วันนี้ วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ข่าวของ ผู้ว่าฯ ปู-วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเตรียมจะยื่นใบลาออกในวันนี้ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ กลายเป็นข่าวใหญ่ของวัน ผู้สื่อข่าวหลายสำนักรายงานข่าวแบบเกาะติดสถานการณ์

วันจันทร์ที่แล้ว The Cloud ได้สัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าฯ ปู เรื่องชีวิตและงานของชายผู้ผ่านการเฉียดความตายมาแล้ว 2 ครั้ง ทีมงานของท่านผู้ว่าฯ ขออภัยที่ให้เวลาคุยแค่ 30 นาที เพราะถ้านานกว่านั้น ท่านจะเหนื่อย

วันนี้ ท่ามกลางข่าวใหญ่และความสงสัยของคนทั้งประเทศ The Cloud พยายามติดต่อผู้ว่าฯ ปู เพื่อขอพูดคุยเพิ่มเติมเรื่องการตัดสินใจลาออก

ผู้ว่าฯ ยืนยันว่าตัดสินใจแล้ว เย็นนี้จะยื่นใบลาออกแน่นอน

และยินดีที่จะคุยกันอีกครั้ง แต่ขอให้ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากครั้งนี้ไปก่อน

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จึงเป็นชีวิตของผู้ว่าฯ ปูก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญ

ระหว่างการทำข้อมูลเตรียมสัมภาษณ์ และจากการพูดคุยรอบนี้ พบว่า ผู้ว่าฯ ปู เป็นคนทำงานที่ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ เขาสนใจว่าจะได้ทำประโยชน์อะไร มากกว่ามีตำแหน่งอะไร ประโยคหนึ่งที่เขาเคยเขียนไว้ น่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี

“มีตำแหน่งสูงขึ้น มีเกียรติในสังคมเพิ่มขึ้น แต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลย ย่อมนับว่าสูญเปล่ายิ่ง”

ก่อนจะเคาะประตูห้องไปคุยกับผู้ว่าฯ ปูด้วยกัน เรามาทำความรู้จักเรื่องราวชีวิตที่โลดโผนอย่างกับนิยายของเขากันก่อนดีกว่า

ผู้ว่าปู วีระศักดิ์ "ทำทันที ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้จะมีวันพรุ่งนี้รึเปล่า"

* ผู้ว่าฯ ปูโตมาในร้านถ่ายรูป ที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ริมแม่น้ำน้อย จังหวัดอ่างทอง พ่อของเขาเป็นช่างภาพ

* เขาเข้ากรุงเทพฯ มาเรียน ม.ศ. 3 – 5 ที่โรงเรียนปทุมคงคา ต่อด้วยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เขาเป็นผู้ว่าฯ คนเดียวในประเทศที่จบจากสถาบันนี้ เลยเป็นสิงห์ไม่มีสี ราชสีห์ไม่มีฝ่าย

* สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขากับเพื่อนอีก 4 คน รวมตัวกันตั้งวงดนตรีโฟล์กซองเพื่อชีวิตชื่อ ‘กอไผ่’ เขาแต่งเพลงและเล่นกีตาร์ มีผลงานวางขาย 2 อัลบั้ม ชื่อ ‘สาวพาณิชย์’ และ ‘ดวงทิพย์’

* เขารักการอ่าน อยากเป็นนักเขียน สมัยมัธยมเคยทำ ‘กำแพงข่าว’ กลางตลาด อำเภอวิเศษชัยชาญ เพราะรุ่นพี่นักศึกษา ม.รามฯ คนบ้านเดียวกันอย่าง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เอาไอเดียนี้มาเผยแพร่

* พอเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาก็รับราชการครั้งแรก ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. 2526

* เมื่อสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ได้รับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2538 ก็ขอตัว ผู้ว่าฯ ปู ที่เห็นฝีมือกันมาตั้งแต่เด็ก มาช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาล ให้เขียนคำปราศรัย คำแถลงข่าว และข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อท่านโฆษกฯ ย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าฯ ปู ก็ย้ายตามไปช่วยงานแบบเดิมอีก 2 ปี

* ระหว่างนั้น ผู้ว่าฯ ปูไปลงเรียนจนจบหลักสูตรนายอำเภอ เรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มสธ. ตามด้วยปริญญาโทรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

* ในวัย 40 ปี พ.ศ. 2544 เขาย้ายสายจากนักพัฒนามาสู่นักปกครอง ด้วยการเป็นนายอำเภอครั้งแรกที่แม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ดินแดนอันห่างไกล ไม่มีตลาด ไม่มีปั๊มน้ำมัน มีแต่ป่ากับน้ำตกเรวาเป็นเพื่อน

* พอมาถึง เขาหาที่ว่าการฯ ไม่เจอ เพราะนายอำเภอคนเก่าอนุญาตให้ภารโรงปลูกข้าวโพดที่ลานด้านหน้าจนบังอาคาร งานแรกของเขาคือ ระดมคน มีดพร้า และรถไถ มาถางข้าวโพดออก เขาเป็นนายอำเภอสายบุ๋นที่ชาวบ้านรัก แล้วก็เป็นสายบู๊ที่ออกไปจับคนตัดไม้ จับบ่อนเอง

* เมื่ออดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ต้องการหาคนมีฝีมือมาพัฒนาบึงฉวาก ผู้ว่าฯ ปูเลยย้ายมาเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวชเพื่อลุยภารกิจนี้แบบหามรุ่งหามค่ำ

* พ.ศ. 2546 ในวัย 42 ปี เขาทำงานจนเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้สมองน้อย (Cerebellum) ตาย ก้อนนี้ทำหน้าที่บังคับกล้ามเนื้อ การทรงตัว หมอประเมินก่อนผ่าว่า เขามีโอกาสรอดแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ คนไข้และครอบครัวต้องทำใจไว้ก่อน

* แต่เขารอด เพียงแต่ร่างกายซีกขวาใช้การไม่ได้แทบทั้งซีก หมอคิดว่าเขาไม่ได้น่าจะเดินได้ แต่เขาก็ตั้งใจฟื้นฟูร่างกายซีกขวา พร้อมๆ กับหัดใช้มือซ้ายแทน เขาเปลี่ยนมาเขียนหนังสือด้วยมือซ้ายตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงตอนนี้

* เขาบอกว่า เขาคือนายอำเภอ ปลัดจังหวัด และผู้ว่าฯ คนแรกและคนเดียวที่ไม่มีสมอง (น้อย)

* เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดแนวคิดการทำงานที่เขาใช้ตลอดมา ‘ท.ท.ท. ทำทันที’ ซึ่งเขาตั้งใจจะหมายความว่า ‘ทำทันที ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่’

* พ.ศ. 2551 เขาเป็นนายอำเภอศรีประจันต์ พ.ศ. 2554 เป็นนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พ.ศ. 2554 เป็นปลัดจังหวัดสุพรรรณบุรี พ.ศ. 2555 เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. 2559 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรกที่พิจิตร

* ที่พิจิตร เขาหาเงินปลดหนี้ให้โรงพยาบาล ด้วยการทำเพลงแล้วออกเดินขายซีดีกับเสื้อยืดไปทั่วจังหวัด ได้เงินมา 9 ล้านกว่าบาท

* วันที่เดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ มีชาวพิจิตรตามไปส่งเขานับพันคน วันที่เขาหมดวาระที่พิจิตรก็มีชาวบ้านจำนวนใกล้เคียงมาอำลาเขา

* เขาเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม หลักๆ คือ บันทึกชีวิตการทำงานช่วงต่างๆ ‘บึงฉวากกับบรรหาร ศิลปอาชา’ ตอนเป็นนายอำเภอเดิมบางนางบวช ‘เดินต่อไป’ ตอนเป็นผู้ว่าพิจิตร ‘ทุกที่…คือที่ทำงาน’ ตอนเป็นผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ และ ‘คืนปู…สู่สาคร’ ตอนที่รักษาตัวจากโรคโควิด-19 ทั้งหมดเขียนด้วยนามปากกา สักระวี ศรีแสงธรรม

* เขายังคงแต่งเพลงอยู่ เพลงล่าสุดที่แต่งคือเพลง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้ประกอบงานประจำปีของจังหวัดสมุทรสาครที่วัดกาหลง โดยมีวงนั่งเล่น มาช่วยเรียบเรียง เล่น และร้อง เสียดายเขาติดโควิด-19 งานนั้นจึงถูกระงับ

* เนื้อเพลงบอกว่า ให้เชื่อในสิ่งศักดิ์อย่างไม่งมงาย เชื่อในความรัก ความสามัคคีของชาวสมุทรสาคร แล้วเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

* เขาติดโควิด-19 ยาวนานถึง 82 วัน ไม่รู้สึกตัวอยู่ในห้องไอซียู 34 วัน ทำสถิติเป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนานที่สุดของโรงพยาบาลศิริราช 42 วัน

* ป่วยครั้งนี้หนักหนาว่าตอนผ่าตัดสมอง ถึงตอนนี้เขาก็ยังเดินเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยพยุง

* “ทุกวันนี้ไม่ใช้ขาเดิน แต่ใช้ใจเดิน” เขาเคยพูดสิ่งนี้ตอนผ่าตัดสมอง แล้วก็ต้องกลับมาใช้ประโยคนี้อีกรอบ

* ออกจากโรงพยาบาลมา เขาลุยงานต่อแบบหนักหน่วงเหมือนเดิม แต่ที่ต่างไปคือ ตอนนี้เขากลายเป็นบุคคลสาธารณะ จะพูดอะไร เขียนอะไร ก็กลายเป็นข่าวตลอดเวลา

* เขาจัดรายการสดทางเฟซบุ๊กทุกสัปดาห์ เขาว่า ผู้ว่าฯ อาจจะแก้ปัญหาบางเรื่องไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ หรือต้องใช้ความเห็นชอบจากหลายฝ่าย แต่ทุกเรื่อง ผู้ว่าฯ ต้องตอบให้ได้

* ผมนั่งรอที่โซฟาหน้าห้องทำงานของผู้ว่าฯ หลังโซฟามีข้อความที่พูดถึงแนวทางในการทำงานของท่าน ผู้ว่าฯ ปูเป็นเจ้าของสถิติผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกที่ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้มากมาย ถ้าจะให้เพิ่มอีกสักอย่าง ท่านน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนถ้อยคำหน้าห้องทำงาน แต่เลือกลงชื่อด้วยนามปากกา ‘สักระวี ศรีแสงธรรม’

* ประตูห้องเปิดแล้ว ผมกำลังจะได้คุยกับนักปกครอง นักพัฒนา นักเขียน นักดนตรี และผู้ว่าฯ

* เจ้าของห้องบอกว่า ยังไม่ครบ ยังขาดตำแหน่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่าง

* เขาคือ ประชาชน

ผู้ว่าปู วีระศักดิ์ "ทำทันที ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้จะมีวันพรุ่งนี้รึเปล่า"

คุณเคยเขียนว่า นายกฯ เยอรมนีพาประเทศผ่านโควิดด้วยความชัดเจนและโปร่งใส แล้วผู้ว่าฯ ปู กำลังพาสมุทรสาครผ่านโควิดด้วยอะไร

แนวคิดหลักของผมตอนเจอสถานการณ์โควิดที่ตลาดกุ้งคือ แยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อให้ไวที่สุด จะได้ไม่แพร่กระจายไปในวงกว้าง เราต้องสร้างโรงพยาบาลสนาม โห ยากมากจริงๆ จะสร้างที่ไหนก็มีแต่คนต่อต้าน จะเอาเชื้อโรคไปใกล้เขาได้ยังไง แล้วจะเอาผู้ป่วยไปไว้ที่ไหนล่ะ สุดท้ายก็สร้างหน้าจวนผู้ว่าฯ เลย

ใหญ่แค่ไหน

ประมาณห้าร้อยเตียง ระหว่างสร้าง ผมก็ไปตรวจโควิดก่อนเลย เพราะถ้าตรวจเจอทีหลัง คนจะบอกว่า โรงพยาบาลสนามไม่ปลอดภัย ผู้ว่าฯ ยังติดเลย ถ้าตอนนี้ผมเป็นอะไรขึ้นมา จะได้ไม่เกี่ยวอะไรโรงพยาบาลสนาม ในใจก็คิดว่าน่าจะเจอ เพราะช่วงนั้นเราลงพื้นที่บ่อย ไปคลัสเตอร์ตลาดกุ้งบ่อยมาก ดึกดื่นก็ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ไปพบคนที่ถูกกักตัวจากตลาดกุ้ง ไม่ว่าจะระวังตัวยังไง ก็มีโอกาสติดเยอะ เราคิดว่าคงเจอ แต่คงไม่ร้ายแรง พักสักสิบสี่วันน่าจะหาย แล้วก็เจอจริงๆ แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด แปดสิบสองวันถึงหาย

คุณสวมเสื้อยืดสกรีนคำว่า Never give up ออกงานสำคัญอยู่บ่อยๆ นั่นคือสิ่งที่คุณอยากบอกทุกคนหรือ

หลายคนบอกว่า มั่นใจเหรอว่าจะสู้ศึกสงครามโควิดได้ ผมเปรียบกับนักมวย ถ้าไม่ขึ้นชกก็แพ้อย่างเดียว เราเป็นพี่เลี้ยงก็ต้องปลุกใจให้นักมวยสู้ หากลวิธีในการสู้กับคู่ต่อสู้ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสยังไง เราต้องบอกให้ประชาชนรับรู้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ตัวเลขเป็นแบบนี้ การตรวจเชื้อทำได้แบบนี้ แล้วมาช่วยผมแก้ด้วย โปรดรู้ว่าผมกับทีมงานพยายามทำเต็มที่แล้ว อะไรช่วยได้ ก็มาช่วยกันเถอะ ผมมั่นใจว่า เราต้องประสบชัยชนะได้ อาจจะทุลักทุเล เหนื่อยหน่อย สถานการณ์แบบนี้ไม่มีอะไรง่ายหรอก

คุณก็เลยจัดรายการสดทางเฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ชื่อรายการ ‘ไม่แพ้แน่นอน เราจะผ่านไปด้วยกัน’

ใช่ ผมทำตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ช่วงที่โควิดเพิ่งเข้ามาในเมืองไทย เพื่อบอกทุกคนว่า ถ้าเราร่วมมือกัน เราจะไม่แพ้แน่นอน เราจะผ่านไปด้วยกัน ผมพยายามสื่อสารความจริงอย่างตรงไปตรงมา อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็บอกไปตามตรง อย่าหมกเม็ด การพูดเรื่องจริงมันสำคัญมาก

ยุคนี้หลายหน่วยงานกลัวว่าพูดเยอะ จะยิ่งโดนจับผิด พูดน้อยๆ ดีกว่า

วันนี้เป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้าไม่พูดอะไรเลย เหตุการณ์จะตรงข้าม คนนั้นพูดอย่าง คนนี้พูดอย่าง แต่ผมก็พูดไม่ได้ทั้งหมดนะ บางเรื่องยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจก็เก็บไว้ก่อน เรื่องที่เปิดเผยได้ก็บอกไปเถอะ ประชาชนจะรับได้หรือไม่ได้ ให้เขาตัดสินเอง

ประโยคที่คุณโพสต์ว่า “ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตายเพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่า ต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง ให้มันรู้ไปว่า ระเบียบ กับ ความตาย อะไรสำคัญกว่า” ประโยคนี้ได้ใจคนทั้งประเทศ แต่ผู้บังคับใช้ระเบียบทั้งหลาย อ่านแล้วคงแสบๆ คันๆ คุณไม่กลัวเดือดร้อนใช่ไหม

ตั้งแต่ผมรับราชการเมื่อ พ.ศ.​ 2526 จนถึงวันนี้ ผมยังไม่เคยเปลี่ยนเลย เพียงแต่ตอนนี้เราเปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วจังหวัดที่เราอยู่ปัญหามันเยอะ ก็เลยอยู่ในความสนใจของคนมากขึ้น บุคลิกลักษณะ การพูดการจา ผมเป็นเหมือนเดิมมาตลอด แล้วที่ผ่านมามีปัญหาไหม มี เยอะด้วย (หัวเราะ) แต่เรายืนยันว่า นี่คือความจริง

คนในกระทรวงมหาดไทยมองผู้ว่าฯ ปู ว่าเป็นคนแบบไหน

ส่วนหนึ่งคงดีใจที่มีคนทำในสิ่งที่พูดได้ อาจจะไม่เต็มร้อย แต่ไม่ใช่ดีแต่พูดอย่างเดียว เมืองไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ชอบทำอะไรบนกระดาษ มีปัญหาก็ตั้งกรรมการขึ้นมาบนกระดาษ แล้วก็อยู่แบบนั้น รอวันคนตั้งเกษียณ คนที่อยู่ในกระดาษก็ย้ายไปที่นั่นที่นี่หมดแล้ว ผมพยายามทำให้ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ในกระดาษ แก้ได้จริง

คนในกระทรวงฯ คงมีทั้งคนรัก คนเกลียด เราก็ปุถุชนธรรมดา เราไม่มีสีอะไรเลย ไม่ได้เป็นสิงห์ดำ สิงห์แดง วันนี้เราเติบโตเป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำมันถูกต้องนะ ได้รับการยอมรับอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็แปลกๆ นะ ผมเคยเป็นผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ มียี่สิบสองอำเภอ แล้วย้ายมาสมุทรสาคร เหลือสามอำเภอ เส้นทางเป็นแบบนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เราเลือกอยู่ที่ไหนไม่ได้ แต่เราเลือกเป็นข้าราชการที่ดีได้

คุณกำลังจะบอกว่า การโยกย้ายมาประจำการที่สมุทรสาคร คือการลดขั้นมากกว่าเลื่อนขั้น

ผู้บังคับบัญชาคงเห็นว่าเราเหมาะสมกับที่นี่แล้ว ที่นี่งานเยอะนะ ประชากรตามทะเบียนบ้านห้าแสน ประชากรแฝงอีกห้าแสน มีสามอำเภอ พูดง่ายๆ คือมีนายอำเภอสามคน มีโรงพยาบาลอำเภอสามแห่ง มีสาธารณสุขจังหวัดสามคน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาโควิดในปัจจุบันที่สถานการณ์รุนแรงกว่าจังหวัดอื่น แต่บุคลากรเรามีจำกัดกว่ามาก

วันที่คุณรับตำแหน่ง คุณบอกว่าตั้งแต่รับราชการมา นี่คือจังหวัดที่เล็กที่สุด แต่มีปัญหาเยอะที่สุด ขอฟังทุกข์ของผู้ว่าฯ สมุทรสาครสักเรื่องได้ไหม

อาจจะพูดได้ไม่เต็มที่นะ (หัวเราะ) เรื่องแรงงานต่างชาติ ที่นี่มีแรงงานต่างชาติในระบบสามแสนคน ที่ไม่ถูกต้องอาจจะเกือบเท่ากัน

แล้วทุกข์ยังไง

คนพูดว่า ผู้ว่าฯ ทำอะไรอยู่ ปล่อยให้มีแรงงานต่างชาติเกลื่อนสมุทรสาคร โอ้โห ถ้ามันแก้ง่าย ก็คงแก้ได้ตั้งแต่สิบยี่สิบปีก่อนแล้ว คงต้องถามว่า แล้วคนสมุทรสาครทำอะไรอยู่ ปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามาแบบผิดกฎหมาย คนต่างชาติจะเข้ามาได้ยังไงถ้าไม่มีงาน คนที่จ้างงานผิดกฎหมายร้อยละร้อยรู้ แต่กูก็จะทำ 

ถ้าผู้ว่าฯ เป็นจำเลยที่หนึ่ง คนพวกนี้ต้องเป็นจำเลยที่สอง แต่พูดมากไม่ได้เพราะกระทบหลายหน่วยงาน เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ตอนที่ อองซานซูจี มาไทย ก็มาที่สมุทรสาคร ตอนที่มีการเลือกตั้งของเมียนมา เขาก็อยากให้สมุทรสาครเป็นหน่วยเลือกตั้งนอกประเทศ เพราะจะสะดวกสบายกับคนเมียนมาที่สุด แต่เขาไม่มีสถานกงสุล ไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เลยทำไม่ได้

ผู้ว่าปู วีระศักดิ์ "ทำทันที ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้จะมีวันพรุ่งนี้รึเปล่า"

คุณเป็นนักเขียนที่มีลีลาสำบัดสำนวน เขียนอะไรในเฟซบุ๊กก็กลายเป็นข่าวในสื่อตลอด เวลาเขียนคุณตั้งใจให้เป็นข่าวไหม

ไม่ได้ตั้งใจ ผมเขียนแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่ผมไม่ได้อยากให้เป็นแบบนี้นะ ผมไม่พร้อมจะเป็นบุคคลสาธารณะ สิ่งที่ผมเขียน ผมพูดในฐานะผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ไม่ใช่ผู้ว่าฯ ประเทศไทย ผมก็พยายามสงบปากสงบคำ พูดให้น้อยที่สุด ไม่ได้ต้องการให้เป็นข่าว บางทีผมก็กลุ้มใจนะ ตื่นเช้ามา อ้าว ยกประเด็นคำพูดของผมมาเป็นข่าวอีกแล้ว ผมไม่ได้อยากเป็นข่าว ถ้าข่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนสมุทรสาครผมก็ยินดีนะ แต่ทุกวันนี้มันเกินเลยไป

“หลังส่งข้อความผ่านไลน์แล้ว หากไม่มีการติดต่อกลับจากทีมงาน ภายใน 24 ชม. ผมขออนุญาตพิจารณาตนเองออกจากการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าทำเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่เหมาะกับการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไหนครับ” เราไม่ค่อยได้ยินผู้บริหารภาครัฐแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกสักเท่าไหร่ ประโยคนี้คุณเขียนบอกใคร

บอกทั้งคนทำงาน และคนติดต่อด้วย คนทำงานก็ช่วยกระตือรือร้นหน่อย ขาดเหลืออะไรให้บอก คนไม่พอ เครื่องไม้เครื่องมือไม่พอ ผมจัดให้เต็มที่ เพราะผมเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันแล้ว ขณะเดียวกันก็สื่อสารไปยังคนที่ขอความช่วยเหลือด้วยว่า กรุณาสื่อสารมาตามช่องทางให้ถูกต้องด้วย ถ้าถูกต้องแล้วยังเป็นปัญหา ผมพร้อมรับผิดชอบ บางคนคิดว่าพูดเล่น ผมพร้อมรับผิดชอบจริงๆ ผมเป็นคนทำงานที่รักษาทุกคำพูดยิ่งชีวิต ผมเป็นแบบนี้มาตลอด ไม่ใช่ประดิดประดอยคำพูดสวยหรูแต่ทำไม่ได้ เวลาที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว

แล้ว #เตียงสนามไม่ได้มีไว้ถ่ายรูป คุณบอกใคร

ผมเป็นผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ต้องอย่าลืมตรงนี้นะ (หัวเราะ) ผมอยากบอกคนสมุทรสาครนี่แหละ บางโรงงานมีโรงพยาบาลสนาม แต่แนะนำให้คนงานไปพักที่บ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเอง มันไม่เหมาะสม ร้อยทั้งร้อยคนงานพักในหอพัก กลับไป Home Isolation ก็มีโอกาสเอาเชื้อไปแพร่คนในหอพักอีก คุณบอกตั้งโรงพยาบาลสนามตามนโยบายผู้ว่าฯ แล้ว แต่ไม่ใช้งานเลยนี่หว่า เอาไว้ถ่ายรูปอย่างเดียว แบบนี้ไม่ได้ ประโยชน์ของโรงพยาบาลสนามในโรงงานคือ แก้ปัญหาเตียงโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยในชุมชนไม่พอ

คุณออกนโยบายให้ทุกโรงงานตั้งโรงพยาบาลสนามของตัวเอง ใครไม่ตั้งโดนสั่งปิด นโยบายนี้มีใช้ในสมุทรสาครที่เดียวใช่ไหม

ตอนนี้ผมคิดว่าแบบนั้น เรากำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องรองรับได้สิบเปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด โรงงานส่วนใหญ่เข้าร่วมและมีคุณภาพดี บางที่คล้ายโรงพยาบาลย่อยๆ เลย จ้างแพทย์พยาบาลนอกประจำการมาดูแลด้วย แต่บางที่ก็แย่มาก คนในโรงงานไม่อยากพัก รู้สึกว่ากลับไปอยู่บ้านน่าจะปลอดภัยกว่า

ตอนที่รัฐบาลออกนโยบายฉีดวัคซีนไขว้ Sinovac กับ AstraZeneca ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มากมาย คุณตัดสินใจไปฉีดเป็นคนแรกของสมุทรสาคร ไม่กลัวหรือ

กลัว (หัวเราะ) แต่ทำยังไงได้ล่ะ ผมสวมหมวกสองใบ ใบหนึ่งในฐานะผู้ว่าฯ อีกใบเป็นประชาชนทั่วไป เราคุยกันในหมวกผู้ว่าฯ ว่าจะทำยังไงให้ประชาชนเชื่อ แม้ว่าในใจลึกๆ ผมจะกลัว แต่ผมไม่ใช่หมอ ในเมื่อหมอยืนยันว่า ไม่เป็นอันตราย ฉีดได้ ผมก็ต้องเชื่อ ถ้ามันเป็นผลดีต่อร่างกาย ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน จะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่เชื่อ ในเมื่อหมอบอก เรามีหน้าที่ยืนยัน ผมเคยฉีดซิโนแวคแล้ว ก็เอาวะ เป็นคนแรกไปฉีดไขว้ให้คนอื่นเห็นเลย เอาตัวเองเป็นหนูทดลองยา แต่เปลี่ยนเป็นปูลองยา ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรนะ

ชีวิตของผู้ว่าฯ ปู-วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ทำงานหนักจนเฉียดตาย 2 ครั้ง เขียนมือซ้ายเพราะร่างกายซีกขวาใช้ไม่ได้ แต่ยังคงทุ่มเททำงานอยู่

ตอนคุณเขียนเรื่องเรียกร้องวัคซีน Pfizer ให้บุคลากรด่านหน้า แล้วลงท้ายว่า #ผู้ว่าไม่ได้ฉีดนะ คุณก็เข้าข่ายด่านหน้า ไม่อยากได้เหรอครับ

ใครจะไม่อยากได้ล่ะ ผมก็อยากได้ แต่บนความอยากได้ เราต้องรู้ว่าคนที่ทำหน้าที่เสี่ยงอันตรายกว่าเราคือใคร

คุณลงพื้นที่ตลอด จนติดโควิดมาแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายไม่พออีกหรือ

ไม่เป็นไรหรอก ความสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด น่าจะอยู่สักลำดับที่สาม สี่ ห้า กลุ่มแรกต้องเป็นหมอ พยาบาล คนที่ทำงานในโรงพยาบาลก่อน คนที่ทำงานในศูนย์พักคอย คนที่ต้องเจอกับผู้ป่วย ผู้ว่าฯ เอาไว้ทีหลัง ผมรอได้ หรือจะไม่มีเลยก็ได้ การที่บอกว่าผู้ว่าฯ ไม่ได้ฉีดกับเขาด้วยนะคือการบอกว่า เรามาเรียกร้องแบบเป็นกลาง เราทำเพื่อหมอพยาบาลโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

สอง หมอพยาบาลเขาทำงานเกินกว่าตัวเองจะรับไหวแล้วนะ ไม่มีเรี่ยวแรงกันแล้ว ถ้าวันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง เขาทำงานกันยี่สิบหก ยี่สิบแปดชั่วโมงด้วยซ้ำ แรงจะยืนยังไม่มีเลย ผมไม่รู้หรอกว่ามันคือวัคซีนเทพจริงไหม แต่ถ้าเป็นความหวังเดียวที่เขาพึ่งได้ เป็นทางเลือกที่ทำให้เขารู้สึกแช่มชื่นหัวใจ แนวหลังอย่างพวกเราก็พยายามช่วยเต็มที่ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมอยากสื่อสารให้สังคมได้ทราบ

ท่านรอได้ แล้ว VVIP คนอื่นๆ รอได้ไหมครับ

ผมยังไม่เห็นใครติดต่อผมมานะ ก็ผู้ว่ายังบอกเองว่าไม่เกี่ยว มันจะมีวีไอพีกว่าผู้ว่าฯ อีกเหรอ

ตอนอยู่พิจิตร คุณเคยทำเพลงเดินขายซีดีกับเสื้อยืดไปทั่วจังหวัด จนได้เงินมาช่วยโรงพยาบาลเก้าล้านบาท แต่ยุคนี้บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องระดมทุน ในเมื่อรัฐมีหน้าที่จัดหางบประมาณ คุณฟังแล้วคิดยังไง

ผมว่ามันขึ้นกับเรื่อง บางเรื่องจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และความเป็นเจ้าของในการดำเนินงาน จำนวนเงินจากการระดมทุนของผมเป็นแค่กระผีกริ้นเล็กน้อย แต่มันเป็นกุศโลบายที่จะบอกประชาชนว่า เราเป็นเจ้าของร่วมกันนะ ผู้ว่าฯ ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะดลบันดาล ดำเนินการอะไรก็ได้ ถ้าทำอะไรแล้วไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้คน ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จหรอก

ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในสังคมสำคัญยังไง

นี่คือหัวใจของการพัฒนาที่เราจะก้าวเดินต่อไปในอนาคตเลย อย่างสถานการณ์โควิดปัจจุบันส่งผลต่อคนทุกอาชีพ คุณอยากเห็นอนาคตไปทางไหนล่ะ นี่คือวิถีทางของการมีส่วนร่วม ผู้ว่าฯ เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่ง เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นของผู้คน ทำให้ตรงตามใจของคนให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าให้ตามใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ นี่คือการมีส่วนร่วม มาตรการที่ออกมา คุณเป็นคนเลือกเอง จะผิดจะถูก ก็ต้องรับผิดชอบด้วยกัน ช่วยผู้ว่าฯ ด้วย

ชีวิตของผู้ว่าฯ ปู-วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ทำงานหนักจนเฉียดตาย 2 ครั้ง เขียนมือซ้ายเพราะร่างกายซีกขวาใช้ไม่ได้ แต่ยังคงทุ่มเททำงานอยู่

ตอนอายุสี่สิบสอง คุณเข้ารับการผ่าตัดสมองโดยโอกาสรอดมีแค่สิบเปอร์เซ็นต์ เหตุการณ์นั้นส่งผลอะไรกับชีวิตคุณบ้าง

ก่อนผ่าผมก็กลัวนะ เราก็ปุถุชนธรรมดา แต่ในเราทำประโยชน์ให้สังคมตามตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองได้เต็มที่แล้ว ถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องยอม ตอนนั้นไม่รู้สึกตัวแค่สองสามวัน ก็พักฟื้นแล้วทำกายภาพบำบัดอยู่หลายเดือน มันทำให้ผมทำงานแบบ ททท. ทำทันที ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่รู้เลยว่า จะมีวันพรุ่งนี้หรือเปล่า

เทียบกับเหตุการณ์เฉียดตายรอบนั้น การติดโควิดรอบนี้ ถือว่าหนักกว่าหรือเบากว่า

หนักกว่าเยอะเลย ผมต้องเข้าโรงพยาบาลแปดสิบสองวัน ทุกวันนี้โควิดยังทิ้งร่องรอยไว้ในร่างกายผมเยอะมาก ร่างกายไม่เหมือนเดิม เป็นภูมิแพ้ง่าย พบปะผู้คนจำนวนมากก็จะเหนื่อยหอบ ถ้าคุยสักสิบห้ายี่สิบนาทีก็จะออกอาการแล้ว วันแรกที่รู้สึกตัว แขนขามีแต่หนังหุ้มกระดูก ไม่มีกล้ามเนื้อ ไม่มีเรี่ยวแรง แค่พยุงกายขึ้นมานั่งหรือพูดไม่กี่ประโยคก็เหนื่อยเหมือนจะขาดใจ 

วันที่ผมออกจากศิริราช ผมยังช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ เดินเองไม่ได้ เข้าห้องน้ำต้องมีภรรยาเข้าเป็นเพื่อน มีกล้องวงจรปิดอยู่ที่บ้านให้พยาบาลดู วันไหนทำกายภาพบำบัด เดินคนออกกำลังกายคนเดียวในบ้าน พยาบาลจะตกใจมาก เพราะมันอันตรายมาก แต่วันนี้ดีขึ้น อาบน้ำ แต่งตัวเองได้แล้ว

หลังจากไม่รู้สึกตัวอยู่สี่สิบสองวัน พอฟื้นมา สิ่งแรกที่คุณอยากรู้คือ

อยากรู้ว่าโรงพยาบาลสนามถึงไหนแล้ว วันที่เราเข้าโรงพยาบาล ยังสร้างไม่เสร็จสักที่เลยนะ หน้าบ้านผมก็เพิ่งสร้าง ยังเถียงกันอยู่เลยว่า จะเอาสองร้อยหรือห้าร้อยเตียง ถ้าสองร้อยพรุ่งนี้เปิดได้เลย แต่ขยายไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาทำต่อ แต่ถ้าเอาห้าร้อยเตียง ต้องใช้เวลาอีกอาทิตย์หนึ่ง วันนั้นเราไม่มีโอกาสตัดสินใจ พอฟื้นมา โรงพยาบาลสนามสร้างไปแล้วเก้าแห่ง ดีใจมาก

การเป็นผู้ว่าฯ ที่รอดตายจากโควิดมาได้ ส่งผลอะไรต่อการทำงานของคุณบ้าง

ในเชิงเนื้อหาไม่ค่อยส่งผลเท่าไหร่ ปกติเราเคยเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น แต่ช่วยตอกย้ำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องจริงคือ ททท. ทำทันที ใครจะไปคิดว่าผู้ว่าฯ จะติดโควิดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ดังนั้น อะไรที่คุณทำได้ อะไรที่คุณแน่ใจว่าส่งผลดีต่อประชาชน ทำเลย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง

การฟื้นมาแล้วเจอข้อความให้กำลังใจประมาณแสนข้อความ มีความหมายกับคุณยังไง

เป็นกำลังใจมหาศาล หมอกายภาพที่คุยกับผมทุกวันบอกว่า คนส่วนใหญ่จะทำกายภาพเวลาหมอมา มีผู้ว่าฯ นี่แหละ หมอไม่มาก็ทำ ข้อความเหล่านี้เป็นแรงผลักดันที่สำคัญยิ่ง ทำให้เรามีแรงฮึกเหิมว่า เราต้องผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ทำกายภาพบำบัดไม่ต้องรอหมอ แค่ลูกอ่านข้อความให้ฟัง ว่าคนโน้นคนนี้ส่งกำลังใจมา มันก็มีแรงให้เราฝ่าฟันอุปสรรคไปได้

คุณเคยใส่เสื้อยืดสกรีนคำว่า Sometimes you win. Sometimes you Learn. วันนี้คุณ Win หรือ Learn

ขึ้นกับช่วงเวลาและโอกาส ใครจะไปคิดว่าโควิดจะเกิดกับเมืองไทย ทุกวันนี้เรายังไม่รู้สูตรสำเร็จในการเอาชนะเลย กับบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โอ้โห ล้มเหลว

ชีวิตของผู้ว่าฯ ปู-วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ทำงานหนักจนเฉียดตาย 2 ครั้ง เขียนมือซ้ายเพราะร่างกายซีกขวาใช้ไม่ได้ แต่ยังคงทุ่มเททำงานอยู่

คุณกล้าสรุปว่า ตัวเองล้มเหลว

ใช่ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงเลย การดำเนินการหลายสิ่งอย่างก็ติดปัญหาอุปสรรค นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อไป แต่สิ่งที่เราคิดว่าล้มเหลว คนในสมุทรสาครก็ยังรวมพลังช่วยผู้ว่าฯ สู้อยู่นะ ยังมีอนาคตสำหรับสมุทรสาคร ทุกคนยังคิดว่า นี่เป็นแค่ยกที่สาม ยกที่สี่ เรายังสู้ไม่ถึงยกสุดท้าย

โควิด-19 สอนอะไรผู้ว่าฯ ปู

สอนเยอะ ผมพยายามบอกทุกคนว่า ถ้าเลือกได้ อย่าเป็นเลยโควิด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะ ฉีดวัคซีน ทำได้ก็ทำเถอะ สำหรับผมมันเป็นประสบการณ์ที่แย่ที่สุดในชีวิต เราเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นน้อยหรือเป็นมาก แล้วโควิดก็ไม่เลือกด้วยว่า เราจะเป็นผู้ว่าฯ เป็นแม่ค้า หรือคนประกอบอาชีพไหน เป็นได้หมด

นามปากกา สักระวี ศรีแสงธรรม มีความหมายกับคุณยังไง ถึงยังใช้จนทุกวันนี้ คำพูดบนผนังหน้าห้องทำงาน ยังลงชื่อด้วยนามปากกา ไม่ใช่ชื่อจริง

เอาเรื่องจริงเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมเป็นนักเรียนนายอำเภอ หัดเขียนหนังสือพระเครื่อง อย่าตกใจนะ ผมพูดตรงๆ เลยว่า ที่สนใจพระเครื่องเพราะอยากได้ตังค์ เป็นอาชีพเสริมที่รายได้ดีเลย ในแวดวงพระเครื่องมีเนื้อหาแต่พวกเรื่องอภินิหาร ปาฏิหาริย์ ผมเลยลองเขียนเรื่องวิธีดูพระ แล้วก็เขียนเรื่องสั้นพระเครื่อง เคยรวมเล่มด้วยตอนเป็นนายอำเภอ ตอนนั้นคิดว่าจะตั้งนามปากกาว่าอะไรถึงจะดูเข้ากับพระเครื่อง ก็ลองเอาชื่อนามสกุลมาเขียนกลับ วีระศักดิ์ เป็น สักระวี วิจิตร์แสงศรี เป็น ศรีแสงธรรรม ผมก็ใช้ชื่อนี้มาเรื่อยๆ ใช้เป็นชื่อเฟซบุ๊ก ข้อความหน้าห้องเอามาจากเฟซบุ๊ก ก็เลยลงชื่อแบบนั้น คนเขาก็รู้แหละว่า สักระวี ศรีแสงธรรม คือผม

ปีหน้าคุณจะเกษียณ คุณคงเขียนหนังสือเล่มพิเศษออกมาแน่ๆ คิดหรือยังว่าจะเล่าเรื่องอะไร

ยังเลย (หัวเราะ) การเขียนหนังสือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า ช่วงปีที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง พอสิ้นปีมีคนมาสวัสดีปีใหม่ บางคนก็มักจะให้สมุดบันทึก พระเครื่องบ้าง แต่ผมให้หนังสือเพราะเราโตมากับหนังสือ หนังสือที่จะเป็นเล่มสุดท้ายในชีวิต คือเรื่องราวตลอดหกสิบปีที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้คิดเนื้อหานะ ตอนนี้แค่เอาชีวิตให้รอด ไม่ติดโควิดซ้ำสอง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งแล้ว (หัวเราะ)

ชีวิตของผู้ว่าฯ ปู-วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ทำงานหนักจนเฉียดตาย 2 ครั้ง เขียนมือซ้ายเพราะร่างกายซีกขวาใช้ไม่ได้ แต่ยังคงทุ่มเททำงานอยู่

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล