Wild Chronicle – เชษฐา คือเพจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ ความขัดแย้ง และสงครามที่เกิดขึ้นในโลก 

ส่วน ปั๊บ-พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ คือนักธุรกิจเต็มเวลาที่มีงานอดิเรกเป็นการทำเพจนี้ จะบอกว่าเป็นงานอดิเรกเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะเขาทุ่มเททั้งใจและเวลาให้กับมัน จนเนื้อหาในเพจได้รวมเล่มเป็นหนังสือ ได้แก่ พยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ โลหิตอิสราเอล เชือดเช็ด เชเชน อสุราอาหม และ ประวัติย่อก่อการร้าย

จุดเด่นของเพจนี้ คือการอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย เขาเล่าเรื่องความขัดแย้งจากมุมมองของทั้งสองฝ่าย เพื่อพยายามบอกว่า ไม่มีใครเลวหรือดีไปกว่าใคร ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ มีความทะเยอทะยาน มีอุดมการณ์ที่ยึดถือ มีพื้นเพ มีเงื่อนไขและปมชีวิตที่แตกต่างกันออกไป

เขาหวังว่าความขัดแย้งที่เขาบอกเล่าจะสะกิดใจคนอ่านให้เห็นใจ เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และสุดท้ายจะสามารถมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ทำให้รู้จักตัวเองในที่สุด

จากกระทู้บน Pantip.com กลายเป็นเพจที่มีผู้ติดตามมากกว่า 230,000 คน นี่ยังไม่รวมกลุ่มบนเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกอีกกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่น มีคนโพสต์แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สงคราม และเรื่องต่างประเทศ อยู่ทุกวัน

จากการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร มาเป็นทริปท่องเที่ยวพื้นที่สงครามที่ชวนลูกเพจไปเห็นพื้นที่จริง ได้คุยกับคนที่ผ่านเหตุการณ์จริง 

และนี่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของความฝันและความหวังของเจ้าของเพจ Wild Chronicle – เชษฐา

“ผมชอบอ่านเรื่องสงครามอยู่แล้ว”

ปั๊บชอบประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวมาตั้งแต่เด็กๆ เขาเรียนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ แม้จะไม่ได้ทำงานตรงสายหลังจากนั้น ก็ตามค้นคว้าศึกษาเรื่องในอดีต สงคราม และการเมืองรอบตัวอยู่ตลอด จนกระทั่งเมื่อ 7 ปีก่อน เขาตัดสินใจเขียนความรู้ที่สะสมมาลงเว็บไซต์ Pantip.com ในนาม ‘เชษฐา’

“ตอนนั้นผมอ่านเรื่องเกี่ยวกับกบฏพยัคฆ์ทมิฬในศรีลังกา อ่านมากๆ ก็อิน มันเป็นเรื่องของชาติที่สิ้นไปต่อหน้าต่อตาเลย ตอนนั้นไม่ได้อ่านหนังสือ แต่อ่านเว็บบอร์ดของฝั่งกบฏและเว็บบอร์ดฝั่งรัฐบาล ได้เห็นว่ารัฐบาลคิดยังไง กบฏคิดยังไง ประกอบกับการดูข่าวไปด้วย เราอยากเข้าใจว่าคนในชาติจะรู้สึกยังไง ก็เลยเอามาเขียนลงเว็บบอร์ดพันทิป

“ผมเป็นคนชอบอ่าน ชอบตามเรื่องสงครามอยู่แล้ว โดยตามจากข้อมูลทั้งสองฝั่ง พอตั้งกระทู้ก็อยากให้เป็นกระทู้ที่อ่านง่ายๆ อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนพฤติกรรมคนหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือนิสัยการอ่าน ผมคาดเดาว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือบนอินเทอร์เน็ตไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เลยลงรูปเยอะๆ ตัวอักษรน้อยๆ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ให้คนสนุกตั้งแต่แรก แล้วค่อยๆ ใส่เนื้อหาที่ซับซ้อนหรือยากขึ้นมาหน่อยตามไป พอทำแล้วมีคนชอบเยอะ รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีคุณค่า”

“นี่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของความฝันและความหวังของคนเกือบสามล้านคนที่ได้ลุกโชนขึ้นมาเหมือนกองไฟอันแรงกล้า และเผาผลาญลุกลาม ไหม้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ…”

ประโยคข้างต้นคือบทเกริ่นนำของกระทู้แรกของเขา ที่ตามมาด้วยภาพสลับตัวอักษร เขาออกแบบกระทู้เสมือนว่าเป็นเลย์เอาต์หน้าหนังสือหรือนิตยสาร อ่านง่ายและน่าติดตาม จนทำให้มีแฟนๆ รอตามอ่านเรื่องต่อไปมากมาย

“ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนนิยายตอนอายุสิบแปด ชื่อ ลำนำหกพิภพ ได้รางวัล Young Thai Artist Award หลังจากเล่มนั้นก็ไม่ได้เขียนอีกจนคิดว่าคงไม่ได้เป็นนักเขียนแล้ว แต่พอได้เขียนพันทิปแล้วดัง สนุก ก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ 

“พอมีคนอ่านเยอะก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย เราก็มีแฟนนี่หว่า’ เพราะสมัยที่ออกหนังสือมีคนตามน้อยมาก (หัวเราะ) แล้วเราได้ทำประโยชน์บนอุดมการณ์ที่เรามีอยู่ ก็เลยกลายเป็นซีรีส์งานเขียนของตัวเอง ผมเริ่มจากเรื่อง พยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ เชือดเช็ด เชเชน สงครามในรัสเซียใต้ อสุราอาหม ประวัติศาสตร์คนไทยที่อยู่ในอินเดียเหนือ ตอนแรกลงไปสามเรื่องบนพันทิปก่อน พอมันป๊อปปูลาร์มากๆ ก็เลยเอาไปลงเฟซบุ๊ก เพราะเฟซบุ๊กเข้ามา เราก็ปรับการเขียนบางอย่างให้เหมาะกับแพลตฟอร์ม ใช้ภาพเยอะเข้าไปอีก” (หัวเราะ)

“ผมอยากเข้าใจมนุษย์มากขึ้น”

ปั๊บก็เหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องการรบ การต่อสู้ และสงคราม แต่สิ่งที่เขาสนใจไปมากกว่านั้นคือเรื่องของมนุษย์ เนื้อหาหลักของเพจจึงเป็นเรื่องความขัดแย้งผ่านมุมมองคนทั้งสองฝ่ายแบบไม่เข้าข้างใครเป็นพิเศษ

“ผมอยากเข้าใจมนุษย์มากขึ้น อยากรู้ว่าแต่ละคนคิดยังไง ซึ่งสงครามมันเป็นภาวะ Extreme เป็นภาวะที่คนจะแสดงธาตุแท้ เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอะไรประหลาดๆ ขึ้นมาหลายอย่าง เช่น เกิดประเทศที่ไม่มีอยู่จริง เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ เลยต้องต่อสู้เพื่อสร้างประเทศใหม่ของตัวเองขึ้นมา ในประเทศเขามีการบริหารของตัวเอง เขาใช้ทหารเด็ก มีองค์กร มีการจัดการ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้นในทางหนึ่ง 

“หรืออีกเคสก็น่าสนใจมาก ถ้าพูดเรื่องคุณค่าของชาติ ชาติไทยมั่นคงแล้ว เราหลายๆ คนก็อาจจะไม่ได้แคร์ชาติมาก ขี้เกียจเคารพธงชาติหรืออะไรแบบนั้น แต่ถ้ามองกลับมาที่มุมของชนกลุ่มน้อย เขาจะรู้สึกว่าชาติเป็นของมีน้อย ชาติเป็นของที่ถูกทำลายได้ตลอดเวลา เขาจะรักมาก จะพยายามทุกอย่างเพื่อรักษาชาติไว้ จะมีความเห็นที่แตกต่างกับเรา ซึ่งเรื่องพวกนี้มันน่าสนใจ มันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าคนเราถูกกดดันไปถึงจุดหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น

“อย่างประเทศไทยเมื่อก่อนก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ อย่างนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยาแตก เมืองไทยแตกออกเป็นห้ากลุ่ม พระเจ้าตากสินเลยต้องออกมากอบกู้ชาติ มนุษย์เราจะคล้ายๆ กัน ซึ่งการที่เราไปศึกษาคนอื่นมันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย”

คุณค่าของ Wild Chronicle – เชษฐา คือการอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ในขณะเดียวกัน เขาหวังว่าเรื่องราวบนเพจจะช่วยเปิดใจให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

“ปัญหาใหญ่ของโลกนี้ คือคนเรามีอีโก้สูงจนไม่พยายามเข้าใจคนที่แตกต่างกับตัวเอง ยิ่งพอไม่รู้จักคนอื่นเลย ก็ง่ายมากที่จะเชื่อว่าตัวเองดีกว่าใครๆ อย่างเรื่องพยัคฆ์ทมิฬ บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือถ้าพอได้ยินมาบ้างก็คิดว่าเป็นพวกก่อการร้าย แต่พออ่านเรื่องราวจริงๆ เขาจะไม่เห็นคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคนดีหรือคนเลว จะเห็นว่าเขาก็เป็นแค่คนเหมือนกับเรานี่แหละ เป็นคนที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีการดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง”

“การอ่านกับไปจริงมันคนละเรื่องกันเลย”

จากการศึกษาผ่านตัวอักษร พัฒนาเป็นการเดินทางไปดูพื้นที่จริง ไปคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจริง Wild Chronicle – เชษฐา จึงเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องผ่านข้อมูลที่เก็บสะสมมา เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ไปท่องเที่ยวพื้นที่ความขัดแย้งจริงๆ

“จุดเปลี่ยนคือทริปเคอร์ดิสถาน ผมได้คุยกับคนอัสซีเรีย สตอรี่ของเขาคือชาวเคิร์ดปกป้องและดีกับเขามาก แต่พอถามคนอัสซีเรียว่าชอบคนเคิร์ดไหม เขาบอกว่า ตอบไม่ได้ การได้คุยกับคนที่ถูกระเบิดแก๊สพิษแล้วไม่ตาย เลยต้องเห็นคนตายต่อหน้าทีละคนๆ ได้เข้าค่ายผู้ลี้ภัยเจอผู้หญิงที่ถูกไอซิสข่มขืน หรือคุยกับอาจารย์ชาวเคิร์ดที่บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมาจากการที่คนไม่เข้าใจกัน เกิดจาก Culture of Hate ที่แต่ละกลุ่มสอนให้เกลียดกันเองทั้งที่วัฒนธรรมใกล้กันมาก อาหรับต้องเกลียดยิว ยิวต้องเกลียดเคิร์ด เคิร์ดต้องเกลียดเปอร์เซีย

“เขาบอกว่า วิธีการแก้คือต้องพยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ดี มันได้เห็นว่าคนที่ผ่านสงครามมาเขาเป็นแบบนี้นะ การอ่านกับไปจริงมันคนละเรื่องกันเลย ตอนนี้ก็เลยคิดจะจัดทริปพาลูกเพจไปเที่ยวจริงจังสักที”

“ทุกอย่างมันมีเหตุผลของมันอยู่แล้ว”

หลังจากนี้ ปั๊บตั้งใจจะทำธุรกิจของตัวเองน้อยลง และทุ่มเทให้กับ Wild Chronicle – เชษฐา เขาบอกว่าชีวิตมาถึงจุดที่มีความต้องการข้อสูงสุดของทฤษฎีมาสโลว์ คือ Self-actualization หรือการได้บรรลุสิ่งที่ตัวเองเป็น

“ผมเริ่มให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ เริ่มมีคำถามว่าถ้าเราตายไปแล้วโลกจะจำเรายังไง ความดีของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ความดีของผมคือสิ่งนี้ ผมสามารถทำสิ่งนี้ และเชื่อว่ามันเป็นสิ่งดี

“ผมอยากทำสื่อที่ทำให้คนเข้าใจคนอื่นและเข้าใจตัวเองได้ง่ายๆ สื่อตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นหนังสือ ตอนนี้เป็นทั้งหนังสือ โพสต์เฟซบุ๊ก ทริป สัมมนา หรือแม้กระทั่งบอร์ดเกมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่อยากทำ แต่ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน มันจะกลับไปตอบโจทย์ Vision หลักของเรา

“ต่อไปในอนาคตก็คงจะใหญ่และดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าถามผม จริงๆ การที่ได้ทำสิ่งนี้มันเติมเต็มผมอยู่แล้ว เป้าหมายมันบรรลุตั้งแต่เริ่มทำแล้ว”

“เราจำเป็นต้องรู้เรื่องสงครามใช่ไหม” เราถามทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนาในวันนั้น

“จำเป็นครับ ประเทศที่เจริญแล้วเขาจะไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์เหมือนที่เราเรียน เขาจะแฟร์ ไม่ได้บอกว่าเขาดีหรือเลว แต่บอกว่าจริงๆ มันก็เป็นแบบนี้แหละ อย่างที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม เขาก็ไม่ได้ดี ไม่ได้เลว แต่มันเป็นไปแบบนั้น

“พอประวัติศาตร์เวอร์ชันที่เป็นกลางออกไป คนที่เป็นกระแสหลักกับคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยจะอยู่ด้วยกันได้ เพราะจะแยกประวัติศาสตร์ออกจากอีโก้ของตัวเอง ช่วยลดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ประเทศที่เพิ่งสร้างชาติขึ้นมา เขาต้องการชาตินิยมให้เข้มแข็ง มั่นคง อย่างจีนเป็นชาตินิยม สอนหนังสือก็ชาตินิยม แง่ดีคนก็ทำเพื่อชาติ ในที่สุดชาติจะเจริญขึ้น หลังจากนั้นก็อาจจะมีข้อเสียมาบ้าง สุดท้ายก็แล้วแต่แนวทางของแต่ละประเทศๆ ไป แต่ทุกอย่างมันมีเหตุผลของมันอยู่แล้ว”

ในสถานการณ์บ้านเมืองไปจนถึงวิกฤตโรคระบาดในตอนนี้ ปั๊บเข้าใจดีจากประสบการณ์ที่ศึกษาเรื่องคนอื่นมามาก เขาเชื่อว่าการสื่อสารกับคน ถ้าใช้สิ่งที่ใกล้ตัวมากๆ จะเกิดอคติ อีโก้ แต่ถ้าเล่าเรื่องคนอื่น วันหนึ่งเราจะเริ่มเข้าใจเองได้ว่า ‘สิ่งที่เราเป็นอยู่ก็ไม่ต่างกันเลยนี่นา’

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan