Whal & Dolph คือวงดนตรีของ ปอ-กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ และ น้ำวน-วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ ที่ขายบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ 1,000 ใบหมดภายใน 10 นาที 

ปอเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เริ่มจาก Recorder ในวิชาดนตรีที่โรงเรียน เล่นได้แค่สัปดาห์เดียวก็ตัดสินใจไปสมัครเข้าวงโยธวาทิตตำแหน่งฮอร์น ก่อนจะขยับเป็นนักทรัมเป็ตประจำโรงเรียนจนได้ทุกเรียนฟรีตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

ส่วนความประทับใจแรกของน้ำวนกับการเล่นดนตรีไม่ดีมากนัก เขาเรียนขลุ่ยในวิชาดนตรีไทยตอนอายุไล่เลี่ยกัน แต่เล่นไม่เก่งเพราะนิ้วเล็ก ปิดรูขลุ่ยไม่สนิท หลังจากนั้นจึงวางตัวเป็นผู้ฟังเพลงที่ดีมาตลอดตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีระบบสตรีมมิ่ง และวัยรุ่นยังต้องฟังเพลงจากแผ่นหรือดาวน์โหลดแบบเถื่อนอยู่

ทั้งคู่เจอกันผ่านเพื่อนและต่างมีวงดนตรีของตัวเองมาโดยตลอด จนตัดสินใจลองทำโปรเจกต์ยามว่างด้วยกันเมื่อ 3 ปีก่อน เกิดเป็น Whal & Dolph ที่เป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง รอให้เธอบอก ไม่รู้ทำไม เพลงใหม่อย่าง ผ่านมาผ่านไป และอัลบั้มสองที่กำลังจะปล่อยต้นปี 2021

ทั้งปอและน้ำวนอยู่ในวงการดนตรีมา 10 ปี ผ่านการตั้งวง ยุบวง ห้องอัดราคาแพง คอนเนกชันในวงการที่แทบไม่มี เดือนที่ไม่มีงานเลยสักงาน เดือนที่มีงานถึง 12 งาน เพลงที่ไม่มีใครร้องได้ จนถึงแฟนเพลงที่สักรูปหน้าพวกเขาไว้ที่อก Whal & Dolph เติบโตไปพร้อมๆ กับชายวัย 30 สองคนที่พยายามทำงานและดูแลแฟนเพลงให้ดีที่สุด จนกลายเป็นวงดนตรีอินดี้ป็อปที่ขายบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์หนึ่งพันใบได้หมดภายใน 10 นาที

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

ตอนเด็กๆ เวลาครูถามว่าโตไปอยากเป็นอะไร คุณตอบว่าศิลปินหรือเปล่า

ปอ : ผมอยากเป็นศิลปินตั้งแต่ตอนอยู่มอสอง พอเริ่มเล่นกีตาร์ เริ่มร้องเพลง ก็รู้สึกว่าต้องหัดแต่งเพลงแล้ว อยากเป็นศิลปินแบบคนโน้นคนนี้ อยากมีแฟนเพลง แต่งเพลงแรกๆ คือมั่วมาก ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าห่วย (หัวเราะ) แล้วผมก็เริ่มฟอร์มวงขึ้นมากับเพื่อนที่เล่นดนตรีไม่เป็นเหมือนกัน มาหัดตีกลอง หัดเล่นเบส ไปซ้อมบ้านเพื่อน เอาเพลงที่แต่งมาลองทำ ไปเข้าห้องอัดที่ชลบุรี ห้องอัดราคาไม่แพง อัดกันมั่วๆ ไม่มีเมโทรโนม แล้วก็เอาเพลงมาฟังกัน

น้ำวน : ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราหาเงินจากสิ่งนี้ได้ ความคิดที่จะเป็นศิลปินเลยห่างไกลมาก ผมเพิ่งมาเริ่มจริงจัง ทำวงกับเพื่อนและแต่งเพลงตอนปีสอง แต่ก็ยังไม่มองว่ามันเป็นอาชีพหลักอยู่ดี

ไอดอลที่คุณอยากเป็นคือใคร

ปอ : เพลงแรกที่ผมเล่นคือ ทุกอย่าง ของ Scrubb ไอดอลผมก็ไม่ไกลจาก พี่บอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) กับ พี่เมื่อย (ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ) นอกนั้นก็มี Sqweez Animal, Armchair ผมชอบเพลง ชอบวิธีการทำงาน ชอบอาร์ตไดเรกชัน ชอบหมด ก็เลยตั้งใจว่าอยากโตไปเป็นศิลปินแบบนี้ให้ได้

น้ำวน : ส่วนผมเริ่มจากเพลงเมทัล ผมเรียนชายล้วนเลยไม่นิยมเพลงป๊อปเท่าไหร่ มันจะดูตุ้งติ้งหน่อย เพลงร็อกมันยาก ข้อดีคือผมได้สกิลล์ตรงนั้นมา ผมอาจจะไม่มีไอดอล แต่ผมชอบเล่นดนตรี อยากรู้จักมันมากกว่านี้ เลยถามๆ เพื่อนและลองหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ว่าถ้าจะเข้าคณะดนตรีต้องเรียนที่ไหน ติวที่ไหน สอบอะไร แล้วก็ได้ไปเรียนดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลายคนชอบเล่นดนตรี แต่พอต้องเรียนจริงๆ มันไม่เหมือนกัน คุณรู้สึกแบบนั้นไหม

น้ำวน : มีหลายคนเป็นอย่างนั้น แต่ผมสนุกนะ มันทำให้เรารู้จักดนตรีมากกว่าแค่เล่นเป็น ตอนมัธยมผมไม่ชอบเรียนหนังสือ เรียนให้ผ่านไป พอเข้ามหาลัย ผมตั้งใจทุกวิชา ไม่ได้อยากเกรดดีแต่แค่สนุกกับมัน แล้วไม่เคยโดดเรียนเลยรู้ไหม เรียนสี่ปีน่าจะโดดเรียนแค่สองครั้ง

ปอ : ตอนแรกผมจะเข้าคณะเดียวกับน้ำวนเลย ไปติวกับรุ่นพี่จะเข้าเอก Voice Jazz พอใกล้ๆ วันจะสอบไปดูค่าเทอม โอ้โห ทำไมมันแพงจังวะ ผมก็เลยไม่ไปสอบ (หัวเราะ)

แล้วไม่ไปลองหน่อยเหรอ

ปอ : ผมเป็นคนที่ถ้าจะไม่เอา ก็ไม่ไปลองแล้ว ถ้าได้กลัวเสียดาย เดี๋ยวเสียใจ ก็เลยไปเข้า ม.กรุงเทพ เรียนนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา คิดว่าไปเรียนอย่างอื่นก็ได้ ไม่เป็นไร ยังไงผมก็จะเป็นนักดนตรีอยู่ดี 

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

ก่อนจะมาเจอกัน ทั้งคู่ทำวงดนตรีมาตลอดช่วงมหาวิทยาลัย ผ่านกันมาแล้วกี่วง

ปอ : ผมผ่านมาสองวง

น้ำวน : ของผมวงเดียว

ตอนนั้นถือว่าประสบความสำเร็จไหม

ปอ : ไม่เลยครับ มันเป็นเพราะหลายๆ อย่าง สมัยเรียน การอัดเพลงเพลงหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าใครก็อัดเพลงได้ มันยุ่งยากไปหมด จะอัดเพลงเพลงเดียวทำไมมันยากจังวะ เดี๋ยวนี้มี Interface ตัวเดียว อัดที่บ้านก็ยังได้ มีโปรแกรม กลองไม่ต้องเล่น เขียนได้เลย แต่เมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนั้น คอมฯ ที่อัดเพลงได้ราคาแพง ต้องเป็นคอม Mac ไม่งั้นก็ต้องไปอัดที่ห้องอัด ซึ่งแพงมากๆ ตังค์ก็ไม่ค่อยมี ไปอัดทีก็ใช้เวลาได้น้อย จะมิกซ์เสียงก็ไม่รู้จักใคร พอทำออกมาก็ไม่โอเคเพราะเราอัดไปไม่โอเคตั้งแต่แรก แล้วมันจะดีได้ยังไง 

น้ำวน : ปัญหาของเราก็คล้ายๆ กัน เรารู้ว่าการเล่นที่ดีเป็นยังไง แต่เราไม่มีกำลังที่จะทำให้เพลงออกมาดี อย่างผมได้เงินอาทิตย์ละพัน แต่อัดเพลงทีเสียเป็นหมื่น มันไม่มีทางไหวอยู่แล้ว 

การเล่นดนตรีกับการทำเพลงมันเป็นคนละศาสตร์กัน

น้ำวน : ใช่ เล่นดีได้ แต่คุณจะคิดแล้วทำออกมาได้ดีหรือเปล่า เพลงที่ดี นักดนตรีไม่จำเป็นต้องเล่นเก่งมากเสมอไป มันมีอีกทางหนึ่งอยู่ ด้วยข้อจำกัดตรงนั้นมันเลยทำเพลงเราไปไหนไกลไม่ได้ ด้วยความอ่อนหัดของเรา

ในยุคนั้น วงการดนตรีอินดี้เป็นยังไง

ปอ : มันยังไม่มีสตรีมมิ่ง ไม่มีสื่อที่สนับสนุนศิลปินอินดี้ กลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ก็น้อยมาก ถ้าตอนนี้มีคนฟังพันคน ตอนนั้นน่าจะมีแค่ร้อยคนได้ แต่อาจจะเพราะคุณภาพของวงอินดี้ในตอนนั้นห่วยด้วย ไม่เหมือนวันนี้ที่คุณภาพดีขึ้น ด้วยกระบวนการอัด ด้วยความรู้ ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่เก่งขึ้นมากๆ เพลงอินดี้เลยออกมาดี คนก็ฟังเยอะขึ้น

น้ำวน : เด็กๆ เดี๋ยวนี้คุณภาพคับแก้ว 

พอมีวงของตัวเอง เริ่มมีความหวังกับอาชีพศิลปินเยอะขึ้นหรือยัง

ปอ : ช่วงหลังๆ ใกล้ๆ วงเก่าจะยุบ ผมรู้สึกว่าริบหรี่มาก ไฟที่เคยมีมันจะมอด ตอนนั้นก็ทำงานอื่นไปด้วยนะ เปิดบริษัทโปรดักชัน

น้ำวน : อาจจะด้วยวัยที่ตอนนั้นอายุยี่สิบห้า เพื่อนๆ ทุกคนก็เริ่มทำงานหมดแล้ว ผมยังยึกยักอยู่ มีสอนบ้าง เล่นดนตรีกลางคืนกับปอบ้าง แต่น้อย อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง อยู่ไปวันๆ จนคิดว่าเราต้องทำงานได้แล้วเปล่าวะ แล้วเราย้ายบ้านมาอยู่ใกล้กัน ปอเลยชวนไปทำงานด้วยที่บริษัท แล้วก็ชวนกันทำโปรเจกต์ดนตรี 

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

เลยขอลองอีกสักตั้ง

ปอ : มันไม่ใช่ลองอีกสักตั้งนะ เราแค่อยากทำอะไรด้วยกัน เราเป็นเพื่อนกันมานานแล้ว อยู่คนละวง เจอปัญหาก็มาแชร์กันตลอด เลยอยากลองทำเพลงกันสักเพลง ทำเล่นๆ แต่จะทำยังไงให้เพลงที่ทำออกมาเป็นมาสเตอร์พีซ แบบที่เราไม่เคยทำได้เลยตั้งแต่เล่นดนตรีมา เป็นช่วงเดียวกับที่เริ่มรู้จักห้องอัด รู้จักคนเยอะขึ้น ก็เลยทำกันดู ถ่ายเอ็มวีกันเอง ใช้มือถือถ่ายนี่แหละ ปล่อยเพลงออกไปไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร แต่เราสนุก สำหรับเรา เพลงจะดังหรือไม่ดังไม่เป็นไร แต่เราฟังแล้วไม่ติดอะไรเลย เกิดความภูมิใจ ก็เลยทำต่อ เขียนเพลง แล้วก็มีเพลงออกมาเยอะเลย จนเกิดเป็น Whal & Dolph ในขณะเดียวกันก็ยังทำบริษัทควบคู่มาเรื่อยๆ

แต่สุดท้ายคุณเลือกจะเดินออกจากบริษัทของตัวเอง เพื่อมาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว

ปอ : พอทำไปสามสี่เพลงก็มีค่าย What The Duck มาติดต่อ เริ่มมีแฟนเพลง อาจจะไม่เยอะมาก แต่เราก็ดีใจ เฮ้ย มันเป็นไปได้ไงวะ มีคนร้องเพลงเราได้ด้วย (หัวเราะ) เลยตัดสินใจออกมาทำอย่างจริงจัง โดยที่ยังไม่ได้มีงานจ้างขนาดนั้น แต่เราไม่อินกับบริษัทแล้ว พอไปทำงาน ใจก็คิดแต่เรื่องทำเพลง ซึ่งเราบอกกับหุ้นส่วนไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าเราได้ทำเพลงจะออกนะ พอออกมาก็ทำเพลงให้ครบอัลบั้ม รายได้ยังไม่มีเข้ามามากมาย ต้องทุบหม้อข้าว 

ถามจริงๆ ว่าตอนนั้นมั่นใจแค่ไหน

น้ำวน : ความเสี่ยงสูงมากๆ

ปอ : และกว่าวงเราจะมีงานจริงจังแบบเลี้ยงชีพได้นี่เป็นปีๆ เลยนะ

แล้วถ้ามันไม่เวิร์กล่ะ ไม่กลัวเหรอ

ปอ : ก็กลัว แต่เราไม่ได้เสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เราเห็นว่ามันจะไปได้ เห็นแสงรำไรแล้วรู้สึกว่า เดี๋ยวมันต้องสว่างแน่เลย ก็เลยวิ่งมา แต่ถ้าไม่มีเลยผมก็คงยังไม่ออกมาจากตรงนั้น

น้ำวน : เวลาเราทำอะไร เราจะประมาณตัวเองได้แล้วว่าจะไปต่อได้ไหม เพราะเราไม่ได้ฟลุก พวกผมทำงานหนักมากในเส้นทางนี้ มีคนเคยบอกว่าวงเราดังเร็ว ทั้งที่เราทั้งคู่ทำดนตรีมาร่วมสิบปีแล้วก่อนจะเป็น Whal & Dolph ประสบการณ์เหล่านั้นมันขัดเกลาให้เราเติบโตมาเป็นแบบนี้ พวกเราตั้งใจมาก สำหรับเรามันเลยไม่ใช่ความฟลุก 

ปอ : เราออกซิงเกิลแรกเดือนธันวาคม 2016 ปล่อยอัลบั้มแรกประมาณเดือนพฤศจิกายน 2017 มาเดือนมีนาคม 2018 เรายังไม่มีงานเล่นเข้ามาเลย ทำยังไงดีวะ จะกินอะไรดีวะ ตอนนั้นอยู่ไม่ไหวถึงขนาดหาอาชีพเสริม ก็เลยตัดสินใจทำกั้งดองขาย ทดลองสูตรอยู่พักหนึ่งแล้วก็เริ่มทำ ผมจะตื่นเที่ยงคืน ไปรับน้ำวนที่บ้านแล้วขับรถไปตลาดมหาชัย ไปกว้านซื้อกั้งลอตใหม่ๆ กลับบ้านมาดอง กว่าจะเสร็จก็สิบเอ็ดโมง เที่ยง นอน ตื่นมาส่ง จำได้ว่าขายไปล็อตหนึ่งพบว่า เชี่ย ทำไมมันเหนื่อยจังวะ 

ขายที่ไหน

ปอ : ขายในเฟซบุ๊ก ทุกวันนี้เพจก็ยังอยู่ ยังมีคนทัก มีคนโทรมาสั่งอยู่เลย (หัวเราะ) จำได้ว่าขายล็อตแรกได้กำไรมาประมาณแบบ…

น้ำวน : สามพัน

ปอ : ไม่ถึง

น้ำวน : ก็ไม่ใช่กำไรด้วย คือได้เงินมาสามพัน กำไรน่าจะประมาณพันห้า

ปอ : แล้วมันเหนื่อยมาก เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราเป็นนักดนตรีนะเว้ย อัลบั้มแรกยังไม่มา ไปทำเพลงต่อเลยดีกว่า แล้วมันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรอปล่อยเพลงซิงเกิลต่อไป ซึ่งก็อยู่ในอัลบั้มแรก เพลงนั้นคือ รอให้เธอบอก

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

เพลงดังสุดเลยนี่

ปอ : ปล่อยไปคนก็รู้จักวงมากขึ้น แต่มันไม่ได้ดังตูมเลยนะ ปล่อยวันแรกยอดก็ไม่พุ่ง สามชั่วโมงได้หมื่นห้า

น้ำวน : เรายังทักไปหาปออยู่เลยว่านี่มันปกติเปล่าวะ (หัวเราะ)

ปอ : สงสัยเหมือนกัน เพราะตอนไปเล่นคนก็ร้องได้ ก็น่าจะเป็นเพลงที่ดังได้นะ แต่พอเวลาผ่านไปมันก็ค่อยๆ ขึ้นมา วงเราจะเป็นอย่างนี้ ไม่ค่อยมีอะไรพุ่งๆ แต่จะค่อยๆ ไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีงานจ้าง เริ่มอยู่ได้ อีกเพลงที่ทำให้วงเราไปต่อได้คือ ฉันยังเก็บไว้ ที่ได้พี่เบนซ์ (ธนชาติ ศิริภัทราชัย) มาทำเอ็มวีให้ ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะช่วยวงเราได้ เพราะเป็นเพลงอะคูสติก ไม่คิดว่าจะไปเล่นร้านเหล้าได้ แต่กลายเป็นว่าคนชอบ 

จากสองเพลงนี้ทำให้คุณกลายเป็นวงที่มีงานทุกเดือนหรือยัง

ปอ : มีทุกเดือนแล้ว ตั้งแต่สี่ห้างานถึงสิบสองงาน จนเราปล่อยอีพีอัลบั้มที่สอง เพลงแรกชื่อ ฝากไว้กับดาว ปล่อยวันวาเลนไทน์ปี 2019 ก็ทำให้วงเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น โตขึ้น แต่ก็ยังไม่ดัง

ยังมองว่าตัวเองไม่ดังอีกหรอ

น้ำวน : มันเป็นกราฟที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นไป ช้ามาก แต่เรามีแฟนเพลง มีงานเล่น 

ปอ : มาอีกทีตอนที่ปล่อยเพลงที่สอง ไม่รู้ทำไม เป็นเพลงที่เราไม่คิดว่าจะดัง ไม่ได้เก็งไว้ เพลงมันเรื่อยๆ ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าคนจะเก็ตเนื้อหาหรือเปล่าที่พูดถึงคนหมดใจ อยากบอกลาเขา แต่พอปล่อยออกมากลายเป็นไวรัล คนชอบ ปล่อยมาสองวันได้ล้านวิว

น้ำวน : แต่มันเป็นเนื้อหาที่ไม่ค่อยมีคนเล่า 

ยอมรับหรือยังว่าดังแล้ว

ปอ : เริ่มดังในกลุ่มหนึ่งนะ

ถ่อมตัวเกินไป

น้ำวน : ผมว่าศิลปินทุกคนจะไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองดังแค่ไหน นอกจากจะมีเพลงที่ยอดเยอะมากๆ เป็นร้อยล้านวิว เราก็ทำงานไป ปล่อยเพลงหนึ่งได้แฟนเพลงเพิ่มกลุ่มหนึ่ง ปล่อยอีกเพลงก็ได้แฟนเพลงเพิ่มอีกกลุ่มหนึ่ง 

คุณฝันว่าอยากเป็นศิลปินมาก่อน พอได้เป็นจริงๆ มันมีความรับผิดชอบอะไรที่มาพร้อมอาชีพนี้ไหม

ปอ : แต่ก่อนเราคิดว่าการเป็นศิลปินคือทำเพลง ปล่อยเพลงออกไปให้เพลงทำงาน มีแฟนเพลง ก็คิดว่าน่าจะประมาณนั้นมั้ง แต่กลายเป็นว่าพอทำอัลบั้มแรกได้ มีคอนเสิร์ต ต้องทำอัลบั้มที่สอง แล้วจะทำยังไงให้วงเราไม่ซ้ำเดิม ขณะเดียวกันต้องทำให้แฟนเพลงรู้สึกว่าวงนี้ยังเป็นวงนี้อยู่โดยที่ไม่น่าเบื่อ

น้ำวน : ผมเคยเห็นสัมภาษณ์ของศิลปินท่านอื่น เขาบอกว่าแฟนเพลงสำคัญสำหรับเขามาก ผมก็ไม่เคยรู้ ไอ้เหี้ย มันจะขนาดนั้นเลยเหรอวะ แต่พอมาอยู่ตรงนี้มันจริงนะ เข้าใจแล้วว่าเขาสำคัญกับเรามาก

ปอ : เราไม่มีแฟนเพลงไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งไม่มีเขา วงจะไม่เหลืออะไรเลย เพลงบางเพลงก็เล่นไม่ได้ถ้าไม่มีแฟนเพลง

น้ำวน : ไปเล่นคอนเสิร์ตก็ไม่สนุก เวลาเราทำอะไร ก็ไม่ใครรอซัพพอร์ตเรา ยิ่งตอนเล่นสด แฟนเพลงสำหรับวงเราคือสำคัญมาก เพราะเพลงเราไม่ได้ตูมตาม เราไม่สามารถสนุกไปกับมันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยตัวเอง ต้องมีเขาส่งกลับมาด้วย แล้ววันนั้นจะเล่นได้ดีมาก 

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที
คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

ถ้าทำเพื่อแฟนเพลงขนาดนั้น Whal & Dolph จะสูญเสียตัวตนไหม

ปอ : มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะไม่สนใจแฟนเพลงเลย ความคาดหวังมันมี อย่างผมเคยเจอแฟนเพลงสักรูปเราที่อก แล้วผมจะไปทำให้เขาผิดหวังได้ยังไง ทุกครั้งที่ทำเพลงเราก็ทำแบบที่ชอบนี่แหละ แต่บางจังหวะที่เริ่มขี้เกียจ เราก็จะคิดแล้วว่าถ้าเราทำออกมาไม่ดี คนที่เขาสักรูปเราไว้จะผิดหวังหรือเปล่า มีคนที่เชื่อในตัวเรา ชอบผลงานเรา เราต้องทำงานออกมาให้ได้คุณภาพโดยที่เราภูมิใจกับมันมากๆ ด้วย ไม่ใช่ขี้เกียจแล้วทำส่งๆ ไป วงจึงกลายเป็นแบรนดิ้งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วต้องรักษาให้ดีต่อไป

น้ำวน : เหมือนเราให้เกียรติอาชีพเราเอง และเราก็ให้เกียรติเขาด้วย

Whal & Dolph โตขึ้นแค่ไหนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปอ : ความคิดบางอย่างเปลี่ยนไป เวลาเล่าเรื่องบางเรื่อง เราจะเล่าจากมุมมองของเราคนนี้ วัยนี้ เป็นคนแบบนี้ เพลงหรือมุมมองต่อการมองบางอย่างก็เปลี่ยนไป ผมว่าดนตรีก็เปลี่ยน 

น้ำวน : ดนตรีเปลี่ยนมาก เราลงดีเทลกันมากขึ้น ปกติไปอัดเพลงเราใช้หนึ่งคิว อัดได้ทุกเครื่องเลย แต่ตอนนี้หนึ่งคิวได้ประมาณสามสิบถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของเพลง ตอนแรกสงสัยว่าเราห่วยขึ้นหรือเปล่า แต่พอได้กลับมานั่งฟังเพลงจริงๆ พบว่าตัวเองละเอียดขึ้นมาก

นั่นคือในแง่ของศิลปิน ถ้าในฐานะคนคนหนึ่งล่ะ

ปอ : พวกผมเปลี่ยนการใช้ชีวิตไปเยอะ เมื่อก่อนทำงานหนัก กินเครื่องดื่มชูกำลังตลอด นอนน้อย ใช้ชีวิตแบบกินอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ให้มันอยู่รอดไปวันๆ พอโตขึ้นมีงานเข้ามามากขึ้น ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะใช้ชีวิตยังไงให้ดี กินอันนี้ดีเปล่าวะ เรานอนเท่านี้มันดีเปล่าวะ เราเลือกให้ตัวเองมากขึ้น เพราะมันมีทางเลือกมากขึ้น มุมมองความคิดก็เปลี่ยนไป จากที่เคยด่าว่าโน่นนี่นั่น ก็กลายเป็นคนที่พยายามทำความเข้าใจกับมัน ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้นะ เริ่มขอโทษคนที่เราทำไม่ดีด้วย เริ่มไม่อยากทำให้คนรอบข้างหรือคนที่ทำงานกับเรารู้สึกแย่

น้ำวน : เมื่อก่อนเราทำวงดนตรีมา เรามองว่ามันเป็นแค่วงดนตรี ใครมาช่วยเล่นก็เล่นไป พอทำมาเรื่อยๆ เราเริ่มมองว่ามันเป็นบริษัทที่เราต้องจัดการหลายเรื่อง เราต้องทำยังไงให้คนที่เขาช่วยเรามาตั้งแต่แรกยังแฮปปี้ที่จะอยู่กับเรา เริ่มแคร์ความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น แต่สนุกดีครับ ไม่เหนื่อยหรอก พวกเรารักวงนี้ ทุกอย่างที่ทำไปเพราะอยากให้วงมันดีขึ้น

ปอ : มันเหมือนเป็นครอบครัวไปแล้ว ตอนแรกไม่รู้หรอกว่าวงต้องมีทีมงานนะ ต้องมี Technician สามคน มี Sound Engineer หนึ่งคน ตอนนี้เรามีทุกอย่าง เราต้องดูแลมากขึ้น เป็นพี่มากขึ้น เป็นหัวหน้าครอบครัว เช่น เดือนนี้ไม่มีงานเลยจะช่วยน้องสามคนนี้ยังไงดี มันเหมือนการดูแลคนในครอบครัวของเรา

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

แปลว่าเคยมีช่วงที่อีโก้จัดๆ มาก่อน

ปอ : มีแหละ แต่ไม่ได้เยอะ แล้วเราก็ไม่ได้ไปมีอีโก้ใส่ใคร อาจจะแค่กับเรื่องตัวเอง บางทีทำงานไปเริ่มขึ้เกียจ เริ่มไม่ใส่ใจเวลาไปเล่น ไม่ได้ซัพพอร์ตคนบางคนทั้งๆ ที่เราควรทำ ไม่พูดคุยกับแฟนเพลงมากเท่าเดิม เพราะรู้สึกว่าแค่นี้ก็เหนื่อยมากแล้ว มันไม่เชิงเป็นอีโก้ แต่คือความรู้สึกว่า โอเค ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ดีมากๆ อยู่ตัวแล้ว เราก็เลยทำมันเท่านี้แหละ พอแล้ว ไม่ต้องให้ดีขึ้นไปกว่านี้ก็ได้

น้ำวน : Whal & Dolph เกิดขึ้นตอนเราทั้งคู่อายุยี่สิบปลายๆ ตอนนั้นอายุยี่สิบเจ็ด เริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้เลยไม่รุนแรงมาก เราเลยไม่ใช่วัยรุ่นที่คิดว่ากูแน่

ข้อดีของการมีชื่อเสียงในวัยที่เริ่มนิ่งและเข้าใจชีวิตแล้วคืออะไร

น้ำวน : ความสำเร็จไม่ได้มาเร็วเกินไปจนเรามองไม่ทัน มันค่อยๆ มาโดยที่เรายังเห็นข้างๆ ทางได้ทันอยู่ 

ปอ : มันทำให้เราได้มองหลายๆ อย่าง ทำให้รู้ว่าแฟนเพลงสำคัญมากนะ เขาคือกลุ่มคนที่เราควรจะดูแลมากที่สุด เป็นห่วงเขาที่สุด เราต้องดูแลเขาให้ดีเหมือนวันแรก หลังๆ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนผมจะกลับมาตอบเมสเสจแฟนเพลง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเวลาเล่นเสร็จ แฟนเพลงทักสตอรี่มา ผมจะเหนื่อยจนตอบไม่ไหว ทุกวันนี้มันจะเยอะแค่ไหน ผมก็พยายามตอบ อะไรสำคัญๆ อย่าง พรุ่งนี้พี่ขึ้นเครื่องบินกี่โมง หรือตอนซาวนด์เช็กขอเขามาฟังได้ไหม หนูอายุไม่ถึง 

เหมือนคุณมองว่าแฟนเพลงไม่ใช่แฟนเพลง แต่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกัน

ปอ : ผมวางโพสิชันวงว่าไม่ใช่ศิลปินที่เป็นเหมือนเทพเจ้า เข้าถึงไม่ได้ แต่เราเป็นคนคนหนึ่ง เขาก็เป็นคนคนหนึ่ง เราคุยกันได้ เราบอกกันได้ ‘ไม่ว่างนะ พี่ขอไปเล่นก่อน เดี๋ยวค่อยมาถ่ายรูปกัน’ เราอยากเป็นเพื่อนมากกว่า

น้ำวน : แต่เราไม่ได้ทำอะไรเกินตัวนะ นิสัยเราเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เราก็แค่เป็นตัวเอง

มีชื่อไหม เหมือนแฟนคลับ Beyonce ชื่อ BeyHive 

ปอ : มีครับ ช่วงหนึ่งเขาก็มาถามๆ เลยให้ชื่อ ‘แฟนปลา’ ละกัน น่ารักๆ

เล่าเรื่องความน่ารักของแฟนคลับ Whal & Dolph ให้ฟังหน่อย

ปอ : มีงานหนึ่งที่เราไปเล่นที่ลำปางกับเชียงราย ลงสนามบินปุ๊บก็เจอแฟนเพลงเลย แต่เป็นแฟนเพลงที่มาจากกรุงเทพฯ ขับรถมา เหมือนเขาคิดถึงพวกเรา ปกติเล่นที่กรุงเทพฯ เขาก็จะมาดู ซื้อขนมมาให้ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวเราก็มีเล่นที่กรุงเทพฯ นะ แต่มันช้ากว่าแค่นั้นเอง 

น้ำวน : มีช่วงหนึ่งเจอคนเยอะมาก แล้วจะมีแฟนเพลงมาถามว่า พี่จำผมได้ไหม จำหนูได้ไหม เราก็บอกเลยว่าจำไม่ได้ แต่ขอโทษเขานะ (หัวเราะ) บางคนต่อแถวถ่ายรูปนานมากเพื่อที่จะไม่ได้ถ่ายรูป แค่คุยด้วยเฉยๆ เขาบอกว่าเคยถ่ายแล้ว ให้คนอื่นถ่ายบ้าง เดี๋ยวจะเสียเวลา

คุยกับวงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงสำคัญแค่ไหนในการทำงาน

ปอ : ผมเคยคุยกับศิลปินคนหนึ่ง เขาบอกว่า “ถ้าพี่ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว สิ่งที่พี่จะทำคือ ดูแลแฟนคลับให้ดีกว่านี้” สมมติแฟนเพลงเราชอบเพลงแบบนี้ แต่เราไม่เคยทำเพลงแบบนี้ให้เขาเลย มัวแต่คิดว่าวงเราต้องดังโว้ย วงเราต้องขายโว้ย เราต้องรวย โดยที่ไม่แคร์คนที่ชอบเราในแบบนั้น เขาก็จะไม่อยู่กับเรา ในวันที่เราตกลงมา จะไม่มีคนนี้อยู่รับเราแล้วนะ เราเลยขอทำเพลงในแบบที่ผมชอบและแฟนคลับก็เห็นว่านี่คือ Whal & Dolph ดีกว่า เราต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด 

ศิลปินที่ดีสำหรับคุณคือ…

ปอ : คนที่ถ่ายทอดตัวตนผ่านเพลงออกมาได้ดี คนที่โคตรไฮเปอร์ เก๋า ซ่า แล้วเขียนเพลงออกมาได้ซ่ามากๆ ผมว่าคนนั้นเป็นศิลปินที่ดี หรือคนนี้เป็นคนเหงามาก เป็นคนซึมๆ แล้วเพลงก็ออกมาซึมมากๆ 

น้ำวน : ผมชอบสังเกตว่าแต่ละคนเล่นดนตรีแบบไหน มีรุ่นพี่เคยบอกว่า มึงลองดูนะ ศิลปินพอถึงจุดหนึ่งเขาจะเอาตัวเองออกมาเป็นดนตรีด้วย ผมชอบดูว่ามันสอดคล้องกันไหม สมมติคนนี้เรียบร้อยมากๆ เวลาเล่นกีตาร์ก็จะนุ่มๆ ไม่ซิ่งมาก 

แล้ว Whal & Dolph เป็นแบบไหน

ปอ : เราเป็นคนตลกๆ ง่ายๆ ไม่เรื่องมากแต่จริงใจ มีอะไรพูดตรงๆ ไม่เก็บไว้ เป็นมิตร ซึ่งมันก็ออกมาทางเพลงของเรา เล่าง่ายๆ พูดตรงๆ ไม่โกหกกัน แต่มีเสน่ห์ในแบบของมัน

น้ำวน : ชอบมีคนบอกว่าเวลาผมเล่นกีตาร์ดูเหมือนจะหลับ ผมก็อยากเต้นเหมือนกันนะ แต่สิ่งที่ผมเล่นมันยาก จะเดินกูยังลำบากเลย ขอกูยืนเฉยๆ แล้วกัน (หัวเราะ)

การผ่านวงที่ไม่ประสบความสำเร็จ ผ่านทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างงานประจำหรือการเป็นศิลปิน ผ่านเดือนที่ไม่มีงานเล่นสักงาน มันหล่อหลอมให้ Whal & Dolph เป็นวงแบบไหน

ปอ : มันสอนเราเรื่อยๆ ทุกๆ ช่วงสอนเราหมด อย่างช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา มันสอนให้เราเป็นคนอดทน ช่วงที่ไม่มีงานก็สอนให้เราลุกขึ้นสู้ มันสอนให้เราไม่ยอมแพ้ อดทนไว้ ทำไปเรื่อยๆ แต่ต้องทำและคิดวิเคราะห์ แล้วก็ทำไปโดยที่ยังเป็นตัวเอง ทุกวันนี้เวลาไปเล่นจะมีความคาดหวังอยู่ เขาจ้างเราราคานี้นะเว้ย เราจะไปเล่นห่วยๆ ไม่ได้ ผมต้องซื้อของราคาสี่ห้าแสนเพื่อเอามาทำงาน จะได้ไปเล่นด้วยคุณภาพที่ดี ต้องซ้อม ต้องทำโชว์ เพื่อจะให้โชว์โชว์หนึ่งมันคุ้มกับที่เขาจ้างเรา คุ้มกับที่แฟนเพลงที่จ่ายเงินมาดู มันทำให้เราเป็นศิลปินที่ดีขึ้น เราไม่อยากไปเล่นแล้วคนบอกว่า โห ไม่เห็นประทับใจเลย จะไม่จ้างแล้วหรือไม่น่ามาดูเลย 

น้ำวน : เราอาจจะไม่ใช่ศิลปินร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรามองว่ามันคืองานที่เราต้องตอบโจทย์คนอื่นด้วย เคยมีงานหนึ่งที่เขาไว้ใจให้เราเล่นเป็นวงสุดท้าย วันนั้นเหนื่อยมาก พอขึ้นเวทีรู้เลยว่ายิ่งเล่นยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ผมไม่เคยเล่นเสร็จแล้วลงมานั่งประชุมหลังเวทีเป็นชั่วโมงๆ ไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกไหม แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องกลับมาเช็กตัวเอง 

ปอ : ไม่ใช่ว่าวันนี้กูจะเล่นแบบนี้แหละ ใครไม่ชอบก็ช่างมัน ไม่ได้ เราเล่นในแบบที่เราเป็นนี่แหละ แต่ต้องให้คนอื่นร่วมรู้สึกกับเราด้วย คนจ้างก็แฮปปี้ คนดูก็แฮปปี้ เราก็แฮปปี้ สุดท้ายมันคือการสร้างสมดุล

น้ำวน : อย่างเมื่อก่อนจะมองแค่ว่าเราเล่นได้มาตรฐานของตัวเอง แล้วทำไมคนอื่นเล่นไม่ได้ ก็โทษคนอื่น แต่การเล่นดนตรีมันคือทีมเวิร์ก เราไม่สามารถเล่นดีคนเดียวแล้วทั้งโชว์จะดี

ถ้าสามารถบอกตัวเองในตอนนั้นที่กำลังหาทางเป็นศิลปินอาชีพอยู่ อยากแนะนำอะไรไหม

ปอ : อยากบอกว่า เฮ้ย สุดท้ายมึงทำได้นะเว้ย สิ่งที่มึงคิดมันถูกแล้ว แต่คงไม่แนะนำอะไร ผมจะปล่อยให้ตัวเองงมๆ หาทางเองดีกว่า สนุกดี ถ้าไปบอกหมดมันก็…

น้ำวน : ไม่ลุ้น แต่จะบอกว่าทำไปเลยเพื่อน ลองดู

อาจจะต้องขายกั้งอยู่แป๊บหนึ่ง

น้ำวน : ใช่ แต่สุดท้ายมันจะได้ (ยิ้ม)

คุยกับ Whal & Dolph วงดนตรีที่เชื่อว่าแฟนเพลงคือคนสำคัญที่สุด มีแฟนคลับสักเป็นหน้าพวกเขา และขายบัตรคอนเสิร์ตพันใบหมดภายใน 10 นาที

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ