ร้านกาแฟเล็กๆ ย่านท่าเตียนแห่งนี้ตกแต่งด้วยของชิ้นพิเศษ เป็นของตกแต่งที่ยืนยันว่าเคยมีเจ้าชายไทยเป็นนักแข่งรถ และเจ้าชายไทยอีกพระองค์เป็นผู้จัดการทีม เก่งระดับชนะฝรั่งได้

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

ผู้จัดการทีมพระองค์นั้นคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบันทึกไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า “การช่วยจัดการแข่งรถให้พีระเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งในชีวิตข้าพเจ้า ซึ่งได้ทำอยู่ทั้งหมดถึงเกือบแปดปี”

‘พีระ’ ที่ทรงกล่าวถึงคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม

ระหว่าง พ.ศ. 2478 – 2482 (ค.ศ.1935 – 1939) หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.พีระ เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง 20 ครั้ง ที่สอง 14 ครั้ง และที่สาม 5 ครั้ง กล่าวได้ว่า ‘ชนะเลิศหรือเกือบชนะเลิศ’ คิดเป็นราว 57 เปอร์เซ็นต์ จากการเข้าแข่งทั้งหมด 68 ครั้ง และเป็นนักแข่งรถสมัครเล่นชาวไทย มิใช่นักแข่งอาชีพที่สังกัดตามบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ล้วนเป็นชาวยุโรป

เป็นความภูมิใจของคนไทยที่ได้ทราบว่าเมื่อ 80 – 90 ปีที่แล้ว ชื่อ B.Bira เป็นที่เกรงขามของนักแข่งฝรั่ง เป็นราชานักแข่งรถที่ไม่มีใครสู้ได้ The Cloud ได้รับโอกาสจาก คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ River Books พาชมสิ่งของแห่งความภาคภูมิใจที่ประดับอยู่ใน ‘คาเฟ่หนูขาว’ หรือ ‘White Mouse Café’ ย่านท่าเตียน และพิเศษกว่าใคร เมื่อคุณไพศาลย์กรุณาเปิดให้เข้าชมห้องทรงงานของพระองค์จุลฯ ในวังจักรพงษ์ เพื่อชมถ้วยรางวัลจากการแข่งรถของ พ.พีระ

เจ้าชายผู้ชื่นชอบยานยนต์และความเร็ว

คุณไพศาลย์เล่าว่า “พระองค์จุลฯ เป็นเจ้านายที่นิยมยานยนต์ เมื่อปลายรัชกาลที่ห้าก็ทรงมีรถเด็กเล่นทำด้วยเหล็ก คงจะเป็นสมเด็จพระพันปีทรงซื้อพระราชทาน มีรูปถ่ายเก็บไว้ พอโตมาหน่อยรัชกาลที่หกก็พระราชทานรถคาดิลแลค เป็นรถไฟฟ้าย่อส่วนสีแดง วิ่งได้เหมือนจริง รถคันนี้ท่านก็มีรูปถ่ายเก็บไว้ ในปลายพระชนม์ชีพท่านก็ขึ้นไปนั่งขับ เป็นภาพที่น่าเอ็นดูมาก”

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
ภาพ : Riverbooks

ร้อยเอกรอนนี พอตส์ (Ronnie Potts) เลขานุการส่วนพระองค์ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จริงๆ ท่านชอบรถ แต่ไม่ได้ชอบขับรถ ท่านชอบให้คนอื่นขับให้นั่งมากกว่า”

คำกล่าวนี้ตรงกับที่พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกไว้ว่า ตอนเด็กๆ ทรงขับรถได้อย่างดี แต่ทิ้งไปไม่ได้ขับเสียราว 7 ปี จนมาขับอีกครั้งตอนอายุ 20 ปี เกิดขลุกขลักเมื่อต้องเปลี่ยนเกียร์ แต่ก็ทรงเริ่มเลี่ยงการขับรถตั้งแต่นั้นมา

เมื่อพระองค์จุลฯ ไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร และทรงพบพระญาติรุ่นน้องคือ พระองค์เจ้าพีระฯ ผู้ชอบขับรถและขับได้ดีเยี่ยม จึงทรงชักชวนกันไปดูการแข่งรถด้วยกันบ่อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองพระองค์ทรงคิดเรื่องลงแข่งขันอย่างจริงจัง

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์จุลฯ และพระองค์เจ้าพีระฯ ภาพ : River Books

แม้ตอนแรกพระองค์จุลฯ ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะห่วงความปลอดภัยของพระองค์เจ้าพีระฯ แต่เมื่อเห็นฝีมือการขับของพระญาติรุ่นน้องแล้วก็ทรงยอม ทรงออกทุนซื้อรถแข่งและเป็นผู้จัดการทีมให้ เป็นการยอมสนับสนุนที่คงไม่ทรงคาดคิดว่าอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นพระองค์เจ้าพีระฯ จะได้มีโอกาสสัมผัสมือกษัตริย์ยุโรปหลายประเทศ และรับถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหลายรายการ มีชื่อเสียงระบือไกลไปทั่วเกาะอังกฤษและวงการแข่งรถของโลก

Bira the Invincible

พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกไว้ว่า “นับแต่ก่อนพีระแข่งรถมา ข้าพเจ้าบังอาจกล่าวได้ว่า นอกจากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย หรือเคยไปอยู่เมืองไทย ของที่ชาวต่างประเทศนึกถึงเกี่ยวกับเมืองไทย ก็มีแมว กับคนฝาแฝดติดกัน ซึ่งความจริงคนฝาแฝดติดกันที่ไปมีชื่อเสียงอยู่ทั่วโลกนั้น ก็เป็นจีนเสียด้วยซ้ำ” พระองค์จุลฯ ทรงหมายถึง Siamese Cats กับฝาแฝดอิน-จัน ที่มีบิดาชาวจีน มารดาชาวไทย นั่นเอง

นักขับรถหนุ่ม พ.พีระ จึงถือเป็นคนไทยคนแรกที่โด่งดังในระดับโลก มิใช่เพียงเข้าร่วมการแข่งขัน แต่กวาดถ้วยชนะเลิศมาครองนับไม่ถ้วน จนได้รับสมญาจากหนังสือพิมพ์ Motor Sport เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1939 ว่า Bira The Quite Invincible (พีระผู้ไม่มีใครโค่นได้)

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
ภาพ : River Books

หลังจาก พ.พีระ ชนะการแข่งในยุโรปครั้งแล้วครั้งเล่า 5 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ชาวกรุงเทพฯ หลายหมื่นคนมีโอกาสได้เห็น ‘รอมิวลุส’ และ พ.พีระ บนถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลาไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
ภาพ : River Books

หนังสือพิมพ์ลงข่าวเป็นที่เอิกเกริกว่าเจ้านายไทยสองพระองค์ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ สีน้ำเงินที่ทาบนรถรอมิวลุสได้ชื่อว่าเป็น ‘สีพีระ’ สาวๆ ชาวกรุงสมัยนั้นจำนวน ‘หลายร้อยหลายพัน’ ต่างหาซื้อเสื้อผ้าสีน้ำเงินพีระเพื่อสวมใส่ ‘ไปดูท่านพีระขับรถแข่ง’

“ตอนนั้นท่านกำลังมาแรง ทรงเป็นซูเปอร์สตาร์เมืองไทย ตอนนั้นก็ไม่มีคนไทยคนไหนเลยที่เป็นฮีโร่ ท่านกลับมาแบบเป็นขวัญใจคนไทยจริงๆ ในยุค 2480 – 2490” คุณไพศาลย์เล่ายิ้มๆ

“ตอนนั้นเราไม่มีฮีโร่ของชาติ ก็มีแต่พระองค์เจ้าพีระฯ หลังจากยุคท่านถึงจะมี โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นยุคหลัง พ.ศ. 2500 มาแล้ว” คุณไพศาลย์หมายถึงนักมวยชาวไทยคนแรกและคนที่ 2 ที่เป็นแชมป์โลก จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ยกโขยงไปเชียร์มวยหน้าจอโทรทัศน์กันทั้งตำบลในสมัยนั้น

7 สิ่งของต้องดูใน ‘คาเฟ่หนูขาว’

1. สัญลักษณ์หนูขาว

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

‘คอกรถแข่ง’ ที่คว้าชัยมานับไม่ถ้วนนี้ชื่อ ทีมหนูขาว (White Mouse) พระองค์จุลฯ ทรงเล่าไว้ว่า สมัยนั้นคณะรถแข่งที่มีชื่อเสียงที่สุดคือคอกอิตาเลียนชื่อ เฟอร์รารี มีตราม้าดำมีปีกเป็นสัญลักษณ์ และโดยที่พระองค์จุลฯ ทรงมีชื่อเล่นว่า ‘หนู’ พระองค์เจ้าพีระฯ จึงทรงเขียนรูปหนูสีขาวติดที่รถแข่ง ชาวยุโรปเห็นเป็นของแปลก พวกหนังสือพิมพ์ชอบกล่าวว่า รถแข่งของพีระมีหนู Mickey Mouse ติดอยู่ด้วย ในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งนี้จึงมีสัญลักษณ์ที่ว่าปรากฏอยู่ และได้ชื่อว่า White Mouse Café

2. ภาพประวัติศาสตร์การแข่งรถของพระองค์เจ้าพีระฯ

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม

คุณไพศาลย์พา The Cloud ชมภาพต่างๆ ที่ติดอยู่บนฝาผนังร้าน ความพิเศษของภาพเหล่านี้คือ เป็นภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวการแข่งรถของทีมหนูขาว บางภาพเป็นฝีมือการถ่ายของพระองค์จุลฯ หลายภาพมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์จุลฯ ว่าแข่งรายการใด ที่ไหน ระบุวันเดือนปี เช่นวันที่ 11 เมษายน 1936 เมื่อพระองค์เจ้าพีระฯ รับถ้วยรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันที่โมนาโก ใช้รถ ‘รอมิวลุส’

บางภาพมีรถแข่ง 3 คัน เรียงกันในสนาม พระองค์จุลฯ บรรยายภาพไว้ว่านี่คือรถแข่ง 1500 ซีซี ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของปี 1936 ระบุชื่อนักขับทั้งสามคน และหนึ่งในนั้นคือ พ.พีระ กับรถ E.R.A. รอมิวลุส

บรรยากาศในสนามแข่งน่าตื่นเต้น พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกไว้ว่า “รถแข่งเสียงดังสนั่นตั้ง 20 กว่าคันราวกับยักษ์ 20 ตนขู่คำราม จะไล่ขม้ำกินคน ยิ่งเมื่อคนขับแข่งเร่งเครื่องขึ้นเมื่อจวนจะออก ก็ยิ่งดังสนั่นยิ่งขึ้น”

เมื่อกรรมการชูธงเป็นสัญญาณออกตัว อะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือความสามารถของนักขับ รถที่เร็วและทนทาน มีผู้จัดการและช่างเครื่องที่มีความสามารถ และต้องมีโชคด้วย ดังที่นักแข่งอาวุโสท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้เมื่อ พ.พีระ ชนะการแข่งขันที่มอนติคาร์โล หากขาดข้อใดไปก็ไม่อาจขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับหนึ่งได้

3. ป้าย ‘ย’

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

ป้ายแบบนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อชัยชนะ เพราะเป็นการให้สัญญาณแก่นักขับว่า ตอนนี้ควรทำอะไร เช่น ‘ย’ หมายถึง หยุด ‘ร’ หมายถึง เร่งความเร็วขึ้น ‘PAR ๑๕๐’ หมายถึง ทำความเร็วให้ได้ 150 ไมล์ / ชั่วโมง และยังมีสัญญาณที่บอกให้ชะลอความเร็วลงเพื่อถนอมเครื่องยนต์และป้องกันอันตราย (ในกรณีที่คู่แข่งไล่ไม่ทัน)

พระองค์จุลฯ ทรงให้เขียนตัวอักษรและเลขไทยบนป้าย จนหนังสือพิมพ์อังกฤษตื่นเต้นและนำไปเขียนว่า ที่ทีมหนูขาวทำเช่นนั้นเพราะตั้งใจให้เป็นสัญญาณลับ

ในสนาม พ.พีระ (นักแข่ง) และพระองค์จุลฯ (ผู้จัดการทีม) ต้องทำหน้าที่ไปพร้อมกัน พ.พีระ ขับรถเพื่อไปถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุด ส่วนพระองค์จุลฯ และผู้ช่วย ต้องคอยสังเกตว่า พ.พีระ อยู่ตำแหน่งไหน ควรเร่งหรือชะลอความเร็ว ควรเข้าที่ซ่อมเติม (Pit) เพื่อเติมน้ำมันหรือซ่อมอะไรบ้างหรือไม่ วิ่งรอบนี้ใช้เวลาไปกี่วินาที ยังเหลือต้องวิ่งอีกกี่รอบ

พระองค์จุลฯ ทรงยกตัวอย่างไว้ว่า สนามดิเอปป์ (Dieppe) ในฝรั่งเศส แข่งระยะทางไกลถึง 320 กิโลเมตร แต่สนามแข่งหนึ่งรอบยาวเพียง 8 กิโลเมตร ก็เท่ากับต้องวิ่งให้ครบ 40 รอบ นักขับต้องสนใจต่อการขับ จึงจำไม่ได้ว่าขับไปแล้วกี่รอบ อีกทั้งผู้จัดการหรือผู้อำนวยการ (พระองค์จุลฯ) จะต้องดูแลและควบคุมช่างเครื่องให้พร้อม มีเครื่องมือพร้อมที่จะช่วยคนขับในที่ซ่อมเติม

คุณไพศาลย์ให้ความเห็นว่า นักแข่งรถและผู้จัดการทีมสมัยก่อนต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวสูง เพราะไม่มีเครื่องช่วยอะไรเลย ทุกอย่างต้องคอยนับ คำนวณ และจดด้วยมือ ต้องเฝ้ามองจากต้นทางว่ารถของทีมตนเองใกล้เข้ามาหรือยัง เพื่อเตรียมการในที่ซ่อมเติมให้พร้อม สมัยนี้นักแข่งสื่อสารกับผู้ช่วยในทีมได้เพราะมีหูฟัง แต่สมัยก่อนไม่มี

เมื่อพระองค์จุลฯ ทรงคำนวณแล้วว่าจะให้ พ.พีระ ทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องคอยสื่อสารกับนักขับ ด้วยการยกป้ายต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณ ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “ผู้อำนวยการจึงมีงานทำมาก จะละทิ้งหน้าที่บงการอยู่ไม่ได้เลยตลอดการแข่ง”

4. พวงมาลัยรถหนุมาน

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

นี่เป็นพวงมาลัยของรถแข่งชื่อ หนุมาน ซึ่งรถพังไปแล้ว ซ่อมไม่ได้ พระองค์จุลฯ ก็เลยขายตัวโครงไป เราเลยเก็บพวงมาลัยตัวจริง ส่วนตัวรถหนุมานที่ประกอบขึ้นใหม่มีคนซื้อมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่เก้า ตอนนี้ตั้งแสดงที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา” คุณไพศาลย์อธิบาย

หนุมานเป็นรถ E.R.A. (English Racing Automobiles) ที่พระองค์จุลฯ ทรงซื้อใน พ.ศ. 2481 พวงมาลัยอันนั้นมีรูปหนุมานแกะสลักด้วยเงินอยู่ตรงกลาง ขนาดใหญ่กว่าพวงมาลัยรถเก๋งในปัจจุบัน

“คราบที่เห็นบนพวงมาลัยเป็นคราบเหงื่อไคลของจริงของพระองค์เจ้าพีระฯ เมื่อท่านขับเมื่อ 70 – 80 ปีที่แล้ว นี่คืออนุสรณ์ที่เราได้เห็นจริงๆ ของพระองค์เจ้าพีระฯ ที่ทรงจับพวงมาลัยนี้บังคับรถไปมาอยู่ในสนามแข่ง” คุณไพศาลย์เล่า

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

นอกจาก ‘หนุมาน’ แล้ว ยังมีรถแข่งคู่ใจ พ.พีระ อีก 2 คันที่มีชื่อ คือ ‘รอมิวลุส’ กับ ‘รีมุส’ คันที่โดดเด่นที่สุดคือรอมิวลุส เป็นรถแข่งสัญชาติอังกฤษในตระกูล E.R.A. (English Racing Automobiles) ผลิตออกมาเพียง 19 คัน ในการแข่งตั้งแต่ พ.ศ. 2479 – 2482 รถรอมิวลุสที่ขับโดย พ.พีระ ชนะเลิศรางวัลที่ 1 ถึง 10 ครั้งด้วยกัน เป็นรถ E.R.A. ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเหนือรถแข่งยี่ห้ออื่น และเป็นรถแข่งคู่พระทัยของ พ.พีระ มาโดยตลอด

5. ถ้วยรางวัล

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

มุมหนึ่งของร้านมีตู้กระจกบรรจุหนังสือภาษาอังกฤษที่พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกเรื่องราวการแข่งรถของ พ.พีระ และจัดพิมพ์ในประเทศอังกฤษ และหนังสือเล่มเล็กๆ ภาพหน้าปกเป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าพีระฯ

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

แต่ที่โดดเด่นสะดุดตาคือสารพัดถ้วยรางวัลจากการแข่งขันที่ พ.พีระ แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและความสามารถ คุณไพศาลย์กล่าวว่า “ถ้วยรางวัลเหล่านี้ถือว่าล้ำค่ามาก เพราะเป็นเงินแท้ๆ และจัดทำเฉพาะสำหรับการแข่งครั้งนั้นๆ ไม่มีอีกแล้ว ถ้วยรางวัลสมัยนี้ใช้วัสดุอื่น ไม่ใช่เงิน ถ้วยเหล่านี้จึงมีมูลค่าสูงมาก ถ้าถ้วยเล็กลงไปก็เป็นของการแข่งย่อยๆ”

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

คุณไพศาลย์ยังกรุณาให้ The Cloud เข้าชมห้องทรงงานของพระองค์จุลฯ ซึ่งอยู่ในวังจักรพงษ์ ในห้องนั้นเป็นที่เก็บรักษาถ้วยรางวัลอีกส่วนหนึ่งทั้งใหญ่และเล็ก และมีถ้วยรางวัลพิเศษคือ Siam Cup พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าประสงค์จะแสดงความขอบคุณวงการแข่งรถของอังกฤษ ทั้งอยากจะอวดฝีมือเครื่องถมไทยด้วย จึงจัดสั่งถ้วยถมมาจากเมืองไทย” ถ้วยนี้ทรงสั่งช่างที่กรุงเทพฯ ให้ทำมาหลายใบเพื่อมอบให้นักแข่งรถคนอื่นด้วย

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

6. โปสเตอร์ ‘กรุงเทพกรังด์ปรีซ์’

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

พระองค์จุลฯ ทรงตั้งใจให้เมืองไทยเป็นสนามแข่งรถในระดับนานาชาติ เป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ และในเอเชีย การแข่งรถ ‘กรุงเทพกรังด์ปรีซ์’ เกือบจะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 (ค.ศ. 1939) มีกำหนดแข่งรอบพระบรมมหาราชวังกับท้องสนามหลวง ชิงรางวัล 100,000 บาท เชิญนักแข่งไว้แล้ว 12 คน

แต่น่าเสียดายที่ในเดือนกันยายนปีเดียวกันสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นเสียก่อน การแข่งขันนี้จึงไม่เกิดขึ้น เหลือหลักฐานเพียงโปสเตอร์ชิ้นนี้ที่พระองค์จุลฯ สั่งให้พิมพ์ออกมาเป็นตัวอย่าง ฝีพระหัตถ์วาดภาพและทำกราฟิกโดยพระองค์เจ้าพีระฯ

ในปี 1939 โปสเตอร์ใบนี้ถูกส่งเพื่อกระจายข่าวไปทั่วยุโรป คุณไพศาลย์กล่าวว่า ปัจจุบันน่าจะเหลือโปสเตอร์นี้เพียงไม่กี่ใบ ราคาซื้อขายกันหลักแสนบาท

7. ดาราทอง

คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

ในแต่ละการแข่งขัน นักแข่งที่นำรถมาถึงเส้นชัยทุกคนจะได้คะแนน ที่หนึ่งได้ 10 คะแนน ที่สองได้ 8 คะแนน ที่สามได้ 6 คะแนน ที่สี่ได้ 4 คะแนน ที่ห้าได้ 3 คะแนน และผู้ไปถึงเส้นชัยได้ 2 คะแนน พอสิ้นปีนำคะแนนมารวมกัน ผู้ได้คะแนนสูงที่สุดของปีนั้นจะได้รับรางวัลดาราทองจากสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ

นักแข่งรถหนุ่ม พ.พีระ วัย 22 ปี ใช้เวลาเพียง 2 ปีในสนามแข่งรถเพื่อพิชิตเกียรติยศสูงสุดของการแข่งรถระดับโลก คือได้รับดาราทองเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2479

พระองค์เจ้าพีระฯ เคยประทานสัมภาษณ์ไว้แก่นิตยสาร สารคดี (สัมภาษณ์โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) ว่า “ผมได้คะแนนรวมสูงสุดครั้งแรกในปี 2479 และได้ติดต่อกันถึงปี 2481 รวมสามปีซ้อน เรียกว่า เป็น ‘โกลด์สตาร์แฮตทริก’ หรือ ‘ดาราทองสามปีซ้อน’ ซึ่งในอดีตและถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้เลย ต่อมาอังกฤษเห็นคนไทยมากวาดรางวัลหมดก็เลยเปลี่ยนกติกาใหม่ว่า ผู้จะได้ดาราทองต้องเกิดในอังกฤษ ผมก็เลยหมดสิทธิ์ แต่ก็ยังแข่งและได้รางวัลนานาชาติอยู่เป็นประจำ”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

เป็นชาวเอเชียหัวดำ ขึ้นรับถ้วยรางวัลชนะเลิศในเมืองฝรั่ง มีหรือจะไม่โดนเขม่นว่าทำไมจึงชนะได้

พระองค์เจ้าพีระฯ ทรงเคยประทานสัมภาษณ์ไว้ไม่นานก่อนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2528 ว่าเรื่องการเหยียดผิวนั้น ก็มีในวงการรถแข่ง

“บังเอิญผมดังก็เพราะ หนึ่ง ความเป็นเจ้า สอง เอาชนะฝรั่ง ขนาดคนที่สร้างรถยนต์ก็เก่งกว่าเขาได้ เขาเกาหัวเลยว่า เอ…ทำไมมีคนยังงี้มาได้ ไปซื้อรถเขามาแล้วไปชนะเขาอีกที เขาไม่เข้าใจ”

พระองค์เจ้าพีระฯ หมายถึง พ.ศ.2480 ที่ พ.พีระ ชนะการแข่งขันติดๆ กันมาตลอดด้วยรถรอมิวลุส ซึ่งเป็นรถตระกูล E.R.A (English Racing Automobiles) ผู้ผลิตรถยนต์ E.R.A. จึงนำรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีกำลังเหนือกว่ารอมิวลุสลงแข่งหลายคันเพื่อเอาชนะ พ.พีระ ให้ได้ เพราะเสียหน้าที่ชาวเอเชียมาซื้อรถ E.R.A. ไปขับแล้วกวาดถ้วยรางวัลสนามแล้วสนามเล่า

แต่เมื่อนักขับชาวสยามร่างเล็กผิวคล้ำยังคงเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง บรรดาผู้ผลิตจึงจำต้องยอมรับว่า ‘รอมิวลุส’ ที่ขับโดย พ.พีระ นั้นเป็นเลิศจริงๆ

ความโดดเด่นของ พ.พีระ คือเทคนิคเฉพาะตัวในการขับรถทางโค้ง

หนึ่งในบรรดานักแข่งรถสมัยนั้นวิเคราะห์ไว้ว่า “ถ้าทางตรง รถที่แรงกว่าเอาชนะท่านได้ แต่ทางโค้ง ไม่ว่ารถจะแรงขนาดไหน ไม่มีทางขึ้นหน้าท่านพีระได้ เพราะท่านพีระไม่ใช้วิธีการแตะเบรกขณะเลี้ยว ซึ่งยากนักที่ใครจะบังคับรถที่มีความเร็วขนาดนั้นได้”

เรื่องไม่แตะเบรกขณะเลี้ยว บวกกับไหวพริบที่เป็นเลิศ เคยทำให้ พ.พีระ พิชิตรางวัลชนะเลิศมาแล้วที่สนามบรู๊กแลนด์ส ระยะทาง 250 ไมล์ (402 กม.) ต้องขับทั้งสิ้น 100 รอบ

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม

พระองค์จุลฯ ทรงบันทึกไว้ว่า พ.พีระ และคู่แข่งตลอดกาลคือ เรย์มอนด์ เมย์ส (Raymond Mays) ชาวอังกฤษ ขับเคี่ยวกันอย่างสูสี ในการขับรอบสุดท้าย เมย์สแซงหน้า พ.พีระ จนได้ ซึ่งนักแข่งส่วนมากถ้าโดนแซงในรอบสุดท้ายก็อาจถอดใจ

แต่ พ.พีระ ผู้ขับอย่างเหน็ดเหนื่อยมาร่วม 3 ชั่วโมง ยังไม่ยอมแพ้ ไล่กวดหลังเมย์สอย่างกระชั้นชิดที่สุด เพื่อให้ความเร็วรถแข่งของเมย์สที่บังลมอยู่ด้านหน้า ดูดเอารถรอมิวลุสของ พ.พีระ เข้าไปด้วยจนรถเกือบติดกัน

พอถึงหัวโค้งสุดท้าย พีระก็เลี้ยวรถโดยเหยียบเบรกทีหลังเมย์ส ส่งผลให้รอมิวลุสผ่านหน้ารถของเมย์ส เข้าเส้นชัยเป็นคันแรก ชนะเมย์สเพียง 1 วินาทีเท่านั้น

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม
ภาพ : Riverbooks
คาเฟ่หนูขาว หรือ White Mouse Café ย่านท่าเตียน ร้านเล็กย่านท่าเตียนกับข้าวของชิ้นพิเศษของ 2 เจ้าชายไทยที่โด่งดังในวงการแข่งรถโลก

คุณไพศาลย์กล่าวว่า “ในความรู้สึกผม พระองค์จุลฯ ทรงภูมิใจที่ได้เห็นธงไทยโบกสะบัดที่ยุโรป ผมว่าเป็นความรู้สึกหลักของท่าน ไม่มีอะไรเคลือบแฝง ท่านสั่งแผ่นเสียงเพลง สรรเสริญพระบารมี ไปจากเมืองไทย เพราะว่าเวลาแข่งชนะก็ต้องเปิด เราก็ยังเก็บไว้ ผืนธงไตรรงค์ผืนแรกที่ชักขึ้นไปเมื่อพระองค์เจ้าพีระฯ ชนะเราก็ยังเก็บไว้

“ทรงสละทรัพย์มหาศาลเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย เพราะการเป็นเจ้าของทีมต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องซื้อรถแข่ง ต้องมีรถตู้เอาไว้ขนรถแข่งไปสนามต่างๆ ต้องมีคนขับ มีช่างเครื่อง อยู่ในสนาม ท่านก็ต้องทำหน้าที่เพื่อช่วยสนับสนุนท่านพีระให้ไปถึงเส้นชัยเร็วที่สุด

“ผมคิดว่ารถแข่งยุคเก่ามันน่าจะอันตรายมากเมื่อเทียบกับการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน (Formula One) ในปัจจุบัน เพราะไม่มีเครื่องช่วยใดๆ เลย สมัยนี้มีกล้อง มีคอมพิวเตอร์ นักแข่งมีหน้าที่กดปุ่ม มีเครื่องป้องกันอันตรายจากการชนหรือการคว่ำ แต่สมัยนั้นไม่มีเลย ก็เรียกได้ว่าท่านเสี่ยงชีวิตให้ได้มาซึ่งชัยชนะ” คุณไพศาลย์กล่าว

พระองค์เจ้าพีระฯ ประทานสัมภาษณ์เรื่องความสามารถในการขับรถไว้ว่า ท่านยอมรับว่าเป็นพรสวรรค์เฉพาะด้าน แต่ต้องสู้จนได้มา

“มันเป็นความสามารถที่คนเราได้รับหรือมีมา แต่ไอ้ความสามารถนี่มันก็อยู่ที่ต้องมีใจสู้ด้วย ตอนที่ผมแข่งนั้น ผมแข่งด้วยใจรัก จิตใจพร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะทุ่มเทให้ทุกอย่าง ถ้าคิดว่าจะเป็นแชมป์ เราก็ต้องฝึกหนักมากๆ ด้วย”

เมื่อความสามารถและหัวใจนักสู้เช่นนี้มารวมกับทักษะของผู้จัดการทีมอย่างพระองค์จุลฯ ผู้ทรงตั้งใจทำชื่อเสียงให้ประเทศไทย ทำให้ พ.พีระ เป็นชื่อไทยชื่อแรกและชื่อเดียวที่ชนะเลิศในวงการรถแข่งระดับนานาชาติ จนถึงปัจจุบัน

การสิ้นพระชนม์ของ พ.พีระ ที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ตในกรุงลอนดอน พ.ศ. 2528 กลายเป็นข่าวใหญ่ในสหราชอาณาจักร สำนักข่าว BBC นำเสนอข่าวตลอดวัน หนังสือพิมพ์ทั้งในไทยและสหราชอาณาจักรต่างทำข่าวการสูญเสียเจ้าชายไทยนักแข่งรถ

นักขับชื่อดังชาวยุโรปหลายคนที่ขับเคี่ยวความเร็วในสนามแข่งมาด้วยกันกับ พ.พีระ เมื่อ 50 ปีก่อนหน้า ต่างบินมาร่วมแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย แด่ Bira the Quite Invincible พีระ ผู้ไม่มีใครโค่นได้

พระองค์พีระ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม B.Bira (พ.พีระ) นักแข่งรถจากสยาม

ขอขอบคุณ

คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์

หนังสือและบทความประกอบการเขียน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปารุสก์. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์, 2560

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. คนกล้า. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2544

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล