ยางพาราเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของ วิถี สุพิทักษ์ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2528 ที่พ่อของเขาเปิดโรงงานน้ำยางข้น

ต่อมาอีกไม่นานก็เข้าสู่ปีที่โรคเอดส์แพร่ระบาด กิจการของพ่อเลยเจริญรุ่งเรือง ตามอุปสงค์ตลาดที่เร่งผลิตถุงยางอนามัย

ครอบครัวของเขาล้วนทำธุรกิจเกี่ยวกับยางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยาง คุณวิถีเข้ามารับช่วงต่อโรงงานยางน้ำข้น ส่วนน้องชาย คุณวิศิษฏ์ สุพิทักษ์ เลือกกลับมาพัฒนาเรื่องไม้ยางแปรรูปหลังเรียนจบ

Woodwork ก่อตั้งขึ้นในตอนนั้น ขยายกิจการไปได้ 3 โรงงาน คุณวิศิษฏ์ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง พี่ชายจึงต้องมารับช่วงต่อธุรกิจที่กำลังไปได้ดี

การบริหารโรงงานน้ำยางข้นกับไม้แปรรูปต่างกันลิบลับ น้ำยางข้นอาศัยเครื่องจักรทันสมัยเป็นหลัก ส่วนไม้แปรรูปต้องพึ่งพาความเอาใจใส่ของคนทำ ซึ่งเข้ามือคุณวิถีในวัย 25 ผู้เรียนจบจากโรงเรียนประจำชายล้วนที่มิตรภาพระหว่างคนเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต

วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของ Woodwork ธุรกิจไม้ยางแปรรูปจ.ตรัง ผู้เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่า

Woodwork อยู่ภายในการบริหารของคุณวิถีมาเกือบ 20 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวจนเติบโตเป็นบริษัทผลิตไม้ยางแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แม้ธุรกิจจะยืนหนึ่งบนยอดภูเขา คุณวิถียังหาทางพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความยั่งยืน เขาเริ่มจากแนวคิดอยากได้ต้นยางที่มีคุณภาพ จึงหาซื้อที่ดินในจังหวัดเชียงราย ทำสวนยางอินทรีย์ด้วยใจ ก่อนจะศึกษาเรื่องการปลูกป่าร่วมยางอย่างจริงจังเพื่อรักษาธรรมชาติโดยรอบไว้ 

จากที่ดินในภาคเหนือสู่แผ่นดินตรังบ้านเกิด เขาทำโมเดลเดียวกันที่จังหวัดตรัง เพิ่มเติมคือพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมากกว่าป่าร่วมสวน เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของชุมชน และลานกิจกรรมของพนักงาน Woodwork

จึงไม่ใช่แค่ไม้ยางคุณภาพที่นักธุรกิจคนนี้ปลูกสำเร็จ เขายังสร้างคน สร้างเครือข่าย สร้างอากาศดี ๆ ให้คนตรังสูดได้เต็มปอด 

คุณเป็นผู้บริหารที่เอาใจใส่กับ ‘คน’ มาก ทำใมเรื่องนี้ถึงสำคัญในการทำธุรกิจ

ผมเป็นนักเรียน ภ.ป.ร. โตมากับการอยู่กับเพื่อนเยอะ เราให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพ ความเป็นกลุ่มก้อน เวลาทำงานก็ให้ความสำคัญกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สมัยก่อนที่น้ำยางข้น เรามุ่งเน้นเรื่องเทคนิค เครื่องจักร การใช้สารเคมี การใช้เทคโนโลยี ส่วนโรงงานไม้ยางเน้นฝีมือคน ที่ Woodwork การพัฒนาคนจึงสำคัญมาก เราเคยมีคนงานถึง 4,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ 2,000 คน ขณะที่ผลผลิตเท่าเดิม เราพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มคุณภาพคน คุณภาพงาน คุณภาพชีวิต ซึ่งสำเร็จมาได้ระดับหนึ่ง เพราะคนเราลดไปเกือบครึ่ง แต่งานที่ได้หายไปไม่ถึง 10% ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ในอดีตมี 2 คนประจำโต๊ะเลื่อย 1 คู่ เรียกกว่า นายม้ากับหางม้า ใช้ไม้ราว ๆ 6 – 7 ตัน วันนี้ทำงาน 8 ชม. เท่ากัน แต่ใช้ไม้ได้ถึง 10 ตัน 

พอศักยภาพเพิ่มขึ้น รายได้ก็สูงขึ้น คนเลื่อยไม้เก่ง ๆ ของเราได้เงินมากถึง 50,000 – 60,000 บาทต่อเดือน

ดูแลพนักงานยังไงถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เรามองไปถึงความเป็นอยู่ มีการจัดอบรม สัมมนา พัฒนาความสามารถ ทำกิจกรรมเพื่อให้คนของเราได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สุดท้ายแล้ว สิ่งที่องค์กรเรามีคือคุณธรรม ไม่ใช่แค่กับคนของเรา แต่รวมถึงสังคมโดยรอบที่เขาอยู่โดยต้องไม่เดือดร้อนจากการทำธุรกิจของเรา

พักหลังมานี้ โรงงานทั้ง 9 แห่งของเราไม่มีปัญหากับชุมชนรอบข้างเลย เราอยู่ร่วมกับสังคมโดยรอบได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือลูกค้า ร้านค้า ไม่ใช่พัฒนาแค่ตัวเรา แต่พัฒนาเขาด้วย เราเอาใจใส่ มอบสิ่งที่ดีที่สุดกับเขา ส่วนทางอ้อมก็ชุมชน เขาอาจจะได้ประโยชน์ พอมีโรงงานก็มีคนเพิ่มขึ้น เกิดร้านค้า เกิดกิจการ เกิดเป็นชุมชนขึ้นมา เราพยายามอยู่ร่วมกันให้ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

เริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมทำเรื่องยางมาตลอด หลายครั้งไม้ยางคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เพราะชาวสวนผสมโน่นผสมนี่ บางทีเจอไม้ลายซึ่งเกิดจากการดูแลไม่ดี ตัวเองอยากทำให้มันดี ก็เลยคิดสร้างโมเดลให้เป็นตัวอย่าง กอปรกับตอน พ.ศ. 2555 ได้ที่ที่เชียงราย ก็ตั้งใจปลูกยางดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เพื่อที่พอเวลาผ่านไปอีก 20 – 30 ปี ไม้ยางของเราจะสวยกว่าไม้ยางในละแวกนั้น 

เราเริ่มเปิดกรีดยางตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ย้ำกับทีมงานตั้งแต่ต้นว่า คนกรีดยางของเราต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรในประเทศ ซึ่งเราทำได้ คนกรีดยางวันนี้มีรายได้ราว ๆ 240,000 – 250,000 บาทต่อปี เรามีวิธีจัดการระบบในสวน ทำให้คนงานทำงานน้อยลง จากทั่วไปกรีดได้วันละ 500 – 600 ต้น ก็กรีดได้ 2,000 ต้น ปีหนึ่งทำงานได้ 200 กว่าวัน แม้ราคายางจะน้อยลง แต่คนงานเรายังไม่เดือดร้อน

พอทำสวนยางคุณภาพแล้ว เราพบว่าพืชเชิงเดี่ยวแบบนี้ไม่ดีต่อธรรมชาติเท่าไหร่ เลยศึกษาเรื่องป่าร่วมยางต่อ จนได้เจอกับ อาจารย์จุลพร นันทพานิช ได้รู้จักแนวคิดที่บอกว่า ดินดี ดินไม่ดี ไม่มีจริงหรอก มีแต่ว่าปลูกอะไรเหมาะกับอะไร

อ.จุลพร บอกอะไรกับคุณในวันแรกที่เจอกัน

วันแรกที่เจอกันนี่อายเลยนะ น้องสถาปนิกแนะนำให้รู้จักอาจารย์ ทราบภายหลังว่าเป็นคนใต้เหมือนกัน ผมเป็นคนตรัง เขาเป็นคนสมุย ตอนเจอกันวันนั้นผมเพิ่งกลับมาจากมาดากัสการ์ ขนต้นไม้กลับมาเพียบ ทั้งต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ต้นเบาบับ เล่าให้แกฟัง แกก็พูดกลับมาคำหนึ่งว่า “สิ่งที่คุณวิถีพูดนี่เหมือนสวนตรุษจีน” (หัวเราะ) 

แกก็อธิบายให้ฟังเพราะเราไม่มีความรู้ ถ้าปลูกชมพูพันธุ์ทิพย์ เดี๋ยวแมลงจะไปทำลาย ถ้าจะปลูกต้องหาไม้พื้นถิ่นที่เหมาะกับสภาพดิน บางอย่างเป็นไม้พื้นถิ่นจริง แต่ไม่เหมาะกับสภาพดินนี้ก็ไม่รอด

วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของ Woodwork ธุรกิจไม้ยางแปรรูปจ.ตรัง ผู้เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่า

การที่คนคนหนึ่งจะสร้างป่า ต้องเริ่มจากอะไร

เริ่มต้นมาจากวิสัยทัศน์ของกรมทรัพยากร หลายปีก่อนเขาปลดล็อกไม้ต้องห้ามให้เป็น Area-based คือคุณปลูกเอง ตัดใช้เองได้ แต่ห้ามบุกรุกป่าหรือธรรมชาติเด็ดขาด 

หลังจากกฎหมายนี้ออกมา จะเห็นหลายคนหันมาปลูกต้นไม้ สร้างเป็นทรัพย์สิน ผมเองก็ได้พัฒนาโครงการออมต้นไม้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ สโมสรโรตารี่ และกลุ่มแลตรังยั่งยืน เราจะให้พนักงานโดยเฉพาะคนที่มีลูกเล็ก เอาต้นไม้ไปปลูกที่บ้านคนละ 2 – 3 ต้น ผ่านไปสัก 30 ปีเขาโตขึ้น ต้นไม้น่าจะมีราคาหลักแสน 30 ปีเท่ากับราว ๆ 10,000 วัน ก็เทียบเท่าเขาออมเงินวันละ 10 บาท 3 ต้นก็ 30 บาท มันทำให้เด็กรักสิ่งแวดล้อม ได้เรียนรู้เรื่องการออม 

นอกจากนี้ เรายังมีโครงการแลตรังยั่งยืนเพื่อเพิ่มออกซิเจนในอากาศให้ชุมชน หรือในอนาคตอันใกล้ ผมว่าคาร์บอนเครดิตจะเข้ามีบทบาทในระดับโลก เพราะฉะนั้น ถ้าเราปูพื้นฐานการรักต้นไม้ ปลูกต้นไม้ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน

ต้นยางพาราที่ปลูกอย่างเอาใจใส่จะเป็นแบบไหน

เราทำทุกอย่างเป็นอินทรีย์หมด แต่ก่อนเคยใช้ปุ๋ยเคมีนะ แต่ 4 – 5 ปีมาแล้วเราไม่แตะเลย ไม่ว่าจะเป็นการปราบศัตรูพืช การใส่ปุ๋ย ล้วนเป็นอินทรีย์หมด บางทีก็ใช้เป็นชีวภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์

ต้นยางจะเริ่มกรีดน้ำยางได้ตอนอายุ 7 ปี กรีดไปได้อีกถึง 15 ปี ถ้าดูแลไม่ดีก็อาจได้แค่ 12 – 13 ปี พอน้ำยางหมดก็ตัดเอาไม้มาแปรรูป แต่ผมกำลังทดลองว่า ถ้าดูแลดี ๆ ไม่ให้ปุ๋ยเคมี ใช้แต่อินทรีย์ มีเวลาพักฟื้น ดูแลเปลือกให้ดี ผมจะกรีดยางไปได้ถึง 20 – 30 ปีไหม 

ประเทศไทยมีไร่ยางอยู่ประมาณ 18 – 19 ล้านไร่ ปีหนึ่งตัดสัก 4 – 5 แสนไร่เพื่อแปรรูป ภาคใต้เยอะสุดเพราะเป็นจังหวัดเริ่มต้น ตั้งแต่ที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี นำพันธุ์ยางเข้ามาจากมาเลเซีย และปลูกที่ตรังเป็นที่แรก ตอนนี้มีกระจายทั่วประเทศ อีสานก็เยอะ บึงกาฬ อุดรธานี อย่างบึงกาฬเขาก็พยายามพัฒนาเป็นจังหวัดยาง บุรีรัมย์ ชัยภูมิก็มี ที่น้อยสุดน่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือมีที่เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง 

ต้นยางจึงให้แค่น้ำยางกับไม้แปรรูป ที่ส่วนมากนำมาทำเฟอร์นิเจอร์

เป็นแบบนั้นมาตลอด ยางมี 2 ระบบคือ หนึ่ง ระบบจุ่ม เช่น ทำถุงมือ ถุงยาง อันนี้ต้องมาเป็นน้ำ สองคือยางแท่ง ยางกันชน แบบนี้มาเป็นก้อน ส่วนไม้ยางเราส่งไปจีน ส่งไปเป็น Material เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ แต่วันนี้เราพยายามพัฒนาให้ไม้ยางแข็งแรงจนเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารได้ พัฒนาเรื่องความคงทน ความยืดหยุ่น ทำร่วมกับญี่ปุ่น เพราะเขาเก่งเรื่องไม้ แล้วสร้างเป็นแบรนด์ใหม่

ถ้าใครได้มาตรังลองแวะไปที่ร้านกาแฟ Occur ที่นั่นโครงสร้างทั้งหมดทำจากไม้ยางทั้งหลัง

ปัจจุบันคุณวิถีมีป่าร่วมยางกี่ไร่

ที่เชียงรายประมาณ 1,700 ไร่เศษ ทำที่เชียงรายเสร็จ ก็นึกว่าทำไมไม่กลับมาทำที่บ้านเราบ้าง มาได้ที่ตรงวิถีตรังนี่แหละ 116 ไร่ พอเริ่มทำก็ไม่มีประสบการณ์เชิงการท่องเที่ยวโดยตรง แต่อยากสร้างความยั่งยืน ก็เลยไปรวมตัวกับภาคประชาชน ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ธุรกิจรีสอร์ตเล็ก ๆ สร้างกลุ่มที่ชื่อว่า แลตรังยั่งยืน ทำหน้าที่ดูแลธรรมชาติตรังและพัฒนาแนวทางไปสู่ 4อ คือ อารมณ์ อากาศ อาหาร ออกกำลังกาย 

ตอนนี้ก็เริ่มจากการปลูกป่าและอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่เดิมที่วิถีตรัง เพื่อให้คนรุ่นหลังและคนของเราได้มีธรรมชาติในชีวิต ใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมอมรม สัมมนา และพัฒนาความรู้คน ขณะเดียวกันเราก็ส่งเสริม ใครมีบ้านมีพื้นที่ก็ช่วยกันปลูกได้เลย

อันนั้นเรื่องป่า อีกโครงการที่แลตรังยั่งยืนทำขึ้นมาคือ ศูนย์ศิลปะวิถี ร่วมกับ อาจารย์สัมฤทธิ์ เพชรคง จัดเป็นงานประเพณีศิลปวัฒนธรรม บางปีก็มีศิลปินระดับโลกมาจอยด้วย หรือถ้าเป็นเชิงการท่องเที่ยว ถ้าใครสนใจกิจกรรมเชิงผจญภัย เราก็จะสำรวจเส้นทางเดินป่า คุยกับกรมป่าไม้หรืออุทยาน ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้ประโยชน์กับคนในชุมชน ฝึกให้เขานำทาง สร้างรายได้

กลุ่มเราเหนียวแน่นนะ ทำงานกันมาแล้ว 7 – 8 เดือน มีประชุมทุกเดือน นี่เดี๋ยวจะพาอาจารย์จุลพรไปเดินป่า ก็ต้องสำรวจเส้นทางไว้เหมือนกัน

วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของ Woodwork ธุรกิจไม้ยางแปรรูปจ.ตรัง ผู้เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่า

จังหวัดตรังพิเศษยังไงสำหรับคุณ

ผมเป็นคนตรัง เติบโต เรียนหนังสือที่ตรัง ช่วงมัธยมย้ายมากรุงเทพฯ พอจบมหาลัยก็กลับไปตรัง ผมใช้ชีวิตที่นี่มาตลอด พอเรียนรู้อะไรมาก็อยากเอากลับไปพัฒนาที่บ้านเรา

จังหวัดตรังสำหรับผมน่าสนใจ เราไม่ใช่จังหวัดที่เจริญทางอุตสาหกรรม ต้องขอพูดถึง ท่านชวน หลีกภัย ท่านมีแนวคิดจะทำตรังให้เป็นเมืองการศึกษา ท่านเองก็รักสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าตรังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเมืองรองได้ 

เราไม่ได้ขายสิ่งแวดล้อมที่สวยหรู แต่เราขายสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างกลุ่มแลตรังยั่งยืนก็กำลังทำให้อากาศดี ออกซิเจนสูง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนแล้ว

บ้านเราเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เร็วจนเกินไป ไม่เกิดปัญหารถติด ปัญหามลภาวะ เป็นเมืองปลอดภัยเมืองหนึ่ง สิ่งที่เราเข้าไปเติมได้คือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยกัน เพราะสิ่งนี้จะอยู่กับตรังไปตลอด อยู่ติดตัวลูกหลานชาวตรัง

แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมสะท้อนกลับไปสู่การดำเนินงานธุรกิจของ Woodwork อย่างไรบ้าง

เราต่อยอดไปหลายอย่าง ปัจจุบันโรงงานมี 9 โมง มีโรงไม้ชีวมวลที่เกี่ยวกับฟาร์ม เราทำลักษณะแบบ BCG (Bio Circular Green Economy) นำของเหลือจากไม้มาทำวัสดุปลูกก้อนเห็ด เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปเพาะ หลังจากนั้นเราก็หาตลาดที่รับไปแปรรูปให้เขา สกัดเป็นโปรตีนทางเลือก เครื่องสำอาง อาหาร สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร

นอกจากเห็ดก็ยังมีสมุนไพรที่ปลูกร่วมกับยางบนแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีพืชเชิงสูง เชิงกลาง และพืชสมุนไพรที่อยู่ตามหน้าดิน รวมไปถึงการพัฒนาไม้ยางให้เป็นวัสดุก่อสร้างที่เล่าให้ฟัง

สัปดาห์ก่อนที่ไปวิถีตรัง จังหวัดตรัง เจอลูกชายคุณด้วย

ใช่ ๆ (ยิ้ม) ผมมีลูกชาย 2 คน คนที่เจอคือคนน้อง เพราะคนพี่อยู่นิวซีแลนด์ ยังกลับประเทศไม่ได้ ส่วนคนนี้เพิ่งเรียนจบ กลับมาดูงาน

ลูกชายสนใจธุรกิจของพ่อไหม

ก็เริ่มสนใจนะ (หัวเราะ) คนรุ่นใหม่นี่ความคิดความอ่านเร็วมาก แต่เรื่องประสบการณ์ เราต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เขา ผมก็พยายามปลูกฝังเรื่องวิธีคิด เรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งคู่เรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก ก็พยายามดึง ๆ ให้กลับมาเรียนรู้ธุรกิจบ้าง

ตอนนี้เขาเข้ามาช่วยเรื่อง Marketing ปกติเราไม่เคยมีการตลาดแบบนี้ ขายเป็น Mass ส่งไปจีน เดือนหนึ่ง 500 ตู้ 1,000 ตู้ ไม่เคยขายปลีกออนไลน์ พวกลูก ๆ เขาเร็วเรื่องเทคโนโลยี รุ่นผมนี่หมดสิทธิ์ ยังไงก็ต้องฟังไอเดียเขา ปล่อยให้เขาทำ 

วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของ Woodwork ธุรกิจไม้ยางแปรรูปจังหวัดตรังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผู้เปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นป่า

จากที่เคยเป็นนักธุรกิจที่ทำแต่ธุรกิจของตัวเอง วันนี้ทำโครงการมากมายกับชุมชน คนในท้องที่ คุณมองบทบาทตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไร

ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจในอนาคตเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องทำให้เกิดคุณค่ากับผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำอะไรให้ส่วนรวม สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ผมโชคดีที่ Woodwork พัฒนาคนมาตั้งแต่แรก ตอนนี้คนในทีมผมเก่งมาก ๆ ทั้งในเรื่องบริหารจัดการโรงงาน จัดการองค์กร หรือดำเนินงานต่าง ๆ ผมแทบจะไม่ต้องเข้าไปช่วยอีกแล้ว เราจะคุยกันเฉพาะเรื่องหลัก ๆ อย่างนโยบายหรือกลยุทธ์ใหม่ ๆ ทำให้ผมมีเวลามากขึ้น ได้ไปทำงานภาคสังคม ได้มานั่งคุยกับ The Cloud งานไหนทำแล้วเกิดประโยชน์กับคนในชุมชนหรือองค์กร ทำให้เขาพัฒนามากขึ้น งานนั้นก็อยากทำ

เหมือนงาน Good Business Trip ที่ The Cloud จะพาคนไปเยี่ยมวิถีตรัง ผมก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ผมอาจจะให้ไป 10 อย่าง เขาเอาไปทำให้เกิดประโยชน์อย่างเดียวก็มีความสุขแล้ว

การทำงานเพื่อสังคมอาจไม่ได้กำไรเป็นเม็ดเงิน แต่กำไรที่คุณวิถีได้คืออะไร

ถ้าเทียบกับหลัก 4อ ที่ตัวเองเปลี่ยนมากที่สุดเลยคือ อารมณ์ 

แต่ก่อนเวลามีอะไรมากระทบกระทั่งเรา นึกภาพเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ก็จะฟึดฟัด หงุดหงิด ผมปลูกต้นไม้มา 5 ปีแล้ว กว่าจะโตต้องรอ 20 – 30 ปี เราเลยกลับมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้อยู่ได้อีก 20 – 30 ปีจะได้ถึงวันที่ต้นไม้มันโต ผมอยากเห็น

ถ้าเป็นวัตถุ คุณต้องจ่ายค่าดูแลรักษาเพื่อให้งดงาม แต่ต้นไม้นี่งอกงามด้วยตัวของมันเอง เราไม่ต้องทาสี ไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่รดน้ำ ให้ความรัก มอบหัวใจให้มัน ถ้าส่วนไหนของมันบดบังเรา ก็แค่เอามีดไปตัดออก เราทำแค่นั้นเลย แล้วมันจะโตสวยงามขึ้นทุกวัน

เป็นความสุขที่ได้เห็นมันเติบโต เหมือนเวลาเราทำงาน เห็นงานสำเร็จก็มีความสุข เวลามีครอบครัว เห็นลูกเติบโตอย่างแข็งแรงก็มีความสุข คุณลองไปทำสวนดูนะ คุณจะได้อาหารที่ดี ได้ออกกำลังกาย คุณจะได้เจอหมอน้อยลง 

หรืออาจจะเป็นด้วยวัยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เริ่มจะแก่ (หัวเราะ)

แปลว่าที่บ้านต้นไม้เยอะ

ใช่ บ้านอยู่กลางเมืองเลยนะ ตรงอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ซึ่งมีต้นไม้เยอะอยู่แล้ว ผมไปทำอะไรที่ไหนจะได้อานิสงส์จากสิ่งแวดล้อมตลอด หน้าบ้านเลยเป็นวิวสวนเลย ในโรงงานก็เหมือนกัน ร่มรื่น เขียว สวยงาม

คำถามสุดท้าย คุณพัฒนาคนมาเยอะ ทั้งในฐานะผู้บริหาร พ่อ และประชากรชาวตรัง เราจะสร้างคนที่เห็นคุณค่าของจังหวัด ชุมชน และสังคม ที่เขาอาศัยอยู่ได้ยังไง

ไม่ว่าจะทำอะไร คุณต้องมี Sense of Belonging ความเป็นเจ้าของเป็นได้ทั้งกรรมสิทธิ์ทางนิติกรรมและจิตวิญญาณ อย่างกลุ่มแลตรังยั่งยืนก็มีความเป็นเจ้าของ ถ้าใครได้ไปเยี่ยมวิถีตรังก็ควรจะมีความรู้สึกนี้เช่นกัน

มองแบบนี้นะ เราอยู่บนโลกใบนี้ไม่เกิน 30,000 วันหรอก ไม่มีใครเกินนี้ ความเป็นเจ้าของอาจแค่มาแล้วก็ไป แต่ถ้าทุกคนรู้สึกถึง Sense of Belonging กับโลกใบนี้ เราน่าจะร่วมสร้างสิ่งที่สวยงามได้ 

จังหวัดตรังเราพยายามสร้างแนวคิดแบบนี้ คุณเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตรัง คุณก็เป็นเจ้าของตรัง ณ ชั่วขณะหนึ่ง ไม่มีเจ้าของคนไหนอยากทำลายของตัวเอง เราจึงสร้างแนวคิดนี้ให้กับการท่องเที่ยวเมืองตรัง อยากให้ทุกคนได้สัมผัสตรัง ได้ดูแลรักษา และเรียนรู้จากจังหวัดของเรา

วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของ Woodwork ธุรกิจไม้ยางแปรรูปจังหวัดตรังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผู้เปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นป่า

Questions answered by the Chairman of Woodwork Co.,Ltd. 

1.เมนูกาแฟโปรด

อเมริกาโน่กับคาปูชิโน่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอเมริกาโน่เพราะงดน้ำตาลอยู่ ร้อนเย็นแล้วแต่สภาพอากาศ กลางวันหรือเช้า ๆ ก็ร้อน เย็น ๆ หรือเวลาออกกำลังกายจะดื่มเย็น

2.หนังสือที่อยากให้ลูกชายอ่าน

หนังสือที่พูดเรื่อง Mindset ทัศนคติ จินตนาการภาพบวก เราให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้อ่านแล้ว ตาไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่ดู TikTok แต่ก็เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ ฟังกับรับภาพมันง่ายกว่า เร็วกว่า

3.ข้อดีของตัวเองที่อยากส่งต่อให้ลูก

ความเป็นคนมีน้ำใจ พอโตขึ้น เราจะให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง ตัวเองไม่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 

วันนี้ผมคุยกับ The Cloud ผมก็ต้องดูว่า The Cloud อยากได้อะไรจากเรา ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูด แต่ต้องเกิดประโยชน์ได้ด้วย 

อีกเรื่องคือความเชื่อว่า ความดีจะชนะทุกอย่าง ฉะนั้น คุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

4.บทเรียนจากกีฬากอล์ฟ

สอนให้เป็นคนนิ่ง รู้จักวางแผน ที่สำคัญคือซื่อสัตย์ เวลาเราตี ไม่มีกรรมการมากำกับเรา เพราะฉะนั้น ต้องซื่อสัตย์ นับถือตัวเอง และให้คุณค่าตัวเอง

5.ทริปล่าสุด

ไปเที่ยวญี่ปุ่น

6.คำพูดติดปาก

นึกไม่ออก มันแล้วแต่เรื่องสนทนาและคู่สนทนา ผมจะมองเขาเป็นหลัก

7.ร้านอาหารในตรังที่พลาดไม่ได้

ร้าน Richy หรือถ้าอยากกินอาหารอิตาเลียนก็ Lion’s Tale อีกอันที่ต้องไปยกเว้นตอนกลางคืนฝนตก คือ โกปี๊ โกปัง เป็นร้านกาแฟสไตล์คนเมืองตรัง พวกผมไปกันบ่อย ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 30 บาท โม้ได้ทั้งคืน คุ้มมาก (หัวเราะ)

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ