The Cloud x Museum Siam

เมื่อครั้นสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี บ้านเมืองรวมถึงศิลปะแขนงต่างๆ จากสมัยอยุธยาค่อยๆ ได้รับการฟื้นฟู จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 ประเทศไทยที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายยิ่งขึ้น จากการให้มิชชันนารีชาวยุโรปเข้ามาเผยแพร่ศาสนา อิทธิพลของชาติตะวันตกจึงค่อยๆ แทรกซึมอยู่ในผลงานศิลปะของไทยด้วย ทั้งในด้านจิตรกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม ตลอดจนงานสถาปัตยกรรม

ตึก วัด วัง บ้าน ในเกาะรัตนโกสินทร์จึงถูกสร้างในสมัยนั้นเป็นต้นมา และมักจะมีรูปแบบสไตล์ตะวันตกผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งสถาปัตยกรรมต่างๆ เหล่านั้นยังถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้จะมีการบูรณะ ซ่อมแซม เปลี่ยนแปลงหน้าตาไปบ้าง ทว่ากลิ่นอายของสถาปัตยกรรมตะวันตกทั้งหลายยังไม่ลอยหายไปไหน แต่ฝากไว้กับรูปทรง ซุ้มประตูเดิม ลวดลายขอบหน้าต่าง หัวเสาโรมัน และหลังคาทรงต่างๆ

พระราชวังสราญรมย์

วังเก่าสีหวานสไตล์อิตาลี อดีตที่ว่าการต่างประเทศ 

พระราชวังสราญรมย์

อาคารสีส้มสดใสใจกลางพระนคร ห่างจากกระทรวงกลาโหมเพียงฟากถนน คือพระราชวังสราญรมย์ วังที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 เพื่อประทับหลังสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส (รัชกาลที่ 5) ทว่าสวรรคตไปก่อนจะสร้างเสร็จ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงบูรณะ ปรับปรุง และใช้เป็น ‘ศาลาว่าการต่างประเทศ’ และยังใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 เด่นสง่าด้านหน้าโดยฝีมือจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้านหลังเป็นพระราชวังอิฐถือปูน 2 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมสร้างแบบนีโอปัลลาเดียน เสามีทั้งแบบกรีกและโรมัน หน้าต่างชั้นล่างเป็นซุ้มโค้ง ชั้นบนเป็นสี่เหลี่ยม โดยเลียนแบบการก่อหินทั้งสองชั้นให้ดูมั่นคงหนักแน่น แต่เมื่อปรับปรุงในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้รับการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบวิลล่าอิตาลี ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอลังการเข้าไปด้วย

บรรยากาศภายนอกนั้นแม้จะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาท่องเที่ยวละแวกพระบรมมหาราชวัง ทว่าพระราชวังสราญรมย์เดิมยังตั้งเด่นสง่าอย่างเงียบๆ มีเพียงสถาปัตยกรรมตรงหน้าให้เราได้ชมเล็ดลอดผ่านรั้วเข้าไป 

ที่อยู่ : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง 

กระทรวงกลาโหม

โรงทหารหน้าสไตล์ฝรั่ง

กระทรวงกลาโหม

ตึกสี่เหลี่ยมคางหมูสีเหลืองสดใสที่มีถนนล้อมทุกด้าน ที่แห่งนี้เดิมเป็น ‘โรงทหารหน้า’ ที่ทำการกรมทหารหน้าตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านฝีมือการออกแบบของช่างชาวอิตาลี โดยเปิดใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นอาคารสำหรับฝ่ายการทหาร ภายใต้ชื่อกระทรวงกลาโหม

อาคารสูง 3 ชั้นแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกแบบนีโอปัลลาเดียน ศิลปะแบบโรมันผสมกับคลาสสิก เน้นความสง่าของหน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วตรงกลาง ใต้จั่วเป็นเสาแบบเสาดอริก สิ่งที่โดดเด่นคือการตกแต่งปูนปั้นเหนือช่วงหน้าต่างทั้ง 3 ชั้น เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกัน เริ่มต้นจากชั้นแรกเป็นกรอบลายปูนปั้นเลียนแบบโครงสร้างหิน ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มคานเครื่องบน และชั้นที่ 3 เป็นซุ้มโค้งเสี้ยววงกลม โดยแต่ละชั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกันตลอดแนวยาว และวางเรียงรายในระยะเท่ากัน รูปทรงแบบเดียวกันนี้ทำให้สถานที่ทำการทหารกลายเป็นฉากหลังสุดชิคที่ใครต่อใครพากันมายืนโพสท่าทางและบันทึกภาพไว้

หากได้ย้อนไปดูภาพอาคารในสมัยนั้นก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก นอกเสียจากสีสันในสมัยนี้ที่สดใหม่กว่าเดิม

ที่อยู่ : ใกล้แยกกัลยาณไมตรี ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง 

อาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย

อาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 

อาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย

ห้องบนล่างรวม 37 ห้อง ประตู 164 บาน หน้าต่าง 166 บาน บันได 12 แห่ง และช่องลูกกรงไม้ 54 แห่ง คือจำนวนสิ่งที่นับได้ด้วยตาเปล่าตลอดความยาวของอาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตึกยาว อาคารเรียนเก่าแก่ที่เป็นดั่งศูนย์รวมความผูกพันของชาวชมพู-ฟ้าที่ทอดยาวตามแนวถนนตรีเพชร

อาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย

ตึกยาวก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอสยาม ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีผังแบบเรียบง่าย ทำเป็นห้องเรียนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สลับกับห้องเรียนขนาดเล็ก ถ้าเดินมองจากริมรั้ว เราจะเห็นผนังอาคารด้านติดถนนชั้นล่างเป็นแนวหน้าต่างโค้ง ส่วนชั้นบนบางส่วนถอยร่นผนังเข้าไปอยู่หลังแนวซุ้มโค้งที่เป็นทางเดิน มีลวดลายปูนปั้นสวยงามประดับอยู่ ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงตรงกลางจะเป็นช่องทางเข้าสู่ภายในโรงเรียน ทำเป็นหลังคาจั่ว ตกแต่งด้วยปัลลาเดียนโมทิฟตามแบบของวิลล่าที่ออกแบบโดยปัลลาดิโอ เมื่อก้าวเท้าสู่ภายในโรงเรียนจะเห็นผนังด้านภายในบริเวณโรงเรียนเป็นแนวทางเดินในซุ้มโค้งยาวสุดสายตาตลอดทั้งชั้นบนและล่าง

แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน แต่ตึกยาวแห่งนี้ก็ยังคงเสน่ห์และกลิ่นอายของอดีตเอาไว้อย่างครบถ้วน ชวนให้ระลึกถึงความทรงจำสมัยเรียนอยู่ไม่น้อย

ที่อยู่ : 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ 

สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

หนึ่งในสถานีตำรวจที่สวยที่สุดในไทย

สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

อาคารขนาดกะทัดรัดทรงสมมาตรบนทางสามแพร่ง เดิมเป็นวังที่ 5 ในกลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 สำหรับพระราชทานแก่พระราชโอรส 5 พระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จึงใช้เป็นสถานที่ราชการ

ตึกชั้นเดียวยกสูงได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมศิลปะตะวันตกแบบบาโรกขนาดย่อม ไม่ได้โอ่อ่าหรูหราเท่าต้นฉบับ บันไดทางขึ้นด้านหน้ามีเสากลม หัวเสาแบบก้นหอยเรียงกัน 4 ต้นดูแปลกตา หน้าต่างรอบอาคารเป็นบานเกล็ดไม้ มีช่องแสง 2 ช่อง ล้อมกรอบด้วยปูนปั้นสีขาว ในบริเวณส่วนบนเป็นลายใบไม้พันเกี่ยวกัน ถัดขึ้นไปเป็นรูปหน้าสตรี ถ้าเดินวนไปทางด้านข้างของตึกจะพบระเบียงรูปครึ่งวงกลม มีเสากลมขนาดใหญ่ หัวเสาแบบก้นหอยคล้ายกับเสาทางด้านหน้า ไว้รองรับหลังคาระเบียง ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็แวะมาชมร่องรอยศิลปะในยุคอดีตที่สถานีตำรวจกันได้

ที่อยู่ : 79 ถนนท้ายวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง 

ตึกแถวท่าเตียน

ตึกนีโอคลาสสิกโบราณย่านริมน้ำ

ตึกแถวท่าเตียน

กลุ่มอาคารพาณิชย์ในยุคแรกของสยามที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกและสะท้อนการวางระบบผังเมือง ที่เริ่มเปลี่ยนจากการค้าขายริมน้ำมาเป็นการค้าขายบนบกและกระจายตัวไปตามเส้นทางถนน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 ครั้งกรุงเทพฯ เข้าสู่การเป็นเมืองสมัยใหม่ มีการตัดถนนหนทางและเกิดสาธารณูปโภคต่างๆ มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงตลาดให้มีความเรียบร้อย สะอาด และมั่นคงถาวร สำหรับค้าขายสินค้า ซึ่งเปิดทำการมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ผังเป็นรูปตัว U โอบล้อมตลาดที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ตึกแถวชั้นล่างมีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยม ประตูเป็นบานเฟี้ยมไม้ ส่วนชั้นบนแต่ละคูหามีหน้าต่าง 2 ช่อง เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมยอดโค้ง ตอนบนกรุแผงระบายอากาศไม้ฉลุอยู่ในกรอบซุ้มโค้งใหญ่ คั่นด้วยเสาสี่เหลี่ยมเป็นจังหวะยาวตลอดอาคาร มุขกลางเจาะเป็นช่องโพรงเพื่อเป็นทางเข้าสู่ตลาดตรงกลาง มีหน้าบันจั่วแบน ชั้นล่างเป็นเสาแบบดอริก รองรับชั้นบนซึ่งเป็นเสาสี่เหลี่ยมอีกทีหนึ่ง เป็นตึกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและร่องรอยที่หลงเหลือผ่านกาลเวลา เพิ่มคุณค่าให้กรุงเก่านี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 ที่อยู่ : บริเวณตลาดท่าเตียน ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง

ตึกแถวหน้าพระลาน        

ร้านรวงสวยเก๋หน้าพระราชวัง

ตึกแถวหน้าพระลาน

หากใครเคยมาวัดพระแก้วก็คงจะคุ้นตาตึกแถวที่ทอดยาวขนานกับกำแพงวัดอย่างแน่นอน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้วังและบ้านขุนนางบางแห่งถูกเปลี่ยนเป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์ และสถานที่ราชการ วังถนนหน้าพระลานจึงไม่พ้นถูกแปรสภาพเช่นเดียวกัน

สถาปัตยกรรมของตึกแถวหน้าพระลานโดยรวมเป็นแบบนีโอคลาสสิก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาด 29 ห้อง ด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่หน้าพระบรมหาราชวัง ตึกแถวชุดนี้จึงทำอย่างประณีตงดงามเป็นพิเศษ ด้านหน้าชั้น 2 ของตึกแถวคูหากลางและคูหาปลายทั้ง 2 ข้าง มีระเบียงยื่นออกมาจากตัวอาคาร มีลักษณะเด่นที่เสากลมประดับ ชั้นล่างเป็นเสาแบบดอริก รองรับชั้นบนซึ่งทำเสาแบบไอโอนิก หน้าบันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยอดโค้งแบน มีโถประดับที่ปลาย และมีลูกกรงระเบียงเตี้ยๆ ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกประกอบอยู่ด้วย แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปแต่อาคารเก่านี้ยังคงรักษากลิ่นอายของอดีต และบอกเล่าผ่านรูปลักษณ์ที่งดงามไม่เปลี่ยนแปลง

ที่อยู่ :  ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง 

ตึกแถวท่าช้างวังหลวง

ย่านร้านค้าโออ่าริมท่าน้ำ

ตึกแถวท่าช้างวังหลวง

ตึกแถวท่าช้างวังหลวงเป็นกลุ่มอาคารที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณหน้าพระลานและตลาดท่าเตียน

เดิมพื้นที่ในบริเวณนี้ มีกำแพงเมืองและประตูเมืองชื่อประตูท่าช้าง หรือท่าช้างวังหลวง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พนักงานนำช้างของพระราชวังหลวงลงอาบ สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ดินด้านทิศเหนือของถนนมหาราช ทำเป็นที่พักพระราชทานแก่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ต่อมาแบ่งพื้นที่เป็นที่ทำการของกรมการทหารเรือ โรงพยาบาลที่ทำการแพทย์และโรงเลี้ยงอาหารของทหารรักษาวัง พร้อมทั้งให้รื้ออาคารเรือนแถวไม้ริมถนนมหาราชออก ก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถวแทน

โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค เป็นตึกสูง 2 ชั้น ผังเป็นรูปตัว L มีกระบังหน้าของอาคาร เป็นปูนปั้นนูนต่ำลายดอกไม้คล้ายกับดอกบัว ประดับด้านข้างทั้งสองข้างด้วยแจกันปูนปั้น เสามี 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นเสาอิงหรือเสาประดับอาคาร ลักษณะเป็นเสาเหลี่ยมมีรอยเซาะร่องแบ่งตามแนวขวางของต้นเสา อีกแบบหนึ่งเป็นเสากลมเรียบปลายเป็นลายก้นหอยแบบไอออนิก ซึ่งปรากฏตรงส่วนกระบังหน้า ทั้งชั้นล่างและชั้นบนเป็นสาลอยตัว ผนังเซาะร่องตื้นตามแนวขวางของผนัง ตึกแถวชุดนี้ทำอย่างประณีตงดงาม เข้าชุดกับตึกแถวหน้าพระลานที่สร้างขึ้นในช่วงเดียวกัน

ที่อยู่ : บริเวณท่าช้างวังหลวง ริมถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง

ศาลาเฉลิมกรุง

โรงมหรสพสุดเก๋ของคนไทย

ศาลาเฉลิมกรุง

‘เชย’ คงเป็นคำพูดติดตลก หากย้อนไปกว่า 80 ปีที่แล้ว มีใครบอกว่าไม่รู้จักศาลาเฉลิมกรุง เพราะสมัยนั้นโรงมหรสพหลวง หรือศาลาเฉลิมกรุง ที่ตั้งอยู่ติดกับดิโอลด์สยามในปัจจุบันนี้ ถือเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของวัยรุ่นชายหญิง ศาลาเฉลิมกรุงเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2473 ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบพระนคร 150 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 7 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างด้วย โดยเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2476 โรงมหรสพจัดแสดงครบทุกรูปแบบ ทั้งการแสดงหน้าม่าน ละคร ภาพยนตร์ โขน และดนตรีเรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้

การออกแบบเป็นรูปแบบสากลสมัย ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง ตระหง่านมั่นคงตามแบบตะวันตก  การออกแบบภายในที่ผสมผสานความเป็นไทยและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน โดยเปิดเนื้อที่กว้างขวางให้โล่งไร้เสาบังตา อาจมีการบูรณะปรับปรุงส่วนโครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายในไปบ้าง เพื่อต่อเติม ปรับแต่ง ให้เอื้อต่อการแสดงที่พัฒนาขึ้น ทว่าภายนอกนั้นยังคงรักษาโครงสร้างตึกเช่นเดิมไว้ได้อย่างดี หากเดินผ่านไปในย่านวังบูรพา ลองยืนมองอาคารที่ถูกเรียกว่าศาลาแห่งนี้จากมุมถนนอีกฟาก พร้อมกันนั้นกดเปิดรูปสมัยก่อนประกอบกัน จะสัมผัสได้ว่าแทบไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปเลย

ที่อยู่ : 66 ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

โรงกษาปณ์ที่กลายเป็นหอศิลป์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

อดีตโรงกษาปณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงศิลปะของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รูปแบบอาคารเป็นแบบนีโอปัลลาเดียน กลุ่มอาคารจะล้อมรอบลานโล่ง มุขกลางด้านหน้าอาคารเป็นหลังคาทรงจั่วแบบกรีก ให้ความรู้สึกเคร่งขรึม จริงจัง มีจุดเด่นที่ผนังหน้าจั่วประดับปูนปั้นตราแผ่นดิน ขนาบข้างด้วยลายพันธุ์พฤกษา ถึงแม้เวลาจะทำให้บทบาทของอาคารแห่งนี้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังคงอนุรักษ์ไว้คือสถาปัตยกรรมอันงดงาม เพื่อชื่นชมและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลังสืบไป

ที่อยู่ : 4 ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม 

เวลาทำการ : 09.00 – 16.00 น. (หยุดวันจันทร์และวันอังคาร)

ค่าเข้าชม : คนไทย 30 บาท คนต่างประเทศ 200 บาท

สุขุมาลอนามัย

สถานีอนามัยกลางชุมชน

สุขุมาลอนามัย

สถานีอนามัยแห่งแรกในกรุงเทพฯ สร้างเมื่อ พ.ศ.2471 เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี อาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องหน้าจั่ว  หน้าต่างไม้บานพับ ตั้งอยู่ใจกลางย่านแพร่งภูธรที่อ้อมล้อมด้วยตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะมีการบูรณะตึกไปบ้าง แต่ก็ยังคงเปิดทำการในชุมชนจนถึงปัจจุบันในชื่อสถานีกาชาดที่ 2 กรุงเทพฯ ที่มีอาคารเพิ่มอีก 2 หลังด้วย  

ที่อยู่ : 80 ซอยแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ

เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

ติดต่อ : 0 2221 5778


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน