มาฆบูชาถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญเนื่องในพุทธศาสนาเป็นวัน ‘จตุรงคสันนิบาต’ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการขึ้นในวันนี้ ได้แก่ พระภิกษุ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น พระภิกษุทั้งหมดล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทโดยพระพุทธเจ้าหรือเอหิภิกขุอุปสัมปทา และวันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี

แต่แรกเริ่มเดิมทีไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศไทย จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น ก่อนจะจัดขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีงานประเพณีหรือเทศกาลที่น่าสนใจเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย หนึ่งในนั้นเกิดขึ้นที่จังหวัดพะเยาซึ่งมีการจัดงาน ‘กว๊านพะเยาสายน้ำแห่งชีวิต ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง’ บริเวณวัดติโลกอาราม ชายกว๊านพะเยา เพื่อนำข้าวใหม่ไปถวายแด่พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพะเยา ดังนั้น เราจะไปชมความงามของวัดศรีโคมคำ วัดสำคัญของจังหวัดพะเยากันครับ

วัดศรีโคมคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งเอี้ยง หรือ วัดพระเจ้าตนหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2067 สมัยพระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา แต่องค์พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปประธานภายในวิหารหลวง สร้างขึ้นก่อน คือ พ.ศ. 2034 สมัยพระเมืองยี่เป็นเจ้าเมืองพะเยา และสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2067 ต่อมาวัดนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาและได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นตามลำดับ

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2465 พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยาองค์สุดท้าย พร้อมกับหลวงสิทธิประศาสน์ และประชาชนชาวเมืองพะเยา อาราธนานิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสร้างวิหารหลวงหลังปัจจุบันนี้ พร้อมกับเสนาสนะอื่นๆ ก่อนจะฉลองสมโภชวิหารพระเจ้าตนหลวงและอาคารต่างๆ ใน พ.ศ. 2467

ดังนั้น อาคารภายในวัดนี้ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันจึงเป็นงานในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัยแทบจะทั้งสิ้น
วัดศรีโคมคำ

สิ่งแรกที่เราจะเห็นเป็นอย่างแรกเมื่อเข้าไปถึงแน่นอนว่าเป็นวิหารหลวง อาคารขนาดใหญ่ที่สุดของวัด วิหารหลวงหลังนี้ถือเป็นอาคารหลักของวัดแห่งนี้

แค่หน้าแหนบ หรือหน้าบัน ของวัดนี้ก็น่าสนใจแล้วครับ เพราะถ้าเป็นวิหารแบบล้านนาทั่วๆ ไปจะมีลักษณะเป็นกรอบตารางหรือม้าต่างไหม เช่น หน้าบันวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่หน้าบันของวิหารหลวงนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษาเต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยที่นำลักษณะของสถาปัตยกรรมภาคกลางเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว
วัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ

อย่างไรก็ดี ในหน้าแหนบมีการแทรกรูปสัตว์และเทวดาลงไปด้วย ในจำนวนนั้นมีครุฑ ซึ่งเป็นลวดลายที่สามารถพบได้ในอุโบสถและวิหารในภาคกลาง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ใกล้ๆ รูปครุฑ ขนาบสองฝั่งด้วยเสือเหลียวหลัง 2 ตัว เสือเป็นสัตว์ที่พบได้บ่อยบนหน้าบันวิหารหลวงที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เหตุผลที่เป็นเสือนั่นก็เพราะว่าครูบาศรีวิชัยเกิดปียี่หรือปีขาล ดังนั้น จึงมีสัญลักษณ์นี้ใส่เอาไว้ในหน้าบันด้วยนั่นเอง รวมถึงหอรมาน หรือ หนุมาน ซึ่งพบทั้งบริเวณปีกนกและที่คันทวยหรือนาคตันด้วยครับ

อ้อ และถ้าลองสังเกตอีกสักนิด จะเห็นว่าเหนือรูปครุฑจะมีรูปคล้ายหัวใจประดับด้วยกระจกสีแดงด้วยนะครับ ซึ่งน่าจะเข้ากับช่วงเดือนแห่งความรักอย่างกุมภาพันธ์นี้พอดี

วัดศรีโคมคำวัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ

ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พระพุทธรูปนี้มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันตสาวกเสด็จมายังเมืองภูกามยาว (ชื่อเดิมของเมืองพะเยา) ทรงประทับ ณ ดอยลูกหนึ่งข้างสระหนองเอี้ยงซึ่งมีหมู่บ้านโดยรอบ ได้มีช่างทองในหมู่บ้านทราบข่าวการเสด็จมาและได้จัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ พระพุทธองค์ได้พิจารณาเห็นว่าที่นี่มีความเหมาะสมที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาจึงประทานเส้นพระเกศาแก่ช่างทองนำไปบรรจุในผอบ 7 ชั้น โดยประทานแก่พระยาอโศก ซึ่งได้มอบถวายพระอินทร์ แล้วให้พระวิษณุกรรมนำไปประดิษฐานในถ้ำใต้จอมดอย ทำให้ดอยแห่งนั้นได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง

ตำนานยังเล่าต่ออีกว่า ณ บริเวณแถบนี้พระพุทธเจ้ายังได้ทรมานพญานาคในหนองเอี้ยงและตรัสสั่งว่า เมื่อศาสนามาถึงครึ่งค่อน 5,000 ปี ให้พญานาคสร้างรากฐานของพระพุทธศาสนาลงที่หนองเอี้ยงและสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าพระพุทธเจ้ากกุสันธะ (ในภัทรกัปที่เราอยู่ตอนนี้มีพระพุทธเจ้าอยู่ 5 พระองค์ พระพุทธเจ้ากกุสันธะเป็นองค์แรก ส่วนพระสมณโคดมเป็นองค์ที่ 4)

ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พญานาคจึงได้นำทองคำจากพิภพนาคมาไว้ที่ฝั่งหนองเอี้ยง ก่อนจะเนรมิตตัวเองเป็นบุรุษนุ่งขาวและเดินทางไปหาตายายผัวเมียที่ทำอาชีพเลี้ยงห่าน พร้อมกับนำทองคำนั้นมอบแก่สองตายายและให้สร้างพระพุทธรูปตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งไว้ ตายายจึงได้นำดังกล่าวไปใช้เป็นค่าจ้างในการถมหนองเอี้ยง จากนั้นจึงเริ่มก่อองค์พระเจ้าตนหลวงด้วยดินกี่หรืออิฐจนแล้วเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จ พระเมืองตู้ได้ส่งราชสาส์นไปทูลพระเมืองแก้ว กษัตริย์ผู้ปกครองเชียงใหม่ในเวลานั้น ว่าการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว พระเมืองแก้วจึงพระราชทานเงินและทองด้วยความศรัทธาของพระองค์เพื่อนำมาใช้สร้างวิหาร และทรงพระราชทานพระนามแก่พระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา’

นอกจากข้อมูลแบบตำนานแล้ว ยังมีศิลาจารึกหลักหนึ่งที่อธิบายถึงลักษณะและสัดส่วนของพระเจ้าตนหลวง นั่นก็คือ ศิลาจารึก ลพ./29 จารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทย ซึ่งตามทะเบียนระบุว่า พบที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งในจารึกมีการระบุศักราช จ.ศ. 885 ตรงกับ พ.ศ. 2067

แม้ตามทะเบียนจะระบุว่าพบที่จังหวัดเชียงราย แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าจังหวัดพะเยาเคยมีสถานะเป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย มาก่อน อีกทั้งขนาดและลักษณะของพระพุทธรูปที่ระบุในจารึกยังใหญ่กว่าพระพุทธรูปใดๆ ในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย ดังนั้น พระพุทธรูปที่กล่าวถึงจึงน่าจะหมายถึงพระเจ้าตนหลวงองค์นี้นี่เอง ศิลาจารึกหลักนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ศิลาจารึกพระเจ้าตนหลวง

วัดศรีโคมคำ

พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ และเนื่องจากขนาดที่ใหญ่โตนั้นพระองค์จึงไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเช่นพระพุทธรูปทั่วๆ ไปแต่ประทับอยู่บนพื้นคล้ายกับพระเจ้านั่งดิน วัดพระเจ้านั่งดิน จังหวัดพะเยา โดยแม้จะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว เราก็ยังพอจะเห็นสังเกตเห็นลักษณะตามแบบศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยา ต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ดังนั้น แม้จะเป็นศิลปะล้านนาเหมือนกัน แต่ในต่างพื้นที่กันก็ได้เกิดการสร้างพระพุทธรูปศิลปะล้านนาในแบบของตัวเองขึ้นมา เช่น สกุลช่างพะเยา สกุลช่างลำปาง เป็นต้น

ในกรณีของสกุลช่างพะเยานั้น พระพุทธรูปจะนิยมสร้างด้วยหินทรายซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ ต่างจากพระพุทธรูปสกุลช่างอื่นที่นิยมสร้างด้วยสำริด รวมถึงมีพระพักตร์ที่มีพระขนงต่อเป็นปีกกาและเชื่อมต่อกับจมูกและมุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแม้จะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว แต่ก็ยังพอเห็นลักษณะบางประการของสกุลช่างพะเยาได้

อย่างไรก็ดี พระเจ้าตนหลวงนั้นเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ไม่ใช่หินตามที่บอกไปข้างต้น สาเหตุอาจเนื่องมาจากขนาดที่ใหญ่รวมถึงตำนานที่กล่าวถึงวัสดุที่นำมาสร้างว่าเป็นดินกี่

แม้จะขึ้นชื่อว่าตำนาน แต่ตำนานล้วนมีที่มาจากเรื่องจริงทั้งสิ้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ดังนั้น ในการศึกษาเราจะไม่สามารถละเลยตำนานได้เลย

วัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ

ด้านหน้าวิหารหลวงยังเป็นวิหารโถงเล็กๆ ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ ซึ่งมีประวัติกล่าวว่าพบที่เจดีย์วัดสวนจันทร์ใน ซึ่งในขณะนั้นตั้งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2446 เพื่อเอาอิฐมาทำถนน เนื่องจากในเวลานั้นวัดสวนจันทร์ในกลายสภาพเป็นวัดร้างไปแล้ว เมื่อมีการพบรอยพระพุทธบาทคู่นี้ เจ้าหลวงอุดรประเทศ (มหาไชยวงศ์) เจ้าเมืองพะเยา และหลวงศรีสุทธการ ข้าหลวงประจำเมืองพะเยา จึงมอบรอยพระพุทธบาทที่ค้นพบนี้แก่พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะเมือง นำไปไว้ยังวัดหัวข่วงแก้ว

ต่อมาวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทชำรุดทรุดโทรมลง พระครูศรีวิราชวชิรปัญญาและเจ้าหลวงประเทศอุดรทิศจึงได้กราบเรียนครูบาเจ้าศรีวิชัยเมื่อครั้งมาสร้างวิหารหลวงวัดศรีโคมคำ ว่าจะนำรอยพระพุทธบาทนี้มาไว้ที่วัดศรีโคมคำด้วย ดังนั้น รอยพระพุทธบาทนี้จึงประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้นับแต่นั้น

วัดศรีโคมคำ

รอยพระพุทธบาทนี้เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ อาจจะดูยากสักหน่อยเพราะปัจจุบันมีการเอากระจกพลาสติกไปปิดกันฝุ่นไว้ โดยรอบพระพุทธบาทรอยหนึ่งมีลาย อีกรอยหนึ่งไม่มีลาย ซึ่งรอยที่มีลายนั้นวางลายมงคล 108 ประการแบบที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันดี

เหตุผลที่มีลายมงคล 108 ประการนั้นมาจาก คัมภีร์ชินลังการฎีกา ที่แต่งโดยพระภิกษุชาวพม่าที่ระบุว่า บนฝ่าพระบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีลายมงคลอยู่ที่ 108 ประการ และนับแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน บนรอยพระพุทธบาทที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทหรือบนฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์บางองค์จึงปรากฏลวดลายเหล่านี้อยู่บนนั้น ซึ่งลวดลายมีทั้งเทวดา พรหม สัตว์ ภูเขา ทะเล แต่ลวดลายที่สำคัญก็คือรูปเทวดาที่มีลักษณะเครื่องทรงใกล้เคียงกับลวดลายบนรอยพระพุทธบาท วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย ที่เป็นรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย ดังนั้น รอยพระพุทธบาทรอยนี้จึงน่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทในศิลปะสุโขทัย

วัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ

แต่ความน่าสนใจยังไม่หมดแค่นั้น เพราะรอยพระพุทธบาทที่วัดตระพังทองนั้นเป็น 1 ใน 4  รอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท ซึ่งอีก 3 รอยนั้นตามข้อมูลในศิลาจารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุมกล่าวว่า อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ซึ่งรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์นั้นถูกค้นพบแล้ว แต่รอยพระพุทธบาทที่พิษณุโลกยังไม่พบ

ประกอบกับในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระยายุทธิษฐิระ เจ้านายฝ่ายสุโขทัย ได้ไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช ซึ่งพระองค์ได้ให้พระยายุทธิษฐิระไปครองเมืองพะเยา ดังนั้น การที่รอยพระพุทธบาทศิลปะสุโขทัยมาอยู่ที่พะเยาได้นั้น ก็อาจเป็นเพราะพระยายุทธิษฐิระได้โปรดให้อัญเชิญมาพร้อมกับพระองค์ขึ้นไปยังเชียงใหม่เพื่อไปสวามิภักดิ์ในคราวนั้น รอยพระพุทธบาทรอยนี้จึงอาจเป็นรอยพระพุทธบาทของพญาลิไทรอยที่ 4 ที่หายไปก็เป็นได้

วัดศรีโคมคำ

ในวัดศรีโคมคำแห่งนี้มีอุโบสถอยู่ถึง 2 หลัง หลังหนึ่งสร้างขึ้นในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ส่วนอีกหลังหนึ่งสร้างในสมัยหลัง หลังที่ครูบาศรีวิชัยสร้างอยู่ในแนวระเบียงคด แต่อีกหลังเป็นอุโบสถกลางน้ำตั้งอยู่ด้านนอก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 โดยการอุปถัมภ์ของ นายขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของสำนักพิมพ์มติชน โดยมี นายบุญนิยม สิทธิหาญ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และ นายช่างเถา พัฒนโภสิน เป็นช่างก่อสร้าง

ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ฝีมือ นายอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ และ นางสาวภาพตะวัน นางสาวกาบแก้ว สุวรรณกูฎ และคณะเขียนภาพทศชาติชาดก ซึ่งผมยังไม่เคยชมของจริงเหมือนกัน เลยขอนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาให้ชมแทนครับ

วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำภาพ : https://www.touronthai.com/article/1181

 

วัดแห่งนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจมากๆ และไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง นั่นก็คือ วิหารครูบาศรีวิชัย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 แม้จะเป็นอาคารที่สร้างหลังยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ลวดลายบนหน้าแหนบก็ยังมีรูปเสือ สัตว์ประจำปีเกิดของท่าน

แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ภายในวิหารหลังนี้มีหลายสิ่งที่ไม่ได้สามารถหาชมได้ทั่วไปตามวัดวาอารามที่ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกู่บรรจุอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย รวมไปถึงรูปหล่อครูบาศรีวิชัยแบบดั้งเดิมฝีมือช่างท้องถิ่น ที่นี่มีรอยมือข้างซ้ายและรอยเท้าทั้งสองข้างของครูบาศรีวิชัยบนแผ่นหินทราย ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ประทับไว้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิลป์และชาวจังหวัดพะเยา เป็นสิ่งที่พิเศษยิ่งขึ้นไปกว่า 2 สิ่งที่ผมเอ่ยไว้ข้างต้น

วัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำเป็นวัดที่สามารถเดินทางไปชมได้ทั้งปีและถือเป็นสถานที่ที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงหากคุณเดินทางมายังจังหวัดพะเยา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเดินทางไปเฉพาะช่วงเทศกาลเสมอไป และนอกจากช่วงวันมาฆบูชาแล้ว พระเจ้าตนหลวงยังมีงานประเพณีนมัสการประจำปี ‘เดือน 8 เป็ง’ (เดือน 8 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ) อีกด้วย ดังนั้น ถ้าใครมาจังหวัดพะเยาตรงกับช่วงเทศกาล คุณก็ไม่ควรที่จะพลาดชมนะครับ

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดศรีโคมคำตั้งอยู่ใกล้กับกว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งสามารถเดินทางได้ทั้งโดยรถส่วนตัว หรือถ้าคุณเดินทางด้วยตัวเองจากสถานีขนส่งจังหวัดพะเยา คุณสามารถนั่งรถสองแถวหรือรถสามล้อมาก็ได้เช่นกัน

2. และถ้ามาเยี่ยมชมวัดศรีโคมคำแล้ว อย่าลืมแวะชมหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่หลวงพ่อพระธรรมโมลีได้รวบรวมเอาไว้ โดยบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสมาครับ

3. วัดติโลกอารามเป็นวัดร้างสร้างโดยพระยายุทธิษฐิระ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานวิหารและมีหลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปขนาดเล็กสร้างจากหินประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเป็นพระประธาน เดินทางไปถึงด้วยเรือเท่านั้น สามารถขึ้นจากศาลาบริเวณถนนเลียบกว๊านพะเยา โดยเรือที่นั่งข้ามไปยังวัดจะเป็นเรือพาย ใช้เวลาในการข้ามประมาณ 8 นาที ที่วัดแห่งนี้ยังมีธรรมเนียมการพายเรือเวียนเทียนในวัดมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา ด้วยนะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ