เมื่ออิทธิพลจากส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ แผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักร ความเป็นกรุงเทพฯ จึงเริ่มเข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น จะอาหารก็ดี การแต่งกายก็ดี ไม่เว้นแม้แต่งานศิลปะ และยิ่งหากจังหวัดนั้นเป็นจังหวัดใหญ่ อิทธิพลจากส่วนกลางก็จะยิ่งเข้มข้นตามไปด้วย แต่ใช่ว่าเมื่อความเป็นกรุงเทพฯ เข้าไปแล้ว ความเป็นท้องถิ่นจะหายไปนะครับ เปล่าเลย มันกลับเกิดการผสมผสานจนทั้งสองอย่างเข้ากันอย่างลงตัว วัดแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนวัดหนึ่งเลยครับ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ครับผม

สันนิษฐานกันว่า วัดทุ่งศรีเมืองสร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยของ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีตอนนั้น พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาฏิโมกข์ หรือ พระอริยวงศ์ (สุ้ย) หลักคำ หรือเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในเวลานั้น จำพรรษาอยู่ที่วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) วัดที่ตั้งอยู่ชายดงอู่ผึ้งที่มีอาณาเขตติดกับทุ่งชายเมืองหรือทุ่งศรีเมือง ในเวลากลางคืนท่านมักจะไปนั่งวิปัสสนาอยู่ริมทุ่งชายเมืองนี้ 

ภายหลังจึงได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นบริเวณริมทุ่งชายเมืองที่ท่านไปนั่งวิปัสสนา แต่เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ลุ่มจึงมีการขุดดินบริเวณทิศเหนือและทิศตะวันตกของจุดสร้างหอพระพุทธบาท เพื่อจะถมพื้นให้สูงก่อนลงมือก่อสร้าง บริเวณที่ขุดนั้นต่อมาได้กลายเป็นสระน้ำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสระทางทิศเหนือที่เป็นที่ตั้งของหอไตรเท่านั้น หอไตรหลังนี้สร้างโดยญาครูช่าง (ญาครู เป็นสมณศักดิ์ของภิกษุเวียงจันทน์และอีสานในสมัยก่อน) ในตอนแรก ทั้งหอพระพุทธบาทและหอไตรเป็นส่วนหนึ่งของวัดมณีวนาราม แต่ต่อมาถูกแยกออกมา และเพราะวัดตั้งอยู่ริมทุ่งชายเมือง วัดนี้จึงได้ชื่อว่า ‘วัดทุ่งชายเมือง’ หรือ ‘วัดทุ่งศรีเมือง’ นั่นเอง

อาคารที่สำคัญที่สุดในวัดแห่งนี้คงจะหนีไม่พ้นหอพระพุทธบาทของวัด อาคารที่สร้างในราวต้นรัชกาลที่ 4 และถือเป็นอาคารแห่งแรกๆ ในอีสานนอกโคราชที่แสดงถึงอิทธิพลจากภาคกลางอย่างชัดเจน ชนิดที่ว่าถ้าเอาอาคารหลังนี้ไปตั้งในกรุงเทพมหานครก็แทบจะหาความแตกต่างไม่ได้เลย อาคารผนังสูง เครื่องบนเป็นเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ไม่เกี่ยวใดๆ กับทองเนื้อเก้านะครับ ซึ่งต่างจากสิม (หมายถึงได้ทั้งโบสถ์และวิหาร) แบบอีสานอย่างมากครับ 

ไม่ใช่แค่ตัวอาคารที่แสดงความเป็นภาคกลาง แต่การสร้างหอพระพุทธบาทและรอยพระพุทธบาทนี้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่พระอริยวงศ์นำมาจากกรุงเทพฯ ด้วย เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีในอุบลราชธานีมาก่อน แถมยังมีการกำหนดงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาทในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 แบบเดียวกับที่วัดพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีด้วย ซึ่งประเพณีนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

ยัง ยังไม่หมด ถ้าลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการถมพื้นให้หอพระพุทธบาทสูงกว่าระดับพื้นวัดนั้น นอกจากจะเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังอาจเป็นความพยายามที่จะทำให้รอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานภายในดูคล้ายประดิษฐานบนเนินเขาแบบเดียวกับที่สระบุรีเช่นกัน 

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

ข้างนอกว่าแปลกแล้ว ข้างในแปลกขึ้นไปอีก เพราะแทนที่เข้าไปเราจะเจอพระประธานตั้งเป็นประธานของอาคาร แต่กลับมีรอยพระพุทธบาทอยู่ด้วย ถ้าฟังจากชื่ออาคารอาจจะไม่รู้สึกแปลกนะครับ แต่ลองคิดดีๆ ครับ ปกติแล้วรอยพระพุทธบาทมักจะตั้งอยู่ในมณฑป อาคารทรงสี่เหลี่ยมหลังคายอดแหลม ถ้านึกไม่ออกให้ลองนึกถึงวัดพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี แต่นี่ตั้งอยู่ในวิหาร อาจจะแปลกตาสักหน่อย แต่ในภาคกลางเราก็มีแบบนี้เหมือนกัน เพียงแต่เป็นวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ 

รอยพระพุทธบาทนี้ตามประวัติกล่าวว่านำมาจากวัดสระเกศ แต่พอลองดูดีๆ ลายมงคลข้างในกลับไม่ได้อยู่ในตารางทั้งหมด แถมลายบางลาย เช่น นกหัสดีลิงค์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีในรอยพระพุทธบาทที่ทำในกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงน่าจะเป็นของที่ทำขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีมากกว่า ในส่วนของพระประธานนั้นมีนามว่า พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ดูจากชื่อแล้วพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างจากเงินแน่ๆ ใช่ครับ แต่เงินที่ว่าไม่ใช่แร่เงินตรงๆ นะครับ มันคือเงินฮาง เงินตราที่มีรูปทรงยาวซึ่งเป็นเงินตราท้องถิ่นของภาคอีสานในสมัยโบราณนั่นเอง

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น
วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

อีกหนึ่งความแปลกของอาคารหลังนี้ก็คือเสาทั้งสี่ต้นที่ปักอยู่ภายในหอพระพุทธบาท หลายท่านอาจสงสัยว่ามันแปลกตรงไหน วัดหลายวัดก็มีเสาข้างในเหมือนกัน แต่เสาเหล่านั้นจะตั้งอยู่ห่างจากผนังพอสมควร ทว่าเสาเหล่านี้ไม่ใช่ เสาทั้งสี่ต้นตั้งอยู่ใกล้ผนังมาก เป็นเสาไม้ มีหน้าที่ค้ำยันขื่อที่ชำรุด ที่สำคัญ เสาเหล่านี้ไม่ใช่ของที่มีมาแต่เดิม แต่เป็นสิ่งที่ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) ต่อเติมขึ้นเมื่อครั้งท่านเป็นเจ้าอาวาส 

ทำให้เกิดพื้นที่พิเศษขึ้นภายในอาคาร คล้ายแยกตัวเองออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคาร จุดนี้ล่ะครับที่ทำให้ถูกใช้งานในฐานะอุโบสถของวัด เพราะช่วงที่เพิ่งแยกออกจากวัดมณีวนารามใหม่ๆ ราว พ.ศ. 2428 วัดแห่งนี้มีอาคารหลักแค่ 2 หลัง คือหอพระพุทธบาท กับหอไตร ไม่มีการสร้างอาคารอื่นใดเพิ่มเติม ดังนั้น จึงดัดแปลงหอพระพุทธบาทเพื่อใช้เป็นอุโบสถด้วย ด้วยการสร้างใบเสมาขึ้นมาล้อมตัวอาคารในเวลาเดียวกัน แต่เนื่องจากในปัจจุบันใบเสมาได้ชำรุดไปจนหมด สิ่งนี้จึงถือเป็นร่องรอยเดียวของความเป็นอุโบสถที่หลงเหลืออยู่ในหอพระพุทธบาทนี้ ซึ่งในปัจจุบันวัดทุ่งศรีเมืองก็ยังคงใช้หอพระพุทธบาทเป็นอุโบสถอยู่ครับ

ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาท

และสิ่งที่จะไม่พูดก็คงไม่ได้ ย่อมหนีไม้พ้นฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาทแห่งนี้ เพราะแม้จะมีเนื้อหาตามมาตรฐาน เช่น พุทธประวัติ หรือเวสสันดรชาดก หรือใช้เทคนิคการเขียนอย่างภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นปราสาทราชวัง ตัวพระตัวนาง มากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็มีการแทรกชาดกอื่นๆ เช่น จุลปทุมชาดก หรือที่ผมชอบเรียกเล่นๆ ว่า ชาดกบาร์บีคิวพลาซ่า หรือนิทาน เช่น สินไซ หรือสังข์ศิลป์ชัย รวมไปถึงสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวพื้นถิ่นอีสานเอาไว้อย่างมากมาย เช่น การเป่าแคน หรือแม้แต่ภาพแนว 18+ ที่นี่ก็มีแทรกๆ อยู่เช่นกัน ต้องลองมองหากันดูครับ ที่สำคัญ การเล่าเรื่องไม่ได้หยุดแค่ที่ผนังเท่านั้น แม้แต่เสาก็ยังมีการใส่ภาพเล่าเรื่องลงไปด้วยเช่นกัน

ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาท
ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาท
ฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธบาท

อีกหนึ่งอาคารที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เพราะถือเป็นที่กล่าวขานว่างามที่สุดในภาคอีสาน นั่นก็คือ หอไตร หรือหอธรรม นั่นเอง ความงามของหอไตรหลังนี้งดงามจนถูกยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 ของดีเมืองอุบล ได้แก่ “พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง” หอไตรหลังนี้ยังตั้งอยู่กลางสระน้ำทางทิศเหนือของหอพระพุทธบาท สร้างขึ้นโดยดำริของพระอริยวงศาจารย์ โดยให้ญาครูช่างพระชาวเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง 

หอไตรหลังนี้เป็นอาคารไม้ฝาปะกนยกพื้นสูง มีสะพานไม้ยื่นไปที่ฝั่งทางด้านหน้า มีงานแกะสลักไม้งดงามทั้งอาคาร ไม่ว่าจะเป็นหน้าบัน ประตู คันทวย หรือแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่แกะเป็นรูปสัตว์ แฝงคติธรรมน่าสนใจ เช่น หงส์ 2 ตัวพาเต่าบินจากชาดกเรื่องกัจฉปชาดก หรือปูหนีบคอนกกระยางจากพกชาดก หลังคามีหน้าบัน มีเครื่องลำยองแบบเดียวกับหอพระพุทธบาท ส่วนหลังคามีการซ้อนชั้น มีหลังคาปีกนกคลุมโดยรอบอาคาร ซึ่งการซ้อนชั้นหลังคามักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอิทธิพลจากช่างพม่า เพราะในอุบลราชธานีมีชาวกุลาหรือไทใหญ่ที่อาศัยมาตั้งแต่ราวสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 แต่ 

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น
วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

ลองสังเกตดีๆ นะครับ ถ้าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาแบบพม่าจะมีคอสองคั่นระหว่างหลังคาที่ซ้อนกัน แต่อาคารหลังนี้ใช้วิธีการซ้อนหลังคาแบบ ‘เทิบซ้อน’ คือซ้อนหลังคาขนาดเล็กลงบนหลังคาขนาดใหญ่ ซึ่งพบอยู่แล้วในอาคารแบบเชียงขวางศิลปะล้านช้าง และการผสมผสานเช่นนี้ก็เจอในลาวมาก่อน ถ้าจะพอยกตัวอย่างก็หลังนี้เลยครับ สิมวัดใหญ่สุวรรณภูมาราม เมืองหลวงพระบาง เห็นไหมครับว่ามีความคล้ายคลึงกันพอสมควร และสิมหลังนี้ไม่มีอิทธิพลจากศิลปะพม่าแต่อย่างใด

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

พอเข้าไปข้างในเราจะพบอีกห้องหนึ่งตรงกลาง ภายในมีชั้นวางพระคัมภีร์ 6 ชั้น ตั้งไว้สูงจรดเพดาน มีการตกแต่งฝาด้านนอกด้วยงานปิดทองลงลายฉลุโดยรอบซึ่งมีทั้งรูปเทวดา รูปหนุมาน หรือลวดลายพันธุ์พฤกษา โดยรอบๆ ที่น่าจะเคยมีตู้พระธรรม หีบพระธรรม ตั้งอยู่หลายใบเหมือนหอไตรหลังอื่น ตอนนี้เหลือเพียงหีบพระธรรมใบเดียวเท่านั้น

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

นอกจากอาคารหลักทั้งสองหลังนี้ที่ถือว่ามีมาตั้งแต่ครั้งแรกสร้างวัดก็ยังมีวิหารศรีเมือง วิหารที่สร้างขึ้นทีหลังในราว พ.ศ. 2507 เพื่อทดแทนหอแจก หรือศาลาการเปรียญวัด อาคารไม้ที่สร้างขึ้นในสมัยพระครูวิโรจน์รัตโนบลและพระครูวจีสุนทร ภายในประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง พระพุทธรูปจากวัดเหนือท่า วัดเก่าแก่ที่ต่อมาร้างลงและพระเจ้าใหญ่ถูกตั้งไว้กลางแดดจนพระเศียรชำรุด จึงมีการอัญเชิญมาประดิษฐานพร้อมกับบูรณะพระเศียรที่ชำรุดโดยใช้ต้นแบบจากพระเหลาเทพนิมิต วัดพระเหลาเทพนิมิต จังหวัดอำนาจเจริญ

วัดทุ่งศรีเมือง วัดฟิวชันแห่งแรกๆ ในอีสาน นอกโคราช ที่ผสมศิลปะกรุงเข้ากับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

วัดทุ่งศรีเมืองจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างวัดที่เอางานศิลปะจากต่างถิ่นมาผสมผสานกับงานศิลปะในท้องถิ่นอย่างลงตัว ทั้งในแง่ของงานศิลปกรรมและคติความเชื่อ กลมกลืน ดูแล้วไม่ขัดเขิน ดังนั้น เวลาเราไปชมที่ใดก็ตาม เราไม่ควรจะตัดสินอะไรจากการดูเพียงผิวเผิน ลองมองให้ลึก มองให้ละเอียด ลองค่อยๆ ละเลียดดู แล้วความงามที่คุณไม่เคยเห็นหรือที่คุณมองข้ามก็จะค่อยๆ เผยออกมาครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. การเดินทางมายังวัดทุ่งศรีเมือง ผมแนะนำให้ใช้พาหนะส่วนตัวครับ จะเป็นรถยนต์ รถตู้ รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานก็ได้ หาเช่าได้เลยครับในกรณีที่นั่งเครื่องบินหรือรถทัวร์มา หรือถ้าอยากจะลองใช้ขนส่งสาธารณะท้องถิ่น คุณนั่งรถสองแถวสาย 3 จาก บขส. มาได้เลยครับ คันนี้ผ่านหน้าวัดเลย
  2. วัดทุ่งศรีเมืองปัจจุบันจากที่แต่เดิมเป็นวัดนอกเมือง ได้กลายเป็นวัดในเมืองไปแล้ว จึงมีสถานที่น่าสนใจที่น่าไปชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดมณีวนาราม วัดที่วัดทุ่งศรีเมืองเคยเป็นส่วนหนึ่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในภาคอีสาน ภายในอาคารศาลากลางจังหวัดเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือวัดอื่นๆ เช่น วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดมหาวนาราม วัดแจ้ง เป็นต้น
  3. ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะงง ทำไมผมถึงเรียกจุลปทุมชาดกว่าชาดกบาร์บีคิวพลาซ่า ผมจะชี้แจงแถลงไขให้ฟังครับ ชาดกเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นเจ้าชาย แต่ตอนหลังถูกพ่อที่เป็นพระราชาขับไล่ออกจากเมืองพร้อมพระมเหสี พระเชษฐาทั้งหกและพระมเหสีของพระเชษฐา แต่ระหว่างทางที่อยู่ในป่าไม่มีอะไรกิน ก็เลยฆ่าพระมเหสีกิน ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่อื่น เช่น วัดบางขุนเทียนในกรุงเทพมหานคร หรือวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี จะวาดเป็นเตาที่มีตะแกรงซึ่งด้านบนวางชิ้นส่วนของพระมเหสีเอาไว้ ผมเลยชอบเรียกว่าชาดกบาร์บีคิวพลาซ่าครับ แต่บังเอิญที่นี่พื้นที่มีน้อย ช่างเลยเขียนฉากอื่น เลยอาจจะไม่เห็นภาพ ใครสนใจเนื้อเรื่องลองหาอ่านตามหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตได้ครับ
  4. สำหรับใครที่สนใจกัจฉปชาดกกับพกชาดกนั้น หาอ่านเนื้อเรื่องตามหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้สรุปเนื้อเรื่องย่อสั้นๆ กัจฉปชาดก (อ่านว่า กัด-ฉะ-ปะ-ชา-ดก) เป็นเรื่องของเต่าที่ตกลงไปตายเพราะดันเผลออ้าปากพูดขณะตัวเองกำลังคาบไม้ที่หงส์ 2 ตัว ซึ่งเป็นเพื่อนกัน จับไว้ให้ตอนบินพาเต่าไปเที่ยวถ้ำของตน ส่วนพกชาดก (อ่านว่า พะ-กะ-ชา-ดก) เป็นเรื่องของนกกระยางผู้ฉลาดแกมโกงที่หลอกกินปลาได้หมดทั้งสระ แต่กลับเสียรู้ให้ปูหนีบคอจนตาย
  5. ถ้าใครสนใจงานประจำปีของวัดทุ่งศรีเมืองก็ขอเรียนเชิญนะครับ งานประจำปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แทบจะเป็นเวลาเดียวกันกับงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีเลยครับ แต่ของวัดทุ่งศรีเมืองพิเศษกว่าเพราะจะมีการจัดงานบุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ ไปพร้อมกันด้วยครับ เรียกว่ามา 1 ได้ถึง 2 เลย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ