“ทุกคนในเมืองรู้สึกได้ว่าอากาศร้อน มลพิษเยอะ รถติด พอฝนตกทีก็น้ำท่วมขัง ทุกอย่างมันกำลังบอกว่า การพัฒนาเมืองที่ผ่านมาอาจไม่ถูกทาง แล้วจากนี้เราจะเดินต่อกันต่อยังไง เราจะยังสร้างเมืองของรถยนต์ ที่เต็มไปด้วยตึกคอนกรีต หรือเราจะเริ่มมองหาหนทางที่จะปรับเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น” ยศ-ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง we!park ตั้งคำถาม

แล้วใครกันจะมาเป็นผู้ปรับเปลี่ยนให้ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวในเมืองของพวกเราดีขึ้น

ยศบอกว่า ‘ทุกคน’ มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ได้

we!park คือเครือข่ายที่ตั้งใจชวนทุกคน มาช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้เกิดขึ้นมากเท่าที่จะทำได้ โดยใช้แนวคิด Win Win Solution ที่ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน จนถึงประชาชน ได้รับผลประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อทุกคนวิน แล้วใครจะไม่อยากมาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างพื้นที่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตในเมืองดีขึ้นล่ะ จริงไหม

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

เราจะไปคุยกับยศ ถึงกลยุทธ์ของในการสร้างแรงจูงใจให้หลากหลายองค์กรยินดีมาร่วมมือ หาหนทางสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะ โดยเฉพาะการตั้งหมุดหมาย Green Bangkok 2030 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพพื้นที่สีเขียวในเมือง ไปจนถึงการทำงานกับชุมชนและคนรุ่นใหม่ของ we!park ที่จะกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองในอนาคตต่อไป

01

ทำไมพื้นที่สีเขียวดีๆ เกิดขึ้นยากจัง

ยศเล่าว่าเขาเป็นภูมิสถาปนิกที่ทำงานเรื่องภูมิทัศน์เมือง ออกแบบพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ เมื่อทำมาเรื่อยๆ ก็สงสัยว่า ทำไมพื้นที่สาธารณะดีๆ ในประเทศไทยถึงไม่ค่อยเกิดขึ้นเลย จนได้ไปทำงานกับสำนักงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งทำงานเสนอนโยบายในภาคประชาชน 

จึงเริ่มเข้าใจว่า ถ้าอยากให้พื้นที่สาธารณะดีๆ เกิดขึ้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายของภาครัฐ การสร้างกลไกการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม การจัดหางบประมาณ และการหาทุนสนับสนุน 

ซึ่งกระบวนการที่ว่าเหล่านั้นเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีการบูรณาการร่วม ต่างฝ่ายต่างทำงานของตัวเองไป ยศยกตัวอย่างว่า บางทีภาครัฐมีที่ดินแต่ไม่มีงบประมาณ ในขณะที่เอกชนมีงบประมาณ แต่ไม่มีผู้ออกแบบที่มีองค์ความรู้ ในขณะที่ผู้ออกแบบมีองค์ความรู้ แต่ไม่รู้จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร เพราะอย่างนี้ พื้นที่สาธารณะดีๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในบ้านเรา

“ที่ผ่านมานโยบายของภาครัฐไม่ได้พูดถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะตรงๆ แต่เน้นพูดเรื่องปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สีเขียวเสียมากกว่า อย่างบางทีรัฐมีงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่เมื่อใช้ระบบ Top Down ไม่ได้ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นเสาไฟหรือเขื่อนคอนกรีต ซึ่งการปรับปรุงรูปแบบนี้อาจไม่ใช่คำตอบ

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

ยศยกตัวอย่างงานที่เขาเคยมีโอกาสทำงานกับชุมชน เพื่อพัฒนาพื้นที่รกร้างจนกลายเป็นลานกีฬาพัฒน์ ทั้งที่ใต้ทางด่วนย่านอุรุพงษ์และชุมชนคลองจั่น เป็นลานกีฬาที่ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เมื่อคนรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะตรงกับความต้องการจริงๆ เมื่อเข้ามาใช้ เขาก็จะช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

“เราตระเวนคุยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้รู้ Pain Point ที่แตกต่างกันของพวกเขา อย่าง กทม. ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการกำหนดนโยบายพื้นที่สีเขียว แต่ทั้งองค์กรไม่มีนักออกแบบอยู่เลย หรือเอกชนที่มีงบประมาณอยู่ในมือ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปลงทุนตรงไหน ติดต่อใคร แล้วจะแน่ใจได้ยังไงว่าการลงเงินนั้น จะเกิดประโยชน์และยั่งยืนจริง” 

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

we!park จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมทุกภาคส่วนเข้าหากัน มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อแชร์ทรัพยากร เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วม และเกิดเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่จับต้องได้ และตอบสนองความต้องการของทุกคนจริงๆ

02

กลยุทธ์ที่ทุกคนวิน

กลยุทธ์ของ we!park เริ่มจากหาพื้นที่ว่างที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ โดยอาจเป็นพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้สะพาน ไปจนถึงพื้นที่รกร้าง ซึ่งเจ้าของพื้นที่ดินยินดีมอบให้เป็นสาธารณะประโยชน์ (ไม่จำเป็นต้องบริจาคให้ถาวร แต่เป็นลักษณะให้ยืมพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง)

จากนั้น we!park รับหน้าที่ลงไปศึกษาพื้นที่ มีการดึงคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน (Participatory Design) 

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

เมื่อได้ข้อสรุป ก็จัดหางบประมาณมาปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ออกแบบโดยชุมชน โดยมีภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เช่น กทม. ก็เป็นพาร์ตเนอร์หลักที่ช่วยในเรื่องงบประมาณบำรุงรักษา

“ที่ผ่านมา เราไม่ได้บูรณาการการใช้ที่ดินในเมือง ซึ่งยังเป็นขององค์กรใหญ่ๆ อย่างกรมธนารักษ์ การรถไฟไทย การทางพิเศษ หน่วยงานราชการ รวมถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินเหล่านี้มีศักยภาพที่ควรจะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ความท้าทายคือจะพัฒนาที่ดินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

“อย่างที่ประเทศสิงคโปร์ เขามีกลไกในเชิงนโยบายที่ระบุชัดเจนเลยว่า ถ้าคุณสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างหนึ่งอาคาร คุณจะต้องชดเชยพื้นที่สีเขียวที่เสียไป ชดเชยด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ผนังอาคาร สวนดาดฟ้า ระเบียง นอกจากนี้คุณจะต้องเปิดพื้นที่เป็นสาธารณะด้วย เรียกว่า Privately Owned Public Space (POPS)

“ถ้าเราใช้หลักการเดียวกันนี้ นักพัฒนาได้สร้างอาคาร เมืองก็ได้ประโยชน์ จากการที่มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะมาด้วย ได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win Win Solution)”

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

“อย่างการเกิดขึ้นของภาษีที่ดิน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินรู้สึกว่าต้องใช้ที่ดินทำประโยชน์อะไรสักอย่าง ประโยชน์ที่ว่านั้นจะเป็นอะไร คุณจะแค่ปลูกต้นมะนาวเพื่อเลี่ยงภาษี หรือนำมาทำประโยชน์ที่ได้มากกว่านั้นอย่างสร้างพื้นที่สีเขียว สามารถลดหย่อนภาษี สังคมก็ได้พื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ 

“ตรงนี้เราก็กำลังหารือกับภาครัฐเหมือนกันว่า ถ้าเอกชนเจ้าของที่มาร่วมกับ we!park ช่วยทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ช่วยออกแบบพื้นที่สาธารณะประโยชน์ดีๆ ที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้ แล้วภาครัฐจะมีมาตรการอะไรมารองรับบ้าง อาจจะออกมาในลักษณะของ CSR Model ที่มีเกณฑ์ชี้วัดชัดเจน ซึ่งก็ต้องกระตุ้นกันต่อไปอีกยาวๆ” 

03

ขอพื้นที่เล็กๆ

ตอนนี้ we!park กำลังทำการศึกษาพื้นที่ 4 แห่งรอบกรุงเทพฯ ตามกลยุทธ์ที่เล่าไปข้างต้นอย่างขะมักเขม้น

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

พื้นที่แรก คือบริเวณหลังวัดหัวลำโพง ด้านหลังร้านกาแฟ Too Fast To Sleep ซึ่งได้รับบริจาคจากภาคเอกชน we!park ได้ไปทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้ใช้งานในพื้นที่ เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการเปิดใช้พื้นที่ระยะทดลอง (Mock Up Park) เพื่อทดสอบความพึงพอใจของกลุ่มผู้ใช้ ผลลัพธ์เป็นที่น่าชื่นใจ ตอนนี้กำลังเข้าสู่กระบวนก่อสร้างจริง โดยมี กทม. เป็นเจ้าภาพในการจัดหางบประมาณ และอาจจะทำ Crowdfunding ด้วย

พื้นที่ที่ 2 อยู่ย่านอ่อนนุช บริเวณหลังโครงการ T77 ซึ่งได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชนเช่นกัน โดยเดือนหน้ากำลังจะมีกิจกรรมเปิดพื้นที่ซึ่ง we!park ชวนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อินเตอร์ มาร่วมจัด Pop Up Installation ร่วมกับชุมชน

พื้นที่ที่ 3 คือย่านเอกมัย เป็นพื้นที่เศษเหลือจากการทำสะพานข้ามคลองแสนแสบของเขต we!park จะเปิดประกวดแบบภูมิทัศน์เพื่อสร้างเป็นสวนสองฝั่งคลอง โดยมีข้อแม้สำคัญคือ ต้องมีการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่จริงๆ

และพื้นที่ที่ 4 เป็นของเอกชนอย่าง River City ที่ we!park ตั้งใจชวนเจ้าของที่ดินพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบ Privately Owned Public Space หรือพื้นที่สาธารณะที่ครอบครองโดยเอกชน

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

จะเห็นได้ว่าทั้งสี่พื้นที่มีความแตกต่างกันในเชิงบริบท และพื้นที่ที่มีศักยภาพก็ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ เพราะ we!park ให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงมากกว่า อธิบายให้เห็นภาพคือสวนเล็กๆ มากมายที่กระจัดกระจายไปทั่วเมือง มีประสิทธิภาพกว่าสวนขนาดมหึมาเพียงไม่กี่สวน ที่คนเข้าถึงยากเย็น

“เมื่อเราลงไปศึกษาพื้นที่ ทำกระบวนการมีส่วนร่วม มันไม่จำเป็นว่าผลลัพธ์จะต้องออกมาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะเสมอไป แต่ละพื้นที่มีศักยภาพและข้อจำกัดของตัวเอง we!park จึงไม่ได้ตั้งธงไว้ในใจว่าต้องทำสวนเท่านั้น บางพื้นที่ชุมชนอาจต้องการกิจกรรมเปิดพื้นที่หรือเวิร์กช็อป 

“ทีมเราเองก็ค่อยๆ Connecting Dot เช่นกัน อย่างพื้นที่ของ River City พอเราศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีทีมนักออกแบบอีกทีมคือปั้นเมือง กำลังทำ Pocket Park บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งอยู่ในรัศมีการให้บริการของพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เราก็รู้บริบทมากขึ้นว่าทั้งสองพื้นที่มีศักยภาพที่จะเชื่อมต่อเข้าหากัน”

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

“ตอนนี้เราพยายามหาพื้นที่ที่มีศักภาพมาไว้ในมือให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าเอกชนที่สนใจ เขาจะสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ บ้านเขา เพื่อให้เขาได้ประโยชน์ก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่าเขาทำธุรกิจ เพราะถ้าอยู่ดีๆ เราไปบอกว่า เรามาช่วยให้เมืองดีขึ้นกันเถอะ แบบนี้มันคุยกับผู้ถือหุ้นไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาย่านของเขาก่อน ในย่านมีทางเดินดีๆ มี Pocket Park ย่านจะน่าอยู่ และคุณภาพชีวิตของผู้คนจะดีขึ้น เขาวิน เขาก็อยากร่วมมือด้วย”

04

เขียวยังไงให้ยั่งยืน

นอกจาก 4 พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อีกสิ่งที่ we!park ทำอย่างสม่ำเสมอ คือชวนคนรุ่นใหม่ออกไปเดินสำรวจ Pocket Space ที่ซุกซ่อนอยู่ในย่านต่างๆ ยศบอกว่าการชวนนักศึกษามาทำงานร่วมกันนั้น เป็นการสร้างเครื่องมือที่ทรงพลัง เพราะคนรุ่นใหม่มีไอเดียมากมายที่ต่อยอดได้ ถ้าได้รับการผลักดันอย่างตั้งใจ

เราถามว่าสิ่งที่ we!park กำลังทำอยู่เรียกว่านวัตกรรมทางสังคมได้ไหม ยศบอกว่ามันจะเป็นนวัตกรรมได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนี้ทำซ้ำได้ และต้องไม่เกิดขึ้นแค่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่พื้นที่สีเขียวสาธารณะแบบที่พวกเขากำลังพยายามผลักดัน ต้องเกิดขึ้นกระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

“ทำซ้ำได้ หมายถึงมันต้องเป็นโมเดล เราเลยขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการถอดโมเดลเป็นชุดการพัฒนา เพื่อเป็นเครื่องมือให้เห็นว่า ถ้าต้องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กแบบนี้ต้องทำยังไง ชวนใครมามีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้นำไปทำซ้ำที่อื่นในประเทศไทยได้”

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

“เพื่อให้ต่อไปเมื่อพูดถึงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ท้องถิ่นได้งบสนับสนุนในการปรับปรุงภูมิทัศน์ มันจะเกิดกระบวนการออกแบบ Bottom Up ไม่ออกมาเป็นเสาไฟเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าแค่ใช้งบประมาณให้หมดไปในแต่ละปี แต่ทุกการสร้างมีตัวชี้ในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เชิงเศรษฐศาสตร์ แต่สร้างอิมแพ็กเชิงสุขภาวะและผู้คนด้วย”

ยศอธิบายต่อว่า พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เมืองน่าอยู่ ไม่ใช่แค่สร้างชีวิตชีวา แต่พื้นที่เหล่านั้นมีต้นไม้พืชพรรณที่ช่วยผลิตออกซิเจน กรองฝุ่นมลภาวะ ดูดซับน้ำ 

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

ถ้ามองไปยังหลายๆ เมืองทั่วโลก มันมีตัวชี้วัดมานานแล้วว่าการที่สภาพแวดล้อมของเมืองดี ดึงดูดการลงทุน ดึงดูดผู้คนให้อยากเข้าไปอยู่ ไปใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น เมืองไม่ใช่แค่ที่อยู่ แต่เป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันกับนานาชาติในหลายมิติ

ดังนั้นนอกจากสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะแล้ว อีกหนึ่งภารกิจของ we!park คือจะทำยังไงให้ภาครัฐ เอกชน รวมถึงชุมชนและคนทั่วไปเห็นร่วมกันว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

05

เป้าหมายใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง

Green Bangkok 2030 คือหมุดหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของ กทม. ที่ผลักดันโดยหลายภาคส่วน รวมถึง we!park โดยตั้ง 3 เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จในระยะเวลา 10 ปีนับจากวันนี้ 

เป้าหมายแรก คือเพิ่มขนาดพื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพฯ จาก 6.9 ตารางเมตรต่อคนเป็น 10 ตารางเมตรต่อคน โดยต้องเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพในการใช้งานด้วย

เป้าต่อมา คือระยะการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญกับการคุณภาพในการเข้าถึง มากกว่าขนาดพื้นที่สีเขียว คนในเมืองควรจากบ้าน 5 – 10 นาที หรือประมาณ 400 เมตร เพื่อเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะในละแวกบ้าน สิ่งนี้คือตัวชี้วัดการกระจายตัวอย่างเท่าเทียม

ทุกวันนี้มีคนกรุงเทพฯ แค่ 13 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะในละแวกบ้าน ในอีก 10 ปี สัดส่วนคนกรุงที่สามารถเดินถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะจะต้องเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ ยศบอกว่าบางเมืองในโลกมีการตั้งเป้าไว้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

เป้าสุดท้าย คือพื้นที่ร่มไม้ปกคลุม ซึ่งนับรวมพื้นที่ที่ต้นไม้ให้ร่มเงาทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่นับสนามหญ้า ต้องเป็นต้นไม้ใหญ่เท่านั้น

เป้าหมายนี้มีเพื่อชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในเมือง คุณภาพของอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยดูได้จากภาพถ่ายดาวเทียม แม้ที่ผ่านมา กทม. จะรณรงค์ให้คนเอากล้าไม้ไปปลูก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเป้าหมายชัดเจน ใน 10 ปี พื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีพื้นที่ร่มไม้ปกคลุมเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์

ฟังยศเล่าให้ฟังแบบนี้ ในฐานะชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่งก็อดยิ้มดีใจไม่ได้ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้ยังมีอุปสรรคใหญ่ให้ต้องข้ามไปทีละขั้น 

“ตอน กทม. มาคุยกับเรา เรื่องสร้าง Pocket Park ด้วยกลยุทธ์ของ we!park เราก็บอกเขาไปนะว่า เราทำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน กระตุ้นพื้นที่ และช่วยหาพาร์ตเนอร์เอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาในการทำงานร่วมกันได้

“แต่ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ คุณต้องไปบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินมากมายในกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเห็นเป้าหมายตรงกัน ไม่อย่างนั้นการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าที่วางไว้จะสำเร็จ

“เราก็พยายามกระตุ้น กทม. อยู่ตลอดว่า ในสิบปี ถ้าอยากผลักดันจนสำเร็จตามเป้า คุณต้องนำสิ่งนี้ไปสู่ร่างนโยบายเพื่อผนึกกำลังกัน ขอยกตัวอย่างสิงคโปร์อีกที เขามีรายงานออกมาชัดเจนเลยว่าถ้าพื้นที่สีเขียวมเท่านี้ มันจะกระทบจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อสุขภาพและสาธารณะสุขของประชากร พื้นที่สีเขียวสาธารณะเท่านี้ ตัวชี้วัดเท่านี้ ถ้าหน่วยงานภาครัฐมาลงทุน เอกชนยินดีลงทุนสนับสนุนตามการนำของรัฐ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็เท่าทวี

“เรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันยึดโยงไปถึงความมั่นคงในชีวิตด้านอื่นๆ ฝุ่นพิษ PM 2.5 น้ำท่วม โลกร้อน Urban Heat นี่คือประเด็นใหญ่มหึมาทั้งนั้น เป้าหมายสามข้อที่วางไว้ชัดเจนและท้าทาย แต่ในระดับปฏิบัติการยังเล็กมาก แต่แม้หนึ่งในคนขับเคลื่อนอย่าง we!park เองยังเป็นยูนิตเล็กๆ เป็นกองทัพมด แต่เราจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวอย่างที่ใฝ่ฝันจริง”

we!park โปรเจกต์เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสร้างชีวิตดีและวินได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล, ยศ-ยศพล บุญสม shma

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน