“ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจะได้ยืนที่อิตาลี ประเทศที่อยากไปตั้งนาน แล้วได้ทำสิ่งที่รักไปด้วย คือได้แสดงที่ Venice Bienale หนึ่งในสถาบันทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก มันเหมือนความฝันจริงๆ” น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข แม้วันนี้เราจะได้คุยกันผ่านโทรศัพท์ หลังจากไม่ได้เจอตัวจริงๆ กันมาหลายปี แต่เราก็สัมผัสได้ว่าเธอมีความสุขมาก 

เราสองคนรู้จักกันมา 21 ปี เรียกได้ว่าเกือบทั้งชีวิตของเรา ก่อนที่ทางแยกในช่วงมหาวิทยาลัยจะนำพาให้เราสองคนเติบโตบนเส้นทางที่แตกต่างกัน เธอเลือกบินไปเรียนที่นิวยอร์กหลังเรียนจบมัธยม และได้ทุนการศึกษาจากโรงเรียนทั้งสองโรงเรียนที่นั่น

ในความทรงจำของเรา น้ำหวานคือเด็กตัวสูงในชั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจเรียนอนุบาล ยังจำได้ดีว่า ตอนนั้นเธอเต้นบัลเลต์ในชุดกระโปรงฟูฟ่อง สองเท้าเริงระบำท่ามกลางหมู่มวลเพื่อนร่วมชั้น จวบจนเวลาที่เธอเติบโต 14 ปี ในโรงเรียนหญิงล้วน เธอก็ยังเต้นบนเวทีโรงเรียน 

คุยกับ ‘น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale

แต่แล้วที่สุดในวันนี้ น้ำหวานคือคนไทยคนเดียวที่ได้แสดงบนรันเวย์ของ Marc Jacobs ใน New York Fashion Week เมื่อ ค.ศ. 2020 การแสดงที่นักวิจารณ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเวที ‘แฟชั่นโชว์ที่ดีที่สุดของ Marc Jacob’ จากนั้นเธอได้เป็นหนึ่งใน 20 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้บินลัดฟ้าไปร่วมแสดงในงาน Biennale เทศกาลศิลปะชื่อดัง ใน ค.ศ. 2021 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในการแสดงของ เวย์น แม็คเกรเกอร์ (Wayne McGregor) หนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จที่สุดในวงการเต้น ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยเรียนเรื่องราวของเขาในชั้นเรียน และ คริสตัล ไพท์ (Crystal Pite) นักออกแบบท่าเต้นที่น้ำหวานใฝ่ฝันว่าจะได้มีโอกาสแสดงในผลงานการออกแบบท่าเต้นของเธอ

มันเป็นการเดินทางที่น่ามหัศจรรย์มากเลยนะ ยังจำได้ว่าตอนมัธยม เคยเห็นแกควบคุมอาหารหนักมากเพื่อเตรียมตัวออดิชัน แต่วันนี้บินไปไกลมากๆ แล้ว-เราบอกเธอ 

บทสนทนาระหว่างเราสองคน พาให้เราร่วมย้อนบินไปยังจุดเริ่มต้นในการเต้นของน้ำหวาน ในตอนที่เธออายุ 5 ปี… ที่ห้องเรียนตอนกลางวันของโรงเรียนหญิงล้วน 

20 ปี ก่อนที่วันนี้เธอจะได้ยืนอยู่บนเวที Biennale 

คุยกับ ‘น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
คุยกับ ‘น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
01 

ก่อนความฝัน

ในวัยเด็ก น้ำหวานเป็นเด็กที่โดดเด่นทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในทุกๆ ด้าน ให้เธอได้ค้นหาตัวเอง ทั้งการเรียนดนตรีอย่างขิม (ที่เราเรียนกับเธอ) ร้องเพลง (ที่เราเรียนกับเธออีกเช่นกัน) เทนนิส (ใช่ อันนี้เราก็เคยเรียนกับเธอ) และการเรียนเต้น เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไปในโรงเรียนราชินีบน 

เธอเริ่มต้นเต้นครั้งแรกตอนอายุ 5 ขวบ ที่โรงเรียนของเราในช่วงกลางวัน คุณครูให้พวกเราเลือกระหว่างการนอนกลางวัน เรียนรำ เรียนดนตรี หรือเรียนเต้นบัลเลต์ แน่นอนว่าน้ำหวานเลือกอย่างหลัง ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนบัลเลต์อันดับหนึ่งของประเทศไทยหลังเลิกเรียน

“ตอนอายุสิบขวบ เริ่มเรียนบัลเลต์จริงจังขึ้นและเรียนอาทิตย์ละสามสี่วัน ช่วงนั้นทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับบัลเลต์ ตอนไปโรงเรียนก็จะรู้สึกว่าเหมือนเราแค่ไปเรียนเฉยๆ แต่ที่ตั้งหน้าตั้งตารอ คือการได้เรียนบัลเลต์หลังเลิกเรียน

“ตอนอายุสิบสี่ เราไปหาเพื่อนที่อังกฤษ แล้วก็ไปเรียนบัลเลต์กับครูคนหนึ่ง เขาเห็นเราเต้น เขาก็มาถามว่าเราสนใจเป็นนักเต้นอาชีพไหม แต่ด้วยความที่เพิ่งอายุสิบสี่ ตอนนั้นตอบไปว่า อยากแต่คิดว่าเก่งไม่พอ ก็ฟังคำแนะนำของครู และตามเรียนกับครูคนนี้จนกระทั่งกลับไทย

“พอมาคิดย้อนกลับไป คำตอบมันไร้เดียงสามาก ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังเก่งไม่พอสำหรับมาตรฐานของตัวเองในตอนนี้ แต่ที่แตกต่าง คือที่ตอบไปตอนนั้น เรายังไม่เคยให้โอกาสตัวเองด้วยซ้ำว่าตัวเองจะทำได้หรือไม่ได้

“อาจเป็นเพราะโดนปลูกฝังตั้งแต่เด็กว่า ถ้าจะเข้าสายการเต้น ต้องหุ่นแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ เท้าแบบนี้ ตอนนั้นเลยเข้าใจว่าคงเป็นไปไม่ได้แล้ว อาจจะสายไปแล้ว เพราะบางคนเขาเข้าโรงเรียนเต้นแบบเต็มเวลาตั้งแต่อายุสิบสี่”

หลังจากกลับจากอังกฤษ เธอยังคงตั้งใจสานต่อความฝันของตัวเองในโลกแห่งการเต้น และเคยลองไปใช้ชีวิตกับการเรียนเต้นทั้งวัน 3 สัปดาห์ที่ออสเตรเลีย เพราะอยากหาคำตอบให้ตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่อยากทำจริงๆ ใช่ไหม แล้วร่างกายจะไหวหรือเปล่า คำตอบคือไหวและพร้อมจะไปต่อ 

เธอยังบอกอีกว่า “เวลาเต้น เรารู้สึกเหมือนได้อยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง มันไม่ใช่โลกแห่งความจริง ตอนเด็กๆ เป็นคนขี้อายด้วย ไม่กล้าพูดกับคน พูดเก่งแค่กับเพื่อนสนิท กับที่บ้าน แต่พอตอนเต้น กลับกล้าขึ้นมา เรามั่นใจที่จะเต้นมากกว่าพูด” 

ตอนน้ำหวานตัดสินใจไปเรียนเต้นต่อที่ต่างประเทศ เธอได้รับผลตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เธอบอกว่า “เข้าใจว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่เหมือนคนอื่น หุ่นเราก็ไม่ได้ดีและรู้ว่าอาชีพนี้ยาก” 

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองผอม และเธอก็ทุ่มเทกับการซ้อมเต้น ควบคู่กับการเรียนไปด้วย 

“ความรู้สึกตอนนั้นคือ มั่นใจมากว่านี่คือสิ่งที่รักและอยากทำ ก็เลยมุ่งมั่นต่อไปโดยไม่สนใจคำสบประมาทต่างๆ ที่ใครต่อใครบอกว่า เราไม่มีทางทำได้” 

ตอนนี้เธอไม่เสียใจเลยที่เลือกสิ่งนี้

น้ำหวานส่งวิดีโอไปออดิชันเข้าโรงเรียนทั้งหมด 4 แห่ง สุดท้ายเธอเลือกโรงเรียน Joffrey Ballet School ที่มหานครนิวยอร์ก

คุยกับ ‘น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
02

สู่มหานครนิวยอร์ก

เด็กผู้หญิงวัย 18 ปีที่ยืนอยู่คนเดียวในสนามบิน JFK ไม่มีความกลัวเข้ามากัดกินจิตใจเลยสักนิด แม้ว่าเธอต้องไปใช้ชีวิตไกลบ้านเพียงลำพัง ในมหานครที่แสงไฟฉายสว่างที่สุดในโลก 

“ตอนนั้นคิดแค่อยากจะหนี แล้วก็อยากพิสูจน์กับทุกคนว่าเราทำได้แล้ว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ตอนอยู่ไทย หลายคนมองว่าเราทำตามความฝันนี้ไม่ได้ แต่เราเชื่อมาตลอดว่าคนขยันยังไงก็ชนะคนมีพรสวรรค์ 

“เวลาจะพิสูจน์เอง” 

ณ Joffrey Ballet School น้ำหวานคือเด็กผู้หญิงเอเชียคนหนึ่งที่ได้เรียนในคลาสของผู้อำนวยการโรงเรียน Era Jouravlev ผู้แสดงให้น้ำหวานเห็นว่า ณ ฟากหนึ่งของโลก มีครูที่มีความสุขกับการทำงาน ไม่ว่าจะมีวันที่แย่ขนาดไหน ครูคนนี้ก็ตั้งใจสอนเต็มที่เสมอ

ในคลาสเรียนนั้น เธอเพิ่งรู้ว่าตัวเองไม่เข้าใจเรื่องการใช้กล้ามเนื้อเท่าใดนัก และต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่

“ตอนนั้นเขียนทุกอย่างลงในไดอารี่” เธอพูดถึงวิธีบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้

วันหนึ่ง น้ำหวานซื้อตั๋วราคาพิเศษไปชมการแสดงของ Complexions Contemporary Ballet “ต้องรีบโทรไปจองบัตร ราคาสิบเหรียญฯ (300 บาท) เพราะบัตรราคานี้หมดเร็ว บัตรถูกแต่นั่งติดเวที มองไม่เห็นเท้า ตั๋วแถวนี้เลยราคานี้” 

เด็กผู้หญิงตัวสูงคนนั้น จึงได้ชะเง้อมองนักแสดงจากที่นั่งแถวหน้าสุด และเธอก็ได้พบกับการแสดงที่ “นั่งดูอยู่แล้วน้ำตาไหล” 

ราวกับว่าคนบนเวทีกำลังพูดกับเธอผ่านการเต้น เธอไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต เมื่อคนบนเวทีใช้ร่างกายสื่อสารกับเธอที่นั่งอยู่แถวหน้าสุด วินาทีนั้นเองที่น้ำหวานรู้คำตอบแล้ว ว่าเธอสนใจการเต้นแบบไหน

เธออยากเต้น Contemporary 

เธอเริ่มหาประวัติของนักเต้นบนเวที และพบว่าหลายคนในคณะเต้นจบจาก The Ailey School ไม่นานนัก เธอตัดสินใจบอกผู้อำนวยการโรงเรียนว่าจะขอย้ายโรงเรียน 

ครูบอกว่า “ฉันอยากให้เธออยู่ต่ออีกปี” 

คำว่า ขอให้อยู่ต่อ ไม่ใช่การกีดกันความฝันของศิษย์ แต่ครูบอกว่าน้ำหวานจะได้รับทุนการศึกษาต่ออีกหนึ่งปี “ฉันจะสนับสนุนเธอให้เต็มที่ จะช่วยให้เธอพัฒนาที่สุดเท่าที่จะทำได้” น้ำหวานจึงอยู่กับครูอีก 1 ปี และย้ายไป The Ailey School ในปีถัดมา 

คุยกับ ‘น้ำหวาน-รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale

ช่วงที่เรียนใน The Ailey School น้ำหวานเริ่มต้นออดิชันเข้าคณะเต้น พร้อมรับงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเต้นในโปรเจกต์เต้น แสดงมิวสิกวิดีโอ และโฆษณา ขณะนั้นเธอทำงานพิเศษที่ร้านกาแฟไปด้วย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในมหานครนิวยอร์ก แม้จะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน 

“แต่ละงาน มีคนมาออดิชันประมาณสองร้อยกว่าคน เราแค่เพิ่งเริ่มยืดๆ ย่อๆ ชี้เท้า เขาก็เชิญออกแล้ว ยังไม่ทันทำอะไรเลย เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้งช่วงแรกๆ” 

ได้มารู้ทีหลังว่า บางครั้งคณะเต้นมีเกณฑ์การเลือกที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง ทั้งความสามารถ สีผม สีผิว และส่วนสูง ไม่ใช่ทุกอย่างที่เธอควบคุมได้ แค่ต้องทำให้ดีที่สุด 

แต่การใช้ร่างกายที่หนักเกินไป ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บป่วยที่เธอไม่อาจเลือกได้ “ช่วงนั้นต้องซ้อมงานกลางคืนด้วย ตั้งแต่แปดโมงจนถึงสี่ทุ่ม จำได้เลยว่าทุกๆ พฤหัสฯ ร่างกายจะไม่ไหวแล้ว แต่มันก็ต้องสู้ 

“วันหนึ่งกำลังเรียนอยู่ ต้องขอครูไปนั่งพัก พอนั่งปุ๊บก็น้ำตาไหลเลย คลาสเลิกก็ยังไม่หยุดร้อง พอครูเห็นก็บอกว่าร้องออกมาเลย เข้าใจตัวเองแล้วตอนนั้นว่าไม่ไหว เพราะเรากดดันตัวเองมาก ๆ คือเราอยากทำให้เทอมสุดท้ายของการเรียนเราดีที่สุด” 

แต่แล้วก็เหมือนกับฟ้าผ่าลงมาท่ามกลางเมฆหมอกแห่งความฝัน เมื่อวันหนึ่งน้ำหวานรู้ว่าที่ตัวเองเคยเพิกเฉยต่อเสียงเตือนจากร่างกายตัวเองมาตลอด 

“เริ่มเจ็บหน้าแข้ง แต่ตอนนั้นก็ไม่เลิกกระโดด พอเทอมต่อไปถึงรู้ว่าเอาแล้ว เรากระโดดไม่ได้แล้ว มันเจ็บมากๆ ฝืนไม่ไหว พอแสดงงานเรียนจบเสร็จก็ไปตรวจ แล้วพบว่ากระดูกหน้าแข้งร้าว ถ้าไม่หยุดเต้นมันจะแตก

“หมอให้ทางเลือกมาสองอย่าง คือจะเลิกเต้น หรือเลือกผ่าตัด” 

เธอตัดสินใจผ่าตัดเพื่อเอาแท่งเหล็กดามขา และปล่อยให้กระดูกสมานเอง จากนั้นเธอเริ่มกายภาพบำบัดและเตรียมพร้อมร่างกายอีกครั้ง เพื่อที่จะกลับมาเต้นหลังจากหยุดพักไป 3 เดือน

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
03

ภาพจางที่ชัดเจน

“จำได้ว่ามีวันหนึ่งที่แกส่งคลิปมาให้ ตอนที่เต้นในพาเหรดดิสนีย์” 

“ใช่ ตอนนั้นนึกถึงแกเลย” 

“อันนั้นคืองานอะไรนะ” 

“งานเปิดตัวของ Frozen 2” 

เราเคยดูการ์ตูนดิสนีย์ด้วยกันตั้งแต่ตอนเด็ก และยังจำความตื่นเต้นตอนที่น้ำหวานส่งคลิปมาให้ น้ำหวานเล่าให้ฟังว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้งานนี้ เพราะต้องแข่งขันกับนักเต้นมากมายที่เรียนเต้นด้าน Musical Theater มาโดยเฉพาะ

“ตอนที่ดิสนีย์โทรมา เราไม่ได้รับสาย เพราะคิดว่าเป็นเบอร์สแปม” เธอหัวเราะ ในนิวยอร์กข้อความและโทรศัพท์สแปมนับสิบอันจะถูกส่งเข้ามาในโทรศัพท์ทุกวัน “แล้วก็ได้รับอีเมลจากบริษัทให้โทรกลับ เขาบอกว่าเขาติดต่อเราไม่ได้ ตอนนั้นงงมากๆ” 

เธอรู้ทีหลังว่าการแสดงชุดนี้ต้องมีการร้องเพลงด้วย เนื่องจากเธอไม่ชำนาญด้านการร้องเพลง แถมต้องร้องเพลงพร้อมกับการเต้นอีก เรียกได้ว่าน้ำหวานจำท่าเต้นได้ก่อนจะจำเนื้อเพลงได้เสียอีก 

“มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกดีนะ ได้ซ้อมกับ อีดิน่า เมนเซล (Idina Menzel) ตอนตีสี่ของวันแสดง รู้สึกเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกดิสนีย์ แล้วทางบริษัทก็ดูแลดีมากจริงๆ เอาใจใส่ทุกเรื่อง เราได้ค้นพบตัวเองมากขึ้นไปอีกหลังการแสดงนี้ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง การมาอยู่นิวยอร์กทำให้มีโอกาสได้ทำงานหลายๆ อย่างที่ไม่เคยทำ กล้าที่จะทำแล้วก็จะได้ทำ”

จากนั้น เธอก็ได้ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ และส่งวิดีโอไปออดิชันในประเทศต่างๆ รวมถึงที่แคนาดา “เขาเรียกตัวไปออดิชันที่แคนาดา เราก็จองทุกอย่างเรียบร้อย แต่สุดท้ายไฟลต์ยกเลิก เพราะพายุเข้า เลยไม่ได้ไป”

หลังจากที่เธอกลับมานั่งอยู่ในอพาร์ตเมนต์แทนที่จะได้ไปออดิชัน น้ำหวานรู้ว่า Marc Jacobs เปิดออดิชันเพื่อแสดงบนงาน Runway ใน New York Fashion Week เธอไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นคนที่ทีมงานตามหา แต่ก็ไป คิดว่าแคสต์ไม่นานก็คงจะเสร็จ 

“พอไปถึงคนเยอะมาก ตอนแรกเข้าใจว่าน่าจะคล้ายๆ กับโมเดลลิ่ง ถ้าเขาไม่ชอบก็คงให้กลับบ้านเลย ไม่น่าจะต้องเต้น แต่สรุปว่าอยู่ที่นั่นทั้งวันเพื่อคัดเลือกรอบแรก และบางคนได้อยู่ต่อเพื่อคัดเลือกรอบสุดท้าย” 

เธอสวมส้นสูงเพื่อไปเตรียมถ่ายรูป รออยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนจะได้พบนักออกแบบที่เธอเห็นผ่านหน้าสื่อมาตลอดชีวิต มาร์คเดินเข้ามาพร้อมกับพูดว่า “Hi, I’m Marc” 

“เขาให้ลองชุดกับส้นสูงที่เขาเตรียมให้ ให้เดินและเต้นให้ดูตรงนั้นเลยทีละคน แล้วชุดเราหลุด ตอนนั้นก็จับชุดเอาไว้แล้วเต้นต่อ มองเห็นว่าเขาจดชื่อเอาไว้แล้ว แต่เราไม่รู้ ก่อนที่เขาจะบอกว่า ใครที่เขาเรียกตัวให้กลับมาตอนกลางคืน เตรียมพร้อมเต้นในรอบต่อไปนะ พอเปลี่ยนเป็นชุดเต้นตอนกลางคืน ถึงเที่ยงคืนปุ๊บ เขาก็บอกว่าเจอกันพรุ่งนี้นะ”

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก หลังจากวันนั้น เราต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศของมาร์คตั้งแต่เก้าโมงจนถึงดึก ซ้อมกันสามวันแล้วแสดงเลย”

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale

น้ำหวานเล่าว่า ภาพเบื้องหลังเหมือนกับเธออยู่ในหนังเรื่อง Devil Wears Prada แต่อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นใส่ Marc Jacobs แทน เพราะเธอเห็นภาพเหล่านักออกแบบนั่งแก้ชุดกันหัวหมุนทุกวัน เป็นภาพคู่ขนานไปกับการซ้อมเต้นของเธอ 

“นักออกแบบท่าเต้นมีภาพในหัวอยู่แล้วว่าต้องการให้การแสดงออกมาเป็นแบบไหน บนเวทีมีคนเยอะมากๆ ประมาณหกสิบคน รวมนางแบบก็ร้อยกว่า เขาจับเราเป็นกลุ่ม แล้วก็สอนท่าแยกให้แต่ละกลุ่ม บอกคิวว่าจะให้กลุ่มไหนเข้าออกตอนไหน นักออกแบบที่เราทำงานด้วยชื่อ คาโรล อาร์มิเทจ (Karole Armitage) เป็นนักบัลเลต์คนสำคัญคนหนึ่งในโลกแห่งการเต้นเลย”

มาร์คมาดูพวกเธอซ้อมบ่อยๆ ตอนกลางคืน แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนหายใจไม่ทั่วท้อง

“คืนก่อนแสดง อยู่ดีๆ ทีมงานก็บอกว่า บางคนอาจจะไม่มีชุดใส่ เพราะทำชุดไม่ทัน และบอกว่าจะจ่ายเงินค่าตัวตามที่ตกลงไว้ให้กับคนที่ไม่ได้แสดง เราเครียดมาก กลัวจะไม่ได้แสดง” 

สุดท้าย นักแสดงทุกคนก็ได้เฉิดฉายบนเวที พร้อมกับเหล่านางแบบระดับโลก 

“ตอนนั้นในออฟฟิศมาร์ค ทุกคนเครียดกันหมดและวุ่นวายมาก เขาทำงานกันจนถึงวินาทีสุดท้าย นักเต้นและนางแบบบางคนต้องรอลองชุดจนเกือบเช้า 

มาร์คเป็นคนเลือกว่าจะให้เราใส่ชุดอะไร ตอนนั้นตีสองหรือตีสามไม่รู้ มาร์คบอกให้เพิ่มเครื่องผมให้เรา แล้วสไตล์ลิสต์ต้องติดเข็มกลัดให้ที่หมวก เขาเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนติด เพราะเขาไม่ได้นอนมาสามวันแล้ว ไม่อยากให้เข็มแทงเรา” 

เธอเล่าว่า มีหลายสิ่งทำให้เธอเครียดมากบนเวทีของมาร์ค มันไม่เหมือนการดูโชว์ในชิค ชาแนล สมัยเด็กๆ เลยสักนิด เพราะเธอต้องวิ่งบนส้นสูง และได้ซ้อมกับนางแบบเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

แต่แล้วในวินาทีที่เธอยืนอยู่บนรันเวย์ของนิวยอร์กแฟชั่นวีก ได้ยินเสียงบีทหนักๆ ของดนตรี หัวใจของเธอกับเต้นแรงขึ้นมากกว่าเสียงดนตรีเสียอีก “ตอนนั้นจู่ๆ ก็คิดว่า ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้มาอยู่บนรันเวย์ของใคร เพราะเรารู้ว่าตัวเองไม่ใช่นางแบบ ไม่สูง ไม่ผอม ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นไปได้

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale

“หลังแสดงเสร็จ มาร์คก็มาคุยกับพวกเรา แล้วบอกว่านี่คือโชว์ที่ดีที่สุดเท่าที่เขาทำมา” 

ในงานนั้น เธอได้กระทบไหล่กับนางแบบดังอย่าง เบลล่า ฮาดิด (Bella Hadid) และ จีจี้ ฮาดิด (Gigi Hadid) และเธอกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่อยากจะเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเธอจริงๆ

ไม่นานนัก แครอล นักออกแบบท่าเต้นที่ทำงานกับเธอบนรันเวย์ก็ได้ติดต่อเธอมาอีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากๆ เพราะตอนที่ซ้อมด้วยกัน น้ำหวานก็คิดจะไปหาทางทำความรู้จัก แล้วถามแครอลว่าคณะเต้นของเธอจะเปิดรับคนไหม เพราะเธอชอบวิธีการทำงานแบบแครอลมาก 

แต่เช้าวันหนึ่งที่เตรียมตัวซ้อม แครอลกลับเดินมาหา และถามว่าเธอทำงานอะไร มีวีซ่าอะไร และแครอลสนใจร่วมงานกับเธอในอนาคต

แม้โปรเจกต์คณะเต้นของแครอลต้องพับเก็บไปเพราะการระบาดของโควิด-19 แต่น้ำหวานก็ได้รับเลือกจากแครอล ให้เข้าร่วมแคมเปญระหว่าง Marc Jacobs กับ Capezio และกลายเป็นว่าเธอเป็นนักแสดงจาก New York Fashion Week คนเดียวที่ได้รับเลือก แล้วได้ซ้อมตัวต่อตัวกับแครอลผ่านคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดของสถานการณ์โควิด-19 ในนิวยอร์ก

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
แคมเปญระหว่าง Marc Jacobs กับ Capezio
04 

จาก Letter to Juliet สู่เมืองเวนิส 

เมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดค่อยๆ คลี่คลายในซีกโลกตะวันตก น้ำหวานได้เข้าร่วมการออดิชันที่เทศกาลศิลปะชื่อดังอย่าง Biennale College Danza ที่นักเต้นจากทั่วโลกกว่า 500 คนต่างเข้ามาสมัคร และเธอก็ได้เป็น 1 ใน 20 คนที่ได้รับเลือก

ณ ที่แห่งนั้น เธอได้ร่วมงานกับ Wayne McGregor นักออกแบบท่าเต้นที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเธอเคยเรียนประวัติและผลงานของเขาที่โรงเรียน 

“พอเจอตัวจริงคือเหมือนได้เจอดารา แต่ต้องซ่อนความเป็นแฟนเกิร์ลเอาไว้ เดี๋ยวเขารู้” 

เธอบินลัดฟ้าจากนิวยอร์กสู่ประเทศที่เธออยากไปมาตลอดชีวิต นั่นคือเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี พร้อมใช้ชีวิตตลอด 3 เดือนซ้อมร่วมกับเพื่อนจากทั่วโลก ซ้อมวันละ 8 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
สตููดิโอที่ La Biennale

“ตอนที่เวย์นเดินเข้ามา ทุกคนในห้องเกร็งหมดเลย เพราะเขาเป็นคนดังในวงการมากจริงๆ เขาเข้ามาแล้วพูดว่า เขาอ่านใบสมัครทุกใบ ดูทุกวิดีโอด้วยตัวเอง สนใจและเห็นอะไรบางอย่างในตัวพวกเรา ตอนนี้ไม่ใช่การทดสอบแล้ว ฟังแล้วน้ำตาจะไหล เพราะตัวเองสงสัยมาตลอดว่าเขาดูจริงๆ ไหม แล้วใครเป็นคนเลือกเรา

หากการทำงานของมาร์คพาให้เธอมาอยู่ใน Devil Wears Prada ภาพการทำงานที่เวนิส ก็คงเหมือนภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เธอเขียนเองด้วยความตั้งใจ เป็นเรื่องของ น้ำหวาน รวินันท์ ในโลกใบใหม่ที่เวนิส เมืองที่เธอเฝ้าฝันว่าจะได้เดินทางมาตลอด เราจะได้เห็นตัวเอกในเรื่องซ้อมเต้นทั้งวัน ในทุกชุดการแสดงที่เธอต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

“สมองเราต้องจำได้ทุกอย่าง และทำให้ได้ทุกอย่าง พร้อมทั้งต้องตั้งรับวิธีการเวิร์กชอปในแบบต่างๆ” 

เธอเล่าว่าวันแรกที่เรียนกับเวย์น เหล่านักเต้นจะต้องเริ่มจินตนาการจุดเก้าจุดรอบตัวเอง แต่เธอบอกเราพร้อมกับเสียงหัวเราะว่า “เอาจริงๆ ตอนนั้นแค่จุดก็จำไม่ได้แล้ว” 

จากนั้นเวย์น จะให้นักเต้นทั้งหมดลองลากจุดจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก่อนพาทุกคนเข้าสู่การเวิร์กชอปด้วยการให้จ้องภาพศิลปะ แล้ว Improvise เต้นตามภาพเหล่านั้น 

แม้จะใช้เวลาซ้อมตลอดทั้งวัน เหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เธอบอกว่า “เหมือนอยู่ในโลกแห่งความฝัน ที่เราไม่ต้องโฟกัสกับโลกแห่งความจริงเลย อยู่แค่กับตัวเอง พอจบวันก็พูดกับตัวเองว่า วันนี้จะทำให้ดีกว่าเมื่อวาน เราภูมิใจมากๆ ที่จะพูดว่าเรารักในสิ่งที่เราทำ” 

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
วันเปิดเทศกาล

นอกจากการแสดงของเวย์นแล้ว นักเต้นทั้งหมด 20 คนจะต้องลุ้นว่าจะได้แสดงกับ Crystal Pite หรือไม่ เธอคืออีกหนึ่งนักออกแบบท่าเต้นระดับโลก ผู้ออกแบบการแสดง Solo Echo ที่เคยถ่ายทอดผ่านคณะบัลเลต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่าง Royal Ballet 

“เขาส่งมือขวามาสอนเรา ชื่อเอริค เราก็ไปหาข้อมูลว่าเขาเป็นใคร ทำงานยังไง เพื่อเตรียมตัวว่าเรากำลังจะเจอกับอะไร

“การแสดงชุดนี้ เขาเอาแค่สิบสี่คนเท่านั้น หมายความว่าจะต้องมีคนที่ไม่ได้แสดง ทุกคนอยากแสดงชุดนี้มากๆ เราเองก็ลุ้น ตอนประกาศชื่อ เขาอ่านชื่อจนจะครบแล้วแต่เรายังไม่ได้ยินชื่อตัวเอง เพราะเราเป็นชื่อสุดท้าย”

คุยกับ น้ำหวาน รวินันท์ เพื่อนวัยเด็กที่ออกไปตามฝันนักเต้น ใน New York Fashion Week และ Venice Biennale
การแสดงชุด Solo Echo

น้ำหวานได้อยู่ท่ามกลางศิลปะตลอด 3 เดือน ล้อมรอบไปด้วยนักเต้นและศิลปินที่มีความสามารถมากมาย เธอไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้อยู่บนเวทีนี้ เธอได้ยินชื่อ Biennale มาจากพี่สาวที่สนใจในงานศิลปะ งานนี้รวบรวมทั้งสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก มาอยู่ในที่เดียวกัน รวมถึงได้เจอพี่สาวที่เรียนที่เยอรมนี พร้อมบินลัดฟ้ามาหาเธอที่อิตาลี 

“การที่ทุกอย่างที่รักมาอยู่ในที่เดียวกัน มันพิเศษมากจริงๆ เหมือนฝันเลย” 

เธอบอกว่าถ้าย้อนกลับไปตอนอายุ 16 ปี เธอคงจะไม่บอกสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตให้ตัวเองฟัง แต่จะบอกให้ก้าวต่อไป และอย่าไปสนใจในคำพูดของคนอื่น

วันนี้ เธอคือคนไทยจากเมืองเล็กๆ ของโลกที่ได้ก้าวเข้าสู่วงการเต้นระดับโลก พร้อมทั้งอยู่ในสายตาของนักเต้นระดับตำนาน ที่นักเรียนศิลปะทั่วโลกได้เห็นชื่อ เราเองก็เชื่อเช่นเดียวกันว่า วันหนึ่งผู้คนทั่วโลกจะได้รับรู้ และมองเห็นเรื่องราวของเธอผ่านบทเรียน 

ในชื่อของเด็กผู้หญิงที่โบยบินบนปลายเท้า ‘รวินันท์ อัศวกาญจนกิจ’

Writer

Avatar

ฐาปนี ทรัพยสาร

อดีตนักเรียนหนังสือพิมพ์ที่ก้าวเข้าสู่วงการประชาสัมพันธ์ ผู้เชื่อมั่นว่าตัวอักษรสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ หลงใหลในวัฒนธรรมและมนุษย์

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล