18 มิถุนายน 2021
2 K

“อรุณสวัสดิ์คร้าบ” เสียงทักทายพร้อมรอยยิ้มสดใสส่งมาจาก ‘เต้ย’ ไกด์หนุ่มที่กำลังยืนรอพวกเราอยู่ข้างรถกระบะคันใหญ่ พาหนะของพวกเราในวันนี้ เต้ยสวมเสื้อเชิ้ตผ้าโปร่งสบายๆ กับกางเกงขายาว และรองเท้าแตะแบนๆ คู่ใจ ที่พาเขาบุกป่าฝ่าดงไปทุกที่ ไม่หวั่นแม้วันทากมากในฤดูฝนอย่างเช่นวันนี้ 

ถ้าพูดถึงเขาใหญ่ ใครๆ ก็คงจะนึกถึงการกางเต็นท์ในฤดูหนาว น้ำตกเหวสุวัต เดินเที่ยวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ดูวิวต้นไม้และภูเขา แต่ทริปนี้แตกต่างออกไปเพราะพวกเราทั้ง 5 คน มากับไกด์ที่จะพาเราไปรู้จักเขาใหญ่ในมุมมองของการส่องสัตว์และถ่ายภาพสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน

ขึ้นกระบะไปส่องสัตว์ ถ่ายภาพสัตว์ป่า และนอนตีขาในน้ำตกที่เขาใหญ่กับไกด์ท้องถิ่น

เราก้มหน้ามองอาวุธคู่ใจที่วางอยู่บนตัก กล้องรุ่นดึกดำบรรพ์ Canon 350D และเลนส์ระยะ 100 – 400 mm. ที่ยืมคนอื่นมา หวั่นใจเล็กน้อยว่าวันนี้จะได้ภาพสัตว์กลับไปหรือไม่ แต่ความกังวลทั้งหมดดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อไกด์หนุ่มยืนยันว่า ถึงไม่มีกล้องใหญ่และพกมาแค่โทรศัพท์มือถือ ก็มีรูปภาพสวยๆ กลับไปได้อย่างแน่นอน 

ขึ้นกระบะไปส่องสัตว์ ถ่ายภาพสัตว์ป่า และนอนตีขาในน้ำตกที่เขาใหญ่กับไกด์ท้องถิ่น

รถกระบะพุ่งทะยานขึ้นสู่เขาใหญ่ ลมเย็นปะทะใบหน้า สัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป อากาศที่หนักขึ้นจากความชื้น กลิ่นสดชื่นของดิน และเสียงนกร้อง ทำให้ความเครียด ความกังวลต่างๆ ของชีวิตในเมืองใหญ่ค่อยๆ เลือนหายไปทุกครั้งที่คันเร่งถูกเหยียบ

หลังจากขับมาได้ไม่นาน รถกระบะก็จอดที่จุดชมวิว เรามองเห็นป่ากว้างและภูเขาไกลสุดลูกหูลูกตาจากตรงนี้ บทเรียนแรกที่พวกเราได้รับ คือการฝึกสายตาเพื่อมองหาสัตว์ให้เจอ เพียงแค่ไม่กี่นาทีที่ยืนมอง เต้ยก็ตะโกนพร้อมกับชี้ไปที่ป่ากว้างด้านหน้า “นกเงือกๆ พันธ์ุกรามช้างสองตัว บนต้นไทรข้างขวา กิ่งที่สองจากบนสุด กำลังกินลูกไทรอยู่เลย ตรงนั้นๆ” 

ความเข้าใจมาตลอดชีวิตว่านกเงือกเป็นสัตว์คุ้มครองที่หาดูยากถูกทำลายลงภายในเวลาไม่ถึง 10 นาทีที่เราเข้ามาในเขาใหญ่ เราพยายามมองหา แต่ความพยายามไม่เป็นผล มันดูเหมือนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมองเห็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในพื้นที่กว้างขนาดนี้ ไกด์หนุ่มจึงเดินเข้ามาอธิบายเทคนิคในการมองหาสัตว์ให้ฟังเราฟังอย่างรวดเร็ว ในที่สุดสายตาเราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ บนต้นไทร นกเงือก 2 ตัวเกาะอยู่บนนั้นจริงๆ 

ขึ้นกระบะไปส่องสัตว์ ถ่ายภาพสัตว์ป่า และนอนตีขาในน้ำตกที่เขาใหญ่กับไกด์ท้องถิ่น

แต่ด้วยระยะที่ไกลเกินกว่าตาทั้ง 2 ข้างของเรา หรือเลนส์กล้องระยะ 400 mm. ที่อยู่ในมือจะถ่ายทอดรายละเอียดความสวยงามของเจ้านกเงือกออกมาได้ ไกด์หนุ่มจึงได้กางอาวุธลับออกมา นั่นคือกล้อง Telescope ที่เอาไว้ส่องสัตว์โดยเฉพาะ ด้วยกำลังขยายขั้นสุด ทำให้พวกเรามองเห็นถึงรายละเอียด สีสัน และลวดลายบนตัวนกเงือกกรามช้างได้อย่างชัดเจน หน้าขาว ตาสีแดงสด และขนสีแดงยาวที่ขึ้นด้านหลังหัว ทำให้นกตัวนี้โดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลักษณะพิเศษบริเวณด้านบนของจะงอยปากของนกเงือกพันธุ์นี้ที่มีลายเป็นริ้วๆ จำนวนริ้วที่เห็นจะเท่ากับจำนวนอายุของนกเงือกตัวนั้นๆ ซึ่งลักษณะของริ้วที่เกิดขึ้นนี้ มีหน้าตาคล้ายฟันกรามของช้าง จึงเป็นที่มาของชื่อนกเงือกกรามช้างนั่นเอง 

ขึ้นกระบะไปส่องสัตว์ ถ่ายภาพสัตว์ป่า และนอนตีขาในน้ำตกที่เขาใหญ่กับไกด์ท้องถิ่น

ภาพนกเงือกจิกลูกไทรและโยนเข้าปากตัวเอง เหมือนกับที่เคยเห็นจากสารคดีสัตว์โลกมากมายกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าของเรา หลังจากเราดูภาพด้วยตากันอย่างเต็มที่แล้ว เต้ยจึงนำโทรศัพท์มือถือของเราวางต่อกับช่องส่องภาพของกล้อง Telescope แล้วบันทึกภาพนกเงือกที่อยู่ตรงหน้ามาให้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว อีกทั้งภาพที่ออกมายังชัดเจน สวย คมชัด ราวกับถ่ายด้วยกล้องรุ่นใหญ่พร้อมเลนส์ระยะไกลเลยทีเดียว ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า ถึงแม้ว่าจะไม่พกกล้องมา แต่เราทุกคนก็จะสนุกกับการส่องสัตว์ และเก็บภาพสัตว์ในวันนี้ได้อย่างเต็มที่อย่างที่เต้ยได้บอกไว้จริงๆ 

พวกเรากระโดดขึ้นหลังรถกระบะอีกครั้ง ในขณะที่กำลังขับผ่านต้นไม้สูง เสียงร้องของชะนีก็แว่วผ่านมากับสายลม รถกระบะชะลอความเร็วลงทันที ไกด์หนุ่มของเราจอดรถข้างทาง ยกกล้อง Telescope แล้วเดินดุ่มๆ มุ่งหน้าไปยังต้นเสียงที่อยู่ห่างออกไป 

จากเสียงร้องเบาๆ กลายเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ชะนีมือขาว 2 ครอบครัวกำลังส่งเสียงร้องประกาศอาณาเขตกันอยู่ พวกเราทุกคนยืนนิ่งเพื่อรอดูความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วทันใดนั้น กิ่งไม้ที่ห่างออกไปราวๆ 50 เมตรก็เกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรง เรายกกล้องขึ้นส่องไล่ตามกิ่งไม้ที่เคลื่อนไหวอยู่ด้านหน้าทันที 

“เตรียมตัวเลยครับ มันน่าจะกระโดดจากต้นโน้นไปยังต้นข้างๆ” สิ้นสุดคำของไกด์หนุ่ม เจ้าชะนีขนสีดำสนิททั้งตัว ยกเว้นแต่เพียงอุ้งมือสีขาวราวกับใส่ถุงมือ ก็กระโดดจากกิ่งหนึ่งไปอีกหนึ่งพร้อมกับเสียงร้องกึกก้อง หลังจากนั้นเหล่าชะนีมือขาวก็แสดงโชว์ผาดโผนให้พวกเราได้ถ่ายรูปกันอีกหลายต่อหลายครั้ง หลังจากที่ทุกอย่างจบลง เหล่าชะนีก็นั่งจมปุ๊กกลายเป็นก้อนกลมฟู เกาะอยู่กับต้นไม้พร้อมกับเคี้ยวใบไม้ด้วยความสงบ 

จากมุมมองคนทั่วไป อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ชะนี’ ที่เป็นศัพท์สแลงซึ่งใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน จนทำให้ไม่ตื่นเต้นที่จะได้เห็นชะนีตัวจริงๆ ในป่า แต่สำหรับคนรักป่า ชะนีคือหนึ่งในสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของป่าในรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากชะนีใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้แทบจะตลอดชีวิต ด้วยการเดินทางจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง การหาอาหาร การนอนหลับ การผสมพันธ์ุ หรือแม้แต่การดื่มน้ำ ก็จะดื่มจากใบไม้หรือไม่ก็น้ำที่ค้างอยู่ในลำต้นไม้ 

ดังนั้น หากป่าไม่อุดมสมบูรณ์ หรือไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่โตต่อเนื่องกันเป็นทิวแถว ชะนีก็ไม่สามารถเดินทางเพื่อหาอาหารหรือมีชีวิตอยู่ต่อไป การได้เห็นชะนีจึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับพวกเราทุกคน 

“เก็บของครับ มีสายบอกมาว่านากใหญ่ขนเรียบเข้าที่อ่างเก็บน้ำศร เราจะไปถ่ายนากกัน” 

ไกด์หนุ่มบอกด้วยเสียงตื่นเต้น อ่างเก็บน้ำศรเป็นจุดที่อยู่ติดกับถนน ด้วยบรรยากาศและความสวยงามริมน้ำ ทำให้มีคู่รักมากมายแวะเวียนมาถ่ายรูป Pre Wedding กันเป็นประจำ แต่เมื่อพวกเราไปถึง สิ่งที่เห็นคือตากล้องมากกว่า 20 คน นั่งกระจายตัวตามจุดต่างๆบริเวณริมน้ำ หามุมที่ดีที่สุดเพื่อถ่ายรูปครอบครัวนาก

ที่ริมอ่างเก็บน้ำฝั่งตรงข้าม ครอบครัวนากประมาณ 7 – 8 ตัวกำลังว่ายน้ำอยู่ โดยมีตัวใหญ่ที่สุดว่ายนำ ส่วนตัวเล็กที่เหลือว่ายตามไม่ห่าง เต้ยบอกพวกเราว่าวันนี้โชคดีมากๆ เพราะนากเป็นสัตว์คุ้มครองหาดูยาก และที่พวกเรากำลังจะได้เห็น คือพฤติกรรมการสอนล่าให้กับนากรุ่นเยาว์ ตัวที่ว่ายนำเป็นนากรุ่นใหญ่ จะว่ายน้ำและจับปลาโชว์ให้กับสมาชิกตัวอื่นๆ ดู 

ครอบครัวนากว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ที่ริมน้ำ ทันใดนั้นก็เกิดเสียงน้ำกระฉอกดังขึ้นที่ครอบครัวนาก เจ้าตัวใหญ่ที่ว่ายน้ำ กระโดดขึ้นมาจากน้ำ ปากคาบปลาตัวอ้วนขึ้นมาด้วย เสียงลั่นชัตเตอร์ดังขึ้นรัวๆ พร้อมกับเสียงหัวใจของพวกเราเช่นกัน เสียงน้ำสาดกระจายมาอีกครั้ง เจ้าตัวเล็กที่อยู่ด้านหลังงับปลาตัวใหญ่ได้แล้ว จึงกัดหัวปลาโชคร้ายตัวนั้นกินอย่างเอร็ดอร่อย จากนั้นเทศกาลล่าอาหารก็ดำเนินต่อไปอีกเกือบชั่วโมง จนในที่สุดครอบครัวนากก็เดินขึ้นจากน้ำด้วยท่าทีที่อุ้ยอ้าย แล้วเดินหายไปในป่าฝั่งตรงข้ามกับพวกเรา

ช่วงบ่ายแดดเริ่มลงจัด เราเปลี่ยนบรรยากาศไปหาที่นั่งพักริมน้ำตกกัน ระหว่างทางที่กำลังขับไปอยู่นั้น อยู่ๆ เต้ยก็จอดรถที่ไหล่ทางซึ่งติดกับริมลำธารแห่งหนึ่ง พร้อมบอกกับพวกเราว่าให้พวกเราลองหาสัตว์ตัวหนึ่งที่อยู่บริเวณนี้ เราลงจากรถยืนมองกิ่งไม้เป็นล้านกิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่มีทางที่เราจะหาเจอแน่ๆ ในขณะที่กำลังจะถอดใจอยู่นั้น เพื่อนคนข้างๆ ก็ตะโกนออกมาว่า “เจอแล้ว” เราหันไปมองเพื่อนด้วยความตกใจ แล้วเพื่อนคนถัดๆ ไปก็ตะโกนบอกว่า “เห็นแล้ว” เช่นกัน

เหลือเพียงเราที่ยังมองไม่เห็นอะไรเลย เสียงแดกดันพร้อมคำพูดแซะแซวอันไร้ซึ่งความเมตตาได้ถูกส่งผ่านออกมาจากทุกคนทันที หลังจากกดดันลูกตาตัวเองจนถึงที่สุด เราก็มองเห็นเจ้ากิ่งก่ายักษ์ชื่อว่า ‘ตะกอง’ นอนพรางตัวพักผ่อนอยู่บนกิ่งไม้ สีตัวของมันกลืนไปกับรอบข้างจนยากจะมองเห็น มีเพียงหางลายทางสีดำที่โดดเด่นออกมา ช่วยให้เรามองเห็นตะกองตัวนี้ง่ายขึ้น ไกด์หนุ่มของเราเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนมีแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งในอดีตมีตะกองอยู่เป็นจำนวนมาก จนกลายมาเป็นที่มาของชื่อแม่น้ำ ‘ลำตะกอง’ แต่เพี้ยนมาจนกลายเป็นชื่อ ‘ลำตะคอง’ ในปัจจุบัน 

เจ้าตะกองผู้น่าสงสารนอนนิ่งอาบแดดอยู่บนกิ่งไม้ แต่ใต้คางเต็มไปด้วยยุงที่ดูดเลือดจนพุงป่องเห็นเป็นสีแดงสด เราค่อยๆ ย่อตัวลงเพื่อถ่ายรูปตะกองในมุมเสย ในขณะที่กำลังมีสมาธิกับการเล็งมุมอยู่นั้น เราก็รู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณข้อมือ อาจจะเป็นมด อาจจะเป็นแมงมุม อาจจะเป็นแมลงอะไรสักอย่าง เราค่อยๆ ดึงแขนเสื้อขึ้น แล้วสิ่งที่เรากลัวที่สุดก็อยู่ตรงนั้น ทากขนาดประมาณ 1.5 ซม. ตัวผอมโซ กำลังโยกตัวไปมาอยู่บนข้อมือของเรา เราอ้าปากค้างด้วยความกลัว แต่ไม่มีเสียงเล็ดรอดออกมา หัวใจเต้นรัว มือเกร็ง ตัวเกร็งไปหมด เราตกใจปล่อยกล้องในมือลง

สายสะพายกล้องที่คล้องคออยู่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ด้วยการปกป้องกล้องไม่ให้ตกไปที่พื้น สมองเราเบลอไปหมด สิ่งเดียวที่คิดในหัวคือ จะทำอย่างไรกับทากที่เกาะอยู่บนข้อมือ เราวิ่งไปหาคนที่ใกล้ที่สุด แล้วพูดออกมาด้วยเสียงแหบพร่าว่า “ช่วยด้วย” พร้อมกับยื่นแขนที่สั่นเทาออกไป โชคดีที่คนที่อยู่ตรงหน้าคือไกด์หนุ่มของพวกเรา เขาค่อยๆ บรรจงหยิบทากออกจากข้อมือเราอย่างแผ่วเบา บริเวณที่ทากเคยเกาะ เหลือเพียงแค่จุดแดงๆ ไม่มีเลือดไหลออกมา 

พวกเราทุกคนจึงพากันสำรวจทั่วตัว พบทากมากมายที่พยายามไต่ขึ้นมาบนตัวพวกเรา จึงได้จัดการดีดทิ้งกันอย่างวุ่นวาย ส่วนไกด์ผู้สวมรองเท้าแตะ ก็ก้มลงไปหยิบทากที่เกาะอยู่เต็มเท้าออกทีละตัวด้วยความนุ่มนวล เต้ยบอกว่าถ้าใส่รองเท้าแตะ เวลาทากเกาะ เราจะเห็นแล้วหยิบออกได้ง่าย สะดวกกว่าการใส่รองเท้าเดินป่าและถุงกันทาก ที่ทำให้ไม่รู้ว่าทากเดินไปตรงไหนของร่างกาย มารู้ตัวอีกทีก็จะโดนทากดูดเลือดที่เอวหรือคอไปแล้ว พวกเราพากันส่ายหน้า ไม่เห็นด้วยกับเต้ยแม้แต่นิดเดียว เพราะไม่ว่าจุดไหน ก็ไม่อยากให้ทากมาดูดเลือดเราทั้งนั้น

จบทริปวันนี้ด้วยการนั่งพักหลบร้อนที่บริเวณน้ำตก เราเปิดรูปในกล้องทบทวนว่าวันนี้ได้เจอสัตว์ป่าอะไรไปบ้าง เราได้เห็นสัตว์คุ้มครองที่ควรจะหาดูได้ยากหลายชนิด แต่กลับไม่ยากเลยเมื่อคุณอยู่ในเขาใหญ่ เมื่อเปิดดูรูปในมือถือที่ต่อจากกล้อง Telescope ของเต้ย ต้องยอมรับว่าภาพถ่ายออกมาได้สวยชัดอลังการกว่าบางรูปในกล้องของเราอีก 

เรายิ้มมุมปาก ยักไหล่ ยอมรับความพ่ายแพ้ เอนหลังพิงก้อนหิน ปล่อยให้เท้าราไปกับน้ำตกที่แสนเย็นสบาย ละอองน้ำกระเซ็นมาโดนแขนเสื้อจนชื้นเบาๆ ความร้อนค่อยๆ คลายไปหมดแล้ว ได้ยินเพียงเสียงน้ำตกที่ดังกึกก้อง กลิ่นกาแฟดริปหอมๆ ที่เต้ยกำลังชงลอยมาตามสายลม หนังตาเริ่มหนักลงเรื่อยๆ แล้วเราก็หลับลงไปท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

สุธีรา โมรา

ชอบพาร่างกายและจิตใจไปทรมาน เพียงเพื่อเฝ้ามองการวิวัฒนาการของตัวเอง เสพย์ติดชา รักการอ่าน Manga และแพ้ทางอาม่าอากง