สมัยผู้เขียนยังเป็นนักศึกษา และเริ่มจะเข้าสู่วงการเสื้อผ้าวินเทจ ก็เป็นธรรมดาที่ชื่อ The Machine จะคุ้นหูและเกือบตัดสินใจใช้บริการอยู่บ่อยๆ เพราะอย่างที่รู้กันว่า เสื้อผ้าวินเทจส่วนมากจะมาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และบางส่วนมาจากญี่ปุ่น ถ้าตัดข้อท้ายสุดท้ายออก เสื้อผ้ายุคเก่าก็นับว่าหาไซส์ยากเหลือเกิน สำหรับคนไทยที่พื้นฐานสรีระแตกต่างกับฝรั่งอยู่มากโข-มากถึงกับกางเกงยีนส์บางรุ่นในบ้านเขา ไซส์เล็กสุดคือเอว 34 เลยทีเดียว

The Machine เป็นร้านซ่อม-แก้ ทรงยีนส์ระดับท็อปของประเทศไทย หากนิยามด้านฝีมือก็เรียกว่าพระกาฬ และหากนิยามด้านความเข้าใจก็พูดได้ว่าอ่านขาด ไร้ข้อกังขา เพราะสาวกยีนส์-นักสะสมมากหน้าหลายตา จนถึงแฟชั่นนิสต้าทั่วทุกสารทิศ ต่างไว้ใจ้ให้ The Machine เป็นผู้ดูแลเสื้อผ้าตัวเก่งของพวกเขา ซึ่ง The Machine ทำหน้าที่นี้มากว่า 25 ปี ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมที่เสกได้ราวกับชุบชีวิต หรือการแก้ทรงที่สร้างขึ้นราวกับได้ชุดใหม่ตามใจผู้สวมใส่

ยิ่งกว่านั้น ร้านซ่อม-แก้ ทรงยีนส์ ยังผันตัวเป็นแบรนด์เสื้อผ้ายีนส์ที่กำเนิดจากการตกผลึกทางฝีมือ หลังจากแกะชำแหละ แงะ ง้าง ทุกส่วนของแพตเทิร์น โดยนำผ้าญี่ปุ่นเกรด A มาขึ้นแบบ มีความหนึบ แข็ง และขึ้นเฟดสวยงาม มีทั้งแจ็กเก็ตและกางเกง ซึ่งผู้เขียนกล้ายืนยันเรื่องคุณภาพระดับเวิลด์คลาสได้ว่าไม่แพ้แบรนด์ดังระดับสากลเลยทีเดียว จะซื้อหน้าร้านหรือสั่งตัดพิเศษเพื่อให้เป็นเสื้อผ้าของคุณเพียงชิ้นเดียวในโลกก็ได้ The Machine ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน 

และอย่างไม่มีสาเหตุใด ผู้เขียนกลับไม่ได้ใช้บริการ The Machine อย่างที่หวังไว้ในอดีต 

หลายปีต่อมา ผู้เขียนยืนอยู่หน้าประตูบ้านทาวน์เฮาส์ย่านบางใหญ่ หลังจากที่ขับรถวนหลงทาง ผ่านตึกรามและท้องทุ่งนาสงบเงียบจนมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ที่แห่งนี้ผู้ก่อตั้งใช้เป็นสตูดิโอส่วนตัว 

ขณะนั้นเอง บริเวณหน้าประตูทางเข้า ผู้เขียนพยายามจับเสียงเพลงที่ลอดผ่านซอกประตู-หน้าต่าง ออกมาจนตัวโน้ตลีบเรียบ บอกเล่าแผ่วเบาเท่ากับเสียงผ้าเสียดกันของใครสักคนตรงอีกฟากของทางเดิน อาจจะเป็น Swing Jazz หรือว่าเป็นฟิวชันในสายที่ใกล้เคียงกัน เช่นนี้เอง ท่ามกลางแดดที่ร้อนจนเสื้อผ้าแทบไฟลุก ก็ยังพอมีคำถามให้ผู้เขียนนึกสนุกในระหว่างรอช่างภาพจัดที่ทางให้รถคู่ใจว่า

“ช่างซ่อมยีนส์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทยจะเปิดเพลงอะไรฟังในบ้าน” 

วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย

ช่างรัช-วิรัช พฤกษา หรือที่ผู้เขียนจะเรียกนับต่อจากนี้ว่า ‘พี่รัช’ เอ่ยชักชวนให้เข้าไปด้านในด้วยท่าทีสบายๆ เขาสวมเสื้อเชิ้ตขาวทับด้วยเสื้อกั๊กทรงคลาสสิก กางเกงยีนส์ Levi’s ที่คัสตอมขึ้นมาเอง โดยสร้างลูกเล่นกับเนื้อผ้าผ่านการปักคำว่า ‘Louis Vuitton’ แทนที่แพตเทิร์นเดิมบริเวณกระเป๋าหลัง สวมรองเท้า Dr.Martin 1460 Navy Blue ทั้งหมดลงตัวเมื่ออยู่บนร่างของพี่รัช เหมือนทุกกระเบียดนิ้วผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี-ซึ่งก็ไม่แปลก พี่รัชเป็นช่างซ่อมยีนส์

ด้านในสตูดิโอรายล้อมด้วยจักรเย็บผ้าเฉพาะทางทั้งหมด 9 ตัว ทำหน้าที่ไม่ซ้ำกัน แต่ละตัวมีกองผ้ายีนส์ที่พับตั้งไว้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมม้วนด้าย สายวัด กรรไกร และอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ประจำตำแหน่ง คล้ายโอบล้อมให้จักรเย็บผ้าเหล่านั้นเป็นใจกลางขนาดย่อยอีกทีหนึ่ง นอกนั้นประปรายด้วยเก้าอี้ไม้ เสื้อผ้าที่แขวนกับตะขอเหล็กโบราณ ชั้นวางไม้ติดผนัง ทั่งเหล็กขนาดเท่า 4 ฝ่ามือเพื่อตอกกระดุม ดูแล้วน่าจะมีก็เพียงโซฟาหนังสีน้ำตาลตัวยาวที่วางติดประตูทางเข้านี้แหละ ที่เป็นจุดรีแลกซ์ปราศจากกลิ่นอายการทำงาน ยิ่งดูผ่อนคลายเป็นเท่าตัว เมื่อมีชุดเครื่องเสียงขนาดกลาง (ก็ยังเป็นลายไม้) ตั้งอยู่ติดกัน

คงไม่ต้องให้ใครมาการันตี ก็น่าจะทราบว่านี่เป็นห้องทำงานของช่างศิลป์โดยแท้ 

เมื่อสำรวจด้วยสายตาคร่าวๆ ผู้เขียนก็เริ่มปรับโฟกัสยิ่งขึ้น พร้อมเพ่งความอยากรู้อยากเห็นไปที่จักรเย็บผ้าตัวใกล้ๆ ดูแล้วเป็นรูปทรงเครื่องจักรยุคเก่า จำได้ว่าเหมือนเคยเห็นในนิตยสารเสื้อผ้าโบราณที่ซื้อเก็บไว้นานแล้ว 

แต่คิดเท่าไหร่ก็ไม่ อ๋อ เสียที จักรตัวนี้ไม่ธรรมดาแน่-ผู้เขียนสำนึกได้เท่านี้ 

“นั่งตรงไหนดี ตรงนี้เลยมั้ย เอ้านี่เก้าอี้” 

พี่รัชเลื่อนเก้าอี้มาให้ด้วยท่าทีเป็นกันเอง คล้ายกับว่ามานั่งคุยกันประสาคนรู้จัก ทั้งหมดนี้จึงช่วยลดความตื่นเต้นเล็กๆ ได้บ้างก่อนพูดคุย เพื่อเขียนบอกเล่าศาสตร์แห่งการซ่อมและแก้ทรงเสื้อผ้าโดยเฉพาะ แต่ตราบใดที่ประวัติศาสตร์แห่งผ้ายีนส์มีที่มาที่ไปฉันใด ฝีมือของพี่รัชผู้เป็นช่างซ่อมก็ย่อมมากด้วยเรื่องราวในอดีตฉันนั้น ผู้เขียนเห็นว่าควรแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ อดีตและปัจจุบัน เพื่อพาผู้อ่านเข้าถึงช่างยีนส์ที่เก่งที่สุดของเมืองไทยคนนี้อย่างแท้จริง

“เอาเลยไหมล่ะ” พี่รัชถาม

วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย
วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย
01

ที่มาก่อนเป็นช่างซ่อมยีนส์ กับชีวิตที่เคยผ่านการ ‘แก้ทรง’ มาก่อน  

จากเด็กต่างจังหวัดกลายมาเป็นช่างซ่อมยีนส์มือหนึ่ง

มันเกิดจากผ้าโหล

ผ้าโหลพาคุณเดินมาสู่เส้นทางนี้ได้ยังไง

เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เรียนจบมอหกแล้วไม่ได้เรียนต่อว่างั้นเถอะ เลยมาหางานทำในกรุงเทพฯ ตามคนอื่นเขา ทำรับจ้าง ทำตัดเย็บเสื้อผ้า ขายของในห้าง สุดท้ายมาอยู่บ้านที่เขาเย็บผ้าโหล ต้องเรียกว่าอยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย เราเลยช่วยเขาเย็บ แล้วก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมพี่ๆ รายได้ดีจังเลย อยากลองทำบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนเราเย็บผ้าไม่เป็นนะ

อ้าว

เราลองถีบจักรเล่นดูก่อน เฮ้ย มันก็ทำได้เว้ย บวกกับช่วยงานเขา ทำให้เราฝึกฝน สุดท้ายก็ทำเป็น

เย็บผ้าโหลสมัยนั้น เงินดีขนาดไหน

รายได้หนึ่งวันก็สองร้อยถึงสามร้อยบาท ถือว่าอยู่ได้ โชคดีอย่างหนึ่งที่บ้านนั้นเขาอยู่รวมกันแบบพี่น้อง พวกเราไม่ได้เป็นลูกน้องใคร พอรับงานก็จะเอารายได้มาแบ่งกัน แต่อยู่มาวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้งานช็อต จากที่เราเคยตื่นมาเย็บผ้าตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงตีหนึ่ง ตีสอง อยู่ๆ งานหยุดชะงักไปเลย มันก็มีงานเข้านะ แต่น้อยนิดเดียว ซึ่งมันเป็นปัญหาแหละ แต่เราไม่มองปัญหา เป็นอุปสรรค หรือเรื่องเลวร้าย กลับเป็นโชคดีเสียอีกที่เราจะได้มีโอกาสรีแลกซ์

แล้วคุณ ‘รีแลกซ์’ กับปัญหาตอนนั้นยังไง

เราไปเดินเล่นสวนจตุจักร (ยิ้ม)

ตอนนั้นอายุยี่สิบกว่าเอง เราไปหาเพื่อนที่ขายกางเกงยีนส์อยู่สวนจตุจักร มันเท่นะ เขาใส่ Levi’s 501 ใส่เสื้อยืด Hanes ใส่รองเท้า Dr. Martens, Adidas Samba-Superstar ส่วนเราใส่ Big John ใส่ Bobson Jean ยังไม่รู้จัก Levi’s โดยแท้เลย พอเห็นเพื่อนใส่แบบนั้นก็อยากได้ ซึ่งอยู่ๆ เพื่อนที่ขายยีนส์ก็ชวนไปตัดขากางเกงยีนส์ที่มาบุญครอง เราคิดว่ามันก็น่าสนใจดี แค่ยกจักรไปตัวเดียว ญาติเขาเช่าพื้นไว้แล้ว เขาคงอยากให้เราไปนั่งอยู่มุมหนึ่งเพื่อตัดขากางเกง

วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย

ทำไมต้องไปตัดขากางเกงยีนส์ที่มาบุญครอง

ยุคนั้นเขาขายยีนส์กันที่สนามหลวง จตุจักร อินทราสแควร์ แล้วก็มาบุญครอง ที่มาบุญครองมีร้านเล็กๆ ขายกางเกงยีนส์เป็นสิบๆ เจ้า เพราะฉะนั้น เวลามาซื้อกางเกงยีนส์แล้วนึกถึงการตัดขาก็ต้องมาที่นี่ มาหาเรา จำได้ว่าวันแรกเราทำรายได้ถล่มถลายเลย 

เท่าไหร่

ห้าสิบบาท (หัวเราะ) 

ไหนๆ ก็ยกจักรไปแล้ว เลยลุยต่อจากห้าสิบบาทนั้นแหละ กลายเป็นหนึ่งร้อยห้าสิบบาท สองร้อยบาท สามร้อยบาท จนเรามีรายได้หลักพันจากการตัดขากางเกงยีนส์อย่างเดียว โห มันเจ๋งมากเลยนะ ซึ่งเราตัดขากางเกงอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็เริ่มมีคนอยากแก้ทรง แต่ตอนนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องการแก้ทรงเลย มีแค่ประสบการณ์การเย็บผ้าโหลอย่างเดียว 

ตอนนั้นก็คิดแล้วว่า ถ้าเกิดแก้ทรงได้ เรามีรายได้เพิ่มแน่นอน

แล้วคุณทำยังไง

เราตัดสินใจไปซื้อกางเกงยีนส์ที่สวนจตุจักรมาสองตัว แล้วจ้างช่างที่อยู่ริมถนนแถวห้วยขวางให้แก้ทรงให้ ด้วยความเป็นคนต่างจังหวัดน่ะ รู้สึกอาย ไม่กล้าถามวิธีเขาตรงๆ แต่ในใจมันอยากรู้วิชานะ ก็เอาวะ อาจารย์ก็ไม่มี ครูก็ไม่มี วันนี้ไม่กลับบ้าน ใช้วิชาครูพักลักจำนั่งแอบมองเขาทำ โห เขาแก้เอวอย่างนี้นี่หว่า อ๋อ เย็บอย่างนี้เอง 

หลังจากนั้นเราก็เอาวิชาที่ได้ไปลองใช้กับลูกค้า แต่ยอมรับว่าแวบแรกที่เราเห็นกางเกงยีนส์ออริจินัล เรารู้สึกว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแหละ การจะหั่นหรือแก้ทรงมันคงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ผลลัพธ์กับผิดที่เราคาด หลังจากเราแก้ทรงให้ลูกค้า ลูกค้าไม่ได้สนใจเรื่องดีเทล (ที่หายไป) เลย เขาสนใจเรื่องฟิตติ้งที่เขากับตัวเขาได้มากกว่า

ในเมื่อผลลัพธ์คือความสุขของลูกค้า ทำไมเราจะไม่มีความสุขตามล่ะ 

วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย
วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย

อย่าบอกนะว่าคุณเจอทางที่ใช่

หลังจากนั้นเรามีงานแก้ทรงเยอะขึ้น (ยิ้ม)

ยุคนั้นเป็นยุคของกางเกงยีนส์มือสองด้วย ยังไม่มีคำว่าปั้นเฟดเลยนะ ที่ทำให้มันเก่าตามอายุการใช้งาน ส่วนมากใส่ขากระบอกแตกเนื้อทรายสวยๆ มี Levi’s 516 – 517 ขาม้าเข้ามาด้วย ทีนี้มีเพื่อนเราคนหนึ่งชื่อว่า ป๋านิด เป็นคนแรกๆ ในมาบุญครองที่ทำให้ขาม้าดังเป็นพลุแตก เพื่อนเขาที่ขายยีนส์ทุกเจ้าก็ไปหาขาม้ามาขาย สุดท้ายขาดตลาดเพราะขายดีมาก เราเลยมีโอกาสได้แก้ทรงให้กับพ่อค้าพวกนั้น (ยีนส์ส่วนมากเป็นไซส์ฝรั่ง ต้องแก้ทรงให้ขนาดพอดีกับคนไทยถึงจะขายได้) พอเราแก้เสร็จ เขาก็เอาไปขาย ที่นี้มันดันขายได้ เราเลยไปแหย่คนในสวนจตุจักรว่า เฮ้ย ฉันเนี่ย เป็นคนที่แก้ทรงกางเกงยีนส์ได้นะ 

คุณก็แสบไม่เบา 

ช่วงนั้นขาม้าดังเป็นพลุแตกเกือบสิบปี แล้วเราก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้น จากหนึ่ง เป็นสอง จากสอง เป็นสาม สุดท้ายเป็นยี่สิบเจ้าที่มาจ้างเรา แล้วหนึ่งเจ้าเอามาให้แก้ทียี่สิบ สามสิบตัว บางทีมากถึงร้อยตัว ตอนแรกก็งงเหมือนกันนะ ทำไมงานมันเยอะแบบนี้ พอเริ่มไม่ไหวก็หาคนมาช่วย ชวนเพื่อนมาเช่าห้องเล็กๆ ให้เขาช่วย ส่วนเราเป็นคนกะเกณฑ์แพตเทิร์น

ฟังดูกิจการกำลังรุ่งเรืองและไปได้สวย

เราอยู่มาบุญครองสิบเจ็ดปี สร้างทีมขึ้นมาได้สี่ถึงห้าคน ขณะที่ร้านค้าขึ้นค่าเช่า มีร้านซ่อมกางเกงยีนส์เพิ่มมากขึ้น คู่แข่งเริ่มมา บวกกับช่วง พ.ศ. 2554 มีเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง เราเหมือนเจอวิกฤตใหญ่ รายได้จากหลักแสนเหลือหลักหมื่น พอย้ายมาอยู่สยาม ลูกค้าก็ยังไม่รู้ว่าเราย้ายร้านมาแล้ว เพราะไม่มีช่องทางออนไลน์ที่จะบอกเขา 

จนเรามาเจอคอนเทนต์หนึ่งบนเฟซบุ๊ก ‘การเปลี่ยนเฟซบุ๊กเป็นห้องเรียนและสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ให้คนรู้จัก’ จากนั้นเราก็เริ่มสร้างตัวตน คิดในหัวตลอดเวลาว่า ทำยังไงเราถึงจะเป็นเบอร์หนึ่งให้ได้ พอเราสร้าง Storytelling ให้ตัวเอง ลูกค้าเก่าๆ ก็กลับมา มีสื่อเข้ามาหาทั้งเดลินิวส์ คมชัดลึก ออกสื่อเกือบสามสิบครั้ง

ยิ่งออกสื่อเยอะ ก็ยิ่งเป็นตัวการันตีความสามารถของเราจนถึงวันนี้ ซึ่งย้อนกลับไป เราเคยอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่งนะ เขาบอกว่า เวลาอยู่ในจุดเดิมที่เคยอยู่ เราจะรู้สึกหอมหวานกับสิ่งนั้น พอเปลี่ยนที่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน มันก็เกิดความกลัว และสงสัยว่าที่ใหม่จะมีอะไรให้เรากินหรือเปล่า บางคนตกอยู่ในคอมฟอร์ตโซน จนไม่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง จริงๆ ถ้าคุณกล้า คุณจะรู้ว่าจุดที่คุณกำลังยืนอยู่นี้มันหอมหวานกว่ามาก

วิรัช พฤกษา จากเด็กเย็บผ้าโหลสู่ The Machine ช่างซ่อมกางเกงยีนส์มือหนึ่งของไทย
02

กำเนิด The Machine เครื่องจักรในโลกยูโทเปียแห่งวงการยีนส์ที่อ่านขาดทุกแพตเทิร์นบนเนื้อผ้า

แสดงว่า The Machine รูปโฉมใหม่ที่ลิโด้คือความหอมหวานที่คุณพูดถึง แถมคุณทำแบรนด์ด้วย

การสร้างแบรนด์มันเหมือนโอกาสนะ PIGER WORKS, Indigoskin, PRONTO ยังทำแบรนด์ตัวเองได้เลย ทำไมเราจะทำไม่ได้ 

เราโชคดีอยู่อย่าง ยุคนี้เป็นยุคของโซเชียล มียูทูบ มีสื่อสิ่งพิมพ์ มีเฟซบุ๊ก มีไลน์ มีอินสตาแกรม มันป็นยุคที่คนสร้างแบรนด์สามารถเติบโตได้เองถ้าเรากล้าใช้มัน และการสร้างแบรนด์ สิ่งยากที่สุดคือทำยังไงให้คาแรกเตอร์เราชัด 

ที่สุดในชีวิตเราชอบแบรนด์อยู่สองแบรนด์ คือ Levi’s กับ RRL ของ Ralph Lauren คุณลุงราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) แกเก่ง แตกไลน์ RRL มาจาก Polo แล้วก็มี Denim & Supply ความเป็นแบรนด์ชัดเจนและมีคาแรกเตอร์ดีมาก

แล้วช่างซ่อมยีนส์ เขาทำงานกันยังไง

ถือกางเกงมาเลยนะ คุณต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน เช่น เป็นคนแต่งตัวแนวคลาสสิก โรแมนติก ดรามาติก หรือเนเชอร์รัล คลาสสิกคือแต่งตัวเนี๊ยบ โรแมนติกคือหวานๆ ดรามาติกคือรุนแรง เปรี้ยว คนเหลียวมองคอแทบหัก คนแต่งตัวแนวครีเอทีฟจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบมิกซ์แอนด์แมตช์ แต่แนวเนเชอร์รัลจะแคชวลหน่อย 

 ฉะนั้น เวลาใครถือกางเกงยีนส์มาหาเรา เรารู้แล้วว่าคนนี้เป็นคนแบบไหน

คุณดูออกเพียงแค่เห็นแวบแรก

ใช่เลย เราเห็นหน้าเขาตั้งแต่เข้าประตูแล้ว เป็นหนุ่มวินเทจ หนุ่มสตรีท หนุ่มโอลด์สคูล เราขอยกตัวอย่าง คุณพีท ทองเจือ เขาโอลด์สคูลนะ แต่เขาไม่ชอบใส่ Dickies เพราะดูเป็นแก๊ง เขาโตแล้ว ไม่ใช่เด็ก เขาก็ใส่เสื้อโอลด์สคูลกับกางเกงขาเดฟขาดๆ ลุคเขาก็ดูเท่ แบดบอย ไม่แก๊งเกินไป

บางคนใส่เชิ้ต ใส่สแล็ก ใส่เวิร์กแวร์ ก็หล่อได้ อย่างน้องคนนี้ใส่ขาเต่อ (ชี้ไปที่ช่างภาพ) ก็หล่อได้ ฉะนั้น การแต่งตัวหรือการทำให้ตัวเองดูดี ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้คาแรกเตอร์ตัวเองมากแค่ไหน ยิ่งรู้จักตัวเองดี ก็ยิ่งสร้างลุคให้ออกมาน่ามอง แต่งตัวง่ายๆ ก็แต่งได้นะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ครีเอทีฟ มันน่ามองทันที

เลาะเข็มชีวิต กับ วิรัช พฤกษา ช่างซ่อมยีนส์ระดับพระกาฬผู้โอบกอดแพตเทิร์นบนเสื้อผ้าพร้อมมอบชีวิตใหม่ผ่านฝีเข็ม ประสบการณ์มากกว่า 25 ปี
เลาะเข็มชีวิต กับ วิรัช พฤกษา ช่างซ่อมยีนส์ระดับพระกาฬผู้โอบกอดแพตเทิร์นบนเสื้อผ้าพร้อมมอบชีวิตใหม่ผ่านฝีเข็ม ประสบการณ์มากกว่า 25 ปี

หลังจากวิเคราะห์คาแรกเตอร์แล้วคุณทำอะไรต่อ

เราจะให้เขาลองกางเกงก่อน เพื่อจัดหาคาแรคกเตอร์ของคนคนนั้น เช่น เขาชอบกระบอกกลาง เล็ก ใหญ่ เมื่อเรารู้ความต้องการของเขาแล้ว ก็แก้ปัญหาไปที่ใจของเขาเลย เอากางเกงมาชำแหละ ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก คล้ายการแกะสลักหุ่น คือเห็นความหล่อของเขาก่อน แล้วเราค่อยแยกส่วนที่เขาไม่ต้องการออก เก็บงาน รอลูกค้ากลับมาลอง

มีตัวแรร์ไอเทมไหนที่คุณเคยจับ

แรร์ไอเทมก็ต้อง Levi’s 501 บิ๊กอี เป๊กหลัง หนังคอม้า Levi’s เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ผลิตการเกงยีนส์และมีเรื่องเล่าที่ชัดเจน ทุกอย่างมีสตอรี่หมดเลย แต่เราว่าแรร์ไอเทมนี่ทำงานง่ายนะ เรากับคนใส่เข้าใจกันด้วยเลยสื่อสารง่าย

(กางเกงยีนส์ Levi’s 501xx Big E เป๊กหลัง หนังคอม้า ผลิตช่วง ค.ศ. 1947 – 1955 เป็นไลน์การผลิตหลักของ Levi’s ยุคเก่า โดยนำเป๊กหลังมาตอกเป็นหมุดหลังกระดุม ส่วนหนังคอม้าคือส่วนของป้ายเอวด้านหลัง ฝรั่งจะเรียก Leather Patch บางแหล่งข้อมูลแจ้งว่าก็เป็นหนังวัวธรรมดา ไม่ใช่หนังคอม้าแต่อย่างใด ส่วนเรื่องราคาของ Levi’s รุ่นนี้ ผู้อ่านลองค้นหาใน Google หรือ E-bay อาจจะว้าวลั่นบ้าน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้ามาคลุกคลีในวงการยีนส์เท่าไหร่นัก)

เสื้อผ้ายุคเก่ากับยุคใหม่ เวลาซ่อม-แก้ทรง ต่างกันมั้ย

ยุคเก่ามีความคลาสสิกตรงการใช้จักร คือจักรต้องเก่าด้วย ยุคใหม่มีความประณีต อ่อนช้อย เรียบร้อย เข้ามาแทนที่ ทำไมญี่ปุ่น เขาทำรีโปร (Reproduction Product คือการนำแพตเทิร์นทุกกระเบียดนิ้วของเสื้อผ้ารุ่นเก่ามาผลิตใหม่) ออกมาเป็นแบนด์ของตัวเอง ทำไมเขาถึงต้องใช้จักรรุ่นเก่า ทำไมต้องใช้ *Union Special ทำไมไม่ใช้จักรรุ่นใหม่ไปเลย เพราะเขาต้องการเอาเรื่องในอดีตมาเล่าใหม่ อย่างแบรนด์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Fullcount, Evisu, Warehouse ก็ใช้จักรรุ่นเก่าในการผลิต Samurai, Flathead, Momotaro และ Ironheart ก็ใช้จักรรุ่นเก่าเหมือนกัน

*ถึงตรงนี้ผู้เขียนร้องอ๋ออยู่ในใจ เพราะนั่นคือจักรรุ่นเดียวกับที่แอบเหลือบมองดังที่กล่าวถึงในช่วงต้น จักร Union Special USA เป็นหนึ่งในจักรค่อนข้างหายาก ใช้ในการผลิตเสื้อผ้ายุคเก่า-ใช่ครับ พี่รัชมีไว้ในครอบครอง

เลาะเข็มชีวิต กับ วิรัช พฤกษา ช่างซ่อมยีนส์ระดับพระกาฬผู้โอบกอดแพตเทิร์นบนเสื้อผ้าพร้อมมอบชีวิตใหม่ผ่านฝีเข็ม ประสบการณ์มากกว่า 25 ปี
เลาะเข็มชีวิต กับ วิรัช พฤกษา ช่างซ่อมยีนส์ระดับพระกาฬผู้โอบกอดแพตเทิร์นบนเสื้อผ้าพร้อมมอบชีวิตใหม่ผ่านฝีเข็ม ประสบการณ์มากกว่า 25 ปี

แล้วจักรรุ่นใหม่ทำหน้าที่ทดแทนได้หรือเปล่า

ได้นะ แต่ความดิบมันไม่ได้ อารมณ์น่ะนะ มันผลิตได้ช้าและจำนวนน้อย แต่มันได้อรรถรส 

รายละเอียดออกมาเหมือนกันนะ ออกมาเป็นลูกโซ่เหมือนกัน แต่อารมณ์ไม่เหมือนกัน แล้วโมเดลยีนส์ของ Samurai, Flathead, Momotaro, Evisu ก็เอา Levi’s Big E มาเป็นแม่แบบทั้งนั้นเลย กว่าเขาจะลงทุนสะสมเครื่องจักรได้ครบ เพื่อจะผลิตกางเกงยีนส์หนึ่งตัว ที่เอาเครื่องจักรรุ่นเก่ามาเล่า มันไม่ได้ง่ายนะ อย่างเรากว่าจะสะสมจักรครบยี่สิบตัว ใช้เวลานานเหมือนกัน แล้วจักรพวกนี้ก็ไม่ได้มีขายในท้องตลาดด้วย ต้องนำเข้ามาเท่านั้น

จักรแต่ละตัวทำหน้าที่อะไรบ้าง

(พี่รัชลุกขึ้นจากโซฟา แล้วเริ่มด้วยการหยิบกางเกงยีนส์ที่กำลังแก้ทรงให้ดูก่อนจะเดินแนะนำจักร)

ตัวนี้เป็น Levi’s รุ่นฉลองครบรอบหนึ่งร้อยสิบปี เขาส่งมาให้ทำ (พี่รัชกลับตะเข็บด้านในขาให้ชมความสวยงามของแพตเทิร์น) อันนี้เป็นจักรล้มขาใน ตัวนี้จักรลูกโซ่ปลายขา ตัวนี้จักรแซ็กรางดุม ตัวนี้จักรลาเสื้อยืดเข็มเดี่ยว ตัวนี้เข็มคู่ ตัวนี้จักรโพ้ง ตัวนั้นจักรซิกแซก เอาไว้ทำ Patchwork

ส่วนนี่ ตัวนี้มาพร้อมเราเลย ตั้งแต่มาบุญครอง ทุบจนแตกเลย แต่ไม่ยอมทิ้ง เขาเรียกว่าจักรโรงงาน ไว้ขึ้นหน้าสาบ ทำกระเป๋าหน้า กระเป๋าหลัง ต้องใช้จักรตัวนี้ ตอนนั้นซื้อมาเป็นหมื่นเลยจากโรงจำนำ นี่อีก จักรตัวเจ๋งของอเมริกาเลยนะ (จักรที่ว่าคือ Union Special USA ตัวเก๋า)

คุณมีทั้งฝีมือ มุมมอง และอุปกรณ์ แล้วความท้าทายของอาชีพช่างซ่อมยีนส์อยู่ตรงไหน

โจทย์ (ตอบทันที) การแก้ทรงมันเหมือนการแก้ปัญหาให้กับคน ความท้าทายขึ้นอยู่กับโจทย์ที่เราได้รับ ว่าคนที่เขาส่งกางเกงมาให้เราเขาต้องการแก้อะไร เมื่อเราตอบโจทย์เขาได้ เขาจะมาหาเราไม่เลิกเลย (ยิ้ม)

เราคิดว่าเราเป็นช่างที่รู้ข้อดีของตัวเอง เรารู้แพตเทิร์นของกางเกงยีนส์ทั้งหมด เรารู้ว่าจะเลาะตรงไหน ฉีกตรงไหน จุดไหนแก้แล้วจะออกมาดีที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาดีเทลที่เป็นออริจินัลของยีนส์ด้วย เราเคยแก้ยีนส์จากไซส์ 46 ให้เหลือ 36 แถมทรงไม่เสียด้วย เพราะลูกค้าไม่ได้ซื้อไซส์ที่พอดีกับตัวเอง มันราคาแพง เลยหาไซส์ใหญ่ที่ราคาถูกกว่าเอามาให้เราแก้ ซักน้ำเดียวก็ไม่รู้แล้วว่าเป็นกางเกงแก้ นอกจากว่าที่ป้ายยังมีตัวเลข 48 นั่นแหละ (หัวเราะ)

เปลี่ยนจากไซส์ใหญ่ให้เล็กก็ทำมาแล้ว เจอของยากกว่านี้บ้างมั้ย

เคสที่ยากที่สุดคือเคสที่คุยกันไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) การทำงาน เราจะถามลูกค้าก่อนทุกครั้งว่าเขาต้องการอะไร หลังเสร็จงานเราก็ต้องบอกเขาด้วยว่า แก้ทรงไปแล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปหรือสิ่งที่เขาต้องเจอคืออะไร ต้องทำความเข้าใจกันก่อนตั้งแต่แรก ไม่เช่นนั้นมีโอกาสสูงมากที่เขาจะไม่ชอบ ก็มีบางครั้งนะ เช่น ตัดขาแล้วสั้นไป ยาวไป มันก็ไม่ได้หนักหนามาก เราก็แก้ปัญหากันไป ซึ่งเราเชื่อว่าปัญหาทำให้เราเข้มแข็ง พอเรารู้ปัญหาก็หาวัคซีนมาแก้ทางได้ทัน

แสดงว่าอาชีพช่างซ่อมยีนส์ยังจำเป็น แม้ Store จะมีไซส์รองรับหลากหลายขนาด

เรามองว่าจำเป็นและสำคัญมากๆ ด้วยแพตเทิร์นของกางเกงยีนส์ทุกแบรนด์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ถูกออกแบบมาด้วยความสมบูรณ์แบบในตัวของมันอยู่แล้ว แต่ด้วยสรีระของคนใส่ บางคนผอม หุ่นดี อ้วน อยากใส่แบรนด์นั้น แบรนด์นี้แต่ดันไม่พอดีกับตัวเขา ถ้าเขาได้รับแก้ปัญหากับคนที่รู้จริง การแต่งตัวของเขาจะดูดีขึ้นมาเลย

แล้วคุณว่าอาชีพนี้ยังไปได้อีกยาวมั้ย

ชั่วฟ้าดินสลาย ตราบใดที่คนยังใส่เสื้อผ้า

ผู้เขียนกับพี่รัชยังคุยกันต่อไปอีกสักพัก แม้ว่าจะเลยเวลาของการสัมภาษณ์ที่ได้แจ้งไว้ทีแรก

เราสองคนคุยกันด้วยภาษาเฉพาะของผู้หลงใหลในเนื้อผ้า และพรั่งพรูด้วยคำศัพท์ในโลกของยีนส์ ไม่นานนัก เมื่อผู้เขียนเริ่มอิ่มในบทสนทนาบวกกับความเกรงใจเจ้าบ้าน พี่รัชก็เดินมาส่งด้านหน้าประตู

ผู้เขียนเดินทางกลับ พลางคิดในใจว่าครั้งต่อไปที่เจอกัน ผู้เขียนจะนำยีนส์ตัวไหนติดมือมาให้ช่างซ่อมยีนส์ที่เก่งที่สุดในเมืองไทยได้ลงมือดี

เลาะเข็มชีวิต กับ วิรัช พฤกษา ช่างซ่อมยีนส์ระดับพระกาฬผู้โอบกอดแพตเทิร์นบนเสื้อผ้าพร้อมมอบชีวิตใหม่ผ่านฝีเข็ม ประสบการณ์มากกว่า 25 ปี

Writer

Avatar

กันติกร ธะนีบุญ

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการโต๊ะสารคดีที่ชอบอ่าน-เขียนเทียบเท่ากัน ปัจจุบันเป็น Copywriter และนักเขียนอิสระ ผู้หลงใหลในชุดเอี๊ยมและงานศิลปะทุกชนิด

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง