“มันตลกดีเนอะที่เราต้องมาใส่หน้ากากเข้าหากัน” เชฟนีฟ-ฮะนีฟ พิทยาสาร แห่งร้านแกงเวฬา ทักทายน้ำตาลที่กำลังผลักบานประตูตามเข้ามา “ทุกทีก็ใส่อยู่แล้วนะ” เธอรับมุกอย่างไว แล้วพวกเราก็พากันหัวเราะครืนใหญ่ข้างเครื่องฟอกอากาศที่แสดงระดับ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเกือบเท่าตัว

เชฟนีฟ-ฮะนีฟ พิทยาสาร แห่งร้านแกงเวฬา

น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ โพธิยารมย์ เป็นเจ้าของธุรกิจ Wine Citizen Chiang Mai ผมพบเธอครั้งแรกในงาน ‘ปายในฤดูกาล’ ที่สนับสนุนแนวทางอาหารแบบ Locavore แต่ครั้งนั้นเราไม่มีจังหวะให้ได้พูดคุยกันมากนัก ผมจึงไม่ทราบว่าผู้หญิงอารมณ์ดีและค่อนข้างพิถีพิถันในการกินดื่มคนนี้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแต่ไหนแต่ไร จนเธอบอกว่า แรงบันดาลใจที่พยายามใช้สื่อโซเชียลรณรงค์เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องมลพิษทางอากาศสม่ำเสมอมาจากการที่เคยทำงานด้านสาธารณสุข และนี่เองถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อมาพัฒนาเป็นโครงการ ‘สายใต้ ออกรถ’ ซึ่งชักชวนคนตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด อย่างการทำอาหาร

น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ โพธิยารมย์ เป็นเจ้าของธุรกิจ Wine Citizen Chiang Mai

ท่ามกลางสภาพอากาศขมุกขมัวของเชียงใหม่ เมืองที่ครองแชมป์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงที่สุดในโลกอยู่เป็นพักๆ และไม่เคยหล่นจากตาราง 10 อันดับมาหลายเดือน ผมนัดน้ำตาลและทีมงานสายใต้ ออกรถ มาล้อมวงคุยไอเดียก้าวแรกของโครงการในชื่อตอน ‘ลมหายใจสายใต้’ กับแนวคิดการระดมทุนสุดสร้างสรรค์ที่ผู้ร่วมบริจาคได้ทั้งอิ่มหนำกับอาหารอร่อยๆ และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ต่อยอดมาจนกระทั่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 และทิศทางในอนาคตต่อจากนี้ ที่พวกเขาต่างมีภาพฝันของเมืองที่คุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม

“เราค่อนข้างเป็นคนที่แอคทีฟกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ชอบแชร์ข้อมูลข่าวสาร รณรงค์และสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้อยู่แล้ว พอปีที่ผ่านมาที่ปัญหาหมอกควันเชียงใหม่มันรุนแรงชัดเจนขึ้น จนทำให้เรามาฉุกนึกตอนไปรับลูกที่โรงเรียนว่า ในสภาวะแบบนี้ ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีเครื่องฟอกอากาศ เด็กๆ จะอยู่กันได้ยังไง” น้ำตาลเท้าความถึงที่มาของการเปิดรับบริจาคเพื่อหาทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศด้วยตนเองเป็นครั้งแรก

พลังน้ำใจของชาวโซเชียลที่เธอได้รับถูกจัดสรรเป็นเครื่องฟอกอากาศติดตั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 20 แห่งทั่วเชียงใหม่ แต่แน่นอนว่ายังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นความตั้งใจในปีนี้ของเธอ จึงอยากสานต่อการกระจายเครื่องฟอกอากาศให้ทั่วถึง ประจวบเหมาะกับการเข้ามาของเชฟนีฟในวินาทีที่เธอกำลังมองหาเพื่อนร่วมทีมที่มี ‘คำถามเดียวกับเรา’

ด้วยความที่เป็นเพื่อนในแวดวงธุรกิจ และมักติดตามกันผ่านทางโซเชียลเสมอ จนพักหลังมานี้ปัญหาเรื่องหมอกควันอันเกินทนได้กลายมาเป็นจุดเชื่อมโยงให้ทั้งสองคนแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

“ผมว่าเราทนอยู่กับเรื่องสภาพอากาศแย่ๆ มานานเกินไป ยิ่งปีนี้เจอปัญหาหนักจนผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว แต่ก็ได้แค่บ่นลงเฟซบุ๊กทุกวันจนน่าเบื่อเพราะมันไม่ได้อะไร เลยลองใหม่ เปลี่ยนมาตั้งคำถามว่า มันพอจะมีวิธีการแก้ปัญหาเชิงรูปธรรมอะไรบ้างไหมที่เราไม่ต้องรอภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ หยิบยื่นความช่วยเหลือ” 

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่
สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

จังหวะนี้เองที่เชฟนีฟบอกว่าเพื่อนร่วมบ่นอย่างน้ำตาลก็เข้ามาบอกเล่าแนวคิดการสานต่อโครงการจากปีก่อน ซึ่งเขาชื่นชอบและตอบตกลงทันที

ใช้เวลาไม่นานนักกลุ่มก้อนจึงค่อยๆ ขยับขยายในเครือข่ายเพื่อนฝูงจนเติบโตเป็นโครงการ ‘สายใต้ ออกรถ’ พื้นที่รวมตัวของผู้คนที่ไม่อาจทนดูดายกับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่าง Wine Citizen Chiang Mai, แกงเวฬา, Greensmoked, อันจะกินวิลล่า, Mi Piace Chiangmai, Asama Cafe, Tender Valley, Cuisine de Garden, TOONGs Coffee Roaster และ Teaspoon No17

สำหรับชื่อโครงการ น้ำตาลอธิบายว่ามาจากการที่บังเอิญสมาชิกส่วนมากพำนักอยู่ในบริเวณชุมชนที่มีรถประจำทางสีเหลืองวิ่งผ่านตลอดสาย ซึ่งชาวเชียงใหม่ติดปากเรียกว่ารถ ‘สายใต้’ ส่วน ‘ออกรถ’ หมายถึงหากทุกคนพร้อมก็ได้เวลาออกเดินทางไปลงมือทำ 

เป้าหมายของโครงการตอนที่ 1 ‘ลมหายใจสายใต้’ ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่นั้น คือการระดมทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อมอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน และสถานพยาบาลในสายใต้จำนวนมากที่ยังขาดแคลน ด้วยรูปแบบการระดมทุนอย่างสร้างสรรค์ ที่ผู้บริจาคได้อิ่มหนำและช่วยเหลือแบ่งปันไปพร้อมๆ กัน

“เราแค่ไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนให้กันและกัน เพราะว่าตอนนี้ทุกคนกำลังเผชิญวิกฤตหนักจากทั้งหมอกควันและ COVID-19 แต่ถ้ามีใจว่าเราจะต้องทำสักอย่างในเวลานี้ เครื่องมือที่ดีที่สุดก็คือใช้ความถนัดและแรงที่ทุกคนมีนี่แหละมาผลักดัน ก็คือเรื่องของอาหารการกิน ดังนั้นต่อมาเราเลยกำหนดกันว่า ร้านใครจะเข้าร่วมโครงการวันไหน แล้วหลังจากนั้นก็จะนำรายได้ทั้งหมดในวันนั้นมารวมเป็นเงินกองทุนสนับสนุนของโครงการ” น้ำตาลขยายแนวคิดการระดมทุนเพิ่มเติม

ถ้าหมายความว่าจะต้องสูญเสียรายได้ทั้งวันให้กับโครงการ ทำไมในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ คุณยังคิดเอาด้วย ผมถามความคิดเห็นของเชฟนีฟ

“ใช่ ทุกคนเดือดร้อนในสภาวะแบบนี้ แต่เราก็ไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น อย่างน้อยยังพอจัดการชีวิตตัวเองได้ แล้วอะไรที่พอจะหยิบยื่นได้ ผมว่าทำเลยดีกว่า” เชฟนีฟนิ่งคิดสักพักแล้วกล่าวต่อ 

“บางครั้งเราก็รู้สึกว่าการเพิกเฉยของภาครัฐมันชักจะเกินเยียวยาในบางจุด เราทนไม่ไหวและถามตัวเองบ่อยว่า นี่หรือคือคุณภาพชีวิต พอมองออกไปรอบๆ ยังมีคนที่รอรับความช่วยเหลืออีกเยอะมาก บางทีถ้าเราเจอจุดไหนที่พอจะช่วยเหลือได้บ้างไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม แล้วมันไม่ได้กรีดเลือดกรีดเนื้อหรือเหนือบ่ากว่าแรง ก็ทำ จบ”

ในฐานะที่แกงเวฬาเป็นร้านแรกที่เปิดประเดิมโครงการ ผมจึงอยากรู้ว่าผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเชฟนีฟบอกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่ทราบว่าทางร้านกำลังทำอะไรอยู่จากเพจเฟซบุ๊ก ป้ายประกาศหน้าร้าน หรือการพูดคุยระหว่างรับออเดอร์ เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มและไม่รับเงินทอน 

“โห ผมรู้สึกเกินคาดนะ พอมาเจอแบบนี้คือเรายิ้มทั้งวัน แค่เขากินอาหารแล้วมีความสุขก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือการที่เขายินดีหยิบยื่นร่วมโครงการกับเรา ซึ่งมันเป็นความภาคภูมิใจเบาๆ เหมือนกันนะว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราพยายามอยู่ก็เป็นจุดที่ทำให้สังคมมันกระเตื้อง”

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

ถึงตอนนี้บรรยากาศของวงสนทนาเริ่มคึกคัก เพราะมี ซูซี่-สุวรีย์ นิลกลัด จาก Mi Piace Chiangmai เชฟแนน-ลีลวัฒน์ มั่นคงติพันธ์ เจ้าของสถานที่ ซึ่งเพิ่งตระเตรียมวัตถุดิบเข้าครัว Cuisine de Garden เสร็จสรรพ และ ก้อย-กนิษฐกา ลิมังกูร ตามมาสมทบ เธอผู้นี้เองคือบุคคลที่สมาชิกยกให้เป็นซีอีโอของโครงการสายใต้ ออกรถ เพราะจำนวนเงินอันเกินความคาดหวังไปมาก เกินครึ่งมาจากฝีมือของก้อย อันจะกินวิลล่า ที่รับลูกค้าเพียงวันละโต๊ะ

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่
สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

“เงินที่เราได้มามันไม่ใช่แค่ทำวันละโต๊ะในวันเดียว” ก้อยหัวเราะจนตาหยีที่ทุกคนเรียกเธอแบบนั้น “แต่มาจากการที่เราพยายามบอกเล่าเรื่องราวของโครงการผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ทำให้ได้เงินสมทบทุนจำนวนมากจากทั้งบรรดาลูกศิษย์ แขกเก่า เพื่อนฝูง กระทั่งคนรู้จักจากเมืองนอกก็ส่งความช่วยเหลือมา นอกเหนือจากเงิน ที่เราได้รับคือการระดมความคิด ซึ่งเปิดมุมมองให้เราเห็นสิ่งที่มองข้ามและแนวทางการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

เป็นต้นว่าเรื่องเครื่องฟอกอากาศที่พวกเขาไม่เคยนึกถึงว่าเป็นปัจจัยสำคัญของห้องระบบปิด จึงทำให้เกิดไอเดียใหม่ในการขอร่วมเป็นผู้สนับสนุนเครื่องฟอกอากาศกับทางสภาลมหายใจและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเตรียมผลักดันโครงการสร้างห้องปลอดฝุ่นควันในพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง อาทิ ในห้องเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือเปลี่ยนจากการซื้อหน้ากากอนามัยสำเร็จรูปใช้แล้วทิ้งมาให้กลุ่มแม่บ้านชุมชนดงหาดนาค อำเภอจอมทอง เป็นผู้ตัดเย็บหน้ากากผ้า โดยอิงรูปแบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐานป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อไวรัสในสถานพยาบาล เพื่อเป็นการกระจายรายได้และประโยชน์สู่ชุมชนสายใต้ให้มากที่สุด 

รวมถึงภารกิจ ‘ตอน 1.2 : สายใต้ช่วยหมอ’ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายสนับสนุนอาหารแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่ขณะนี้ต้องแบกรับภาระหนักจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และเผชิญความลำบากในเรื่องอาหารการกิน ทางโครงการได้ปักหมุดร้านแกงเวฬาให้เป็นจุดศูนย์กลางในการรังสรรค์เมนูอาหารอร่อยๆ รับบริจาคอาหารและวัตถุดิบ พร้อมประสานทางโรงพยาบาลให้จัดรถมารับอาหารทุกๆ วัน

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

นอกจากการจองโต๊ะทานที่ร้าน อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากสนับสนุนโครงการ คืออุดหนุนเมนูอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่จะมีให้บริการยาวๆ ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายนนี้ โดยมีหลายร้านเข้าร่วม ทั้ง Greensmoked จัดส่งปีกไก่บาร์บีคิวรมควันสูตรเด็ดทั่วไทย Mi Piace Chiangmai กับเมนูกราโนล่ายอดฮิตที่เก็บไว้ได้นานและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึง Cuisine de Garden กับชุดอาหารเบนโตะจากวัตถุดิบท้องถิ่นและอาหารแห้งสุดพิเศษ อย่างแอนโชวี่ ปลากระป๋องโฮมเมด และชาซุป เพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภคในยามเผชิญสถานการณ์ไม่ปกติ และสนับสนุนรายได้ให้แก่เกษตรกรชุมชน ผู้ผลิตวัตถุดิบหล่อเลี้ยงระบบอาหารยั่งยืนให้อยู่สู้ต่อไปด้วยกัน

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่
สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

“ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคที่ต่างคนต่างอยู่แล้ว ดิสรัปต์แบบนี้มันต้องช่วยกัน และไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ทำเหมือนกันเท่านั้น แต่มันต้องหลายแขนงร่วมกันด้วยถึงจะดี เพราะยิ่งต่างมุมมองก็ยิ่งช่วยให้มองเห็นครอบคลุมและลงลึก”
น้ำตาลเสริมต่อจากเชฟนีฟว่า แผนการต่อไปของสายใต้ ออกรถ คือเปิดรับสมาชิกเพิ่มโดยไม่จำกัดแค่ในแวดวงธุรกิจอาหาร เพราะเธอเชื่อว่าเครือข่ายที่หลากหลายและเข้มแข็ง จะเป็นแรงผลักดันให้การแก้ปัญหามีศักยภาพ

“ก่อนจะไปถึงราก มันต้องมีคลื่นอะไรบางอย่างที่ทำให้รากรู้สึกว่าใบมันเริ่มเฉา ลำต้นมันเริ่มแย่ และสิ่งที่เราทำก็คือพยายามสร้างคลื่นนั้นอยู่ ถึงแม้มองจากวันนี้ยังดูเหมือนอีกไกล แต่เราเชื่อว่าคลื่นลูกนี้จะค่อยๆ ขยายใหญ่ด้วยพลังเครือข่ายที่เข้มแข็ง เหนียวแน่น และแทรกลึกลงไปจนถึงรากเหง้าของปัญหาได้สักวัน” 

น้ำตาลหวังใจไว้อีกว่า ในอนาคตนอกจากการได้เห็นชุมชนสายใต้มีสภาพอากาศและคุณภาพชีวิตดี เธอยังอยากให้โครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบที่จุดประกายให้คนสายเหนือ สายกลาง หรือสายตะวันออก ลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองเชียงใหม่น่าอยู่ยิ่งขึ้นร่วมกัน

“เป็นเรื่องที่ชุ่มชื่นหัวใจในช่วงนี้ของพวกเรา” “เนอะ” “จริง” คำตอบง่ายๆ เหมือนอธิบายไม่ถูก แต่เสียงหัวเราะพร้อมเพรียงกันก็พอจะเป็นคำตอบทิ้งท้ายได้ว่า พวกเขากำลังรู้สึกอย่างไรที่เห็นผลตอบรับของโครงการออกมาเช่นนี้ ผมใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงในการสัมภาษณ์ ตลอดเวลาใส่หน้ากาก จึงไม่ทันรู้ตัวเลยว่าตัวเลขบนเครื่องกรองอากาศที่ทำงานเงียบเชียบได้เปลี่ยนไปแล้ว

สายใต้ ออกรถ โครงการระดมทุนชวนอิ่มหนำและทำเพื่อสุขภาพปอดชาวเชียงใหม่

ติดตามโครงการสายใต้ ออกรถ ได้ที่ Facebook : สายใต้ ออกรถ

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ