เวลาบ่ายกลางฤดูฝน 

พิทยา ผู้ชายร่างสันทัดเดินขึ้นภูเขา ในภารกิจสำรวจประชากรนกเงือก ซึ่งจะมารวมฝูงเป็นปกติในหุบเขาทุกช่วงเวลานี้ของปี เขาทำงานในป่ามาแล้วร่วม 30 ปี มาที่นี่นับครั้งไม่ถ้วน พิทยาเดินถึงบริเวณพักแรม ปลดเป้ลงจากหลังวางพิงต้นไม้ที่เขาใช้ผูกเปลนอนทุกครั้ง 

เสียงหายใจแรงๆ ของสัตว์ขนาดใหญ่ดังขึ้น พิทยาเงยหน้ามอง ร่างทะมึนของกระทิงอยู่ตรงหน้า ห่างไปไม่ถึง 5 เมตร ตอนเขาเดินเข้ามามันแอบเงียบหลังพุ่มไม้ มันพ่นลมหายใจ ขยับตัว

พิทยาสบตากับมัน โดยประสบการณ์ เขารู้ดีว่าเข้ามาใกล้เกินระยะอนุญาต และกระทิงพร้อมเข้าโจมตี เขาเอื้อมมือจับเถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่ห้อยติดต้นไม้ โหนตัวขึ้นให้ตัวสูงจากพื้น เป็นจังหวะเดียวกับที่กระทิงพุ่งเข้าถึง มันขวิดเต็มแรง แม้จะมีลำต้นไม้บัง แต่มันเลยมาโดนต้นขาซ้ายด้านหลัง ด้วยแรงขวิด มือพิทยาหลุดจากเถาวัลย์ ตัวลอยไปราว 5 เมตรตกลงบนพุ่มไม้ กระทิงตามเข้ามาเพื่อขวิดรับร่างพิทยา ความรกทึบของพุ่มไม้ทำให้มันพลาดการขวิดซ้ำ มันยืนพ่นลมหายใจแรง ดูพิทยาที่นอนกับพื้นในสภาพขาด้านขวางอผิดรูปอยู่ชั่วครู่ ก่อนหันหลังเดินลับไปในดงไม้ทึบ

เพื่อนร่วมทีมพิทยาเข้ามาช่วยเหลือ บาดแผลฉกรรจ์ เลือดไหลนอง พวกเขาประสานกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เฮลิคอปเตอร์บินมารับพิทยาส่งโรงพยาบาล เขาใช้เวลารักษาตัวอยู่นาน กระดูกต้นขาขวาแตกละเอียด

ผ่านไปหนึ่งปี ด้วยสภาพขามีเหล็กดาม เดินกระเผลกนิดๆ พิทยาเดินขึ้นเขา ทำงานของเขาอีกเช่นเดิม

“กระทิงไม่ผิดหรอก มันเครียดเพราะป่วย จากนี้ผมก็แค่ต้องระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น” พิทยาบอกเพื่อน 

บอกด้วยความเชื่อ ซึ่ง ‘รู้จัก’ และเข้าใจกระทิงดี

ถึงวันนี้ พ.ศ. 2564 

เหตุการณ์ ‘ปะทะ’ ระหว่างสัตว์ป่ากับคนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ โลกเดินทางมาถึงวันที่สัตว์ป่าเดินหน้าเข้าตอบโต้ คนอย่างไม่เกรง พระภิกษุมรณภาพเพราะถูกช้างโจมตี เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเสียชีวิตเพราะถูกกระทิงเข้าชาร์จ และเหตุการณ์อื่นๆ อีกมาก

นี่คือเรื่องน่าสลดใจ เพราะไม่เพียงมีชีวิตสูญเสีย คนทำงานเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่าตกอยู่ในสภาวะการงานที่อันตราย ในอีกมุมหนึ่ง มันทำให้ภาพในป่าดูคล้ายจะเต็มไปด้วย ‘สัตว์ร้าย’ 

ชีวิตที่ถูกต้อนจนมุม ความดุร้ายของสัตว์ป่าที่ทำให้ป่าไม้ไทยดูน่ากลัวขึ้น
ชีวิตที่ถูกต้อนจนมุม ความดุร้ายของสัตว์ป่าที่ทำให้ป่าไม้ไทยดูน่ากลัวขึ้น
หมาในเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพ เมื่อได้กลิ่นจะหยุดตรวจสอบให้แน่ใจ

ว่าตามจริง เป็นช่วงเวลาที่นิสัยของสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนไป

“จากเดิมที่พยายามเลี่ยงคน แต่ตอนนี้ถ้าได้ยินเสียงประทัด เสียงปืน หรือแสงจากกองไฟ ช้างจะเดินเข้าหาและทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยเฉพาะบางตัวที่เคยถูกยิงจนพิการ” คนผู้ซึ่งอยู่แถบป่าด้านตะวันออก และเฝ้าดูพฤติกรรมช้างให้ความเห็น

การเอาคืนเมื่อมีโอกาสของช้างเมื่อถูกกระทำ ไม่น่าแปลกใจ แม้ว่าช้างจะมีสมองเล็กมาก หากเทียบกับร่างกายใหญ่โต แต่สมองซึ่งมีรอยหยักเป็นลอนๆ มาก มีส่วนให้พวกมันฉลาด ช่างจำ 

ช้างไม่ลืมหากเคยถูกทำร้าย และตอนเอาคืน พวกมันไม่เลือกว่าเป็นใคร

การกระทบกระทั่งระหว่างช้าง กระทิง กับคน เกิดขึ้นมานานในป่าด้านตะวันออก ป่ากุยบุรี ป่าสลักพระ รวมทั้งสวนผลไม้แถบจังหวัดจันทบุรี ตราด รวมทั้งบริเวณใกล้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คนคุ้นเคยกับช้างและกระทิงที่เข้ามาสร้างความเสียหายถึงในบ้าน 

พื้นที่อาศัยลดลง ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เส้นทางเดินถูกตัดขาด เหล่านี้คือต้นเหตุหลักๆ ของการปะทะ

คนกับสัตว์ป่าไม่ต่างกันนักหรอก ในเรื่องการใช้พื้นที่ ที่ราบเชิงเขามีแหล่งน้ำเป็นที่อันเหมาะสม ดูเหมือนสภาพเช่นนี้เหมาะสมกับการเกษตรเช่นกัน

ป่าถูกเปลี่ยนสภาพที่เหลือเป็นคล้ายเกาะแคบๆ วิถีที่เคยเป็นเปลี่ยนแปลงการเดินทางย้ายถิ่นตามฤดูกาลจบสิ้น สัตว์บางชนิดหมดไป บางชนิดรอเวลา 

สำหรับช้าง มีไม่น้อยยังเดินทางตามปกติ เดินพ้นเขตป่า เข้าพื้นที่ซึ่งกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผล ช้างใช้พืชผลเหล่านั้นเป็นอาหาร 

แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้กับคนผู้ลงทุนลงแรง เป็นความเสียหายเกินไป เกิดการปะทะ มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต เช่นเดียวกับที่มีช้าง มีกระทิงตาย เพราะกระแสไฟ

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า นี่คือจุดเริ่มต้นสงคราม

ในสภาพแหล่งอาศัยเปลี่ยนแปลง ชีวิตดิ้นรน สัตว์หลายชนิดมีมูลค่าสูงเมื่อกลายเป็นซาก

พวกมันถูกไล่ล่า เสียงปืนในป่าไม่เคยเงียบ หลายตัวกลายเป็นซาก มีไม่น้อยบาดเจ็บสาหัส

พวกมันจดจำว่าคนคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง เป็นศัตรูที่พวกมันไม่ยอมแล้ว

คนทำงานในป่า ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานพิทักษ์ป่า นักวิจัย และอื่นๆ ต่างล้วนมีประสบการณ์โดนสัตว์ป่าเอาคืน บางคนเสียชีวิต บางคนบาดเจ็บ หลายคนเปลี่ยนงาน

หากจะพูดว่าสัตว์ซึ่งหงุดหงิด อารมณ์เสีย พร้อมเข้าโจมตี เหล่านี้เป็น ‘สัตว์ป่วย’ คงไม่ผิดนัก

ในความเป็นจริง ยังมีสัตว์ป่าดีๆ อีกมาก พวกที่มีอาการปกติ หลีกหนีทันทีหากได้กลิ่นกายคน

อาการป่วยของสัตว์ป่า เมื่อช้าง กระทิง และนานาสัตว์ป่าถูกรุกรานพื้นที่ จนมองมนุษย์เป็นศัตรูไม่เลือกหน้า
อาการป่วยของสัตว์ป่า เมื่อช้าง กระทิง และนานาสัตว์ป่าถูกรุกรานพื้นที่ จนมองมนุษย์เป็นศัตรูไม่เลือกหน้า
อาการป่วยของสัตว์ป่า เมื่อช้าง กระทิง และนานาสัตว์ป่าถูกรุกรานพื้นที่ จนมองมนุษย์เป็นศัตรูไม่เลือกหน้า
อาการป่วยของสัตว์ป่า เมื่อช้าง กระทิง และนานาสัตว์ป่าถูกรุกรานพื้นที่ จนมองมนุษย์เป็นศัตรูไม่เลือกหน้า
สัตว์ป่าได้รับการออกแบบร่างกายให้มีประสาทสัมผัสในการระวังภัยดี โดยเฉพาะการได้กลิ่น พวกมันส่วนใหญ่เชื่อจมูกมากกว่าสายตา อีกทั้งสัตว์ที่ ‘ปกติ’ เมื่อได้กลิ่นคน พวกมันเลือกที่จะหนีทันที

มีคนศึกษามีข้อมูลมากมาย คนจำนวนมากพยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ

เราพูดกันบ่อยๆ ว่า ‘สงคราม’ ระหว่างคนกับสัตว์ป่านั้น เลยเวลาที่จะกล่าวโทษว่าใครบุกรุกใครหรือใครผิด

การหาหนทางอยู่ร่วมกันให้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เชื่อมต่อผืนป่าที่ถูกตัดขาด ฟื้นฟูประชากรสัตว์ที่ติดเกาะ เพื่อหลีกเลี่ยงผสมแบบเลือดชิด หนทางแก้ไขคงต้องใช้เวลา ความร่วมมือรวมทั้งความจริงใจอีกมาก ผู้เสียผลประโยชน์ได้รับการตอบแทนที่เหมาะสม อาจเป็นหนทางเบื้องต้นหนทางหนึ่ง

หากอยู่ในสถานการณ์หรือสมองอันปกติ ย่อมไม่มีชีวิตใดๆ อยากก่อสงคราม

ความจริงทุกชีวิตรู้ดีว่าผลของมัน มีเพียงเลือดและน้ำตา และไม่มีผู้ชนะ

ในกรณีสงครามระหว่างสัตว์ป่ากับคน ในช่วงเวลาซึ่งในป่าคล้ายเป็นที่อันตราย

ภายหลังการปะทะ หลายคนกลับเข้าป่า แผลเป็นบนร่างกายย้ำเตือนให้รู้เสมอว่าในป่ามีสัตว์ป่วย เพราะถูกต้อนกระทั่งจนมุม

และดูเหมือนบนดาวซึ่งหมุนไปอย่างรวดเร็วดวงนี้ การที่ทั้งสัตว์ป่าและคนถูกต้อนกระทั่ง ‘จนมุม’ จะเป็นเรื่องที่หลบเลี่ยงไม่พ้น

สารคดีสัญชาติไทย

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน