ราว ๆ สิบกว่าปีที่แล้ว ไม่นานนักหรอก ผมจำได้ว่าขณะทำงานในป่า เรามีความรู้สึกคล้ายอยู่ ‘หลังเขา’ เหมือนตัดขาดออกจากโลกภายนอก ติดต่อผู้คนได้เพียงจากวิทยุสื่อสาร ซึ่งหลายครั้งเราก็อยู่ในที่อับสัญญาณ ห่างไกลความเจริญ สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าในป่าที่เราอยู่ไม่กันดารนัก คือ มีเครื่องบินผ่าน 

ตอนดึก ๆ ทุกคืน เมื่อต้องใช้เวลาในแคมป์นาน ๆ เพื่อเฝ้ารอสัตว์ป่า หลาย ๆ ครั้งเราไม่รู้หรอกว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะการทำงานในป่านั้น สัตว์ป่าเป็นผู้กำหนดเวลา ไม่ใช่เรา นอกจากเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับทำงาน เสบียงและอื่น ๆ เพื่อการอยู่ในป่านาน ๆ แล้ว เรามีอุปกรณ์สำคัญซึ่งขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ วิทยุทรานซิสเตอร์ ไม่ใช่วิทยุยี่ห้อใดก็ได้ คนทำงานในป่ารู้ดีว่า ต้องเป็นวิทยุยี่ห้อ ธานินทร์ เพราะยี่ห้อนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า รับคลื่นได้ดีกว่า

เดินทางถึงแคมป์ บางคนหาที่ผูกเปล กางเต็นท์ เตรียมที่ประกอบอาหาร ที่วางเสบียง ห่างจากที่นอนอยู่หลายวัน ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยอันทำให้มดมารุม จะมีคนหนึ่งลากสายไฟปีนขึ้นต้นไม้เอาไปเกาะยอดไม้สูง ๆ เพื่อเป็นเสาอากาศวิทยุ อันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่าอยู่หลังเขาเท่าใดนัก ไม่ได้ตัดขาดจากโลก

เรารับรู้เรื่องราวจากทั่วโลกด้วยคลื่นที่มาขาด ๆ หาย ๆ

ในตอนนั้น เป็นช่วงเวลาที่คนบนโลกรู้แล้วว่า โลกที่เราอยู่เริ่มเปลี่ยนแปลง มีการศึกษาวิจัยมีข้อมูลมากมาย อันทำให้รู้ว่าสาเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั่นเป็นเพราะเราทำลายสภาพแวดล้อม จนกระทั่งวงจรต่าง ๆ ขาดสะบั้น

คนบนโลกจำนวนไม่น้อยพยายามร่วมมือแก้ไข ปกป้อง

ความรู้ต่าง ๆ ไม่ใช่ข้อมูลลับ ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่ดูเหมือนคนจำนวนหนึ่งจะไม่ใส่ใจฟัง รวมทั้งเชื่อว่า วิถีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเท่านั้นจะทำให้มีชีวิตที่ดี

เป็นความจริงที่เชื่อว่าไกลตัว

แต่เมื่อรับฟังอยู่ในที่ไกล ๆ ในป่า เรารับรู้ได้ดีว่า หลายเรื่องราวไม่ไกลตัวเราเลย

หม่อมเชน-ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เข้าป่ากับวิทยุธานินทร์ และการค้นพบความจริงจากสัตว์
หมูป่า

ถึงวันนี้ ไม่น่าจะมีใครสงสัยอีกแล้วว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และผลกระทบนี้ไม่ได้เดือดร้อนแค่คน ชีวิตต่าง ๆ ในป่าก็เลี่ยงไม่พ้น

ในความเป็นจริง คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ หรือเรื่องของอุณหภูมิที่เพิ่มช้า ๆ ทั่วโลกนั้น เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงเท่านั้น รวมทั้งเป็นแค่ดัชนีหลักตัวหนึ่งที่ใช้วัดสถานการณ์ สภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระแสลม กระแสคลื่นในมหาสมุทร การเกิดพายุ การกระจายของโรคระบาด คลื่นความร้อน การก่อตัว การละลายของหิมะบนยอดเขา ไฟป่า อุทกภัย และภัยแล้ง

อุณหภูมิจึงคล้ายเป็นแค่เศษเสี้ยวของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

สภาพอากาศหนาวเย็น ฝนตกกลางฤดูแล้ง พืชอาหารออกผลน้อย ไม่มีไฟป่าเผาทุ่ง ไม่มีระบัดหรือหญ้าอ่อน ๆ ที่สัตว์กินพืชรอ

หม่อมเชน-ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เข้าป่ากับวิทยุธานินทร์ และการค้นพบความจริงจากสัตว์
ค่าง กินใบไม้มากกว่าผลไม้ และพวกมันใช้แสงแดดอุ่น ๆ ยามเช้าช่วยให้หายเปียกชื้น
หม่อมเชน-ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เข้าป่ากับวิทยุธานินทร์ และการค้นพบความจริงจากสัตว์
สมเสร็จ พวกมันเดินทางโดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด

ในป่า ชีวิตต่างต้องปรับตัว นกเงือกตัวเมียจำนวนมากเลือกออกจากโพรงที่ขังตัวเองไว้ ทิ้งไข่ พวกมันรู้ดีว่านี่ไม่ใช่ปีที่จะเลี้ยงลูกให้มีชีวิตที่ดีได้ หยุด เพื่อรอเวลาเหมาะสม เป็นสิ่งที่พวกมันเลือกทำ

ช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ทั้งที่ควรเป็นเวลาแห่งฝน ช้างนำโขลงโดยตัวเมียอาวุโส พาสมาชิกในครอบครัวหยุดที่แอ่งน้ำเล็ก ๆ ใช้ตีนแข็งแรงขุดดินเป็นหลุมน้ำซึม ให้ดินทรายเป็นเครื่องกรองน้ำ 

สัตว์ป่ารับรู้ ยอมรับการปรับตัวเพื่ออยู่ให้รอด เป็นสิ่งหนึ่งในวิถี

วิทยุทรานซิสเตอร์ของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า และพฤติกรรมของสัตว์ที่บอกเราว่า โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
วิทยุทรานซิสเตอร์ของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า และพฤติกรรมของสัตว์ที่บอกเราว่า โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ช้างโขลงที่มีลูกเล็ก ใช้แอ่งน้ำเล็ก ๆ บรรเทาความกระหาย ในวันที่ป่าควรชื้นด้วยสายฝน

การปรับตัวจำเป็น คนทำงานเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ หากใครไม่พูดถึงภาวะโลกร้อน คล้ายจะตกขบวนรถ 

แต่งานก็ไม่ได้ง่ายขึ้นสักเท่าไหร่

โลกจะร้อนหรือเย็น มีความจริงอยู่ว่า สัตว์ป่ายังคงถูกล่า

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ลูกเสือโคร่ง ลูกนกเงือกกรามช้างจำนวนหนึ่ง ถูกพบขณะเตรียมส่งผู้ซื้อ การซื้อขายสัตว์ป่าทั้งเป็นซากและยังมีชีวิตเฟื่องฟู

อวัยวะสัตว์ ตั้งแต่ช้าง เสือโคร่ง ลิ่น เป็นที่ต้องการ สัตว์ที่ถูกพบเดินทางไปไม่ถึงปลายทาง กลายเป็น ‘ของกลาง’ คล้ายจะต้องติดอยู่ในกรงไปตลอดชีวิต

สัตว์ป่าที่ดีคือสัตว์ป่าที่ตายแล้ว ดูเหมือนจะเป็นความเชื่ออันไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะเดินไปถึงไหน

ความเชื่อในเรื่องราวสัตว์ป่า ทำให้พวกมันสิ้นอนาคต แต่มีความจริงที่ทำให้พวกมันอยู่รอด 

มีชาวสวนส่วนหนึ่งใช้นกที่หลายคนเชื่อว่า พวกมันเป็นลางร้ายช่วยกำจัดหนูในสวน แมลงอย่างผึ้งนั้น เกษตรกรใช้พวกมันผสมเกสรต้นผลไม้ให้นานแล้ว

ถึงวันนี้ ทำงานในป่า วิทยุทรานซิสเตอร์ไร้ความสำคัญ สัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมไปเกือบทั่วทุกพื้นที่

มีข่าวสาร ข้อมูลมหาศาล ข้อมูลหาได้ง่ายดาย

กระนั้นก็เถอะ บางสิ่งคล้ายจะไม่เปลี่ยนแปลง

แววตาลูกเสือโคร่งที่ตกเป็น ‘ของกลาง’ ทำให้ผมต้องยอมรับว่า ในวันที่ความรู้ข้อมูลหาได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ใช้ ‘ความเชื่อ’ ในการดำรงชีวิต

มีโอกาสได้อยู่ใกล้สัตว์ป่า พวกมันนี่แหละ สอนให้ผมรู้ว่า ความจริงบนโลกนี้เป็นอย่างไร

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน