‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ แจ้งเกิดในวงการหนังสือของไทยเมื่อ พ.ศ. 2539 หรือ 26 ปีมาแล้ว ด้วยผลงานเล่มแรกชื่อ ความรักที่มาทางไปรษณีย์ จากนั้นวินนี่ เดอะปุ๊ หรือลุงหมีปุ๊ของแฟนหนังสือและหลาน ๆ ก็สร้างผลงานเขียนเผยแพร่แก่ผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยกย่องจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลนราธิปประจำปี 2564 ซึ่งมอบให้แก่นักเขียนอาวุโสที่อายุถึง 75 ปี

ลุงหมีปุ๊ทำงานหลักทางด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เมื่อตอนที่เปิดเผยตัวตนว่าคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติวัย 50 ปี (และปีถัดมาก็ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ) สร้างความแปลกใจให้คนที่รับรู้กันมาก เพราะ ดร.ชัยวัฒน์ มีชื่อเสียงว่าเป็นคนทำงานจริงจังและค่อนข้างดุ แต่นักเขียนวินนี่ เดอะ ปุ๊ กลับชอบเขียนเรื่องเล่าแบบเบา ๆ อ่านง่าย สอดแทรกทั้งความรู้และอารมณ์ขัน

ลุงหมีชี้แจงว่า ใช้นามปากกา วินนี่ เดอะ ปุ๊ เพื่อเขียนหนังสือเพราะชื่นชอบหนังสือเรื่อง Winnie the Pooh เป็นพิเศษ จึงนำชื่อเจ้าหมีผู้มีจิตใจดี แต่มักทำเรื่องเปิ่น ๆ ขำขันอยู่เสมอตัวนี้มาผสมกับชื่อเล่นปุ๊ของตัวเอง ทำให้หมีปุ๊เกี่ยวดองกับหมีพูห์ไปในตัว

Winnie the Pooh จัดเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กระดับคลาสสิก แต่งโดยนักเขียนอังกฤษชื่อ เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne) เมื่อ ค.ศ. 1926 หรือ 96 ปีมาแล้ว เป็นหนังสือที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็ก ๆ อ่านเหตุการณ์เล่นสนุกหรือการผจญภัยของหมีพูห์กับผองเพื่อนตุ๊กตาหมีอย่างเพลิดเพลิน แต่ผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จะพบว่าผู้เขียนได้ซ่อนนัยยะไว้ในเรื่องให้ผู้อ่านค้นพบมุมมองและความขำขันแบบลึก ๆ ไว้มากมาย จึงมีนักเขียนและนักวิชาการนำเรื่องราวของหมีพูห์มาเขียนตีความ หรือเขียนแต่งต่อให้ผู้อ่านผู้ใหญ่ได้ความสนุกสนานในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น เรื่องของหมีพูห์จึงเป็นนิยายอมตะ ส่งต่อความชื่นชอบจากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นถัดไปได้ตลอดมา

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ

ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของหมีพูห์คนหนึ่ง ลุงหมีจึงจัดทำมุมหนังสือเล็ก ๆ สะสมหนังสือหมีพูห์ในเวอร์ชันต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่นักเขียนคนอื่นแต่งหนังสือเพื่อเล่นสนุกกับหมีพูห์ด้วย อาทิ อาจารย์ด้านวรรณกรรมแต่งหนังสือเพื่อล้อเลียนนักวิจารณหนังสือ ที่มักจะตีความหนังสือให้ลึกลงไปเกินความตั้งใจของผู้เขียน คือ หนังสือชื่อ The Pooh Perplex กับ Postmodern Pooh

อาจารย์ด้านศาสนาเขียนหนังสือเปรียบเทียบพฤติกรรมของหมีพูห์และเพื่อน ๆ ว่าสอดคล้องกับลัทธิเต๋า ได้แก่ หนังสือ The Tao of Pooh และยังมีมุมมองในแง่ของความลี้ลับของจักรวาล (Pooh and the Millennium) หมีพูห์ในมุมมองการบริหารจัดการ (Winnie-The-Pooh on Management and Problem Solving) นอกจากนั้นยังมีผู้พยายามเขียนเรื่องราวของหมีพูห์ภาคต่อจากต้นฉบับด้วย (Sequel) ได้แก่เรื่อง Return to the Hundred Acre Wood

เวลาเราสะสมอะไร ควรหาความรู้เกี่ยวกับของสะสมเหล่านั้นด้วย เพราะจะทำให้ได้ทั้งความเพลิดเพลิน ความรู้ และวิธีการคิด มากกว่าเพียงสะสมเป็นของสวยงาม

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ

ลุงหมีเองก็ร่วมวงเล่นสนุกกับหมีพูห์ด้วย โดยเขียนหนังสือชื่อ ‘เรื่องหมีหมี’ ออกมาใน พ.ศ. 2544 โดยทำเป็นหนังสือ Two-in-One คือมี 2 เรื่องในเล่มเดียวกัน เรื่องหนึ่งคือ เพื่อนผองของหมีพูห์ เป็นการแนะนำหนังสือเรื่องหมีพูห์ผ่านจดหมายที่หมีปุ๊เขียนไปคุยกับหมีพูห์ ส่วนเรื่องที่สอง คือ เรื่องเล่าจากคนรักหมี เป็นการแนะนำตัวละครหมีในวรรณกรรมเล่มอื่น ๆ 

เล่มนี้เป็นความภูมิใจของลุงหมี เพราะเป็นเล่มที่เขียนเอง และรูปเล่มก็ออกแบบอย่างลงตัว เป็นหนังสือที่ระลึกสำหรับคนรักหมีได้

ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้ใช้ตุ๊กตาหมีต่าง ๆ ที่ลุงหมีสะสมไว้มาเป็นตัวแสดง การที่ทำหนังสือให้อ่านได้ทั้งจากข้างหน้าและข้างหลัง (เพราะเป็นคนละเรื่อง) ทำให้มีเรื่องขำขันเกิดขึ้นตอนเปิดตัวหนังสือโดยลุงหมีไปนั่งแจกลายเซ็น มีแฟนคลับคนหนึ่งถือหนังสือมาขอลายเซ็น 2 เล่ม บอกว่าพลิกดูแล้วน่าอ่านทั้ง 2 เรื่อง เมื่อลุงหมีบอกว่าความจริงเป็นเล่มเดียวกันแต่มี 2 ปก เขาหัวเราะชอบใจ บอกว่ายังไงก็ขอลายเซ็นทั้ง 2 เล่ม และจะเอาไปฝากเพื่อนเล่มหนึ่ง

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ

หมี Winnie the Pooh เป็นตัวละครจากหนังสือที่ชาวอังกฤษภาคภูมิใจ จึงได้ขึ้นไปอยู่บนแสตมป์ของประเทศอังกฤษมาแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วนี้เองเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองหมีพูห์มีอายุครบ 95 ปี ทางการอังกฤษได้จัดทำเหรียญที่ระลึกหมีพูห์ออกเผยแพร่ โดยมีแผ่น Pop-up ให้แฟน ๆ ได้เก็บรูปและเรื่องราวไว้เป็นของสะสมเพิ่มเติม อีกทั้งมีนักเขียนคนหนึ่งแต่งหนังสือเล่าประวัติหมีพูห์ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาก่อนที่จะมาเป็นตัวละครเอกในหนังสือคลาสสิกของ เอ. เอ. มิลน์ ตั้งชื่อเรื่องว่า Winnie-the-Pooh: Once There Was a Bear (เรื่องลักษณะนี้เรียกว่า Prequel ลุงหมีขอแอบวิจารณ์ว่า อ่านยังไงก็ไม่สนุกแบบเรื่องต้นแบบของมิลน์)

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ
รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ

ในหนังสือ เรื่องหมีหมี ซึ่งลุงหมีเขียนไว้นั้น ได้แนะนำตัวละครหมีมีชื่อจากวรรณกรรมเด็กของอังกฤษอีกตัวหนึ่ง คือ หมีแพดดิงตัน (Paddington Bear แต่งโดย ไมเคิล บอนด์ เมื่อ ค.ศ. 1958 หรือ 64 ปีมาแล้ว) หมีแพดดิงตันเกิดที่ประเทศเปรู แต่อยากออกมาผจญภัยในโลกกว้าง จึงเดินทางมากับเรือเดินทะเล ขึ้นบกที่นครลอนดอน แล้วหลงทางไปไหนไม่ถูกอยู่หน้าสถานีรถใต้ดินแพดดิงตัน จนมีครอบครัวอังกฤษใจดีรับไปอุปถัมภ์ไว้ ด้วยความที่ไม่ได้เกิดในอังกฤษ หมีแพดดิงตันจึงไม่เข้าใจวิถีชีวิตและประเพณีของชาวอังกฤษ จึงทำเรื่องวุ่นวายแบบขำขันอยู่เสมอ หนังสือชุดหมีแพดดิงตันได้รับความนิยมจากชาวอังกฤษระดับน้องของหนังสือหมีพูห์

ในปีนี้เองหมีแพดดิงตันได้สร้างวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ชนิดเรียกว่าจารึกประวัติศาสตร์ทีเดียว คือได้รับเลือกให้เป็นตัวละครในคลิปพิเศษจัดทำโดยพระราชวังบักกิงแฮม ในโอกาสเฉลิมฉลอง 70 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในคลิปที่สนุกสนานและสร้างความแปลกใจให้คนดูชิ้นนี้ หมีแพดดิงตันได้รับเชิญเป็นแขกมาร่วมดื่มน้ำชากับพระราชินีเป็นการส่วนพระองค์ แน่นอนว่าเจ้าหมีโชคดีตัวนี้ก็ทำอะไรเปิ่น ๆ ออกมาตามเคย แต่จบท้ายด้วยการใช้ช้อนเคาะจังหวะกับถ้วยน้ำชาในเพลง We Will Rock You ของวง Queen ให้เข้ากับการรัวกลองของวงดุริยางค์กองรักษาพระองค์ที่หน้าพระราชวังนี่เอง

ก่อนหน้านี้เมื่อ ค.ศ. 2012 ในโอกาสพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน สมเด็จพระราชินีฯ ทรงเล่นสนุกให้ชาวโลกชื่นชมด้วยการเผยแพร่คลิปทรงเดินทางไปทำพิธีเปิดงานที่สนามกีฬา โดยมี เจมส์ บอนด์ 007 มาที่วัง เพื่อรับพระองค์เสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปสนามกีฬา

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ
อุ้มหมีมหาวิทยาลัย Williams และ MIT ที่รุ่นน้องเอามาฝาก

ตุ๊กตาหมีของอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากพอควรอีกตัวหนึ่งคือ Me to You Bear ซึ่งลุงหมีชอบเรียกว่าหมีปุปะ รูปวาดของหมีตัวนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในการ์ดอวยพรของบริษัท Carte Blanche เมื่อ ค.ศ. 1987 และปรับปรุงรูปแบบอยู่เรื่อย ๆ จนใน ค.ศ. 1995 บริษัทได้ปรับแต่งภาพลักษณ์หมีตัวนี้ให้เป็นแบบที่คนสะสมกันในปัจจุบัน คือเป็นตุ๊กตาหมีที่มีรอยปุปะหลายแห่ง ขนสีเทา จมูกสีฟ้า และสลักคำว่า Me to You ที่ฝ่าเท้า โดยมีการแต่งเรื่องเล่าที่มาของหมีตัวนี้ว่า เดิมเป็นตุ๊กตาหมีที่ถูกเจ้าของโยนทิ้งกองขยะในช่วงที่หิมะกำลังตก ต่อมามีเด็กหญิงใจดีไปพบเข้า จึงเก็บมาเลี้ยงที่บ้านโดยให้คุณแม่ช่วยเย็บซ่อมแซมจุดที่ขาดวิ่นบนลำตัว แต่ด้วยหมีตัวนี้ถูกทิ้งอยู่กับความหนาวเหน็บของหิมะ จึงทำให้ขนบนตัวเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีเทา และจมูกเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีฟ้า นับว่าน่ารักไปอีกแบบหนึ่ง ลุงหมีมีรูปหมีตัวนี้ให้ดูพร้อมทั้งหนังสือเล่มจิ๋วเล่าประวัติของหมีตัวนี้

รวมของสะสมหมีพูห์ระดับแฟนพันธุ์แท้ของ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ

หมีพูห์ หมีแพดดิงตัน และหมีปุปะ จึงเป็นหมีอังกฤษ 3 เจนเนอเรชันที่เป็นความน่าภาคภูมิใจของหมี ๆ ทั้งหลาย

เมื่อลุงหมีได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหมีน่ารักทั้งหลายไปหลายเล่ม ก็ขยายความเอ็นดูหมีไปสู่การสะสมตุ๊กตาหมี (ทำให้ลุงหมีเรียกตัวเองว่าคนรักหมีได้) เริ่มต้นด้วยการหาซื้อตุ๊กตาหมีแบบนิ่ม ๆ น่ากอดที่เรียกว่าเทดดี้แบร์ (Teddy Bear) มาให้ลูกสาวเล่นสนุก 

ที่สะสมส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกเล่น แต่อีกส่วนหนึ่งตัวเองชอบเอง ลูกหลานของลุงหมีจึงเติบโตมากับตุ๊กตาหมี

พอมีมากตัวขึ้น ก็จัดเล่นเกมตั้งชื่อและช่วยกันแต่งเรื่องราวครอบครัวหมีกัน การสะสมเริ่มจริงจังขึ้นเมื่อลุงหมีชอบมองหาตุ๊กตาหมีน่ารักจากประเทศต่าง ๆ ที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนจากการทำงาน เรียกว่าหอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเลมาเชียว หลังจากมีตุ๊กตาหมีขนาดกลางและใหญ่นั่ง ๆ นอน ๆ ในมุมต่าง ๆ ของบ้านหลายสิบตัวจนเริ่มหาที่เก็บยากขึ้น ลุงหมีจึงปรับวิธีสะสมตุ๊กตาหมี คือ มองหาตุ๊กตาขนาดเล็กและจิ๋ว รวมทั้งหมีที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ มีทั้งขนสัตว์นุ่ม แก้ว ไม้ ยาง ดินเหนียว และพลาสติก มาเก็บสะสม โดยจัดทำตู้โชว์ไว้เก็บตุ๊กตาหมีเล็กไว้ที่เดียวกัน  

การที่นักเขียน วินนี่ เดอะ ปุ๊ ชอบเขียนเล่าเรื่องราวหมีจากหนังสือต่าง ๆ และชอบสะสมตุ๊กตาหมีด้วย ทำให้คนคุ้นเคยและแฟนคลับทั้งหลายมักหาตุ๊กตาหมีมามอบให้เป็นของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ จำนวนหมีที่สะสมไว้จึงเพิ่มเป็นหลักร้อย 

จึงขอแนะนำคนที่อยากจะสะสมว่า พยายามเล่าความชอบเกี่ยวกับของที่เราสะสมให้คนฟังเยอะ ๆ เพราะเมื่อเขาเห็นของที่เราสะสมที่ไหนก็จะนึกถึง แล้วนำมาฝากเป็นของขวัญ

แม่บ้านขอร้องว่าอย่าหาตุ๊กตาหมีมาเพิ่มให้มากนักเพราะเริ่มจะล้นบ้านแล้ว ลุงหมีจึงต้องไปเปิดมุมหมีตัวใหม่ ๆ ไว้ที่ห้องทำงาน     

ในช่วงที่ลุงหมีทำหน้าที่เป็นประธานบริหารของธนาคารกรุงไทย 6 ปี และเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ 5 ปี จะมีน้อง ๆ เพื่อนร่วมงานแวะมาเยี่ยมเยือนที่ห้องทำงานบ่อย ๆ เหตุผลหนึ่งคือมาขอดูว่ามีตุ๊กตาหมีตัวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นบ้างไหม (แต่ลับหลังถูกตั้งฉายาว่าเป็นประธานคิกขุ ชอบสะสมตุ๊กตาหมีทั้งที่อยู่วัยสูงอายุแล้ว)

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี
“Sometimes the smallest things take up the most room in your heart.” – วินนี่ เดอะ พูห์

เมื่อ 3 ปีก่อน ลุงหมีมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรกับบรรดาหมีที่สะสมไว้ เนื่องจากตกลงใจจะย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ซึ่งขนาดเล็กกว่าเดิม ให้สอดคล้องกับเป็นบ้านของผู้สูงอายุซึ่งลูก ๆ แยกตัวไปมีบ้านของตัวเองกัน ดังนั้นจึงต้องตัดใจคัดเลือกข้าวของเท่าที่จำเป็นไปไว้ที่บ้านใหม่ ส่วนของที่จะไม่เอาไปแต่ยังอยู่ในสภาพดีก็ใช้วิธีบริจาคให้มูลนิธิ เช่น เสื้อผ้าของใช้ก็ให้มูลนิธิหนึ่ง หนังสือหลายร้อยเล่มก็มอบให้สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยไปช่วยแจกจ่ายให้ห้องสมุดต่างๆ (วิธีการแบบนี้ทำให้ตัวเราเบาลงในวัยชรา และเป็นการเตรียมการจากไปแบบสงบ โดยไม่ต้องทิ้งภาระให้คนที่ยังอยู่ต้องดูแลจัดการ)

สำหรับบรรดาตุ๊กตาหมีที่สะสมไว้นั้น ลุงหมีมีลูกและหลานคัดเลือกตัวที่ชื่นชอบเป็นพิเศษเก็บไว้เองบ้าง ตุ๊กตาที่มุมหมีในห้องทำงานก็แจกจ่ายให้น้อง ๆ เพื่อนร่วมงานช่วยกันรับไปอุปถัมภ์ 

เมื่อก่อนเคยมีหมีพูห์ขนาดยักษ์อยู่ 2 ตัว ตอนที่หลาน 2 คนอายุขวบครึ่งก็ยังมานั่งบนขาหมีคนละตัว เป็นภาพที่น่ารักมาก

แต่ตอนนี้ ตัวหนึ่งอยู่ที่บ้านลูกสาว ส่วนอีกตัวหนึ่งให้แฟนคลับผู้โชคดีที่เอ่ยปากขอเป็นคนแรก 

และต่อมาก็ตกลงใจมอบตุ๊กตาหมีขนาดเล็กและกลางร้อยกว่าตัวให้เด็กนักเรียนชาวเขาที่จังหวัดเชียงใหม่ 

เพื่อนร่วมงานที่ช่วยลำเลียงตุ๊กตาหมีไปส่งนักเรียนเล่าว่า เด็ก ๆ ตื่นเต้นและมีความสุขกันมากที่ได้ตุ๊กตาหมีไปกอดเป็นของตัวเอง 

ในรูปที่ถ่ายกลับมา ทุกคนยิ้มแย้มเจ่มใส อุ้มตุ๊กตาหมีกันคนละตัว รู้ข่าวแบบนี้ลุงหมีก็ชื่นใจเป็นที่สุดแล้ว     

อย่างไรก็ตาม ลุงหมียังมีตุ๊กตาหมีตัวเล็กบางตัวที่ชอบมากเป็นพิเศษ เก็บไว้เองบ้างเพื่อเป็นที่ระลึกของการสะสมตุ๊กตาหมีมายาวนาน 20 กว่าปี จึงขอฝากรูปมาให้ผู้อ่านได้เห็นความน่ารักของตุ๊กตาหมีเหล่านี้

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

มุมหนังสือสะสม

01 Winnie the Pooh : The Complete Collection of Stories and Poems 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

หนังสือ Winnie the Pooh ที่ชอบมากที่สุดคือหนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มที่อ่านจุใจ เพราะรวมทั้งภาคหนึ่ง คือ Winnie the Pooh ภาคสอง The House at Pooh’s Corner และบทกวีที่ เอ. เอ. มิลน์ แต่งก่อนมีหมีพูห์ไว้ในเล่มใหญ่เล่มนี้ 

อีกอย่างหนึ่งคือ รูปสวยมาก มีภาพวาดสีของหมีพูห์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อว่าพูห์ประกอบอยู่ด้วย ที่จริงแล้วเล่มโตเล่มนี้มี 2 เล่ม แต่ให้ลูกสาวที่อยู่เมืองนอกไปเล่มหนึ่ง เพราะเขาก็ชอบเหมือนกัน

02 The Brilliant Career of Winnie-the-Pooh

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

เป็นอีกเล่มที่ชอบมาก เพราะเป็นการศึกษาประวัติของหมีพูห์อย่างลึกซึ้ง เล่าที่มาในเชิงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ที่มาของการเขียนเรื่องคืออะไร ต้นแบบหมีพูห์คือหมีชนิดไหน ป่าร้อยเอเคอร์เป็นอย่างไร พร้อมรูปประกอบเรื่องราวที่หาดูได้ยาก

เล่มนี้จึงขึ้นชื่อว่าเป็น ‘Definitive History’ ของ วินนี่ เดอะ พูห์ คือไม่มีเล่มไหนสรุปประวัติของหมีพูห์ได้สมบูรณ์เท่านี้แล้ว

03 The Pooh Perplex 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

เล่มนี้เจอตอนเรียนปริญญาตรีที่ร้านหนังสือมหาวิทยาลัย เป็นการตีความหมีพูห์​เชิงวิชาการ ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์​ วรรณคดี จิตวิทยา และลัทธิ Marxist พออ่านแล้วก็ติดใจว่า ทำไมนักวิจารณ์เขามองหมีพูห์​ลึกขนาดนี้ 

ตอนหลังไปอ่านคำนำ จึงได้รู้ว่าเป็นการล้อเลียนนักวิจารณ์ ที่ชอบวิจารณ์ลึกกว่าความตั้งใจของนักเขียน เขียนได้ตลกมาก อ่านเท่าไหร่ก็หัวเราะ 

04 Postmodern Pooh 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ประมาณ 20 ปีหลังจากที่อ่าน The Pooh Perplex ได้ไปที่ Harvard Bookstore แล้วเจอเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน เป็นภาคสองซึ่งนำทฤษฎีวิจารณ์วรรณกรรมใหม่ ๆ มาใช้วิจารณ์หมีพูห์อีกรอบหนึ่ง

มุมสะสมหมีที่ตัดใจให้ใครไม่ได้

05 คลาสสิกพูห์ ตุ๊กตาหมีตัวโปรด

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ตัวนี้เป็นหมีตัวโปรด เคยถ่ายรูปด้วยกันหลายครั้ง รวมทั้งตอนจัดงานวันเกิด 60 ปีด้วย เป็นหมีพูห์แบบคลาสสิกที่กอดกำลังสบาย  

06 กล่องเพลงหมีพูห์

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ชิ้นนี้เป็นของขวัญที่น้อง ๆ แบงก์ชาติทำให้ก่อนออกจากการเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ความชอบจึงเกิดจากความผูกพันกับคนที่ทำให้ ข้างในมีแสตมป์หมีพูห์ด้วย

07 เซ็ตหมีแพดดิงตัน

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี
คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ตอนที่หมีแพดดิงตันออกมาใหม่ ๆ มีคนให้มาประมาณสิบตัว แต่ก็แจกคนไปเยอะ 

ตอนนี้ที่เก็บไว้มีหมีแพดดิงตันตัวเล็กในถุงกระดาษ ปฏิทินหมีแพดดิงตัน และหมีแพดดิงตันหมวกดำ 

เดิมทีเคยมีหมีแพดดิงตันหมวกแดงอยู่ที่ออฟฟิศ แต่ตัดสินใจให้เลขาเป็นที่ระลึก เพราะที่บ้านไม่มีที่แล้ว

08 พูห์วิริยะ 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ตามเนื้อเรื่อง หมีพูห์เป็นหมีที่ไม่ค่อยฉลาดนัก ตัวละครที่ได้เรียนหนังสือ คือ คริสโตเฟอร์ โรบิน เจ้าของหมี ก็จะมาอวดว่าเขียนหนังสือเป็น หมีพูห์เลยพยายามเขียนบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองก็มีความรู้เหมือนกัน

09 หมีเหงา 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

ตัวนี้ไปเจอที่เมืองนอกในร้านขายของที่ระลึกเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เจ้าตัวนี้มีความน่ารักของมันอยู่ รูปทรงสวย ขนาดก็พอดิบพอดีสำหรับการนำมาตั้ง แล้วหน้าตาก็เศร้าเชียว

10 พูห์คริสตัล Swarovski 

คอลเลกชันหมีพูห์ของนักเขียน ‘วินนี่ เดอะ ปุ๊’ ที่ตัวจริงคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติวัย 75 ปี

เป็นชุดที่พิเศษ เพราะทำจากคริสตัล ราคาแพง และทำหมีพูห์ในท่าทางต่าง ๆ ออกมาได้อย่างสวยงาม ตัวที่เป็นหมีพูห์ถือลูกโป่งมีเรื่องราว คือในตอนหนึ่งของหนังสือ หมีพูห์พยายามลอยตัวขึ้นไปกับลูกโป่งเพื่อกินน้ำผึ้งบนต้นไม้ หลอกผึ้งว่าตนเองเป็นเมฆฝนเพื่อจะกินน้ำผึ้ง สุดท้ายผึ้งไม่เชื่อ ทำท่าจะต่อย หมีพูห์เลยปล่อยมือจากลูกโป่ง ตกลงมาเจ็บตัว

Writer

Avatar

ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เขียนงานวรรณกรรมโดยใช้นามปากกาว่า วินนี่ เดอะ ปุ๊

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์