The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ยิว-กรรณิการ์ ศรีวิจา วัย 12 ปี ยังเดินเหินได้คล่องแคล่ว การมาเฝ้าคุณตาซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปอดที่โรงพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เธอได้พบกับพี่ๆ นักเรียนพยาบาลที่คอยดูแลคุณตาด้วยความห่วงใยเหมือนญาติมิตร ความประทับใจค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากทำงานที่ได้ดูแลคนอื่นเช่นกัน

“ความฝันเดียวคือการเป็นพยาบาล” ยิวเล่ายิ้มๆ ว่า ตอนที่สอบแอดมิชชันปีแรกไม่ติดพยาบาล เธอเลือกเรียนครูเคมีอย่างไม่ลังเล เพื่อนำความรู้ที่จะได้เรียนในปีนั้นไปใช้สอบพยาบาลอีกครั้งในปีต่อมา และครั้งนี้เธอสอบเข้าเป็นนักเรียนพยาบาลได้สำเร็จ

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

หนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา ยิวประสบอุบัติเหตุ กระดูกสันหลังส่วนทรวงอกได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ส่งผลให้ลำตัวและขาไม่รับรู้ความรู้สึก และไม่มีแรงที่จะเดินได้ 

เธอสูญเสียความสามารถในการเดินไปตลอดชีวิต ความฝันในการเป็นพยาบาลที่เธอใฝ่ฝันมาตลอดพร่ามัวจนแทบมองไม่เห็น ยิวใช้เวลากว่าสองปีฟื้นฟูร่างกายที่บอบช้ำและความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ก่อนลุกขึ้นมาพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เธอทำอาชีพพยาบาลที่รักได้ ​แม้จะเป็นผู้พิการเองก็ตาม 

ยิวเป็นนักศึกษาพยาบาลคนแรกของประเทศไทย ที่จบการศึกษาและสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาลบนวีลแชร์ 

ทุกวันนี้เธอเป็นพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยเหลือผู้คนมาแล้วนับพันชีวิตด้วยสองล้อของเธอ และเป็นต้นแบบของผู้พิการหลายๆ คน จากเรื่องราวที่เธอบอกผ่านเฟซบุ๊กเพจ บันทึกจากวีลแชร์ ที่มีผู้ติดตามกว่า 40,000 คน 

และนี่คือภารกิจแห่งชีวิตของยิว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

01

เส้นทางแห่งการเยียวยาผู้คน

พยาบาลศาสตร์ เป็นศาสตร์เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยที่เน้นการบริการตัวต่อตัวกับผู้ป่วย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจไปจนถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่จะต่อสู้การคุกคามของโรคได้ดีที่สุด ทำให้พยาบาลมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก ต่างจากแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษา

ผู้บุกเบิกพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่และยกระดับให้วิชาชีพพยาบาลได้รับการยอมรับอย่างมีเกียรติเท่าเทียมในสังคม คือ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลชาวอังกฤษผู้ทุ่มเทดูแลทหารในสงครามและคนยากไร้ 

เธอพัฒนาและจัดระบบการดูแลเยียวยาของพยาบาลให้ครอบคลุมในหลายมิติ ทำให้ประสิทธิภาพในการฟื้นตัวและหายดีของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในช่วงศตวรรษที่ 19 เธอทำงานอย่างหนักและสร้างนวัตกรรมให้การพยาบาล จนผู้คนต่างขนานนามเธอว่า ‘สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป’ (Lady of The Lamp)

ยิวอธิบายว่า ปีแรกของการเป็นนักเรียนพยาบาล พวกเธอต้องเรียนภาคทฤษฎีเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ทั้งหมด โดยเฉพาะสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์ “อธิบายง่ายๆ คือเราต้องทำความเข้าใจความปกติของทุกระบบการทำงานในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจไปจนถึงระบบประสาท”

จากนั้นปี 2 จึงเริ่มวิชาภาคปฏิบัติ หัดทำหัตถการซึ่งหมายถึงการรักษาผู้ป่วย โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทุกประเภท เช่น ฉีดยา เจาะเลือด และให้น้ำเกลือ “ภาคทฤษฎี ปีนี้ยากและเข้มข้นขึ้น เพราะเรียนเรื่องจุลชีววิทยาและพยาธิสภาพ เราต้องทำความเข้าใจและแยกให้ได้ว่า แต่ละโรค แต่ละความผิดปกติ ในระบบการทำงานของร่างกายแสดงอาการแตกต่างกันยังไง” 

ยิวนิ่งคิดถึงเรื่องราวสมัยเป็นนักเรียนพยาบาล “ปีสาม เราต้องฝึกงานและขึ้นวอร์ดถึงเจ็ดเดือนครึ่ง วอร์ด (Ward) คือหอพักผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล การขึ้นวอร์ดก็คือการเข้าเวร เช้า สาย บ่าย ดึก เพื่อดูแลผู้ป่วยในหอพักเหล่านั้น

“การดูแลผู้ป่วยแต่ละเคสนั้นแตกต่างกันไปตามลักษณะโรคและอาการเจ็บป่วย โดยต้องอาศัยความต่อเนื่องและการวางแผนจากข้อมูลที่แม่นยำ ดังนั้นเราต้องเขียนรายงานทุกอย่างอย่างละเอียด วันนี้คนไข้มีไข้เท่าไหร่ ความดันเท่าไหร่ ปัสสาวะเป็นยังไง ต้องตอบคำถามอาจารย์หมอและอาจารย์พยาบาลให้ได้ว่าอาการป่วยไข้ของผู้ป่วยแต่ละเคส เราจะปฏิบัติการยังไง 

“เราต้องแม่นยำทั้งข้อมูลในเชิงทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ห้ามมีข้อผิดพลาด เพราะนี่คือการทำงานกับชีวิตคน” 

กว่า 7 เดือนแห่งความเหน็ดเหนื่อย เป็นเหมือนสัญญาณให้รู้ว่า นี่คือชีวิตการเป็นพยาบาลที่จะต้องพบเจอเมื่อเรียบจบไป ยิวบอกว่าปีนี้เป็นปีที่เหล่านักเรียนพยาบาลถอดใจกันมากที่สุด คำถามมากมายวนเวียนอยู่ในใจว่า เส้นทางแห่งการเยียวยาและดูแลผู้คน ยังเป็นเส้นทางที่พวกเธอพร้อมจะเสียสละก้าวเดินหรือไม่

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์
กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

02

คุณค่าที่ไม่มีวันเสื่อมสลายไป

วิชาจิตวิทยาพยาบาลเป็นหนึ่งในวิชาที่ยิวสนใจ วิชานี้มีเรียนทุกปี ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 ของการเป็นนักเรียนพยาบาล 

“คำพูดของอาจารย์ที่ยังอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้ ‘การเป็นพยาบาล ใครจะเป็นก็ได้ แต่การเป็นพยาบาลที่ดี มันเป็นกันยาก’ ภายใต้สภาวะเครียดและตื่นกลัวของผู้ป่วย แน่นอนว่าพยาบาลที่ใกล้ชิดเขา ย่อมได้รับความเครียดและกดดันไปด้วย การจะปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะแบบนั้น ต้องอาศัยจิตใจที่แข็งแกร่งและเปี่ยมไปด้วยเมตตา” 

แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการเจาะเลือด ก็มีจิตวิทยาพยาบาลซ่อนอยู่ “ถ้าเราเจาะเลือดผู้ป่วยครั้งแรกไม่สำเร็จ นั่นหมายถึงเขาต้องเจ็บอีกครั้งที่ต้องให้เราสอดเข็มเข้าไปในร่างกาย อาจารย์สอนให้เราคิดไว้เสมอว่าถ้าเป็นตัวเราเอง หรือเป็นญาติเรา เราอยากให้ญาติเราเจ็บซ้ำๆ มั้ย ดังนั้นต้องรอบคอบ ชีวิตคนหนึ่งคนฝากไว้กับเรา เราต้องรับผิดชอบชีวิตเขาอย่างสุดความสามารถ” เธอเอ่ยด้วยเสียงจริงจัง

ขึ้นปี 4 นักเรียนพยาบาลต้องฝึกงานต่ออีก 5 เดือน การปฏิบัติงานเหมือนพยาบาลในโรงพยาบาลทุกอย่าง และไม่มีอาจารย์พยาบาลมาคอยสอนหรือส่งเคสผู้ป่วยรายต่างๆ ให้อีกแล้ว ถือเป็นบททดสอบสุดท้าย ก่อนที่เหล่านักเรียนพยาบาลจะเรียนจบออกไปปฏิบัติหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขจริงๆ

“ตอนนั้นเหลือเวลาฝึกงานอีกแค่เดือนเดียว เราก็จะเรียนจบเป็นพยาบาลวิชาชีพ ได้ทำงานดูแลคนอื่นอย่างที่ฝันไว้ แต่เราประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียก่อน ทำให้กระดูกสันหลังส่วนทรวงอกได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ส่งผลให้ลำตัวและขาไม่รับรู้ความรู้สึก และไม่มีแรงที่จะเดินได้

“ความรู้ทั้งหมดที่เรียนมา ทำให้ประเมินด้วยตัวเองได้ทันทีว่าเราอาการหนัก ถึงคุณหมอจะยังไม่ยืนยัน แต่ในใจเราก็คิดว่าคงมีโอกาสที่จะกลับไปเดินไม่ได้อีก และถ้าเดินไม่ได้ เราก็จะเป็นพยาบาลไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลอดเวลาที่ฝึกงาน เราต้องใช้ขาสองข้างเดินกระฉับกระเฉงดูแลผู้ป่วย ถ้าสูญเสียขาไป จะทำหน้าที่นี้ได้ยังไง ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่สภาวะจิตใจมันสับสน หวาดวิตกไปหมด ยิ่งเรารู้ เราประเมินได้ เรายิ่งกลัว”

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์
กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

ยิวเล่าว่า เธอใช้เวลาทำกายภาพบำบัดทั้งหมดเกือบสองปี ความฝันที่จะได้เป็นพยาบาลวิชาชีพเลือนรางไปทีละน้อย

สองเดือนแรกหลังจากประสบอุบัติเหตุ การกายภาพบำบัดทำให้เธอกระดิกนิ้วเท้าได้เล็กน้อย จากนั้นเธอกลับมาอยู่บ้านในฐานะผู้ป่วยเรื้อรังที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

“ต้องมีคนมาพลิกตัวให้เราทุกๆ สองชั่วโมง อยากไปไหนก็ต้องมีคนอุ้มไป ยิ่งเห็นเพื่อนๆ ถ่ายรูปเรียนจบกัน ชีวิตที่วนอยู่กับการมีความหวังที่จะกลับไปเดินได้จึงหมดหวังไปเรื่อยๆ ทำให้เรายิ่งดาวน์ถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้า

“จนถึงวันที่คิดได้ว่า เราต้องหยุดคิดเรื่องกลับไปเป็นพยาบาล สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือโฟกัสที่การรักษาตัวเองก่อน ทำยังไงถึงจะกลับไปดูแลตัวเองได้ ไม่มีขาแต่เรายังมีชีวิตอยู่ จึงตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง 

“คุณหมอแนะนำให้เราลองฝึกใช้วีลแชร์ ขณะเดียวกันก็ฝึกกายภาพในการทรงตัว การเดิน การยืนไปด้วย ถือเป็นประโยชน์ทั้งสองทาง หกเดือนหลังจากนั้น วีลแชร์กลายเป็นขาที่พาเราออกจากความสิ้นหวัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเพจเฟซบุ๊ก ‘บันทึกจากวีลแชร์’

“ทุกวันนี้เราช่วยเหลือตัวเองได้หมด ขึ้นลงวีลแชร์ ใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เดินทาง ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมสนุกๆ เราไม่ขอความช่วยเหลือจากใครมาก ยกเว้นทางที่เราไปไม่ได้จริงๆ ถึงจะขอความช่วยเหลือ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง แม้ว่าจะสูญเสียคุณค่าบางอย่างไป แต่เราสร้างคุณค่าบางอย่างเพิ่มขึ้นมาทดแทนได้เสมอ” ยิวเล่าพร้อมรอยยิ้ม

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์
กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

03

กำลังสำคัญของทีมแพทย์

ยิวเล่าว่าเพจเฟซบุ๊ก ‘บันทึกจากวีลแชร์’ ที่ตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 40,000 คน เดิมเป็นเพจที่เธอตั้งใจทำไว้ขายตุ๊กตา 

“ระหว่างที่รักษาตัว เราทำตุ๊กตาขายไปด้วย เพราะอยู่โรงพยาบาลนาน ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่มีรายได้อะไรเลย เงินที่มีก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ ทีแรกก็ไม่กล้า เพราะพอถักได้แต่ไม่ได้เก่งอะไร เลยลองทำตุ๊กตาหน้าตาประหลาดๆ (หัวเราะ) สองตัวแรกโปรโมตในเพจเฟซบุ๊ก แล้วก็เขียนเล่าเรื่องตัวเองเอาไว้ ปรากฏว่ามีลูกค้าสนใจสั่งซื้อตุ๊กตา ยิ่งมีคนสั่ง เรายิ่งเก่งขึ้นเพราะได้ฝึกถักทุกวัน จากเดือนแรกได้เงินไม่กี่ร้อย ออเดอร์เพิ่มขึ้นเป็นหลายพันจนทำไม่ทัน บอกลูกค้าว่ามีคิว ลูกค้าก็รอ เราก็ถักมาจนถึงทุกวันนี้ 

“ในขณะเดียวกัน ก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจและติดตามเพจเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีน้องๆ ผู้พิการหลายคนทักมาปรึกษา เรื่องราวต่างๆ ที่เราโพสต์ไปไกลกว่าที่คิดมาก จนถึงวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าความสุขที่ได้รับ มันมากกว่าความทุกข์ที่เคยมีไปแล้ว ความเจ็บปวดทางร่างกายและใจ เปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เราพร้อมกลับไปเป็นนักเรียนพยาบาลอีกครั้ง”

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

ยิวอธิบายว่า พ.ร.บ.วิชาชีพพยาบาล ระบุไว้ในข้อสุดท้ายว่า “พยาบาลจะต้องไม่เป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอุปสรรคต่อวิชาชีพ โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา”

“หลายคนถามว่าความพิการเป็นอุปสรรคต่อการเป็นพยาบาลหรือเปล่า แม้จะอยู่บนวีลแชร์ แต่เรายังทำหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด ฉีดยา ทำแผล หรือให้อาหารทางสายยาง มีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ทำไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น การยกตัวผู้ป่วย”

ยิวเล่าว่าเธอตัดสินใจเขียนฎีกาถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทูลเกล้าฯ ถึงเรื่องราวของตัวเองที่ใฝ่ฝันจะช่วยเหลือผู้คนด้วยการเป็นพยาบาลวิชาชีพ แม้จะมีข้อจำกัดทางร่างกายบางส่วน แต่ยังมีความสามารถและใจที่มุ่งมั่นในการพยาบาลอย่างเต็มเปี่ยม และทำหนังสือส่งไปที่สภาการพยาบาล เพื่อขอพิจารณาการสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาล 

ต่อมาทางคณะกรรมการได้พิจารณาและตอบกลับมาว่า สิ่งที่เธอเป็นนั้นไม่ได้เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติวิชาชีพ และยังมีงานในส่วนสาธารณสุขอีกมากมายที่เธอยังเป็นกำลังสำคัญของทีมแพทย์ได้

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

04

พยาบาลวิชาชีพบนวีลแชร์

ยิวเป็นพยาบาลวิชาชีพมาเกือบสองปีแล้ว ทุกวันนี้เธอทำงานในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เฉพาะทาง โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้มาใช้บริการนับพันคนต่อวัน 

“ปลายฤดูหนาว ช่วงต้นในการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ละวันโรงพยาบาลสันทรายรับผู้ป่วยไข้หวัดมากกว่าสามร้อยคน ส่วนใหญ่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งเป็นอาการเดียวกับ COVID-19”

ในช่วงแรกการคัดกรองเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมีผู้มารับบริการเยอะ และบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่ทันตั้งตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เพียงไม่นาน พวกเขาก็ได้ดำเนินมาตรการเฉพาะกิจสำหรับการแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างทันท่วงที

“มีเคสหนึ่ง ผู้ป่วยหายใจเหนื่อยหอบ ทีมต้องซีพีอาร์ พยายามฟื้นชีพเขา เราช่วยผู้ป่วยได้สำเร็จ จากนั้นส่งตัวขึ้นไปถึงห้องไอซียู พอซักประวัติจากญาติผู้ป่วย ถึงเพิ่งทราบว่าผู้ป่วยไปคอนแท็กในพื้นที่เสี่ยงมา ทั้งทีมเลยโดนกักตัวและคัดกรองโรคกันทั้งหมด พอเจอเหตุการณ์นี้ โรงพยาบาลเราก็มีมาตรการทันที”

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

ยิวอธิบายต่อว่า ตามปกติโรงพยาบาลจะมี OPD ทั่วไปและ OPD เฉพาะทาง แต่ตอนนี้มีคลินิกพิเศษเพิ่มขึ้นมานั่นคือ OPD ARI สำหรับการคัดกรอง COVID-19 โดยเฉพาะ ผู้ป่วยรายไหนมีอาการเข้าข่าย จะถูกส่งตัวมาที่คลินิกนี้เท่านั้น ห้ามไปส่วนอื่นของโรงพยาบาล โดยแพทย์และพยาบาลจะสวมใส่ชุดปฏิบัติการเต็มรูปแบบ 

“แม้ประเทศไทยจะยังไม่ประกาศการระบาดของเชื้อไวรัสเป็นเฟสที่สาม แต่โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีข้อปฏิบัติที่รัดกุมในการคัดกรองโรคเป็นของตัวเอง เราวางแผนการทำงานกันอย่างละเอียด ประกอบกับพื้นฐานความรู้ด้านสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุขต่างรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง เพื่อที่จะไม่ไปติดและเอาเชื้อไปแพร่ใส่คนที่บ้าน

“แต่ละโรงพยาบาลมีบริบทในการทำงานไม่เหมือนกัน ยิ่งเราเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ก็ยิ่งต้องมีการวางแผนในโรงพยาบาลแน่นหนา ประชุมทุกวันและปรับเปลี่ยนแผนกันทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นแผนที่ดีที่สุด ซึ่งจะใช้ได้กับโรงพยาบาลเรา ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยนะ แต่คุ้มค่าความเหนื่อย” 

ยิวบอกว่า จริงๆ ทีมสาธารณสุขไม่ได้กลัวหรือหวาดวิตกกับเชื้อไวรัสขนาดนั้น ตราบใดที่ผู้ป่วยเล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่ประวัติการเดินทาง ไปจนถึงการใช้ชีวิตที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อการรักษาและควบคุมเชื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุด

 บอกความจริงเราเถอะ เราไม่ได้จะทำอะไร แค่เราจะพาไปห้องแยก ซึ่งไม่ได้น่ากลัว มีทีวีให้ดู (ยิ้ม) แต่เปิดแอร์ไม่ได้นะ เพราะเชื้อแพร่กระจายทางอากาศได้ เปิดได้แค่พัดลม รักตัวเองก็ต้องรักคนอื่นด้วย

โรงพยาบาลสันทรายรักษาผู้ป่วย COVID-19 หายไปแล้วหลายคน ตอนนี้มีผู้ป่วยได้รับการรักษายู่ 2 ราย และผู้สังสัยว่าจะติดเชื้ออีกหลายคนได้รับการกักตัวอยู่ที่โรงพยาบาล “บางทีผู้ป่วยหรือผู้ที่ถูกกักตัวเบื่ออาหารโรงพยาบาล เราก็ซื้ออาหารและขนมจากข้างนอกเข้ามาให้ เพราะรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะเครียดและกลัว”

 ยิวพูดขึ้นยิ้มๆ เรานึกถึงประโยคแรกที่เธอบอก ‘ดูแลด้วยความห่วงใยเหมือนญาติมิตร’ นอกจากทักษะและความรู้แล้ว หัวใจของการพยาบาลคือความใส่ใจนี่เอง

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

05

สองล้อที่จะก้าวเดินไป

เราอยากเรียนต่อเฉพาะทางเป็นพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพราะมีประสบการณ์ตรง เราประสบอุบัติเหตุและเคยสูญเสียมาก่อน คนที่ประสบอุบัติเหตุใหม่และต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปในชีวิต ความเข้มแข็งของจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“เราจึงอยากใกล้ชิดและดูแลผู้ประสบอุบัติเหตุโดยตรง เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่แค่ในฐานะพยาบาล แต่ในฐานะเพื่อนที่ประสบมันมาเช่นกัน เราเองก็จะได้มุมมองที่จะนำไปพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานต่อไป”

“หัวใจของการเป็นพยาบาลคืออะไร” ยิวเอ่ยทิ้งท้าย 

“บางทีผู้ป่วยอาจจะเป็นคนแก่ที่อยู่บ้านคนเดียว แล้วเขาไม่รู้จะเล่าความทุกข์ให้ใครฟัง เรารับฟังอย่างเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเอาข้อมูลที่จะใช้รักษาเขามาให้ได้ครบถ้วน ถ้าเขาไม่เป็นอะไร เขาไม่มาโรงพยาบาลหรอก เขาไม่อยากเจ็บปวด เขาถึงมาหาเรา และเราเป็นคนที่ต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อย่างเต็มใจและตั้งใจ”

กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลบนวีลแชร์ผู้ทำภารกิจเยียวยาผู้คนเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมแพทย์

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'