8 กุมภาพันธ์ 2021
13 K

แสบๆ คันๆ ผื่นนิด ผดหน่อย 

คืออาการแพ้ผ้าอนามัยที่เราไม่ได้ประสบพบเจอตั้งแต่เริ่มวัยแรกสาว แต่นึกจะเป็นก็เป็นขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง วิธีแก้ของเราคือเปลี่ยนผ้าอนามัยในท้องตลาดไปเรื่อยๆ วนไปเวียนมา แต่ก็ยังไม่พบทางเลือกที่ใช่ จนกลายเป็นคนขี้แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง

แต่ เหวิน-ชวิศา เฉิน สาวลูกครึ่งไต้หวันตรงหน้าเราไม่ใช่แบบนั้น เธอมีอาการแพ้ผ้าอนามัยหนักถึงขั้นต้องผ่าตัด ทายา และกินยาจนกว่าจะหายดี แต่หลังจากนั้น สิ่งที่เธอหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการหาผ้าอนามัยที่ใช้แล้วจะไม่เกิดอาการแพ้อีก

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

เพราะมีโอกาสได้ไปต่างประเทศบ่อย ขณะที่หลายคนเดินเลือกหาของกระจุกกระจิกกลับไปฝากคนที่บ้าน เหวินเดินหาผ้าอนามัยแบรนด์ต่างๆ มาทดลองใช้ จนแล้วจนรอด เธอพบแบรนด์ผ้าอนามัยที่โดนใจจากประเทศเกาหลีใต้ ขนาดที่ต้องเหมาผ้าอนามัยกลับไทยเพื่อใช้ตลอดปี แต่ทำได้ 2 ปี ก็กลับมาตั้งคำถามว่า นี่ใช่ทางออกของคนขี้แพ้จริงๆ หรือเปล่า

หลังเรียนจบด้านธุรกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานอยู่บริษัทเอเจนซี่ได้ 1 ปี เหวินมีโอกาสแข่ง Hackathon โครงการที่รวบรวมคนจากหลายสาขามาร่วมแก้ไขปัญหาและคิดไอเดียใหม่ๆ และได้รางวัลเป็นตั๋วงานสตาร์ทอัพ เธอจึงได้ก้าวเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพเต็มตัว โดยทำงานเป็นผู้จัดการ Thailand Tech Startup Association หรือสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ 

ล่าสุด เธอมีโอกาสได้ทำงานด้านสตาร์ทอัพในบริษัทออสเตรเลีย แต่เพราะ COVID-19 เป็นเหตุ เมื่อบริษัทปิดตัว ทางเลือกในชีวิตจึงมีอยู่ 2 แบบ คือ สมัครงานหรือสร้างแบรนด์เอง และ ใช่ เธอเลือกอย่างหลัง นั่นคือการสร้างแบรนด์ผ้าอนามัยย่อยสลายได้นาม Wensday

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

หลายคนอาจคิดว่าหญิงสาวคนเก่งผู้คร่ำหวอดในแวดวงสตาร์ทอัพมานานอย่างเหวินจะต้องสร้างแบรนด์ได้แน่นอน แต่ภายใต้ฉากเบื้องหน้าเหล่านั้น เธอกลับมีสารพัดความกลัวและความเครียดอยู่ จนแอบเก็บไปฝันและทำลายความมั่นใจในบางครา 

การกระโดดลงมาทำแบรนด์ของเหวินครั้งแรกจะเป็นยังไง เธอเริ่มจากอะไร คิดอะไร และนำความเป็นสตาร์ทอัพในตัวมาประยุกต์ใช้แบบไหน ขอชวนทุกคนค่อยๆ ปั้นแบรนด์ไปกับเธอกัน

“ทำไมถึงไม่มีผ้าอนามัยแบบนี้ในประเทศไทย”

เหวินเริ่มต้นเล่าถึงความเจ็บปวดจากอาการแพ้ผ้าอนามัยสมัยแรกสาวให้เราฟัง แม้ปัจจุบันจะเล่าไปขำไป แต่เมื่อมองย้อนถึงอดีต ความเจ็บปวดครั้งนั้นค่อนข้างฝังลึก ทั้งความสับสนว่าเธอผิดปกติหรือเปล่า และความกลัวที่จะไปคุยกับใคร ถึงขนาดต้องคิดสคริปต์เพื่อเล่าให้แม่ฟัง ป้องกันความเข้าใจผิดว่าเธอติดโรคร้าย

“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดว่าแพ้เหงื่อตัวเองบ้าง คิดว่าอวัยวะเพศเรามีปัญหาบ้าง แต่พอสังเกต อาการแบบนี้จะมาเฉพาะตอนเป็นประจำเดือน จากเป็นแค่ผดผื่น มันลามเป็นสิว สุดท้ายกลายร่างเป็นฝีตอนเราเพิ่งเรียนจบ กำลังจะซ้อมรับปริญญาเลย

“แล้วจะไปบอกใคร บอกเพื่อนก็ไม่ใช่ บอกแม่เหรอ เขาจะคิดว่าเราติดโรคไหม แต่มันมาถึงจุดที่เราไม่ไหวแล้ว นั่งก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ เดินก็ไม่ไหว เลยไปบอกว่า ม้า มันไม่ไหวแล้ว เจ็บมาก เลยได้ไปโรงพยาบาลและต้องดมยาสลบเพื่อผ่าเอาหนองออก” 

คำแนะนำของคุณหมอคือ เธอต้องหาผ้าอนามัยแบรนด์ที่ใช่ให้ได้ หลายคนแนะนำให้เปลี่ยนผ้าอนามัยไปเรื่อยๆ แต่เหวินขอยืนยันว่า เธอเปลี่ยนมาจนครบทุกแบรนด์ในประเทศ แต่ก็ยังไม่เจอคำตอบ 

เพราะความโชคดีที่งานในวงการสตาร์ทอัพ ทำให้ได้ไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เหวินจึงไล่ล่าตามหาผ้าอนามัยจากประเทศเหล่านั้น จนได้พบกับผ้าอนามัยสุดอ่อนโยนจากประเทศเกาหลี ที่ช่างภาพของเรายืนยันอีกเสียงว่าดีเสียยิ่งกว่าดี

“เราเหมากลับมาเพื่อใช้ทั้งปีเพราะไม่รู้จะทำยังไง ก็คนมันแพ้ แต่ทำแบบนั้นได้สองปี ก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เราต้องมีประจำเดือนอีกนานแค่ไหน แล้วต้องทำแบบนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ ทำไมถึงไม่มีผ้าอนามัยแบบนี้ในประเทศไทย”

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

“เราต้องหาก่อนว่ามีปัญหาให้แก้หรือเปล่า ไม่ใช่คิดอยากทำแล้วก็ทำ”

แน่นอนว่าสังคมรอบตัวเป็นแบบไหน เราผู้อยู่ในสังคมย่อมเป็นแบบนั้น เช่นเดียวกับเหวินที่ทำงานในวงการสตาร์ทอัพมานานแสนนาน จนบุคลิกลักษณะแบบเหล่าสตาร์ทอัพหล่อหลอมให้เธอเป็นเหวินในวันนี้

“เราได้อยู่ในวงโคจรของนักธุรกิจไฟแรง ทำให้ได้เห็นความคิดความอ่าน ความทะเยอทะยาน แพสชัน และความคิดสร้างสรรค์ของทุกคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ต้องการ Disrupt อุตสาหกรรม และบางคนก็ต้องการทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ พี่ๆ ในวงการไม่ได้เห็นปัญหาแล้วยอมรับว่ามันก็เป็นแบบนี้ แต่มองว่าเราจะแก้ไขปัญหายังไง มันกลายเป็นพื้นฐานของการสร้าง Wendays” 

เพราะเหวินไม่มีทางเป็นคนขี้แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง เธอจึงเลือกลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง และบางอย่างที่ว่าก็เพื่อแก้ปัญหาที่เธอเผชิญ

“เราต้องหาก่อนว่ามีปัญหาให้แก้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าคิดอยากทำสิ่งนี้แล้วก็ทำ สุดท้ายอาจไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย หรืออาจไม่มีกลุ่มลูกค้า การเริ่มจากปัญหามันคือการเริ่มจากว่าคนกลุ่มนี้มีอยู่ไหม ปัญหานี้มีอยู่จริงหรือเปล่า สิ่งที่เรากำลังจะแก้ คือสิ่งที่ Good to Have แต่ไม่จำเป็นต้องมีหรือไม่ 

“อย่างผ้าอนามัย คนที่ไม่มีปัญหาก็อาจมองว่ามันคือ Good to Have เพื่อเสริมเรื่องการอยากดูแลตัวเอง แต่คนที่มีปัญหาจริงๆ ชีวิตมันมืดมนมากเลยนะ ผ้าอนามัยของเราอาจเข้าไปตอบโจทย์เขาได้”
ความคิดเหล่านี้เก็บอยู่ในใจอย่างไม่เป็นรูปเป็นร่างเรื่อยมาจนสถานการณ์ COVID-19 เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศออสเตรเลียที่เธอทำงานอยู่ต้องปิดตัวลง นี่จึงเป็นโอกาสให้เธอได้เข้ามาแก้ไขปัญหาชีวิตและปัญหาการแพ้ผ้าอนามัยอย่างจริงจัง

“เรามีเชื้อเพลิงเรื่องความทะเยอทะยาน ความคิดสร้างสรรค์จากการทำงานในวงการนี้อยู่แล้ว แต่ COVID-19 เป็นประกายไฟจุดเชื้อเพลิงให้ติดขึ้นว่าเราจะเดินไปทางไหน จะสมัครงานหรือจะทำแบรนด์ของตัวเอง ถามว่ากลัวไหมที่ลงมาทำแบรนด์เองและดันมาเริ่มในช่วงเวลาแบบนี้ เรากลัว แต่มันถึงเวลาแล้วที่ต้องลองดูสักตั้ง ถ้าไม่สู้วันนี้แล้วจะสู้วันไหน”
สารภาพตามตรง คนขี้แพ้ก็ต้องดูแลตัวเองอย่างเรารู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาทันทีว่าอิสรภาพของผู้หญิงกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

“เราต้องดูตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศว่าเขาไปถึงไหนแล้ว”

ใจพร้อม กายพร้อม เราทำได้ เมื่อคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเสียที เหวินเริ่มศึกษาตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดของคนแพ้ผ้าอนามัยเช่นเธอนั้นมีอยู่จริงๆ 

“เราต้องดูตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศว่าเขาไปถึงไหนแล้ว ดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ยังไม่ถูกตอบสนอง ไม่ว่าจะเรื่องผ้าอนามัยหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตผู้หญิงดีขึ้นในทุกๆ วัน”

เหวินพบว่าตลาดทั้งสองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือคนเริ่มใส่ใจตัวเอง ใส่ใจคนอื่น และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

“ถ้าเราเห็นเทรนด์นี้ คนอื่นก็ต้องเห็นอยู่แล้ว คู่แข่งก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี แต่นั่นหมายความว่าโอกาสของตลาดนี้กำลังมา” 

ไม่ใช่เพียงการดูความเป็นไปของคนในอินเทอร์เน็ต แต่เหวินเฝ้าถามเพื่อนรอบกายและคนในออฟฟิศของที่บ้านเพื่อดูว่าเธอจะทำอะไรได้บ้าง จนค้นพบทางสว่างว่า ถ้วยอนามัยยากต่อการใส่ ส่วนผ้าอนามัยซักได้ก็คล้ายจะลำบากต่อการซัก เหวินจึงเลือกวิธีที่เธอสะดวกใจมากที่สุด 

“การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจากการใช้ผ้าอนามัยทั่วไปเป็นแบบอื่นมันยาก ไม่ได้หมายความสองสิ่งนี้เป็นทางเลือกที่ไม่ดี แต่เราต้องโอเคกับทางเลือกนั้นด้วย จึงต้องคิดต่อว่า จะทำยังไงให้ของที่มีอยู่แล้วอย่างผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งมันดีขึ้นกว่าเดิม”

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

“การเข้าหาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยย่นระยะทางให้เราถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น” 

การลองใช้ผ้าอนามัยมากว่า 50 แบรนด์ภายในระยะเวลา 5 ปียังไม่พอกับการสร้างแบรนด์นี้ แม้แต่การศึกษาตลาดภายในระยะเวลา 1 ปีหลังตัดสินใจเริ่มแบรนด์ก็ยังไม่รอบคอบนัก เกือบทุกกระบวนการก่อนจะกลายเป็นผ้าอนามัย Wendays เหวินต้องปรึกษาและรับคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถิติของคนที่แพ้ผ้าอนามัย อาการทั้งหมดที่ตรวจพบ แพตเทิร์นการแพ้ที่พบบ่อยๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่คนไข้แพ้นั้นมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน 

“คนที่แพ้แบบเรามีเยอะ และผู้หญิงก็ยังแพ้ผ้าอนามัยกันอยู่เรื่อยๆ คนที่มาหาหมอ คือคนที่แก้ไขปัญหาจนมาถึงทางออกสุดท้ายแล้ว แล้วคนที่ยังไม่ได้มาหาหมอล่ะ เขาทำอะไรได้บ้าง 

“การที่เราปรึกษาหมอในเกือบทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มกระทั่งทำคอนเทนต์ทุกวันนี้ ก็เพราะเราไม่ได้เก่งทุกด้าน เราถนัดหาข้อมูล จำ และลอง แต่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้ง จึงต้องหาคนมาตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเราไม่ได้มโนไปเองว่าเราแพ้ หรือการทำแบบนี้มันดีหรือเปล่า การเข้าหาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยย่นระยะทางให้เราถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น” 

“เราอยากได้โรงงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน”

ไม่รีรอ หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลและมั่นใจกับตลาด เหวินเริ่มเสาะหาโรงงานจากบริษัทต่างๆ ที่เคยผลิตผ้าอนามัยแบบที่เธอใช้แล้วไม่แพ้ จากโรงงาน 10 กว่าแห่งทั่วโลก เหวินตัดเหลือเพียง 1 โรงงานที่มีคุณสมบัติสำคัญคือ หนึ่ง มีทิศทางในการพัฒนาสอดคล้องกัน และสอง น่าเชื่อถือมากพอ

“เราอยากได้โรงงานที่มีเป้าหมายเดียวกันว่าอยากผลิตของที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่แรก เพราะไม่อยากเปลี่ยนโรงงานหรือเปลี่ยนคุณภาพไปเรื่อยๆ บางโรงงานมีวัตถุดิบไม่พอ บางโรงงานทำสิ่งที่เราต้องการไม่ได้ เช่น เรามีความคิดว่าอยากให้ย่อยสลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในอนาคต แต่บางที่ก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะพัฒนากระบวนการผลิตต่อไปถึงขั้นนั้น” 

วิธีการคัดเลือกโรงงานของเธออาจดูพื้นฐาน แต่กลับเป็นสิ่งที่คนนอกวงการสตาร์ทอัพอย่างเราไม่เคยคิดถึง หลังจากศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผ้าอนามัยและตลาดมามาก เธอลิสต์คำถามที่สงสัยเพื่อเช็กว่าโรงงานนั้นให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่

“เราอยากรู้ว่าโรงงานไหนเข้าใจสิ่งที่ทำจริงๆ บางโรงงานตอบแบบมีความรู้ บางโรงงานก็ตอบแบบขอไปที เช่น เราถามว่า ไม่ใส่ SAP หรือเจลดูดซับได้ไหม หรือเราใส่เพิ่มได้หรือเปล่า การย่อยสลายใช้เวลาเท่าไหร่และในสภาพแวดล้อมแบบไหน เขารู้ไหมว่าฝ้ายออร์แกนิกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ฟาร์มอยู่ที่ไหน ปลูกยังไง บริเวณรอบข้างเป็นออร์แกนิกหรือเปล่า ไม่ใช่แค่บอกเราว่าฉันออร์แกนิกแล้วจบ โดยไม่รู้กระบวนการอะไรเลย หรือบางครั้งก็บอกว่าเดี๋ยวมาตอบแล้วหายไปเป็นสัปดาห์ สุดท้ายโรงงานที่เราเลือกมาเขาตอบเราได้ทั้งหมด มีข้อมูลรองรับเรื่องการย่อยสลายและคุณภาพ”

เมื่อตกลงทำสัญญาและได้รับตัวอย่างมาทดลองใช้ เหวินและน้องสาวก็กลายเป็นหนูทดลองของแบรนด์ตัวเองไป ในความโชคร้ายที่เธอมีปัญหามดลูกคว่ำ มีพังผืดจนปวดท้องประจำเดือนชนิดเป็นลม และต้องรักษาด้วยการฝังยาคุม (และใช่ เราก็มีปัญหาเช่นเดียวกับเธอ) เกิดเป็นความโชคดีที่ทำให้อยู่ดีๆ เหวินก็มีประจำเดือนติดกันทุกวันเป็นระยะเวลา 60 วัน จนทดลองและเลือกต้นแบบที่อยากได้ในระยะเวลา 6 เดือน 

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์
Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

“เราต้องกลับมาสู่จุดเริ่มต้นว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร”

เหวินบอกกับเราว่า สิ่งที่เธอเลือกและปรับจนกลายเป็นผ้าอนามัยย่อยสลายได้ของ Wendays เป็นสิ่งที่เลือกจากความชอบของตัวเองและน้องสาว

“ด้านในของเราบรรจุเยื่อไม้ (Wood Pulp) ส่วนตัว Top Sheet เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ฝ้ายออร์แกนิก ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีใยธรรมชาติอื่นๆ อีกนะ เช่น ใยไผ่ แต่เราชอบเนื้อสัมผัสคอตตอนที่นุ่มและแห้งไว บวกกับคอตตอนเป็นสีขาว เราจึงไม่จำเป็นต้องย้อมสี ขณะที่ใยธรรมชาติบางแบบมีสีเหลือง ซึ่งบางโรงงานจะย้อมให้กลายเป็นสีขาว ก็ยิ่งยุ่งยากเข้าไปใหญ่ 

“สิ่งที่คนส่วนใหญ่ลังเลว่าจะใช้หรือไม่ คือ SAP หรือเจลพอลิเมอร์สำหรับดูดซับประจำเดือน จริงอยู่ที่เราใส่ใจโลก แต่สุดท้ายเลือกใส่เพราะฟังก์ชัน ประเทศเราอยู่ในแถบร้อนชื้น มันทำให้ส่วนนั้นอับชื้นได้ง่าย ซึ่งอาจก่อปัญหาใหม่ที่ถึงเราไม่แพ้ Top Sheet แต่เราก็เกิดแผลอับชื้นอยู่ดี การใส่ SAP จึงตอบโจทย์เรามากกว่า” 

สิ่งที่เธอเลือกนั้นคือวัตถุดิบที่คัดมาแล้วว่าปลอดภัยและอ่อนโยนต่อผู้หญิง ซึ่งจะแจ้งไว้อย่างละเอียดที่กล่องเพื่อให้ลูกค้าได้ศึกษาก่อนซื้อ ไม่ปกปิดข้อมูลว่าใส่อะไรลงไปบ้าง 

แล้วสิ่งที่เธอไม่เคยคิดเลือกให้เป็นผ้าอนามัย Wendays ล่ะ มีอะไรบ้าง

“ต้องกลับมาสู่จุดเริ่มต้นว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร เราไม่ต้องการความแฟนซีในผ้าอนามัย ดังนั้น เราจะไม่ใส่กลิ่น สี สมุนไพร หรือความเย็นที่เป็นสารเคมี ถามว่าสิ่งเหล่านี้ดีไหม อาจจะดีสำหรับคนที่ไม่แพ้ แต่คนที่แพ้ก็ต้องคิดหนักว่า ถ้าไม่แพ้ Top Sheet เราจะแพ้อะไร”

งบประมาณและการตลาด 

แบรนด์ต่างๆ ในไทยมักมีช่องทางการขายหลักเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันขายสินค้า แต่เหวินมองว่า Wendays อยากไปไกลกว่าตลาดในประเทศ การมีเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลและคำถามชวนสงสัยจึงถือเป็นการตลาดอย่างหนึ่ง

“กลุ่มลูกค้าเราเป็นใคร ถ้ากลุ่มลูกค้าต้องการแอปฯ เราก็ทำแอปฯ ถ้ากลุ่มลูกค้าต้องการแค่เว็บก็ทำเว็บ เหล่านี้ต้องพิจารณาว่าเราต้องการสื่ออะไรและโจทย์ของเราคือใคร อยู่ที่ไหน อย่างเรามองว่ากลุ่มลูกค้า Wendays อาจขยายไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความต้องการและสภาพอากาศคล้ายไทย แบรนด์ก็น่าจะตอบโจทย์เขาเหมือนกัน อีกอย่างด้วยเราเป็นแบรนด์ใหม่ ใครจะเชื่อถือว่าเรามีตัวตนจริงๆ เราจึงต้องพยายามเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยการมีเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่ถูกต้องที่สุด”

ข้อมูลที่ว่าประกอบด้วยการก่อตั้งของแบรนด์ คำถามน่าฉงนสงสัย เช่น ขายอะไรบ้าง ผ้าอนามัยใช้ยังไง หรือย่อยยังไง นอกจากนั้น เหวินยังมีบทความที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนในเว็บไซต์ด้วย เพราะมากกว่าการขายผ้าอนามัย เหวินอยากส่งต่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกคน

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

Wendays for Environment

เราๆ ท่านๆ อาจจะเพิ่งเริ่มรักษ์โลกกันได้ไม่นาน ใช้แล้วใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือหยิบจับไปรีไซเคิลกันบ้าง แต่เหวินเป็นหนึ่งในผู้มาก่อนกาลในเรื่องนี้ เพราะความเป็นลูกครึ่งไต้หวันที่สั่งสมในตัว

“ไต้หวันใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เขารีไซเคิล แยกขยะ และเลิกใช้ถุงพลาสติกมานานมากๆ เราเลยพกถุงผ้าและแก้วน้ำเองตลอด ที่บ้านจะมีลังรวมกระดาษรีไซเคิลอยู่แล้วด้วย แต่เราไม่ได้ถึงขนาดมีชีวิตแบบ Zero Waste นะ” 

แล้วผ้าอนามัยเพื่อคนที่แพ้สัมพันธ์กับการรักษ์โลกยังไง เราสงสัยว่าในความเป็นจริง เธอสามารถผลิตผ้าอนามัยที่อ่อนโยนโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องรักษ์โลกได้ไหม

“แรกเริ่ม เราแค่หาสิ่งที่ทำให้เราไม่แพ้ แต่ระหว่างทางก็เริ่มเห็นทางเลือกว่ามันทำได้นี่นา งั้นก็ดีสิ นอกจากดีต่อเรา ยังดีต่อโลกด้วย” 

ดีต่อโลกยังไง ขอไขข้อข้องใจเพิ่มเติม นอกจาก Top Sheet จากฝ้ายออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Wood Pulp ด้านล่างจากธรรมชาติ แผ่นและเทปที่ห่อผ้าอนามัยทั้งหมดก็ผลิตจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้เช่นกัน ผ้าอนามัยของเธอจึงย่อยสลายในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม อันประกอบด้วยออกซิเจน ดิน จุลินทรีย์ ความชื้น และอุณหภูมิสูง อย่างถังหมักปุ๋ยครัวเรือนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส จะย่อยสลายได้ภายใน 12 เดือน ส่วนถังปุ๋ยเชิงพาณิชย์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 58 องศาเซลเซียส จะย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน

แล้วถ้าไม่มีถังหมักปุ๋ยจะทำยังไง เราถาม

“ด้วยประเทศไทยยังไม่ได้มีการแยกจริงจัง อย่างแถวบ้านเราก็เอาขยะมากองรวมไว้ ทุกครั้งที่ฝนตกแล้วกลิ่นโชย เรารู้สึกว่าเราคือส่วนหนึ่งของกลิ่นนี้ แต่ยังดีที่อย่างน้อยผ้าอนามัยของเราที่ไปกองรวมกับขยะอื่นๆ ก็จะหายไปก่อนเพื่อน เพราะไม่อย่างนั้น มันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ สี่ร้อยถึงห้าร้อยปี ซึ่งแม้เราไม่อยู่บนโลกใบนี้ แต่ผ้าอนามัยเรายังอยู่”

เพราะเธอเลือกใส่ SAP หรือเจลเพื่อดูดซับประจำเดือนให้น้องสาวไม่อับชื้น รวมถึงยังมีกาวสำหรับประกบกางเกงชั้นใน นอกจากนั้น แม้กล่องที่เลือกใช้จะไม่ได้ย่อยสลายเร็วทันใจ แต่เจ้ากล่องน้อยใหญ่เหล่านี้ก็นำส่งโรงงานเพื่อรีไซเคิลสร้างประโยชน์ต่อไปได้ ดีกว่าการใช้พลาสติกยืดย้วยเช่นแบรนด์ผ้าอนามัยตามท้องตลาด ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ที่ว่าจึงยังย่อยได้ประมาณ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ เหวินแอบกระซิบว่าเธอไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงพยายามคิดค้นวิธีการทำให้ย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์
Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

Wendays for Woman

ตั้งแต่ Pain Point จนถึงช่องทางการขาย ทุกกระบวนการที่เหวินตั้งเป้าไม่ใช่เพื่อสร้าง Wendays แบรนด์ที่ขายผ้าอนามัย แต่เป็น Wendays แบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อช่วยให้ผู้หญิงมั่นใจและใช้ชีวิตได้ดีในทุกๆ วัน โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์แรกอย่างผ้าอยามัยที่ทุกคนใช้และประสบปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“ชื่อ Wendays มาจากชื่อเรา เพราะอยากให้แบรนด์สื่อถึงตัวเราและสื่อถึงผู้หญิง พอรวมชื่อภาษาอังกฤษของเราว่า Wendy กับคำว่า Days เลยกลายเป็น Wendays ที่อยากจะเป็น Everyday หรือทุกๆ วันของผู้หญิง 

“เราไม่ได้มองว่าแบรนด์ Wendays เป็นแค่ผ้าอนามัยที่ซื้อมาขายไป แต่เราอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการตอบโจทย์จากความเข้าใจในตัวเอง จนเป็นความเข้าใจในผู้หญิงว่าผู้หญิงมีความหลากหลาย เรามีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องดูแลมากกว่าอีกหลายเพศ จึงอยากให้ Wendays เป็นผู้หญิงที่เข้าใจผู้หญิง และพยายามสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้ทุกๆ วันของผู้หญิงเป็นวันที่มีความสุข เป็นวันที่ดี เพราะผู้หญิงไม่ควรถูกรั้งไว้ด้วยการที่เราเป็นเพศนี้”

อย่างที่ว่า ผ้าอนามัยเป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ Wendays ที่ช่วยทำให้ทุกวันของผู้หญิงอย่างเราๆ สบาย มั่นใจ และมีอิสระมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า จริงๆ แล้ว Wendays ไม่ใช่แบรนด์สีชมพู แต่สีชมพูคือตัวแทนของผลิตภัณฑ์แรกอย่างผ้าอนามัยที่สื่อถึงประจำเดือนได้ ตั้งแต่วันมามากเป็นสีชมพูเข้ม วันมาปานกลางเป็นสีชมพู ส่วนวันมาน้อยเป็นสีชมพูอ่อน ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะพัฒนาในอนาคตจะเป็นสีใด เธอขออุบไว้ก่อน

จากจุดตั้งต้นจนถึงจุดนี้ที่ผ้าอนามัยของ Wendays ออกสู่สายตาประชาหญิงมากว่า 3 เดือน หลายคนอาจมองว่าด้วยประสบการณ์ทั้งหมดที่มี เธอจะต้องบริหารจัดการ Wendays อย่างง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แต่เหวิน ผู้หญิงที่เรามองว่าเก่งและมั่นใจกลับไม่คิดเช่นนั้น

“ถึงเราจะอยู่ในวงการสตาร์ทอัพมาตลอด แต่เราก็ไม่เคยทำแบรนด์ของตัวเอง ก่อนทำก็รู้อยู่แล้วว่ายาก ตอนที่เริ่มทำก็ว่ามันยากมากแล้ว พอเจอ COVID-19 ระลอกสองยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เราต้องคิดเรื่องงบประมาณและการตลาดหนักมากๆ แล้วถ้าไม่มีแนวความคิดแบบสตาร์ทอัพก็อาจจะยากกว่านี้อีก อาจจะท้อ ทำมั่วๆ และหยุดไปแล้ว หรืออาจไม่ได้เป็น Wendays แบบทุกวันนี้ เพราะวงการนี้ก็หล่อหลอมให้เราพยายามทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด

“ณ ตอนนี้เรายังไม่รู้สึกมั่นใจเลย เพราะเพิ่งเริ่มและยังอยู่ในฝุ่นที่วุ่นวายมากๆ ได้แต่บอกตัวเองว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ดีที่สุดของเราอยู่ตรงไหนอีกล่ะ เพราะสุดท้ายมันคือการทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นวันละนิดในทุกๆ วัน ถ้าวันนี้เราย้อนกลับไปมองเมื่อวาน เราก็ดีขึ้นแล้วนะ มันไม่มีวันที่เราจะโอเคหรือรู้สึกว่าเก่ง เพราะเมื่อไรที่เราเก่งพอ เราอาจหยุดพัฒนาก็ได้”

Wendays ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ โดยผู้หญิงที่แพ้ผ้าอนามัยและลองใช้มากว่า 50 แบรนด์

Lesson Learned

“ธุรกิจตอนแรกมันต้องเจอปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ทำยังไงก็ได้ให้เดินหน้าต่อไปและทำให้ดีที่สุด ต้องดึงความรู้ที่มีทั้งหมดมาใช้ให้ไปถึงจุดนั้น ทั้งความรู้จากคนรู้จัก สิ่งที่เคยเรียนมา หรือหนังสือที่เคยอ่าน เอามายำรวมกันให้เดินออกไปจากจุดคลุกฝุ่นนี้ให้ได้

“เราไม่จำเป็นต้องแตกต่าง แต่เราต้องดีให้เท่าหรือดีกว่าคนอื่นๆ ถ้าแตกต่างแล้วไม่ดี ไม่ต้องแตกต่างก็ได้ ไม่มีแบรนด์ไหนบนโลกใบนี้ที่จะเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะต่อให้เริ่มมาจากสิ่งเดียวกัน แต่เส้นทางที่จะพัฒนาต่อ ไปจนถึงคุณค่าที่เราอยากสร้างให้ลูกค้า มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน”

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ