หลายวันที่ผ่านมา วัดแห่งนี้ซึ่งปกติน่าจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในชุมชนและคนในย่านใกล้เคียง กลายเป็นที่รู้จักทั้งบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับและในสื่อสังคมออนไลน์ กับประเด็นที่มีคนในคอนโดหรูที่อยู่ใกล้ๆ ไปร้องเรียนให้วัดลดเสียงตีระฆังลง (ซึ่งจริงๆ ยังมีวัดอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาเดียวกัน แต่ไม่เป็นข่าวใหญ่โตเท่าวัดแห่งนี้) วันนี้เราจะข้ามเรื่องดราม่าทั้งหมดแล้วลองมาทำความรู้จักกับเรื่องราวความน่าสนใจของวัดเล็กๆ แห่งนี้กันครับ กับวัดไทร บางโคล่

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ก่อนจะไปชมความงดงามของวัดไทร บางโคล่ (จากนี้จะขอเรียกว่า วัดไทร) เรามารู้จักประวัติของวัดไทรแห่งนี้ก่อน ถ้าคุณใช้ Search Engine เช่น Google ค้นหาข้อมูลนี้เราจะพบประวัติอยู่ 2 เวอร์ชัน ซึ่งบางเว็บไซต์จะนำเสนอข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ในขณะที่บางเว็บใช้ทั้งสองข้อมูลรวมกัน

เวอร์ชันแรกกล่าวว่า “วัดไทรเป็นวัดสำคัญสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานพระพุทธรูปสลักจากหินทรายแดงปางสมาธิ ปางมารวิชัย พระพุทธรูปทรงเครื่องอยู่ในพระวิหาร และใบเสมาสลักหินทรายสีแดงอยู่ด้านตะวันตกของพระอุโบสถเหลืออยู่ 1 หลัก วัดนี้ยังมีตำหนักทองที่เชื่อว่าเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าเสือทรงพระราชอุทิศถวายเป็นกุฏิสงฆ์ตั้งอยู่ริมคลองด้านหน้าวัดไทรแห่งนี้ มีจารึกบนแผ่นไม้ระบุไว้ชัดเจนว่า วัดไทรได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5”

เวอร์ชันที่ 2 กล่าวว่า “วัดไทรไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากหลักฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติครองจีวรลายดอกพิกุลและพระปรางค์หรือเจดีย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันพระปรางค์และเจดีย์ชำรุดหมดแล้ว เจดีย์บางองค์มีการระบุศักราชการสร้างใน ร.ศ. 123 (ตรงกับ พ.ศ. 2448) ในสมัยรัตนโกสินทร์” ซึ่ง พ.ศ. 2448 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่นอกเหนือจากประวัติทั้งสองเวอร์ชันนี้ที่สามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีข้อมูลประวัติวัดอีก 2 เวอร์ชันที่ผมสามารถตรวจสอบได้

จากการสอบถามพระอธิการปรีชา ปุณณสีโล เจ้าอาวาสวัดไทร ท่านให้ข้อมูลว่า “วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมด้านหน้าอุโบสถหลังเก่ามีเจดีย์เก่าอยู่แต่พังทลายหมดแล้ว โดยหน้าตาของเจดีย์ที่พังไปนั้นจะคล้ายกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ไว้บรรจุอัฐิที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน”

ในขณะที่ข้อมูลในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรระบุว่า “สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ราว พ.ศ. 2410 ไม่ปรากฏนามและประวัติท่านผู้สร้าง” ซึ่ง พ.ศ. 2410 นี้ตรงกับช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จะเห็นว่าข้อมูลยังมีความลักลั่นอยู่ ไม่สามารถระบุว่าวัดสร้างในสมัยอยุธยาหรือสมัยรัตนโกสินทร์กันแน่ แม้ข้อมูลส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปยังสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เราควรจะตรวจสอบข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยในการตรวจสอบได้ดีที่สุด นั่นก็คือ งานศิลปกรรมภายในวัดนั่นเอง

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ถ้าเราไปถึงวัดเราจะพบว่าพื้นที่เขตพุทธาวาสของวัดพอจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประกอบด้วยพระอุโบสถหลังปัจจุบันซึ่งยกสูงจากระดับพื้น ส่วนที่สองประกอบด้วยพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งปัจจุบันเป็นพระวิหาร หอระฆัง และเจดีย์พระธาตุ ใกล้ๆ กันมีเจดีย์บรรจุอัฐิของชาวบ้านซึ่งตั้งอยู่บนระดับพื้นปกติ แต่ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถหลังปัจจุบัน พระอุโบสถหลังเก่า หรือพระวิหาร ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกไปยังคลองวัดไทร ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมในสมัยก่อนทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีมณฑปหลวงปู่พุ่ม พระเกจิที่มีชื่อเสียงของวัดไทร และศาลเจ้าพ่อเรือง ศาลเจ้าที่เป็นที่นับถือของชาวจีนย่านบางรักซึ่งย้ายมาจากที่ตั้งเดิมที่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นโรงแรมไปแล้ว

พื้นที่ส่วนที่เก่าที่สุดของวัดมีอาคารหลักคือกลุ่มพระวิหาร 2 หลัง มีหน้าตาคล้ายคลึงกันมาก อาคารทั้งสองหลังเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่ หน้าบันก่อจากปูน ด้านหน้ามีจั่นหับหรือเพิงยื่นออกมาด้านหน้า ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบของอุโบสถวิหารในสมัยอยุธยาตอนปลาย

แต่เราต้องไม่ลืมว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 คือความ Retro หรือความย้อนยุค ดังจะเห็นจากการกลับไปทำเจดีย์ทรงระฆังที่เลิกไปตั้งแต่สิ้นกรุงศรีอยุธยา (ใครสงสัยสามารถไปอ่านเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์อารามบอยตอนวัดปทุมวนาราม) ดังนั้น ข้อมูลนี้จึงยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

แต่ก่อนจะไปกันต่อ ในเมื่ออาคาร 2 หลังมีความคล้ายกันมาก เราจะแยกออกได้ยังไงว่าหลังไหนคือพระอุโบสถหลังเก่า หลังไหนคือพระวิหาร ให้สังเกตตรงนี้ครับ พระอุโบสถหลังเก่าจะมีขนาดใหญ่กว่าพระวิหารเล็กน้อย หน้าบันพระวิหารจะประดับด้วยขามกระเบื้องซึ่งหน้าบันของพระอุโบสถเก่าไม่มี และพระอุโบสถหลังเก่ายังมีประตูและหน้าต่างที่สามารถเปิดได้ แต่พระวิหารจะมีเฉพาะประตูส่วนหน้าต่างถูกโบกปูนปิดไปแล้ว และมีหอระฆังเดิมอยู่ข้างหลังพระวิหาร จากการสอบถามท่านเจ้าอาวาสท่านได้ความว่า

วัดนี้ถูกโจรเข้ามาขโมยบ่อยครั้ง พระพุทธรูปโบราณหลายองค์ถูกขโมย ท่านยังเล่าเพิ่มว่า เดิมวัดนี้มีพระพุทธรูปทรงเครื่องยืนหน้าตาคล้ายพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง 2 องค์ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ถูกขโมยไปแล้ว วัดจึงปิดตายพระวิหาร ส่วนพระอุโบสถจะเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปสวดมนต์ในวันอาทิตย์เท่านั้น ดังนั้น ผมจึงไม่ได้เข้าไปชมข้างใน

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

แต่เราอยู่ในยุคดิจิทัล ใดๆ ล้วนแก้ไขได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (แม้จะไม่เสมอไปก็ตาม) พอดีผมไปเจอภาพถ่ายข้างในพระอุโบสถเก่าใน Facebook ของทางวัดเอง เราจะเห็นพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยอยู่บนฐานกลีบบัว ซึ่งฐานกลีบบัวเช่นนี้ดันไปคล้ายกับฐานของพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้ก็น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ภาพ:  Facebook วัดไทรบางโคล่

ข้างๆ กันคือพระอุโบสถหลังปัจจุบัน พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สุดของวัด สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2542 หน้าบันปรากฏสัญลักษณ์ซึ่งถ้าเป็นเมื่อราว 22 ปีเราจะเห็นสัญลักษณ์นี้โดยทั่วไป นั่นก็คือตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2539

ตราสัญลักษณ์นี้ยังสามารถพบได้บนอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวอีกหลายวัดเลยครับ ล้อมรอบพระอุโบสถแน่นอนว่าต้องมีใบเสมา เครื่องหมายบอกความเป็นพระอุโบสถ ใบเสมาเหล่านี้เป็นใบเสมาทำจากหินชนวนขนาดเล็กซึ่งเป็นใบเสมาแบบยอดนิยมที่พบได้ทั่วไปตามวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังพบการทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น วัดน้อยนพคุณแถวราชวัตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ท่านเจ้าอาวาสยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ใบเสมาเหล่านี้ย้ายมาจากพระอุโบสถหลังเก่ามาตั้งไว้ตรงนี้ และไม่มีใบเสมาอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ แล้วใบเสมาหินทรายแดงในประวัติวัดเวอร์ชันหนึ่งล่ะอยู่ที่ไหน

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ข้างในพระอุโบสถหลังปัจจุบันมีพระพุทธชินราชเป็นพระประธาน พระพุทธชินราชนี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับความนิยมในการจำลองมากที่สุดในประเทศไทยองค์หนึ่งเลยทีเดียว เป็นทั้งพระประธานในอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบได้ทั้งวัดไทยในประเทศไทยและวัดไทยในต่างประเทศ เรียกได้ว่าฮอตฮิตติดชาร์ตสุดๆ ด้วย

เหตุผลในด้านพุทธศิลป์ที่มีความงดงามเป็นพิเศษ รวมไปถึงการมีซุ้มเรือนแก้วที่ที่โดดเด่นแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วๆ ไป ประกอบกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจำลองพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังวัดเบญจมบพิตร ก็เกิดการสร้างพระพุทธรูปชินราชจำลองขึ้นอย่างมากมายนับจากนั้นเป็นต้นมา

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ที่สำคัญที่สุด จากการสอบถามทั้งเจ้าอาวาสทั้งพระลูกวัด วัดแห่งนี้ไม่มีตำหนักทองแต่อย่างใด แล้วตำหนักทองที่ว่าอยู่ที่ไหนกันล่ะ

ปรากฏว่ามีวัดไทรอีกวัดหนึ่งอยู่ในเขตจอมทอง และวัดไทรแห่งนี้มีตำหนักทองที่เชื่อกันว่าเป็นพระตำหนักของพระเจ้าเสือ ก่อนจะถวายเป็นกุฏิพระตั้งอยู่ริมคลองด้านหน้าวัด ดังนั้น ข้อมูลดังกล่าวจึงน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดหรือการตรวจสอบที่ไม่รอบคอบพอ เพราะชื่อ ‘วัดไทร’ ถือเป็นชื่อที่โหลพอสมควร หลายจังหวัดเช่น นนทบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ก็มีวัดไทรเช่นเดียวกัน จึงสรุปได้ว่า ข้อมูลแบบแรกทั้งหมดน่าจะเป็นประวัติวัดไทร เขตจอมทอง ไม่ใช่วัดไทร บางโคล่ เขตบางคอแหลมแห่งนี้

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

ตำหนักทองที่วัดไทร เขตจอมทอง

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พระพุทธรูปครองจีวรลายดอกพิกุลเป็นพระพุทธรูปที่ไม่พบในสมัยอยุธยาไม่ว่าต้น กลาง หรือว่าปลาย โดยหลักฐานที่เก่าที่สุดของพระพุทธรูปแบบนี้คือสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และยังพบต่อเนื่องถึงในรัชกาลต่อๆ มา ส่วนที่มาของการสร้างพระพุทธรูปห่มจีวรลายดอกพิกุลนี้เกิดจากการที่เชื้อพระวงศ์ได้ซื้อผ้าแพรดอกที่เป็นผ้าเนื้อดีไปย้อมเป็นผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อถวายพระพุทธรูป ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน พอดีผมไม่มีภาพพระพุทธรูปองค์นี้ที่วัดไทร เลยขอนำภาพพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกพิกุลจากวัดวิเศษการ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่น่าจะมีหน้าตาคล้ายๆ กันมาให้ชมแทนกันไปก่อน

วัดไทร บางโคล่, คอนโด พระราม 3

จากทั้งหมดที่กล่าวว่ามาจะพบว่ายังไม่มีหลักฐานข้อใดที่ยืนยันได้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเลย ดังนั้น วัดไทรแห่งนี้จึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 4 – 5 วัดจึงน่าจะมีอายุประมาณ 150 กว่าปีเท่านั้น อย่างไรก็ดี วัดนี้อาจจะสร้างขึ้นและมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลายจริงก็ได้ ทว่าหลักฐานที่เก่าแก่ถึงสมัยนั้นอาจจะสูญหายไปด้วยน้ำมือโจรจนไม่หลงเหลืออะไรให้คนในยุคปัจจุบันได้เห็นก็เป็นได้

เกร็ดแถมท้าย

  1. พระอุโบสถหลังปัจจุบันของวัดปกติจะเปิดเฉพาะเวลาที่มีการทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นเท่านั้น แต่สามารถขออนุญาตจากเจ้าอาวาสในการเข้าไปชมข้างในได้
  2. พระอุโบสถหลังเก่าตอนนี้เปิดวันอาทิตย์ช่วงบ่าย เนื่องจากมีฆราวาสเข้าไปสวดมนต์ด้านใน ดังนั้น หากอยากจะไปชมก็ควรจะไปในช่วงเวลาดังกล่าว
  3. วัดไทรตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 สามารถนั่งรถเมล์หรือรถ BRT มาได้ และสามารถเข้าได้หลายทางครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ