ปลายฤดูหนาว 

ยามบ่ายที่แสงแดดจัดจ้า ท้องฟ้าสีครามเข้มแต่อุณหภูมิ บนเส้นทางคดเคี้ยว ขนาบด้วยป่าเบญจพรรณ ซึ่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อสีบรอนซ์เก่า ๆ กำลังแล่นอยู่ เย็นยะเยือก 

หลังจากข้ามลำห้วยเล็ก ๆ มาราว 15 เมตร เส้นทางเป็นเนินชัน ชายผู้บังคับรถหยุด ปลดเกียร์หลักเป็นเกียร์ว่าง และผลักเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ไปในเกียร์โลว์ รถเคลื่อนขึ้นเนินชันช้า ๆ ไม่มีอาการลื่นไถล สุดปลายเนิน เขาหยุดรถ ปลดเกียร์มาไว้ในตำแหน่งขับเคลื่อน 2 ล้อ

“ต้องถนอมหน่อยครับ ใช้เขามานานแล้ว” ชายผู้ขับรถพูด

ผมหันมองหน้า ประภาส มั่นคง ชายผู้กำลังขับรถ ใบหน้ากร้านแดด ลม ดูคล้ายนักร้องเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่คนหนึ่ง

“หลับตาขับก็ได้มั้ง” ผมพูด เรารู้จักกันมานานเกิน 20 ปี และเขาก็เดินทางอยู่บนเส้นทางนี้มากว่า 20 ปีเช่นกัน

“อีกปีกว่า ๆ ก็เกษียณแล้วล่ะครับ” ประภาสพูดเบา ๆ

เขาเป็นพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งนามเรียกขานขึ้นต้นด้วยเลขแปด 

ชีวิตใกล้ปลดระวางของพนักงานพิทักษ์ป่า ผู้สืบเจตจำนงของ สืบ นาคะเสถียร
ประภาส พิทักษ์ป่า
ภาพ : เกศรินทร์  เจริญรักษ์ 

“พวกรหัสแปดนี่เหลือไม่กี่คนหรอกครับ จะปลดระวางพร้อม ๆ กันนี่แหละ ที่เหลือก็เป็นพนักงานราชการ”

“วางแผนไว้ว่าจะทำอะไรหรือยังครับ” ผมชวนคุย

“อยู่บ้านปลูกต้นไม้ไปแหละครับ ไม่น่าจะลำบาก โชคดีที่มีบำนาญใช้ทุกเดือน”

ประภาสและเพื่อน ๆ คือรุ่นสุดท้ายของคนทำงานในป่าที่มีตำแหน่ง ‘พิทักษ์ป่า’ มีสถานภาพใกล้เคียงกับการเป็นข้าราชการ

“อยู่บ้านปลูกต้นไม้ จะเหงา คิดถึงป่าไหม อยู่ในป่ามานานขนาดนี้”

ประภาสหันมองหน้า ยิ้ม ๆ ไม่ตอบคำถาม 

หลายวันก่อน ผมมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และอยู่ห่างจากสำนักงานเขต 12 กิโลเมตร เส้นทางลำลองมีขึ้น-ลงหุบ แต่ใช้ได้ตลอดปีแม้ในช่วงฤดูฝน ใช้เวลาเดินทางจากสำนักงานเขตไม่นาน และคล่องตัวกับการใช้มอเตอร์ไซค์

ในฤดูฝน บนเส้นทางมีต้นไม้ล้มบ้าง และบางครั้งเสียเวลากับการจัดการรื้อกอไผ่ที่ช้างดึงล้มมาขวางทั้งกอ

สำนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าเป็นบ้านไม้ รูปทรงสิ่งก่อสร้างในยุคแรก ๆ ของบ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

บ้านที่ใช้เป็นสำนักงานสูงจากพื้น ราว 1 เมตร บันได 3 ขั้น ด้านหน้าเป็นระเบียงยาว ฝาไม้กระดานสีเขียวอ่อน ๆ ทาทับสีเขียวซีด ๆ ที่นี่ใช้เป็นห้องวิทยุสื่อสาร รวมทั้งเป็นที่พักหัวหน้าหน่วย

ชีวิตใกล้ปลดระวางของพนักงานพิทักษ์ป่า ผู้สืบเจตจำนงของ สืบ นาคะเสถียร

เดินขึ้นบันได จะเห็นภาพวัวแดงตัวผู้ 2 ตัวสีจาง ๆ เป็นภาพโปสเตอร์ที่พิมพ์มาเนิ่นนาน เหนือภาพวัวแดงมีตัวหนังสือหนา ๆ เขียนว่า ‘ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง’

ด้านซ้ายมือมีประตูเข้าห้องที่วางเครื่องรับส่งวิทยุ ติดผนังมีแผนที่ขนาดใหญ่ แสดงอาณาเขตและพื้นที่ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าต่าง ๆ

ผนังฝั่งตรงข้ามท้ายห้องมีโปสเตอร์ขนาดใหญ่อีกแผ่นเป็นรูปผู้ชายสวมแว่นตา เสื้อกันหนาวทรงทหารสีเขียว มือซ้ายถือกล้องยาสูบ ไหล่ด้านขวาสะพายย่ามสีมอ ๆ กำลังก้มให้ชายร่างเล็กใช้นิ้วจิ้มสีบนหน้าผาก ใต้ภาพมีตัวหนังสือตัวใหญ่ เขียนว่า ‘25 ปี สืบ’

ความหมาย 25 ปีในโปสเตอร์ คือระยะเวลาที่ สืบ นาคะเสถียร จากไป 

จากไปอย่างตั้งใจให้สงครามที่เขาเผชิญชนะ

ชีวิตใกล้ปลดระวางของพนักงานพิทักษ์ป่า ผู้สืบเจตจำนงของ สืบ นาคะเสถียร

พลบค่ำ ผมขึ้นรถที่ประภาสนำมารอรับ 

“กระทิงออกมาตลอดบ่ายจนค่ำเลยครับ ตอนเดินออกมานี่ก็ยังอยู่ในโป่ง” 

“เมื่อก่อนตอนผมทำงานใหม่ ๆ สัตว์ไม่ได้เยอะหรือเห็นง่ายอย่างนี้นะครับ” ประภาสพูด

ถึงแม้ว่าป่านี้จะได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นพื้นที่คุ้มครอง แต่การล่าสัตว์ บุกรุกพื้นที่ ตัดไม้ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สืบ นาคะเสถียร ในฐานะหัวหน้าเขตในช่วงเวลานั้น ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตของเขาเป็นเครื่องมือบอกให้คนได้รับรู้ถึงปัญหา 

และมันได้ผล

ชีวิตใกล้ปลดระวางของพนักงานพิทักษ์ป่า ผู้สืบเจตจำนงของ สืบ นาคะเสถียร

หลังการจากไปของเขา มีสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น ‘สรรพกำลัง’ มากมายทุ่มเทเข้ามาในป่านี้ มีการทำงานป้องกันอย่างเป็นระบบจริงจัง เป็นแหล่งอาศัยสัตว์ป่าอันเหมาะสม ประชากรสัตว์ป่าเพิ่มจำนวน

นกยูงเดินริมถนน พบได้ทุกที่ มีจุดที่พบวัวแดงเป็นฝูงใหญ่ง่าย ๆ

สืบ นาคะเสถียร ทำความตั้งใจของเขาให้เป็นจริง

และที่สำคัญ เขาได้มอบความเป็นผู้ ‘พิทักษ์ป่า’ ไว้ในใจคน

ชีวิตใกล้ปลดระวางของพนักงานพิทักษ์ป่า ผู้สืบเจตจำนงของ สืบ นาคะเสถียร

เช้านี้หน่วยพิทักษ์ป่าเงียบสงบ เสียงชะนี 2 ครอบครัวที่ร้องโต้ตอบกันเงียบไปแล้ว เก้ง 2 ตัวเดินหางกระดิกเข้ามา พญากระรอกดำกระโจนข้ามกิ่งไม้ เอาหัวห้อย ใช้หางยาว ๆ เกาะกิ่งไม้ไว้

ตรงข้ามกับสำนักงาน มีแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และห้องควบคุม ด้านซ้ายมือคือบ้านพักที่เรียกว่าบ้าน 4 ครอบครัว ถัดมาหน่อยเป็นเพิงเล็ก ๆ ใช้เป็นที่ประกอบอาหาร ข้างกองไฟมีเปลสีเขียวผูกอยู่ ผู้ชายร่างผอมหลับสนิท เขาอยู่เฝ้าหน่วย หลังเพื่อน ๆ เดินกลับจากลาดตระเวนก็กลับบ้าน อีก 2 วันจะกลับมา

ว่าตามจริง นี่คือสภาพหน่วยพิทักษ์ป่าและคนทำงานในป่าที่หลายคนพบเจอ ช่วงเวลาที่พวกเขาพักจากงาน เวลาที่ผ่อนคลาย หลายคนมีกลิ่นแอลกอฮอล์คลุ้ง 

แต่นี่คือคนทำงานที่ได้รับการฝึกฝนอบรมในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพคนละหลายครั้งจนชำนาญ

ขณะทำงาน พวกเขาจะมีอีกสภาพหนึ่ง และเป็นภาพที่คนมักจะไม่ได้เห็น

ภาพวัวแดงในโปสเตอร์ที่พิมพ์มาเนิ่นนาน พร้อมคำอธิบายว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ยังติดอยู่บนผนัง

แต่ถึงวันนี้ ที่นี่ดูเหมือนจะเป็นป่าที่พบเจอวัวแดงที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้ง่ายที่สุด  

บางที นี่นับได้ว่าเป็นหลักฐานยืนยันผลงานของคนทำงานในป่าอย่างเป็นรูปธรรม  

มีความจริงอีกอย่างที่ไม่ได้เห็น คือ คนทำงานในป่าเหล่านี้ ทำงานของพวกเขาได้ผลมากเกินกว่า ‘ความใส่ใจ’ และปัจจัยที่ได้รับ…

แสงไฟสาดส่องไปตามเส้นทางคดโค้ง ขนาบด้วยต้นไม้แน่นทึบ ประภาสชะลอรถ เม่น 2 ตัวเดินนำหน้าไปสักพักก่อน ค่อยเลี้ยวเข้าด่านด้านซ้าย

“อยู่บ้านปลูกต้นไม้จะคิดถึงป่าไหมครับ” ผมถามซ้ำ

ประภาสหันมอง ใบหน้าคล้ายนักร้องเพื่อชีวิตยิ้มกว้าง

“ไม่คิดถึงหรอกครับ” เขาตอบ

“ป่ามันอยู่กับผม ไม่ได้ห่างไปไหน ไม่ว่าอย่างไร ผมก็ ‘เป็น’ พิทักษ์ป่าครับ”

คนทำงานในป่ามากว่าครึ่งชีวิตตอบคำถาม 

เป็นคำตอบอันทำให้ผมเข้าใจความหมายของการทำงานด้วยหัวใจ

คุยกับ ประภาส มั่นคง คนทำงานในป่าที่มีตำแหน่ง ‘พิทักษ์ป่า’ รุ่นสุดท้ายก่อนเกษียณ ถึงชีวิตที่มีป่าอยู่ในหัวใจ
คุยกับ ประภาส มั่นคง คนทำงานในป่าที่มีตำแหน่ง ‘พิทักษ์ป่า’ รุ่นสุดท้ายก่อนเกษียณ ถึงชีวิตที่มีป่าอยู่ในหัวใจ
คุยกับ ประภาส มั่นคง คนทำงานในป่าที่มีตำแหน่ง ‘พิทักษ์ป่า’ รุ่นสุดท้ายก่อนเกษียณ ถึงชีวิตที่มีป่าอยู่ในหัวใจ
  ส่วนหนึ่งของสัตว์ป่าที่อยู่ในแหล่งอาศัยที่ได้รับการดูแลป้องกันและได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี
สารคดีสัญชาติไทย

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน