เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วมีงานเปิดนิทรรศการหนึ่งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (ตรงถนนเจ้าฟ้า) คืองาน ‘เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก’ เราสนใจอยากไปชมนิทรรศการนี้ เมื่อได้ไปเดินในนิทรรศการจริงๆ แล้วก็พบว่ามันเป็นนิทรรศการที่ดีมากๆ ทำให้เราตื่นเต้นกับทุกรูปที่เห็นตั้งแต่ต้นไปจนจบ เลยอยากจะบอกต่อและชวนให้ทุกคนได้ไปเห็นเช่นเดียวกัน

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

เทคโนโลยีการถ่ายภาพในช่วงเริ่มต้น เป็นการถ่ายภาพที่ยากจะเก็บรายละเอียดให้ชัดเจน ด้วยข้อจำกัดด้านฟิล์มที่ไม่ไวแสงมากพอ ทำให้ต้องใช้เวลาในการบันทึกภาพนานมาก ไปจนถึงกรรมวิธีการล้างภาพที่วุ่นวายและยุ่งยากมากไม่แพ้กัน

ความสำเร็จในการพยายามถ่ายภาพของมนุษย์เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) เมื่อนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ชื่อ Frederick Scott Archer ได้พัฒนาฟิล์มกระจกขึ้นมา ทำให้การถ่ายภาพสะดวกขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา วิธีการคือใช้สารเคมีหลายตัวมาเคลือบไว้บนแผ่นกระจกแล้วนำไปใส่ในกล้องถ่ายรูป โดยที่ตัวกระจกนั้นยังคงเปียกน้ำยาอยู่ (บางครั้งเราก็เรียกเทคนิคฟิล์มกระจกแบบนี้ว่า wet plate หรือ wet collodion ตามชื่อสารเคมีที่ยังคงเปียกอยู่บนแผ่นกระจกตอนที่เอาไปใช้ถ่ายรูปนั่นเอง) เมื่อถ่ายเสร็จก็นำกระจกออกมาล้างในน้ำยาล้างรูปเพื่อให้เกิดเป็นภาพขึ้นมา

การประดิษฐ์นี้เปลี่ยนโลก เพราะทำให้ต้นทุนการถ่ายภาพถูกลง และเกิดขึ้นได้จริงนอกห้องทดลอง ด้วยความไวแสงของฟิล์มที่มากขึ้นจนใช้เวลาในการบันทึกแต่ละรูปเป็นหน่วยวินาที ไม่ใช่เป็นนาทีอย่างยุคก่อนหน้า ก่อนที่จะถูกพัฒนาต่อมาเป็นฟิล์มกระจกแบบแห้งที่สามารถพกพาไปใช้งานได้ในภายหลัง จนเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นและมนุษย์สามารถผลิตแผ่นพลาสติกเซลลูลอยด์ขึ้นมาได้ ก็เลยเกิดฟิล์มถ่ายรูปที่คล้ายกับที่เราใช้กันมาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ทำให้กล้องและฟิล์มนั้นมีขนาดเล็กลง พกพาง่ายขึ้น

การถ่ายรูปจึงเป็นเรื่องสะดวกและง่ายดายขึ้นจากแต่ก่อนมาก (ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่อยมาจนกลายมาเป็นกล้องดิจิตอลอย่างในทุกวันนี้) และทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา

ส่วนการถ่ายภาพในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยการเผยแพร่วิธีการถ่ายภาพจากคณะมิชชันนารี โดยพระสังฆราช ฌ็อง บัปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง ลาร์นอดี (L’Abbé Larnaudie) ได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

หลังจากนั้น การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องจากสิ่งของล้ำสมัยที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีจากยุโรป ทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกยุคแรกแพร่หลายอยู่แค่เฉพาะในหมู่เจ้านายเท่านั้น จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชนิยมในการถ่ายภาพทำให้หมู่เจ้านายและขุนนางนิยมการถ่ายภาพมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ได้แพร่หลายออกไปสู่ประชาชนมากนัก หลายๆ รูปในนิทรรศการนี้จึงเป็นรูปที่คนส่วนมาก (อย่างเรา) ไม่เคยเห็นมาก่อน และบางรูปนั้นก็ชวนให้ตกใจว่ามีการบันทึกภาพอยู่ด้วยเหรอ

รูปในนิทรรศการส่วนใหญ่รวบรวมจากภาพในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ความเจริญ หรือการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในหลายๆ แง่ ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ ขุนนาง และช่างภาพ ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ล้ำค่า จนที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

นิทรรศการนั้นจัดแสดงรูปจำนวน 150 รูปจากที่มีอยู่ทั้งหมดกว่าสามหมื่นรูป เราจึงขอนำบางรูปจากในนิทรรศการนี้มานำเสนอให้รับชมกันเบื้องต้น และถ้ารูปด้านล่างนี้น่าสนใจก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปเดินชมรูปภาพจริงจากในนิทรรศการกันเถอะ เพราะมันดีและสวยงาม คุ้มค่าที่จะไปดูด้วยตาเราจริงๆ นะ

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือกล้องถ่ายรูปประทับนั่งร่วมกับพระราชโอรส
และพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระราชวังบางปะอิน
(จากซ้ายไปขวา)
1 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
2 หม่อมเจ้าไศลทอง ทองใหญ่ (ประทับนั่งพื้น)
3 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช
4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
5 พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
6 หม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม (ประทับนั่งพื้น)
7 พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก)

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในทรงเล่นกล้องถ่ายภาพ ราวพุทธศักราช 2440
1 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
2 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
3 เจ้าจอมเอื้อน
4 เจ้าจอมเอิบ
5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรารามาธิบดินทร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
(กลาง) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
(ขวา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะดำรงตำแหน่งเป็น
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
ทรงฉายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

ช่างภาพเตรียมการถ่ายภาพคณะนักเรียนฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน และลูกเสือที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ถวายชัยมงคลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2454

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

ประชาชนรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ณ บริเวณปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
ที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ นอกนครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2440
ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

ท่าเรือและคลังสินค้าบริษัท อีสต์ เอเชียติก

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

อาคารหอพระสมุดในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหนังสือจากหอพระสมุดในพระองค์
ไปที่หอสมุดสำหรับพระนคร และตั้งเป็นหอสมุดวชิราวุธ

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอ
และเจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในห้องเครื่อง พระราชวังดุสิต

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

โต๊ะโทรเลขระหว่างประเทศ (เริ่มมีเมื่อพุทธศักราช 2426)

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

สะพานผ่านพิภพลีลา เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม
เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินในกับถนนราชดำเนินกลาง
เดิมมีสะพานเก่าเป็นสะพานโค้ง มีโครงเหล็ก ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานขึ้นใหม่ให้มีลักษณะกว้างใหญ่และงดงาม
พระราชทานนามว่า ‘สะพานผ่านพิภพลีลา’
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449
อาคารข้างต้นไม้ใหญ่คือ คุกลหุโทษ

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พิธีเปิดการเดินรถรางในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 5

 

นิทรรศการฟิล์มกระจก ภาพถ่ายสยามตั้งแต่สมัย ร.4 ที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นไร่บางแขม เมื่อ พ.ศ. 2449

 

ภาพ  สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และจากนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
นิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
26 พฤษภาคม –  28 กรกฎาคม 2561

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
เลขที่ 4 ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 02-281-2224
[email protected]
วันและเวลาทำการ
วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 19.00 น.
(ขยายเวลาปิดเฉพาะในช่วงที่มีนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
เวลาทำการปกติคือ 09.00 – 16.00 น.)
หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดราชการ

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน