คำว่า ‘วัด’ อาจเป็นคำจำกัดความที่ทำให้เรานึกถึงศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาแบบเถรวาทต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วความหมายของคำว่า ‘วัด’  นี้กว้างกว่านั้นเยอะ เพราะเรามีทั้งวัดในศาสนาอื่นอย่าง วัดแขก หรือ วัดซิกข์ รวมไปถึงวัดในศาสนาพุทธเหมือนกันแต่เป็นฝ่ายมหายานอย่าง วัดจีน หรือ วัดญวน ซึ่งถ้าให้เรานึกภาพ เราอาจจะนึกไม่ออกว่าวัดจีนกับวัดญวนต่างกันยังไง งั้นเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมารู้จักวัดญวนผ่าน ‘วัดอุภัยราชบำรุง’ กันครับ

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

จากวัดญวนตลาดน้อยสู่วัดอุภัยราชบำรุง

วัดอุภัยราชบำรุง หรือที่หลายคน รวมถึงผมด้วยมักจะเรียกว่า ‘วัดญวนตลาดน้อย’ เพราะตัววัดตั้งอยู่ในย่านตลาดน้อยนั้นถือเป็นหนึ่งในวัดญวนรุ่นแรก ๆ ของกรุงเทพมหานครเลยนะครับ และเพราะเป็นวัดญวน วัดนี้ก็มีชื่อในภาษาเวียดนามเช่นกันว่า วัดคั้นเวิน หรือ คั้น เวิน ตื่อ สันนิษฐานกันว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหลัง พ.ศ. 2330 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่องเชียงสืออพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของในหลวงรัชกาลที่ 1 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งขณะนั้นกำลังสนใจเรื่องพุทธศาสนามหายาน ได้โปรดให้นิมนต์องฮึง เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นมาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และท่านองค์ฮึงได้ถวายวิสัชนาแก่พระองค์ ดังนั้น เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงพระราชทานสมณศักดิ์แก่องฮึงเป็นพระครูคณานัมสมณาจารย์ และได้เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอนัมนิกายในประเทศสยามด้วย พร้อมกันนั้น พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดด้วย

แม้แต่ในรัชกาลต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังพระราชทานเงินช่วยในการปฏิสังขรณ์ต่อมา เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นก็ได้มีการฉลองพระอารามใน พ.ศ. 2420 พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘วัดอุภัยราชบำรุง’ ซึ่งหมายถึง วัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

จีนไทยผสมผสานกับงานศิลปะชิ้นเอกบนแผ่นกระเบื้อง

ถึงจะเป็นวัดญวนที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายาน แต่วัดญวนในไทยทุกวัดจะมีอุโบสถเป็นอาคารหลักเช่นเดียวกับวัดไทยอยู่เสมอ วัดอุภัยราชบำรุงแห่งนี้ก็เช่นกัน อุโบสถของวัดแห่งนี้เป็นอาคารที่ผสมผสานระหว่างอาคารแบบพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ประดับหน้าบันด้วยงานปูนปั้น เข้ากับหลังคาสไตล์จีนที่มีความแอ่นโค้ง และประดับด้วยปูนปั้นที่ส่วนปลายอันเกิดจากการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยต่อมา เพราะเมื่อเทียบกับภาพถ่ายเก่าแล้วจะเห็นหลังคาเดิมไม่ได้แอ่นขนาดนี้  ซึ่งหน้าบันปูนของวัดนี้จะมีช่องขนาดเล็กล้อมรอบด้วยมังกรหลากสี ภายในช่องมีรูปเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติ หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่า พระพุทธเจ้าน้อย อยู่

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์
ภาพ : www.facebook.com/culturebma/posts/986315358161920

ที่เก๋ไก๋อีกอย่างหนึ่งของวัดอุภัยราชบำรุงแห่งนี้ก็คือประตูด้านเข้าด้านหน้า ซึ่งแทนที่จะเป็นประตูเปิดปิดแบบปกติ แต่ของที่นี่ใช้บานเฟี้ยมผสมผสานลวดลายเข้ากับตัวอักษรภาษาจีน ด้านบนมีแผ่นไม้ระบุข้อความว่า “ทรงพระราชทานนามวัดอุภัยราชบำรุง” ซึ่งบอกเล่าที่มาของชื่อวัดนี้ได้อย่างดี แถมบริเวณนี้ยังมีทั้งระฆัง มีทั้งกลอง ติดตั้งเอาไว้สำหรับใช้เรียกพระภิกษุมาทำวัตรด้วย

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

พอเข้าไปด้านในก็จะพบกับพระประธานขนาดใหญ่ปางสมาธิครองจีวรห่มเฉียงอย่างจีน สังเกตได้จากบริเวณหัวไหล่ทั้ง 2 ฝั่งที่จะมีจีวรพาดเอาไว้ แตกต่างจากในศิลปะไทยที่เวลาครองจีวรห่มเฉียงจะมีจีวรพาดแค่ฝั่งเดียว ขนาบ 2 ข้างด้วยรูปพระสาวกคู่ แต่วัดนี้ไม่ได้ใช้พระอัครสาวกซ้ายขวาอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เพราะที่นี่ใช้รูปพระมหากัสสปะและพระอานนท์แทน ซึ่งแสดงด้วยรูปพระสาวกที่มีใบหน้าสูงวัยคู่กับพระสาวกที่มีใบหน้าอ่อนเยาว์ ต่างจากคู่ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะที่จะแสดงด้วยรูปพระสาวกที่มีใบหน้าหนุ่มทั้งคู่ โดยรอบพระประธานและพระสาวกยังมีพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ขนาดเล็กอีกหลายองค์จากหลายยุคสมัย

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

แต่ภายในอาคารที่ทั้งผนัง เพดาน และเสา ล้วนแล้วแต่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ไปมาก แต่วัดอุภัยราชบำรุงก็ยังเก็บบางสิ่งเอาไว้เหมือนเช่นในอดีต ซึ่งสิ่งนั้นต้องก้มลงมองครับ นั่นคือกระเบื้องปูพื้นนั่นเอง ที่วัดแห่งนี้เก็บรักษากระเบื้องปูพื้นดั้งเดิมเอาไว้พอสมควร โดยจะอยู่บริเวณอาสนสงฆ์ที่ยกพื้นขึ้นมา มีทั้งกระเบื้องเคลือบสีฟ้าขาว หรือที่นักสะสมจะเรียกว่า Blue & White รวมไปถึงกระเบื้องเคลือบสีอื่น ๆ มีทั้งลวดลายแบบเบสิกไปจนถึงลายพันธุ์พฤกษาอลังการ ซึ่งจัดเรียงอย่างประณีตและเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบระเบียบมาก

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

ที่สถิตร่างอดีตเจ้าอาวาส

ด้านหลังอุโบสถเป็นที่ตั้งของศาลาบูรพาจารย์ อาคารซึ่งพบได้ทั้งในวัดจีนและวัดญวน สำหรับวัดอุภัยราชบำรุงนั้นมาในรูปของอาคารทรงตึก ซึ่งชั้นล่างใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส แต่เมื่อขึ้นไปยังชั้น 2 ของอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของโต๊ะบูชาบูรพาจารย์ โต๊ะซึ่งครอบแก้วสี่เหลียมใสเอาไว้ ภายในบรรจุทั้งป้ายชื่อและร่างจริงของอดีตเจ้าอาวาสวัดอุภัยราชบำรุงสมชื่อโต๊ะบูชาบูรพาจารย์

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

ในส่วนของป้ายชื่อนั้นจะเป็นของเจ้าอาวาสรุ่นเก่า ตั้งแต่พระครูคณานัมสมณาจารย์ (องค์ฮึง) เจ้าอาวาสรูปแรกนับแต่การสถาปนานามวัดเป็นวัดอุภัยราชบำรุง พระครูคณานัมสมณาจารย์ (ทันเคี๊ยด) และองสรภาณมธุรส (อานาน) เจ้าอาวาส 2 รูปถัดมา แต่สำหรับเจ้าอาวาสอีก 2 รูปถัดมาจะอยู่ในลักษณะที่ต่างออกไป

ในกรณีของเจ้าอาวาสรูปที่ 4 คือ พระครูคณานัมสมณาจารย์ (องโผซ้าย) นั้นเนื่องจากหลังท่านมรณภาพแล้วปรากฏของร่างของท่านกลับแห้งไปโดยไม่เน่าเปื่อย จึงได้นำร่างของท่านมานั่งบนเก้าอี้และประดิษฐานบนโต๊ะบูรพาจารย์ ในขณะที่อาวาสรูปถัดมา คือ พระสมณานัมวุฑฒาจารย์ไพศาลคณกิจ (หลวงพ่อโผ) เนื่องจากพระองค์เป็นที่เคารพทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวจีน จึงได้มีการหล่อรูปหลวงพ่อโผเป็นรูปหล่อสำริดขนาดเท่าจริงตั้งก่อนจะตั้งบนโต๊ะบูรพาจารย์ ในขณะที่ร่างจริงของท่านบรรจุอยู่ที่วิหารหลวงพ่อโผ ณ วัดถ้ำเขาน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

ฮวงซุ้ยรูปเจดีย์และต้นโพธิ์อิมพอร์ตจากอินเดีย

ข้าง ๆ อุโบสถมีเจดีย์ทรงถะจีนสูง 5 ชั้นที่มีอาคารแบบจีนขวางอยู่ด้านหน้า ซึ่งดูเผิน ๆ ก็เหมือนเจดีย์ทรงถะทั่วไป แต่เจดีย์องค์นี้ไม่ใช่แค่เจดีย์ธรรมดานะครับ เพราะถึงหน้าตาจะเป็นเจดีย์ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้คือ ฮวงซุ้ย ครับ ใช่ครับ ฮวงซุ้ยที่ปกติจะเป็นเนินดินที่มีแผ่นหินอยู่ด้านหน้านั่นละครับ แต่ที่วัดอุภัยราชบำรุงนี้พิเศษมากกว่านั้น เพราะสร้างเป็นถะจีนซะเลย

วัดอุภัยราชบำรุง วัดญวนรุ่นแรก ณ ย่านตลาดน้อยที่มี 2 กษัตริย์แห่งจักรีวงศ์อุปถัมภ์

แล้วฮวงซุ้ยนี้เป็นของใครกัน ก็ต้องไปดูแผ่นหินด้านหน้านั่นละครับ ซึ่งเขียนชื่อของเจ้าของฮวงซุ้ยเอาไว้ด้วยภาษาจีน แต่ถ้าใครอ่านภาษาจีนไม่แตกฉาน (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) แต่อยากรู้ว่าฮวงซุ้ยนี้ของใคร ให้ลองเดินวนรอบถะ ก็จะพบกับแผ่นศิลาอีก 4 แผ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ในสภาพลบเลือนอย่างมาก ข้อความบนจารึกแผ่นนี้กล่าวถึงประวัติของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของวัดแห่งนี้ เราจึงถึงบางอ้อว่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐีผู้นี้นี่เองที่เป็นเจ้าของฮวงซุ้ยแห่งนี้

วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) วัดญวนรุ่นแรก ๆ ของกรุงเทพฯ ที่มี 2 กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีอุปถัมภ์

และไม่เพียงแต่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เท่านั้นที่มีอนุสรณ์ของท่านอยู่ภายในวัด เพราะด้านหลังถะจีนมีภูเขาจำลองตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิเช่นเดียวกับถะจีนด้านหน้า มีทั้งที่เป็นเจดีย์และแผ่นป้ายศิลา ภูเขาจำลองลูกนี้สร้างขึ้นภายหลังจากที่คุณหญิงสุ่น ภริยาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก) ซึ่งหลังจากที่สามีเสียชีวิตก็ได้ทำนุบำรุงวัดต่อมา จนเมื่อท่านเสียชีวิตจึงได้มีการสร้างภูเขาลูกนี้ขึ้นเพื่อไว้บรรจุอัฐิของท่านเมื่อ พ.ศ. 2462 

วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) วัดญวนรุ่นแรก ๆ ของกรุงเทพฯ ที่มี 2 กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีอุปถัมภ์

ภายในภูเขาลูกนี้ยังมีอัฐิของ คุณเจริญ โชติกสวัสดิ์ ธิดาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก) และคุณหญิงสุ่น ซึ่งได้สร้างตึกแถว 7 ห้องอุทิศเป็นศาสนสมบัติและได้เชิญอัฐิมาประดิษฐานไว้ที่ภูเขาลูกนี้หลังจากที่คุณเจริญเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2476 ด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จารึกเอาไว้บนแผ่นศิลาบนถะจีนด้วยเช่นกัน แต่เป็นคนละแผ่นกับประวัติของพระยาโชฎึกราชเศรษฐีนะครับ ส่วนอีก 2 แผ่นที่เหลือเป็นจารึกสมัยหลังลงมาอีกที่กล่าวถึงการบูรณะฮวงซุ้ยใน พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2530

ภายในวัดอุภัยราชบำรุงยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ภายในวัดเช่นเดียวกับวัดไทยหลายแห่ง แต่ความพิเศษของต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ก็คือ เป็นต้นโพธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ ซึ่งต้นโพธิ์ชุดนี้เป็นต้นโพธิ์ที่รัฐบาลอินเดียถวายหน่อมาให้เมื่อ พ.ศ. 2420 

และไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์นี้มา ยังโปรดฯ ให้มีการแห่ มีคนสวมกางแกงสีแดง 200 ชีวิตลากหน่อนี้ที่ตั้งอยู่ในเก๋งหลังคาเกี้ยวมาส่งยังวัดพร้อมพลองแบกตาม 10 คู่ เสียมแบกตาม 10 คู่ จีนหามบุ้งกี๋สำหรับปลูก 10 คู่ ถังสังกะสีใส่น้ำหาบตาม 10 คู่ แล้วเมื่อถึงพระฤกษ์ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังเสด็จมาทรงพระสุหร่ายด้วยพระองค์เอง ซึ่งหน่อต้นโพธิ์ในวันนั้น ผ่านมา 145 ปี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้เติบใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับป้ายประวัติทั้งภาษาไทยและภาษาจีนอยู่

วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) วัดญวนรุ่นแรก ๆ ของกรุงเทพฯ ที่มี 2 กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีอุปถัมภ์

มรดกชาวญวนในวันที่ไม่มีชาวญวน

ถึงแม้ว่าวัดอุภัยราชบำรุงแห่งนี้จะเป็นวัดญวนก็ตาม แต่ในปัจจุบันความเป็นชุมชนชาวมอญในย่านตลาดน้อยนั้นได้สูญสิ้นไปจนแทบหมดสิ้นแล้ว แม้การทำวัตรจะยังสวดมนต์ด้วยภาษาเวียดนาม แต่ผู้คนที่อยู่โดยรอบวัดในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ผ่านการแต่งงานกันไปมาจนแทบไม่หลงเหลือความเป็นญวน วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ยืนยันว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งในอดีต ที่แห่งนี้เคยเป็นชุมชนชาวญวนที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยืนยันได้ผ่านศาสนพิธีพิเศษที่หาชมได้ยากอย่างพิธีบูชาเทพนพเคราะห์ ซึ่งเป็นพิธีพิเศษเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายเท่านั้น

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดอุภัยราชบำรุงเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุงเลยครับ จะใช้รถส่วนตัวมาจอดในวัดก็ได้ หรือนั่งรถสาธารณะอย่างรถเมล์ แท็กซี่ หรือตุ๊กตุ๊กมาก็ได้ แต่แนะนำให้นั่งรถสาธารณะ เพราะปกติลานหน้าอุโบสถจะมีรถจอดอยู่พอสมควร
  2. วัดอุภัยราชบำรุงเป็นแค่ 1 ในวัดญวน 17 วัดที่กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งในกรุงเทพฯนี้มีถึง 7 วัด เช่น วัดกุศลสมาคร วัดโลกานุเคราะห์ วัดสมณานัมบริหาร เป็นต้น ซึ่งมีทั้งความเหมือนและความต่างกับวัดอุภัยราชบำรุงแห่งนี้ ถ้าใครสนใจก็ลองไปชมกันดูได้
  3. หรือถ้าใครมาที่วัดอุภัยราชบำรุงแล้วอยากไปดูศิลปะจีน ใกล้ ๆ กันจะมีศาลเจ้าโจวซือกงและศาลเจ้าโรงเกือกที่ถึงแม้จะไม่ใช่วัด แต่ก็จะเห็นภาพของศิลปะจีนได้พอสมควร เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องไปถึงวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดบำเพ็ญจีนพรตไปเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ