เป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกฤดูร้อน หรือ Tokyo 2020 Olympics บรรจุกีฬาสเก็ตบอร์ดไว้ในการแข่งขัน พร้อมกับอีก 4 ชนิดกีฬาใหม่ เบสบอล-ซอฟต์บอล เซิร์ฟ คาราเต้ และปีนหน้าผา
แม้สเก็ตบอร์ดไม่ใช่กีฬาต่อสู้โดยตรง แต่ก็ผ่านการฝ่าฟันจากกีฬาใต้ดินตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ดัดแปลงจากเซิร์ฟโต้คลื่นมาไถบนถนน เริ่มฮอตฮิตจากเหล่าวัยรุ่นอเมริกัน แล้วก็ลื่นไหลต่อไปยังทั่วโลก ต่อมากลับถูกแบนเพราะมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการเล่นจำนวนมาก กว่าจะเป็นที่ยอมรับในฐานะกีฬาสากลอย่างเป็นทางการ มีการจัดให้แข่งขันอย่างปลอดภัย ก้าวสู่ ‘เอ็กซ์ตรีมเกมส์’ (X Games) เต็มตัว ก็เมื่อ ค.ศ. 1995 เข้าไปแล้ว ซึ่งนั่นผลักดันและสนับสนุนโดย ESPN สื่อกีฬาเจ้าใหญ่ในอเมริกา ทีนี้สเก็ตบอร์ดเลยได้รับนิยมเพิ่มขึ้นอย่างสุดขีด กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ส่งอิทธิพลต่อแฟชั่น หนัง เพลง ตามมา
ในบ้านเรา กลุ่มคนรักการไถแผ่นติดล้อนี้มีมานานมาก สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย (Thailand Extreme Sports Association หรือ TESA) ก็บรรจุกีฬาชนิดนี้ไว้ในประเภทกีฬาเอ็กซ์ตรีมตั้งแต่ พ.ศ. 2546
จากกีฬาเฉพาะกลุ่ม ทุกวันนี้ หันไปซ้ายไปขวา จะเห็นคนทุกเพศทุกวัยหยิบสเก็ตบอร์ด เซิร์ฟสเก็ต ลองบอร์ด เพนนีบอร์ด ฯลฯ ออกมาเล่นทั่วบ้านทั้งเมือง เกิดสนามเล่นสำหรับสเก็ตเตอร์ขึ้นหลายที่ ทั้งบนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ แต่ที่คอลัมน์ Re-Place สนใจ คือ ‘Wiggle Wave’ สนามในร่มแห่งแรกๆ ในไทย ซึ่งเปลี่ยนอาคารโรงภาพยนตร์อายุ 42 ปี ให้เป็นสนามเชิร์ฟสเก็ตระดับมาตรฐานที่ใช้จัดการแข่งขันได้
มากไปกว่านั้น การรีโนเวตตึกเก่าเป็นสถานที่ที่รับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ยังถือเป็นเคสตัวอย่างที่ทำให้เห็นไอเดียการนำอาคารเก่ามาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ใช้สอยใหม่ๆ อย่างชาญฉลาด โดยการรักษาไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว มันเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามการหมุนเปลี่ยนของโลกได้
คว้าบอร์ดคู่ใจ แล้วเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงคราม ฟัง ปอ-ณัฐชนน เจริญพานิช และ โจ-พัชรชวิญช์ พุฒิศวรรย์ สองเจ้าของ Wiggle Wave เล่าถึงเบื้องหลังการปัดฝุ่น ‘ไอยรารามา’ โรงหนังสแตนด์อโลน สู่ลานสเก็ตแสนจ๊าบแห่งนี้ด้วยกัน
เก่าไปใหม่มา
หนึ่งในหุ้นส่วนของ Wiggle Wave เป็นเจ้าของตึกโรงภาพยนตร์ไอยรารามา เห็นชั้น 2 และ 3 ของตึกถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานอื่นใดนอกจากเก็บของนานนับสิบปี มีเพียงชั้นล่างที่ให้กิจการ ‘คุ้มซุปเปอร์สโตร์’ ร้านขายของทุกอย่าง 20 บาทเช่า กอปรกับทั้งคู่กระโจนเข้าสู่โลกของการเล่นเซิร์ฟสเก็ต จึงอยากมีสนามดีๆ ไว้เล่นเอง และมองเห็นโอกาสเปลี่ยนความชอบเป็นธุรกิจ จึงคิดปัดฝุ่นบริเวณชั้น 2 ของอาคารเป็นสนามเซิร์ฟสเก็ตครบวงจร
40 ปีก่อน วิกไอยราในความทรงจำของชาวแม่กลองคลาคล่ำไปด้วยครอบครัวลูกเล็ก หนุ่มสาวควงคู่ไปดูหนังเป็นเช่นไร ภาพในวันนี้แทบไม่ต่าง มีก็แต่เพียงมืออีกข้างที่หอบหิ้วบอร์ดมาด้วยก็เท่านั้น
ทั้งคู่พาความต้องการไปปรึกษา ว่าที่ร้อยตรี กรณ์ สังฆบุญ หรือ บอย-กรณ์ สังฆบุญ นักกีฬาจักรยานผาดโผน Trial Bike มือ 1 ทีมชาติไทย ผู้ออกแบบสนามและควบคุมการสร้างภายใน Wooden Ramp แห่งนี้
ตัวสนามแบ่งพื้นที่เป็น 4 รูปแบบ ลานใช้ฝึกซ้อม เป็นลานเรียบๆ สำหรับบีกินเนอร์ใช้ฝึกไถ หรือมือโปรจะใช้ซ้อมก็ได้ ส่วน Wave Ramp มีจุดเด่นเป็นแนวคลื่นสูง ยาว 16 เมตร กว้างถึง 9 เมตร ให้สนุกกับการเล่นมากขึ้น และมีโซน Bowl and Pump Track และ Mini Pump Track เป็นลานสำหรับท่าโลดโผน
ถัดจากสนามขึ้นไปฝั่งห้องฉายหนัง มีโซนร้านขายและให้เช่าอุปกรณ์ ด้านล่างมุมข้างจอมีคาเฟ่เสิร์ฟขนม กาแฟ และเมนูเครื่องดื่มหลากหลาย โดยเก็บกลิ่นอายความทรงจำของโรงหนังผ่านลิฟต์ตัวเก่า และเก้าอี้เดิม ซึ่งถอดมาประดับไว้ให้คิดถึง
In Wood We Trust
ไอรยารามา สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2512 อาคารไม่เก่าไม่ใหม่นี้เป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่ยังมีความแข็งแรงอยู่มาก และเรื่องความปลอดภัย เป็นข้อสำคัญในการปรับปรุงรวมถึงสร้างสนามเซิร์ฟสเก็ต ก่อนลงมือรีโนเวต จึงมีการปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง คำนวณการรับน้ำหนัก จากเดิมที่เคยรับได้ 70 – 80 คน หากใช้เล่นกีฬาผาดโผน จะจำกัดรอบละ 20 คนเท่านั้น
ตัวโครงสร้างเดิมไม่ได้มีการรื้อถอนหรือต่อเติมใดๆ เข้าไป และยังเก็บบันได-ทางเดินชั้นสอง ซึ่งไร้รอยแตกแยกทั้งฝั่งไว้ ด้วยความเป็นโรงฉายภาพยนตร์ ตัวอาคารจึงทึบตัน เขาแก้ปัญหานี้ด้วยการเจาะช่องแสงและเจาะช่องสำหรับติดพัดลมระบายอากาศเพิ่ม
ตัวเพดาน ด้วยข้อดีที่เป็นตัวดูดซับเสียง เพื่อไม่ให้ดังรบกวนโรงแรมที่อยู่ขนาบข้าง และตรวจสอบแล้วว่ายังใช้การได้ จึงเก็บไว้เช่นเดิม แต่รื้อฝ้าเพียงบางส่วนออก เผยให้เห็นโครง Truss ไม้ที่ถักทออย่างเป็นระเบียบ และตั้งใจเปิดไว้อย่างนั้นเพื่อโชว์ฝีมือช่างไม้โบราณ ล้อไปกับตัวสนามที่เป็นไม้ทั้งหมด
ไม้ที่ใช้ทำสนามเป็นไม้อัดที่แข็งแรงทนทาน ทนต่อความชื้นสูง ได้รับมาตรฐาน มอก. และปอย้ำว่าต้องใส่ใจต่อความเรียบเป็นพิเศษ หากมีรอยต่อเพียงนิดเดียว ก็เกิดอุบัติเหตุกับผู้เล่นได้อย่างคาดไม่ถึง
“การวางไม้ ตอนแรกเราคิดว่าไม่ต้องดัดหรือองศามันไม่ต้องเป๊ะขนาดนั้น พอได้ทำจริงๆ ถึงได้เรียนรู้ว่าไม่ได้เลย บางทีเราไปเล่นที่อื่น อาจมีสะดุดนิดหนึ่ง เราก็คิดว่ามันเป็นปกติ เพราะจะทำให้มันโค้งกลมและเรียบขนาดนั้นได้หรอ ด้วยกีฬาเพิ่งมาใหม่ หลายคนเลยไม่ได้มีความชำนาญในการทำมาตั้งแต่แรก โชคดีที่เราได้ผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบให้ เขาทำเกี่ยวกับปั๊มแทร็กอยู่แล้วด้วย เลยได้งานที่ละเอียดและปลอดภัยมาก”
ระหว่างทางที่ทำ ได้มีการทดสอบการเล่นจริงและเผื่อการเล่น ทั้งสำหรับบีกินเนอร์และมือโปร
“ปรับเปลี่ยนตลอดเหมือนกัน เพราะบางทีองศามันไม่ได้ ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว เราต้องให้มันเพอร์เฟกต์ คำนึงถึงวิธีการเล่นด้วย อย่างสนามที่ต้องทำเป็นสโลป เพราะเผื่อบีกินเนอร์ไม่มีแรงส่ง มันจะง่ายสำหรับเขา สำหรับคนที่เก่งแล้ว เขาก็จะไถขึ้นที่สูงได้ มีแรงส่งมากกว่าเดิม คือเราคิดทุกอย่างเผื่อไว้ก่อน ซึ่งถ้าเป็นสนามปกติจะเป็นพื้นเรียบแล้วค่อยขึ้นเวฟแรมป์ อันนี้เราลองเปลี่ยน ลองดัดแปลงดู”
“ส่วนเวฟแรมป์ มีช่วง Drop สามสเต็ป คือมีสูงแล้วก็เตี้ยไล่ลงมาตามระดับ ถ้าบีกินเนอร์เล่นตรงระดับล่าง จะมีแรงส่งขึ้นเวฟแรมป์ได้ แบบไม่ต้องไถไปก่อน” ปอขยายความสิ่งที่เขาร่วมออกแบบกับบอย โดยตั้งใจทำให้เรียบที่สุด และทำองศาให้ท้าทายมากกว่าสนาม เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสนามแห่งนี้
สำหรับผนังโดยรอบ เมื่อรื้อตัวบุซับเสียง กะเทาะผนังออก เผยให้เห็นอิฐมอญแดงเปลือยเปล่า เข้ากันกับงานไม้ ให้อารมณ์สนามแบบ Old School แจ่มชัด ปอเล่าว่าตอนแรกที่เคาะปูนออกเพื่อทำใหม่ ตั้งใจจะพ่นลายกราฟฟิตี้ลงไป แต่พอได้เห็นสัจจะของวัสดุเดิม ก็เปลี่ยนใจเก็บไว้อย่างนั้น เพราะสวยมีเสน่ห์ไม่แพ้กัน
Wiggle Boy, Wiggle Wave
ด้วยการออกแบบที่ว่ามาทั้งหมดจากผู้เชี่ยวชาญ และความตั้งใจของสองหุ้นส่วนให้ที่นี่ได้มาตรฐานระดับใช้จัดการแข่งขัน ภายใต้พื้นที่ 900 ตารางเมตร (เฉพาะตัวสนาม 600 ตารางเมตร) จึงใช้วัสดุคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด ทดสอบความแข็งแรง และคิดเผื่อการเล่นท่วงท่าที่ท้าทายขึ้น
“เราไม่ได้อยากให้มันเป็นแค่กีฬาในกระแส เราคิดถึงในอนาคตที่อยากทำให้สนามนี้รองรับการแข่งขันได้เลย เราอยากส่งเสริมกีฬานี้ให้ไปต่อได้ ถ้ามันเป็นไปได้นะ อย่างตัว Pump Track ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเป็นทรงที่ต้องวิ่งกันสองร้อยถึงสามร้อยเมตร เราก็ทำอีกแบบหนึ่งให้เป็นทรงวงรี”
และสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดในสนามคืออุบัติเหตุ นอกจากการออกแบบเพื่อป้องกันแล้ว จึงมีอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัย มาช่วยดูแลความปลอดภัยในสนาม และหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้
“เรามีกฎว่าทุกคนต้องใส่อุปกรณ์เซฟตี้เป็นหมวกหรือสนับ ถ้าบางทีมีลูกค้ามาเล่นอะไรแปลกๆ พิเรนทร์ๆ เราก็จะการเตือนทันที ตอนนี้เรามีคนดูแลหนึ่งคนต่อหนึ่งสนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบแนะนำไว้”
เสียงบอร์ดกระทบไม้ กับท่วงท่าโจนทะยานท้าแรงโน้มถ่วงของเหล่านักเซิร์ฟสเก็ต ชวนให้ละสายตาแทบไม่ได้
คุยกันมาตั้งนาน เลยเกือบลืมถามถึงที่มาที่ไปของชื่อ Wiggle Wave เสียได้
มาจากวิกไอรยา หรือชวนให้นึกถึงหรือเปล่าคะ-เราชวนคุยขำๆ ก่อนจบบทสนทนาในวันนั้น
“ตอนแรกเดิมทีตั้งว่า Wiggle Boy เพราะแต่ละคนตอนเล่นแล้วมันส่ายดุ๊กดิ๊ก เราก็แบบ Wiggle ว่ะ แล้วมันเกี่ยวกับท่า Wave Ramp ที่เป็นแบบคลื่น พอไปเล่น Ramp ก็ยังดุ๊กดิ๊กอยู่ดี ล้มบ้างด้วยความไม่ได้เก่งนั่นแหละ ก็เลยกลายมาเป็น Wiggle Wave” ปอเล่าพร้อมรอยยิ้มกว้าง เมื่อได้ย้อนคิดถึงการตั้งชื่อธุรกิจของเขา
“เราอยากให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์กของวัยรุ่น ให้มารวมตัวกันในจุดเดิมเหมือนตอนนู้น ถึงของเก่าๆ พวกม่าน เก้าอี้ จะใช้การไม่ได้ บางส่วนทิ้ง บางอย่างยังเก็บเอาไว้ ป้ายไอยราก็ยังเก็บอยู่ อะไรที่ใช้ได้ เราก็พยายามเอากลับมาเหมือนกัน”
หนุ่มหุ้นส่วนทิ้งท้าย
Wiggle Wave
วันเปิดบริการ : จันทร์-อาทิตย์ (แผนที่)
เวลา : 10.00 – 20.00 น.*ช่วงสถานการณ์โควิด-19 จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้และเปิดให้จองเป็นรอบๆ ส่วนรอบ Public ดูรายละเอียดหรือติดต่อทาง Facebook : Wiggle Wave