“Flawless, My Dear”
ควีนชาร์ล็อตต์ จากซีรีส์ยุครีเจนซีเรื่อง Bridgerton พูดกับเรา เอ๊ย! พูดกับนางเอกอย่าง ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน ขณะที่เธอเข้าเฝ้าในอาภรณ์ยาวสวยสง่า
ไม่จบเท่านั้น ยิ่งได้เห็นคอลเลกชันชุดเจ้าสาวละลานตา ก็เกือบคิดว่าตัวเองได้ไปร่วมงานแต่งของดยุกแห่งเฮสติงส์ ไซม่อน บาสเซ็ต เสียแล้ว เพราะ ‘ดาฟนี่’ (ชื่อชุดสีแชมเปญปักเลื่อมลายสีทองอร่ามตามแบบซีรีส์) ที่ตั้งอยู่กลางห้องช่างเย้ายวนจนอยากคว้ามาสวมใส่เองบ้าง

ดาฟนี่เป็นเพียงหนึ่งในชุดวินเทจสะสมกว่า 50 ตัวในบ้านของ กอล์ฟ-ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี สาวผู้หลงรักประวัติศาสตร์ งานพิพิธภัณฑ์ และของวินเทจหลากหลายประเภท ตั้งแต่เซตกาน้ำชา ถ้วยชาม บ้านตุ๊กตา เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการเอฟชุดแต่งงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกของผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นที่และงานบริการ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรมแห่งมิวเซียมสยามคนนี้

ความชอบด้านพิพิธภัณฑ์กับการสะสมชุดเจ้าสาวของเธอไม่ได้มาพร้อมกัน แต่ประวัติศาสตร์และความงดงามคือสิ่งที่เชื่อมโยงสองความสนใจอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาตลอด 16 ปี
ชุดแรกในความทรงจำซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจของกอล์ฟ คือเดรสผ้าไหมมันวาวสีขาวของคุณแม่ ปักดิ้น ประดับมุก ลงลวดลายดอกไม้อย่างประณีต แม้ดูราบเรียบ มีรอยเหลืองบ้างตามกาลเวลา แต่ยังคงเปี่ยมด้วยพลังแห่งความสุขในวันที่พรหมลิขิตบันดาลชักพาให้สองคนมาเจอกัน
“แต่ก่อนเราบอกคุณแม่ว่าทั้งสไตล์และทรงผมดูแปลกตาดี คุณแม่ก็บอกว่าแต่ก่อนไม่ได้มีการออกแบบอย่างปัจจุบัน มีอะไรก็ใส่ไป แต่คนที่ตัดชุดให้คุณแม่เขาเพิ่งเรียนตัดเสื้อมา เรียนจบก็ตัดให้คุณแม่เป็นคนแรก ตอนนั้นบอกไปแค่ว่าอยากได้แบบต่อใต้อก ปล่อย ๆ เขาก็ตัดมาให้แบบนี้เลย
“เป็นชุดที่พี่ใส่ไม่ได้นะ คุณแม่ตัวเล็กมาก” เธอหัวเราะ


สมัยก่อน กอล์ฟใช้การเข้า eBay เพื่อหาของสะสมออนไลน์ทั้งแบบที่ซื้อเลยและประมูล แต่ภายหลังเธอเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาสู่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม กลับกลายเป็นว่าอัลกอริทึมจัดคอลเลกชันโชว์หน้าฟีดไม่หยุดจนเธอต้องหยุดตัวเองแทน เพราะเอฟมาเยอะเกินไปแล้ว
จากที่สะสมเล่น ๆ เพียงตัวสองตัว ตอนนี้กอล์ฟถึงกับต้องแยกห้องเก็บ และจัดหาราวเหล็กโดยเฉพาะมาแขวน เนื่องจากบางตัวมีชายกระโปรงปล่อยยาว และแต่ละตัวก็มีน้ำหนักหลายกิโลกรัม ทั้งน้ำหนักจากผ้า คริสตัล และเครื่องประดับต่าง ๆ


“ปกติตอนซื้อมาจะยังไม่รู้ว่าเก่าแค่ไหน เพราะเรายึดจากแบบที่ชอบ สิ่งแรกที่เช็กคือมีตำหนิไหม เพราะถ้ามี แปลว่าเราต้องซ่อมหรือไปหาช่างทำต่อ
“พอมีเวลาดู เราก็มาเทียบว่าเป็นดีไซน์ของยุคไหน ซึ่งค้นพบว่าหลากหลายมาก ตั้งแต่ 1800s มาจนถึง 1990s แต่ชอบที่สุดคือยุควิกตอเรีย ต่อใต้อก มีหางบาน ๆ บางตัวที่เก็บอายุเกินร้อยแน่นอน มีเจ้าของมาหมด อาจจะยกเว้นดาฟนี่ที่ตัดเลียนแบบขึ้นมาให้เป็นสไตล์ยุครีเจนซี
“ชุดนี้ได้มาล่าสุด และชอบที่สุด”



กล่าวถึงอีกครั้งสำหรับซีรีส์เรื่อง Bridgerton กอล์ฟมองว่าแม้จะตัดเย็บทีหลัง แต่รายละเอียดกลับเนี้ยบมาก เธอได้รับดาฟนี่มาในแบบที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากช่างตัดเสื้อเลิกทำเสียก่อน ดาฟนี่ที่ยังไม่ได้ติดหางปลา (Wedding Dress Train) และยังไม่มีดิ้นลายประดับ จึงส่งให้ช่างตัดชุดแต่งงานสานต่อ
เสน่ห์ของชุดเจ้าสาวคือรายละเอียด ยิ่งเก่ายิ่งแสดงถึงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะแพตเทิร์นของแต่ละยุค กอล์ฟบอกว่าการดูแบบจากภาพอย่างเดียวอาจยากต่อการให้ช่างตัดเสื้อสร้างแพตเทิร์นออกมา แต่หากมีของจริงให้สัมผัสและสำรวจ ย่อมง่ายต่อการถอดแบบและสร้างใหม่ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าชุดแบบโบราณจะสูญหายไป

เจ้าของบ้านเล่าว่า ‘ความไม่รู้’ คือสิ่งที่ทำให้เธอค้นพบความชอบต่อของวินเทจ เพราะตั้งแต่เด็กถึงวัยมัธยม เธอไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร กระทั่งได้เดินดูร้านขายของเก่า จึงเฝ้าหลงรักสิ่งเหล่านี้มาตลอด พร้อมกันนั้นความไม่รู้ก็พานักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเรียนหลักสูตร Museum Management โดยไม่ตั้งใจเช่นกัน
“พี่เคยไปหอศิลปฯ แล้วช่วงนั้นมีละครเรื่อง ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ นางเอกคือ ปิ่น เก็จมณี ทำงานเป็น Curator หรือภัณฑารักษ์ในแกลเลอรี พี่ก็เลยอยากทำแบบนั้นบ้าง แต่ช่วงนั้นยังแยกไม่ออกระหว่างพิพิธภัณฑ์กับแกลเลอรี เลยเลือกไปเรียน Museum Management (หัวเราะ)”
พอเข้าไป กอล์ฟก็ค้นพบความแตกต่าง เธอได้เรียนตั้งแต่การจัดไฟ การจัดองค์ประกอบศิลป์ จนถึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์และดูของเก่า เมื่อจบมา เธอค้นพบความจริงอีกหนึ่งเรื่อง คืองานด้านพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีน้อยไม่ต่างจากจำนวนคนที่เรียนด้านนี้
“พี่เข้าไปเสิร์ชหางาน Museum Manager ในเน็ตจนได้ทำงานที่มิวเซียมสยาม ตอนนี้เข้าปีที่ 9 แล้ว ถือว่าทำมานานที่สุดในบรรดา 11 แห่งที่ย้ายมา”

ก่อนหน้านี้กอล์ฟเคยเป็นมาแล้วทั้งที่ปรึกษาทำพิพิธภัณฑ์ จนถึงประชาสัมพันธ์ใน บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จนเจ้าของบริษัทตัดสินใจเปิดพิพิธภัณฑ์ที่เสียมเรียบ เธอจึงได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมบุกเบิกพิพิธภัณฑ์อังกอร์ (Angkor National Musem) ที่ประเทศกัมพูชา
“พี่เดินเข้าไปถามผู้ใหญ่ว่า เราจบด้านพิพิธภัณฑ์มาค่ะ สมัครงานได้ไหม เขาบอกรับเลย! ไปดูแลตั้งแต่การจัดหาคน วางระบบการจัดการ ออกแบบนิทรรศการ ไปดูโกดังเก็บวัตถุโบราณของเขมร เพื่อเลือกวัตถุโบราณมาจัดแสดง โห ทับหลังวางติด ๆ กันเป็นพันชิ้น งานแกะสลักอีกเป็นหมื่น อลังการมาก
“ทำไปได้ 2 ปีกว่า พอแต่งงานก็ตัดสินใจกลับไทย มาสอน Cutural Management ให้นักศึกษาปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ จนได้เป็น Museum Director ที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นเวลา 4 ปี”
ความสนุกและความประทับใจในการทำงานคือการได้ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถือเป็นโมเมนต์ Once in a Lifetime ที่ได้ใกล้ชิดและเห็นพระองค์ทรงงาน กระทั่งเข็มทิศชีวิตสวิงอีกครั้ง เธอเข้าสู่วงการแพทย์ ก่อนวกกลับมาที่การเสิร์ชหางาน Museum Manager อีกรอบ
“พี่ขี้เบื่อ ถ้างานเริ่มวนซ้ำจำเจ ไม่ได้คิดอะไรใหม่ ๆ ก็ไม่อยากทำ แต่มิวเซียมสยามไม่เคยเบื่อเลย เราสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ดูอีเวนต์และนิทรรศการ ซ้ำไม่ได้” เธอมีความสุขกับความลงตัวที่ค้นพบ

เราสนทนากันต่อถึงเรื่องการแต่งงานในหมู่วัยรุ่น รวมไปถึงมุมมองที่มีต่อชุดแต่งงาน สำหรับกอล์ฟ ชุดแต่งงานไม่จำเป็นต้องใส่เฉพาะงานแต่งเท่านั้น เธอบอกว่าอยากจะใส่ไปงาน หรือไปคอสเพลย์ก็ยังได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็คือ ‘ชุดชุดหนึ่ง’
“ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อนที่เห็นเป็นแพตเทิร์น เพราะคนยังไม่มีจินตนาการ แรก ๆ เลยใส่คล้ายกันหมด แต่ตอนนี้คนมีทางเลือกมากขึ้น ผู้หญิงใส่อะไรก็ได้ที่รู้สึกมีความสุขในวันนั้น ไม่ต้องใส่ชุดแต่งงานแบบประเพณีก็ได้
“อยากให้จำว่า ชุดแต่งงานคือการเติมความสุขมากกว่า”
เธอโชว์หุ่นตัวถัดไปให้ชม ชุดที่ราบเรียบที่สุดคือทรงฮิตช่วงปี 1800 ชายกระโปรงสีขาวยาวจรดพื้นแผ่ออกเป็นวงกว้าง มีลูกไม้บาง ๆ ประดับพองามอย่างมินิมอล กอล์ฟเสริมว่าบางครั้งสไตล์การตัดหรือลวดลายก็บ่งบอกถึงสถานะของเจ้าสาวได้ แต่ไม่ว่าจะเรียบง่ายหรือหรูหราฝังเพชร เธอก็เชื่อว่าความสุขของเจ้าสาวแต่ละคนล้วนล้นทะลักออกจากชุดที่พวกเธอสวมใส่อย่างแน่นอน


“ก็มีบ้างนะที่ไปแข่งกับคนอื่นแล้วแพ้ แต่เราคิดว่านั่นเป็นของเก่า ถ้าเราไม่ได้ แปลว่าไม่ใช่ของเรา เคยมีที่เราปล่อยแล้ว แต่ชุดนั้นก็ย้อนกลับมาหาโดยไม่ตั้งใจ”
นั่นคือ ‘อลิซาเบธ’ สาวสวยผู้รายล้อมด้วยลูกไม้สีขาวนวลแขนยาว ไม่มีชายกระโปรงฟูฟ่องทอดยาว แต่มีเจ้าของมาก่อนแน่ ๆ
“ปกติเวลาพี่ได้ของมาจะเอามาสวมในหุ่นก่อนทั้งหมด แล้วตั้งโชว์เอาไว้ที่บ้านประมาณอาทิตย์ถึง 1 เดือน ยกเว้นอลิซาเบธ ชุดเดียวเลยที่ใส่แล้วต้องถอดเก็บ เพราะรู้สึกเหมือนมีคนมายืนตลอด นอกนั้นไม่เลย จะหางยาวขนาดไหนก็ไม่เป็นไร”
ถึงแม้จะมีเรื่องชวนขนหัวลุกบ้าง แต่การมีของสะสมละลานตาแขวนอยู่ในห้องแต่งตัวก็ยังเป็นความสุข เพราะพวกเธอกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในชีวิตกอล์ฟไปแล้ว


อลิซาเบธ สาวสวยจากยุค 70

ต่อมาคือชุดที่เรียกว่าเป็นการลดทอนจากชุดเจ้าสาว ยุคเดียวกับดาฟนี่คือราวปี 1800 ซึ่งลดทอนทั้งความยาว และมีสไตล์ที่ดูเหมาะสำหรับปาร์ตี้น้ำชามากกว่า


อีกชุดที่เธอชอบ เชื่อมโยงกับยุคของนักร้องซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง มาดอนน่า ซึ่งสวมชุดแต่งงานสไตล์ 80s ในเอ็มวีเพลง Like a Virgin โดยด้านหลังเปิดให้ความรู้สึกเซ็กซี่ มีไข่มุกห้อยระย้า แขนฟูฟ่อง กระโปรงปล่อยพลิ้ว บานออก นอกจากเนื้อผ้าจะมีความมันเงา ‘มาดอนน่า’ (ชื่อชุด) ยังโดดเด่นด้วยสีออฟไวต์ ขาวสว่างตัวเดียวท่ามกลางบรรดาพี่น้องเจ้าสาวสีแชมเปญ
“เวลาดูว่าเก่าไหมก็จะดูที่ซิปก่อน ถ้าเป็นซิปเหล็กแปลว่าเก่า เพราะสมัยนี้เขาไม่ได้ใช้แบบเดิมแล้ว นอกจากนี้ก็ดูป้ายยี่ห้อ เพราะเราตามกลับไปเช็กได้”
ราคาชุดที่เธอได้มาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจคนขาย ตลอดจนรายละเอียดของลวดลาย แต่เจ้าตัวบอกว่า เธอไม่จำและไม่คำนวณ เพราะถือเป็นการซื้อสิ่งที่ชอบ อย่างไรก็ตาม เธอมีงบให้ตัวเองอยู่แล้ว เมื่อเห็นราคาพุ่งสูงกว่าที่กำหนด เธอก็จะยอมปล่อยไป
“แต่ก็เกือบหมื่นอยู่นะคะ” เธอหัวเราตบท้าย


“อันนี้เป็นคริสตัลทั้งหมด หนักมาก แต่สวยมาก ระยิบระยับทั้งตัว เวลาใส่คริสตัลจะตกลงมาปรกไหล่ ชุดนี้ก็ได้เอาให้คนอื่นใส่มาแล้ว”


ใกล้กันยังมีชุดสีโอลด์โรสแขวนอยู่ท่ามกลางชุดสไตล์ตะวันตก เห็นว่าชาวจีนบางกลุ่มเชื่อว่าสีขาวเป็นสีงานศพ ทำให้ชุดเจ้าสาวชาวจีนในยุคหนึ่งฮิตใช้สีชมพูอมส้มหรือสีสดใสอื่น ๆ มากกว่า เมื่อพูดถึงชุดทางฝั่งเอเชีย เราจึงขอให้เธอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรับวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายสองซีกโลกเสียหน่อย
“ยุคก่อนสงครามโลก แต่ละประเทศทางเอเชียมีวัฒนธรรมของตัวเองชัดเจน คนไทยใส่ชุดไทย คนญี่ปุ่นใส่กิโมโน แต่หลังสงครามโลก East Meets West วัฒนธรรมจึงเกิดการผสมกัน ทางฝั่งเราก็คิดว่าเสื้อผ้าของเขาหรูหรา ประกอบกับนโยบายรัฐ การล่าอาณานิคมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หันไปใส่แบบเขามากขึ้น ห้ามใส่โจงกระเบน ห้ามเคี้ยวหมาก ต้องใส่หมวกเพื่อความศิวิไลซ์ ก็น่าเสียดายว่าบางอย่างของไทยหายไปเร็ว” เธออธิบาย


ภาพ : ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี
หลังผ่านไป 16 ปี แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีแผนเปิดร้านเช่าชุดแต่งงาน แต่ความสุขเล็ก ๆ ที่เพิ่มพูน รวมถึงคุณค่าจากการแชร์ของสะสมให้คนอื่นก็ปรากฏให้เห็นชัดเจน
“ความสุขตอนนี้ของพี่เปลี่ยนไปหน่อย คือจากที่เราเก็บชุดเอาไว้เฉย ๆ กลายเป็นได้เอาให้ญาติยืมใส่ ความยากของชุดวินเทจก็คือมันแก้ไม่ได้ พอดีคือพอดี หลวมคือหลวม
“พอเราเห็นเขาใส่พอดี มันสวยเหลือเกิน เราดีใจมาก รู้สึกว่าของที่เราเก็บมีค่า เพราะได้ใช้งานอีกครั้ง พี่เชื่อว่าทุกชุดมีคนใช้มาแล้ว เลยเรียกว่าเป็นการส่งพลังงานดีต่อ ใส่แล้วมีความสุขติดอยู่ พี่ในฐานะคนเก็บและญาติที่ได้ใส่ก็เหมือนได้ฝากความสุขไว้ที่ชุดอีกต่อหนึ่ง”

