สำหรับหลายคนอาจจะรู้จัก วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ในฐานะนักออกแบบ และกัปตันทีมสตูดิโอ DuckUnit สตูดิโอที่ทำงานในหลากหลายสาขา และยังมีผลงานโดดเด่นออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นสตูดิโอออกแบบที่เริ่มบุกเบิกการใช้แอนิเมชัน โมชันกราฟิก ภายในงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ถ้าเราเห็นงานเหล่านี้ก็ต้องร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน

สำหรับบางคนที่มีอายุมากกว่านั้นอีกหน่อยก็อาจจะพอจำเขาได้จากการเป็นนักแสดงรวยอารมณ์ขันในรายการ ยุทธการขยับเหงือก เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเขาก็คือ เขาเป็นคนชอบการปั่นจักรยานทางไกล และพายเรือในแม่น้ำคูคลองตามจังหวัดต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องด้วย

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

สำหรับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่ค่อยคุ้นหน้าวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ แล้วเอาชื่อนี้ไปเสิร์ชในเว็บไซต์สำหรับผู้บริหารระดับสูงอย่างกูเกิล คุณก็จะได้เห็นหน้าตาของผู้ชายตัวสูงที่ผอมบาง ไม่ได้มีมัดกล้ามหรือลักษณะของความเป็นนักกีฬาอะไรพวกนั้นแม้แต่น้อย

ซึ่งมันก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ใช่ว่านอกจากการปั่นจักรยานและการพายเรือที่เรียกได้เต็มปากว่าเลยเถิดจากการเป็นกีฬาที่ชอบไปไกลมาก เพราะเขาเป็นตัวตั้งตัวตี และเจ้าของสิทธิ์การจัดงานปั่นจักรยานทางไกล ในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนในยุคนั้นอย่าง Audax Randonneurs ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส

เป็นเหมือนการปั่นจักรยานท่องเที่ยวผสมกับการแข่งแรลลี่ที่ไม่มีการปิดถนนใดๆ ไปจนถึงการใช้อาสาสมัครมาช่วยกันจัดงานปั่นจักรยานทางไกลจนแพร่หลายออกไปเกือบทุกจังหวัด และทำให้รูปแบบการปั่นจักรยานทางไกลแบบนี้กลายมาเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานในบ้านเรา

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ เราทราบข่าวจากหน้านิวส์ฟีดว่าวิชญ์ได้ออกเดินทางไปเข้าร่วมการปั่นจักรยานทางไกล บนเส้นทางที่เป็นเหมือนตำนานของการปั่น Audax Randonneurs เพราะมันคือเส้นทางการปั่นจักรยานทางไกลที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ระยะทาง 1,200 กิโลเมตร จากเมืองปารีส-แบรสต์-ปารีส โดยทุกคนที่เข้าร่วมงานต้องถึงเส้นชัยภายในเวลา 90 ชั่วโมง หรือไม่ถึง 4 วันเต็มนั่นเอง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในการเข้าร่วมของเขา

ครั้งแรกที่ไปนั้นเขาพ่ายแพ้กลับมา เนื่องจากปั่นให้จบภายในเวลาที่กำหนดไม่ได้ เวลาผ่านไป 4 ปี ครั้งนี้เขาทำสำเร็จ

วิชญ์ย้ำเสมอว่า เขาไม่ใช่นักกีฬาและไม่ได้ชอบเล่นกีฬา แม้แต่เกมที่เกี่ยวกับกีฬา เขายังไม่แม้แต่สนใจจะเล่นเลย

แต่ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร โดยเฉพาะตัวเลขของระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ที่บอกกับเราว่าคนที่จะผ่านการปั่นแบบนี้ได้ต้องเตรียมพร้อมมาอย่างดี แล้วอะไรทำให้ชายคนที่ย้ำอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ใช่นักกีฬา พาตัวเองมาได้ไกลขนาดนี้ และนี่คือเรื่องราวการได้เจอโลกใบใหม่ที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนของวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ผ่านการเดินทางด้วยยานพาหนะ 2 ล้อที่เรียกว่าจักรยาน

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

คุณเริ่มต้นมาสนใจจักรยานตอนไหน

ผมได้จักรยานมาเมื่อแปดปีที่แล้วหลังน้ำท่วมใหญ่ ไปช่วยงานมูลนิธิโลกสีเขียวที่เขารณรงค์เรื่องการใช้จักรยานมา พอได้ค่าออกแบบก็เลยเอาไปซื้อจักรยานพับมาคันหนึ่ง ด้วยความที่ผมเบื่อรถติด เบื่อกรุงเทพฯ ก็เลยเริ่มจากลองปั่นจักรยานเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ครั้งแรกคือจากคลองโคนไปชะอำ ระยะทางไป-กลับแปดสิบกิโลเมตร ไปแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้แค่ว่า หูว สนุกจัง แล้วก็เริ่มติด ตอนนี้แทบนับอาทิตย์ที่จะไม่ออกไปปั่นจักรยานหรือพายเรือได้เลย

ไอ้การปั่นจักรยานทางไกลที่ทั้งร้อนทั้งทรมาน มีอะไรที่ทำให้คุณสนใจขนาดนั้น

มันมีอิสระที่จะหยุดได้ เวลาเราขับรถเหมือนมีวิธีคิดบางอย่างที่ทำให้เราหยุดไม่ได้ แต่จักรยานมันไม่เหมือนกัน ยิ่งพอมาจัดงานอย่าง Audax Randonneurs ก็ได้มาเห็นว่ามีเส้นทางอยู่เต็มไปหมด ก่อนหน้านี้เราคิดว่าจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ มีแค่สายเอเชียเส้นเดียว อีสานมีมิตรภาพ แต่จริงๆ แล้วมันมีทางอื่นๆ อยู่เยอะมาก ซึ่งถ้าเราไม่ออกจากถนนสายหลักก็จะไม่มีทางได้รู้จักเลย

แล้วเส้นทางเหล่านั้นไปด้วยการขับรถไม่ได้เหรอ

ขับได้ แต่เหมือนเราโดนโปรแกรมบังคับเส้นทางให้เลือกไปแต่เส้นทางหลัก ยิ่งถ้าใช้ชีวิตบนรถยนต์กับเครื่องบิน เราจะคิดแค่จากจุดเริ่มไปถึงจุดหมาย ไม่สนใจจุดอื่น ซึ่งเราเองก็คิดว่าเราเลือกได้ แต่จริงๆ แล้วเราเลือกไม่ได้ นั่งเครื่องบินไปถึงปุ๊บก็เช่ารถขับไปแต่ที่เดิมๆ ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเรารู้และเลือกที่หมายเอง ที่จริงแล้วไม่ใช่ สื่อและกระแสมันบอกให้เราเลือก แต่เราไม่เคยฟังเสียง Tempo ของประเทศจริงๆ จักรยานมันทำให้เราเห็นเอง ด้วยธรรมชาติที่ต้องหนีออกจากถนนใหญ่เพราะรถเยอะ ยิ่งทำให้เราได้เห็นทางเส้นอื่น

ตัวผมเองโง่อยู่นาน จากที่เราคิดว่าเมืองไทยเล็กนิดเดียว มีแค่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น มันไม่มีที่อื่นพอไปมาสี่ที่นี้คือครบหมดแล้ว ทีนี้เราก็ต้องไปสิงคโปร์ต่อ จากนั้นก็ต้องจ่ายเงินเยอะๆ ไปยุโรป ซึ่งไอ้เส้นทางเล็กๆ ทั้งหลายที่เราไม่รู้จักมันมีธรรมชาติสวยๆ เต็มไปหมด

ถนนที่น่าเกลียดก็มีอยู่แค่สายเอเชียแหละ สถานที่ท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต เขาหลัก สมุย ที่คนพูดกันว่าเสียหายหมดแล้ว มันพังแค่ตรงที่อยู่ในไกด์บุ๊กหรืออินสตาแกรมแค่นั้นแหละ ที่เหลือแม่งโคตรสวย เลยจากเขาหลักไปยี่สิบกิโลฯ มีหาดบางสักที่สวยมาก ซึ่งเราก็เจอจากการปั่นจักรยานมั่วๆ ไป 

การได้ปั่นจักรยานทำให้เรารู้สึกว่าไม่โดนปิดกั้นเท่ารถยนต์ เครื่องบิน หรือที่องค์การการท่องเที่ยวบอกให้เราทำ พอมีความรู้อะไรแบบนี้ก็ไม่คิดว่าต้องใช้เงินเยอะแล้ว ตอนนี้ผมไม่มีความต้องการที่จะไปยุโรปตอนเกษียณ หรือไปเที่ยวเมืองนอกปีละสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องไปดูแสงเหนือที่อะแลสกา ที่นอร์เวย์ เพราะแค่สิงห์บุรีเรายังไม่รู้จักเลย เราแค่ต้องมีเวลาไปดูสิงห์บุรีอีกแบบเท่านั้นเอง

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ถ้าชอบปั่นจักรยานแบบนั้นก็ดีอยู่แล้ว อะไรที่ผลักดันให้คุณกลายมาเป็นคนจัดงานปั่นจักรยานทางไกลอย่าง Audax Randonneurs

ตามนิสัยเด็กสถาปัตย์ฯ ที่ไปเห็นไอ้จักรยานดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ แบบที่มีตะแกรงติดรอบๆ เข้า แล้วสงสัยว่ามันคืออะไร ก็ค้นหาจนได้เจอคำว่า Randonneurs เข้า (อ่านว่า ร็องดอนเนอร์ หรือจักรยานแบบปั่นท่องเที่ยวพักแรมในภาษาฝรั่งเศส-ผู้เขียน) ก็ไปเสิร์ชๆ ต่อมากขึ้น จนเจอว่ามันมีการปั่นจักรยานทางไกลที่เริ่มต้นที่ระยะทางสองร้อยกิโลเมตร ซึ่งตอนนั้นมีอยู่หลายที่ในโลกแล้ว แต่ยังไม่มีที่บ้านเรา

เลยเขียนไปถามทางคนจัดว่าจะจัดยังไงได้บ้าง และตกกระไดพลอยโจนได้สิทธิ์ในการจัดมาแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วการปั่นจักรยานทางไกล Audax Randonneurs เนี่ยมันง่ายมากเลยนะ มันเป็นการจัดโดยไม่แสวงหากำไร ทีแรกคิดว่าจะไม่ได้จัดอะไรมากมาย แค่เอาเวลาที่จะไปเที่ยวสิงคโปร์มาปั่นจักรยานอันนี้แทนแค่นั้น แล้วตอนเริ่มต้นก็จัดการกันอยู่แค่สามคนเอง

ตอนแรกสุดคิดว่าจะทำแค่สองร้อยกิโลเมตรเท่านั้นแหละ แต่พอคนมาร่วมเยอะ แล้วก็ปั่นผ่านสองร้อยกิโลเมตรมาแล้ว เลยมาทำสามร้อยกิโลฯ และก็เริ่มไหลมาเป็นสี่ร้อย หกร้อยกิโลฯ เพื่อให้ได้สิทธิ์ไปลองระยะหนึ่งพันสองร้อยกิโลฯ หรือ PBP ด้วย

ก่อนหน้านั้นในบ้านเราไม่มีการปั่นจักรยานทางไกลเหรอ

ตอนนั้นมีไกลที่สุดก็คือสองร้อยกิโลเมตร กรุงเทพฯ-หัวหิน จัดขึ้นปีละครั้ง ใครจบได้ก็คือเท่มากแล้ว นอกนั้นที่มีอย่างมากคือหนึ่งร้อยกิโลเมตร

ซึ่งไอ้รูปแบบการปั่น Audax Randonneurs ไม่ใช่แบบที่ทุกคนในตอนนั้นเข้าใจ คนมาปั่นก็งงว่าไม่เห็นจัดการอะไรให้ ไม่มีการปิดถนน ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้คนปั่นจักรยานจะชินกับการที่ต้องปิดถนนให้ เอาความเร็วเป็นที่ตั้ง หรือถ้าเป็นสายท่องเที่ยวก็คือไม่มีกำหนดเวลาอะไรเลย แต่นี่มันอยู่ก้ำๆ กึ่งๆ เราแค่เตรียมเส้นทางไว้ให้แล้วมีใบบอกเส้นทาง ไปถึงจุดเช็กพอยต์ก็ประทับตราแล้วปั่นต่อ แค่นั้นเลย

Audax ไม่ได้มีรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องปั่นเป็นกลุ่ม จะปั่นคนเดียวก็ได้ จะทำอะไรก็เชิญ เอาจักรยานอะไรมาปั่นก็ได้ทั้งนั้น พอทำซ้ำไปสักสองปีสามปีมันก็จะมีคนเข้าใจมากขึ้น และเริ่มฮิตขึ้นมา เริ่มมีคนมาปั่นหลายร้อยคน เส้นทางเริ่มแพร่หลายออกไป ก็มาเกิดเหตุการณ์ว่าพี่ที่สนิทคนหนึ่งมาปั่น Audax สามร้อยกิโลเมตรที่เขาใหญ่ แล้วเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

ตอนนั้นขวัญเสียกันหมด มีความคิดอยากจะเลิกแล้ว แต่ภรรยาพี่เขามาบอกว่า พวกเธออย่าเลิกปั่นจักรยานนะ เราก็มาคิดว่าถ้าเราเลิกทำ มันคงไม่มีสถานที่หรือกิจกรรมที่ให้เราได้คิดถึงพี่คนนี้ เลยคิดว่าอย่างน้อยเราก็ควรทำให้เป็นที่สำหรับระลึกถึงพี่คนนี้ ก็เลยทำต่อ

ทีนี้มันก็เริ่มขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ใหญ่โตขึ้น มีคนจากจังหวัดโน้นจังหวัดนี้มาติดต่อขอจัดเพิ่มขึ้น เพราะเส้นทางที่จัดขึ้นมาก็เป็นเหมือนของๆ จังหวัดเขาเลย แล้วการจัดแบบ Audax นี้ มันเป็นการจัดที่แทบไม่ต้องใช้เงินมากมาย เพราะการจัดการทุกอย่างใช้ระบบอาสาสมัครทั้งหมด มีกฎเลยว่าห้ามติดโลโก้สปอนเซอร์

นี่เป็นการจัดการกีฬาอีกแบบหนึ่งซึ่งเราไม่เคยเจอเลยนะ เรา Self-sustain ดูแลตัวเองได้ เหมือนกับเราได้สร้างเครือข่ายอะไรสักอย่างขึ้นมา และการปั่นจักรยานทางไกลแบบนี้ของไทยนี่มหัศจรรย์มาก เพราะว่าประเทศไทยคือมหาอำนาจ Audax ของโลก มีจำนวนคนที่มาเข้าร่วมเยอะมาก เคยอยู่ที่หนึ่งของโลกเมื่อสามปีก่อน

สมัยก่อนเพื่อนๆ ชอบแซวว่าผมเป็นคนสังคมอักเสบ คือไม่ค่อยอยากยุ่งอะไรกับใคร พอกลายมาเป็นคนจัดงาน Audax ก็เริ่มได้เห็นว่าบางจังหวัดที่ไม่ได้เป็นหมุดหมายอะไรก็แทบไม่มีคนรู้จัก พอมาจัดงานปั่นจักรยานก็กลายมาเป็นที่หมายปลายทางของบางคนขึ้นมา เขาก็ภูมิใจในจังหวัดของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งใครหรือแม้แต่ระบบราชการ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากที่เห็นหลายๆ จังหวัดจัดงาน

สิ่งนี้ช่วยปรับพฤติกรรมให้เราเคารพคนอื่นมากขึ้น คุยกับคนอื่นมากขึ้น ปรับจิตใจเรา ช่วยเปิดทัศนคติ และเปิดโลกเรามาก เรามีเพื่อนทุกจังหวัดก็รู้สึกว่าดีจัง เลยคิดว่า เออ สงสัยดวงมันจะให้มาทำอะไรแบบนี้แล้วล่ะ ก็เลยประคองมันมาเรื่อยๆ 

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ถ้ามองการปั่น Audax ในบ้านเรา กับที่คุณได้ไปปั่นมาที่ฝรั่งเศส มันแตกต่างกันยังไงบ้าง

เพราะต้นแบบของการปั่นมาจากฝรั่งเศส เราก็จะรู้สึกว่ามันดูฝรั่งๆ หน่อย แต่พอมันมาอยู่ในเมืองไทยก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เข้ากับวัฒนธรรมและสังคมบ้านเรามาก อย่างเช่นการได้ไปนอนในวัด อาหารก็เป็นขนมจีนที่บ้านนี้เขาทำมาให้กินกัน

หรือถ้าปั่นจักรยานตอนเที่ยงๆ ร้อนๆ ก็จะเจอคุณลุงนั่งอยู่ใต้ต้นไม้แล้วเดินเอาน้ำจากในบ้านเขามารินให้เรา เขาไปยืนให้น้ำอยู่ทั้งวัน เขาอาจจะไม่ได้รวยเงินด้วยซ้ำ แต่รวยเวลา หรือตอนไปปัตตานี มันไม่มีน้ำ เห็นกองมะพร้าวอยู่ข้างทาง เลยขอซื้อมะพร้าวแทน เขาบอกอันนี้มันแก่แล้วไม่ขายให้ แต่เขาพาลิงไปปีนต้นเอามะพร้าวใหม่ๆ มาให้ พอถามว่าเท่าไหร่ เขาบอกไม่คิดเงิน ให้ฟรี

หรือตอนไปปั่นที่มหาสารคาม คือกลางอีสานเลยนะ และไม่มีใครพูดภาษากลางกับเรา ทั้งๆ ที่เราห่างกับเขาแค่นี้เอง แต่พอพูดถึงอีสาน เรารู้จักแค่โคราช ขอนแก่น ยโสธร ที่เหลือเราก็ไม่รู้อะไรอีกแล้ว หรือบนถนนเส้นรองๆ ก็ยังมีบ้านอีสานแบบสมัยก่อนที่มีฟางข้าวตั้งอยู่ข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ไปด้วยเส้นทางแบบนี้ก็ไม่มีทางเจอ

เท่าที่ฟังก็มีแต่เรื่องที่ดีและสนุกไปหมดทุกเรื่องเลย

Audax มันคือการปั่นจักรยานที่ทรมานเป็นทุนเดิม เป็นการพาเราไปอยู่ในจุดต่ำที่สุดของชีวิตแล้ว (หัวเราะ) จะประกอบอาชีพอะไร นายพล นักธุรกิจ จะใหญ่แค่ไหนก็ต้องไปนอนข้างถนน นอนในวัด เท้าก็เหม็น น้ำก็ไม่มีให้อาบ มันพาเราไปอยู่ในจุดต่ำที่สุดและทรมานสุดๆ ถ้าเราผ่านอันนี้ได้ทุกอาทิตย์ ชีวิตก็สบายแล้ว

อย่างตอนไปปั่น PBP ที่ปารีสก็แบบนี้เหมือนกัน มันจะมีโรงยิมที่เปิดให้นอนพัก กลิ่นเท้ากลิ่นอะไรเต็มไปหมด น้ำก็มีแต่น้ำเย็น ไม่มีน้ำอุ่นเลยไม่อาบน้ำ ไม่รู้ใครเป็นใคร ไม่มีอะไร บางคนบอกว่าปั่นไปทำไม วิวก็มีแต่ทุ่ง แต่ไม่ใช่ มันเป็นสปิริตของคนปั่น แค่ไปดูคนปั่นก็คุ้มแล้ว

อะไรคือสปิริตของ Audax

มันคือคนที่ทำอะไรแบบไม่ถือตัว ไม่อวดว่าฉันทำอะไร คนที่ทำได้ไม่ค่อยขี้โอ่ ไม่มีการประกาศว่าใครเป็นที่หนึ่ง ตอนเข้าจุดเช็กพอยต์ก็บอกแค่ว่าผ่าน ตอนที่ผมจบเส้นทางนี้ก็ อ้าว จบแล้วเหรอ ตอนเข้าเส้นชัยก็มีคนที่ซึ้ง แต่มันก็ไม่ได้อลังขนาดนั้น จบแล้ว ง่วงว่ะ มันก็แค่ผ่านไป ถามว่าทำอะไรต่อ ก็ปั่นซ้ำ

หลายคนที่มาปั่นระยะทาง 1,200 กิโลเมตรนี้คือปั่นจบมาแปดครั้งสิบครั้ง เหมือนเป็นการทำอะไรสักอย่างตลอดทั้งชีวิต ถ้าทำงานในระบบ Commercial ทำงานเร่งเหมือนใส่ปุ๋ย มันจะทำให้มีอีเวนต์ที่มีคนเยอะมหาศาล อัดเงินเข้ามาโปรโมต แล้วก็เลิกไปในเวลาไม่นาน ก็เลยชอบสปิริตของ Audax แบบนี้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยความต่อเนื่อง ยั่งยืน วัดกันนานๆ

ผมเคยเห็นคุณโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าเมื่อก่อนไม่เคยชอบการปั่นจักรยานกลางคืน แต่หลังๆ กลับชอบมาก ไอ้การปั่นจักรยานตอนกลางคืนนี่ก็ถือเป็นสปิริตอย่างหนึ่งของ Audax ด้วยไหม

เมื่อก่อนปั่นจักรยานตอนกลางคืนนี่กลัวไปหมดเลยนะ กลัวผี กลัวนู่นนี่ จำได้เลยว่าเส้นทางเจ้าพระยาสี่ร้อยกิโลเมตร ตอนแรกปั่นไปกับเพื่อนแล้วเราปั่นไม่ค่อยไหว แต่เพื่อนยังสภาพดีอยู่เลยให้เพื่อนปั่นนำไปก่อน ก็ปั่นคนเดียวไปเรื่อยๆ จนเจอศาลาริมทาง สภาพเหมือนในหนังผีเลย เก่าๆ หลอนๆ คือยังไงก็ต้องมีผีนั่งรออยู่ ตอนนั้นพอเจอศาลาปุ๊บก็เข้าไปนอนเลย มันไม่มีแรงเหลือจะไปฟุ้งซ่าน ไม่กลัวแล้วผี กลัวไม่ได้นอน จากนั้นก็เลิกกลัวผีไปเลย

ถ้าเรายังฟุ้งซ่านอยู่ เราก็จะไปคิด บางทีปั่นๆ ไปแล้วเจอเงาตะคุ่มๆ ถ้าเป็นตัวเองสมัยก่อนก็จะคิดว่าเป็นผีแน่นอน ก็เลยทักทายไปว่า สวัสดีครับ ปรากฏว่าเป็นคนกำลังหาปลาอยู่ ถ้าใจเราไม่คิดมันก็ไม่คิด นอนข้างเมรุ นอนข้างโลงศพ มีครบทุกอย่าง แล้วพอตัดความกลัวผีออกไป กลายเป็นว่าการใช้เวลาตอนกลางคืนนี่ทำให้รู้สึกเงียบจังเลย เริ่มสังเกตว่า วันนี้พระจันทร์เต็มดวง พอเราเห็นมิติว่ากลางคืนมันสวยแบบนี้ได้เนี่ย เราก็ได้เวลาเพิ่มมาอีกครึ่งหนึ่งเลยนะ เป็นอีกครึ่งที่เราไม่เคยใช้ ไม่เคยเห็นมาก่อน

การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แล้วความคิดในการปั่นจักรยาน 1,200 กิโลเมตร ทุกๆ 4 ปี มันมาตอนไหน

เราก็ปั่นมาเรื่อยๆ สองร้อย สามร้อย สี่ร้อยกิโลเมตรได้ ตอนนั้นรู้แล้วว่าทุกๆ 4 ปีจะมีการปั่นเส้นทาง PBP (Paris-Brest-Paris) ระยะหนึ่งพันสองร้อยกิโลเมตร ที่เป็นเหมือนตำนานยิ่งใหญ่มาก แต่ยังขาดระยะทางหกร้อยกิโลเมตร แต่ถ้าไม่จบครบทั้งสี่รายการจะสมัครไปปั่นเส้นนี้ไม่ได้ ก็เลยอยากไปลองดูว่าเป็นยังไง

ซึ่งตอนนั้นในบ้านเรายังไม่มีสนามหกร้อยกิโลเมตร เลยต้องไปขอให้ทางระยอง เครือข่ายปั่นจักรยานทางไกลภาคตะวันออก ช่วยทำให้หน่อย ไม่ได้คิดว่าคนปั่นถึงยี่สิบคนหรือเปล่า ปรากฏว่าได้มาห้าร้อยกว่าคน เราจึงได้สมัครไป PBP เป็นครั้งแรกเมื่อสี่ปีก่อน 

ทำไมต้องเป็นทุก 4 ปี

เป็นฟอร์แมตมาตั้งแต่ 1893 แล้วนะ ไอ้การจัดทุกๆ สี่ปีครั้งอาจจะเป็นรูปแบบเหมือนโอลิมปิกสมัยก่อนก็ได้ มันเก่าแก่ มันขลังที่สุดแล้ว เก่ากว่า Tour de France อีก แล้วกฎกติกาก็คล้ายๆ กับที่เราจัด แต่ระยะทางหนึ่งพันสองร้อยกิโลฯ นี้ก็ต้องปั่นให้จบในเก้าสิบชั่วโมง 

บรรยากาศการไปร่วมปั่นจริงๆ ครั้งแรกมันเป็นยังไงบ้าง

พอไป PBP จริงๆ เรารู้สึกว่า เฮ้ย PBP นี่มันคือบ้านนอกฝรั่ง เมืองแบรสต์ อยู่ในแคว้นบริตตานี ที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส เป็นแคว้นที่ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยดี การปั่นจักรยานเป็นเหมือนกิจกรรมเด่นประจำแคว้น พอเจอคนเข้าไปปั่น พวกชาวบ้านที่เขาไม่ได้รวยแต่ก็มีน้ำใจเหมือนคนไทย มีการตั้งซุ้มเหมือนซุ้มสงกรานต์ ตั้งซุ้มเหมือนปาร์ตี้กัน พวกที่ไปนั่งสัปหงกหน้าบ้านหรืออาการไม่ดีเขาก็เรียกเข้าไปนอนในบ้าน เอาน้ำมาให้ ซึ่งเราไม่คิดว่าวัฒนธรรมฝรั่งมันจะมีแบบนี้ PBP ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดที่มีต่อคนฝรั่งเศสไปเลย 

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าคนฝรั่งเศสจะเป็นคนแข็งๆ เชิดๆ กลายเป็นได้ข้อสรุปใหม่ว่าคนต่างจังหวัดไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็เหมือนกัน คือมีน้ำใจ มีเวลาเหลือเฟือ ส่วนคนเมืองก็จะเป็นคนเร่งๆ รีบๆ ขี้หงุดหงิด

สมมติว่าจัดปั่น Audax ในกรุงเทพฯ แล้วมีคนลืมของไว้ ผู้จัดจะเซ็งมากที่ต้องมารับผิดชอบ แต่ในขณะที่คนนครปฐมเขากุลีกุจอจะเอามาคืนให้ แค่ปริมณฑลแต่วิธีคิดคนละเรื่อง ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำงานหรือเจอคนเยอะๆ เราก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นยังไง กรุงเทพฯ ก็เหมือนเป็นที่ที่เอาคนใจดีๆ รอบกรุงเทพฯ ทั้งหมดมาอัดรวมเป็นปลากระป๋องสิบล้านคน ยังไงมันก็ต้องเครียด พอคิดแบบนี้ได้เราก็ไม่เครียดละ

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แล้วการไปปั่นเส้นทาง PBP ครั้งแรกนั้น คุณเตรียมตัวยังไง

ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย คือคิดว่าปั่นจบหกร้อยกิโลเมตรมาแล้วก็แค่ปั่นต่อไปอีกเท่าหนึ่งแค่นั้นเอง 

สรุปว่าไปปั่นมาแล้วเป็นยังไงบ้าง

ไม่จบ 

ถ้าเป็นเกมก็คือเลเวลไม่ถึง คนที่ไปปั่นส่วนมากในเส้นทาง PBP คือพวกนักปั่นจักรยานระดับโปร ได้รางวัลกันหมดทุกคน มันไม่ได้มีแค่เรื่องของระยะทางที่ไกลอย่างเดียว มีเรื่องความชันของเส้นทางด้วย ประชากรคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคกลางเป็นที่ราบมากๆ ตั้งแต่หน้าปากอ่าวไทยไปจนถึงสุโขทัยรวมกว่าห้าร้อยกิโลเมตร ตอนนั้นผมเคยไปเปิดแผนที่โลกดูนะ เพราะผมอยากรู้ว่าประเทศที่มีที่ราบแบบไทยนั้นมีอีกไหม มันไม่มี คนที่ไปด้วยยังชวนคุยเลยว่า คุณวิชญ์คิดว่ามันมีที่ราบๆ ซักกิโลหนึ่งไหม 

ซึ่งคุณก็ไม่รู้ก่อนไป?

รู้ครับ แต่ไม่คิดว่าจะขนาดนั้น เมืองไทยก็มีภูเขาอย่างสวนผึ้ง หรือไม่ก็เขาใหญ่ตอนบน ปากช่องก็เป็นเนินๆ ประเทศอื่นๆ ในโลกนอกจากประเทศไทย เนินๆ แบบนี้ก็เรียกว่าราบ แต่ความร้ายกาจของเนินก็คือมันไม่ได้ชันมากเหมือนเขา เราก็จะไม่ระวังตัว เห็นคนข้างหน้าปั่นเร็วเราก็จะปั่นตามเขาไป แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราจะผ่อนแรงยังไงจนสุดท้ายหมดแรง

ตอนแรกสุดเราวางแผนไว้ว่าจะปั่นไปด้วยความเร็วเฉลี่ยยี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อให้มีเวลาพัก ปรากฏว่าไปถึงเช็กพอยต์แรกก็พอดีเวลา พอมาถึงเช็กพอยต์อันถัดไป มันช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ไปสามสิบนาที ก็เลยพักสั้นลงไปอีก พอมาถึง เช็กพอยต์ถัดมาก็กลายเป็นไม่มีเวลาเหลือแล้ว เลยตัดสินใจปั่นออกไปกลางดึกหนาวๆ แรงก็หมดเลยไปนอนข้างทาง

อากาศตอนกลางคืนมันก็หนาวมากๆ นอนไม่หลับ จะลุกมาปั่นก็ไม่มีแรง จนสุดท้ายเราก็รู้ตัวแล้วว่าไม่มีทางปั่นจบในกรอบเวลาเก้าสิบชั่วโมง ก็คิดแค่ปั่นต่อไปเรื่อยๆ ถึงเมื่อไหร่ก็ช่าง แต่พอไปถึงเมืองแบรสต์ตอนห้าโมงเย็นจากที่ควรจะถึงตอนเที่ยง พอเห็นพระอาทิตย์ตกปุ๊บ ยังไม่ทันเย็นเลยนะ แต่กลัวความหนาวแล้ว พอมาคิดว่าต้องไปเจออากาศหนาวๆ แบบนั้นอีกก็เลยยอมแพ้

เรียนรู้อะไรจากตอนนั้นบ้าง

หนึ่ง เลเวลไม่ถึง และสอง ความหนาวมันน่ากลัวกว่าที่คิด

ที่คิดว่าคนเคยไปเรียนเมืองนอก ไปทำงาน ไปนู่นนี่มา อาจจะได้เปรียบ ผมมองว่าไม่จริงเลย เพราะว่าทุกคนที่ไปเมืองนอก ถึงเวลาหนาวก็เข้าห้อง เปิดฮีตเตอร์ อันนี้คือไม่ได้ เป็นเก้าสิบชั่วโมงที่อยู่นอกชายคาตลอด ต้องคิดว่าจะทำยังไง จะวางแผนยังไงกับสภาพอากาศ

การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

หลังจากแพ้กลับมาคุณเตรียมตัวยังไงบ้าง

ตั้งแต่กลับมาหลังจากแพ้ ปีแรกเราก็ตะกายฝาแบบโกรธแค้น แต่เข้าใจว่าไม่สำเร็จเพราะตัวเราไม่มีความสามารถพอ ความแค้นดำเนินมาได้ประมาณหนึ่งปี พอปีที่สอง ช่วงนั้นก็เริ่มห่างหายจากการซ้อม เพิ่งจะมาตั้งใจซ้อมเพื่อทำให้ได้ในปีนี้เอง

ถามว่าจะพิชิต PBP จริงๆ ทำยังไง มันต้องเข้าใจตัวเองว่าปั่นไกลๆ ทำยังไง การที่เราเป็นคนไม่แข็งแรง ไม่ได้เป็นนักกีฬามาตั้งแต่กำเนิด ขนาดวิดีโอเกมฟุตบอลยังไม่เล่น มันทำให้เราเริ่มสนใจเรื่องการจะทะลุขีดจำกัดร่างกายอันอ่อนแอของตัวเองให้ได้ ก็เลยเริ่มมาสนใจและจัดการการนอนของตัวเองมากขึ้น เริ่มนับเวลานอนและปรับให้เป็นระเบียบที่สุด คือนอนห้าทุ่ม ตื่นหกโมงเช้า ไม่มีมานอนมั่วซั่ว แล้วก็งดกาแฟตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไปจนถึงเลิกกินน้ำหวาน เลิกตามกันเป็นพรวนเลยนะพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีเนี่ย

ดูคุณทุ่มเทเพื่อเอาชนะการปั่นจักรยานเส้นทางนี้มากเลย

มันไม่ใช่การทุ่มเทเพื่อจะเอาชนะ แต่พอได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วรู้สึกเลยว่าเราดีขึ้น การที่เราได้นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา มันดีกับชีวิตเรามาก แค่นี้ก็มีประโยชน์แล้ว 

แค่การไม่กินกาแฟก็ทำให้เราไม่ต้องไปร้านกาแฟ ทำให้มีเวลามาทำนู่นนี่เยอะมาก หรืออย่างตอนไปก็พยายามใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง กลายเป็นว่าการปั่นจักรยานทางไกลมันเปลี่ยนทั้งร่างกายและใจ รู้เลยว่าสมัยก่อนน่าตบ ความอดทนต่ำ หงุดหงิดง่ายมาก 

นอกจากการเตรียมตัว มีการเตรียมอุปกรณ์อย่างอื่นด้วยไหม เหมือนครั้งก่อนคุณเตรียมข้าวสำเร็จรูปไปด้วยเพื่อแก้ปัญหาอาหารไม่ถูกปาก

ก็มีบ้าง แต่อย่างเรื่องข้าวนี่เราคิดไปเองว่าจะได้เจอรสชาติที่คุ้นเคย แต่คราวนี้เราเริ่มอ่านเมืองเขาออกไง คือทุกเมืองทุกตำบลจะมีโบสถ์อยู่ตรงกลาง แล้วใกล้ๆ นั้นจะมีร้านขนมปัง ซึ่งจะเปิดเช้ามาก หกโมงครึ่งก็เปิดแล้ว ผมก็แวะซื้อกินเพราะไม่อยากขนของไปเยอะๆ พอกินไปสักพักก็เริ่มสนุกแบบ เฮ้ย ขนมปังอันนี้มีแค่บางร้าน มันของพิเศษนี่หว่า ไปคราวหน้าจะสนุกมากเพราะจะไปหาของกิน มันคือทัวร์ของกินฝรั่งเศสแบบโลคอล เหมือนทัวร์กินส้มตำที่อีสาน อันนี้ใส่ปลาร้า อันนี้ไม่ใส่ ซึ่งครั้งที่แล้วเราก็ไม่เคยสนใจเรื่องแบบนี้ ไม่เคยมองมัน 

การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

พอได้เตรียมตัวไปแบบนี้แล้ว การไปปั่น PBP รอบนี้มันเป็นยังไงบ้าง

คราวนี้วันแรกก็เริ่มปั่นตั้งแต่เช้าไปจนถึงดึก พอห้าทุ่มปุ๊บก็กินกาแฟ ด้วยความที่งดมาตั้งแต่ต้นปี กาแฟก็เลยได้ผลมาก จากที่อยู่ในช่วงเวลานอนปกติ กาแฟทำให้แหก Cycle การนอนมาปั่นต่อได้จนถึงเจ็ดโมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาตื่นประจำของเรา กลายเป็นเราตื่นโดยอัตโนมัติแล้วก็ปั่นต่อเนื่องไปอีกทั้งวัน แล้วค่อยมานอนตามจังหวะเดิมของเรา

นี่คือวิธีของเราเอง ไม่รู้คนอื่นทำยังไง มันสนุกนะ พอพ้นวันแรกมา ยี่สิบเก้าชั่วโมงปั่นไปแล้วห้าร้อยกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นเวลาที่โอเค ระยะทางครึ่งหลังก็เริ่มจะมีเวลาให้นอนสะสมอยู่บ้าง คือตอนซ้อมที่ไทยก็วางแผนไว้ว่าครึ่งแรกจะไม่อัด ไม่เร่ง ไม่เหนื่อย พอครึ่งหลังเนี่ยสนุกแล้ว ถ้าเรามีแรงอยู่เต็มๆ ปั่น Audax ใช้แรงแค่ครึ่งหนึ่งก็พอ เพราะงั้นจะทำอะไรก็ใช้แรงแค่ครึ่งเดียว เพื่อให้มันดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ

สำหรับผม การปั่น Audax แทบจะเป็นการธุดงค์แล้ว ถ้าเกิดทำไปเรื่อยๆ นะ ผมบอกเพื่อนว่าไม่ต้องเรียกไปวิปัสสนา เพราะไปปั่น Audax อยู่ทุกอาทิตย์ จริงๆ มันก็มีความคล้ายการเดินจงกรม เป็นการทำซ้ำๆ มองดูตัวเองเหมือนกันเลย ผมคิดว่าแบบนี้มันเหมาะกับคนไทย ไว้ใช้ปราบพวกคนหัวรั้น คนที่มีอีโก้เยอะๆ เพราะต้องไปนอนข้างถนนแบบนั้น

การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ซึ่งคุณใช้เวลาไปเท่าไหร่จนปั่นจบ

แปดสิบเก้าชั่วโมงห้านาที ตอนแรกคิดว่าจะทำได้ที่แปดสิบเจ็ดถึงแปดสิบแปดชั่วโมง เพราะทำเวลามาดี แต่ติดที่เจ็บเข่าในช่วงท้ายๆ นี่แหละ ปีนี้คนไทยไปทั้งหมดแปดสิบเอ็ดคน จบสิบเอ็ดคน น้อยกว่าครั้งที่แล้วอีก โดยสภาพอากาศของทั้งสองครั้ง ครั้งนี้หนาวกว่า เขาว่าครั้งที่แล้วอากาศดีที่สุด

การเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ถ้าให้มองย้อนดูตัวเองตั้งแต่วันที่ได้จักรยานมาฟรีจนถึงตอนนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เปลี่ยนไปเยอะ ง่ายๆ คือเป็นหวัดแค่สามครั้งตั้งแต่วันที่ได้จักรยานฟรีมา (ยิ้ม)

เราเป็นคนที่ก่อนหน้านี้ไม่เอากีฬาเลย เราคิดว่าเราเป็นครีเอทีฟ ก็ทำให้ตัวเองมีความคิดบ้าๆ สุดๆ ก็พอ แต่พอช่วงแปดเก้าปีที่ผ่านมา มันคือการปรับชีวิตให้มันสมดุล ผมคิดว่าแค่นี้แหละ ถ้าไม่สมดุลชีวิตมันก็ไปต่อไม่ได้ 

ถ้าผมไม่ได้จักรยานมาตอนนั้น ผมอาจจะเป็นมะเร็งไปแล้วก็ได้ เพราะมันทั้งเครียดด้วย โกรธด้วย หงุดหงิดด้วย แล้วตอนนี้กลายเป็นว่าเวลาเห็นผู้ใหญ่แก่ๆ เขายังมีพลังไปปั่น PBP ตอนอายุเจ็ดสิบ ไม่ใช่แบบคนอายุเจ็ดสิบที่อยู่โรงพยาบาล แต่แก่แล้วยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นด้วยชีวิต ไม่โกรธมาก ไม่รวยมาก ไม่เป็นภาระกับใคร เรารู้สึกว่าเราอยากจะแก่แบบนี้ ก่อนหน้านี้อาจจะอยากมีชื่อเสียง อยากดัง อยากรวย แต่ตอนนี้ไม่แล้ว

เพราะคุณมีชื่อเสียงอยู่แล้วหรือเปล่า

ก่อนหน้านี้ผมก็พอมีชื่อเสียงนะ แต่มันมีทั้งส่วนดีและไม่ดี เวลาที่ไม่มีชื่อเสียง เราจะรู้สึกว่าต้องทำงานให้มันพิเศษ ให้มันเจ๋งไปตลอด ซึ่งไม่มีทาง กลายเป็นตอนนี้ก็ทำงานแบบเดิมแต่ทำด้วยแรงครึ่งหนึ่ง วันก่อนน้องสถาปนิกคนหนึ่งบอกว่าผมเคยไปพูดกับเขาที่มหาลัยฯ ว่าถ้าทำงานจนต้องลงมานอนใต้โต๊ะ แล้วตื่นขึ้นมาทำต่อ แบบนี้มึงจะไม่เก่งได้ยังไง ผมบอกกูขอโทษ ผมว่าวิธีคิดของตัวผมในสมัยก่อนที่ทำงานหนักๆ มันผิด มันจะทำได้แป็บนึงแต่ทำนานไม่ได้ ตอนนี้เอาเป็นว่าออกแรงครึ่งหนึ่งแล้วทำต่อไปให้ได้นานๆ ก็พอ

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับการเดินทางด้วยจักรยานที่พาเขาไปเห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

Writers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ