หากคนหนึ่งคนต้องการเป็นนักกีฬาวิ่ง แค่เพียงเขามีร่างกายที่แข็งแรง ใจที่แข็งแกร่ง และรองเท้าวิ่งดีๆ สักคู่ นั่นก็อาจจะเพียงพอให้เขาลงสนามและคว้าชัยชนะมาได้ แต่ไม่ใช่สำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก

กีฬาพาราลิมปิกคือมหกรรมการแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาผู้พิการ ที่จัดขึ้นต่อจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในทุกๆ ปี และกีฬาที่ไทยเป็นที่จับตามองไม่แพ้ชาติอื่นๆ ก็คือกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของ 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง พาราลิมปิก 5 สมัย โดยชายที่มีชื่อว่า ประวัติ วะโฮรัมย์

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับนักกีฬาพาราลิมปิก

คนทั่วไปอาจคิดว่าชัยชนะและการกวาดเหรียญจากรายการแข่งขันของเขาไม่ใช่เรื่องยาก แค่มีวีลแชร์ดีๆ สักคันเช่นเดียวกับรองเท้าของนักวิ่ง แต่แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จของเขามีมากกว่านั้น เพราะต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจปลุกปั้นให้รถหนึ่งคัน ส่งพลังขับเคลื่อนนักกีฬาผู้พิการไปให้ถึงเส้นชัย

วันนี้เราเลยมานั่งล้อมวงคุยกับนักกีฬาพาราลิมปิกขวัญใจชาวไทย รวมถึง บี-ภัทรพันธุ์ กฤษณา อุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และผู้เป็นทั้งเจ้าของบริษัท สวัสดีโปรเมท จำกัด โรงงานผลิตวีลแชร์ที่มีช่างอย่าง จันทร์ นิลบ่อ เป็นฝ่ายซ่อมบำรุง และ ชาตรี แซ่เตียว ฝ่ายวิศวกรร่วมออกแบบการสร้างวีลแชร์เรซซิ่งในครั้งนี้ ถึงความสำคัญว่าทำไมในการแข่งขันกีฬาคนพิการ การใช้รถที่ดีถึงมีผลต่อความสำเร็จ

“ถ้าเป็นคนปกติใส่รองเท้าปกติก็วิ่งได้แล้ว มีแค่เฉพาะร่างกายและจิตใจยังไงก็สู้ได้ แต่สำหรับนักกีฬาผู้พิการ อุปกรณ์และจิตใจสำคัญที่สุด”

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับนักกีฬาพาราลิมปิก

Wheelchair Racer

ก่อนอื่นเราควรรู้ก่อนว่ากีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่ประวัติ วะโฮรัมย์ ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร เท้าความกันถึงครั้งแรกที่เขาเริ่มต้นเล่นกีฬาชนิดนี้ด้วย ว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจจะเป็นนักกีฬา รวมถึงประสบการณ์บนวีลแชร์ที่เขาได้รับ มาบอกเล่าให้เราได้ฟังกัน

ประวัติ คือนักกีฬาผู้พิการทีมชาติไทยที่สูญเสียขาจากโรคโปลิโอตั้งแต่ยังเด็ก “ครั้งแรกผมไม่ได้คิดที่จะมาเล่นกีฬาเลย ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าอยากจะมารักษาขาให้พอเดินได้ ผมก็มาจากสระแก้ว เข้ามาที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดนนทบุรี ทีนี้เขามีกีฬาวีลแชร์สอนอยู่ที่นั่นด้วย โดยอาจารย์ที่ฝึกสอนคือ อาจารย์สุพจน์ เพ็งพุ่ม ทีแรกก็ไม่ได้คิดที่จะไปถึงพาราลิมปิกหรอก เราแค่อยากลองเล่นดูเฉยๆ ซ้อมอยู่เกือบปีเหมือนกัน จากนั้นอาจารย์เขาก็บอกให้ลองไปแข่งดูไหม ครั้งแรกที่ไปแข่งก็คือที่ซิดนีย์เลย ตอนคัดตัวเราก็ติดคนที่แปด ติดคนสุดท้ายพอดี เลยเป็นจุดเริ่มต้นของนักกีฬาพาราลิมปิกของผม”

แต่เห็นประวัติเล่าให้เราฟังง่ายๆ แบบนี้ แท้ที่จริงแล้ว การเล่นกีฬาของเขาเป็นความท้าทายอย่างมาก จนอาจเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยอุปสรรคเลยก็ว่าได้

“ผมคิดว่ากีฬาวีลแชร์เรซซิ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ผมเห็นรุ่นพี่มาซ้อมก่อนผม มันทำให้ผมอยากซ้อม อยากเล่น อย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกายเป็นอันดับหนึ่งเลย สองคือได้แสดงความสามารถด้วย แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด การนั่งวีลแชร์เนี่ย พอลงไปนั่งแล้วมันเหมือนเรานั่งคุกเข่าอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ครั้งแรกที่ผมลงนั่งคือเป็นตะคริวครึ่งตัวเลย ทรมานนะ วันที่ผมซ้อมปั่นครั้งแรก ผมก็ร้องไห้ไปด้วย รู้สึกท้อเหมือนกัน” แต่สิ่งที่ทำให้เขามีกำลังสู้ต่อคือการเห็นรุ่นพี่ที่ซ้อมก่อนหน้า ด้วยพลังที่เชื่อว่าถ้าพวกเขาทำได้ เขาเองก็ทำได้เช่นกัน

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

และอุปสรรคต่อมาก็คือเรื่องของอุปกรณ์ที่เขาต้องใช้ลงแข่ง นั่นคือรถวีลแชร์สำหรับแข่ง ซึ่งเป็นรถที่เขาต้องรับช่วงต่อมาจากรุ่นพี่ ด้วยงบประมาณต่อคันที่มีราคาสูงมาก จึงไม่สามารถทำให้เขามีรถของตัวเอง แต่สำหรับผู้พิการแล้ว รถก็มีขนาดต่างกันไปตามลักษณะความพิการของแต่ละคน ทำให้แม้ว่าจะมีรถ แต่ถ้ารถวีลแชร์นั้นไม่เหมาะกับขนาดตัว ก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งในการแข่งขัน เหมือนเราใส่รองเท้าที่คับเกินไปหรือหลวมเกินไป ก็ทำให้วิ่งได้ไม่ถนัดนัก

แม้ด้วยความไม่พร้อมของรถ เขากลับคว้า 3 เหรียญทองในประเภท 5,000 และ 10,000 เมตร T54 จากการแข่งขันพาราลิมปิกที่ซิดนีย์ เมื่อ ค.ศ. 2000 มาได้

“ไหนๆ ก็เล่นแล้ว ผมเลยคิดว่าจะลองสู้ดูสักตั้ง อยากทำให้มันสำเร็จ พอตอนที่ได้เหรียญทองแล้ว มันเหมือนฝันไปนะ เพราะการไปแข่ง เราต้องไปแข่งกับแชมป์โลก ผมเห็นเขามีรถแข่งที่ล้ำกว่าของเรามาก แล้วทุกคนก็จะบอกว่าเขาเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ใจเรามันก็ฝ่อไปเยอะเหมือนกัน แต่พอไปได้เหรียญมามันก็เหมือนเป็นกำไรชีวิต” 

เมื่อถึงเวลาลงสนามจริง รถที่ประวัติใช้แข่งก็ต้องใช้ทั้งแรงและกำลังที่มากกว่า เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่พร้อม รถที่ไม่เหมาะกับเขา นับว่าเป็นความลำบากอย่างมาก เพราะมีผลต่อตัวนักกีฬาโดยตรง เนื่องจากจะทำให้เขาบาดเจ็บได้เร็วกว่านักกีฬาต่างประเทศ จึงถึงเวลาที่ความช่วยเหลือจะมาถึงมือ

Wheelchair Makers

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

เมื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคจากเรื่องเล่าของประวัติแล้ว ความร่วมมือเพื่อพัฒนาวีลแชร์เรซซิ่งที่เปรียบเสมือนอวัยวะชิ้นสำคัญ ซึ่งจะพาพวกเขาไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ได้ก็เริ่มต้นขึ้น

โตโยต้าประเทศไทยจึงเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้พัฒนารถวีลแชร์ ในฐานะผู้คร่ำหวอดและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อนมาโดยตลอด

ด้วยการไม่ยอมให้อะไรมาจำกัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แม้กระทั่งกับผู้พิการที่มีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนไหว พวกเขาเองก็ควรมีสิทธิ์เริ่มต้นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นี้ได้เช่นกัน โตโยต้าจึงพัฒนาการทำวีลแชร์เรซซิ่งอย่างจริงจัง ถึงขั้นลงไปค้นหาทีมวิศวกรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพื่อให้วีลแชร์ช่วยสนับสนุนนักกีฬาได้จริงอย่างที่ตั้งใจ

และเนื่องด้วยในประเทศไทยมีโรงงานผลิตวีลแชร์อยู่แล้ว นั่นก็คือโรงงานของ บี ภัทรพันธุ์ ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความพิเศษ คือทุกฝ่ายที่ผลิตรถวีลแชร์ล้วนมาจากฝีมือผู้พิการ ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงเกิดขึ้นได้ที่นี่

จึงถือว่ารถแข่งที่ได้มานั้นถูกผลิตในประเทศไทย โดยคนไทยอย่างแท้จริง

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

“การทำงานของเราเริ่มต้นตั้งแต่โตโยต้าเข้าไปคุยกับทีมงานเราที่โรงงาน แล้วส่งคาร์บอนสำเร็จรูปมาให้เราลองกัน ด้วยความโชคดีที่บริษัทเราเป็นตัวแทนจำหน่ายเจ้าเดียวในประเทศไทย และเคยมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำวีลแชร์ระดับโลก

“ปัญหาคือเราไม่เคยทำวีลแชร์เรซซิ่งแบบนี้มาก่อน เลยต้องมีวิศวกรกับช่างที่ใช้ประสบการณ์เป็นสิบๆ ปีมาช่วยกันทำ เพราะรถแบบนี้ไม่มีอะไหล่นะ ต้องเป็น Custom Made ทั้งหมด เราก็ถอดแบบแล้วปรับแก้มาเป็นของเราเอง”

ซึ่งรถวีลแชร์ที่ใช้สำหรับการแข่งขันนี้มีความต่างจากรถวีลแชร์ปกติ นอกจากนั้นวีลแชร์ที่ใช้สำหรับแข่งแต่ละประเภทกีฬา ก็ต้องใช้รถที่ต่างกันคนละแบบอีกด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุให้รถแข่งวีลแชร์เรซซิ่งมีราคาสูง และต้องเป็นแบบ Custom Made เท่านั้น 

“โห ต่างมากเลยกับวีลแชร์ปกติ ต้องคำนึงทั้งเรื่องน้ำหนัก มุมล้อ และการปรับศูนย์ บางทีเราก็ต้องดีไซน์ให้มันโค้ง เพื่อต้องการให้ขย่มตรงกลางแล้วช่วยส่งแรงกระแทกไปได้อีก มันมีเทคนิคเยอะและหลากหลายมาก ซึ่งตรงนี้คนทำเองก็ต้องเรียนรู้ ว่าจะต้องดีไซน์ออกมาให้ได้เปรียบในการแข่งขันได้ยังไง โดยที่ก็ต้องเป็นไปตามตามกติกาด้วย

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

“ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เรานำมาเป็นความรู้เรื่องรถจากต่างประเทศ แล้วก็จากตัวนักกีฬาด้วย เพราะเขาต้องเป็นคนที่ใช้เอง” บีบอกเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การทำรถให้นักกีฬาใช้ลงแข่งเปรียบเสมือนการตัดเสื้อผ้า ที่ต้องให้ตัวนักกีฬามาตัดเองจนกว่าจะพอใจ เพราะการเล่นกีฬาของคนพิการมีความพิการไม่เท่ากัน 

“ทุกคนมีความพิการไม่เท่ากัน ความสามารถตรงนี้ คนนี้ดีกว่า คนนั้นด้อยกว่า ขาขาดสูงต่ำต่างกันล้วนมีผลทั้งสิ้น อัมพาตระดับใต้สะดือหรือเหนือสะดือ ก็มีความอ่อนแอและความแข็งแรงแตกต่างกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น การออกแบบ สไตล์การเล่น ก็เลยไม่เหมือนกัน 

“คำว่ารถกีฬาคนพิการถึงไม่มีคำว่า Standard ต้องเป็น Custom Made อย่างเดียว มันเลยยากเพราะไม่มีใครทำ ถ้าไม่มีโตโยต้ามาสั่งทำรถ พี่เองก็คงไม่ทำ เพราะพี่ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายใคร บ้านเราสนับสนุนเฉพาะนักกีฬาที่ติดทีมชาติแล้ว เพราะลงทุนคันหนึ่ง คันละเป็นแสน จะซื้อไปให้เด็กนักเรียนเล่น ไม่มีใครให้หรอก นอกจากต้องรอของเก่า” 

นี่จึงเป็นจุดประสงค์ของการสร้างวีลแชร์เรซซิ่งในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้นักกีฬารุ่นพี่อย่างประวัติได้ใช้ลงสนาม รวมถึงใช้ฝึกซ้อม และต่อมาก็เพื่อเป็นต้นทุนให้กับเด็กๆ เยาวชนผู้พิการให้ได้นำไปฝึกซ้อมตามรุ่นพี่ที่พวกเขารักและฝันอยากจะเป็นให้ได้ในสักวันหนึ่ง

นฤมล สืบศรี เจ้าหน้าที่อาวุโสแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมถึงจุดประสงค์ว่า “เพราะเรามีเยาวชนที่ต้องเก็บตัวซ้อมอยู่ด้วยเหมือนกัน การได้วีลแชร์มาก็ทำให้พวกเขาได้ฝึกซ้อมเสมือนจริง อีกอย่างคือเราก็จะส่งไปที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ที่เป็นโรงเรียนคนพิการ ให้เด็กๆ ได้ใช้ฝึกซ้อมเล่นกัน นอกจากนั้นรถวีลแชร์ก็จะถูกจัดสรรไปให้กับผู้พิการทางด้านสมองได้ใช้ฝึกซ้อมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับรถทั้งสิบคันนี้ที่เราได้มา” 

และด้วยประสบการณ์ของบีที่เคยมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาเฟสปิกเกมส์ หรือกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกลและแปซิฟิกตอนใต้ เขาก็บอกว่าศักยภาพนักกีฬาผู้พิการชาวไทยเราเก่งมาก เพียงแต่ขาดการสนับสนุน

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

“ตอนนั้นเราพลิกโฉมสังคมจากกีฬาเฟสบิกเกมส์ เด็กนักกีฬาหลายคนไม่เคยเล่นกีฬาเลย แต่ตอนนั้นเราจำเป็นต้องส่งนักกีฬาเข้าไปแข่งขัน ผลคือไทยได้เหรียญรวมเยอะเป็นอันดับสองของเอเชีย ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ มันเลยเป็นผลให้เห็นว่าถ้าคนพิการบ้านเราได้รับการสนับสนุน มันจะไปได้

 “นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งไทยเป็นถึงอันดับหนึ่ง อันดับสองของโลกนะ เราไม่ได้สู้กันที่นักกีฬาอย่างเดียว เราสู้กันที่เทคโนโลยีด้วยต่างหาก สำหรับทุกกีฬาที่ต้องใช้วีลแชร์เลย เราสู้กันตรงนี้จริงๆ” 

Wheelchair Racing

“การดัดแปลงรถยากมากตรงที่เราต้องทำการบ้าน เพราะเราไม่มีวัตถุดิบในมือเฉพาะสำหรับการสร้างวีลแชร์เรซซิ่ง และเราจะต้องคุมราคาให้อยู่ในงบประมาณด้วย เราเลยต้องหาล้อมาจากที่หนึ่ง ซี่ลวดมาจากอีกที่หนึ่ง ตัวแกนก็ต้องทำเอง ขั้นตอนในการทำก็ยากมาก เพราะต้องถอดแบบของญี่ปุ่นมา ถ้านักกีฬาไม่รู้ว่าแข็งแรงไหม เขาก็ไม่กล้านั่งนะ อย่างรถสิบคันที่เราทำออกมาก็ต้องทดสอบแล้วว่าแข็งแรงจริงๆ เราให้คนหนักแปดสิบกิโลไปยืนเหยียบคานแล้วไม่มีสะดุ้งเลย นักกีฬาถึงจะมั่นใจได้” 

ซึ่งตรงส่วนการออกแบบต้องหันไปถามกับทางทีมวิศวกรอย่างพี่ชาตรี ว่าความยากของรถวีลแชร์แบบนี้อยู่ที่ตรงไหน 

“เราได้โจทย์ในเรื่องของงบประมาณ ความแข็งแรง ระยะเวลาการผลิต แล้วก็เทคนิคการผลิตต่างๆ มา ทางทีมช่างก็มานั่งคุยกัน ว่าเราจะใช้วัสดุอะไรบ้าง ในประเทศหาอะไรได้บ้าง หาอะไรไม่ได้บ้าง” 

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก
HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

อย่างการดีไซน์รูปแบบของตัวรถ ทางทีมวิศวกรก็ต้องนั่งแกะชิ้นต่อชิ้นเพื่อให้ใกล้เคียงรถต้นแบบมากที่สุด 

“ต่อมาคือแล้วเราจะผลิตยังไง เราก็ได้เทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์จากทางโตโยต้ามา จากนั้นเราก็มานั่งดูว่าเราจะออกแบบตัวรถยังไง เราก็ตกลงกันว่าเราจะทำแบบคานโค้ง เพราะว่าเวลาปั่นจะสปริงตัวได้ดี สำหรับตัวโครงสร้างเราเลยใช้เป็นสปริงเกรด ต่อมาเป็นวัตถุดิบอะไหล่ คือตัวสปริงเกรดและเพลาล้อ 7075 ซึ่งเป็นอะลูมิเนียมอัลลอยด์ที่แข็งมากและไม่เป็นสนิม จากนั้นเราก็มาดีไซน์เรื่องตัวองศา ความยาวตัวรถ รวมถึงไซส์รถที่นักกีฬาจะมานั่ง

“ในการผลิตเราใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดเลย ซึ่งเรียกว่าเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) มีความแม่นยำสูงมาก เป็นระบบไมครอน แล้วเราก็เคลือบชั้นที่สองด้วยคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อให้ข้อแข็งแรงขึ้น ซึ่งเราก็ถอดแบบทุกอย่างมาจากญี่ปุ่น ทำให้ใกล้เคียงเขามากที่สุด ซึ่งรถคันนี้ที่เราทำออกมาก็มีความใกล้เคียงอยู่ที่ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์” 

บีบอกกับเราว่า ครั้งที่ทำวีลแชร์เรซซิ่งตั้งแต่เฟสบิกเกมส์ ตัวรถยังไม่เคยถูกออกแบบและใช้อะลูมิเนียมเกรดดีขนาดนี้ โดยรถที่ถูกออกแบบใหม่นี้เป็นทรงแบบแอโรไดนามิก ซึ่งทำให้ลดแรงเสียดทานจากลู่แข่งขัน นับว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นของวีลแชร์เรซซิ่งที่ประเทศไทยและคนไทยทำได้

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

และหากเทียบกัน กีฬาบางประเภทต้องมีหมอและนักกายภาพบำบัดเพื่อคอยดูแลนักกีฬา แต่สำหรับกีฬาของผู้พิการช่างซ่อมบำรุงก็สำคัญไม่แพ้กัน 

จันทร์คือช่างที่จะต้องไปคอยอยู่ข้างสนามทุกการแข่งขันด้วยเสมอ “เวลามีแข่งระดับเอเชีย หรือระดับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ พี่ต้องพาเขาไปด้วยนะ พอรถพัง เขาต้องรีบเข้าซ่อมก่อนเลย ไม่งั้นจะเอาคนที่ไหนไปขนรถเป็นสิบๆ คัน นี่เลยเป็นหน้าที่สำคัญที่ทุกครั้งเราต้องมีช่างซ่อมบำรุงไปด้วย

Wheelchair Racing Next Step

มาจนถึงวันนี้ วันที่รถวีลแชร์เรซซิ่งถูกส่งจนถึงมือของนักกีฬาผู้พิการแล้ว เราอาจจะยังไม่ได้เห็นความสำเร็จเป็นเหรียญรางวัลลอยมาถึงมือได้ในทันที แต่นี่เปรียบเสมือนอีกก้าวของความพยายามที่จะไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมให้ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ มาเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ

นฤมล ตัวแทนสมาคมคนพิการและพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย จึงตั้งเป้าหมายว่าพาราลิมปิกที่โตเกียว ปี 2020+1 จะใช้รถวีลแชร์เรซซิ่งนี้เพื่อพัฒนานักกีฬาไปคว้าชัยชิงเหรียญมาให้ได้ และจะถูกนำไปสร้างนักกีฬาหน้าใหม่ๆ ขึ้นไปสู่วงการพาราลิมปิกต่อไป 

“เราคิดว่ามันถึงเวลาที่เราต้องสร้างเยาวชนแล้วล่ะ เพื่อให้รุ่นพี่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงต่อไป ไม่ใช่พอเขาเลิกแข่งหรือแข่งจบ ความรู้มันก็หายไปกับเขา ถ้าเรามีอุปกรณ์เยอะ เราก็จะลงไปตามโรงเรียนได้เยอะ แต่ตอนนี้สอนไปเขาก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีอุปกรณ์ให้เขาได้ซ้อมกัน”

บีถึงกับบอกเราว่ามีเด็กๆ ผู้พิการที่สนใจการเล่นกีฬามาก แต่เพราะขาดอุปกรณ์ ทำให้การพัฒนากีฬาของพวกเขาเป็นไปได้ยาก“อย่างที่บอก ทุกสิ่งทุกอย่างราคาแพงมาก เพราะ Custom Made เองทั้งหมด ทุกวันนี้เราเลยไม่มีเด็กๆ มาเล่น เพราะเราไม่มีอุปกรณ์ ถ้าอยากเล่นก็ต้องไปดัดแปลงรถกันเอง แต่พอไม่สามารถใช้รถนั้นแข่งขันได้ก็ไม่มีประโยชน์ เวลาฝึกซ้อมถ้าไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหมือนแข่งจริง เด็กจะพัฒนายากและช้า

“ตอนนี้กีฬาพาราลิมปิกแข่งกันเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก วันหนึ่งเราเองก็อยากเห็นว่าถ้าไปใช้ในสนามจริงแล้ว มันจะเป็นยังไง แล้วมันจะไปได้ไกลขนาดไหน ยิ่งถ้าประวัติเอารถลงสนาม เด็กๆ ต้องกรี๊ดแน่เลย” นฤมลบอกติดตลก

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก
HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

นอกจากเรื่องรถยนต์ที่โตโยต้าทำเพื่อช่วยนักกีฬาผู้พิการแล้ว การจ้างงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป เนื่องจากนักกีฬาผู้พิการเอง เมื่อหมดช่วงเก็บตัวเพื่อแข่งขันรายการต่างๆ พวกเขาก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีรายได้ แต่พวกเขาก็มีครอบครัวที่จะต้องเลี้ยงดูเช่นกัน ซึ่งทางโตโยต้าก็ได้มอบโอกาสนั้นให้กับเหล่าผู้พิการในการนำร่องจ้างงานผู้พิการต่อไป รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการเก็บตัวเด็กๆ เยาวชนผู้พิการที่วันหนึ่งจะฉายแสงเช่นเดียวกับประวัติอีกด้วย

การเดินทางในเส้นทางของนักกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการไม่ง่ายเลย เพราะนอกจากเขาจะต้องต่อสู้กับร่างกายที่เจ็บปวดง่ายกว่า จิตใจเขาต้องอดทนและใช้ความพยายามอย่างมากในการพาตัวเองไปให้ถึงเส้นชัย แต่ด้วยใจที่ไม่ยอมให้อะไรมาขวางความสำเร็จ อวัยวะติดล้อสุดไฮเทคนี้จึงถูกพัฒนาผ่านความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยให้เหล่านักกีฬาไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ

“ผมดีใจนะที่เด็กๆ รุ่นน้องให้ผมเป็นขวัญใจ หรือ Sport Hero ของเขา ดีใจที่คนเอาสิ่งที่เรามุ่งมั่นแล้วก็ความพยายามของเรามาเป็นกำลัง และผมก็ดีใจมากๆ ที่วันนี้สิ่งที่เราทำสำเร็จ ได้สร้างความฝันและการสนับสนุนอื่นๆ มาสู่พวกเขาด้วย เขาจะได้มีกำลังใจต่อสู้กับสิ่งที่เขากำลังฟันฝ่าอยู่ต่อไป” ประวัติกล่าว

นี่เองจึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวของโตโยต้าเช่นกัน ที่พลิกโฉมหน้าจากเจ้าแห่งวงการยานยนต์สู่องค์กรแห่งการขับเคลื่อน หรือ Mobility Company โดยการเข้ามาสนับสนุนการทำวีลแชร์เรซซิ่งแก่นักกีฬาผู้พิการ ด้วยความเชื่อที่มีเสมอมาว่า “เมื่อมีอิสระในการเคลื่อนไหว อะไรก็เป็นไปได้” 

HERO OF CHANGE สร้างชัยชนะที่จับต้องได้ด้วยการพัฒนาวีลแชร์ของบริษัทรถกับ นักกีฬาพาราลิมปิก

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ