ทยอยจัดกิจกรรมดีๆ ออกมาตลอดในโอกาสครบรอบ 10 ปี เดอะวิสดอมกสิกรไทย ล่าสุด เดอะวิสดอมกสิกรไทยร่วมกับ The Cloud  จัดกิจกรรม ‘EAST MEETS WEST’ ชวนสมาชิกเดอะวิสดอมล่องเรือย้อนอดีตบนเส้นทางสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา จุดนัดพบของชาติตะวันออกกับชาติตะวันตก จนเกิดการหลอมรวมวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม เครื่องแต่งกาย และอาหารการกิน ผ่านเรื่องเล่าเคล้าประวัติศาสตร์สุดสนุกกับ นักรบ มูลมานัส สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ‘คนรักวัง’

นอกจากสมาชิกเดอะวิสดอมจะได้นั่งเรือชมสถาปัตยกรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดินลัดเลาะซอยโอเรียนเต็ลชมอาสนวิหารอัสสัมชัญและอีสต์เอเชียติก ซึ่งกำลังจัดแสดงผลงานศิลปะของงาน Bangkok Art Biennale 2018 และขึ้นฝั่งเดินชมจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อของวัดราชาธิวาส ยังมีไฮไลต์เป็นมื้อเย็นสุดพิเศษในบ้านเก่าริมน้ำที่ตอนนี้กลายเป็นโรงแรมสุดคลาสสิกอย่างพระยา พาลาซโซ ปิดท้ายด้วยประสบการณ์พิเศษกับการนั่งเรือ Hacker-Craft เรือคราฟต์สัญชาติอเมริกัน หนึ่งใน Classic Boat อายุร้อยกว่าปีที่ยังคงโลดแล่นอยู่จนถึงปัจจุบัน เพื่อชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น

ถ้าพร้อมแล้ว ก้าวขาลงเรือลำเดียวกันเลย!

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

ตะวันออก : ตะวันตก

การล่องเรือเดินทางครั้งนี้จะทำให้ได้สัมผัสและรับรู้ถึงการผสมผสานวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกมากยิ่งขึ้น เพราะในยุคสมัยที่ยังไม่มีเรือบินหรือเครื่องบิน ชาวตะวันตกทั้งหลายก็ใช้หนทางนี้ ในการเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และบรรพบุรุษของเราก็ยังใช้เส้นทางเดียวกันนี้ในการเดินทางไปยังโลกตะวันตกด้วย

ฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นราชธานีมานานกว่า 15 ปี เพราะมีภูมิทัศน์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมาฝั่งพระนคร ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวง ถือว่าเป็นทำเลทองเพราะเดิมทีเป็นที่ดินของชาวจีน และชาวจีนมักดูตำแหน่งฮวงจุ้ยก่อนลงหลักปักฐาน แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนที่ดิน เป็นผลให้ชาวจีนย้ายไปตั้งถิ่นฐานแถวตลาดน้อยและสำเพ็งแทน โดยมีท่าเรือฮวยจุ่งล้งฝั่งตรงข้ามเป็นศูนย์กลาง

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

ล้ง 1919

ก่อนออกเดินทางจากท่าเรือล้ง 1919 ไปยังท่าเรือโอเรียนเต็ล ขอชวนมาล้อมวงฟังประวัติล้ง 1919 ฉบับย่อส่วนกันเสียก่อน

ล้ง มาจากชื่อ ฮวยจุ่งล้ง แปลว่า เรือกลไฟ แรกเริ่มเดิมทีเป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภพล (ชื่น พิศาลบุตร) สร้างเป็นท่าเรือกลไฟและโกดังเก็บสินค้า เพื่อรองรับเรือสินค้าจากจีน มลายู ฮ่องกง และสิงคโปร์ ว่ากันว่าบรรพบุรุษจากจีนแผ่นดินใหญ่จะต้องมาลงที่ท่าเรือแห่งนี้เป็นสถานที่แรกเพื่อสักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางเพื่อความเป็นสิริมงคล

1919 เป็นปีคริสต์ศักราชที่นายตันลิบบ๊วย ต้นตระกูลหวั่งหลี รับช่วงต่อกิจการจากเจ้าสัวชื่น แถมยังปรับท่าเรือเป็นสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าการเกษตรเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2560 จากท่าเรือฮวยจุ่งล้ง กลายเป็น ‘ล้ง 1919’ สถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

อีสต์เอเชียติก

เรือล่องทวนน้ำได้ไม่นานก็ถึงท่าเรือโอเรียนเต็ล ที่ตั้งของ ‘อีสต์เอเชียติก’ ก่อตั้งโดยกัปตันฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์ก อาคาร 3 ชั้นแบบนีโอคลาสสิก ที่มีร่องรอยของความเก่าและความใหม่ ตัวอาคารมีช่องโค้ง ด้านบนสุดของอาคารมีจั่วแบบบาโรก มีสัญลักษณ์ธง สมอเรือ หมวกเมอร์คิวรีและคทางูไขว้ แสดงถึงการค้าขาย การเดินเรือและการสื่อสาร ภายในอาคารมีภาพโมเสสนกนางนวลขนาดใหญ่ เตือนใจให้นึกถึงประเทศเดนมาร์กอยู่เสมอ

ปัจจุบันเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะของศิลปินหลากหลายประเทศจากงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 อาทิ ‘Performing Textiles Series’ ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นการแสดงออกทางร่างกายของกระบวนการต่างๆ ในการใช้แรงงานของสตรีในประเทศไทย หรือ ‘Diluvium’ ของ อี บุล ศิลปินจากประเทศเกาหลี แปลงโฉมพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเขาวงกตด้วยเทปสีเงินคล้ายจะพาผู้ชมเดินทางไปสู่โลกอนาคตในขณะเดียวกันก็ขัดแย้งกับสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของอีสต์เอเชียติก

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

อาสนาวิหารอัสสัมชัญ

อัสสัมชัญ (Assumption) หมายความว่า พระนางมารีรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ ‘อาสนวิหารอัสสัมชัญ’ สร้างขึ้นครั้งแรกโดยบางหลวงปาสกัล ชาวไทย-โปรตุเกส และโบสถ์หลังปัจจุบันสร้างโดยบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลัมเบต์ ชาวฝรั่งเศส วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรเนซองส์ โครงสร้างเดียวกันกับอาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส ประเทศฝรั่งเศส สังเกตจากหอระฆังทั้งสองข้าง

ภายในวิหารมีออร์แกนแบบฉบับดั้งเดิม หากมองเหนือขึ้นไปจะเจอกับช่องกระจกตกแต่งด้วยกระจกสีนำเข้าจากประเทศอิตาลี เรียกอีกชื่อว่า Rose Window เพราะกระจกสีที่ซ้อนทับกันมีลักษณะคล้ายกับกลีบของดอกกุหลาบ

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

ศุลกสถาน

ถัดจากอีสต์เอเชียติกเป็นตรอกโรงภาษี ครั้งหนึ่งเคยเป็นด่านภาษี สังเกตได้จาก ‘ตึกศุลกสถาน’ อาคารสูง 3 ชั้นทรงนีโอคลาสสิก ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี เป็นสถานที่เก็บภาษีร้อยชักสาม สัญลักษณ์ของการสร้างระบบการค้าที่สากล ทั้งยังเคยเป็นสถานที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติในสมัยนั้น

รวมทั้งเป็นที่จัดเลี้ยงงานสมโภชครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ถูกปรับเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจบางรักและอยู่ในความดูแลของกองตำรวจดับเพลิงมาจนปัจจุบัน

นักเล่าเรื่องชวนสังเกต ศุลกสถานถือเป็นหนึ่งในสองสัญลักษณ์ของชาติตะวันตกที่แสดงว่าล่องเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงบางกอกแล้ว เพราะจะต้องมาเสียภาษีที่ศุลกสถานเสียก่อน ส่วนอีกหนึ่งสัญลักษณ์คือ พระปรางค์วัดอรุณฯ นั่นเอง

EAST MEETS WEST

โบสถ์ซางตาครู้ส

วนเรือกลับเพื่อไปวัดราชาธิวาส เรือล่องผ่าน ‘โบสถ์ซางตาครู้ส’ ซึ่งสร้างในสมัยที่พระเจ้าตากสินครองราชย์และคนโปรตุเกสมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงทรงให้ตั้งชุมชนในบริเวณกุฎีจีนและสร้างโบสถ์ซางตาครู้สขึ้น เนื่องจากเป็นโบสถ์นิกายคาทอลิก ตัวโบสถ์จึงงดงามโอ่อ่าทั้งด้านนอกและด้านใน ความพิเศษช่วงคริสต์มาสของทุกปี ที่นี่จะมีงานเฉลิมฉลอง และตีระฆังโบสถ์เป็นเพลงคริสต์มาสนอกเหนือจากการตีบอกเวลาตามปกติ

EAST MEETS WEST

วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

เรือแล่นถึงจุดหมายเดินขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ ‘วัดราชาธิวาสวิหาร’ เดิมชื่อวัดสมอราย เพี้ยนมาจากคำว่า ถมอราย แปลว่า วัดที่มีหินอยู่เรียงราย  (ถมอ ภาษาเขมรแปลว่า หิน) ได้รับการบูรณะเมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบ หากสังเกตจากโครงสร้างของพระอุโบสถคล้ายปราสาทเขมร เขียนลายกระจังแบบไทย แต่สร้างด้วยคอนกรีตและปูนซีเมนต์ ด้านหน้ามีเสาหงส์แบบไทย ส่วนข้างบนเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา-อู่ทองที่บูรณะแล้ว และอุโบสถแห่งนี้ยังเป็นต้นแบบของหอประชุมจุฬาฯ อีกด้วย

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

เนื่องจากวัดราชาธิวาสราชวรวิหารอยู่ใกล้กับโบสถ์คอนเซ็ปชัญ จึงเกิดการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันออกและชาติตะวันตก บาทหลวงและเจ้าอาวาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ จนบาทหลวงปัลเลอกัวซ์จัดทำพจนานุกรมสี่ภาษาเล่มแรกของไทย ‘สัพะ พะจะนะ พาสา ไท’ ประกอบด้วยภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถแม้จะเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่เป็นลายเส้นแบบตะวันตก เพราะวาดโดยนาย ซี. รีโกลี และศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ช่างชาวอิตาลี เจ้าของเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้เทคนิกการวาดแบบเฟรสโก เป็นการผสมสีกับน้ำแล้ววาดลงบนผนังขณะที่ปูนบนผนังยังเปียกอยู่ ถือเป็นเทคนิคยอดฮิตสมัยยุคเรเนซองส์

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

เจ้าพระยา พาลาซโซ

อดีตบ้านบางยี่ขันที่เคยถูกสร้างขึ้นเป็นเรือนหอ เป็นโรงเรียน และเคยถูกทิ้งร้างอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ด้วยสถาปัตยกรรมที่ยังคงความงดงามทำให้ปัจจุบันถูกบูรณะใหม่จนกลายเป็นโรงแรมพระยา พาลาซโซ สุดคลาสสิกริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ทรงอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลาดิโอ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนสีเหลืองนวลตา 2 ชั้น แบบนีโอคลาสสิก มีช่องโค้ง บันไดเฉลียงด้านหน้าเชื่อมถึงกันทั้งหมด มีมุข 2 ข้าง หลังคาประดับกระเบื้องโค้ง หากใช้ในวัดจะเรียกว่า กาบู

บริเวณพื้นที่ทั้งหมดหันหน้าเข้าหาแม่น้ำ ในทริปนี้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมเวิร์กช็อปคอลลาจภาพถ่ายกับคุณนักรบ มูลมานัส นักทำภาพประกอบสุดสร้างสรรค์ และเป็นที่รับประทานอาหารเย็นด้วยเมนูอาหารไทยสุดพิเศษ

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

Hacker-Craft Boat

เปิดประสบการณ์และมุมมองใหม่ครั้งแรกของเอเชียในการล่องผืนน้ำกับ True Leasing ด้วยเรือ Hacker-Craft เรือสุดคลาสสิกสัญชาติอเมริกัน สรรค์สร้างจากบริษัทประกอบเรือคราฟต์เก่าแก่ที่สร้างด้วยมือมานานกว่า 100 ปี ความประณีตและพิถีพิถันโดยช่างมากฝีมือผู้ชำนาญไม่เป็นสองรองใคร จนกลายเป็นเรือคราฟต์สุดหรู จากการนำไม้เนื้อแข็งอย่างมะฮอกกานีมาใช้ในการสร้างเรือทั้งลำ

นอกจากจะทนทานเป็นพิเศษ ยังให้สีสันและลวดลายสวยงาม จนต้องบอกว่า ‘นี่ไม่ใช่เพียงแค่เรือ หากแต่เป็นงานศิลปะที่ลอยอยู่บนน้ำ’

EAST MEETS WEST
EAST MEETS WEST

เป็นอีกกิจกรรมดีๆ ในการนั่งเรือท่องเที่ยว เพื่อเดินเท้าเที่ยวชมสถานที่ที่มีความโดดเด่นด้านงานสถาปัตยกรรม เป็นการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ที่ปัจจุบันยังคงความงดงามไว้ให้ชื่นชม รวมถึงยังได้รับรู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของแต่ละสถานที่ ซึ่งทำให้เกิดมุมมองต่อกรุงเทพฯ หรือสถานที่เดิมๆ ในความรู้สึกที่ต่างออกไป และจดจำแต่ละสถานที่ในมุมมองใหม่ที่เป็นมากกว่าแค่ซอย ถนน หรือวัดธรรมดาๆ อย่างที่เคยผ่านตา

EAST MEETS WEST
 

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ