“ไม่แน่ใจว่าเราเหมาะจะให้สัมภาษณ์หมวดธุรกิจไหมนะ เพราะเราไม่ได้มองหากำไรสูงสุดเท่าไหร่” เสียงปลายสายโทรศัพท์ย้ำเตือนผมด้วยความหวังดี ระหว่างเราพูดคุยเพื่อขอนัดสัมภาษณ์

อาจดูขัดตำราที่ร่ำเรียนมาไม่น้อย เพราะการประกอบกิจการใดก็ควรแสวงหากำไรไม่ใช่หรือ

ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ

แต่สำหรับ ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ สองอาจารย์แห่ง International Program in Communication Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง ‘witti.studio’ (อ่านว่า วิท-ตี้ สตูดิโอ) ครีเอทีฟสตูดิโอขนาดกะทัดรัดแสนอบอุ่นย่านสุขุมวิทที่ให้บริการออกแบบและพิมพ์งานด้วยเครื่อง Risograph พวกเขาเห็นต่างออกไป

สิ่งสำคัญสำหรับทั้งสองคือการแก้ปัญหาให้ผู้คนผ่านงานดีไซน์ที่พวกเขาหลงรักและมีความสุขในการตื่นขึ้นมาทำทุกวัน พร้อมได้ฝึกปรือเพิ่ม ‘ความเชี่ยวชาญ’ เฉพาะตัว ที่ผึ้งบอกว่าสกุลเงินใดในโลกนี้ก็ใช้แลกไม่ได้

witti.studio

นอกจากตัวตนและฝีมือของทั้งคู่ที่น่าสนใจแล้ว เรื่องราวของ Risograph และอุปกรณ์ที่ข้องเกี่ยวก็สะกดเราไว้ได้ไม่แพ้กัน ด้วยเสน่ห์ในการผลิตสิ่งพิมพ์นานาชนิด รวมถึงถุงใส่ขนม ซองผ้าป่า การ์ดแต่งงาน ให้คนไม่กล้าทิ้ง ชนิดที่โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่ค่อยทำกัน แถมยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสุดๆ

“ตั้งแต่เปิดสตูดิโอมา เรามีความสุขมากขึ้นนะ” สันติยิ้มเมื่อเล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่นี้

ทำไมการเปิดสตูดิโอสิ่งพิมพ์ทางเลือกในยุคที่ใครๆ ต่างบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ถึงเป็นความสุขของชีวิตการทำงานได้ แถมยังเติมเต็มหัวใจคนและโลกใบนี้ได้อย่างดีอีกต่างหาก

หากสงสัยเหมือนกัน ขอชวนทุกท่านจับจองที่นั่งตามสะดวก แล้วมาร่วมเป็นนักเรียนของสตูดิโอแห่งนี้ไปพร้อมกับเรา

01

พิมพ์เพื่อเรียนรู้

“ถ้าเราอยากมีความรู้ ต้องลงมือทำเอง” ผึ้งเล่าเคล็ดลับวิชาแรกให้เราฟัง

witti.studio เริ่มก่อตัวเป็นความฝันของผึ้งและสันติเมื่อ 3 ปีที่แล้วขณะเป็นอาจารย์ แม้ทั้งคู่มีประสบการณ์ช่ำชองด้านสิ่งพิมพ์และการออกแบบจากการเรียนและทำงาน แต่ต่างอยากพัฒนาทักษะขึ้นไปอีก หนึ่งคือ ได้ทดลองเรียนรู้กระบวนการใหม่ในการสร้างสรรค์งานคุณภาพดี สองคือ ถ่ายทอดการเรียนรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ต่อไปได้

ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ

สิ่งที่สะกดความสนใจทั้งคู่ไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่แปลกตาแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์แบรนด์ญี่ปุ่นหน้าตาคล้ายคลึงเครื่องถ่ายเอกสารสำนักงานอย่าง Risograph ที่มีตั้งแต่ยุค 80 และยังพัฒนาอยู่จนถึงทุกวันนี้

จากการค้นคว้าอย่างหนัก พวกเขาได้รู้จัก Risograph อย่างลึกซึ้งและเห็นถึงศักยภาพในการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบเพื่อทำให้ชีวิตคนดีขึ้น

“งานออกแบบเป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้ตอบโจทย์คน ถ้ามีงานหลากหลายเข้ามา เราก็ต้องช่วยคนอื่นแก้ปัญหา ตั้งแต่จะทำอะไร พิมพ์ยังไง ใช้สีแบบไหน มีงบเท่านี้ ทำนามบัตรแบบนี้ได้ไหม อยากได้แบบนี้ ทำได้หรือเปล่า นี่เป็นปัญหาที่เราแก้ได้ด้วยการออกแบบ” สันติเล่า นอกจากเพื่อเรียนรู้แล้ว พวกเขาคิดว่า เครื่อง Risograph และประสบการณ์การออกแบบที่มี เมื่อมาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนได้

witti.studio

ไม่รอช้า เมื่อถึงเวลาเหมาะสม ทั้งคู่ซื้อ Risograph มาไว้คู่ใจ ลงหลักปักฐานและแปลงโฉมพื้นที่ให้กลายเป็นทั้งห้องทดลองส่วนตัวและสตูดิโอบรรยากาศน่ารัก ต้อนรับผู้คนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้เริ่มจากการขวนขวายหาความรู้พร้อมส่งต่อประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

02

พิมพ์เพื่อเติมเต็มความฝัน

Risograph ผลิตครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยามผู้คนหมดหวัง

Riso แปลว่า อุดมคติ ตามความตั้งใจของผู้ผลิตที่อยากสะท้อนความหวังให้แก่ผู้คน ไม่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ตัวเครื่องได้รับการออกแบบอย่างประณีตราวกับที่เราใฝ่ฝันเห็นในอุดมคติ

เรียบง่ายด้วยการผสมผสานระหว่างกระบวนการแอนะล็อกและดิจิทัล และต้นทุนการพิมพ์ไม่สูง Risograph ออกแบบรองรับการพิมพ์ปริมาณมาก แต่ไม่มากถึงขนาดโรงพิมพ์อุตสาหกรรม ด้วยความเร็วในการพิมพ์สูงถึง 150 แผ่นต่อนาที ทำให้คนสามารถพิมพ์ผลงานของตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งโรงพิมพ์

witti.studio

“ตอนแรกเราคิดว่าคนที่เข้ามาพิมพ์งานกับเราน่าจะเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ แต่กลายเป็นว่าเราเจอกลุ่มคนอีกแบบที่ปกติไม่เจอในวงการและห้องเรียน เช่นคนทั่วไปที่อยากพิมพ์โปสการ์ดหรืองานแฟนอาร์ตสวยๆ ของตัวเอง เคยมีคนสั่งพิมพ์จากเชียงใหม่ด้วย” ผึ้งเล่าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ที่พบเจอจากพื้นที่นี้

“จริงๆ คนพิมพ์วิธีการนี้กันมานานแล้ว แต่มักอยู่ในกลุ่มศิลปิน โซเชียลมีเดียทำให้คนทั่วไปได้เห็นผลงานต่างๆ ในโลกมากขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สตูดิโอที่พิมพ์ด้วย Risograph ก็มีมากขึ้น แม้คนจะบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตายเพราะดิจิตอล แต่ Risograph มีลักษณะพิเศษของตัวเองที่คนตามหาอยู่” สันติเสริมถึงความหวังของสิ่งพิมพ์ทางเลือกที่มีคนไม่น้อยยังต้องการอยู่ 

“สิ่งที่นิยมมากๆ สักพักก็มีลดน้อยลงบ้าง สิ่งที่เป็นทางเลือกก็จะได้รับความนิยมขึ้นมา เหมือนกล้องฟิล์มที่เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนกลับมาใช้ บางอย่างก็ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้”

ตราบใดที่คนยังใฝ่ฝันถึงการสร้างศิลปะอันสวยงาม คงยากที่ Risograph จะเลือนหายไป

03

พิมพ์เพื่อรักษาสิ่งสำคัญ

ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือความพิเศษสำคัญของ Risograph ที่เหนือกว่าการพิมพ์ธรรมดาทั่วไป 

เครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสารโดยทั่วไปใช้โทนเนอร์เป็นผงหมึก ต้องใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการ ทำให้ผลงานมีความร้อนและกลิ่นหมึกติดมาด้วยเมื่อออกจากเครื่อง ซ้ำร้ายยังมีไอระเหยเป็นพิษอันตรายต่อผู้สัมผัสหมึกระหว่างกระบวนการพิมพ์

Risograph เล็งเห็นข้อด้อยนี้และคิดต่างออกไป โดยใช้หลักการอิมัลชัน ผสมหมึกจากน้ำและน้ำมันผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ เพื่อให้ได้หมึกคุณภาพดีที่คงทนและไม่เป็นอันตราย เดิมใช้ถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมหลัก แต่ผู้ผลิตยังคิดต่อว่าการผลิตหมึกโดยใช้ถั่วเหลืองต้องผ่านการนำเข้าและสร้างมลพิษทางอากาศ ภายหลังจึงเปลี่ยนมาผลิตโดยใช้น้ำมันรำข้าวภายในประเทศญี่ปุ่น

“เราเห็นว่าคนที่คิดค้นเครื่องมือนี้คิดมาอย่างละเอียดมาก พอซื้อมาใช้งานเองเราก็สบายใจ กระบวนการเราจะได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย” ผึ้งเล่าถึงความประทับใจในรายละเอียด

นอกจากนี้ หลอดบรรจุหมึกของ Risograph ยังถูกออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ตามวิถีธรรมชาติ ทิ้งไว้แล้วย่อยสลายได้เอง และยังลดการผลิตแม่พิมพ์จากโลหะของกระบวนการทางอุตสาหกรรมปกติเพราะ Risograph ใช้กระดาษไขซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุสำหรับการพิมพ์งาน โดยเส้นใยของกระดาษไขทำจากพืช เช่นต้นไม้ญี่ปุ่นอย่างวาชิที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติอีกเช่นกัน

“พอเราได้รู้เรื่องเหล่านี้ยิ่งตื่นเต้นเลย ทำไมคิดได้ละเอียดขนาดนี้ ต่อให้ต้องซื้อโดยราคาสูงขึ้นหน่อย เราก็ซื้อ เพราะมันมีคุณค่า” ผึ้งเน้นย้ำ

ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ ทำให้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคติดต่อให้ witti.studio สร้างสรรค์ผลงานบรรจุภัณฑ์ให้ด้วย เพราะหลักการสอดคล้องกับปรัชญาของแบรนด์เหล่านั้น

ปรัชญาที่ว่าการผลิตของที่ดี ไม่จำเป็นต้องทำร้ายโลกใบนี้ก็ได้

04

พิมพ์เพื่อเป็นสีสันของชีวิต

ในการพิมพ์ สีเป็นเรื่องสำคัญ หากผิดเพี้ยนไปเล็กน้อย คุณภาพผลงานในสายตาคนจะไม่เหมือนเดิม

การพิมพ์ทั่วไปใช้หลักการผสมสีพื้นฐานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สีต่างๆ พิมพ์รอบเดียวก็ได้สีหลากหลายตามต้องการ ส่วน Risograph พิมพ์ได้รอบละสีเท่านั้น หากจะเปลี่ยนสี ต้องนำกระดาษเข้าไปในเครื่องใหม่เพื่อพิมพ์สีอื่นทับลงไป และหากต้องการพิมพ์สีใหม่ต้องสั่งซื้อสีนั้นๆ โดยเฉพาะด้วย

แม้ใช้เวลามากและต้องลงทุนเยอะขึ้นหากอยากพิมพ์สีสัน แต่ภาพที่ได้มีลูกเล่นของสีประกบซ้อนทับกันและพิมพ์สีเดียวให้มีเฉดหลายระดับได้ การพิมพ์ทั่วไปไม่ได้ทำสิ่งนี้กันได้ง่ายๆ

“จุดเด่นของ Risograph คือความไม่สมบูรณ์แบบ เครื่องนี้ทำของที่เพอร์เฟกต์ไม่ได้ บางทีตัดกระดาษมาไม่เท่ากันหรือแรงดูดกระดาษแต่ละแผ่นไม่เท่ากัน แต่ละแผ่นพิมพ์ออกมามีโอกาสไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเป็นเสน่ห์นะ” สันติกล่าว

witti.studio

ใครที่อยากพิมพ์ภาพแบบ Risograph ต้องเตรียมไฟล์ในฝันเป็นสีขาวดำและแยกเลเยอร์ของสีต่างๆ ที่ต้องการให้เรียบร้อย แล้วอดใจรอเครื่องพิมพ์สีสันหลายเฉดลงไป หรือหากอยากได้ผลงานผ่านฝีมือปลายนิ้ว วาดภาพแล้วนำมาพิมพ์สีก็ได้เช่นกัน

ด้วยขั้นตอนที่แตกต่างในการพิมพ์ สิ่งที่ผึ้งและสันติทำนอกจากการพิมพ์คือการอธิบายเพื่อให้คนเข้าใจถึงการทำงานของตัวระบบ ทำให้คนเห็นภาพถึงความเป็นไปได้มากกว่าที่เขาเคยคิด

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ Risograph ผลิตสีพิเศษสวยเกินหักห้ามใจใหม่ๆ เสมอ ชวนให้สั่งซื้อเพิ่มเพื่อมาทดลองอยู่เรื่อยๆ หากใครอยากสร้างสรรค์สีที่แตกต่างบนภาพพิมพ์อย่างสีทอง สีฟลูออเรสเซนต์สะท้อนแสงในความมืด ความฝันนั้นเป็นจริงได้ด้วยเครื่องนี้

witti.studio

“ความฝันของเราคือมีสีเยอะๆ ครั้งหน้าถ้าแวะมาเยี่ยมอีกอาจมีสีใหม่แล้ว น่าตื่นเต้นนะ เหมือนได้ของเล่นแบบเด็กๆ ไม่ได้รู้สึกแบบนี้มานานมาก” ผึ้งตอบเรื่องสีเป็นอันดับแรก เมื่อเราถามถึงความฝันขั้นต่อไปของ witti.studio

“อาทิตย์ก่อนสีเมทาลิกโกลด์พึ่งมา ตื่นเต้นมาก เพราะสวยมาก” สันติหยิบผลงานการทดลองชิ้นใหม่ให้เราดูด้วยแววตาเป็นประกาย

ทั้งคู่หลงรักชีวิตที่อยู่กับสีสันเหล่านี้อย่างสุดหัวใจ

05

พิมพ์เพื่อทำให้หัวใจเต้นแรง

นอกจากสีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับงานพิมพ์ กระดาษถือเป็นพระเอก หากมีแต่เครื่องและหมึก ไม่มีกระดาษรองรับจินตนาการก็ไร้ประโยชน์

ที่ witti.studio กระดาษไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

สันติหยิบแฟ้มรวมผลงานเปิดให้เราดู ทุกหน้าล้วนเนื้อหาเหมือนกัน แต่หากสังเกตให้ดีแล้ว ทุกหน้าใช้กระดาษที่แตกต่างกัน

witti.studio

“แฟ้มนี้เราทดสอบกระดาษสีขาว เราพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินแบบเดียวกันหมดด้วยฟอนต์ที่หลากหลาย เพราะเราอยากทดสอบว่าฟอนต์บางมากๆ พิมพ์บนกระดาษแบบนี้เป็นอย่างไร มองเห็นไหม กระดาษแต่ละตัวซึมหมึกได้ไม่เหมือนกัน กระดาษสีพื้นต่าง เวลาพิมพ์จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน หมึกชมพูอยู่บนกระดาษสีเหลืองก็กลายเป็นสีแดงได้ ความสนุกคือเราได้ทดลองและเก็บข้อมูลใหม่ๆ ตลอด” สันติอธิบายประกอบ

ด้วยความไม่แน่ไม่นอน ไม่อาจคาดหวังความสมบูรณ์จากการพิมพ์แบบนี้ ช่วงเวลาที่น่าลุ้นระทึกที่สุดคือตอนกระดาษแผ่นแรกของการพิมพ์ออกมาจากเครื่อง

witti.studio

“ผมชอบตอนกระดาษแผ่นแรกออกมาจากเครื่องมากที่สุด เพราะบางทีสิ่งที่เราเห็นในหน้าจอกับที่พิมพ์ลงบนกระดาษไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิงเลย เราลุ้นมากว่าจะออกมาเป็นยังไง” สันติเล่าเพิ่มถึงช่วงเวลาที่ชอบที่สุดในการพิมพ์งาน

เราเห็นด้วย เมื่อทดลองพิมพ์งานชิ้นใหม่ให้เราดู เสียงกระดาษที่ออกมาจากเครื่องพิมพ์ใบแรกทำให้หัวใจเราเต้นแรง

และด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดของทั้งสอง witti.studio พิถีพิถันไม่เพียงแต่เลือกกระดาษให้เหมาะสมกับงาน แต่ต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอีกเช่นเคย

“เราไม่ได้เลือกแค่กระดาษแผ่นที่สวย เราอ่านด้วยว่าทำจากอะไร เสร็จแล้วสั่งมาทดสอบ เวลามีงานเข้ามาเราจะหากระดาษที่มีลักษณะเหมาะกับงาน” ผึ้งเล่าขณะเปิดแฟ้มไปยังหน้ากระดาษเปเปอร์มิลค์ที่เส้นใยมีส่วนผสมของมิลค์ไฟเบอร์สีละมุนตา

06

พิมพ์เพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่างบนโลกใบนี้

หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของ witti.studio คือการทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจงานออกแบบที่ดีและมีคุณค่า หากเป็นไปได้ พวกเขาก็อยากให้คนมองสิ่งรอบตัวและทำสิ่งต่างๆ ให้ประณีตและละเอียดมากขึ้น 

“เราอยากให้ทุกคนเข้าถึงงานออกแบบได้ เพราะงานออกแบบควรเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น ของควรมีความสวยงามที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ถ้าดีต่อสุขภาพและโลกยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย” สันติเล่า แนวคิดนี้ทำให้ witti.studio พยายามคิดค่าผลงานอย่างย่อมเยาเป็นกันเอง และเปิดเวิร์กช็อปให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ลงมือสัมผัสกระบวนการอย่างแท้จริง

“คำว่าออกแบบอาจดูน่ากลัวสำหรับคนบางกลุ่ม คนจะคิดว่าแพง ต้องมีดีไซเนอร์ เกินความจำเป็น แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ ทุกอย่างเป็นการออกแบบอยู่แล้ว ถ้าเข้าใจหลักการทำให้ชีวิตดีขึ้นได้เลย เพียงแต่เราอาจห่างกันไปบ้างเท่านั้นเอง เราอาจขาดช่วงเวลาที่ทุกคนหันหน้าเข้าหากันแล้วมาออกแบบเมืองของเราให้ดีขึ้น เราอยากให้คนเห็นว่าชีวิตต้องมีความละเอียดต่อสิ่งรอบตัวมากขึ้น” ผึ้งบอกเล่าถึงแก่นแท้ของงานออกแบบ แค่คิดก็น่าตื่นเต้นแล้ว หากเราต่างมองชีวิตด้วยความละเอียดลออและเข้าใจมากขึ้น สังคมจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด

แต่เรายังสงสัยอยู่ดี การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นจะเกิดขึ้นกับสังคมให้เราได้เห็นทันหนึ่งช่วงชีวิตนี้หรือ

ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ

“เราทำ แต่ไม่ได้คาดหวังนะ แค่ตอนทำมีความสุขก็พอแล้ว ของบางอย่างอาจไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเรา เราแค่ต้องทำให้ดีที่สุดแล้วก็ไม่ยอมแพ้ ซึ่งแน่นอนว่าทำแบบนี้ไม่ง่าย ทุกอย่างต้องผ่านการทำงานหนัก แต่โชคดีว่าสิ่งที่เราทำงานหนักเป็นสิ่งที่เรารัก… อาจเรียกได้ว่าเป็นคำตอบของการดำรงอยู่เลย” ผึ้งตอบ

“สำหรับเรา ที่นี่เป็นมากกว่าร้าน มากกว่าธุรกิจ ที่นี่คือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการทดลองสำหรับพิมพ์สิ่งพิมพ์เพื่อลับคมตัวเอง และพิมพ์เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนอื่น” สันติเสริมด้วยรอยยิ้ม

จนถึงบรรทัดนี้ นี่เป็นบทความธุรกิจที่ไม่มีคำว่าลูกค้าเลยสักคำ ทั้งสองคนไม่ได้มองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ในทางการค้าเท่าไหร่นัก พวกเขามองว่าเราเป็นคนที่มาช่วยสร้างสรรค์ผลงานและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ถึงตราตรึงใจผู้ที่แวะเวียนมาจนเก็บรักษาไว้อย่างดีไม่กล้าทิ้ง

07

พิมพ์เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าและความสุข

“การเป็นครูทำให้เงินไม่ได้เป็นทรัพย์สมบัติขนาดนั้น ถ้าไปยืนอยู่หน้าห้องแล้วไม่มีวิชาจะสอน อันนั้นทำให้ชีวิตอับจนกว่า เราเลยไม่ได้อยากได้เงินเยอะ สิ่งที่เราได้มากกว่าเป็นกำไรที่มองไม่เห็น คือความชำนาญที่ทำให้เรากับสันติมีชีวิตและมีคุณค่า” ผึ้งเล่าถึงปรัชญาการเป็นอาจารย์และการบริหารสตูดิโอแห่งนี้

“เรามีความสุขมากขึ้น เพราะเราได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ ถ้าเจอปัญหา เราแก้ปัญหาในวิธีของเราได้ เราได้ทำในสิ่งที่เรารักและมีความสุข” สันติยิ้ม สตูดิโอแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่อีกแห่งที่เขาตั้งตารอที่จะมาทำงานและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ

ทั้งคู่ยังคงสอนอยู่ที่หลักสูตร CommDe CHULALONGKORN สลับกับการดูแล witti.studio เพื่อฝึกฝนวิชาและค่อยๆ ทำให้คนเห็นความสวยงามของการออกแบบและภาพพิมพ์
หากอยากได้ภาพพิมพ์ที่ไม่เหมือนใคร ภาพพิมพ์ที่อยากเก็บรักษาไว้นานแสนนานและบรรจุไปด้วยความสุข

witti.studio ยินดีต้อนรับทุกคนมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ

บทเรียนจากงานพิมพ์ แบ่งปันโดยอาจารย์ผึ้งและสันติ

ด้วยความที่ผึ้งและสันติสอนที่โรงเรียนออกแบบ เรื่องสำคัญที่ทั้งคู่เน้นย้ำเสมอคือทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราควรหาวิธีการที่จะเป็นตัวของตัวเอง เหมือนงานออกแบบแต่ละชิ้นที่ไม่มีวันเหมือนกัน ทั้งนี้ควรเป็นคนน่ารักอยู่เสมอ เพราะโลกจะพาคนน่ารักมาเจอเราเอง และอย่ามองเงินเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต บางสิ่งบางอย่างใช้เงินซื้อไม่ได้ ควรหาความสุขให้ตัวเองในส่วนอื่นๆ ด้วย อย่าทุกข์เพราะจำนนกับอะไรที่เราสร้างขึ้นมา

สุดท้าย ผึ้งและสันติขอบคุณนิสิตและผู้มอบหมายงานทุกท่านที่มอบการบ้านและโปรเจกต์ที่ยาก หลากหลาย ท้าทาย การที่ได้เจอโจทย์เหล่านี้ทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกันด้วย witti.studio เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีเขียวชอุ่มสบายตาชื่อว่า ‘Jouer’ (ฌู-เอ้) ซึ่งแปลว่า เล่น ในภาษาฝรั่งเศส Jouer รวมเหล่านักสร้างสรรค์ที่มีแนวคิดและปรัชญาในการทำธุรกิจคล้ายคลึงกับ witti.studio อย่าง Rikyu Hair Salon, Spoonful Zakka Café และ Bangkok Tokyo Architecture ไว้ที่เดียวกัน คุณสามารถแวะเวียนไปพบปะเพื่อนบ้านผู้น่ารักเหล่านี้ได้ที่ซอยสุขุมวิท 32 อยู่ห่างจาก BTS ทองหล่อประมาณ 7 นาทีการเดิน

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan