18 ธันวาคม 2019
60 K

“My name is Wish like Make a Wish”

ประโยคแนะนำตัวของ อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ที่เรียกรอยยิ้มจากทุกคนจนกลายเป็นเหมือนแบรนดิ้ง คนมากมายรู้จักเขาในนามดีไซเนอร์ผ้าไทย แต่เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่าเป็น ‘นักออกแบบ’ คนหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่เอาศิลปะและดีเอ็นเอความประณีตของหัตถกรรมไทยมาผสานกับการงานออกแบบเสื้อผ้าด้วยความตั้งใจ จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการรับเชิญให้ร่วมงาน MQ VIENNA FASHION WEEK 2019 ประเทศออสเตรีย Rakuten Fashion Week Tokyo 2020 ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHAWISH

แต่สิ่งที่ทำให้เราอยากคุยกับเขา คงต้องขอย้อนกลับไปหลายเดือนก่อนหน้า เราเห็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กแบ่งปันโพสต์ ‘ของดีเมืองอุบล’ มีบรรดาหนุ่มสาวตาน้ำข้าวสวมเสื้อผ้าสีดี ดีไซน์เก๋ พอเพ่งอีกทีเสื้อผ้าเหล่านั้นทำมาจากผ้าฝ้ายทอมือ บ้างย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผ้าไหมไทยแท้ก็มี ทั้งหมดเป็นแมททีเรียลจากแบรนด์เสื้อผ้าในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เขาเข้าไปร่วมทำงานด้วยทั้งการออกแบบและจับคู่สี ทำเอาเราทลายความคิดว่าผ้าไทยจะต้องฉูดฉาด ยิ่งผ้าไหมสีจะต้องสด ใส่ไม่ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ดีไซน์ของอู๋เพียงเห็นก็อยากหยิบมาใส่เสียทุกวัน เรียบง่าย แต่จับต้องได้ 

WISHARAWISH ก้าวข้ามข้อจำกัดของผ้าไทยได้อย่างไร สวมผ้าไทยแล้วไปลุยรันเวย์ด้วยกันเลย

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

ผู้กำกับความฝัน

“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยากเติบโต อยากนู่น อยากนี่ เลยต้องตั้งใจเรียน จะได้เข้ามากรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้มาด้วยความทะเยอทะยานว่าอยากเด่น อยากดัง แต่กรุงเทพฯ มีนิทรรศการศิลปะนะ เธอต้องเอนท์ให้ได้ จะได้ไปดูหนังได้ 

“ศิลปะมันอยู่ศูนย์กลางเกินไป ต่างจังหวัดไม่มีแบบนั้น” 

‘ผู้กำกับ’ เป็นความฝันแรกของชายชาวบุรีรัมย์คนนี้ 

 อู๋เลยตัดสินใจเรียนต่อสาขาวิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเขาได้ไปดูประกวดแฟชั่น ในงาน Gift Festival ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เหมือนปลุกไฟในตัวเขาให้ลุกโชน อู๋เกิดความอยากทำขึ้นมาบ้าง เขาตัดสินใจเดินตรงเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้าความรู้เองทั้งหมด เพราะเพื่อนที่เรียนสาขาแฟชั่นแทบเป็นศูนย์ เส้นทางที่จะทำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นได้ คือ ‘เวทีประกวด’ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าไทยหรือเทศ บอกมา อู๋ไปหมด!

จนปี 2003 เขาผ่านเข้ารอบเวทีประกวดของประเทศญี่ปุ่น

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

“เราอยากไปเที่ยว เพราะถ้าเข้ารอบเขาจะออกตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักให้ ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษาก็เลยใช้โอกาสตรงนั้นเป็นใบเบิกทางในการไปดูโลก พอชนะ ก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักขึ้นมาหน่อย หลังเรียบจบเราต่อยอดมาตลอด ทำงานสายโฆษณาบ้าง ทำคอสตูม เป็นผู้ช่วยสไตล์ลิส เป็นข้อดีนะ มันช่วยให้เราได้เจอกับพี่ช่างภาพและผู้กำกับ 

“เขาจะสอนเราว่าในมุมมองของวิชวลต้องทำยังไง บางทีชุดของจริงสวยระดับหนึ่ง แต่มันต้องขึ้นกล้องด้วย โฟโตจีนิกเป็นสิ่งสำคัญ เราถูกสอนมาแบบนั้น แล้วต้องทำงานเร็ว เพราะเวลาทำงานค่อนข้างน้อย ต้องเสกมันขึ้นมาให้ได้” 

นักเรียนออกแบบสู่ข้าราชการ

อู๋ได้รับโอกาสไปทำงานกับแบรนด์แฟชั่นมีชื่ออย่าง Greyhound ทำให้เขาได้เรียนรู้ระบบแฟชั่นอย่างแท้จริง ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการออกแบบที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ 4 ปี แต่ชายตรงหน้าบอกว่าเหมือนไปเข้าค่ายมากกว่า

“อาจารย์เขาไม่ได้สอนเราเรื่องรสนิยม เขาปล่อยให้เราเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด อาจารย์จะคอยเป็นโค้ช แล้วปล่อยให้เราอยู่ภายใต้แรงกดดัน ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่มีน้อยมาก แต่ต้องทำทุกอย่าง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในนาทีสุดท้ายให้ได้ เพื่อฝึกเราก่อนออกไปเจอลูกค้า เหมือนฝึกรด. เพราะสถานการณ์จริงมันมีการเปลี่ยนแปลงในเวลาที่จำกัดอยู่แล้ว”

หลังเรียนจบจากประเทศฝรั่งเศส อู๋กลับมารับราชการในกระทรวงวัฒนธรรม เพราะเขาได้รับทุนจากรัฐบาลให้ไปเรียนด้านการออกแบบแฟชั่น ตอนนั้นเขาประจำตำแหน่ง Design Promoter คอยจัดงานประกวดของ Young Designer 

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

“เราผ่านเวทีมาทั่วโลกแล้ว เรารู้ว่ามันเป็นโอกาสให้คนมากมาย ข้อดีของเวทีที่เราเคยจัดคือการใช้ผ้าไทยเป็นส่วนประกอบในการประกวด สนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ได้ใช้ผ้าไทยแล้วใช้ผลงานตรงนี้เป็นพอร์ตในการเรียนต่อ ตอนนี้น้องๆ หลายคน ยังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น เขาก็ได้ใบเบิกทางไปต่อยอดเหมือนกับเรา”

Promoter สู่ Designer

ทำงานในกระทรวงวัฒนธรรมได้สักพักอู๋ก็ออกมาทำงานของตัวเองด้วยเหตุผล ‘ช่วยคนทำงานด้านผ้าได้มากกว่า’

“เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงระบบ เราก็เข้าไปอยู่ในระบบ ด้วยระบบราชการมีกฎระเบียบมากมาย รวมถึงอุปนิสัยของเราอาจไม่เหมาะกับระบบ 8 to 5 เพราะเราตื่นบ่าย นอนตี 4 พอออกมาเราก็โฟกัสอะไรที่เป็นตัวเอง ชอบผ้า ชอบศิลปะ แต่ขณะเดียวกันเรายังร่วมงานกับกระทรวงวัฒนธรรมในการให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับราชการอยู่

“โชคดีมีอยู่ปีหนึ่งสถานทูตฝรั่งเศสให้เราไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส ปกติเขาได้ไปกัน 3 เดือน แต่เราได้ไป 6 เดือน เพราะว่าเขาใจดี” อู๋ส่งยิ้มก่อนจะเสริมว่า “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโปรเจกต์ที่เราเสนอไปด้วย”

หลังกลับจากการแสดงงาน เขาลุยต่อด้วยการส่งผลงานเข้าประกวด Mango Fashion Awards 2012 เพราะต้องแข่งขันกับนักออกแบบนานาประเทศ สิ่งที่จะทำให้อู๋และ WISHARAWISH แตกต่าง คือการนำผ้าไหมมามิกซ์กับแมททีเรียลของเสื้อผ้า แต่มักมีภาพจำว่า ‘ผ้าไหม’ จะต้องเป็นผ้าของผู้ใหญ่และใส่ออกงานสำคัญเท่านั้น แต่อู๋ไม่คิดแบบนั้น

“เวลาทำงานเราต้องคิดว่าผ้าไหมไม่ใช่ผ้าไหม ไม่ใช่ผ้าตัดเสื้อของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ถ้าคิดแบบนั้นจะกลายเป็นการสร้างข้อจำกัดของผ้าไหม เราต้องคิดว่าผ้าไหมเป็นเพียงผ้าชนิดหนึ่งเท่านั้น หน้าที่ของเราคือต้องหาวิถีทางผสมผสานผ้าไหมออกมาให้สากลเข้าใจให้ได้ และทำให้คนไทยแทบจะลืมไปเลยว่าผ้าที่เราเอามาใช้เป็นผ้าไทย”

ความแตกต่างทว่าสร้างเอกลักษณ์ทำให้เขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ 

คำถามจากทางบ้าน

คงไม่ผิดหากจะบอกว่าอู๋พา WISHARAWISH เดินสายผ้าไทยอย่างเต็มตัว ก่อนเราจะมานั่งสนทนาขนาดยาวเขาชวนเราไปดูบรรยากาศการแคสนางแบบ-นายแบบเพื่อเดินในงาน ELLE Fashion Week Fall/Winter 2019 ที่เครื่องแต่งกายล้วนมาจากผ้าไทยทั่วทุกภาคของประเทศ เราเห็นมุมจริงจังของเขาจนนึกเกรง ความเอาแน่และตั้งใจถูกถ่ายทอดผ่านแววตา ทว่าพอเอ่ยปากสนทนาเขากลับกลายเป็นอีกคนอย่างไม่น่าเชื่อ ไหนจะน้ำเสียงสนุกและท่าทีเป็นกันเองนั้น ช่างเชื้อเชิญให้เราไม่หยุดยิงคำถามชวนสงสัยอย่าง 

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

ปัญหาผ้าไทยในอุตสาหกรรมแฟชั่นสำหรับคุณคืออะไร

“ผ้าไทยไม่ได้เป็นปัญหา มันเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างมีเกิด มีดับ มีของใหม่เกิดขึ้น ของเก่าในแนวอนุรักษ์ก็ยังมีคนชอบอยู่ แต่ถ้าถามว่าทำไมผ้าไทยไปวงกว้างไม่ได้ มันคงเป็นเรื่องของโปรดักชัน เพราะคุณค่ามันอยู่ที่การทำจำนวนเยอะไม่ได้ เลยกลายเป็นของ Niche ว่ากันตามความจริงก็ผลิตเยอะได้ แต่คนชอบอะไรที่เป็นลิมิเต็ดมากกว่า

“ถ้าคนชอบผ้าไทยจริงเขาต้องรู้ว่าแต่ละชิ้นมันไม่สม่ำเสมอกันหรอก อย่างผ้าบาติก ถ้าจะเอาสีเดียวกันต้องทำล็อตเดียวและวันเดียวกัน ไม่สามารถทำคนละล็อตแล้วออกมาเป๊ะแบบอุตสาหกรรม ลูกค้าบางคนจะไม่เข้าใจ คนเข้าใจก็มี แต่ไม่ได้กว้างหรือแพร่หลายมากนัก ก็หมือนอาหารไทย มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ อาหารอาจจะง่ายกว่าหน่อยเพราะเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงง่าย แต่เสื้อผ้ามีความเป็นปัจเจกและส่วนบุคคลกว่ามาก”

คุณกระโดดออกจากกรอบความคิดเดิมของผ้าไทยยังไง

“เราเปลี่ยนผันไปเรื่อยและสนุกกับมัน พยายามเล่นแร่แปรธาตุ สิ่งที่เรากำลังทำเราเอาของราคาไม่แพงมากมาเพิ่มมูลค่า อย่างผ้าขาวม้าจากราชบุรีเอาไปสกรีนลายเพิ่ม บางครั้งโยงสองชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อท้าทายความสามารถแต่ละบ้าน เอาเทคนิคการย้อมผ้าแบบภาคอีสานไปให้ภาคเหนือทำ หรือเอาผ้าจากอีสานไปทำบาติกภาคใต้ ซึ่งปกติการเข้าถึงกลุ่มคนที่เขาจะทำผ้าให้เรามันไม่ง่าย แต่พอเขาเห็นเองด้วยผลงาน เขาก็ยอมที่จะทำ เพราะเขาเชื่อว่ามันจะได้ผล”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์
คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

ท้าทายความสามารถแต่ละบ้านยังไงบ้าง

ลองเปลี่ยนผ้ามั้ย ลองทำยากขึ้นสิ ให้ทำง่ายแต่ต้องขยันมาก หรือบางลายออกมาเบสิกมากแต่กระบวนการต้องสลับสีทุกสามเส้น เขาจะไม่ค่อยทำเพราะขี้เกียจ เราจะไปยุว่า อย่าขี้เกียจ ต้องลองดู ต้องขยัน จะได้สร้างเอกลักษณ์ของแต่ละบ้าน บางทีเราก็เหมือนหมอ เพราะแต่ละบ้านอาการไม่เหมือนกัน เป็นเหตุผลให้เราต้องลงชุมชนไปเจอเขาถึงบ้านเพื่อดูว่ามีอะไรน่าสนใจ ของบางอย่างมันดีมากแต่เขาเก็บไว้ไม่เอาออกไปขายตามงานแสดงสินค้าก็มี”

ผ้าไทยแต่ละภาคมีเอกลักษณ์ยังไง

“ท้ายสุดแล้วเราไม่อยากให้แบ่งว่าผ้าเป็นของภาคไหน โลกมันโยงใยนะ สุรินทร์ก็ส่งผ้าไปทุกที่ ฝ้ายจากอุบลก็ไปทุกที่ คอนเนกชันถึงกันหมด มันดีนะ แต่สิ่งที่เราแบ่งเพิ่งมาแบ่งกันทีหลัง หลังจากที่เขามีของเหล่านี้ด้วยซ้ำ ความจริงผ้าไหมอีสานก็เคยไปอยู่ที่ปัตตานีมาก่อน มันเป็นวัฒนธรรมอุษาคเนย์มากกว่าจะมาแบ่งว่าบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ

“คาแรกเตอร์แต่ละที่เลยต่างกันไป มันก็ผิดเพี้ยนบ้าง แต่ความสวยงามมันเกิดจากความผิดเพี้ยนนั่นแหละ ไม่ได้จำกัดว่าผ้าที่ไหนเป็นอย่างไร และเราพยายามดึงของที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแจมด้วย อย่างใบไม้ เปลือกไม้ เพื่อลดการขนส่งและสนับสนุนของในชุมชน บางครั้งเปลือกขนุนของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันแล้ว เราว่าสีธรรมชาติกำลังเป็นทางเลือกใหม่”

ถ้าไม่แบ่งผ้าไทยออกเป็นภาค แล้วคุณนิยามผ้าไทยว่าคืออะไร

“อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือในแผ่นดินนี้” เขายิ้ม ก่อนจะเสริมว่า

“บางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นไท้ไทย ถามว่าหนังคนแสดงเป็นคนไทย ผู้กำกับเป็นคนไทย แต่ไปถ่ายเมืองนอกทั้งหมด เป็นหนังไทยหรือเปล่า ถ้าฝรั่งมาทำงานกับเรา แต่ใช้เทคนิคและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยทั้งหมดจะถือเป็นผ้าไทยหรือเปล่า หรือของไทยก็ไม่ได้เป็นของไทยหรอก มันเป็นของโลก เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ ลาว เขมร อินโดนีเซียก็ทำ

“เรากลับชอบงานศิลปะหัตถกรรมมากกว่า งานฝีมือและความตั้งใจอยู่ในตัวคนไทย เป็นนักประดิษฐ์โดยสายเลือด ต่อให้ทำอุตสาหกรรมดิจิทัลหรือการตัดต่อ โพสโปรดักชันคนไทยก็มีความสามารถ ความละเอียด และงานประณีต”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์
คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

แล้ว WISHARAWISH ทำงานอยู่กับอะไร

เราทำงานอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดตลอดเวลา เราไม่อยากบอกว่าเป็นปรัชญาพุทธ เพราะท้ายสุดก็เป็นเรื่องธรรมชาติ มีเกิด มีดับ เกิดแก่เจ็บตาย เล่นเรื่องไม่พ้นพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เราพยายามเอาอะไรที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แรงบันดาลใจมาจากคีย์เวิร์ดค่อนข้างเยอะ พอเราได้คำแล้วก็หาภาพที่สอดคล้องกันแปลงออกมาเป็นวิชวล พอเป็นวิชวลแล้วเป็นเทคนิค แล้วค่อยสร้างออกมาคอลเลกชัน 

“คนมักจะถามเราว่าไม่สเกตภาพหรอ อยากเห็นตอนตัดผ้า เราบอก No เราไม่ได้ทำงานแบบนั้น เพราะเราทำงานกับคนค่อนข้างเยอะ เราต้องใช้คนให้ถูกงาน คนไหนถนัดอะไรก็มอบหมายงานให้กับเขา เหมือนเราเป็นผู้กำกับแต่ต้องรู้ด้วยนะว่างานแต่ละอย่างทำยังไง ให้เราทำเองก็ได้ แต่ถ้าทำเองเราไม่สามารถสร้างสนามกีฬาใหญ่ออกมาได้”

เห็นว่าคุณชอบเล่นแร่แปรธาตุ มีตัวอย่างสนุกเล่าให้ฟังมั้ย

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

“โจทย์มันมาเองเพราะเราไม่มีเงิน ต้องทำสิบชุดไปแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส เลยใช้ผ้าผูกศาลพระภูมิเมตรละยี่สิบบาทเอามาทำเป็นเลเยอร์ ข้อดีคือน้ำหนักเบา เราเอามาทำฟอร์มได้ง่าย คัตติ้งน้อยชิ้น เน้นการเตรียมแมททีเรียลมากกว่า

“ชิ้นล่าสุดเป็นผ้าขาวม้า ราคาไม่แพงเลย เราเอาไปซิลค์สกรีนลายกราฟิกต่อ จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา หรืออันนั้นเป็นผ้าทอซาโอริ จากจังหวัดพังงา มีดีไซเนอร์ณี่ปุ่นมาสอนสร้างอาชีพตอนมีเหตุการณ์สึนามิ เราก็เข้าไปช่วยจับคู่สีให้ อีกผืนเป็นผ้าไหมอีสานเราส่งไปย้อมที่จังหวัดเชียงใหม่ พอเนื้อผ้าเป็นไหมไม่ใช่ผ้าฝ้าย ความรู้สึกของลายและผ้าก็ต่างกัน”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

เขาเดินหยิบผ้าชิ้นโน้นที ชิ้นนั้นที แล้วอธิบายให้เราฟังอย่างละเอียดยิบ

“ผืนนี้วัยรุ่นหน่อย เป็นผ้าบาติก ตัวลายเราได้แรงบันดาลใจจากอิโมจิลายไฟ”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

“อันนั้นเป็นเหมือนผ้าห่มบนรถทัวร์ เผอิญเราลงชุมชนแล้วเห็นว่าเขาทอผ้าห่มส่งรถทัวร์ เห้ย มันดีมาก ทำไมเขาไม่เอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาลองทำดู เราเลยให้เขาเปลี่ยนจากด้ายโรงงานเป็นด้ายฝ้าย ใส่แล้วจะไม่คัน แล้วใช้การทอเหมือนผ้าห่มรถทัวร์ เราไปจับคู่สีและลายให้ ส่วนชุดนั้นเราเอาเศษผ้าค้างสต็อกของแบรนด์ในจังหวัดอุบลฯ มาตัดต่อเป็นเสื้อผ้า”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

“ผ้าบาติกผืนนั้นจากปัตตานี เราไปเปลี่ยนสิ่งที่เขาทำ แต่ไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด ปกติเขาทำลายดอกดาหลาค่อนข้างเล็ก ละเอียด แต่เราไปทำให้ใหญ่และโฟโตจีนิก เปลี่ยนคู่สีเพื่อให้เข้ากับกลุ่มตลาด มันได้ผลนะ ญี่ปุ่นสั่งผ้าไปตัดเป็นกิโมโน เราร่วมพัฒนาจนเขาประสบความสำเร็จ คนอยู่ตรงนั้นเขามีความสุข เราเองดีใจ เขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น แล้วเขาก็กล้าลองทำสิ่งใหม่ แต่ไม่ใช่เคสนี้เคสเดียว เราไปจับคู่ให้เขาเจอทิศทางอื่น เหมือนเป็นแม่สื่อแม่ชักให้เขามาเจอกัน” 

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

เสื้อผ้าแต่ละชุดของ WISHARAWISH ทำไมสีหวานจัง

“คนไทยชอบหวาน” นักออกแบบตอบพร้อมรอยยิ้มหวาน

(แล้วเบรกความหวานยังไง) 

“ปล่อยไปตามจังหวะ อย่าไปคิดว่าจะต้องมีอะไรเป็นพิเศษ แต่ด้วยผ้ามาหวาน พอดีกับอารมณ์เราเองอยากทำอะไรที่มันคลีน สบายตา เรื่องเครียดเยอะแล้ว อยากให้เบาลงบ้าง เพราะว่าช่วงไหนที่เครียดคนจะชอบงานเรา ดูจากในโซเชียลเห็นได้ชัด คนมากดชอบ มากดแชร์กันเป็นพิเศษ เขาไม่ได้ต้องการโอนมันด้วยซ้ำ เขาแค่ต้องการเห็นว่ามันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา หรือผ้าไทยมันมีความหวังมันไปต่อได้นะ”

ช่วยเล่าที่มาที่ไปของภาพที่คนกดแชร์กันสนั่นโซเชียล

“ภาพเซทนั้นเป็นโปรเจกต์หนึ่งของจังหวัดอุบลฯ เราเข้าไปเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา ลงไปแนะนำตั้งแต่เรื่องผ้า ให้เขาทำผ้าจากสีที่เราต้องการ เป็นสีที่คนไม่ค่อยเห็นและต่างจากเดิมที่เขาเคยทำ เพื่อเปิดช่องทางใหม่ ช่วยเสริมทางด้านการตลาดให้เขา แล้วก็ออกแบบให้ด้วย ใส่ดีเอ็นเอของเราผสมกับดีเอ็นเอของเขา อย่างแบรนด์ฝ้ายเข็นเห็นว่าขายดีมาก”

คุยกับ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แห่ง WISHARAWISH ที่หยิบผ้าข้าวม้าไทยไปซิลด์สกรีน แปลงโฉมผ้าห่มรถทัวร์ให้เฉิดฉายบนรันเวย์

การให้โอกาสคนสำคัญกับคุณยังไง 

“สำคัญมาก เราต้องให้ เพราะเราเคยไม่มีโอกาสมาก่อน ต้องพยายามแบ่งให้คนอื่นบ้าง เราล้มมาเยอะเหมือนกัน เราพยายามจะช่วยคนล้มให้ลุกง่ายขึ้น เขาจะได้ไม่เสียเวลากับข้อผิดพลาด แต่ขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้จากเขาด้วย” 

ทำงานแฟชั่นมาเกือบ 20 ปี ในขณะที่โลกและเทรนด์หมุนไปทุกวัน จุดยืนของคุณคืออะไร

“อยู่อย่างมีความสุขโดยรู้ตัวเองว่าเราอยากได้อะไร เราทำงานมาสิบเจ็ดปี เห็นมาเยอะ รู้ตัวเองดีว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หรือยังไม่ได้ลองอะไร เรายังสนุกอยู่กับสิ่งที่ทำแล้วก็การเรียนรู้ เราว่าเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“สำหรับเราขอแค่ให้ได้ทำสิ่งที่ชอบแค่นั้นเอง พอเรามีความสุข เราก็พยายามกลับไปยังรากเหง้า กลับไปทำอะไรกับพื้นที่ตรงนั้นบ้าง เราก็เหมือนนักกีฬาไปโอลิมปิก แต่เป็นสายออกแบบ ได้มีโอกาสทำแล้ว ก็มุ่งมั่นทำต่อ”

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ