ไม่มีใครรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับปี 2020 อีกต่อไปแล้ว เรื่องของขยะหรือ Waste ได้เข้ามาอยู่ในความสนใจกระแสหลักของสังคม มีคนมากมายที่นำความคิดสร้างสรรค์มาสรรค์สร้างขยะให้กลายเป็นสิ่งของมีประโยชน์ ขณะเดียวกับที่ภาครัฐและเอกชนพยายามรณรงค์ให้เราสร้างขยะให้น้อยลง

แต่ถึงแม้เรื่องการนำขยะมาสร้างประโยชน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ มันก็ไม่ควรกลายเป็น ‘เรื่องเก่า’ กลับกัน ถ้าเราอยากให้โลกยังมีความอุดมสมบูรณ์และน่าอยู่เช่นนี้ เราควรทำให้เรื่องของการใช้ประโยชน์จากขยะ ลดการสร้างขยะ กลายมาเป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ที่ใครๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

เราได้ไปพูดคุยทำความรู้จักกับศิลปินคนหนึ่งที่พยายามสร้างความธรรมดานี้ให้เกิดขึ้นในสังคม ศิลปินคนนั้นคือ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เจ้าของผลงานศิลปะจากขยะ ที่นอกจากจะมีลายเซ็นเป็นผลงานจากสิ่งของเหลือใช้มากมายแล้ว เธอยังมองว่าตัวเองเป็น Social Activist Artist ที่รังสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักให้กับสังคมด้วย เราพูดคุยกับเธอตั้งแต่ที่มาที่ไปของการหยิบขยะมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างงาน ความไส้แห้งของศิลปิน ไปจนถึงความคาดหวังในฐานะศิลปินที่พยายามสร้างความตระหนักแก่สังคม ชวนผู้อ่านไปรู้จักเธอผ่านผลงานของเธอไปพร้อมๆ กับเรา

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

ขยะในบ้าน

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ คืออดีตนักศึกษารหัส 54 ของสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเรียนในคณะนี้ต้องเรียนวิชาศิลปะหลายแขนง ตั้งแต่การวาดภาพจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และภาพถ่าย ไปจนถึงศิลปะสื่อผสม ที่รวมเอาเทคนิคหลากหลายรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจุดเริ่มต้นการนำเอาวัสดุแปลกๆ มาใช้ในงานของเธอก็มาจากวิชานี้นี่แหละ

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“เราชอบเรียนวิชาสื่อผสมที่สุด มันเป็นวิชาที่ค่อนข้างเปิดกว้างให้เราสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคและวัสดุที่หลากหลาย เราเลยพยายามมองหาของใกล้ตัวมาทำงาน อย่างพ่อกับแม่เป็นคนชอบสะสมของจิปาถะ เวลาเขาไปร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ เขาก็จะเก็บพวกแก้วน้ำ หรือกล่องต่างๆ ไว้เยอะมาก เราก็เลยได้ไอเดียว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นงาน เริ่มทำออกมาเป็นสองมิติ จากนั้นก็ขยับมาทำเป็นสามมิติ ตอนนั้นทำแล้วก็รู้สึกสนุก แถมได้ระบายของที่บ้านด้วย จนกระทั่งปีสี่ อาจารย์บอกว่าเราต้องทำทีสิสแล้ว งานของเธอมันต้องมีเรื่องราวมากขึ้นนะ เราเลยไปศึกษาเรื่องเกี่ยวกับวัสดุต่างๆ จนเปิดเจอเรื่องสิ่งแวดล้อม

“ความจริงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่พูดถึงมานานมาก แต่หลายคนอาจจะไม่ได้สนใจ พอได้อ่านเราก็เริ่มอินกับมัน เริ่มตระหนักว่าสิ่งที่เราทำมันคือการเอากลับมาใช้ใหม่ ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็คงเรียกว่า Circular Economy แต่ตอนนั้นเรารู้จักแค่คำว่า Reuse Recycle อะไรประมาณนั้น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม”

เอ๋ทำทีสิสโดยใช้เรื่องของขยะหรือ Waste เป็นแกนหลักในงาน จากนั้นเธอก็ใส่จินตนาการและความสร้างสรรค์ลงไป ก่อนจะดีไซน์ ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นชิ้นงาน

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“ช่วงทำทีสิสเราชอบไปเดินโฮมโปร ไทวัสดุ วัดสวนแก้ว แล้วก็ชอบสังเกตสิ่งต่างๆ เวลาเรามองวัสดุเราไม่ได้มองว่ามันเป็นเศษเหล็กหรือผ้า แต่เรามองว่ามันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสัตว์ประหลาดของเราได้ เช่น ถ้าเอาผ้ามาซ้อนๆ กันมันน่าจะกลายเป็นขน กลายเป็นขา หรือส่วนหนึ่งของสัตว์ประหลาดของเรา พอไปเจอวัสดุที่ไหนเราก็จะสะสมไว้ มีไปคุ้ยขยะบ้างบางเวลา แล้วก็มีส่วนที่มีอยู่แล้วจากที่บ้านด้วย”

สิ่งมีชีวิตของเธอจึงมีรูปร่างบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน เป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากความล่มสลายของสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานชิ้นนี้ของเธอได้รับรางวัลทีสิสดีเด่นของมหาวิทยาลัย และได้นำไปจัดแสดงร่วมกับผลงานดีเด่นของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย

จากทีสิส 7,000 บาท สู่ช่างชุ่ย

“หลังจากเรียนจบเราก็เอาทีสิสเราไปขาย ตั้งราคามั่วๆ เจ็ดพันบาท แล้วก็มีคนซื้องานเรา” 

จะว่าจุดเริ่มต้นในการเป็นศิลปินของเอ๋มีที่มาจากเหตุการณ์นี้ก็ได้ เพราะคนที่เดินเข้ามาซื้อสัตว์ประหลาดที่ประดิษฐ์จากขยะนั้น คือ สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งอาณาจักร FLYNOW รวมถึงช่างชุ่ยซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างทางศิลปะ

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“เขามาถึงก็บอกว่า คุณตั้งราคาแบบนี้มันมั่วซั่วมากเลยนะ เราบอกว่าผิดตรงไหน ก็รู้อยู่แล้วว่าศิลปินมันไส้แห้ง ตอนนั้นเราก็ประชดด้วย เพราะที่บ้านไม่อยากให้เราเป็นศิลปิน คุณสมชัยก็เลยบอกว่าคุณตั้งราคาแบบนี้ไม่ได้ จากนั้นก็สอนการตั้งราคากับเราว่าต้องทำอะไร ยังไงบ้าง แล้วบอกว่าการเป็นศิลปินมันคืออาชีพนะ มันอยู่ได้” 

การรู้จักกันในครั้งนี้ทำให้เอ๋ก็ได้รับโอกาสจากสมชัยในเส้นทางศิลปินของเธอ แม้ในขณะนั้นเธอยังเพิ่งเรียนจบหมาดๆ เป็นบัณฑิตไร้ประสบการณ์ที่ยังไม่ได้เข้าพิธีรับปริญญาเลยด้วยซ้ำ

“งานแรกเขาให้โอกาสเราลองไปทำแฟชั่นโชว์จากขยะ ตอนนั้นเราก็ถามคุณสมชัยว่ามั่นใจอะไรในตัวเรา ไม่กลัวเราเทงานเหรอ เขาก็บอกว่าเอ๋ไม่เทงานหรอก เราก็เลยคิดไว้ว่าจะตั้งใจทำเต็มที่ให้สมกับความเชื่อใจ แล้วเขาก็สอนเรื่องขั้นตอน กระบวนการ และหลักคิดต่างๆ ของการเป็นศิลปินให้ด้วย” 

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

นับแต่นั้นเอ๋ได้ทำงานร่วมกับสมชัยเรื่อยมา อย่างโปรเจกต์ช่างชุ่ย สมชัยก็ได้ชวนเอ๋มาช่วยประดิษฐ์แชนเดอเลียเพื่อนำไปใช้ในร้านค้าและตกแต่งพื้นที่ถึง 6 ชิ้น

ศิลปินไส้แห้ง?

ถึงแม้เอ๋จะเริ่มมีงานและสร้างรายได้ให้กับตัวเองในฐานะศิลปิน แต่ฝั่งของครอบครัวก็ยังไม่หมดห่วง พ่อของเอ๋อยากให้ไปลองหางานประจำเพื่อจะได้มีอาชีพที่ ‘หากินได้’ และมีความมั่นคงตามบรรทัดฐานของสังคม

“ตอนนั้นเราก็สมัครเข้าไปทำที่ King Power ในตำแหน่ง Visual Merchandiser มีหน้าที่จัดหน้าร้าน ออกแบบพื้นที่ต่างๆ ในช็อป เราได้ไอเดียด้านการทำงานศิลปะหลายอย่างมาจากช่วงเวลานั้น หลังจากที่ออกจากงาน Visual Merchandiser ก็ได้มีโอกาสไปทำที่ PR Agency ด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่าการได้มาทำงานประจำช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก”

การที่ต้องหันเหไปทำงานประจำ ไม่ได้ทำให้ไฟในตัวศิลปินหายไป ระหว่างทางเอ๋ก็ยังรับงานศิลปะควบคู่ไปกับงานประจำด้วย ซึ่งเธอมองว่าสองสิ่งนี้มันส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี เธอมีความคิดว่า การเป็นศิลปินจะต้องรู้หลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่วาดรูปหรืออยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น แต่ต้องลองออกไปเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ระหว่างพูดคุย เราสัมผัสว่าเธอเป็นคนมองโลกในแง่ดี ถึงแม้สถานการณ์จะบีบบังคับให้เอ๋ต้องไปจับงานที่ตัวเองไม่คุ้นเคย แต่เธอก็ยังมองเห็นว่าประสบการณ์เหล่านั้นคือการเรียนรู้ที่มีคุณค่า จนเมื่อต้นปี 2018 เธอก็ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำงานศิลปะเต็มตัว

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“งานของไอคอนสยามเมื่อประมาณต้นปีที่แล้วคือจุดเปลี่ยน ตอนนั้นไอคอนสยามติดต่อมาบอกว่าอยากได้งานศิลปะสไตล์เรานำไปติดตั้งในห้าง ซึ่งตอนนั้นเราก็ทำงานประจำอยู่ ด้วยข้อจำกัดของเวลา เราต้องตัดสินใจว่าจะปัดงานนี้ไปหรือลาออกเพื่อมาผลิตงาน สุดท้ายก็เลือกที่จะลาออก ซึ่งงานนี้ก็ได้พิสูจน์ให้ครอบครัวเราเห็นว่า ศิลปะของเรามันเลี้ยงชีพได้

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“ทุกวันนี้ศิลปินไม่ได้ไส้แห้งนะ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าร่ำรวย ปัจจุบันศิลปินทุกคนมีแนวคิด มีระบบการจัดการที่ดี ไม่เหมือนภาพจำในสมัยก่อนที่ว่าศิลปินชอบทำตามใจตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นคำว่าศิลปินไส้แห้งมันก็ยังฝังอยู่ในความคิดของคนไทยอีกหลายคน ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปมากแล้ว”

‘นกฟินิกซ์’ ผลงานที่สร้างจากขยะบนเครื่องบิน

“ผลงานชิ้นนี้เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากนกฟินิกซ์ซึ่งเป็นนกในเทพนิยาย” 

นกฟินิกซ์ตัวนี้คือผลงานชิ้นล่าสุดของเอ๋ เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลบางกอกแหวกแนว (Bangkok Edge) ประจำปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานเทศกาลนี้ เธอยังคงลายเซ็นเดิมคือการผลิตผลงานศิลปะจากขยะ แต่ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ ก็คือวัสดุหลักที่เธอหยิบมาใช้ไม่ใช่ขยะทั่วๆ ไป แต่มันคือขยะที่ได้มาจากสายการบิน

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“สาเหตุที่เราดีไซน์งานชิ้นนี้ออกมาเป็นนกฟินิกซ์ ก็เพราะเราได้วัสดุและขยะเหลือใช้มาจากการบินไทย เราทำงานจากโจทย์นี้และนำไปตีความต่อว่า สำหรับเรา การบินไทยคือ ‘นกเหล็ก’ ที่เป็นสายการบินของชาติ ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินนี้ต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย ทั้งขึ้นและลง เราเลยมองว่าการบินไทยต้องเป็นนกฟินิกซ์สิ ต้องไม่มีวันตาย ต่อให้คุณล้ม ท้อ หรือเกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณจะไม่มีวันตาย เกิดใหม่ได้ตลอดเหมือนนกฟินิกซ์”

การได้เจอกับวัสดุชนิดใหม่ๆ สร้างความสนุกในการสร้างสรรค์งานให้กับเอ๋เป็นอย่างมาก เธอเล่าว่าวันที่ได้เข้าไปในโกดังเก็บขยะและของเหลือใช้ของการบินไทย เป็นความตื่นตาตื่นใจกับวัสดุแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“จริงๆ Waste ของสายการบินมีเยอะมาก ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน เขาพาเราไปดูทีละยูนิตเลย ตั้งแต่ยูนิตของหนัก หนักในที่นี้คือหนักมาก เช่น ชิ้นส่วนเครื่องบิน ล้อต่างๆ ซึ่งยกไม่ได้ ไปจนถึงวิ่งที่เบาลงมาอย่างเก้าอี้ ความตะลึงคือมีเก้าอี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ซึ่งเสน่ห์ของมันคือเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง จากเก้าอี้ที่มันใหญ่ บานๆ ก็ค่อยๆ เล็กลง สลิมขึ้น สุดท้ายเราก็มาจบที่ของเบาคือเสื้อชูชีพกับชุดหมี (Polar Suit) เป็นหลัก เพราะมันใช้งานกับประติมากรรมได้ง่าย แล้วก็เป็นวัสดุที่เหมาะกับขนาดและวัตถุประสงค์ชิ้นงานของเรา”

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

นกฟินิกซ์ของเอ๋จึงมีส่วนประกอบเป็นชุดหมี 1 ตัว เสื้อชูชีพ 20 ตัว ซองใส่น้ำตาลทราย ผ้ามุ้งสามสี ดอกไม้ปลอม หลอดพลาสติก 30 กิโลกรัม และตุ๊กตาจากร้านอาหารญี่ปุ่นใกล้บ้านเธอ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นขยะและสิ่งของเหลือใช้ทั้งสิ้น

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

Social Activist Artist

เอ๋เริ่มต้นการทำงานกับขยะจากสิ่งของเหลือใช้ในบ้าน เธอพบความสนุกจากการนำของที่มีรูปร่างหน้าตาและคุณสมบัติแตกต่างกันมาสรรสร้างเป็นผลงานหนึ่งชิ้น จากความสนุกนี้เธอก็ค่อยๆ ต่อยอดออกมาเป็นงานทีสิส และเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้ นับตั้งแต่วันแรกที่จับขยะมาปลุกปั้นจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 5 – 6 ปีแล้ว เรานึกสงสัยว่าการทำงานศิลปะจากขยะเหล่านี้เปลี่ยนแปลงทัศคติของเธออย่างไรบ้าง

“พอเราศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็ยิ่งอินกับมัน ไลฟ์สไตล์ของเราเปลี่ยนไป เราสร้าง Waste น้อยลง แล้วก็ตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ และกระทบทุกภาคส่วน แต่น้อยคนที่จะจริงจังกับมัน เพราะฉะนั้นเราอยากจะทำเรื่องนี้และอยากใช้ความสามารถของศิลปินทำสิ่งนี้”

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

เอ๋ยังมุ่งมั่นและจริงจังกับการนำขยะมาใช้สร้างงานไม่เปลี่ยนแปลง คงเพราะมันได้กลายเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนของเธอในฐานะศิลปินคนหนึ่ง รวมถึงยังเป็นการสร้างงานศิลปะโดยที่นำเสนอประเด็นทางสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย

“เรามองตัวเองเป็น Social Activist Artist (ศิลปินที่เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม) เราอยากทำอะไรให้มันเขาถึงและเข้าใกล้คนได้มากที่สุด อยากให้คนเห็นว่าศิลปะสามารถจับต้องและเข้าใจได้ อยากให้คนเห็นแล้วรู้สึกฉุกคิดขึ้นมา ทั้งฉุกคิดเพื่อลดการใช้ และฉุกคิดว่ามันเอาไปสร้างสรรค์ต่อเป็นอะไรบางอย่างได้ ซึ่งเราไม่อยากหยุดแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกหลายประเด็นทางสังคม เช่น ปัญหาด้านแรงงาน ความยากจน ปัญหาของสตรี ซึ่งเราก็ตั้งใจไว้ว่าถึงงานจะพูดเรื่องอื่นๆ แต่เราจะยังนำขยะมาเป็นวัสดุในการนำเสนอ

เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนเศษขยะในบ้านให้เป็นงานประติมากรรม

“เราคิดว่าการเป็นศิลปินอาจจะสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีขึ้นมาไม่ได้ แต่เรามีนวัตกรรมทางความคิด เราสร้างงานที่ทำให้คนฉุกคิดอะไรบางอย่าง แล้วเอางานของเราไปต่อยอดได้ คนมาดูงานเราแล้วอาจจะกลับไปคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้น แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับตอนนี้”

Writer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan