รอยต่อของปีมักเป็นเวลาที่เราย้อนนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา พอมานั่งคิดดูแล้ว อย่างน้อย 1 ใน 4 ของเวลาในชีวิตเราผ่านไปในทะเล บางครั้งเป็นการนั่งบนเรือนิ่ง ๆ มองออกไปในทะเลเรียบด้านนอก หวังว่าจะมีอะไรสักอย่างแหวกความเรียบของผิวน้ำขึ้นมา บางครั้งก็เป็นการนั่งคุยเล่นฆ่าเวลารอลงดำน้ำไดฟ์ถัดไป บางครั้งก็เป็นการเดินทางข้ามจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะห่างไกล
จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตกลางทะเลทั้งหมดมาจากการดำน้ำ
สมัยที่เริ่มต้นดำน้ำใหม่ ๆ มีเพื่อนคนหนึ่งท้วงถามว่า คนเราจะดำน้ำไปทำไมกัน โลกใต้น้ำไม่ใช่ที่ของมนุษย์ ไม่ใช่โลกที่คนหายใจได้ ไม่ใช่พื้นที่ที่เราควรลงไปรบกวนวุ่นวาย คำถามของเพื่อนคนนี้ติดอยู่ในใจเรามาหลายปี ในระหว่างที่พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องดำน้ำก็หลงรักกิจกรรมนี้ไปแล้วอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
อาจจะเรียกว่าเป็นการอ้างเพื่อหาความชอบธรรมในกิจกรรมดำน้ำก็ว่าได้ แต่เราคิดว่าการลงน้ำไปรบกวนโลกที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เราอยู่เป็นเรื่องจำเป็น
โลกประกอบด้วยพื้นที่น้ำถึง 2 ใน 3 ส่วน ประโยคหลักที่สารคดีใต้ทะเลเกือบทุกเรื่องต้องนำมาพูดถึง การที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ก็ควรจะทำความรู้จักพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกไว้บ้าง การเรียนรู้พื้นที่ได้ดีที่สุด คือนำตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ
อยากรู้จักป่าก็ต้องเดินเข้าป่า อยากรู้จักทะเลก็ต้องลงดำน้ำ
เวลาที่เข้าป่าเพราะอยากไปดูสัตว์ป่าแบบในสารคดี สิ่งที่เราพบมักไม่เหมือนกับที่คิดไว้ ถ้าไม่ได้มีกล้องส่องทางไกลหรือเลนส์เทเลติดกล้อง สัตว์ป่าทั้งหลายช่างดูห่างไกล เห็นเป็นจุดเล็ก ๆ ในพื้นที่กว้าง แต่สำหรับโลกใต้น้ำไม่ได้เป็นแบบนั้น ระยะห่างระหว่างสัตว์ป่าที่อยู่ใต้น้ำนั้นใกล้ในระยะจ้องตากันได้
สัตว์ป่าพื้นฐานของโลกใต้น้ำคือปะการัง ปะการังที่เกาะนิ่งกับพื้นหิน แตกกิ่งก้านเหมือนต้นไม้ ทำให้เราเผลอลืมไปว่าพวกมันเป็นสัตว์
กิ่งปะการังมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบเหมือนผ่านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่ปลายยอดกิ่งมีหนวดโพลิปปะการังยื่นออกมาดูคล้ายดอกไม้ เมื่อเอามือพัดน้ำแรง ๆ บางครั้งหนวดก็หดหลบลงไปในโครงสร้างแข็ง ช่อรองโพลิปปะการังวางตัวเรียงวนเป็นวงอย่างมีระเบียบ คล้ายตึกคอนโดสูงที่มีระเบียงโผล่ออกมาข้างตึกไล่วนขึ้นไปจนสุดปลาย พอถอยออกมามองในระยะห่าง เราเห็นโครงสร้างที่แผ่ออกเป็นแผ่น แต่ละแผ่นก็ซ้อนทับ ไล่ระดับกันลงไป
สถาปนิกชั้นครู ‘มีส ฟาน เดอ โรห์’ เคยพูดไว้ว่า “God is in the Details” ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติปรากฏตัวให้เราเห็นในรายละเอียดเล็ก ๆ การดำน้ำฝึกสายตาเราให้มองเห็นโลกที่แตกต่างไป
ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์น้ำตัวต่อมาที่เราหมกมุ่น หลังจากดำน้ำมาได้พักหนึ่งก็พบว่าดอกไม้ทะเลมีหลายแบบ และบางแบบก็มีหลายสี แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดคือ เมื่อเวลาใกล้ค่ำหรือยามที่แสงเริ่มน้อยลง พวกมันจะเริ่มห่อตัวเป็นก้อนกลม
ก้อนดอกไม้ทะเลอ้วนกลมน่ารักคู่ควรจะถูกเรียกด้วยเสียงเล็ก ๆ ว่า ‘น้อน’ มีหนวดสีม่วงสดที่เก็บเข้าไปในตัวไม่หมดยื่นออกมาจากตรงศูนย์กลาง พอมองเข้าไปให้ดีก็พบกุ้งตัวเล็ก ๆ โผล่ออกมาในท่าทางที่เหมือนโผล่ออกมาจากหน้าต่างบ้านรก ๆ
ถึงแม้จะไม่ใช่ของหายาก ไม่ใช่ของแปลกที่ต้องตามหา แต่มันทำให้เราอารมณ์ดีเมื่อได้เห็น การดำน้ำทำให้เราหลงรักในสิ่งธรรมดาๆ
ทางทฤษฎีสีกล่าวว่า สีฟ้าเป็นสีที่สร้างความผ่อนคลาย มีการศึกษาจากตัวอย่างใน 10 ประเทศ พบว่าสีฟ้าเป็นสีโปรดของคนส่วนใหญ่ การดำน้ำคือการกระโดดเข้าสู่โลกสีฟ้า ให้สีที่เป็นมิตรและผ่อนคลายห่อหุ้มทั้งร่างกายและจิตใจ
แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งใต้ทะเลจะเป็นสีฟ้าโมโนโทน สิ่งมีชีวิตหลายอย่างมีสีสันและลวดลายที่ประกอบกันอย่างน่าทึ่ง
ปลาสินสมุทรแว่นเหลืองเป็นหนึ่งในปลาทะเลที่เราชอบมาก ทั้งตัวของมันเต็มไปด้วยสีสดของแม่สี อย่างกับเพิ่งบีบออกมาจากหลอดแล้วป้ายลงบนตัวปลาโดยไม่ผสมสีอื่น
อีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เราทึ่งกับธรรมชาติในการออกแบบคู่สี คือ Bicolor Dottyback ในหมู่นักเลี้ยงปลาตู้ให้ชื่อเล่นมันว่า ปลาหวานเย็น ปลาตัวนี้มีด้านหน้าเป็นสีม่วงสด และครึ่งตัวหลังเป็นสีเหลือง โดยที่จุดต่อของ 2 สีนี้มีอยู่ที่กลางตัวเป็นเส้นขีดตรง ๆ ไม่มีลวดลายอะไรซับซ้อนทั้งสิ้น เหมือนกับว่าคนออกแบบเริ่มระบายสีตัวปลาแล้วเลิกกลางทางซะแบบนั้น
เราชอบถามกันเล่น ๆ ว่าใครเป็นคนออกแบบเลือกสีให้ปลาแต่ละชนิด หลายตัวมีสีสันที่เกินกว่าจินตนาการของเราไปมาก สีจากใต้ทะเลเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการให้นักออกแบบได้หลายสายงาน
หนังเรื่อง อวตาร ภาคแรก ถึงแม้จะเป็นฉากในป่าทั้งหมด แต่สิ่งมีชีวิตที่มีให้เห็นในฉากได้แรงบันดาลใจและสีสันที่มาจากใต้ทะเลอย่างชัดเจน
ปลาดาวหรือดาวทะเลส่วนใหญ่จะมี 5 ขา พอดู ๆ ไปก็คล้ายกับตัวคนนอนก่ายหินในท่าทางประหลาด ๆ ท่าทางของดาวทะเลบางตัวทำให้นึกถึงตัวเราเองบนโซฟาที่บ้าน หลังจากเริ่มมองเห็นพวกมันมีชีวิตอีกแบบ เราเริ่มมองหาปลาดาวในทุกที่ พร้อมกับจินตนาการถึงชีวิตเอื่อย ๆ ของพวกมัน
ไม่ว่าจะมองไปทางไหนที่ใต้น้ำ เราจะเจอกับสิ่งที่กระตุ้นจินตนาการอยู่เสมอ การดำน้ำทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและรู้จักตัวเอง ได้เจอสิ่งมีชีวิตใหม่ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ใหม่
มนุษย์เรามักออกเดินทางไปยังพื้นที่ที่เราไม่รู้จัก ยอดเขาสูง ดวงจันทร์ในอวกาศ เหวลึกใต้ทะเล จิตวิญญาณของนักผจญภัยฝังอยู่ในยีนส์ของพวกเรา เมื่อได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ หรือออกเดินทางสู่พื้นที่ใหม่ ร่างกายจะหลั่งสารโดปามีนที่สร้างความสุขให้เรา
เราทุกคนต้องการสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต เราไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใหม่ด้วยการพยายามเป็นนักบินอวกาศ แต่พวกเราทุกคนเป็นนักดำน้ำได้
นักดำน้ำแต่ละคนติดใจในการดำน้ำด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน บางคนการดำน้ำคือการผจญภัย บางคนชอบในความผ่อนคลายที่ได้ล่องลอยไปในทะเล บางคนชอบที่ได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เหตุผลที่มีไม่รู้จบคือคำตอบที่แต่ละคนต้องลงดำน้ำไปเพื่อหาด้วยตัวเอง