ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ Winnonie (อ่านว่า วิน โน หนี้) คือ Business Model ใหม่ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีวินมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าอธิบายให้ถูกต้อง ต้องบอกว่า Winnonie เป็นแพลตฟอร์มยกระดับคุณภาพชีวิตของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ด้วยการให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าผ่อนมอเตอร์ไซค์ ค่าซ่อมบำรุงของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบางจากฯ

แค่ได้ฟังว่าบริษัทน้ำมันให้บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็น่าสนใจแล้ว

โครงการนี้ที่เริ่มต้นจากการให้พนักงานคิดนำ Design Thinking ไป Empathy กับวินมอเตอร์ไซค์รอบๆ บริษัท เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ปั้นคนในให้เป็นเถ้าแก่” (The Intrapreneur) จนกลายออกมาเป็นผลลัพธ์ที่พร้อมจะต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ของบางจาก     

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช CEO บางจาก พร้อมด้วยทีมงาน Winnonie ชวนเรานั่งคุยเรื่องนี้ที่ลานใต้ต้นไม้ในโรงกลั่นบางจาก

การได้นั่งคุยกับ CEO ของบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องความยั่งยืนมายาวนานหลายสิบปี จะไม่คุยเรื่องการปรับตัวของธุรกิจน้ำมันในวันที่ใครๆ ก็เริ่มไม่รัก คงไม่ได้ คุยไปคุยมา ก็พบว่า ด้วยการปรับตัวในแนวทางนี้เอง ที่ทำให้เกิดโปรเจกต์ทดลองอย่าง Winnonie

อนาคตของรถใช้น้ำมัน

ผมเคยไปร่วมงาน Movin’On Summit ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเดินทางขนส่งที่ยั่งยืนจากทั้งโลก จากงานนั้นดูเหมือนยานพาหนะทั้งหลายกำลังพัฒนาไปในทางที่หันหลังให้น้ำมัน แล้วบริษัทน้ำมันจะอยู่กันยังไง

“เราเริ่มใช้น้ำมันในช่วง ค.ศ. 1910 นี่เอง ก่อนหน้านี้เป็นรถม้า แล้วก็เปลี่ยนจากรถม้าเป็นรถไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) แต่แบตเตอรี่ในสมัยนั้นทำได้แค่นั้น สุดท้ายก็เลยมาหันมาใช้รถน้ำมันแทน” ซีอีโอบริษัทน้ำมันเริ่มเล่าประวัติศาสตร์ของรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ร้อยปีก่อนแล้วล้มหาย จนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งกับรถ Tesla ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk)

“อีลอน มัสก์ ทำ PayPal แล้วขาย ได้เงินมาหลายพันล้านเหรียญ พอผู้ชายมีเงิน สิ่งแรกคือ จีบดาราเป็นแฟนก่อน” คุณชัยวัฒน์หัวเราะ “สิ่งที่สองก็คือซื้อซูเปอร์คาร์ พอเลิกกับแฟนก็หงุดหงิด อยากเป็นฮีโร่เปลี่ยนโลก เลยเอารถซูเปอร์คาร์ของตัวเองมาทดลองใส่แบตเตอรี่”

เมื่อ 4 ปีก่อน คุณชัยวัฒน์ได้อ่านเจอว่าทายาทรุ่นสามของโตโยต้าเล่าว่า ทำรถไฮบริด Prius มา 12 ปี แต่ไม่มีอนาคต พัฒนาต่อไม่ได้ ติดข้อจำกัดมากมาย เปลี่ยนแบตเตอรี่ครั้งหนึ่งก็ราคาหลายแสนบาท เลยตัดสินใจเลิกพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เปลี่ยนไปเน้นพลังงานไฮโดรเจนแทน

“โตโยต้าพลาดตรงมองอีวีเป็นตลาดแมส ซึ่งต้องราคาถูก แต่แบตเตอรี่ราคาแพงมาก แล้วก็ต้องแบกน้ำหนักตัวเอง ยิ่งจะทำให้รถแรง แบตเตอรี่ก็ยิ่งหนัก ราคาก็ยิ่งแพง อีวีที่เป็นอีโคคาร์ถึงไม่เกิด แต่พอเทสลาเริ่มจากซูเปอร์คาร์คันละห้าล้าน สิบล้าน ต้นทุนค่าแบตเตอรี่จึงไม่มีผลกับราคารถมาก แล้วค่อยขยายการผลิตมาเป็นตลาดแมส”

นั่นคือประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้าแบบสั้น

รถยนต์ใช้น้ำมันจะหมดจากโลกไหม

แล้วรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะกลายเป็นอดีตหรือไม่

คุณชัยวัฒน์ตอบคำถามนี้ด้วยการเล่าว่า เมื่อก่อนประเทศจีนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินค่อนข้างมาก จนหลายเมืองเจอปัญหามลพิษ รัฐบาลจึงหันมาสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใน 10 ปีที่ผ่านมา เป็นแหล่งผลิตไฟที่สามารถแข่งขันกับการผลิตไฟฟ้าทั่วไป และใน 5 ปีที่ผ่านมา จีนเริ่มทุ่มพัฒนาแบตเตอรี่ด้วยการให้เงินสนับสนุนถึง 6 ล้านล้านบาท และอานิสงส์นี้ก็ทำให้แบตเตอรี่สำหรับอีวีคุณภาพดีขึ้น และราคาถูกลง

บนโลกใบนี้มีประชากรรถยนต์ทั้งหมด 1,300 ล้านคัน เพิ่มขึ้นปีละ 80 ล้านคัน

จีนคือประเทศที่ซื้อรถใหม่มากที่สุดในโลก ปีละ 22 ล้านคัน

หลังจากรัฐบาลจีนทุ่มเงินสนับสนุนแบตเตอรี่ ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ยอดขายรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) หรือรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วไปในประเทศจีนมียอดขายตกลง และอีวีมียอดขายที่โตมาก ขายได้เกือบ 2 ล้านคัน

ยอดขายอีวีในจีนถือเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ทั้งโลกขายอีวีได้ราว 2.2 ล้านคันต่อปี

แต่ยอดขายอีวีในจีน คิดเป็นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถใหม่ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา

ถ้าเทียบในสเกลโลก รถใหม่ในแต่ละปี มีอีวีแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเอาตัวเลขนี้ไปเทียบกับประชากรรถยนต์ทั้งโลก จะเป็นแค่ 0.001 เปอร์เซ็นต์

ค.ศ. 2050 ประชากรบนโลกจะขยับจาก 7,800 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็นหมื่นล้านคน รถยนต์ที่ใช้น้ำมันก็จะเพิ่มในสัดส่วนประมาณนี้

“นี่คือคำตอบว่า รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะหมดจากโลกไหมครับ” คุณชัยวัฒน์ตอบพร้อมรอยยิ้ม ซึ่งถึงผมจะไม่ได้เอ่ยออกไป คำตอบที่อยู่ในใจก็คือ “ฟังอย่างนี้แล้ว มั่นใจได้ว่ายังไม่หมดไปในเวลาอันใกล้แน่นอน”

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

แต่รถยนต์พลังไฟฟ้าจะมาแน่นอน

คุณชัยวัฒน์มองว่า เมืองที่มีประชากรหนาแน่น อย่างกรุงเทพฯ นิวยอร์ก ลอนดอน หรือเดลี ต่างก็เจอปัญหามลพิษทางอากาศ นั่นคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อีวีเติบโตอย่างรวดเร็ว และคนในเมืองใหญ่ก็มีกำลังพอจะซื้ออีวีมาใช้ได้

คุณชัยวัฒน์คาดว่า อีกสัก 15 – 20 ปี อีวีจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสัก 10 เปอร์เซ็นต์ เทียบง่ายๆ จาก 1,500 ล้านคัน ก็คือ 150 ล้านคัน ทั้งที่ปีที่แล้วเพิ่งขายได้ 2 ล้านคันเอง อีวีจะเป็นอุตสาหกรรมที่โตเร็วมาก แต่โอกาสที่จะแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมดคงยาก

ซีอีโอผู้ขับรถไฮบริดให้ข้อมูลอีกชุดว่า งานวิจัยของ Bloomberg บอกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางแต่ละเที่ยวของคนในเมือง ไม่เกิน 8 กิโลเมตร และ 90 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทาง ไม่เกิน 15 กิโลเมตร คนในเมืองจึงต้องการพาหนะที่รองรับการเดินทางเที่ยวละ 30 – 40 กิโลเมตรก็พอ จากบ้านมาถึงออฟฟิศก็ชาร์จ กลับมาบ้านก็ชาร์จ ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ จึงตอบโจทย์คนเมืองได้ค่อนข้างดี แต่การเดินทางระยะไกล เช่น ท่องเที่ยวทั่วประเทศ ยังเป็นประเด็นอยู่ เนื่องจากอายุการใช้งานรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 300 – 400 กิโลเมตร

คนขับอีวีส่วนใหญ่ไม่ได้ชาร์จไฟที่ปั๊มน้ำมัน

“ผมพูดมาห้าปีแล้วว่า ผมไม่คิดว่าคนจะมาชาร์จอีวีในปั๊มน้ำมัน แค่คุณเติมน้ำมันเกินสามนาที คุณยังหงุดหงิดเลย แต่การชาร์จอีวีต้องใช้เวลาสามสิบถึงห้าสิบนาที สถานที่ที่คนจะชาร์จคือ บ้าน ที่ทำงาน โรงหนัง ร้านอาหาร โรงแรม แต่คนจะเติมไฟ (ชาร์จไฟ) ในปั๊มเมื่อเดินทางไปต่างจังหวัด เนื่องจาก Range Limitation เช่น ไปเขาใหญ่คงต้องหาปั๊มเพื่อเติมหรือชาร์จไฟ” คุณชัยวัฒน์ให้ข้อมูลที่หลายคนคิดไม่ถึง

ตอนนี้ปั๊มน้ำมันบางจากทำโครงการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า 62 จุดใน 62 จังหวัด ซึ่งคาดว่าคนที่เดินทางไกลจะแวะชาร์จตอนแวะเข้าห้องน้ำ นั่งพักกินกาแฟสักครึ่งชั่วโมง แล้วไปชาร์จต่อตอนแวะปั๊มครั้งต่อไป

คุณชัยวัฒน์มองสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและเงื่อนไขของไทย แล้ววิเคราะห์ว่า อีวีที่น่าจะเกิดได้ก่อนเป็นกลุ่มแรกในไทยน่าจะมีเงื่อนไขดังนี้ หนึ่ง เป็นยานพาหนะประเภทสองล้อ พวกสกูตเตอร์ไฟฟ้า สอง ใช้เดินทางระยะใกล้ และ สาม ใช้เคลื่อนที่จากจุดสู่จุด ไม่ใช่ขับขี่ไปทั่ว

ปั๊มน้ำมันปรับน้ำมัน

คุณชัยวัฒน์บอกว่า ในเงื่อนไขโลกที่เปลี่ยนไป ปั๊มน้ำมันบางจาก เริ่มปรับตัวอย่างแรกจากการปรับน้ำมัน ซึ่งอาจจะไม่มีคนสังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำ

“คุณจำช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เยอะๆ ได้ไหม น้ำมันที่ปล่อยฝุ่นมากที่สุดคือ ดีเซล สามเดือนนั้นปั๊มน้ำมันบางจากทุกสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อัปเกรดน้ำมันดีเซลจากมาตรฐาน Euro 4 เป็น Euro 5 (ปล่อยกำมะถันต่ำกว่า 10 PPM หรือลดลงถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับมาตรฐาน Euro 4) โดยที่ขายในราคา Euro 4 มันก็เข้าเนื้อนะ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าควรคืนให้สังคม”

คุณชัยวัฒน์เล่าต่อว่า ปั๊มบางจากเลิกขายน้ำมันจากฟอสซิล 100 เปอร์เซ็นต์ มาเกือบสิบปีแล้ว แต่จะมีการผสมน้ำมันจากชีวภาพไปด้วย (ตระกูล B หรือ Biodiesel ทั้งหลาย) แล้วก็เป็นปั๊มน้ำมันแรกๆ ที่โปรโมตให้คนหันมาใช้เอทานอลและแก๊สโซฮอล์

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก
Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

ปรับปั๊ม

การปรับตัวของปั๊มน้ำมันในยุคที่พลังงานสะอาดกำลังมา ทำอะไรได้มากกว่าติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาปั๊ม

“ปั๊มน้ำมันสาขาศรีนครินทร์ เราทำแหล่งเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขนาดหนึ่งเมกะวัตต์-ชั่วโมง นอกจากสะสมอิเล็กตรอนจากแผงโซลาร์เซลล์แล้ว เรายังซื้อไฟจากการไฟฟ้าตอนกลางคืนมาเก็บด้วย” คุณชัยวัฒน์เล่าถึงโครงการ GEMS (Green Community Energy Management System) ซึ่งกวาดรางวัลด้านนวัตกรรมมากจากหลายสถาบัน

อย่างแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า สมมติว่า 100 หน่วย ถ้ามีคนใช้ 60 หน่วย อีก 40 หน่วยก็จะสูญหายไปกับระบบ เพราะไม่มีการกักเก็บ

อย่างที่สอง ค่าไฟในช่วงที่มีคนใช้งานพร้อมกันมากๆ มีราคาแพงกว่า ช่วงที่คนใช้งานน้อย เช่นช่วงดึก

อย่างที่สาม ถ้าเราลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีกลงได้ ก็ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มได้ และถ้าเราเพิ่มการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีคนใช้ได้ การผลิตไฟฟ้าก็จะคุ้มค่ามากขึ้น

โครงการนี้ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงในช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 ราคาหน่วยละประมาณ 3.50 บาท มาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ช่วงกลางวันที่ราคาค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 5 บาท บางจากก็เอาออกมาขายให้ร้านค้าในโครงการ โดยประมูลราคากันผ่าน Blockchain ราคาประมาณ 4.50 บาท

การไฟฟ้าฯ ไม่ต้องเดินเครื่องหนักในเวลากลางวัน ลดการเหลือไฟทิ้งในเวลากลางคืน ร้านค้าจ่ายค่าไฟถูกลง และบางจากก็ได้กำไรจากการขายพลังงาน

ส่วนสาขาราชพฤกษ์ก็มีระบบรองน้ำฝนจากหลังคามาเก็บไว้ในถังน้ำใต้ดิน เพื่อใช้ในห้องน้ำและรดน้ำต้นไม้ แทนที่การใช้น้ำประปา

ร้าน Inthanin Coffee ก็เปลี่ยนมาใช้แก้วพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเท่านั้น และออกแบบฝาแก้วให้ไม่ต้องใช้หลอด ลดขยะจากแก้วพลาสติกแบบเดิมไปได้ปีละ 50 ล้านใบ

ธุรกิจอิเล็กตรอนสีเขียว

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ในเครือของบางจากก็น่าสนใจ เพราะเป็นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเท่านั้น มีพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและญี่ปุ่นราว 250 เมกะวัตต์ พลังงานลมในฟิลิปปินส์และไทยราว 30 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพที่อินโดนีเซียราว 180 เมกะวัตต์ และพลังงานน้ำในลาว 115 เมกะวัตต์

ถ้าดูแค่รายได้ การขายไฟฟ้าไม่น่าเทียบการขายน้ำมันได้ เพราะรายได้ต่อปีต่างกันขนาด 3,000 ล้านบาท กับ 150,000 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกำไร ก็ต้องบอกว่า ธุรกิจพลังงานสะอาดดูมีอนาคต เพราะ ทำกำไรได้ปีละ 2,500 ล้านบาท ในขณะที่น้ำมันได้กำไร 500 – 700 ล้านบาท

“แล้วเราก็ยังมี BBGI เป็นกลุ่มบริษัทที่ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ เอทานอล ประมาณล้านลิตร B100 (Biodiesel 100 เปอร์เซ็นต์) ประมาณ 1.2 ล้านลิตร รวมกัน 2.2 ล้านลิตร เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นการขยับขยาย กระจายความเสี่ยง ไปในทางที่เป็น Core Value ของเรา คือสีเขียว ดูแลธรรมชาติ เป็นธุรกิจที่ดูแลโลกไปพร้อมๆ กับทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น” คุณชัยวัฒน์อธิบาย

ลงทุนกับสตาร์ทอัพ

“ตั้งแต่ผมเป็นซีอีโอปีแรกเมื่อหกปีที่แล้ว ผมขอเงินบอร์ดปีละห้าถึงสิบล้านเหรียญ เอาไปลงทุนในสตาร์ทอัพ บริษัทแรกที่ผมลงทุนคือ Lithium Americas เป็นบริษัททำเหมืองแร่ลิเทียม ผมคิดว่าลิเทียมเป็นอะไรที่มาแน่ๆ เข้าบอร์ดห้ารอบมั้งกว่าจะผ่าน ลงไปห้าล้านเหรียญ ตอนนั้นราคาหุ้นละเหรียญ ตอนนี้ราคาหุ้นละแปดเหรียญ เคยขึ้นสูงสุดที่สิบห้าเหรียญ เราเข้าไปช่วยเขาพัฒนา ช่วย Incubate เขาว่าต้องทำอะไรยังไง ต่อยอดยังไง จนวันนี้เขากลายเป็นบริษัทใหญ่แล้ว เรามีสิทธิ์จะซื้อลิเทียมคาร์บอเนตของเขาได้ประมาณหกพันตันต่อปี”

คุณชัยวัฒน์ขยายความต่อว่า ลิเทียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่สุดในการทำแบตเตอรี่ เมื่อประสบความสำเร็จกับการลงทุนครั้งแรก เขาก็ลงทุนต่อกับบริษัท Plug and Play Tech Center ซึ่งเป็น Accelator รายใหญ่มีสายตาเฉียบคม เคยลงทุนใน PayPal และ Google มาแล้ว ซึ่งลงทุนใน Google ไปไม่กี่แสนเหรียญแต่ได้กำไรมาหลายพันล้านเหรียญ

“ผมคุยกับเขาว่า จะขอเป็นสปอนเซอร์ให้ แต่ต้องเปิดแนวธุรกิจใหม่คือ Green Energy เราเป็นบริษัทของไทยรายแรกที่ไปลงทุนกับเขา จากนั้นผมก็ไปลงทุนเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพ (Bio-based Product) ทำร่วมกับโปรเฟสเซอร์จากสถาบัน MIT น่าจะเปิดตัวได้เร็วๆ นี้” คุณชัยวัฒน์แอบหยอดโปรเจกต์ใหม่ให้ฟัง

จากความสำเร็จทั้งหลาย เลยทำให้บอร์ดอนุมัติให้ตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เพื่อทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง

“ในเมืองไทย เราจะไม่ลงทุนกับการทำแอปพลิเคชัน” คุณชัยวัฒน์เล่าเรื่องที่ดูคิดต่างจากองค์กรอื่น “มันสเกลได้ง่ายและเร็วก็จริง แต่ Barrier to entry ต่ำ คุณทำได้ คนอื่นก็ทำได้ เราขออยู่กับสิ่งที่จับต้องได้ ขอเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ๆ จะทำขายได้แล้ว แล้วต้องเกี่ยวกับเราด้วย เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน เพราะเรามีเหมืองลิเทียม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบมาก”

Winnonie

“สองปีที่แล้ว เราสอนเรื่อง Design Thinking ให้พนักงาน ส่วนใหญ่เรียนแล้วกลับบ้านก็คืนครูหมด เราเลยให้พนักงานรวมทีมทำโปรเจกต์มาประกวดกัน ในเมื่อเราพร้อมจะจ่ายเงินตั้งเยอะให้สตาร์ทอัพข้างนอก ถ้าข้างในมีเด็กที่พร้อมจะทำได้ ทำไมจะไม่ทำล่ะ เราเรียกว่า Intrapreneur–ปั้นคนในให้เป็นเถ้าแก่ ให้เขาประกวดกันมา แต่มันก็ช้ามากนะ ผ่านไปเกือบปี เพิ่งเปิดตัว ผมว่าน่าจะสเกลอัพได้เร็วกว่านี้ ไม่ทันใจ ก็บอกแล้วให้ลาออกไปทำเต็มตัว เดี๋ยวบางจากลงทุนให้” คุณชัยวัฒน์หัวเราะ

สมาชิกทีม Winnonie ประกอบด้วย ชนิดา ตันวัฒนเสรี, กฤษนัย จันทวงษ์ศรี, นฤมล วสุกาญจน์, กฤตภาส วิริยจันทร์ตา และ ภัทษินันตน์ อัศวรชานนท์ หัวเราะตามซีอีโอ ซึ่งพูดเรื่องลาออกตั้งแต่ตอนที่พวกเขาชนะ ซีอีโอของพวกเขามองว่า อยากให้ทำงานนี้ด้วยจิตวิญญาณแบบสตาร์ทอัพจริงๆ เอาเงินก้อนแรกจากบางจากไปทำให้เกิด จากนั้นเมื่อถึงเป้าหมายแรก ก็รับเงินก้อนสองไปขยายผลต่อ

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

“ส่วนใหญ่สตาร์ทอัพในเมืองไทยจะคิดว่าตัวเองอยากได้อะไร แล้วเอาตัวเองไปต่อยอด แต่กลุ่มนี้เข้าไปรับฟังปัญหาว่าคืออะไร แล้วถึงคิดว่าจะทำอะไร ผมว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ” คุณชัยวัฒน์พูดถึงจุดเริ่มต้นโครงการที่ให้โจทย์พนักงานไปสำรวจชุมชนรอบโรงกลั่นว่า ทำอะไรให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง

ชนิดาเล่าต่อว่า “ตอนไปคุยกับพี่วินรอบแรก ไม่มีใครคุยด้วยเลย หนีหมด เขาคิดว่าเราคงมาขายของ ไม่มีใครอยากมาช่วยเขาจริงๆ หรอก ไปคุยอยู่สี่รอบ ใช้ความเป็นพนักงานบางจากที่เขาคุ้นเคย จนเขายอมเปิดใจ ทีแรกเราจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง อยากโดยสารแล้วปลอดภัย พี่ต้องขี่ช้าๆ แต่เขาไม่สนใจเราเลย เขาบอกว่า คุณรู้ไหมว่าผมเจอปัญหาอะไรบ้าง

“ลูกผมตาย ต้องรับหลานมาเลี้ยง มอเตอร์ไซค์คันนี้แสนห้า จ่ายดอกเบี้ยวันละร้อย ไม่รู้เลยว่าจะแตะเงินต้นเมื่อไหร่ ฟังแล้วพบกว่าปัญหาของเราเป็นเรื่องเล็กไปเลย เราเอาโมเดลธุรกิจต่างๆ ไปเสนอ เช่น Grab คนอายุห้าสิบหกสิบเขาไม่ถนัดมาดูมือถือหรอก เขาอยากทำอะไรที่เขาคุ้นเคย”

ต้นทุนของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องจ่ายค่าเช่ารถหรือค่าผ่อนรถ ค่าซ่อม รวมค่าน้ำมันอีก ตกวันละ 200 – 300 บาท ถ้าจะมีเงินเหลือก็ต้องวิ่งงานให้ได้วันละประมาณ 800 บาท โครงการนี้ก็เลยจะไปช่วยลดต้นทุนให้พี่วิน

ด้วยการให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

พวกเขาหามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาทดสอบ 13 รุ่นจากเกือบสิบแบรนด์ กว่าจะได้รถที่ตรงตามความต้องการ เช่น เบาะยาว มีแรงพอจะซ้อนสามขึ้นสะพานได้ แล้วก็เลือกรุ่นที่ใช้แบตเตอรี่แบบถอดได้ จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาจอดรถชาร์จแบตครั้งละ 4 ชั่วโมง

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก
Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

Winnonie คิดค่าเช่าวันละ 150 บาท รวมค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ระหว่างวันด้วย ต้นทุนจากวันละ 300 บาท จึงเหลือแค่ 150 บาท

โดยที่วินมอเตอร์ไซค์ได้รถที่นิ่มกว่า เงียบกว่า มีแอปฯ บอกว่าวิ่งไปไหนบ้าง พฤติกรรมเป็นยังไง สามารถเก็บข้อมูลไว้ใช้ต่อได้

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก
Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองวิ่ง 3 คันที่วินมอเตอร์ไซค์หน้าโรงกลั่น โดยใช้ระบบเก็บแบตเตอรี่ไว้ที่ปั๊มน้ำมัน ให้วินมอเตอร์ไซค์ใกล้เคียงมาร่วมแชร์ตู้แบตเตอรี่ได้ โดยมีแผนว่าจะขยายวงออกไปเรื่อยๆ แล้วทำให้มอเตอร์ไซค์อาจจะไม่จำเป็นต้องวิ่งจากจุดสู่จุด แต่วิ่งได้ในเขตพื้นที่ที่มีที่เปลี่ยนแบตเตอรี่

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

“เมืองไทยขายมอเตอร์ไซค์ปีละเกือบสองล้านคัน มีประชากรมอเตอร์ไซค์เป็นสิบล้านคัน เป็นตลาดใหญ่ที่มีอะไรให้เราทำได้พอสมควรเลย ถ้ามันสเกลอัพได้ ก็เป็นธุรกิจใหม่ของบางจากได้นะ ตอบโจทย์หลายข้อ ทั้งการเป็นอีวีที่เป็นสองล้อ ระยะสั้น เคลื่อนที่จากจุดสู่จุด เราต้องตั้งเป้าว่าจะมีร้อยคันแรกเมื่อไหร่ จะเป็นพันคันเมื่อไหร่” คุณชัยวัฒน์หันไปฝากการบ้านกับทีม Winnonie

“คงอีกนานกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดจากโลก แต่ระหว่างนี้เรามีโอกาสสร้างอะไรที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก” คุณชัยวัฒน์ทิ้งท้าย ซึ่งอาจจะเป็นการตอบคำถามแรกด้วยว่า บริษัทน้ำมันในโลกในยุคพลังงานสะอาดจะมุ่งหน้าไปทางไหน

Winnonie แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากบางจาก ที่จะช่วยลดหนี้ให้พี่วิน, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช, CEO บางจาก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล