The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย
ผมทรุดตัวลงนั่งเงียบในขณะที่ครอบครัวนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์ (Sandhill) ค่อยๆ ขยับตัวเดินเข้ามาหาผม ลูกน้อยสีน้ำตาลอ่อนทั้งสองตัวของมันเดินตามอยู่ไม่ห่างพ่อนกกับแม่นก เมื่อมองจากภาพเบื้องหน้าผ่านเลนส์กล้องถ่ายภาพของผม ผมเชื่อว่าทุกคนคงคิดว่าผมบันทึกจากจากในซุ้มบังไพรที่ตั้งอยู่ริมน้ำในเขตพื้นที่อนุรักษ์สักแห่งในทวีปอเมริกาเหนือ และบันทึกภาพด้วยเลนส์บันทึกภาพระยะไกลแล้วครอปภาพเข้ามา
หากในความเป็นจริงแล้ว เบื้องหลังของผมไปไม่กี่เมตร คือ Highway สาย 19 ที่มุ่งหน้าสู่นคร Tampa ในมลรัฐฟลอริดา และทุ่งหญ้าเบื้องหน้าของผมนั้นก็คือที่รกร้างริมทาง เป็นอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น ผมเห็นนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์คู่นี้ในขณะที่ผมกำลังขับรถกลับจาก Crystal River เพื่อกลับไปยังไมแอมี และบังเอิญเห็นนกตัวใหญ่ๆ สองสามตัวเดินอยู่บนที่รกร้างริมทาง
ผมตัดสินใจกลับรถ แล้วย้อนกลับมาจอดรถในบริเวณที่เป็นที่จอดรถของช้อปปิ้งมอลล์เล็กๆ แห่งหนึ่ง หยิบกล้องออกไปบันทึกภาพนกกระเรียนแซนด์ฮิลล์ที่เดินหากินอยู่ในพื้นที่รกร้างอย่างไม่สนใจใครหรือว่ารถราที่วิ่งผ่านไปผ่านมา

เมื่อพูดถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา หลายคนคงจะไม่เชื่อว่าประเทศที่ออกใบอนุญาตให้ล่าสัตว์ได้ในแทบทุกรัฐ ประเทศที่ตกปลาได้ในเขตอุทยานแห่งชาติ และประเทศที่เคยมีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปมากมายจากการล่าหลายชนิดในช่วงต้นศตวรรษที่แล้ว กลับกลายมาเป็นประเทศหนึ่งที่สรรพสัตว์ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี ในพื้นที่อนุรักษ์อันหลากหลายรูปแบบ
เมื่อมองไปบนท้องฟ้า เราจะเห็นฝูงแร้งบนร่อนอยู่เหนือท้องฟ้า นกล่าเหยื่ออย่างนกอินทรีและเหยี่ยวขนาดใหญ่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชายป่า ในสวนหลังบ้านเราอาจจะพบกวางออกมาหากินในช่วงฤดูกาลห้ามล่าสัตว์ป่า โดยที่บางครั้งเราไม่ต้องออกเดินทางไกลไปถึงพื้นที่อนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากในยามค่ำคืนเวลาที่เราขับรถไปนอกเมือง อาจจะต้องระมัดระวังเวลาที่กวางจะข้ามถนนในเวลากลางคืน
สำหรับช่างภาพสัตว์ป่า การบันทึกภาพชีวิตของสัตว์นั้นทำได้ตั้งแต่ในบ้านเลยด้วยซ้ำ Jim Albernethy เพื่อนชาวฟลอริดาของผมคนหนึ่ง บันทึกภาพนกสารพัดชนิดจากห้องนั่งเล่นภายในบ้าน และในสวนสาธารณะรอบๆ บ้านในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร นอกเหนือไปจากพื้นที่อนุรักษ์ระดับโลกที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างบึงเอเวอร์เกลด
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ก็คือธรรมชาติไม่ได้อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ และมนุษย์นั้นก็ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากธรรมชาติเลย
บทเรียนที่สำคัญที่สุดก็คือการรักษาพื้นที่ทางธรรมชาติเอาไว้ให้มีปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม สรรพสัตว์ขยายพันธุ์ขึ้นมาเองได้ โดยที่มนุษย์แทบจะไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย

Crystal River เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือทางฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา ติดกับอ่าวเม็กซิโก ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ฝูง Manatee จากอ่าวเม็กซิโกจะอพยพเข้ามารวมตัวกันบริเวณที่เป็นน้ำพุร้อน ที่อุณหภูมิของน้ำอุ่นกว่าด้านนอก และในช่วงเวลานั้นของปี เราจะพบ Manatee เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ
ในบางครั้ง เมื่อตื่นนอนตอนเช้าและออกมาเดินเล่นหน้าบ้าน เราอาจจะพบ Manatee ว่ายน้ำเข้ามานอนหลับอยู่ในสระว่ายน้ำในบ้านที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบ หรือถ้าเราออกแรงเดินเพียงเล็กน้อยไปจนถึง Three Sister Springs ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ฝูง Manatee นับร้อยมารวมตัวกันอยู่ในช่วงฤดูหนาว เราก็จะเห็นหลังสีดำๆ ตะคุ่มๆ ของ Manatee นับร้อยดำผุดดำโผล่อยู่ในแอ่งน้ำพุร้อน
Fish and Wildlife Conservation Commission เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารและจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์ป่าและการตกปลาในแต่ละรัฐ ซึ่งมีรายได้หลักจากการออกใบอนุญาตตกปลาและล่าสัตว์ เพื่อนำรายได้มาใช้ในการบริหารงานเกี่ยวกับการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม ทั้งการตรวจตราและจับกุมผ่านเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Fish and Wildlife Law Enforcement ผู้ทำหน้าที่เสมือนตำรวจ จับกุมผู้กระทำผิดและส่งฟ้องศาลได้ทันที

รวมไปถึงหน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการให้ความรู้และความเข้าใจกับผู้คน และสนับสนุนให้ผู้คนเข้ามาหาธรรมชาติ ไม่ใช่การกีดกันคนออกจากธรรมชาติ เพื่อที่จะได้จัดการง่ายเหมือนกับบางประเทศ ซึ่งผลสำเร็จของการจัดการที่ดีนั้นก็ส่งผลออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในแทบทุกมลรัฐ
สำหรับที่ Crystal River นั้น การจัดการที่ดีและครบวงจรมีตั้งแต่การจำกัดความเร็วของเรือที่วิ่งในพื้นที่ที่ Manatee อาศัยอยู่ โดยการแสดงป้ายที่เห็นได้อย่างชัดเจน การออกกฎที่ชัดเจนว่านักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทำอะไรได้และห้ามทำอะไรบ้าง การให้ความรู้และความเข้าใจกับผู้คนและเยาวชนที่สนใจเดินทางมาศึกษาเกี่ยวกับ Manatee ผ่านทั้งทางบริษัทที่ทำทัวร์ไปดู Manatee และอาสาสมัครที่คอยดูแลความเรียบร้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ ที่จะพายเรือแคนูออกมาดูความเรียบร้อยและคอยตักเตือนคนที่ละเมิดกฎ รวมไปถึงการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีการกระทำผิด
เมื่อเราเข้าไปจองทัวร์ไปดู Manatee กับโอเปอเรเตอร์หลายเจ้าที่พาเราไปชม Manatee ในช่วงเช้ามืดก่อนที่จะออกเรือ ทุกคนต้องมานั่งชมวิดีโอข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการเฝ้าชม Manatee ที่จัดทำขึ้นโดย Fish and Wildlife Conservation Commission ไกด์ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ออกระเบียบไว้อย่างเคร่งครัด

สิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือห้ามว่ายน้ำไล่ Manatee เด็ดขาด ผู้ประกอบการแทบทุกแห่งจะมีทุ่นลอยให้เกาะและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้ตีนกบ สำหรับคนที่ถือกล้องตัวใหญ่ อาจจะอนุโลมให้ใส่ตีนกบได้ วิธีการเฝ้าชมคือเราต้องลอยตัวเหนือผิวน้ำ แล้วรอให้ Manatee เป็นฝ่ายว่ายเข้ามาหาเราเอง ห้ามสัมผัสตัว Manatee ยกเว้นว่า Manatee จะเข้ามาสัมผัสตัวเรา ห้ามดำน้ำลงไปใต้ผิวน้ำ ห้ามใช้ไฟแฟลชและแสงไฟในการบันทึกภาพ และห้ามว่ายเข้าไปแยกแม่กับลูก Manatee ออกจากกันอย่างเด็ดขาด
ถ้าเป็นช่วงที่ Manatee เข้ามาอยู่ใน Three Sister Spring มากจนล้นออกมา ทาง Fish and Wildlife Conservation Commission จะปิดทางเข้า โดยนำเชือกมากั้นเอาไว้ ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวน Manatee ที่นอนพักอยู่ในเขตเชือกกั้น ซึ่งเราจะสังเกต Manatee ได้จากด้านนอกเท่านั้น

ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งบริเวณ Three Sister Spring คือการห้ามใช้โดรนบันทึกภาพจากมุมสูง ในวิดีโอพรีเซนเทชันของทาง Fish and Wildlife Conservation Commission มีภาพที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎระเบียบว่า การละเมิดกฎเหล่านั้นส่งผลอย่างไรกับ Manatee เช่น การใช้โดรนในการบันทึกภาพ หรือเมื่อมีคนฝ่าฝืนว่ายเข้าไปในเขตที่กั้นไว้เพื่อให้ Manatee ได้พักผ่อน เพียงพริบตาเดียวเท่านั้น ฝูง Manatee ที่กำลังพักผ่อนอยู่อย่างสงบสุขก็แตกตื่นตกใจ ว่ายน้ำกระจายกันออกไปคนละทิศละคนละทาง แน่นอนที่สุดสำหรับคนที่รักและเข้าใจธรรมชาติ ย่อมเข้าใจดีว่าการฝ่าฝืนกฎที่ทาง Fish and Wildlife Conservation Commission ตั้งไว้จะส่งผลเช่นไร
หากเราปฏิบัติตัวถูกต้องตามกฎระเบียบที่วางไว้ เราจะใช้เวลายาวนานสักกี่วันก็ได้ในการบันทึกภาพได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากใครเพื่อเข้าใช้พื้นที่ในการบันทึกภาพ
หลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่าผมใช้เวลากับท้องทะเลและผืนป่าในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าผมไม่รักประเทศไทย หรือว่าหมดความสนใจในสัตว์ป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์ของบ้านเราแล้ว แต่ผมคิดว่าการจัดการเรื่องการอนุรักษ์ในบ้านเรานั้นมุ่งไปผิดทาง แทนที่จะส่งเสริมให้คนรักและเข้าใจธรรมชาติ รวมไปถึงมีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ มากขึ้น กลับใช้วิธีการที่กีดกันคนสนใจและรักธรรมชาติให้ห่างออกธรรมชาติมากขึ้นทุกที

การออกกฎและระเบียบ พร้อมถึงการอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีกฎข้อบังคับที่หยุมหยิมเช่นนั้นขึ้นมา เป็นสิ่งที่เข้าใจได้สำหรับการท่องเที่ยวในธรรมชาติที่เปราะบาง
หากวิธีการที่ดูเหมือนจะง่ายกว่าในการจัดการ คือการออกกฎห้ามไม่ให้คนเข้าไปใช้พื้นที่ทางธรรมชาติที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เสมอๆ
ไม่น่าแปลกใจที่ใช้เวลากว่า 60 ปีในการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมาในบ้านเรา
ดูเหมือนว่าผู้คนกับธรรมชาติดูจะห่างไกลกันมากขึ้นทุกที
