ปกติเราแนะนำสินค้าหัตถกรรมทั่วไทยไปมากมายในคอลัมน์ Creative Local แต่วันนี้พบว่ากิจการบางอย่างที่ไม่ได้ทำโปรดักต์สำเร็จพร้อมวางขาย กลับมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานคราฟต์ไทยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ธุรกิจงานคราฟต์นี้ชื่อ Wisdomative เกิดจากคนรักผ้าและงานคราฟต์ไทย 3 คน

ต้า-ศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SE ชื่อ GoWentGone ที่ปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ และกระบวนกรรับจัดกิจกรรมงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน

ปอ-สาธิมา ฐากูระสมพงษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ AatMann วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมครามและสีธรรมชาติ 

อิม-อวิกา สมัครสมาน นักออกแบบผ้า ศิลปิน Textile Art ผู้เชี่ยวชาญการใช้กี่เฟรมหรือกี่พกพา วิทยากรสอนทอผ้า และเจ้าของเพจ นวลนิล 

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่สามสหายรับหน้าที่เป็นลมใต้ปีกผู้ประกอบการที่อยากได้วัสดุท้องถิ่น ช่วยเหลือชุมชนให้พัฒนาองค์ความรู้และมีรายได้สม่ำเสมอ และยังคิดแนวทางรับโครงการภาครัฐมาสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและคุ้มค่างบประมาณ

ใต้ความสวยงามของงานแฮนด์เมด สถานการณ์งานหัตถกรรมไทยเป็นอย่างไร สมาคมคนรักผ้าที่ทำหน้าที่สื่อกลางให้หลากผู้เล่นในวงการงานคราฟต์ทำงานอะไรบ้าง ทำอย่างไร และจะพาอนาคตหัตถกรรมไทยไปทางไหนต่อ พวกเขาพร้อมจะแถลงไขให้ฟังทุกประเด็นแบบเต็มๆ เน้นๆ

Wisdomative สมาคมค้าผ้าและงานคราฟต์ ที่ฝึกสอน คัดสรร และเป็นตัวกลางขายวัสดุทั่วไทย

รวมพลคนรักผ้า 

“เราเดินทางทั่วประเทศ แล้วเห็นว่างานหัตถกรรมไทยมีอะไรเท่ๆ เยอะมาก แต่ว่าไม่ได้ถูกจัดการดีพอให้สู้กับคนอื่นได้ เราอยากทำงานให้ครบลูป คือเริ่มตั้งแต่เข้าไปพัฒนางานร่วมกันชุมชน แล้วสื่อสารงานเขาออกมาสู่โลกภายนอก” ต้าเกริ่นเรื่อง

ความหลงใหลในผ้าและงานคราฟต์ไทย ประกอบกับการงานส่วนตัวของแต่ละคน ทำให้ต้า ปอ และอิม โคจรมาพบกันอยู่บ่อยๆ ตามงานต่างๆ เช่น ต้าจัดกิจกรรม โดยให้อิมเป็นดีไซเนอร์ประจำโครงการ ปอเป็นวิทยากร ดูแลการย้อมสี โดยสื่อสารกับทั้งชุมชนผู้ผลิตและคนเมืองที่เป็นลูกค้า สหายคนรักผ้าทั้งสามมองเห็นปัญหาเดิมๆ ที่งานหัตถกรรมไทยมี และรู้ว่าความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายน่าจะบรรเทาปัญหา รวมถึงต่อยอดธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่ายได้

“เราเคยผ่านประสบการณ์การทำมาค้าขายประเภท Finishing Product แล้วรู้สึกเหนื่อยมากอะ ทำไมต้องสต็อกของเยอะขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เราถนัดเรื่องการพัฒนา Material สนุกกับการชวนแม่ๆ ทำของลักษณะนี้ เราเชื่อว่าการพัฒนา Material จากชุมชนมาให้ผู้ประกอบการเอาไปผลิตโปรดักต์ต่อ เป็นช่องว่างของตลาดที่ไม่มีคนมาทำ” ต้าเล่าประสบการณ์ตรง เพื่อนๆ ที่ต่างมีแบรนด์ของตัวเองพยักหน้าหงึกหงัก

“งานทำให้พวกเราได้มาเจอกันและมองเห็นทิศทางเดียวกันว่า พอรับงานหลวงมาแล้ว ทุกหน่วยงานระบุว่า สุดท้ายต้องมีโปรดักต์ออกมาเป็นชิ้นงาน และมันมักจบโปรเจกต์แค่งบประมาณของปีนั้นๆ แล้วถามว่าชุมชนคิดต่อได้มั้ย ถามว่าชุมชนสร้างโปรดักต์อื่นๆ ตามศักยภาพ ตามทักษะเดิมที่มีอยู่ได้มั้ย ในเมื่อให้เขาทำตามภาพจำหนึ่งสองสามมาตลอด” ปออธิบายโจทย์เดิมๆ ที่ดีไซเนอร์ที่ทำงานร่วมกับชุมชนเจอมาตลอด 

“เราอยากให้ชุมชนเดินหน้าต่ออย่างยั่งยืน เลยคิดว่าต้องทำกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน ไม่เอาสินค้าแบบเดิม มองใหม่ ย้อนกระบวนการทั้งหมดเลย คุณจะทำอะไร ทักษะเดิมคุณมีอะไร นี่คือต้องมานั่งคิดประชุมกับชุมชน สุดท้ายปลายทางต้องทำยังไงถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ให้ชุมชนทำงานดีๆ เองต่อได้” 

“โชคดีที่เรามีชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพเยอะมาก และพร้อมใจทดลองทำงานไปกับเรา” 

Wisdomative สมาคมค้าผ้าและงานคราฟต์ ที่ฝึกสอน คัดสรร และเป็นตัวกลางขายวัสดุทั่วไทย

ชุมชนที่ว่าคือบ้านกกบก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บ้านใกล้เรือนเคียงกลุ่มที่ทอผ้าให้ Folkcharm จุดเด่นของที่นี่คือการปลูกฝ้ายเอง ปั่นฝ้ายเองด้วยมือ ทำทุกขั้นตอนเส้นใยเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเส้นยืน เส้นพุ่ง สีย้อมผ้าธรรมชาติก็ได้มาจากต้นไม้และป่าประจำหมู่บ้าน โดยไม่ไปรับซื้อวัสดุจากภายนอกเลย ต่างจากหลายที่ที่ซื้อเส้นฝ้ายจากโรงงานบ้าง หรือซื้อวัตถุดิบย้อมผ้าจากที่อื่นหรือสีเคมีบ้าง 

ทั้งที่คุณสมบัติรักษ์โลก ใช้วัสดุ Hyperlocal ลด Carbon Footprint ขนาดนี้ ตอนที่ทั้งสามไปค้นพบบ้านกกบก แม่ๆ ทอแค่ผ้าสีพื้น ผ้าพันคอ หรือย่ามลายง่ายๆ ราคาไม่กี่ร้อยบาท สามสหายจึงตั้งธงว่า จะทำให้ชุมชนเห็นศักยภาพตัวเอง รู้ตัวว่าพวกเขาเจ๋งเกินกว่าจะทำอะไรธรรมดา แต่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ซับซ้อนและสร้างรายได้ที่มากขึ้นได้ 

Wisdomative สมาคมค้าผ้าและงานคราฟต์ ที่ฝึกสอน คัดสรร และเป็นตัวกลางขายวัสดุทั่วไทย

เข็นฝ้ายขึ้นภูเขา

“เราออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Wisdomative Canvas ขึ้นมา เป็นกระบวนการทำงานกับชุมชน ใครอยากผลิตงานร่วมกับชุมชนก็ทำตามขั้นตอนนี้ แล้วผลิตงานของตัวเองขึ้นมาได้เลย” ต้าเสริมด้วยข้อความที่น่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยตาลุกวาว 

“เราต้องประเมินชุมชนว่าเขามีศักยภาพพอมั้ย เขาทำอาชีพอะไรอะไร ว่างตอนไหนบ้าง ติดต่อยากมั้ย แล้วถ้าเขารู้สึกไม่จอย ทำไปสักสามสี่รอบก็พัง ซึ่งถ้าเอากระบวนการไปจับก่อน แทนที่จะพุ่งเข้าไปเลย มันจะลดเงินและปัญหาไปได้เยอะมาก”

เขายกตัวอย่างกระบวนการทำงานกับชุมชน ด้วยการหยิบแฟ้มและตัวอย่างผ้าขึ้นมาให้ดูทีละเวอร์ชัน จากผ้าพื้นธรรมดา พวกเขามอบเกมใหม่ให้แม่ๆ แข่งขันเข็นฝ้าย (ปั่นฝ้าย) ให้ได้ไซส์เล็กที่สุด ไปจนถึงเข็นเบาๆ จนเส้นฝ้ายใหญ่ที่สุด กิจกรรมนี้ทำให้ชุมชนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ นอกจากวิธีการและความงามแบบเดิมที่คุ้นชิน ส่วนผลผลิตที่ออกมาก็มีผิวสัมผัสที่ร่วมสมัย มีลูกเล่นน่าสนใจมากขึ้น ฝ้ายเส้นใหญ่นุ่มทอฟูๆ ไม่แน่นดังเดิม ให้ความรู้สึกอบอุ่นและหรูหราคล้ายขนแกะ 

Wisdomative สมาคมค้าผ้าและงานคราฟต์ ที่ฝึกสอน คัดสรร และเป็นตัวกลางขายวัสดุทั่วไทย
Wisdomative สมาคมค้าผ้าและงานคราฟต์ ที่ฝึกสอน คัดสรร และเป็นตัวกลางขายวัสดุทั่วไทย

ได้วัสดุแล้วก็ถึงเวลาทอ ต่อมาเป็นหน้าที่ของอิมผู้เป็นนักออกแบบสื่อสารกับชุมชน ปกติเธอใช้กี่เฟรมหรือกี่พกพาเล็กๆ เป็นตัวช่วยคลี่คลายลวดลายยากๆ ในคอมพิวเตอร์ เป็นลายที่แม่ๆ เข้าใจได้ ดังนั้นเวิร์กชอปนี้ แทนที่ช่างทอต้องลงมือทอผ้าผืนใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย ก็ทดลองสนุกกับการทอจับลายนั้นนี้มาชนกัน เช่น ขิด ยกลาย หรือลองเทคนิคใหม่ในกี่เล็กๆ ก่อนได้ ไม่เปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร ผลลัพธ์ที่ออกมาดูดีน่าใช้มาก (จนอยากซื้อบัดเดี๋ยวนั้น) อิมย้ำว่าสิ่งที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นการบ้านที่แม่ๆ คิดส่งมาตามโจทย์เอง เธอไม่ได้ออกแบบลายให้หรือจับมือสอน

“เราเชื่อว่าทักษะเดิมที่แน่นหนาของเขา มันจะทำให้เขาทำงานได้อย่างมีความสุขความสบายใจ มีความคุ้นเคยอะไรบางอย่างดั้งเดิมอยู่ในสมองเขาอยู่แล้ว” ปอเสริม

“ถ้าเราไปเริ่มจากการถอดลายมาจากชุมชน จะงอแง แต่ว่าเราเริ่มให้เขานับหนึ่งใหม่จากวัสดุก่อน แล้วค่อยเอาเรื่องนี้มาใส่ทีหลัง เราเลยได้สิ่งที่เขาอยากโชว์จริงๆ แล้วเราเห็นเลยว่าโอกาสมันเยอะมาก นับถือเขาเลย มีลายสวยๆ ประหลาดๆ จากไหนไม่รู้เกิดขึ้นจากวิธีการทอ บางลายนี่เมืองนอกมาก Chanel มากเลย เราก็เลือกดูว่าจากลายพวกนี้ เราจะแกะลาย ถอดโครงสร้างไปสร้างงานออกแบบต่อได้ยังไง แล้วก็ให้โจทย์แม่ไปทอ ตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นผ้า” ต้าหัวเราะสนุก

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

มาถึงช่วงสีสัน ตกเป็นหน้าที่ปอที่ควบคุมดูแลการย้อมสี ซึ่งในชุมชนใช้สีธรรมชาติกันอยู่อยู่แล้ว เช่น คราม ใบเอ็นหม่อน ประดู่ สะตี มะเกลือ แต่ปัญหาที่พบคือทุกครั้งที่ย้อมใหม่ ค่าเฉดสีจะเพี้ยนออกไปด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น บางฤดูกาลไม่มีวัตถุดิบ ใส่ใบไม้ไม่เท่าเดิม เปลี่ยนปี๊บต้มใหม่ ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมจึงจัดการตกลงสัดส่วนตวงวัดให้ชัดเจน ถึงขั้นซื้อหม้อก๋วยเตี๋ยวสเตนเลสให้ใหม่ เพื่อเคาะสูตรสีย้อมร้อนให้เป๊ะใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะ Wisdomative คือกลุ่มขายผ้า จึงจริงจังกับการส่งมอบงานลูกค้าให้ได้สีเหมือนเดิม จนพูดกับลูกค้าได้เต็มปากเต็มคำว่าสีจะไม่เพี้ยนเกิน 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ 

สมาคมค้าผ้า

ต้าหยิบผ้าลายพร้อมขายแสนน่ารักขึ้นมาวางทีละผืน เขาบอกว่าจะออกลายใหม่ๆ ทุกปี โดยคิดชื่อใหม่ๆ เติมจริตจะก้านให้ผ้าแต่ละม้วนมีเสน่ห์พื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ลายกาบกล้วย หน้าตาคล้ายๆ ลำต้นกล้วยที่โดนตัด

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ลายก้างปลากระเดิด หรือ Kraderdingbone มาจากลายก้างปลาภาษาฝรั่งที่เรียก Herringbone พอเป็นของอีสานเลยเปลี่ยนพันธุ์ปลาเสียหน่อย เหตุผลคือปลากระเดิดหรือปลากระดี่ เอามาทำปลาร้าอร่อยที่สุด 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ลายลูกฟูกจ่อย คือ ลายลูกฟูกผอมๆ 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ลายสอยจุด หรือ Soyadot มาจากลายจุด Polka Dot เนื่องจาก Polka เป็นเพลงเต้นพื้นบ้านของยุโรป พอมาถึงอีสานจึงกลายร่างเป็นเพลงสอย ซึ่งลายนี้ทอยากมาก หมดแล้วหมดเลย (ผู้เขียนสอยมาครอบครองแล้วเรียบร้อย) 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ลายลายตารางแดนอีสาน หรือ Isan Tartan เป็นลายสก็อตกลิ่นอายลูกทุ่งจี๊ดจ๊าด

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

คอลเลกชันสีดำอุมา หรือ Super Eco Black เกิดจากการย้อมมะเกลือ หม่อน และคราม ได้ผ้าฝ้ายลายสีดำสุดเท่ที่ผิวสัมผัสนุ่ม ไม่แข็งกระด้างเหมือนย้อมมะเกลือล้วน ใช้ง่าย เอามาทำผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้แยะ

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

คอลเลกชันขจิต (Kà-Jìt) มาจากรากศัพท์ของคำว่า ขิด วิธีทอผ้าในชาติพันธุ์ไทยลาว ในสมัยก่อนใช้ในการทำของสูง เช่น การทำหน้าหมอน หรือใช้เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นโจทย์ให้แม่ๆ ลองย้อม ทอลายผืนผ้าขิดอย่างอิสระ ลวดลายบนล่างซ้ายขวาไม่ซ้ำกัน โดยขจิต 1 ผืน ใช้เวลาทำ 190 ชั่วโมง ทุกชิ้นจะถูกทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยจะมีทั้งหมด 15 ผืน แต่ละผืนเรียงนัมเบอร์ไว้ไม่ต่างจากงานศิลปะ เพราะ Wisdomative เชื่อว่าผลงานเหล่านี้มาจากศิลปิน บอกเลยว่าน่ารักน่าเอ็นดูชุบชูใจมาก 

กาลเวลาพิสูจน์ใจ

เห็นมีผ้าน่ารักเยอะแยะขนาดนี้ ช่างหลักๆ จากบ้านกกบกที่ทำงานให้มีแค่ 5 – 6 คน เท่านั้น ได้แก่ แม่แดง ยายชุม ยายเขียว ป้าเอ๊ด ป้าแอ๊ว และยายปราง จากตอนแรกที่แม่ๆ 10 – 20 คนมานั่งกันเต็มลาน ยิ่งไปเวิร์กชอปแต่ละครั้ง สมาชิกก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ แต่ชาว Wisdomative ก็ทำงานร่วมแรงร่วมใจทำงานที่วังสะพุงมากว่า 3 ปี

“เหมือนเราต้องทำกระบวนการพิสูจน์ใจกันเล็กน้อยด้วยไงว่าเราจะทำแบบนี้นะ มันไม่ใช่ปุ๊บปั๊บ สั่งงานแล้วเราซื้อเลยนะ เพราะฉะนั้นเนี่ยใครไหวอยู่ต่อ ใครไม่ไหวกลับบ้านได้ ไม่ว่า” ปอเอ่ยอย่างใจเย็น “เราเข้าใจ บางคนคิดว่าทำไมต้องมานั่งเหนื่อยเรียน เขาคิดว่าฉันทอผ้าเป็นแล้ว ดังนั้นก็ตอบมาสิว่าจะให้ทำอะไร แต่เราไม่ได้แบบต้องการแบบนั้นไง ถึงจะต้องมีอะไรเยอะๆ แยะๆ”

ต้าอธิบายเสริมว่าความเคยชินของชุมชนทอผ้า คือดีไซเนอร์จะมาลงพื้นที่แค่ครั้งสองครั้ง สั่งงานและจ่ายเงิน การออกจากรูปแบบเดิมไม่ใช่สิ่งที่ทุกชุมชนต้องการเสมอไป

ในขณะที่ Wisdomative พูดคุยและฝึกสอน ดูแลค่าแรง ให้ค่าต้นทุนวัตถุดิบ ให้ค่าทอต่างๆ นานาเสร็จสรรพ รวมถึงเปิดเผยต้นทุนและความรับผิดชอบจากฝั่งนักออกแบบ ให้เข้าใจตรงกันว่าควรทำของราคาเท่าไหร่ แล้วการขายเอากำไรนั้นทำได้จริงและยั่งยืนหรือเปล่า เพราะชาวค้าผ้าต้องนำผ้านั้นไปขายเป็นวัสดุทำสินค้าต่ออีกทอด ราคาจึงต้องสมเหตุสมผล ให้ลูกค้าซื้อไปผลิตสินค้าได้โดยไม่เหนื่อยจนเกินไป 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
ภาพ : Wisdomative

“ทำงานมาเรื่อยๆ มันค่อยๆ เผยให้เห็นว่าต้องมีอะไรทำต่อ มีอะไรทำเพิ่มอีก ได้งานที่มีฝีมือ ได้ลวดลายสีสันใหม่ๆ พิสูจน์ว่ากระบวนการ Wisdomative Canvas ที่เราออกแบบมามันสำเร็จได้ แล้วมันสามารถเดินตามได้จริงๆ” 

“แล้วก็ได้ใจคนด้วยเนอะ” ปอเอ่ยต่อด้วยรอยยิ้ม

ของแถมชื่นใจที่ได้มาจากกระบวนการ คือการลดความขัดแย้งเดิมที่ชุมชนบ้านกกบกเคยมี ให้สมาชิกเดินหน้าทำงานต่อร่วมกันได้ 

จากหมู่บ้านแรก Wisdomative ขยายผลสู่ชุมชนถัดๆ ไป อีกชุมชนที่ชาว Wisdomative กำลังทำงานด้วยคือบ้านนาหนองบง ในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เช่นกัน โดยร่วมงานกับ แม่รจน์-ระนอง กองแสน แม่หญิงอาวุโสแห่งชุมชนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อสู้คัดค้านเหมืองทองคำมานับสิบปี และใช้กระบวนการทอผ้าฝ้ายต่อสู้ ปัจจุบันต้าแอบกระซิบว่ากำลังซุ่มทำงานกับแม่รจน์เรื่องทอผ้ายีนส์ ยั่วล้อกับประวัติศาสตร์ผ้าแข็งทนทานที่เคยเป็นยูนิฟอร์มประจำชาวโรงงานและคนงานเหมือง แค่ลงมือทอก็เป็นการประท้วงที่ทรงพลังและเสียงดัง (แค่ฟังก็ขนลุกซู่ อยากสั่งพรีออเดอร์ล่วงหน้ามานุ่งสนับสนุน) 

คลายปัญหาภาครัฐ 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

“ความฝันของเราคือทำให้หน่วยงานรัฐเอา Wisdomative Canvas ไปใช้ เราไม่ได้ขายด้วยนะ ให้เลย กำลังหาวิธีให้คนเอาไปใช้ในวงกว้างอยู่ เพราะว่าเราทำงานกับหน่วยงานรัฐมาพอสมควร เราก็รู้สึกว่ามันแก้เกณฑ์ได้นะ ไม่ต้องทำงานแค่ตอบ TOR ซึ่งบางครั้งไม่เข้าใจชุมชนเลย เราน่าจะทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้กว่านั้น บางงานนึกย้อนไปก็เสียดายตังค์แทน ถ้ามันไม่ได้เพิ่มศักยภาพหรือทักษะชุมชนก็ไม่เกิดประโยชน์” ต้าเจาะประเด็นจัดสรรงบประมาณอย่างจริงจัง 

“ถ้ามองว่าการลงพื้นที่ชุมชนเป็นเรื่องยาก Wisdomative Canvas ช่วยได้ คือมันไม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากนัก แต่สำเร็จเห็นผลได้ไว ด้วยการที่เราทำความเข้าใจไปทีละขั้นๆ มันจะแก้ปัญหาได้เยอะมาก เพราะเราสามคนไปทุกชุมชนทั่วประเทศไทยไม่ได้ แต่หน่วยงานที่สนิทชิดเชื้อก็จะไปอยู่ตลอด มีงบในมือด้วย คนเหล่านั้นเหมาะสำหรับทำงานกับชุมชนมากกว่าเราอีก ถ้าเขาเอาไปใช้ ยิ่งดีกว่าเราใช้อีก

“แค่ชุมชนเดียวยังเกิดอะไรเยอะมาก สุดท้ายเราเลยได้ชื่อภาษาไทยของงานนี้ว่า ‘ภารกิจสร้างภูมิปัญญาใหม่’ เพราะสิ่งที่เราทำคือเข้าไปจัดการภูมิปัญญาทั้งหมดเลย ว่าทำอะไรกันอยู่ ทำอะไรกันได้ ใช้อะไรกันอยู่ แล้วไปคลี่คลาย ไปดึง ถอด ขยายแบบออก เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นอย่างอื่นไปได้อีกมั้ย เราเลยได้ลายใหม่ๆ ได้แบบผ้าใหม่ๆ ได้สีใหม่ๆ ในชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตัวชุมชนเองก็มีวิธีการพัฒนาต่อ มันเป็นกระบวนการทางภูมิปัญญาที่งอกงามและควรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ” 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ชาว Wisdomative ยกตัวอย่างเรื่องงานพัฒนาผ้าครามที่สกลนคร ทีมงานเข้าไปคุยกับชุมชน แล้วพบว่าพวกเขาไม่ได้อยากตัดเย็บกระเป๋า Tablet ตามใบงาน ไม่มีใครถนัดเย็บจักร ใจความคือ แม่ๆ อยากอยู่บ้านทอผ้าอย่างเดียว เรื่องการขายให้ลูกหลานดูแล ก็เลยเอา Wisdomative Canvas เข้าไปจับ โดยเปลี่ยนแนวจากการทำมัดหมี่ทางเส้นพุ่ง ซึ่งจะทำให้ได้ลายเล็กๆ สั้นๆ สำหรับผ้าซิ่น กลายเป็นทอมัดหมี่ทางเส้นยืนที่ได้ลายใหญ่ขึ้น เทคนิคที่พิเศษขึ้น ทอได้ไวขึ้น เหมาะกับการนำไปใช้ในงานอินทีเรีย

หลังจากผ่านขั้นตอนเรียนรู้ปรับตัวไปสักพัก แม่ๆ รู้สึกว่าล็อตแรกไม่สวยพอ อยากเอาชนะให้ได้ เลยไปคิดวิธีดัดแปลงเครื่องมือด้วยตัวเองจนได้งานที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ โครงการภาครัฐอื่นๆ ที่ติดต่อเข้ามาก็รีเควสต์มัดหมี่ทางยืนบ้างเหมือนกัน เพราะเห็นศักยภาพที่ผ้ามัดหมี่ทางยืนจะมีที่ทางในงานดีไซน์อื่นๆ 

นอกจากนี้ยังมีงานมัดหมี่ทางพุ่งที่ชุมชนขอมา ว่าอยากเรียนรู้ลายที่นำไปปรับใช้กับสินค้าอื่นได้หลากหลาย สมาคมนี้ก็ลองปรับลายกราฟิกให้ร่วมสมัยขึ้น

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

พ่อค้าคนกลาง

ขอบเขตการรับดูแลของ Wisdomative ครบวงจร ลูกค้าจะเป็นภาครัฐก็ได้ เอกชนก็ได้ ต้องการค้นคว้าพัฒนาวัสดุ หรือออกแบบสินค้าสำเร็จเลยก็พอเป็นไปได้เหมือนกัน

เดิมทีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อผ้าไทยมักซื้อไปตัดเสื้อผ้า ดังนั้นความต้องการซื้อผ้าเต็มที่จึงมักมีไม่เกิน 2 – 5 เมตร/ชุด 

ผลของการนำตัวอย่างม้วนผ้าไปออกร้าน ทำให้ชาว Wisdomative มั่นใจว่ามาถูกทาง เพราะมีลูกค้าดีไซเนอร์หลายสาขา โดยเฉพาะอินทีเรียมาจับเนื้อผ้าสอบถาม แค่ผ้าบุโซฟาก็เริ่มขั้นต่ำที่ 8 เมตร ม้วนผ้าที่แม่ๆ ตั้งใจทอจึงขายออกได้ทีละล็อตใหญ่ ไม่ใช่เพราะก่อนหน้านี้ดีไซเนอร์ไทยไม่สนใจผ้าทอของชาวบ้าน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสื่อสารทำงานด้วยอย่างไรต่างหาก

“สิ่งที่ Wisdommative ทำ คือการแปลภาษาระหว่างคนที่ทำงานหัตถกรรมกับคนที่ต้องการงานหัตถกรรม เพราะมีคนที่ไม่เข้าใจว่าแม่ๆ มีกระบวนการทำงานของชุมชนยังไง มีระบบระเบียบทางสังคมยังไง เพราะเราทำงานกับชุมชนเยอะมาก เราเข้าใจว่ามันมีวิธีที่จะพูดกันรู้เรื่อง ว่าอะไรหมายถึงอะไร มันมีคำศัพท์เฉพาะทางที่ทำให้สองฝ่ายเข้าใจกันได้ ถ้าโยนออเดอร์ไปอย่างเดียว แม่หายไปเดือนนึง แล้วกลับมา อ๋อ ทำบ่ได้ค่ะ แบบนี้ดีไซเนอร์ก็เข็ด แม่ๆ ก็ขาดโอกาส ทั้งที่บางอย่างพลิกนิดเดียวก็ทำได้แล้ว ถ้าเข้าใจต้นตอปัญหาแล้วมันแก้ได้ง่ายมาก” 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ต้าเล่าว่าหัตถกรรมเป็นรายได้เสริมของชุมชน เพราะวิถีหัตกรรมนั้นอิงแอบแนบพิงเกษตรกรรมอย่างแนบแน่น

“ถ้าเกิดเขาไม่ทำนา เขาก็ทอผ้าไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนที่นามาปลูกฝ้าย มันมากเกินความพอเหมาะพอดีของเขา ถ้าเราเข้าใจการทำงานของเราก็จะลื่น ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ใครมาสั่งงานเราก็บอกเลยว่ารอหนึ่งถึงสองเดือนเป็นอย่างต่ำนะ เพระว่าช่วงนี้เข้าหน้านา แม่จะวุ่นกับนามาก งานเรามันขี้หมูขี้หมาไปเลย เพราะว่านาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเขา แล้วปลายเดือนหน้าจะเข้าหน้าเกี่ยว จะสั่งอะไรก็ต้องรอเหมือนกัน เพราะว่าข้าวมันไม่รอ

“เราต้องแจ้งลูกค้าล่วงหน้า เพราะหัวใจสำคัญที่สุดก็คือความสะดวกสบายในการทำงานของชุมชน เราจะไม่ไปกดดัน บีบคั้นให้ต้องหยุดงานอื่น แล้วมาทำงานให้เรา มันไม่ใช่เรื่อง อีกอย่างเราไม่มีเงินซัพพอร์ตเขาขนาดนั้น” ปอเสริม

“งานหัตถกรรมไม่ใช่ลักษณะของใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว พูดง่ายๆ สีย้อมจากพืช สามีเป็นคนไปเก็บให้ภรรยา การตัดไม้ถางโพรงไปเก็บวัตถุดิบก็คุณสามี คนดัดแปลงกี่ทอผ้าก็คุณสามี ดังนั้น เราจะไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่ละคนรับงานได้แค่นี้ต่อปีก็เท่านี้” 

วิธีแก้ปัญหาดีมานด์มากของพวกเขามี 2 วิธี คือ เพิ่มชุมชนใหม่ กระจายรายได้ให้ชุมชนอื่น หรืออีกวิธีการที่เกิดเองตามธรรมชาติ คือเมื่อมีรายได้เสริมสม่ำเสมอ คนรุ่นใหม่ๆ จะเข้ามาเรียนรู้สืบทอดเอง

ลูกค้าที่เข้าอกเข้าใจและอุดหนุน Wisdomative มีหลากหลาย เช่น แบรนด์จักสานและกระเป๋าน่ารักจากอีสานอย่าง Thor ก็ซื้อผ้าไปทำกระเป๋าสะพายของผู้หญิง แบรนด์เสื้อผ้าบาติกจากแพร่ Kanz by Thaitor ก็อุดหนุนผ้าทำชุดไปเดินแฟชั่นโชว์ที่ออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีลูกค้าอินทีเรียจากเชียงใหม่ ไปจนถึงแบรนด์ปลอกคอสุนัขที่ขนานนามผ้าของ Wisdomative ว่า ‘จิม ทอมป์สัน แห่งวงการสินค้าสัตว์เลี้ยง’ 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

“ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราไปเจอชุมชนเยอะมากที่ทำงานตั้งแต่จักสาน ทอผ้า งานไม้ เซรามิก งานปัก จนมีคลังของ แค่บอกมาว่าอยากได้อะไร เรารู้ว่าใครทำได้ แล้วมันก็จะพาเราลามไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น งานจักสาน เราก็ลามไปถึงหวาย ถึงได้รู้ว่าทั้งๆ ที่ประเทศไทยใช้งานหวายเยอะมาก แต่ต้องซื้อมาจากเพื่อนบ้าน เกิดอะไรขึ้น

“หวายที่บ้านเราใช้ทั้งหมดนำเข้าจากลาวและอินโดนีเซีย เพราะหวายที่เราใช้สานเป็นประเภทเดียวกับที่เราตัดหน่อกิน คนนิยมปลูกกิน แต่ต้นใหญ่ๆ ยาวๆ ที่คุณภาพดีอยู่ในป่าเอามาใช้งานไม่ได้ เป็นพืชต้องห้าม ทั้งที่หวายเป็นไม้ที่ทิ้งยอด ต้องอาศัยไม้อื่นช่วยให้ได้ต้นโตๆ ปลูกแบบพืชไร่ไม่ได้” ต้าเล่าเรื่องการลงลึกเกาะติดวัสดุ ที่พาเขาไปค้นพบความจริงที่ไม่น่าโสภานัก

“เราก็ไปตามหาว่าที่ไหนมีหวาย ปรากฏว่ามีที่เชียงใหม่ มีป่าหวายอยู่หลังบ้านชุมชน แต่ตัดมาขายไม่ได้ ชุมชนก็ขาดทักษะสานหวายด้วย เสียดายมาก คือมันมีความต้องการเยอะมาก แต่เป็นความไม่สัมพันธ์กันระหว่างวัสดุกับกฎหมายไทย ที่ไม่มองเป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้ก็ประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เขาลองปลูกดู แล้วค่อยมาดูกันว่าอีกกี่ปี” ปอสรุปเรื่องหวาย

งานของ Wisdomative เริ่มไปไกลจากม้วนผ้าขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานพัฒนาวัสดุเสมือนสตูดิโอออกแบบให้ลูกค้าฮ่องกง ซึ่งสั่งทำผ้าอุ้มเด็ก ผ้าทอมือนี้ต้องผ่านการทดสอบความแข็งแรงให้ได้ ล่าสุดพวกเขาใช้เส้นพุ่งไทย แต่ว่าใช้เส้นยืนจากอังกฤษ ทอแล้วได้คุณสมบัติหนานุ่ม ยืดหยุ่นมาก ไปจนถึงวิจัยเรื่องการนำหางม้ามาทอเป็นแผ่นเส้นใยหรูหราสำหรับเป็นวอลเปเปอร์บุผนังห้อง

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

พวกเขายังมีโปรเจกต์ทำพร็อพโรงแรมที่เชียงใหม่ ก้าวออกจากผ้าไปสู่เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลายแหล่ เริ่มจากโรงแรมติดต่อมาซื้อผ้า คุยไปคุยมาถึงรู้ว่า Wisdomative จัดให้ได้ เลยกลายเป็นเบาะและหมอนปักลายเก๋สำหรับทุกห้องในโรงแรมและสารพัดสิ่งคราฟต์

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ความสนุกยังไม่หมด ต้าหยิบแจกันดินเผาใบสวยจากเกาะเกร็ดมาให้ดู พร้อมเฉลยว่าในชุมชนหัตถกรรมเซรามิก ช่างไม่รู้ว่าดินของตัวเองมาจากไหน เพราะว่าแหล่งที่ตัวเองใช้หมดไปแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำให้ควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบไม่ได้ ชาว Wisdomative คลุกคลีทำงานจนได้งานดินเผาแบบโบราณชุด 𝗡𝗢 𝗟𝗔𝗡𝗗 𝗠𝗔𝗡 ถอดการแกะลายไทยออก แต่เชื่อมโยงเรื่องราวของชาวเกาะเกร็ดที่มีเชื้อสายมอญสู่ประเทศพม่า งานชุดนี้จึงปันรายได้ส่วนหนึ่งไปบริจาคให้กับองค์กรที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ลำบากจากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ พม่า ได้โดยตรง ทั้งยังช่วยสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรไทยทั้งสวนมะพร้าว โดยใช้ใยมะพร้าวมาแทนที่การยัดบับเบิ้ลหนาๆ กระดาษจากใยกล้วยแทนที่การห่อพลาสติกกันรอย จนไปถึงลังไม้ที่ทำหน้าที่เป็นแพ็กเกจส่งไปถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัย ทำจากไม้เหลือใช้ในธุรกิจขนส่ง

“คอนเซ็ปต์เราแน่นมาก คิดมาให้มันแข็งแรงตั้งแต่ต้น แล้วก็ในกระบวนการค้าขาย เราว่าเราจัดการได้เพราะว่าเรามีวิธีการในการนำเสนอ อันนั้นก็เป็นส่วนสำคัญมาก ถ้าหน่วยงานทำแค่ของปลายทางออกมาแต่ไม่พาไปสู่การพรีเซนต์มันก็จะไปได้ไม่ไกลอยู่ดี” 

ยุคหัตถกรรมตอนปลาย

เรื่องสำคัญอีกอย่างที่ Wisdomative ตั้งใจเล่า คือการสื่อสารให้โลกรู้ว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคหัตถกรรมตอนปลาย คือคนทำงานคราฟต์กำลังจะหมดไป การแก้ปัญหาคือต้องทำความเข้าใจว่าตลาดต้องการอะไร แล้วทำงานตอบโจทย์ตลาด 

“ถ้าทำงานแล้วไม่รู้ว่าจะขายของให้ใคร ก็เปลี่ยนเถอะ ไม่ได้ให้เลิกนะ ให้เปลี่ยน ถ้าไม่มีคนใส่ซิ่นเดินตลาดอีกต่อไปจะทำยังไงต่อ เราก็ต้องหาตลาดใหม่ หาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน อีกอย่างคือกระบวนการทำงานหัตถกรรมบางอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือ แม้กระทั่งวิธีการ มันยากที่คนรุ่นใหม่จะมาสนใจทำหลังขดหลังแข็ง เราก็ต้องแก้วิธีการทำงานบางอย่างให้ง่ายขึ้น ทำงานได้ไวขึ้น โดยช้อนบางอย่างมาเล่นต่อ ต้องกล้าที่จะคลี่คลาย และมีกระบวนการที่คลี่คลายความเชื่อ ค่านิยมในชุมชนด้วย” ต้าเอ่ย

“ถ้าทำจนเหนื่อย จนท้อ ไม่อยากทำต่อ เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงที่จะไม่ต้องแช่แข็งมันไว้ ให้คนต่อๆ ไปยังคงมีทักษะนั้น โดยไม่ต้องเต็มร้อยก็ได้” อิมเสริม

“สิ่งที่เราแก้ในกระบวนการเลยไม่ใช่เรื่องโปรดักต์ มันกระโดดเข้าไปที่เครื่องไม้เครื่องมือด้วย ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ การทำงานง่ายขึ้น คนรุ่นหลังทำได้ งานออกมาดี ทุกอย่างก็ลงตัว” ปอแจมบ้าง

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน
 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

แล้วถ้าใช้เครื่องไม้เครื่องมือช่วยมากขึ้น อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างงานแฮนด์เมดกับงานอุตสาหกรรมล่ะ ชาว Wisdomative มองหน้ากัน ต้าตัดสินใจตอบ

“ต่อให้เราทำกี่ให้ทำงานง่ายขึ้น ทำงานได้ไวขึ้น แต่มันต้องมีคนควบคุม คนเหล่านั้นต้องผ่านการการ Practice อะไรบางอย่าง งานหัตถกรรมเกิดมาจากการที่คนฝึกฝนจนมีทักษะงานบางอย่าง กระบวนการนี้มันคือหัตถกรรม พี่ๆ ที่เย็บจักรอยู่รังสิตก็ทำงานหัตถกรรม 

“ปีที่แล้วเราทำเก้าอี้ออกมาตัวหนึ่งมาตั้งในงาน Chiang Mai Design Week ซึ่งเป็นงาน Laser Cut แล้วเราตั้งคำถามว่ามันคราฟต์ไหม เราป้อนทุกอย่างเข้าไปในคอมพิวเตอร์ให้ตัดออกมา ซึ่งก็ต้องตีความไงว่าความคราฟต์อยู่ที่ตรงไหน สำหรับเราคนที่ควบคุมเครื่องจักรก็คือ Crafter คนหนึ่ง” กระบวนกรกล่าวอย่างจริงจัง

“อย่าไปกลัวเส้นแบ่งว่าจะต้องไม่เป็นอุตสาหกรรม ต้องหาสมดุลให้อยู่ได้ บางทีลูกค้าอยากใช้งานแบบสมบุกสมบันจริงๆ แต่เขาก็ยังคงอยากใช้เส้นใยแบบธรรมชาติที่คนทำเอง ตัดเอง ยังคงใช้สีธรรมชาติ แต่ถ้าความแข็งแรงไม่ได้ ก็ต้องพึ่งอุตสาหกรรมอยู่ดี เพื่อให้มันไปเติบโตในอีกสายหนึ่งให้ได้ค่ะ” อิมอธิบายจากประสบการณ์ตรง 

“ปัจจุบันงานคราฟต์มีราคา แต่เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้แพงแบบไร้เหตุผล มันแพงด้วยวิธีการทำที่ยาก แค่ชุมชนหัตถกรรมไทยเยอะมากไม่รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งที่พิเศษ แค่ไปหยิบมาเล่า เราว่ามันต่อเนื่องไปได้อีก มันสร้างผลพวงให้กับตัวเขาเอง ให้กับสังคม ให้กับสิ่งที่เขาทำอยู่ได้อีกเยอะมาก” ต้าเอ่ยอย่างเชื่อมั่น ขณะที่ปอเอ่ยปากตบท้าย

“ความต้องการงานหัตถกรรมของกลุ่มลูกค้าหลากหลาย จากที่เราเคยมองเห็นว่าเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่เอามาใช้งานเสื้อผ้า กลายเป็นว่าที่จริงแล้วทุกคนต้องการหัตถกรรม ในเมื่อเราถึงยุคหัตถกรรมตอนปลายแล้ว แต่ความต้องการลูกค้าเป็นแบบนี้ แล้วทำยังไงถึงจะทำให้หัตถกรรมมันยาวกว่านี้ ยาวต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไปตอบรับความต้องการของลูกค้าที่ใช้คำว่าไม่มีที่สิ้นสุดได้เลย” 

 กลุ่มนักออกแบบผู้เข้าใจทั้งดีไซเนอร์และชุมชน สร้างสื่อกลางให้การทำงานคราฟต์ไทยง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

Wisdomative

Website : wisdomative.com

Facebook : www.facebook.com/wisdomativeth

Instagram : www.instagram.com/wisdomative

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล