ถ้าใครได้ติดตามข่าวหรือได้มีโอกาสนั่งรถไฟสายอีสาน ก็จะเห็นว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมากำลังคืบหน้าไปควบคู่กับรถไฟรางคู่เลยครับ เส้นทางรถไฟกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง ความเจริญที่มาพร้อมกับรางเหล่านั้นพาดผ่านจุดหมายปลายทางหลายแห่งบนทางรถไฟสายนี้ มีสถานที่น่าสนใจมากมายตลอดสองฝั่ง รวมถึงในปลายทางที่สถานีใดสถานีหนึ่ง สถานีรถไฟสูงเนินก็เป็นหนึ่งในนั้น และสถานีนี้เองเป็นที่ตั้งหนึ่งในวัดโบราณที่ทั้งเก่าแก่และน่าสนใจมากๆ วันนี้เลยขอพาทุกท่านไปทำความรู้จัก ‘วัดธรรมจักรเสมาราม’ กันครับ

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน

วัดธรรมจักรเสมาราม หรือ วัดพระนอนคลองขวาง ถือเป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองโบราณเสมา ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา บนเส้นทางโบราณที่เชื่อมต่อดินแดนภาคกลางกับดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านช่องทางที่เรียกว่า ‘ปากช่อง’ ซึ่งยังคงใช้งานมาจนถึงยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของถนนและรางรถไฟ อายุของวัดธรรมจักรเสมารามแห่งนี้ก็ไม่ใช่น้อยๆ นะครับ มีอายุมากกว่า 1,000 ปีเลยทีเดียวเชียว ถ้าถามว่ารู้ได้ยังไงว่าอายุมากขนาดนั้น ก็จากหลักฐานที่อยู่ในวัดเองนั่นละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ของวัด

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน

พระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนของวัดธรรมจักรเสมารามสร้างจากหินทรายขนาดใหญ่หลายชิ้นประกอบกัน ประทับนอนแบบสีหไสยาสน์หรือนอนตะแคงขวาหันพระเศียรไปทางทิศใต้ แม้กาลเวลาผ่านมายาวนานจนท่านไม่ได้มีสภาพสมบูรณ์เฉกเช่นเมื่อครั้งอดีต แต่เรายังพอสังเกตว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกใหญ่และพระโอษฐ์แบะเล็กน้อย ลักษณะเหล่านี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีที่เริ่มขึ้นในภาคกลาง และไหลขึ้นมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกิดเป็นศิลปะทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ดังนั้น พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จึงจัดอยู่ในศิลปะแบบทวารวดี โดยมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 หรือราว 1,300 ปีมาแล้ว

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของพระพุทธรูปองค์นี้ก็คือ การเป็นพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ลอยตัว มองเห็นท่านได้ทั้ง 4 ด้านแบบนี้นี่แหละครับ ไม่มีพระพุทธไสยาสน์ลอยตัวองค์ใดในประเทศไทยจะเก่าแก่ไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะแม้จะเป็นศิลปะทวารวดีเหมือนกัน แต่พระพุทธไสยาสน์องค์อื่นนั้นล้วนอยู่ในรูปงานปูนปั้นหรืองานแกะสลักบนเพิงผาหรือถ้ำ ไม่มีการทำลอยตัวแบบวัดธรรมจักรเสมารามแห่งนี้

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน
ถ้ำฝาโถ วัดถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี

และอย่างที่สอง พระพุทธรูปองค์นี้นอนตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศใต้ เท่ากับว่าพระพุทธรูปองค์นี้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งทิศใต้ถือเป็นทิศมงคลของชาวพุทธโบราณ จนถึงกับมีคำเรียกทิศใต้ว่า ‘ทิศหัวนอน’ เลยทีเดียว (ทุกวันนี้คนปักษ์ใต้ยังเรียกทิศนี้ว่าทิศหัวนอนอยู่เลยครับ) ส่วนทิศตะวันออกก็เป็นทิศมงคลเช่นกัน เป็นทิศแห่งการเกิด ลองสังเกตดูสิครับว่า อาคารในศาสนาพุทธส่วนใหญ่มักหันหน้าไปยังทิศตะวันออกเสมอ 

ดังนั้น ท่านอนของพระพุทธรูปองค์นี้จึงถือเป็นท่านอนอันเป็นมงคลทั้งสิ้น และสัมพันธ์กับอาคารที่ท่านประดิษฐานอยู่ครับ เพราะเราจะสังเกตว่า อาคารหลังนี้แคบแทบจะพอดีกับองค์พระพุทธรูป ซึ่งสิ่งนี้เป็นการจำลอง ‘คันธกุฎี หรือกุฏิของพระพุทธเจ้า หมายความว่าเมื่อเรากราบพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ เรากำลังกราบไหว้พระพุทธเจ้าขณะยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั่นเองครับ ต่างจากพระพุทธไสยาสน์ในสมัยทวารวดีแห่งอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงเหตุการณ์ตอนปรินิพพานทั้งสิ้น

แต่ก็น่าเสียดายครับ แม้จะเหลือร่องรอยของอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์นี้เอาไว้ แต่เราไม่รู้เลยว่าหน้าตาเมื่อครั้งยังสมบูรณ์ในสมัยก่อนเป็นเช่นไร เพราะอาคารที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นอาคารสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2538 เพื่อคลุมอาคารโบราณเอาไว้ ส่วนตัวอาคารเดิมเหลือแต่ส่วนฐานที่เป็นงานอิฐเท่านั้น ถึงกระนั้น อาคารหลังนี้มีการใช้หินทรายมาร่วมก่อสร้างด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกรอบประตูหรือซี่ลูกกรงที่เรียกว่าลูกมะหวด ทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปะทวารวดีนิยมใช้ แต่เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในศิลปะขอม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในเมืองเสมานั้นมีทั้งโบราณสถานสมัยทวารวดีและโบราณสถานสมัยขอมอยู่แล้วครับผม 

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยความเป็นทวารวดีก็ยังมีอยู่ให้เห็น เพราะอาคารหลังนี้ล้อมด้วยใบเสมาแบบคู่ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสานครับผม

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน
ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน

  แต่อย่าคิดว่าวัดธรรมจักรเสมารามจะมีเท่านี้นะครับ ลองดูที่ชื่อวัดครับ มีคำว่า ‘ธรรมจักร’ กับคำว่า ‘เสมา’ เสมามีอยู่รอบวิหารพระนอน ส่วนธรรมจักรนั้นอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งมีธรรมจักรอยู่ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ในตู้ อีกชิ้นอยู่นอกตู้ และแน่นอนว่าของจริงอยู่ในตู้ครับ 

ธรรมจักรชิ้นนี้ถือเป็นโบราณวัตถุที่น่าสนใจอย่างมาก แม้ธรรมจักรศิลาจะเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในศิลปะทวารวดีภาคกลาง แต่ในภาคอีสานพบธรรมจักรแบบลอยตัวแค่ชิ้นนี้ชิ้นเดียวเท่านั้น แถมยังพบพร้อมกับเสาที่ใช้ตั้งธรรมจักรอีกด้วย ส่วนธรรมจักรในแบบศิลปะทวารวดีภาคอีสานจริงๆ นั้น เป็นงานแกะสลักบนใบเสมาอีกทีหนึ่ง ไม่มีแบบลอยตัวเลยสักชิ้นเดียว

ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน
ลงสถานีรถไฟสูงเนิน เข้าวัดธรรมจักรเสมาราม วัดโบราณพันปีเลียบเส้นทางรถไฟสายอีสาน

ตัวธรรมจักรเองก็มีความน่าสนใจใช่ย่อย แม้ว่าธรรมจักรจะเป็นวัฒนธรรมจากทางภาคกลาง แต่ช่างก็แอบใส่ความเป็นอีสานเอาไว้ด้วย ลองสังเกตตรงด้านล่างครับ ตรงส่วนรองรับธรรมจักร ปกติแล้วถ้าเป็นในภาคกลางจะใช้ลายก้านขดบ้าง รูปพระสูรยะหรือพระอาทิตย์บ้าง หรือคชลักษมีบ้าง แต่ชิ้นนี้ทำเป็นรูปหน้ากาลครับ แบบเดียวกับที่เจอบนทับหลัง ซึ่งไม่เคยพบในภาคกลางเลยแม้แต่ชิ้นเดียวเช่นกัน

ทีนี้ ลองแวะไปดูที่เสาธรรมจักรบ้าง ซึ่งหากยังสมบูรณ์และยังใช้งานอยู่ ธรรมจักรในตู้กระจกจะตั้งอยู่บนเสาต้นนี้นี่ละครับ แน่นอนว่าถ้าเราดูแค่หน้าตาของเสา ก็ต้องบอกว่าธรรมดาครับ หน้าตาเหมือนกับของที่เจอในภาคกลางเลย แต่เดี๋ยวก่อน ลองพิจารณาดีๆ ครับ ลองมองให้ดีๆ จะเห็นว่าตรงฐานเสามีข้อความจารึก ซึ่งแม้เสาจะมีอายุนับพันปี แต่จารึกนี้เป็นภาษาไทยนะครับ

โดยข้อความในจารึกเล่าว่า เดิมหินนี้ฝังอยู่ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ เลยขอแรงผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านไปขุดขึ้นมา ตอนท่านมาเที่ยวที่นี่ พร้อมลงวันที่ 9 ก.พ. ร.ศ. 122 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2446 ที่สำคัญมีการลงลายเซ็นไว้ข้างใต้ด้วยนะครับ

ข้อความในจารึกบอกเรื่องราวของเสาธรรมจักรนี้ให้เราได้อย่างชัดเจนเลยครับ ว่าเจอเมื่อไหร่ โดยใคร และเอาขึ้นมาได้ยังไง ส่วนใครที่สงสัยว่า กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณในจารึกนี้คือใคร ท่านก็คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ต้นสกุลจรูญโรจน์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาช้อย ครับผม ดังนั้น เสาธรรมจักรนี้จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งบันทึกจากอดีต ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของชาวสูงเนินด้วยครับ

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านอำเภอสูงเนินแห่งนี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าที่นี่จะไม่เหมือนเดิมแน่นอน วัดแห่งนี้จะยังคงอยู่เป็นศาสนสถานแห่งสำคัญ และจะกลายเป็นเสมือนไทม์แมชชีน บอกเล่าเรื่องราวของสูงเนินเมื่อครั้งโบราณต่อเนื่องมาถึงอดีตเมื่อไม่นานไปสู่ผู้คนอีกมากมาย ไปพร้อมๆ กับสถานีรถไฟสูงเนิน เมืองโบราณเสมาและชาวสูงเนินแน่นอนครับ

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณโครงการทางรถไฟสายโบราณคดี “บอกเล่าให้รู้จัก บอกรักษ์สูงเนิน” โดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชวนผู้เขียนให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน และช่วยเหลือในหลายเรื่องจนทำให้งานเขียนชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. นอกจากวัดธรรมจักรเสมารามแห่งนี้ ในอำเภอสูงเนินยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองโบราณเสมา เมืองโบราณสมัยทวารวดี ปราสาทขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทเมืองเก่า ปราสาทเมืองแขก หรือแม้สถานที่รถไฟสูงเนิน อาคารสถานีเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเลยครับ
  2. ความเป็นคันธกุฎีหรือการนมัสการพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์อยู่จริงๆ แล้วมีหลายที่นะครับ อย่างเช่น พระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ที่มีพิธีล้างพระพักตร์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งผมได้เคยเขียนถึงไปแล้ว สามารถไปอ่านกันได้นะครับ
  3. ใครที่ชอบนั่งรถไฟหรืออยากเดินทางไปพร้อมกับชมวิวไปด้วย อยากให้มาลองนั่งรถไฟสายนี้ครับ เพราะนอกจากอาหารการกินบนรถไฟแล้ว เรายังสามารถชมวิวทิวทัศน์ที่น่าสนใจ พร้อมกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งที่รถไฟสายนี้ผ่าน เช่น ผาเสด็จ ก็อยู่บนเส้นทางรถไฟสายนี้เช่นกันครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ