวัฒน์

“พูดได้เต็มปากเลยว่าดีขึ้น เพราะมีช่องทางการสื่อสารที่ให้เข้าใจมากขึ้น ตัวล่ามจิตอาสาไม่ได้แค่ไปช่วยสื่อสารทางภาษาอย่างเดียว แต่ไปสื่อสารเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน หลักประกันสุขภาพต่างๆ และอีกอย่างที่ดีขึ้นคือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ซึ่งดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งบวกกับนโยบายของรัฐในช่วงหลังๆ นี้ อีกอย่างหนึ่งที่จะเป็นผลอย่างยั่งยืนนั่นก็คือการที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการในระดับชาติตรงนี้ เราก็เสนอปัญหากับกรรมการกองทุนให้มีนโยบาย มีมาตรการรองรับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และประชาชนก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ส่วนที่ยังต้องพัฒนาคือการปรับทัศนคติของผู้ได้รับสิทธิให้เข้าใจในเรื่องสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น” คุณวิวัฒน์ตอบคำถามของฉัน

วิวัฒน์ ตามี่ คนชนเผ่าที่ทำโครงการล่ามชุมชนเพื่อช่วยให้คนชนเผ่าในเชียงรายเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

ภาพ : ศรายุธ ชัยรัตน์, วิวัฒน์ ตามี่

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co