The Cloud x องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

ต้นมะพร้าวสูงเสียดฟ้า เสียงลมจากเนินเขาตัดสลับกับเสียงคลื่น บรรยากาศความร่มรื่นของพันธุ์ไม้ใบเขียวนานาชนิดปกคลุมทั่วอาณาบริเวณ เป็ด ไก่ ส่งเสียงร้องขานแขกที่มาเยือน มีผืนผ้ามัดย้อมสีสันแปลกตาตากพลิ้วลม เพิ่มสีสันแสงเงาให้ภาพตรงหน้าเกิดมิติความงามตามธรรมชาติ

เพียงชั่วครู่ ชายหนุ่มในชุดพื้นเมือง สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวสีกลีบบัวกับกางเกงเลแสดงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เดินออกมาต้อนรับพวกเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม พ่วงด้วยท่าทีสบาย ๆ เชื้อเชิญเข้าสู่บ้านสวนวิทยา ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรหลากหลายแขนงบนผืนดินกว่า 50 ไร่

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ คือชื่อของเขา หรือที่คนในพื้นที่รู้จักกันดีว่า ‘พี่วิท’

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

เขาเป็นคนประจวบฯ เกิดและเติบโตที่นี่ วิทยาเล่าว่าชอบการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก วิ่งเตาะแตะตามเตี่ยเข้าสวนออกไร่ทุกวัน จนวันหนึ่งถึงรู้ตัวว่าเกษตรกรรมเป็นชีวิตของนายวิทยาไปแล้ว จึงตัดสินใจเรียนต่อสายนี้เพื่อหวังนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ชายชาวประจวบฯ จากบ้านไป 9 ปี เพื่อเรียนสายอาชีพด้านเกษตรกรรมและสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอิสราเอล ด้านส่งเสริมการผลิตพืชไร่ หลังเรียนจบ สถานที่สำคัญที่เขาตั้งใจกลับมาใช้ชีวิต คือพื้นที่แคบที่ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ดิน น้ำ ครบครัน มีทะเลห่างจากเทือกเขาเพียง 24 กิโลเมตร

“เรียนจบแล้ว ใช้ทุนหมดแล้ว งานที่ทำอยู่ไม่ใช่เรา เลยไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะอยู่ที่อื่นต่อ” เขาเกริ่น ก่อนจะเปรยประโยคที่เปรียบเสมือนกุญแจดอกแรก ไขเข้าสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

“งั้นกลับทับสะแกบ้านเราดีกว่า”

ประจวบฯ กับ กลับทับสะแก

“ผมคิดว่าที่นี่คือที่สุดท้ายในกระบวนการใช้ชีวิต ผมจะใช้โอกาสที่เคยได้รับมา ถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป” คำตอบของเขาหนักแน่น ชนิดที่ว่าไม่ต้องเตรียมตอบคำถามคลาสสิกว่า กลับมาจะทำอะไร

“บ้านผมมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีทรัพยากรบริเวณชายฝั่งเหมาะกับทำประมง มีทรายที่ไหลจากสายแร่ มีทรัพยากรเกื้อหนุนการใช้ชีวิตแบบครบกระบวนการ ทั้งการขนส่ง อาหารปลอดภัย อากาศบริสุทธิ์ แม้กระทั่งสังคมที่อยู่กันแบบพี่น้อง และมีขุมทรัพย์ทางการเกษตรที่เห็นได้ชัด เช่น มะพร้าว” เจ้าถิ่นเล่า

ถ้าจะพูดว่ามะพร้าวคือพืชครองถิ่นของทับสะแกก็ไม่เกินจริง ตั้งแต่ขับรถเลยป้ายบอกทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นแต่ทิวต้นมะพร้าวตลอดสองข้างทาง มะพร้าวของทับสะแกได้รับมาตรฐาน GI พิเศษตรงที่เป็นคลังแสงแห่งมะพร้าวกะทิ โดดเด่นด้วยรสชาติ ความมัน และกลิ่น จากแร่ธาตุในรูปแบบเกษตรอินทรีย์

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ
วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

หมุดหมายของการกลับบ้านเริ่มที่บทบาทคุณครูวิทยา ด้วยปณิธานที่ต้องการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจการจัดการทรัพยากรการเกษตร แต่เขาพบว่าความคิดของคนสมัยก่อนบางกลุ่มต้องการให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน พยายามผลักดันให้ทำงานที่มั่นคงตามบรรทัดฐานสังคม ช่วงเวลาที่คุณครูวิทยาจะได้ถ่ายทอดแนวคิดทางการเกษตรก็มีแค่ชั่วครั้งชั่วคราว พอเด็ก ๆ กลับบ้านไป ก็อาจจะได้รับการปลูกฝังในเรื่องน่ารู้ใหม่ ๆ

“การที่เราสอนลูกหลานเกษตรกรอาจไม่ใช่แนวทาง เราเลยมาเป็นเกษตรกรเสียเอง”

วิทยาเชื่อว่าการที่คนหนึ่งคนจะสอนใคร ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เขาจึงใช้ระยะเวลาปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด 3 ปี เมื่อเห็นผลว่าสิ่งที่ทำขยายผลได้ จึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สอนเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง โดยเน้นหนักเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง คือ ข้าว สอง คือ ปศุสัตว์ และสาม คือ กระบวนการทำการเกษตร

“ถ้าจะผลิตอะไร เราต้องรู้ก่อนว่ามีทรัพยากรอะไรบ้างที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ได้ ผมมองว่าคนต้องกินข้าว ในเมื่อคนกินข้าว ทำไมเราไม่ผลิตข้าว” เมื่อความคิดก่อตัว การลงมือทำจึงเกิดขึ้น วิทยาเริ่มศึกษากระบวนการผลิตข้าวอย่างจริงจัง ทับสะแกเป็นพื้นที่ลาดชัน ดินเค็ม ข้าวที่ปลูกต้องเป็นพันธุ์ที่ขึ้นในถิ่นดินเค็มได้ ‘ข้าวหอมปทุมธานี 1’ จึงรับบทพระเอกในนานี้

ความมั่นคงทางด้านอาหาร นอกจากเรื่องข้าวยังมีเรื่องปศุสัตว์ ทับสะแกเป็นพื้นที่แห่งทรัพยากรสัตว์น้ำ เพราะเป็นทะเลเปิด กุ้ง หอย ปู ปลา ว่ายทวนน้ำตามน้ำมาหยุดรอหน้าหาดตามฤดูกาล ถ้าชาวบ้านไม่ออกเรือในช่วงนั้น จะขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ‘พี่วิท’ ของหมู่บ้านจึงจัดตั้งกลุ่มประมงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นกระบวนการในการสร้างเชือก สร้างกอ การทำธนาคารปู เพื่อสร้างระบบนิเวศให้สัตว์น้ำอยู่ในพื้นที่นานขึ้น

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

บางสิ่งที่เหลือใช้จากการทำการเกษตรทำให้เกิดปัญหา นี่จึงเป็นเรื่องที่ 3 ที่เขาให้ความสำคัญ เลยนำของเหลือมาแปลงเป็นประโยชน์ นำมาแปรรูปเป็นอาหารของสัตว์ 3 ชนิด ทั้งหมู เป็ด ไก่ เมื่อพวกมันกินเข้าไปก็จะให้ผลพลอยได้กลับมาทั้งไข่และเนื้อ แม้กระทั่งขับถ่ายออกมาเป็นมูล ก็นำไปเป็นปุ๋ยใส่กลับคืนสู่พืชได้ หรือจะแปรรูปเป็นของใช้ก็ได้ ด้วยการนำกาบมะพร้าวมาทำสีย้อมผ้า เกิดเป็นกิจกรรมผ้ามัดย้อม หนึ่งในสิ่งชูโรงของพื้นที่นี้

วัฏจักรห่วงโซ่ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงเกิดขึ้นในรูปแบบของการจัดการ

“เมื่อสอนเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงแล้ว ผมมีแนวคิดว่า คนที่มาที่นี่เขาไม่ได้ประโยชน์จากเราเลย เราใช้ทรัพยากรส่วนกลางโดยไม่ได้ให้อะไรคืนกลับไป” ความคิดถึงส่วนรวมแล่นเข้ามาในความรู้สึกของเกษตรกรต้นแบบ “จะทำยังไงให้คนที่อยู่รอบข้างใช้ประโยชน์จากเราได้ด้วย ก็เลยจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา”

จากภูผาถึงมหานที

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

วิสาหกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจึงก่อตัวขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็นตัวตนของท้องถิ่น เน้นการเกษตร เน้นธรรมชาติ และเน้นวิถีชีวิต ทั้งหมดไม่ได้จบลงที่ชุมชนบ้านทุ่งประดู่เพียงแห่งเดียว แต่ชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดประจวบฯ ก็มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวลักษณะนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่เช่นกัน เช่น หมู่บ้านหินเทินที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกับทุ่งประดู่ เป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมถึงกัน ตามความตั้งใจของวิทยาที่อยากขยายโอกาสให้กับชุมชนข้างเคียง

เขาวางแผนเส้นทางร่วมกัน จนเกิดเป็น ‘โครงการท่องเที่ยวจากภูผาถึงมหานที’

“กิจกรรมเริ่มจากการมองว่าอะไรเป็นรากเหง้าของเรา” เขาเปรยจุดเริ่มต้นความคิด

‘เข้าวัด ไหว้พระ พบปะชุมชน แล่นเรือใบยามสนธยา ผ่อนคลายความอ่อนล้าด้วยสปาทราย’ นี่คือคำตอบ

เหล่านี้คือกิจกรรมที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่จัดสรรไว้ทั้งหมด วิสาหกิจชุมชนคือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกัน ใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้น กลุ่มแรกที่มีการสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกันคือห่มทรายที่ชาวบ้านทำกันมาก่อนหน้า ตามมาด้วยกลุ่มประมงอนุรักษ์ และเติมเต็มด้วยกลุ่มโครงการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร

เมื่อทั้งสามมารวมกลุ่มกัน ก็เริ่มการออกแบบเส้นทางง่าย ๆ มีการนำเสนอศูนย์นักท่องเที่ยว พอเริ่มมีกิจกรรมหลากหลาย ก็ขยายเส้นทางออกไป เพื่อเป็นการขยายผลสู่ชุมชนให้มากขึ้น

“ตอนแรกเราไม่มองรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เลย พอทำไปเรื่อย ๆ อ้าว รากเหง้าอยู่ที่วัดหมดเลย คนสมัยก่อนไม่ว่าจะเกิด จะตาย ทุกอย่างอยู่ที่วัด เป็นศูนย์รวมจิตใจ ผมเลยกำหนดเส้นทางว่า ถ้ามาหมู่บ้านเราให้ไปเยือนสิ่งที่เรานับถือก่อน นั่นคือวัดทุ่งประดู่”

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ
วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ เริ่มโปรแกรมด้วยการสักการะพระนอนองค์ใหญ่ ถ้านักท่องเที่ยวขับรถยนต์ส่วนตัวมาก็ต้องจอดไว้ที่ลานวัด เพราะแต่ละหมุดหมายที่ไป โดยสารแท็กซี่ชุมชนเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง กระจายรายได้ให้ชาวบ้าน และสัมผัสมิตรไมตรีจากผู้คนที่มาต้อนรับ พร้อมกับร่วมเป็นเพื่อนเดินทางอย่างอบอุ่น รถซาเล้งต่อพ่วงขับเคล้าบรรยากาศรับลมปะทะหน้าเบา ๆ ชมวิวต้นไม้ใบหญ้า ระหว่างเพลิดเพลินกับการส่องวิถีชีวิตชาวบ้านสองข้างทาง

“เที่ยงแล้ว คงจะหิวกันแย่ มากินข้าวกันก่อน มา ๆๆ” เสียงของภรรยาวิทยาเรียกกินข้าว หลังจากการเล่าเรื่องแท็กซี่ชุมชนจบลง เธอเดินมาด้วยรอยยิ้มพร้อมสองมือถือจานชามสลับมาไม่ซ้ำกัน

โต๊ะไม้ขนาดยาวชนิด 10 คนนั่ง เต็มไปด้วยอาหารกลางวันแน่นโต๊ะ เป็นเมนูประจำบ้านและใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เป็นหนึ่งในโปรแกรมของการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้ลองลิ้มชิมรส

เมนูที่ว่ามากมายนั้นประกอบด้วย น้ำพริกกะปิผักลวก ลงใต้ทั้งทีกะปิต้องมาอยู่แล้ว แต่กะปิของที่นี่ขึ้นชื่อและแตกต่างจากที่อื่น ด้วยความหอม ความมัน ความเค็ม ความนุ่มนวลของรสชาติจากเคยส้มโอ ซึ่งเป็นผลผลิตของชาวบ้านในพื้นที่ทับสะแก

จานต่อไปคือ เพลิงวารี คล้าย ๆ กับห่อหมกย่าง ถัดมาเป็นแกงกะทิหอมกรุ่นหน้าตาคล้ายต้มข่าไก่ที่หลายคนรู้จัก แต่ไม่เหมือนตรงที่ตักคำแรกเจอเนื้อปลา ตักคำที่สองเจอมะพร้าว ตักคำที่สามเจอสับปะรด ชวนสงสัยเหลือเกินว่าจานนี้คือเมนูอะไรกันแน่

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เกษตรกรที่สร้างโอกาสให้คนกลับบ้านด้วยการท่องเที่ยวชุมชนประจวบฯ

“อันนั้นมัจฉาพาลุยสวนจ้ะ จานเด็ด” ภรรยาเฉลย องค์ประกอบในจานนี้มาจากวัตถุดิบละแวกบ้านทั้งสิ้น ปลาจากการออกเรือของชาวประมงเรือเล็ก มะพร้าวสายพันธุ์นกคุ้มสอยลงจากต้น กะทิคั้นสดที่ขึ้นชื่อเรื่องความมัน สับปะรดผลฉ่ำพืชหลักของประจวบฯ และผักอินทรีย์จากแปลงผักปลอดสารพิษ ชูผลผลิตของบ้านทุ่งประดู่ได้อย่างครบครัน และช่วยอุดหนุนเครือข่ายชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้

ตามแผนการเดินทางแบบวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ช่วงบ่ายแก่ ๆ นักท่องเที่ยวจะได้นักแท็กซี่ชุมชนไปที่ฐานห่มทราย “พื้นที่บ้านเราเป็นทะเลเปิด คุณสมบัติของทรายเลยโดดเด่น และมีบริเวณชายฝั่ง จึงมีกลุ่มเยาวชนเรือใบเกิดขึ้นจากความฝันของเขา” วิทยาเล่า

กิจกรรมตอนเย็นเลยจบลงที่ริมหาด เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาล่องเรือใบ พาตัวเองออกไปโต้ลมแข่งกับมวลสั่นสะเทือนของสายน้ำ เรือใบเป็นกีฬาที่ส่งต่อมาอย่างยาวนานรุ่นสู่รุ่นของทับสะแก ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่วยกันสานต่อไม่ให้หายไป

เยาวชนต้นกล้า

แวบไปเล่นเรือใบกับเยาวชนรุ่นใหม่อย่าง โมเน่-ณัฐกิตต์ เทียมหมอก นักกีฬาเรือใบทีมชาติที่เริ่มเล่นเรือใบตั้งแต่อายุ 4 ขวบ มานะอุตสาหะจนได้เข้าแข่งกีฬาทีมชาติในวัยเพียง 10 ขวบ

“ผมเล่นเรือใบเพราะครูเล็กครับ ผมมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาเรือใบเหมือนลุงของผม”

เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์

โมเน่เล่นเรือใบเพราะมีลุงของเขาเป็นแบบอย่าง เมื่อคุณลุงเสีย โมเน่จึงอยากสืบทอดกิจกรรมเรือใบ ไม่อยากให้กีฬาชนิดนี้หายไปจากทับสะแก เขาแล่นเรือโต้ลมตั้งแต่ยังไม่มีพื้นฐาน จนตอนนี้นอกจากเป็นตัวสำรองทีมชาติ โมเน่ยังเป็นโค้ชเรือใบคนเดียวของที่นี่ที่รับโค้ชนักท่องเที่ยวทุกคน มากไปกว่านั้น เขายังโค้ชนักกีฬารุ่นเยาวชนต้นกล้าอีก 4 ชีวิต ส่งต่อความฝันและความรักในกีฬาเรือใบสู่รุ่นถัดไป

“ผมฝึกซ้อมให้น้อง ๆ ทุกวัน หวังผลักดันให้เขาเป็นทีมชาติให้ได้” สิ่งที่โดดเด่นออกมามากกว่าคำพูดที่หนักแน่น คือแววตาอันมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มคนนี้

นอกจากโมเน่แล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่ ลูกหลานของพี่ป้าน้าอาในพื้นที่ที่สานต่ออัตลักษณ์ครอบครัว หลายคนเรียนจบแล้วตัดสินใจกลับบ้านมากขึ้น บ้างมาช่วยครอบครัวทำเกษตรกรรม บ้างมาช่วยค้าขาย บ้างมาช่วยดูเรื่องผลผลิตและการตลาดออนไลน์ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีบทบาทในสังคมปัจจุบันมากขึ้น

เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์
เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์

“พอเราทำการท่องเที่ยว เราก็สร้างโอกาสไว้ พอคนรุ่นใหม่เรียนจบกลับมา บ้านจะไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เขาจะมีโอกาสเลือกว่าจะกลับมาทำอะไรที่บ้าน” เกษตรกรต้นแบบเปรยอีกหนึ่งความตั้งใจหลัก

ระหว่างที่บทสนทนากำลังดำเนินไป โดยมีเสียงฝนรำไรเป็นดนตรีประกอบ มีเด็กชายและเด็กหญิงกำลังวิ่งเหยาะ ๆ เข้าบ้านหลบฝน ในมือถือตะกร้าสานชวนสงสัยว่าในนั้นบรรทุกอะไรมา

“หน้าที่เลี้ยงไก่นั่นของข้าวปั้นเขาล่ะ เก็บไข่กลับมาแล้ว ไหนดูซิ วันนี้ได้กี่ฟอง” พี่วิทของทุกคนถามอย่างเป็นกันเอง แต่ในแววตาเต็มไปด้วยประกายความภูมิใจ เยาวชนจิ๋วทั้งสองคือลูกของเขา สานต่อสิ่งที่คุณพ่อทำไว้ได้อย่างเรียบง่ายและสม่ำเสมอ

แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์เลยว่า การรักษามรดกของชุมชนอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เข้าใจและเป็นแบบอย่างที่ดี แล้วค่อยเผยแพร่คุณค่าให้คนรุ่นใหม่รู้สึกรัก และอยากสานต่อด้วยใจของเขาเอง

คลื่นซัดมา ไม่นานก็ผ่านไป

ทั้งหมดทั้งมวลที่ชายวัย 30 กว่าผู้นี้บากบั่นทำมาทั้งชีวิตด้วยปณิธานที่มั่นคง เขาทำไปเพื่ออะไรกัน?

“เมื่อก่อนทับสะแกเป็นพื้นที่ตกสำรวจ” เขาเปรยถึงที่มาของจุดประสงค์ในการจัดตั้งทุกสิ่งอย่างนี้

ด้วยเหตุนี้ ในอดีตจึงมีความรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งปัญหาสังคม ยาเสพติด และการเมืองภายใน เวลาคนทุ่งประดู่ไปไหนมาไหน เลยมักจะถูกเหยียดหยามจากคนภายนอกว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส เพราะการศึกษาไม่ครอบคลุมผู้คน ชาวบ้านไม่รู้วิธีจัดการทรัพยากร ไม่มีต้นทุนในการประกอบกิจการใด ๆ

ก่อนที่สายรุ้งสดใสจะปรากฏ ก็ต้องผ่านมรสุมฝ่าฟันฝนตกลูกใหญ่มาก่อน ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนเลือนรางมากในสมัยก่อน การที่คนในชุมชนจะรวมตัวกันได้ ต้องอาศัยเทศกาลสำคัญเท่านั้น แต่เมื่อมีกิจกรรมท่องเที่ยวเข้ามา ก็เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ทำให้คนหันหน้ามาพูดคุยกัน และมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน

เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์

แรก ๆ เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต่างคนต่างอัตตา การหาปลายทางร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราทดสอบเส้นทางมาเยอะมาก บางเส้นทางใช่ บางเส้นทางไม่ใช่ เพราะคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าก็มีแนวคิดที่ต่างกัน เราใช้ความเชื่อที่ศึกษามาแล้วอธิบายให้เขาฟังแบบวิชาการไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ก็เหมือนกัน เราลองทำมาหลายตัว มันต้องลองให้รู้ ถ้าผลออกมาไม่ใช่ ก็ต้องหาเหตุว่าเพราะอะไร อาจจะเป็นรูปแบบภายนอกที่ไม่สวย หรือรสชาติ ขนาด ราคา ทุกอย่างต้องปรับหมด สุดท้ายเมื่อมารวมกันมันจะแมตช์กันได้พอดี” เจ้าของบ้านสวนวิทยาแจงวิธีการดำเนินงานที่ชุมชนแห่งนี้ยึดถือปฏิบัติ นั่นคือการทำประชามติ พวกเขาใช้หลักนี้ทุกการเกิดขึ้นของกิจกรรมใหม่ เพื่อให้ทุกบ้านเข้าใจร่วมกัน

‘ความต้องการเห็นชุมชนดีขึ้น’ จึงเป็นคำตอบที่ครอบคลุมทั้งหมด

“เราต้องการสร้างโอกาสให้คน ทำให้เขามองเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาเอง ทรัพยากรจะถูกดึงออกมาใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศักยภาพของคนถูกดึงออกมาเพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ด้วยการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เมื่อพวกเขาทำได้ก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เห็นคุณค่าและเห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้น”

เพียงฟองคลื่น

“ถ้าคุณเป็นลูกคลื่นที่อยู่ในท้องทะเลเมื่อไหร่ คุณจะอยู่ไม่ได้ ชุมชนที่อยู่ได้แบบยั่งยืนจะต้องทำตัวเป็นฟองคลื่นเท่านั้น”

วิทยามองว่าการทำกระบวนการท่องเที่ยวก็เหมือนกับคลื่นที่อยู่ในทะเล มีทั้งคลื่นลูกเก่าและคลื่นลูกใหม่ซัดมาเรื่อย ๆ การท่องเที่ยวต้องค่อยเป็นค่อยไป ชุมชนเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเยอะมากเช่นกัน

“บางทีเขาทำแล้วขายเลย ก้าวแบบข้ามขั้น แต่ลืมมองว่าฐานยังไม่แน่น เพราะฉะนั้นต้องทดสอบก่อน โชคดีที่ อพท. เข้ามาช่วยทดสอบ เวลาแต่ละทีมมา เราก็จะเสนอเส้นทางใหม่ทุกครั้ง และสอบถามด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ชอบตรงไหน อยากปรับเปลี่ยนอะไร”

ที่ผ่านมาไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรม จะออกมาตรการอะไรมา ชื่อวิทยาจะปรากฏในรายชื่อผู้เข้าร่วมทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าเขาต้องการรางวัลการันตีว่าเป็นพื้นที่ดีเด่น แต่ต้องการเข้าไปเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ด้อยและเอากลับมาพัฒนา เพราะยึดถือแนวคิดที่เปิดกว้างว่า “เราอย่าทะนงตน เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน”

กุญแจดอกสำคัญที่จะไขเข้าไปในใจนักท่องเที่ยว คือ การเอาใจใส่ ยืนหยัดในตัวตน ไม่โอนอ่อนตามความต้องการของตลาดถ้าส่งผลกระทบต่อทรัพยากร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับข้อบกพร่อง และไม่หยุดเรียนรู้ตามความเป็นไปของสังคม

เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์

“ฟองคลื่นไม่มีผลกระทบกับการกัดเซาะ มันไม่ได้ทำอะไรชายฝั่งเลย มันจะอยู่ของมันอย่างนั้น มันคือคำว่ายั่งยืน ต้องไม่กระทบใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน”

การท่องเที่ยวยั่งยืนในนิยามของวิทยา ไม่ได้ยึดเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง เพราะถ้าทำอย่างนั้นความประทับใจจะไม่เกิด และการใช้ซ้ำจะไม่มี เขามองว่าจะยั่งยืนได้ในแบบที่ชุมชนต้องเลือกได้ว่าเรามีทรัพยากรอะไร แล้วเรามองหาคนกลุ่มไหน เมื่อใช้แล้วต้องให้กลับคืนธรรมชาติด้วย และไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย อวดรูปโฉมสวยงามแค่สินค้าหรือสถานที่เท่านั้น แต่ต้องทำให้คนพื้นที่และคนที่มาเข้าใจจุดประสงค์ตรงกัน พร้อมจะทำความรู้จักพื้นที่ไปด้วยกัน เช่น เวลาวิ่งรถ คนขับจะรู้เลยว่าบ้านไหนทำอะไร พานักท่องเที่ยวแวะได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำสินค้าไปเร่ขาย แต่เสน่ห์ในกระบวนการต่างหากที่ดึงดูดคนให้เดินเข้ามาเอง

“ถ้าคุณซื้อกะปิ 1 กระปุก 100 บาท แพงนะ แต่ถ้ามาเห็นจะรู้ว่ามูลค่า 100 มันน้อยไปด้วยซ้ำ” นั่นคือเรื่องราว เรื่องเล่า และวิถีชีวิตที่อยู่ในนั้น กว่าจะได้สินค้าแต่ละชิ้นมา มีประวัติ ตำนาน วิธีการมากมาย

สุดท้ายเกษตรกรต้นแบบในนามวิทยา ปรารถนาอยากให้การส่งเสริมบ้านเกิดของตัวเอง เกิดขึ้นกับชุมชนอื่น ๆ จังหวัดอื่น ๆ โดยแนะนำว่าต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ความเชื่อและความเข้าใจต้องเกิดขึ้นอย่างปราศจากความกังขาใด ๆ ด้วยใจของตัวเอง

“เราต้องทำให้คนรอบข้างศรัทธาตัวเราให้ได้ มันต้องรู้จักการเสียสละ ใจรักจริงไหม เริ่มจากที่บ้านเราเองก่อน ทำบ้านตัวเองและทำให้คนมาเริ่มเที่ยวบ้านเรา ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ มีคนเข้ามาศึกษาบ่อย พอคนเข้ามา เราก็เริ่มเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่า กระบวนการที่คนเข้ามามันคือโอกาสสำหรับเขา เขาเอาของมาขายได้นะ และเราต้องเปิดใจให้คนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งกับเราให้ได้”

ที่สำคัญที่สุดต้องเชื่อมั่นในอัตตา และเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี

“เพราะไม่ว่าคลื่นที่เข้ามาจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม ฟองคลื่นจะคงอยู่เสมอ และมันจะอยู่ได้ตลอดไป”

เกษตรกรต้นแบบแห่งทับสะแก ผู้ขับเคลื่อนการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น ผ่านวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ ประจวบคีรีขันธ์

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน