ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่เคยไปหลวงพระบางจะต้องเคยไปวัดนี้มาแน่ๆ หรือถ้าใครไม่เคยไป ที่นี่ถือเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะวัดแห่งนี้ถือเป็นมณีแห่งเมืองหลวงพระบางและศิลปะล้านช้าง ที่นี่ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดองค์หนึ่งของเมืองหลวงพระบางอีกด้วย เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราไปชมวัดเชียงทองกันเถอะครับ

วัดเชียงทองสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้เคยปกครองทั้งล้านนาและล้านช้างเมื่อราว พ.ศ. 2101 – 2103 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพระองค์จะย้ายเมืองหลวงไปยังเวียงจันทน์ไม่นาน วัดนี้ยังถือเป็น ‘วัดประตูเมือง’ และท่าเทียบเรือทางเหนือของตัวเมือง ซึ่งคนที่ใช้มีทั้งกษัตริย์และนักเดินทางชาวต่างชาติ 

ที่สำคัญ วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองใน พ.ศ. 2430 โดยฝีมือของพวกฮ่อมาได้อีกด้วย เรียกได้ว่านี่เป็นสิมหลังที่เก่าที่สุดภายในตัวเมืองเก่าหลวงพระบางเลยครับ

พอไปถึงวัดเชียงทอง ที่แรกที่คุณควรจะต้องเดินไปชมก่อนก็คือ สิม หรืออุโบสถของวัดเชียงทอง สิมหลังนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง และกลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นหอพระบาง หรือแม้แต่ในบ้านเรา เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จังหวัดอุบลราชธานี หรือ วัดวังคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ สิมหลังนี้ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบหลวงพระบางที่ยังสมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดอีกด้วย 

เอกลักษณ์ของสิมแบบนี้คือความอ่อนโค้งที่แตกต่างจากสิมแบบอื่นๆ ด้านนอกมีลายฟอกคำที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2471 เมื่อสิมได้รับการบูรณะ โดยข้างนอกจะมีทั้งภาพเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน เช่น พระสุธน-มโนราห์ ส่วนตรงประตูทางเข้าจะเป็นเรื่องการไหว้เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ 

แต่สิ่งที่ยังไงก็ห้ามพลาดอยู่ด้านหลังสิมครับ เป็นงานประดับกระจกรูปต้นทองขนาดใหญ่ ซึ่งสื่อถึงตำนานการสร้างเมืองหลวงพระบางที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่าเมืองเชียงดงเชียงทอง สิ่งนี้ยังถือเป็นลักษณะสำคัญ ที่เมื่อมีการจำลองสิมหลังนี้เข้ามาในเมืองไทยจะเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เลยครับ 

ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง

พอเข้าไปข้างในสิม เราก็จะพบแท่นประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ที่ตั้งร่วมกับพระพุทธรูปขนาดเล็กๆ อีกนับสิบองค์ มีทั้งพระยืน พระนั่ง แต่องค์ที่อยากให้ลองไปชมใกล้ๆ อยู่ทางฝั่งซ้ายของพระประธาน หรือถ้าเราเดินเข้าไปในสิมก็จะอยู่ทางขวามือของเรา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่หน้าตาเหมือนกับพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่น 3 ซึ่งถ้าเราเจอท่านแถวๆ อยุธยา นนทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร อาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ท่านไปโผล่ที่หลวงพระบางถือว่าไม่ปกติ แถมยังมีแค่องค์เดียวด้วย ก็น่าสงสัยว่าใครอัญเชิญท่านไปและอัญเชิญไปเมื่อไหร่กันแน่ และแน่นอนว่า ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันครับ 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ผนังด้านในที่ได้รับการตกแต่งด้วยลายฟอกคำเหมือนที่อยู่ด้านนอกของสิมเลยครับ แต่ข้างในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และตำนานเมืองหลวงพระบาง ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นงานช่างชั้นสูงเพราะเป็นงานที่เกิดจากการบูรณะในสมัยหลังแล้ว แต่ก็มีความงามในแบบเรียบง่ายอยู่ครับผม

ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง

เยื้องไปทางด้านหน้าสิมของวัดเป็นอีกหนึ่งอาคารสำคัญคือ โรงราชรถ หรือหอราชโกศ เรามาดูกันทีละชื่อครับ โรงราชรถ มีที่มาจากสิ่งที่เก็บเอาไว้ภายใน นั่นก็คือราชรถไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนชื่อ หอราชโกศ ก็มาจากสิ่งที่ประดิษฐานอยู่บนราชรถไม้ ซึ่งก็คือพระโกศนั่นเอง แถมไม่ได้มีแค่ 1 แต่มีถึง 3 โดยองค์ใหญ่เป็นของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์แห่งเมืองหลวงพระบางองค์ก่อนสุดท้าย ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา ในขณะที่ด้านหลังเป็นของพระราชมารดาของพระองค์ 

ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง

อาคารหลังนี้สามารถเปิดฝาด้านหน้าออกได้แบบเดียวกับโรงราชรถในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เลยครับ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาดก็คือความงามหน้าบัน บานประตูและหน้าต่าง ฝีมือเพียตัน นายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง โดยงานไม้ทั้ง 3 แบบนี้เล่าเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติและส่งเสริมบารมีของพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี

ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง

ดูอาคารหลังใหญ่ๆ มา 2 หลังแล้ว ไปชมอาคารหลังเล็กๆ กันบ้างครับ ซึ่งด้านหลังสิมมีหอไหว้ที่น่าสนใจอยู่ 2 หอ หอไหว้หลังแรกก็คือ หอไหว้พระพุทธไสยาสน์ หรือที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า หอไหว้สีกุหลาบ เพราะสีของผนังด้านนอกเป็นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบจริงๆ แต่ชื่อนี้น่าจะมาเรียกกันในตอนหลัง เพราะในเอกสารเก่าของชาวฝรั่งเศสเรียกที่นี่ว่า หอไหว้สีแดง แต่ไม่ว่าจะแดงหรือชมพู ความน่าสนใจของที่นี่ก็ไม่ได้อยู่ที่สี แต่อยู่ที่งานกระจกที่ติดอยู่บนผนังต่างหาก เพราะเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านที่สั่งสอนเรื่องธรรมะอย่างง่ายๆ เช่น กรรมตามสนอง หรือความกตัญญู แถมยังสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวลาวเอาไว้มากมายเลยครับ ส่วนข้างในก็แน่นอน เมื่อชื่อบอกมาขนาดนี้แล้ว ข้างในก็ต้องประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน แถมยังเป็นพระนอนโบราณที่มีอายุถึง 400 ปีอีกด้วย

ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง
ชมความเก่าแก่และความงามของสถาปัตย์ วัดเชียงทอง ฝีมือนายช่างใหญ่แห่งราชสำนักหลวงพระบาง

นอกจากหอไหว้สีกุหลาบแล้ว ยังมีหอไหว้อีกหลังหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ นั่นก็คือ หอพระม่าน หอไหว้หลังเล็กสีชมพูเช่นกัน ซึ่งผนังด้านนอกตกแต่งด้วยกระจกเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านคล้ายกับหอไหว้หลังที่แล้ว แต่ภายในประดิษฐานพระม่าน 1 ใน 3 พระพุทธรูปสำคัญของเมืองหลวงพระบาง ร่วมกับพระบางซึ่งอยู่ที่หอพระบาง และพระเจ้าองค์แสนซึ่งอยู่ที่วัดหนองศรีคูนเมือง 

โดยปกติพระม่านจะประดิษฐานอยู่ภายในหอพระม่านและไม่เปิดให้ใครได้ชม ใครอยากชมก็ต้องมองลอดรูเล็กๆ ตรงประตูเข้าไป ทว่าจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาปีละ 1 ครั้งช่วงหลังสงกรานต์ ในระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน โดยจะประดิษฐานภายในวัดเชียงทองให้คนได้สรงน้ำ ซึ่งเราสามารถเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ได้อย่างชัดเจน

ก่อนจะไปต่อขออนุญาตเล่าถึงพระม่านสักนิดหนึ่ง พระม่านนี้เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยชาวพม่า พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่า พระม่าน เพราะคำว่า ม่าน หมายถึง ชนชาติพม่า (อย่างไรก็ตาม พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะล้านช้างแน่นอนครับ) 

ตำนานเล่าต่อว่า พอสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จก็นำแพล่องไปในแม่น้ำโขงเพื่อนำกลับไปยังประเทศพม่า แต่เมื่อผ่านเมืองหลวงพระบาง พระพุทธรูปองค์นี้กลับหยุดและหมุนวนกับที่ ทำอย่างไรก็อัญเชิญไปต่อไม่ได้ ผู้อัญเชิญจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากท่านไม่ประสงค์จะไปยังหงสาวดี ก็ขอให้ท่านเลือกวัดอยู่เองเถิด” 

เจ้าอาวาสจากวัดหลายแห่งก็มาอัญเชิญท่านแต่ไม่สำเร็จ จนมาถึงเจ้าอาวาสวัดเชียงทองซึ่งสามารถอัญเชิญท่านขึ้นจากน้ำได้ จึงได้อัญเชิญกลับวัด ระหว่างนั้นมีฝนตกอย่างไม่มีท่าทีจะหยุด จึงสร้างหอพระม่านขึ้นเพื่อประดิษฐานท่าน และเกิดความเชื่อว่าหากยามใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลให้อัญเชิญท่านมาสรงน้ำ แล้วฝนก็จะตก ส่วนชาวลาวนิยมมาขอลูกจากพระม่านครับ

ไฮไลต์ประจำหลวงพระบางกับสิมหลังเก่าแก่ที่สุดของเมืองที่เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง พระม่านที่ต้องมองลอดรูดู และพระนอนโบราณอายุ 400 ปี

ผมเพิ่งมีโอกาสได้นมัสการท่านตอนไปเที่ยวหลวงพระบางครั้งล่าสุดแบบบังเอิญ ตอนจองตั๋วเครื่องบินก็ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน พอใกล้ๆ วันไปถึงได้รู้ ก็รู้สึกโชคดีมากๆ ดังนั้น พอไปถึงเมืองหลวงพระบางวันแรกก็เลยตัดสินใจไปชมความงามของพระม่านเลยครับ โดยไปชมตอนกลางคืนก่อน พอไปถึงวัดก็ช็อกเพราะคนเยอะมาก ข้างในมีศาลาที่มีบุษบกสำหรับสรงน้ำอยู่ตรงกลาง สองข้างมีแท่นสำหรับขึ้นไปสรงน้ำ โดยจะเทน้ำลงไปในรางรดสรง หรือฮางฮดสรง ซึ่งแท่นทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยประชาชนชาวลาวที่ต่อแถวยาวโคตรๆ ทุกคนจะถือขันคนละใบ ข้างในใส่น้ำสำหรับสรงน้ำที่น่าจะเตรียมกันมาเองจากบ้าน ส่วนด้านหน้าเป็นพื้นไม้เอาไว้สำหรับคนที่เข้าไปกราบพระม่าน ซึ่งคนเยอะมากเช่นกัน เรียกได้ว่าต้องต่อคิวกันเข้าไปกราบเลยทีเดียว 

แต่ที่ผมเห็นแล้วเซอร์ไพรส์ที่สุดก็คงเป็นเทียนที่เขาใช้ เพราะเทียนยาวมากกกกกกกกก (ขออนุญาตใช้ ก ไก่ เยอะหน่อยเพราะยาวจริงๆ) แถมถ้าเป็นบ้านเราก็จะเอาเทียนไปปักบนรางเทียนหรือกระถางธูปใช่ไหมครับ ของที่นี่คือติดไปบนรางเทียนเลยครับ และเนื่องจากปริมาณคนอันมหาศาล วันนั้นก็เลยแค่เข้าไปกราบท่านอย่างเดียว ยังไม่ได้สรงน้ำ แล้วพอวันกลับก็กลับไปสรงน้ำกับนมัสการท่านอีกครั้งในตอนเช้าซึ่งคนน้อยกว่าเยอะเลยครับ แต่ก็ถือว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้เข้าไปกราบท่าน ได้ชมความงามของท่านด้วยตาตัวเอง รู้สึกว่าเป็นโชคดีและเป็นบุญมากจริงๆ

ไฮไลต์ประจำหลวงพระบางกับสิมหลังเก่าแก่ที่สุดของเมืองที่เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง พระม่านที่ต้องมองลอดรูดู และพระนอนโบราณอายุ 400 ปี
ไฮไลต์ประจำหลวงพระบางกับสิมหลังเก่าแก่ที่สุดของเมืองที่เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง พระม่านที่ต้องมองลอดรูดู และพระนอนโบราณอายุ 400 ปี
ไฮไลต์ประจำหลวงพระบางกับสิมหลังเก่าแก่ที่สุดของเมืองที่เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง พระม่านที่ต้องมองลอดรูดู และพระนอนโบราณอายุ 400 ปี

วัดเชียงทองจึงถือเป็น The Must สำหรับใครก็ตามที่เพิ่งเคยมายังเมืองหลวงพระบางเป็นครั้งแรก หรือแม้จะมาแล้วหลายครั้ง วัดแห่งนี้ก็ยังคงอีกวัดที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน หรือถ้าใครมาแล้วอยากจะสัมผัสบรรยากาศใหม่ๆ ผมก็ขอแนะนำให้มาตรงกับช่วงที่มีการอัญเชิญพระม่านออกมาครับ คุณจะเห็นถึงศรัทธาที่ชาวลาว ไม่ใช่แค่หลวงพระบางแต่ยังรวมถึงเมืองอื่นๆ ด้วย ที่เดินทางมาเพื่อกราบนมัสการและสรงน้ำพระปฏิมาสำคัญองค์นี้ครับผม

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดเชียงทองเป็นหนึ่งในไม่กี่วัดในหลวงพระบางที่เป็นวัดและสถานที่สำคัญ ค่าเข้าชมอยู่ที่ 20,000 กีบ จะมีโต๊ะจำหน่ายตั๋วอยู่แถวประตูทางเข้า แต่ถ้าสมมติเดินเข้าไปโดยไม่ได้ซื้อจะเข้าไปดูข้างในสิมไม่ได้นะครับ เพราะคนตรวจปี้ (ตั๋ว) จะอยู่ตรงนั้นครับ
  2. ใกล้กับวัดเชียงทองมีท่าเรือซึ่งสามารถเหมาเรือข้ามไปยังฝั่งเชียงแมนที่อยู่ตรงข้ามได้ โดยจะเหมาพาเที่ยววัดที่ฝั่งเชียงแมน หรือจะไปถึงถ้ำติ่งก็ยังได้ แต่ต้องต่อรองราคาดีๆ นะครับ ไม่งั้นโดนฟันราคาหัวแบะแน่นอน
  3. อีกหนึ่งพระพุทธรูปสำคัญของหลวงพระบางที่มีการแห่ก็คือ พระบาง ซึ่งปกติประดิษฐานอยู่ในหอพระบางด้านหน้าพระราชวังหลวงซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยพระบางปกติห้ามถ่ายรูป (ยกเว้นคุณจะซุ่มจากด้านนอกไกลๆ) แต่ถ้าอยากถ่ายภาพ ก็ต้องรอช่วงที่มีการแห่พระบาง โดยจะแห่จากหอพระบางไปประดิษฐานเอาไว้ที่วัดใหม่สุวรรณาภูมาราม (วัดใหม่สุวันนะพูมาราม) ซึ่งพระบางจะแห่ออกมาในวันที่ 17 เมษายน และประดิษฐานอยู่ 3 วัน 3 คืน ก่อนจะอัญเชิญกลับไปในวันที่ 20 ครับ
  4. ส่วนใครที่อยากมาสรงน้ำพระม่านแต่ไม่มีขัน คุณสามารถหาซื้อขันในเมืองและมาซื้อน้ำที่หน้าวัดได้ครับ รวมถึงดอกไม้ ธูป เทียน ทั้งหมดสามารถหาซื้อได้บริเวณทางเข้าวัดเลยครับ หรือถ้าไม่ใช้ขัน ก็เอาน้ำในขวดที่ขายหน้าวัดเทลงไปในรางรดสรงได้เลยเช่นกัน (ผมใช้วิธีนี้ครับ)

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ