“ตอนที่รู้ว่าป่วยเป็นจอประสาทตาเสื่อมและต้องหยุดดำน้ำแบบกะทันหัน ก็มีแต่ความเสียใจ การได้กลับไปอีกครั้งหนึ่ง เหมือนได้เติมเต็มความรู้สึกของเรา”

อยากให้โครงการนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าคนที่นั่งวีลแชร์ก็ดำน้ำได้นะ แต่คือโครงการที่บอกว่า คุณเตรียมความพร้อมให้วีลแชร์ในการไปทริปด้วยได้นะ”

วันที่พี่ยาเล่าว่าไปเกาะเต่าแล้วเจอปลาเป็นหมื่น ๆ ตัว คุณต้องไปเห็นรอยยิ้มของเขา แม้พี่ยาจะมองไม่เห็น แต่แววตาและรอยยิ้มทำให้ผมเชื่อ ผมรู้สึกได้ถึงพลังที่เขาได้รับแล้วถ่ายทอดมาทางเรา”

หลายคนที่สมัครเข้ามาบอกว่า ตอนเดินได้เคยคิดอยากดำน้ำสกูบา แต่ก็ไม่ได้ไปเรียนสักที พอพิการก็คิดว่าคงหมดสิทธิ์แล้ว แต่พอมาเห็นโครงการนี้ ก็ทำให้เขามีโอกาสอีกครั้ง”

หลากหลายคำพูดของผู้ร่วมกิจกรรมและทีมงานอาสาเหล่านี้ คงเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดที่จะบอกว่า โครงการนี้มีความหมายกับผู้เข้าร่วมเพียงใด

‘Wheelchair Scuba’ คือโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 จากความคิดของ ณุ-ภาณุพล ธนะจินดานนท์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยร่วมเป็นจัดค่ายกับกลุ่ม Nature Camp พาเด็กพิการเดินป่าและขึ้นภูกระดึงมาก่อน ซึ่งเมื่อจัดไปได้สักระยะ เขาก็รู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้น่าจะต่อยอดไปได้อีก และด้วยความที่เขาดำน้ำสกูบาอยู่แล้ว เลยเกิดความคิดว่า น่าจะพาพวกเขาไปสัมผัสประสบการณ์ใต้น้ำดู

Wheelchair Scuba โครงการสอนคนพิการนั่งวีลแชร์และคนตาบอดดำน้ำจนได้บัตร Open Water

จากโครงการแรกที่เป็นการทดลองชวนแบบปากต่อปาก โดยพาฝึกซ้อมในสระและลงทะเลหนึ่งวัน คล้ายกับหลักสูตรดำน้ำแบบ Discover Scuba ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี เขาจึงต่อยอดมาที่โครงการสองที่เริ่มต้นเปิดเพจ Wheelchair scuba Thailand – ใจบันดาลแรง เปิดรับสมัครคนพิการในวงกว้างขึ้น และเมื่อมาถึงโครงการสามเป็นต้นไป ก็เพิ่มความเข้มข้นเป็นการสอนดำน้ำอย่างจริงจัง จนผู้เรียนได้รับบัตรอนุญาตดำน้ำ หรือที่เรียกว่าหลักสูตร Open Water ซึ่งทั้งหมดนั้น คนพิการที่เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

และล่าสุด ไม่ได้มีแค่มนุษย์ล้อที่มาร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังมีนักดำน้ำตาบอดเข้ามาร่วมด้วย

ตาบอดลงไปแล้วจะเห็นอะไร

ใช้ตีนกบไม่ได้ แล้วจะเคลื่อนที่ยังไง

มันจะปลอดภัยเหรอ

หลากหลายคำถามที่หลายคนอาจสงสัย วันนี้เราจะพาไปคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คนพิการที่มาร่วมกิจกรรม ครูสอนดำน้ำ และผู้ก่อตั้งโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายความข้องใจแล้ว ไม่แน่ว่ายังอาจเป็นแรงบันดาลใจ ให้ใครหลายคนอยากสมัครมาเป็นอาสาพาพวกเขาไปดำน้ำด้วยก็ได้

Wheelchair Scuba โครงการสอนคนพิการนั่งวีลแชร์และคนตาบอดดำน้ำจนได้บัตร Open Water

[1] อารยา – บอดก็เพียงสายตาเท่านั้น

“ครั้งแรกที่เราลงไปแล้วขึ้นมา มันรู้สึกว้าวมาก ๆ เหมือนเราได้กลับมาแล้ว” ยา-อารยา นันตยุ เล่าถึงความรู้สึกแรกหลังจากกลับมาดำน้ำอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานถึง 12 ปี นับตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

“พอตาบอดเราก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้กลับมาดำน้ำอีกแล้ว ตอนนั้นมันมีแต่ความเสียใจ เพราะเรารักการดำน้ำมาก ตอนยังตาดี เราดำมาแล้วร้อยกว่าไดฟ์ มีอุปกรณ์เป็นของตัวเองครบ การได้กลับมาดำน้ำอีกครั้ง เหมือนความฝันที่เราเคยคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่วันหนึ่งมันกลับเป็นจริงขึ้นมา โอกาสครั้งนี้สำหรับเรามันจึงมีค่ามาก ๆ” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเปี่ยมล้น

หลายคนอาจสงสัยว่า มองไม่เห็น ดำลงไปแล้วจะได้อะไร แต่หากใครได้เห็นรอยยิ้มของเธอในการไปทริปแต่ละครั้ง ก็คงสัมผัสได้ว่าความสุขที่เธอได้รับนั้นไม่น้อยกว่าคนอื่น ๆ เลย

“แม้ว่าเรามองไม่เห็น แต่เราสัมผัสหลาย ๆ อย่างได้ เช่น ได้ยินเสียงฟองอากาศ ได้สัมผัสความร้อนเย็น รู้สึกถึงกระแสน้ำ การตีฟินของเรา แล้วเราก็มีครูสอนดำน้ำที่เป็นบัดดี้คอยส่งสัญญาณมาให้ บอกว่าด้านหน้าเรามีอะไรบ้าง ด้วยความที่เราเคยมองเห็นมาก่อน เราเลยจินตนาการได้ว่าเป็นยังไง คือทุกอย่างเราใช้ใจในการมองและรับความรู้สึก บอกได้เลยว่าสนุกเท่ากับคนอื่นค่ะ” อารยาตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ความสุขในการดำน้ำของเธอ อาจยืนยันได้ด้วยตัวเลขจำนวนไดฟ์ที่หลังจากได้มารื้อฟื้นทักษะการดำน้ำกับทางโครงการแล้ว เธอก็ไปทริปดำน้ำเป็นว่าเล่น รวมแล้วมากกว่า 30 ไดฟ์ ขนาดที่ณุ ผู้ก่อตั้งโครงการยังแซวว่า ไปบ่อยกว่าผมอีก และที่สำคัญคือ เธอเคยเจอฉลามวาฬมาแล้วถึง 3 ครั้ง

Wheelchair Scuba โครงการสอนคนพิการนั่งวีลแชร์และคนตาบอดดำน้ำจนได้บัตร Open Water

“คือตอนตาดี ดำมาร้อยกว่าไดฟ์ไม่เคยเจอนะ มาเจอตอนตาบอด ครั้งแรกคือตอนไปทริปเกาะเต่า ทางเรือบอกว่ามีฉลามวาฬมาป้วนเปี้ยนแถวนี้ เราก็ตื่นเต้นตั้งแต่ยังไม่ได้เห็น เพราะอยากเจอมาก ๆ แล้วพอมีคนตะโกนว่า ฉลามวาฬมา!! เราก็รีบแต่งตัวลนลานจนครูบอก ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ พอโดดลงไป ครูก็พาไปแล้วทำสัญลักษณ์ว่า ฉลามวาฬอยู่ตรงหน้านะ แล้วจับนิ้วชี้ของเราชี้ไปที่ตำแหน่งฉลามวาฬ เราตื่นเต้นมาก พอขึ้นมาบนเรือก็ถามครูว่า ตัวใหญ่แค่ไหน ครูบอกว่าประมาณ 6 เมตร ตัวใหญ่เท่าเรือเลย เราก็ว้าวมาก ตื่นเต้นมาก เป็นตัวแรกในชีวิต ดีใจสุด ๆ เลยนาทีนั้น” แม้จะคุยกันทางโทรศัพท์ แต่น้ำเสียงของเธอก็ทำให้เรารู้ว่า เธอกำลังยิ้มกว้างอยู่แน่ ๆ

เมื่อถามว่าเสียดายไหมที่ฉลามวาฬอยู่ตรงหน้าแต่กลับไม่ได้เห็น เธอก็ยอมรับว่า ความเสียดายมันมีอยู่เป็นธรรมดา แต่เธอเลือกที่จะมองโอกาสและความสุขที่เธอได้รับมากกว่าสิ่งที่สูญเสียไป

“ถ้าถามว่าเสียดายไหม ก็ต้องยอมรับว่าเสียดาย แต่เมื่อเรายอมรับความจริงได้ว่าเราตาบอด แทนที่จะคิดถึงสิ่งที่เราสูญเสีย เราก็จะเลือกจะรับสัมผัส รับความสุขทุกอย่างเท่าที่เราจะได้รับ เราก็จะใช้ชีวิตในโลกที่มืดของเรานี่แหละ แต่จะใช้หัวใจที่สว่างไสวมองโลกให้มีสีสันขึ้นมา”

นอกจากโครงการนี้จะมีความหมายกับตัวเธอเองแล้ว เธอมองว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ก็สำคัญสำหรับสังคมเช่นกัน

Wheelchair Scuba โครงการสอนคนพิการนั่งวีลแชร์และคนตาบอดดำน้ำจนได้บัตร Open Water

“อยากให้สังคมมองว่า คนพิการก็เป็นคนหนึ่งที่มีความต้องการเหมือนทุกคน คนปกติอยากเที่ยว อยากกิน อยากไปโน่นไปนี่ คนพิการก็เช่นกัน เขาก็อยากจะทำอย่างนั้น แต่ด้วยสภาพสถานที่หรือด้วยความพิการทำให้เขาสัมผัสโอกาสไม่ได้ การมีโครงการแบบนี้ช่วยเปิดโลกให้เรามีโอกาสได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ ที่โดยลำพังตัวคนเดียวทำไม่ได้ แม้เราจะพยายามช่วยเหลือตัวเองได้ให้มากที่สุด แต่บางอย่างก็ต้องการการสนับสนุนที่มาช่วยเติมเต็ม”

[2] ครูอ้วน – “ผมรู้สึกว่าโครงการนี้ ผมไม่ได้มาสอนน้อง ๆ แต่น้อง ๆ ต่างหากที่สอนผม”

ทวีรัตน์ โชคชัยเพิ่มพูนผล หรือ ครูอ้วน คือหนึ่งในครูอาสาที่มาช่วยสอนดำน้ำตั้งแต่โครงการที่ 2 เขาเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการมาทำงานอาสาต่าง ๆ ของเขา เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งเขาได้ไปเป็นอาสาสมัครในพื้นที่อยู่พักใหญ่ ได้เห็นความสูญเสียมากมายในพื้นที่ อีกทั้งคนที่เขารู้จักหลายคนก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

“เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตผม ทำให้เราได้เห็นว่าชีวิตมันไม่แน่นอนจริง ๆ จากที่เคยเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ไปแฮงก์เอาต์ตามร้านเหล้าอาทิตย์ละ 3 – 4 วัน บ้าวัตถุนิยม ผมก็เริ่มทำงานอาสาสมัครมากขึ้น ทำชมรมรักฉลามวาฬ มูลนิธิเพื่อทะเล ทำค่ายเยาวชน จนกระทั่งมีคนชวนมาทำโครงการนี้”

Wheelchair Scuba โครงการสอนคนพิการนั่งวีลแชร์และคนตาบอดดำน้ำจนได้บัตร Open Water

และด้วยบทบาทของการเป็นครูสอนดำน้ำ ต้องทำงานร่วมกับคนพิการที่มาร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ฝึกภาคสระไปจนถึงภาคทะเล ต้องใช้เวลาหลายวัน ทำให้เขาได้มีโอกาสพูดคุยและรับรู้เรื่องราวของผู้พิการเหล่านี้ ซึ่งเขาบอกว่า ทุกคนล้วนเป็นแรงบันดาลใจและสอนบทเรียนหลายอย่างให้เขา

“ผมฟังชีวิตของแต่ละคนแล้วผมน้ำตาไหลเลย กว่าน้อง ๆ จะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องใช้พลังใจเยอะมาก อย่างน้องคนแรกที่สอน เป็นสาวออฟฟิศที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วเกิดอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตครึ่งล่าง น้องเล่าว่าช่วงที่อยู่โรงพยาบาล เขาพยายามฆ่าตัวตายเป็นสิบครั้ง หรืออีกคนอายุแค่ 9 ขวบ ตื่นมาแล้วขยับตัวไม่ได้แล้วก็พิการ พอมาทำงานก็โดนนายจ้างเอาเปรียบอีก ผมรู้สึกว่าพวกเขาผ่านอะไรมาเยอะมาก ซึ่งถ้าเป็นเรา ไม่รู้เลยว่าเราจะสู้ได้แบบน้อง ๆ ไหม”

ครูอ้วนเปรียบเทียบให้ฟังว่า ในความรู้สึกของเขาแล้ว เขามองว่าน้อง ๆ ที่เขาสอนเหล่านี้เป็นเหมือนยอดมนุษย์ X-Men ที่มีพลังวิเศษ คือความกล้าแกร่งของจิตใจที่เหนือกว่าคนทั่วไปมาก

“มีน้องคนหนึ่งบอกผมว่า คนที่ครูได้เห็นเหล่านี้ คือพวกหัวกะทิของกลุ่ม คือคนที่แข็งแรงแล้วเลยกล้าจะออกมาเผชิญโลก แต่ยังมีคนพิการอีกมากที่ยังทำใจไม่ได้และต้องอยู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อนเราไม่เข้าใจหรอก เรื่องที่ทางสำหรับคนพิการ เช่น ที่จอดรถคนพิการในห้าง แต่ทุกวันนี้ ถ้าผมเห็นคนปกติเข้าไปจอดรถในที่คนพิการนี่ ผมลงไปเคาะกระจกถามเลยนะ เพราะผมรู้ว่าคนกลุ่มนี้เขาต้องการพื้นที่ และจากที่เห็นน้อง ๆ ที่ผมสอน พวกเขาพยายามไม่ขอความช่วยเหลือจากพวกเรานะ เขาขอแค่สิทธิขั้นพื้นฐาน ความเท่าเทียม”

เมื่อถามว่าการสอนคนพิการดำน้ำนั้นยากกว่าสอนคนปกติไหม ครูอ้วนตอบว่า ทักษะหลาย ๆ อย่างแทบไม่ต่างกัน ความพิการไม่ใช่อุปสรรค แค่บางอย่างอาจต้องใช้เวลาและต้องเพิ่มการดูแลด้านความปลอดภัยให้มากขึ้น เช่น จากปกติที่ครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 4 – 8 คน ก็จะเพิ่มอัตราส่วนเป็นครู 1 คน ผู้ช่วยครูอีก 1 คน ต่อนักเรียน 1 คน

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ
 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

“พอได้ทำงานกับน้อง ๆ ทำให้เราใจเย็นขึ้น รู้จักรอคอย และเราได้เห็นความสู้ ความอดทนของพวกเขา อย่างน้องบางคนกว่าจะเดินได้แต่ละก้าวก็ช้ามาก ผมเคยไปเป็น Guide Runner ให้น้องคนหนึ่งในงานวิ่ง คือปกติเขาใช้วีลแชร์ แต่งานนั้นเขาใช้วอล์กเกอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่เคยเดินวอล์กเกอร์ได้นานเกิน 10 นาที แต่วันนั้นเขาเดิน 2 กิโลฯ ใช้เวลาไปเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งเห็นแบบนั้นแล้วทำให้เราถามตัวเองว่า เราอดทนได้ขนาดนั้นหรือเปล่า มันสอนเราจริง ๆ ว่าที่เราเจอมาเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ถ้าอนาคตอะไรเกิดขึ้นกับผม ผมก็จะใช้น้อง ๆ เหล่านี้เป็นแบบอย่าง”

นอกจากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นส่วนตัวแล้ว ครูอ้วนยังมองว่า กิจกรรมนี้ยังเป็นการส่งสารและส่งแรงบันดาลใจถึงผู้คนในสังคมด้วย

“โครงการนี้สำคัญกับเขายังไง ผมตอบแทนให้ไม่ได้ แต่ผมว่ามันสำคัญต่อเราทุกคนในสังคมมากกว่า คุณได้ดูโฆษณายิ้มสู้ของน้องธันย์มั้ย (โฆษณาที่ ธันย์ ณิชชารีย์ ดำน้ำสกูบา โดยปราศจากขาทั้งสองข้าง) วันที่โฆษณาออนแอร์ใหม่ ๆ ผมไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวในร้านแล้วโฆษณานี้ก็ขึ้นมาในทีวี คนทั้งร้านหันไปดู แล้วเจ้าของร้านที่เป็นเจ๊ดุ ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า ไอ้น้องคนนี้มันยังสู้เลยเนอะ พวกเราก็ต้องสู้… หมายความว่ายังไง มันหมายความว่าสิ่งที่น้อง ๆ ทำ เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนได้ ผมเชื่ออย่างนั้น”

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

[3] ณุ – “สิ่งที่เราทำ มันอาจเป็นโอกาสเดียวในชีวิตพวกเขาก็ได้”

“การทำงานอาสาสำหรับเรามันสนุก อิ่มใจ เหมือนเป็นการพักผ่อน เพราะถ้าเทียบกับสมัยก่อน พอหาเงินมาได้ เราก็แค่เอาเงินไปเที่ยว หาความสุขให้ตัวเอง แต่พอถึงจุดหนึ่ง มันก็รู้สึกโหวง ๆ เหมือนยังขาดอะไรไป สุดท้ายก็เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เราต้องทำชีวิตให้มีคุณค่าสิ ทำให้ชีวิตมีความหมาย โดยทำตัวให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้อยากทำงานอาสา”

ณุ-ภาณุพล ธนะจินดานนท์ คือผู้สอบบัญชีโดยอาชีพ แต่เมื่อไหร่ที่มีเวลาว่าง เขามักหากิจกรรมอาสาสมัครทำอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่เป็นพี่เลี้ยงอาสาจัดค่ายพาเด็กพิการเดินป่ากับกลุ่ม Nature Camp ไปจนถึงร่วมเป็นทีมงานจัดค่ายพาเด็กพิการขึ้นภูกระดึง จนมาก่อตั้งโครงการ Wheelchair Scuba เป็นของตัวเอง

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

“การทำแบบนี้มันสนุกกว่าไปเที่ยวเองเยอะมาก อย่างไปเที่ยวธรรมดา กลับมาก็ไม่มีอะไรให้จดจำเท่าไหร่ แต่เวลาที่ไปกับน้อง ๆ จะมีความสุขทุกครั้งที่ได้นึกถึง มันเป็นความอิ่มใจ เพราะกิจกรรมแบบนี้ไม่ค่อยมีใครทำ ส่วนใหญ่ที่มีก็มีแต่พาไปเที่ยวในเมือง ซึ่ง พี่ต้น ธรรมรัตน์ (หัวหน้าโครงการเดินป่าด้วยหัวใจของ Nature Camp) เคยบอกว่า สิ่งที่เราทำ มันอาจเป็นโอกาสเดียวในชีวิตเขาก็ได้ เพราะโอกาสที่เขาจะมีคนพามาแบบนี้มีน้อย และบางทีคนพิการบางคนอาจอายุสั้นกว่าคนทั่วไป เราฟังตรงนี้ก็เลยรู้สึกว่า การพาน้อง ๆ ไปเจอโอกาสแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

นอกจากได้เปิดโอกาสให้คนพิการได้ไปในทริปเหล่านั้นแล้ว ความสำคัญอีกอย่างคือ เป็นการส่งสารให้คนในสังคมด้วย ว่าคนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คนทั่วไปคิด

“คือปกติเราจะเคยได้ยินว่า คนพิการห้ามทำโน่นห้ามทำนี่ พอเราทำตรงนี้ก็ทำให้คนอื่นเห็นว่า เฮ้ย มันทำได้นะ แต่คุณต้องดูแลความปลอดภัยให้ดี มีน้องตาบอดคนหนึ่งพูดว่า พวกพี่อย่าคิดแทนผม”

เมื่อพูดถึงการที่คนทั่วไปมักคิดแทนคนพิการนั้น ณุก็ยกตัวอย่างว่า สมัยก่อนเขาเคยเจอกระทู้หนึ่งในพันทิป เจ้าของกระทู้ถามว่า อยากพาน้องชายที่ตาบอดขึ้นภูกระดึง ควรพาไปไหม ซึ่ง 5 คนแรกที่เข้ามาตอบพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ควรไปเพราะอันตราย

“จนกระทั่งคนที่ 6 ก็มาตอบว่า เขาเพิ่งเห็นกิจกรรมของกลุ่มเราพาเด็กพิการไปนะ เท่านั้น จบเลยแปลว่าน้องตาบอดคนนั้น พี่เขาจะพาขึ้นภูกระดึงแน่ ๆ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราทำโครงการนี้ก็คือ อยากเปิดมุมมองให้คนทั่วไปด้วยว่า อย่าไปปิดกั้นโอกาสเขา”

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

ด้วยแนวคิดของการไม่ปิดกั้นโอกาสนี้เอง ทำให้หลายครั้งเมื่อคนพิการที่สมัครเข้ามามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ระบุไว้ เช่น ว่ายน้ำไม่เป็น เขาก็ไม่ปัดทิ้ง แต่ก็รับมาและช่วยสอน จนกระทั่งทุกวันนี้ คนนั้นก็ดำน้ำและว่ายน้ำได้สบาย หรือแม้กระทั่งวันที่คนตาบอดคนแรกสมัครเข้ามา เขาก็ตัดสินใจลองเปิดโอกาสนั้นให้

“มันเปลี่ยนมุมเรานะ เพราะถ้าเราไปตั้งข้อจำกัดต่าง ๆ อาจไปปิดโอกาสเขา ทั้งที่เขาทำสิ่งนั้นได้ อย่างตอนที่พาเด็กพิการขึ้นภูกระดึง น้อง ๆ ที่ตาบอดนี่เดินเร็วกว่าพวกเราอีกนะ ลากเราไป พวกพี่เลี้ยงนี่ขาเดี้ยง”

ส่วนเรื่องการดำน้ำสกูบาก็เช่นกัน คนปกติอาจนึกภาพไม่ออกว่า ถ้าไม่ใช้ตีนกบหรือฟินแล้ว จะเคลื่อนที่ได้อย่างไร ซึ่งณุยืนยันว่า แค่แขนและมือก็พาพวกเขาเคลื่อนที่ใต้น้ำได้ ส่วนคนตาบอดก็จะแตะข้อศอกบัดดี้และใช้สัญญาณจากการสัมผัสแทน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ผู้คนในสังคมต้องเปิดโอกาสให้พวกเขา

“พอมาทำวีลแชร์สกูบา สิ่งหนึ่งที่กระแทกใจมากคือ คนที่สมัครเข้ามาเกินครึ่งเคยเดินได้มาก่อน ทำให้เราได้เห็นว่า ชีวิตมันโคตรไม่แน่นอน เพราะอนาคตอาจเป็นเราก็ได้ที่พิการ ทำให้หลังจากนั้นเวลาเขาเรียกร้องสิทธิ์อะไร เราก็อยากช่วย เพราะการเรียกร้องสิทธิ์ตอนนี้ จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่เพื่อพวกเขา แต่เผื่อตัวเราในอนาคตก็ได้”

ณุเล่าให้ฟังว่า มีน้องที่พิการคนหนึ่งเคยไปงานวิ่งที่เยอรมนี เขากลับมาเล่าให้ฟังว่า อยู่ที่นั่นเขาไปไหนมาไหนได้สะดวกมาก ขึ้นลงรถเมล์ด้วยตัวคนเดียวได้สบาย ตรงข้ามกับประเทศไทยที่แทบไม่มีระบบอะไรรองรับคนพิการ

“เคยคิดว่าถ้าวันหนึ่งเราพิการ เราจะกล้าออกไปไหนไหม อย่างบ้านเราอยู่นครปฐม เราแทบไม่เห็นคนพิการตามที่ต่าง ๆ เลย ทั้งที่คนพิการมีเพียบ แต่อยู่บ้าน ไม่ได้ออกมา เพราะฉะนั้นเราเลยอยากทำสิ่งนี้เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสออกมาใช้ชีวิต แต่เราก็อยากให้ระบบสาธารณูปโภคของบ้านเรารองรับด้วย”

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

[4] ธันย์ – ก้าวข้ามขีดจำกัด

“ไดฟ์แรกคือไดฟ์ที่ประทับใจมาก เพราะเป็นการลงทะเลครั้งแรก และไม่ใช่แค่ความสวยงามของโลกใต้น้ำ แต่ยังรวมถึงมิตรภาพ ทั้งครู เพื่อน และทุก ๆ อย่าง ครั้งนั้นเป็นการไปกับเพื่อนที่นั่งวีลแชร์หลายคน ได้ไปนอนในเรือด้วยกัน ได้ทำความรู้จักกัน และการที่มีคนพิการ 5 คน จับมือกันใต้น้ำ มันเป็นความพิเศษมาก ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกดีกับการดำน้ำและชอบการดำน้ำ”

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ในฐานะสาวน้อยคิดบวก ผู้เคยประสบอุบัติเหตุตกรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ จนสูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่วันที่อายุเพียง 14 ปี แต่สาวน้อยคนนี้กลับไม่เคยให้ความพิการมาทำให้หัวใจที่สดใสต้องหม่นหมองลงไป ผ่านมานับสิบปีจากวันนั้น ทุกวันนี้เธอก็ยังคงความสดใสและใช้ชีวิตทำกิจกรรมมากมาย โดยไม่ให้ความพิการมาเป็นอุปสรรค ทั้งเล่นเซิร์ฟ โดดร่ม พาราไกลดิง ไปจนถึงดำน้ำสกูบาที่เธอได้เริ่มต้นเรียนกับโครงการนี้

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

“ธันย์ได้ยินโครงการนี้ตอนอยู่ชมรมดำน้ำของมหาวิทยาลัย ตอนนั้นสนใจการดำน้ำแต่ยังไม่เคยเรียนจริงจัง พอมีคนแนะนำว่ามีโครงการนี้ ธันย์ก็รีบสมัครเลย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และได้ออกมาจากคอมฟอร์ตโซน”

แม้ว่าช่วงแรก ๆ ของการฝึก เธอเล่าว่ามีความท้าทายอยู่พอสมควร เช่น เธอมีปัญหาเกี่ยวกับไซนัสทำให้การเคลียร์หูลำบาก ไปจนถึงประสบการณ์การเคยจมน้ำสมัยเด็ก ๆ ทำให้เธอกลัวการถอดหน้ากากใต้น้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่นักดำน้ำทุกคนต้องผ่านการฝึก

“ช่วงแรก ๆ ก็กลัว ธันย์จะไม่ชอบเวลาที่เรามองไม่ชัดใต้น้ำ มันจะแพนิค แต่ธันย์ก็ใช้วิธีฝึกบ่อย ๆ ฝึกจนชินเหมือนเป็นเรื่องปกติที่เราทำในทุก ๆ วัน แล้วพอฝึกบ่อย ความกลัวก็ค่อย ๆ หายไป เพราะธันย์รู้สึกว่า มีความสวยงามมากมายรอเราอยู่ข้างหน้า ถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่ครั้งแรก มันก็จะทำให้เราไม่ได้ไปเห็นที่สวย ๆ เหล่านั้น ยังมีอีกหลายที่เลยที่เราฝันว่าอยากไป ซึ่งการฝึกนี้ก็เป็นเรื่องราวที่สอนเราด้วย ว่าบางทีเราอาจมีความกลัวหลายอย่าง แต่ถ้าเราลองทำไปเรื่อย ๆ รู้จักมันมากขึ้น ก็จะง่ายขึ้น อุปสรรคก็กลายเป็นเพื่อนของเรา”

เมื่อเธอก้าวข้ามอุปสรรคนั้นได้ ความสามารถนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อ ไม่ว่าจะจากภาพยนตร์โฆษณาที่มีเธอเป็นพรีเซ็นเตอร์ขณะดำน้ำ หรืออาชีพนักพูดสร้างแรงบันดาลใจของเธอ ที่นำเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้คนอื่นได้เห็นว่า คนพิการก็ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ และเป้าหมายต่อจากนี้ของเธอ ก็คืออยากเรียนดำน้ำไปให้ถึงระดับ Dive Master

“เราไม่ได้อยากเป็นครูสอนดำน้ำนะ แต่อยากไปให้สุด เพื่อที่เราจะได้ไปดำในจุดที่สวย ลึก หรือมีความยากกว่าเดิมได้ โดยเฉพาะอยากไปดำที่ต่างประเทศด้วย อยากรู้ว่าที่อื่นทะเลเหมือนบ้านเราไหม”

แม้ว่าโครงการ Wheelchair Scuba จะเป็นโครงการเพื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ธันย์ก็มองว่า การมีโครงการแบบนี้มีความสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เพียงเปิดโอกาสให้คนพิการเท่านั้น แต่คือเป็นการจุดประเด็นใหม่ ๆ ในสังคมด้วย

“ลองสังเกตดูว่าโครงการแบบนี้มีน้อยมาก อาจจะแค่ครั้งเดียวในหนึ่งปี ซึ่งถ้ามองผิวเผินก็เหมือนว่าแค่เป็นการพาคนพิการไปดำน้ำ แต่ธันย์ว่าถ้ามองดี ๆ มันก็เป็นการสร้างประเด็นใหม่ ๆ ในสังคม ที่ทำให้คนเห็นว่า การจัดทริปท่องเที่ยว คุณมีโอกาสที่จะเปิดให้คนพิการไปด้วยได้นะ คุณทำเรือให้คนพิการขึ้นได้นะ ธันย์เชื่อว่าคนพิการหลายคนก็มีอาชีพ มีรายได้ และเขาพร้อมที่จะซื้อความสุข แค่คุณเปลี่ยนนิดหน่อย เช่น จุดขึ้นลงเรือหรือจุดลงน้ำเท่านั้นเอง เพราะคนพิการที่ดำน้ำเป็นส่วนใหญ่ก็มีทักษะในการช่วยเหลือตัวเองพอสมควรแล้ว แค่อาจต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขาได้ใช้ชีวิต ได้ซื้อความสุขของเขาเองได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นประเด็นทางสังคมและต่อยอดต่อไปได้” หญิงสาวพลังบวกกล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้มสดใสเช่นเคย

วันนี้ธันย์และผู้พิการอีกหลายคนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดทางร่างกายของตนเองแล้ว ตอนนี้ก็เหลือเพียงสังคมที่ต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของการออกแบบแบบเดิม ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

 โครงการชวนคนพิการทั้งนั่งวีลแชร์และคนตาบอดมาเรียนดำน้ำ แล้วพาไปออกทะเลดำน้ำจนเจอฉลามวาฬ

ภาพ : Wheelchair Scuba และ ทวีรัตน์ โชคชัยเพิ่มพูนผล

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ